“ค่ายสารคดีปีนี้เราจะทำเรื่องความหลากหลาย เลยขอชวนเริ่มต้นบทเรียนแรกด้วยการทำความเข้าใจเพื่อนๆ ที่มาจากต่างที่มากันนะคะ” ดร.จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร จากศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวชวนน้องๆ เข้าสู่กิจกรรมแรก

บทเรียนแรกในค่ายสารคดี ครั้งที่ 20

การจะเป็นนักบันทึกสังคมหรือสื่อสารความแตกต่างหลากหลาย ไม่อาจทำได้ด้วยทักษะทางวิชาชีพสื่อเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยทั้งความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ การรับฟังสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกเบื้องหลังคำพูด อารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนความคาดหวังและตัวตนภายในของตนเองและผู้อื่น บทเรียนแรกของค่ายสารคดีครั้งที่ 20 จึงเริ่มต้นด้วยการฝึกฝนทักษะการสื่อสารจากภายใน ทั้งในบทบาทของผู้พูด และผู้รับฟัง

“หากลองแนะนำตัวเองด้วยเอกลักษณ์ของตัวเองหนึ่งอย่างที่เป็นตัวตนของเรา อะไรที่เรามีไม่เหมือนใคร เพื่อให้เพื่อนจำเราได้ สิ่งนั้นคืออะไร”

บางคนแนะนำตัวว่านิสัยของตัวเองที่ไม่ตรงกับชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้สักนิด บางคนแนะนำตัวผ่านประสบการณ์สำคัญ เช่นการวิ่งฟูลมาราธอนได้สำเร็จ บางคนแนะนำตัวเองจากลักษณะนิสัย พูดเยอะบ้าง ขี้เบื่อบ้าง เป็นคนตลกบ้าง ในขณะที่บางคนก็แนะนำตัวเองจากลักษณะภายนอกที่จดจำได้ง่ายอย่างการมีไฝบนหน้า หรือการเป็นคนหน้าดุตลอดเวลา แต่ละคนมีมีวิธีการหยิบยกเอกลักษณ์ของตนเองแตกต่างกันไป

“Who am I? ฉันคือใคร” คือคำถามใหญ่ที่ค่ายถามกับน้องๆ ทุกคนในเช้าวันนี้ หากเราลองปล่อยให้จิตใต้สำนึกพรั่งพรูออกมาเป็นตัวอักษรผ่านการเขียน Intuitive Writing หรือ Free Writing เราจะค้นพบคำสำคัญหรือข้อความสำคัญใดผุดขึ้นมาบ้าง และเมื่อเราได้ผลัดกันแนะนำตัวเองอีกครั้งเราจะค้นพบสิ่งใด

“หนูพบว่าคนเรามีวิธีคิดที่แตกต่างกัน มีวิธีสำรวจตัวเองที่แตกต่างกันค่ะ สิ่งที่ผุดขึ้นมาของเพื่อนมีโครงสร้างเป็นระบบระเบียบ ในขณะที่ของหนูเต็มไปด้วยมวลอารมณ์ เราทึ่งกับความแตกต่างนี้” น้องค่ายคนหนึ่งแลกเปลี่ยน

ดร.จิรัฐกาล อธิบายว่าคนเรามีวิธีการเล่าเรื่องต่างกันเพราะชุดประสบการณ์ที่หล่อหลอม บางคนใช้ความคิดตรรกะบ่อย บางคนใช้ความรู้สึกบ่อย แต่ทุกคนก็มีความหลากหลายในตัวเอง ลึกๆ เราก็มีอีกด้านในตัวเองที่ไม่ค่อยได้ใช้ และเราอาจจะได้ค้นพบอีกด้านนั้นเมื่อพูดคุยกับคนที่แตกต่างกับเรา

“หลายๆ ครั้งเรารู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกแตกต่างจากคนอื่น แต่ตอนที่เริ่มเขียน หนูกับเพื่อนอีกคนก็เขียนบางจุดออกมาแบบเดียวกันเป๊ะๆ เลยค่ะ พอมองให้ลึกขึ้น เราเห็นด้านที่เหมือนกัน เห็นคนที่เราเชื่อมต่อด้วยได้ สื่อสารด้วยได้” น้องค่ายอีกคนยกมือเล่าความบังเอิญที่เกิดขึ้น

น้องบางคนเล่าว่าได้ค้นเจอความเปราะบางในใจของตัวเอง รับรู้ว่ามีบางเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงพยายามจะไม่พูดถึงให้คนอื่นรับรู้ ในขณะที่บางคนก็ได้วนกลับมาเจอความภูมิใจในตัวเองที่หลงลืมไปนาน

“เมื่อกี้เป็นช่วงเวลาที่ผมได้อยู่กับตัวเองนานที่สุดในรอบสัปดาห์เลยครับ”

ท่ามกลางยุคสมัยที่เร่งรีบ เรื่องราวมากมายผ่านมาและผ่านไป เราในวันนี้อาจไม่ใช่คนเดียวกับเราในเมื่อวาน การหมั่นทำความรู้จักตัวเอง รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของตัวเองก็เป็นเรื่องสำคัญในชีวิต เชื่อว่าในเช้าวันนี้ น้องๆ จะได้ทำความรู้จักตัวตนลึกๆ ของตัวเองมากขึ้นไม่มากก็น้อย

