ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ




“ได้กลิ่นมานานหลายสิบปี แต่ละวันกลิ่นไม่เหมือนกัน มีหลายกลิ่นมาก เช่น กลิ่นก๊าซ กลิ่นไข่เน่า กลิ่นคล้ายกาแฟ จะรุนแรงช่วงฤดูฝน บางครั้งเหม็นจนแสบจมูก หายใจไม่ได้ มันทำให้เราไม่มีความสุขกับการอยู่บ้านของตัวเอง” นฤมล สุภาวดี อาชีพเลี้ยงปลากระชังจากตำบลจำปาหล่อ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง กล่าว
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 นฤมลเป็นตัวแทนประชาชน 1 ใน 62 คนจากพื้นที่ตำบลจำปาหล่อ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเดินทางมายื่นฟ้องบริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) ต่อศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ถนนรัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ถือเป็นการฟ้องศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม (Environmental division of civil court) คดีแรกของปี 2568
โรงงานไทยเรยอนเป็นบริษัทสัญชาติอินเดียที่ผลิตเส้นใยธรรมชาติและเส้นใยสังเคราะห์รายใหญ่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่หมู่ 2 ตำบลโพสะ อำเภอเมืองอ่างทอง ประกอบกิจการมายาวนานหลายสิบปี ตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากับตำบลจำปาหล่อของผู้ฟ้องคดี
การยื่นฟ้องครั้งนี้ สืบเนื่องจากประชาชนในพื้นที่หมู่ 1, 2 และ 3 ตำบลจำปาหล่อ เห็นว่าพวกตนได้รับผลกระทบจากการปลดปล่อยมลพิษของโรงงานมายาวนานหลายสิบปี จึงรวมตัวกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมเพื่อเรียกร้องให้บริษัท พร้อมกรรมการ 7 ราย ปรับปรุงแก้ไขปัญหาการปล่อยมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ทั้งเรื่องกลิ่นเหม็นจากสารเคมี การปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ เสียงดังรบกวนจากการประกอบกิจการ พร้อมชดใช้ค่าเสียหายต่อสุขภาพอนามัยและทรัพย์สินที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเป็นจำนวนเงินรวม 74,280,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535


ถึงแม้จะเป็นการฟ้องศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกของปี 2568 แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประชาชนในพื้นที่ฟากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยารวมตัวกันฟ้องบริษัท ก่อนนี้เมื่อปี 2561 เคยมีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม (class action) แต่มีการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างโจทก์และจำเลยจนนำไปสู่การถอนฟ้อง
แผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่งเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ว่า “โจทก์และจำเลยสามารถตกลงกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ศาลจึงมีคำพิพากษาตามยอม เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 คดีจึงเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ”
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านบางส่วนที่ร่วมฟ้องครั้งนั้นเห็นว่าการไกล่เกลี่ยไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา จึงเข้าร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอีกครั้ง
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ องค์กรพัฒนาเอกชนที่มุ่งเน้นงานศึกษาและติดตามปัญหาจากมลพิษอุตสาหกรรมตลอดจนความปลอดภัยจากสารเคมี ในฐานะผู้สนับสนุนการยื่นฟ้องคดี ชี้ว่าที่ผ่านมาชาวบ้านมีความพยายามเคลื่อนไหวให้เกิดการแก้ไขปัญหา รวมถึงการฟ้องคดีแบบกลุ่ม แต่คดีดังกล่าวจบลงด้วยการเจรจาชดใช้เงินจำนวนหนึ่งให้กับชาวบ้านที่เป็นโจทก์ ทั้งที่โจทก์บางคนไม่เห็นด้วย จึงติดต่อเข้ามาเพื่อขอให้ทางมูลนิธิช่วยเหลือเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา
การฟ้องคดีแบบกลุ่มเป็นกระบวนการทางกฎหมายที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนในคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก และเสียหายในเรื่องเดียวกัน ด้วยการตั้ง ‘โจทก์’ เสมือนตัวแทนของผู้เสียหายทั้งหมด (class representative) ที่ต้องการฟ้องคดีและดำเนินกระบวนการทางศาล ถือเป็นการฟ้องคดีคนเดียวแต่คุ้มครองทั้งกลุ่ม
เพ็ญโฉมเล่าว่า “ตอนฟ้องคดีเป็นคดีกลุ่ม ศาลแต่งตั้งเราเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญส่วนชาวบ้าน น่าเสียดายที่มีการประนีประนอมยอมความ และมีชาวบ้านส่วนหนึ่งรับเงินไปโดยที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข หน่วยงานราชการเองเท่าที่เราตามย้อนดู คิดว่าการร้องเรียนของชาวบ้านมีส่วนสำคัญทำให้เกิดการตั้งคณะกรรมการเบญจภาคี แต่ก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ สะท้อนว่ามันน่าจะมีความไม่ปกติบางอย่างเกี่ยวกับการกำกับดูแล หรือความไม่จริงจัง ไม่ได้พิจารณาว่าความเดือดร้อนของชาวบ้านสะสมมานานจนกลายเป็นจุดที่ไม่พอใจ”
เมื่อกลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่แก้ไขปัญหาไม่ได้ ทางออกสุดท้ายคือการฟ้องคดีอีกครั้ง
ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายอาสาด้านสิ่งแวดล้อม ให้รายละเอียดหลังยื่นฟ้องว่าคดีนี้เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายในการละเมิดด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการผลิตเส้นใยของบริษัท ทำให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือก๊าซไข่เน่าที่มีกลิ่นเหม็น มีฤทธิ์กับจิตประสาท ขณะเดียวกันก็มีความเป็นกรดที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ
แผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่งเกิดขึ้นหลังพบว่าการฟ้องคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่อศาลยุติธรรมทั่วประเทศมีจำนวนมากขึ้น หลายคดีเป็นที่สนใจของประชาชน เช่น คดีไฟไหม้สารเคมีที่ท่าเรือคลองเตย คดีลำน้ำพองเน่าเสียซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและประชาชนต่างฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโรงงานต้นเหตุ



เอกสารยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ที่ถูกส่งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ความเดือดร้อนยังคงเดิม (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)
ปัญหาสิ่งแวดล้อมมักมีความเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ สุขอนามัย ทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย แต่ที่ผ่านมาการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่เข้าสู่ศาลยุติธรรมมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย รวมทั้งความรู้ความเข้าใจของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้การพิจารณาคดีแพ่งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมีความเรียบร้อยและเป็นระเบียบเดียวกัน จึงมีการจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่ง ออกประกาศเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 ให้ศาลแพ่งเป็นศาลนำร่องในการจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม เปิดทำการแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่งตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นมา
ความหมายเบื้องต้นของคำว่า “คดีสิ่งแวดล้อม” ประกอบด้วย
(1) คดีแพ่ง ที่การกระทำตามคำฟ้องก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเนื่องมาจากการทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนหรือระบบนิเวศ
(๒) คดีแพ่ง ที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยกระทำการหรืองดเว้นกระทำเพื่อคุ้มครองรักษา ทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมชุมชน
(๓) คดีแพ่ง ที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย เพื่อขจัดมลพิษ ที่เกิดขึ้นหรือฟื้นฟูสภาพแวดล้อมหรือเพื่อมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป
(๔) คดีแพ่ง ที่มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย หรือสิทธิใด ๆ ของโจทก์อันเกิดจากมลพิษที่จำเลยเป็นผู้ก่อหรือต้องรับผิด


เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (EPU) กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่ตรวจวัดคุณภาพอากาศหลังเกิดเหตุก๊าซรั่วไหลจนทำให้มีคนงานบาดเจ็บและเสียชีวิต เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2565 (ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ)
ย้อนกลับไปวันที่ 15 ตุลาคม 2565 เคยเกิดเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลจากโรงงานไทยเรยอน สารที่รั่วไหล คือ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen sulfide, H₂S) หรือ ก๊าซไข่เน่า เป็นก๊าซที่กลิ่นฉุนรุนแรงและมีความเป็นพิษสูง ไม่มีสีแต่ติดไฟได้ หากหายใจเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เสียชีวิต
กรมควบคุมมลพิษระบุว่าวันเกิดเหตุโรงงานไทยเรยอนซึ่งประกอบกิจการผลิตเส้นใยสังเคราะห์มีการซ่อมแซมถังตกตะกอนทำให้ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H₂S) รั่วไหลออกมา จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย เป็นเจ้าหน้าที่โรงงานที่ปฏิบัติงานซ่อมแซมเครื่องจักรบริเวณจุดเกิดเหตุ และได้สูดดมก๊าซ H₂S เข้าไป พร้อมให้รายละเอียดเกี่ยวกับ H₂S ว่ามีความเป็นพิษสูง หากหายใจเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เสียชีวิต มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้การควบคุมการหายใจเป็นอัมพาต ไอก๊าซหนักกว่าอากาศ ไวไฟสูงและอาจติดไฟ หากลามกลับไปยังแหล่งกำเนิดอาจทำให้เกิดการระเบิดได้ สามารถได้กลิ่นตั้งแต่ระดับ 0.1 พีพีเอ็ม
วันเดียวกันกรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่ตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยเครื่องตรวจวัดไอระเหยสารเคมีและแก๊สแบบพกพาภาคสนาม (MutiRAE) รวม 5 จุด ได้แก่
จุดที่ 1 เหนือโรงงาน บริเวณหน้าที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านไผ่ล้อม ตำบลโพสะ
จุดที่ 2 เหนือลม ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ตำบลโพสะ
จุดที่ 3 ใต้ลม หมู่ 2 ตำบลจำปาหล่อ
จุดที่ 4 ใต้ลม วัดเสาธงทอง หมู่ 1 ตำบลจำปาหล่อ
จุดที่ 5 ใต้ลม บ้านเลขที่ 67 หมู่ 3 ตำบลจำปาหล่อ
ผลการตรวจวัดทั้ง 5 จุดไม่พบ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์และก๊าซอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ในจุดที่ 3 ได้กลิ่นเหม็นของก๊าซคาร์บอนไดซัลไฟด์ (Carbon disulfide, CS₂) โชยมาเป็นระยะๆ
ในปี 2565 กรมควบคุมมลพิษเคยตรวจวัดค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง พบว่า บริเวณ ตำบลจำปาหล่อ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง มีค่าก๊าซคาร์บอนไดซัลไฟด์ ถึง 217.20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อีกทั้งยังพบว่าน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงาน มีค่าอุณหภูมิเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทำให้มีค่าปริมาณออกซิเจนที่จุลชีพใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ (BOD), ค่าปริมาณออกซิเจนที่สารเคมีใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ (COD) และค่าปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำทั้งหมด (TDS) ไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้