Active Imagination จินตนาการถึงชีวิตที่ผสมผสาน

“มองเห็นภาพตัวเองในปัจจุบันแล้ว ภาพตัวเราในอนาคตที่เราอยากจะเห็น อยากจะไปให้ถึง ความสำเร็จในชีวิตของเราหน้าตาเป็นแบบไหน ลองจินตนาการแล้ววาดออกมา พยายามลงรายละเอียดให้มันชัดที่สุดว่าในฝันนั้นมีอะไรอยู่บ้าง”
กิจกรรมในช่วงบ่ายพาน้องๆ ทำความรู้จักตัวเองผ่านศิลปะ นิยามตัวเองในปัจจุบัน อนาคต รวมถึงอุปสรรคที่ขวางกั้นเราอยู่ จินตนาการดูว่าสี เส้น หรือสัญญะใดที่จะแทนตัวเราได้ และเมื่อเรานำทุกอย่างมาผสมผสานกันเป็นภาพเดียว ภาพชีวิตที่ผสมผสานของเราจะออกมาเป็นอย่างไร

การเรียนรู้ไม่ได้จบแค่เพียงภาพที่วาดออกมา แต่คือการเล่าสู่กันฟัง เพราะเนื้อหาที่เราพูดออกมานั้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของสิ่งที่อยู่ภายใน การพูดคุยตลอดทั้งวันนี้จึงเป็นการฝึกสื่อสารอารมณ์ของตนเองไปในเรื่องเล่าสำหรับผู้พูด และการฝึกฟังอย่างตั้งใจ ฟังด้วยหัวใจของผู้ฟังไปพร้อมๆ กัน

“ถ้าวาดภาพภูเขาน้ำแข็งแทนพฤติกรรมของคนเรา ส่วนที่โผล่พ้นน้ำมาคือโลกภายนอก การแสดงออก ท่าทาง พฤติกรรม คำพูด แต่ส่วนที่อยู่ใต้ผิวน้ำก้อนใหญ่มหึมาเรียกว่าโลกภายใน มีทั้งความรู้สึก มุมมอง ทัศนคติ ความคาดหวัง และตัวตน เวลาเราฟังเรื่องราวของเพื่อน เรารับรู้โลกภายในของเพื่อนได้ไหม”

กิจกรรมช่วงบ่ายของค่ายว่าด้วยการรับรู้ความคาดหวังภายในของตนเองและผู้อื่น มนุษย์เรามีความรู้สึกเชิงลบเพราะความคาดหวังภายในไม่ได้รับการเติมเต็ม เราอาจรู้สึกเครียดเพราะต้องการการพักผ่อน หรืออาจรู้สึกน้อยใจเพราะไม่ได้รับความเข้าใจจากคนรอบข้าง เวลาช่วงบ่ายวันนี้เราขอชวนชาวค่ายทุกคนมานั่งคุยกันอย่างลึกซึ้ง พยายามเข้าใจโลกภายในของเพื่อน ช่วยกันสะท้อนโลกภายในที่เจ้าตัวเองอาจจะมองข้ามไป

“หนูรู้สึกว่ากิจกรรมนี้ดีกับหนูมากๆ ค่ะ เวลามีอะไรลบๆ เข้ามาในชีวิตหนูจะอารมณ์มาเต็มเสมอ ตีโพยตีพาย วันนี้พอเราเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนเห็นในสิ่งที่เราไม่เห็น ได้ปลอบประโลมกันค่ะ” น้องค่ายเริ่มแลกเปลี่ยนหลังจบกิจกรรม

น้องค่ายอีกคนหนึ่งแลกเปลี่ยนหลังพูดคุยว่าเขาฟังเรื่องราวของเพื่อนร่วมค่ายที่อายุน้อยกว่า บางคนอาจมองว่ามันเป็นเรื่องของเด็กๆ ไม่ได้หนักหนาอะไรมากมาย แต่ความรู้สึกที่เขาสัมผัสได้จากเพื่อนร่วมค่ายคนนั้นก็จริงแท้ เป็นสิ่งติดค้างก้อนใหญ่ในใจไม่ต่างจากที่ผู้ใหญ่วัยทำงานมีกัน เราไม่อาจใช้ประสบการณ์หรือมุมมองของตัวเองตัดสินได้ว่าเรื่องใดเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ สิ่งที่ทำได้คือการเคารพเรื่องราว เคารพประสบการณ์ และเคารพความรู้สึกของกันและกัน

“วันนี้เป็นวันแรกที่หนูแยกคำว่า ได้ยิน กับ ฟัง ออกค่ะ การฟังเป็นทักษะที่ดีมาก ขอบคุณที่ทำให้ได้เรียนรู้และตกตะกอน ขอบคุณค่ะ”

“วันนี้ผมได้เห็นตัวเองและเห็นคนอื่นครับ วันนี้เป็นการรู้จักกันวันแรกที่ดีที่สุดเลยครับ ได้ฝึกให้เราโอบรับกันและกัน ไม่ให้ใครรู้สึกเป็นอื่นไปครับ”

“เรื่องเล่าในวันนี้มีความหมายมากๆ อยากฟังไปอีกเรื่อยๆ ขอบคุณที่เล่าให้ฟังครับ”

สนับสนุนโดย

  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • วิริยะประกันภัย
  • กลุ่มธุรกิจ TCP
  • Nikon
  • TheDigital STM
  • Hollyland Thailand
  • Zhiyun Thailand
  • Miliboo Thailand
  • Sirui Thailand
  • Sigma Thailand
  • Srishti Digilife Thailand

กิจกรรมโดย

  • Sarakadee Magazine