นอกเหนือจากเรียกร้องค่าเสียหาย ทนายชำนัญระบุว่าคดีนี้มุ่งเน้นให้บริษัทปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดมลพิษอากาศ
“ที่ผ่านมาบริษัทแห่งนี้เคยถูกฟ้องเป็นคดีอยู่หลายคดี ทั้งที่มีคำพิพากษาไปแล้ว และที่มีการตกลงเจรจากับชาวบ้านไปบ้าง แต่ว่าในกระบวนการผลิตยังไม่ถูกแก้ไข ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ชาวบ้านต้องใช้สิทธิทางศาลอีกครั้ง”
เพ็ญโฉมให้ความเห็นว่า “พอเราเข้ามาดูกรณีนี้อย่างจริงจัง คิดว่าบริษัทประกอบกิจการมาตั้งแต่ปี 2519 นับถึงปัจจุบันก็ 49 ปี ตัวมลพิษหลักที่เกิดในพื้นที่คือมลพิษอากาศ ตัวที่เป็นอันตรายคือคาร์บอนไดซัลไฟด์ที่ส่งผลกระทบทั้งระยะยาวคือสะสม และแบบเฉียบพลัน ทั้งราชการ นักวิชาการ ต่างเตือนให้แก้ไขปัญหา เราเข้าใจว่าทางบริษัทไม่ยอมเปลี่ยนเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็ขยายกำลังการผลิตไปเรื่อย ๆ ที่สำคัญคือ เรารู้ว่าผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัท 97 เปอร์เซ็นต์ ส่งออกไปหลายสิบประเทศ แต่ปัญหาที่ทางชุมชนรองรับ คือเขารับผลกระทบด้านสุขภาพจากตัวมลพิษที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น เป็นความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญมาก ๆ”
การฟ้องร้องครั้งนี้ โจทย์ขอให้ศาลพิจารณารายละเอียดคำฟ้องที่จะนำไปสู่การตัดสินให้โรงงานต้องรายงานชนิดสารเคมีและชนิดสารที่ปล่อยออกมาสู่สาธารณะ ถือเป็นการนำหลัก การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Registers) หรือ PRTR มาใช้เป็นคำฟ้องในคดี
หลังยื่นฟ้อง ศาลบรรจุเป็นคดีดำหมายเลข สว 1/2568 ถือเป็นคดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกของปี 2568 และศาลได้นัดฝ่ายโจทก์และจำเลยเพื่อสืบพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัย รวมถึงให้ทั้ง 2 ฝ่ายรับฟังและซักถามต่อกัน ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2568
เอกสารประกอบการเขียน
- ฟ้องคดีแบบกลุ่ม: ความยุติธรรมที่ผู้บริโภคไม่อาจเอื้อมถึง
- ประวัติแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่ง
- อธิบดีกรมโรงงานฯ ประชุมติดตามแก้ไขปัญหากลิ่นรบกวนจาก “ไทยเรยอน อ่างทอง”
- กรมโรงงานฯ ติดตามความคืบหน้าปมกลิ่นจาก “ไทยเรยอน อ่างทอง” ป้องกันสุขภาพอนามัยของประชาชน
- ชาวตำบลจำปาหล่อ อ่างทอง 62 ราย ยื่นฟ้อง บ.ไทยเรยอนฯ หลังได้รับผลกระทบมลพิษจากโรงงานยาวนานหลายสิบปี