ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

c01
หนึ่งในบรรดาประเทศผู้เชี่ยวชาญการแปลงปัญญา และความคิดสร้างสรรค์เป็นสินทรัพย์ได้อย่างน่าทึ่ง คือ ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นพยายามปรับเปลี่ยนท่าทีจากการใช้แสนยานุภาพทางการทหารในการเอาชนะโลก มาสู่การใช้พลานุภาพทางวัฒนธรรมจากพลังแกร่ง (Hard Power) มาสู่พลังละเมียด (Soft Power)

หรือถ้าว่ากันอย่างปรัชญาตะวันออก คือ การใช้หยินนำหยาง หลังจากที่พลังหยางซึ่งญี่ปุ่นใช้ผ่านกองทัพในการรุกรานเอเชีย และโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ได้รับการตอบกลับด้วยระเบิดนิวเคลียร์จนฮิโรชิมา และนางาซากิถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง และญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้สงครามเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕

c02


จุดเปลี่ยน และบทเรียน
ระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกที่ชื่อ ลิตเติลบอย (Little Boy) หรือเด็กน้อย ซึ่งถูกทิ้งลงที่ฮิโรชิมาเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ปี ๑๙๔๕ ได้คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า ๑๓๐,๐๐๐ คน ๓ วันต่อมา แฟตแมน (Fat Man) หรือชายอ้วน ได้ถูกทิ้งลงที่นางาซากิ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง ๗๕๐,๐๐๐ คน เมื่อสงครามสิ้นสุด ประมาณการว่ามีชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตมากกว่า ๒ ล้านคน ยังไม่นับรวมผู้บาดเจ็บจากการได้รับกัมมันตภาพรังสี ญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาพบอบช้ำทั้งในเชิงจิตใจในฐานะผู้แพ้สงคราม และในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ถูกทำลายลงจนยากแก่การฟื้นตัวญี่ปุ่นต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปีในการกอบกู้อุตสาหกรรมในประเทศให้กลับมาสู่ระดับการผลิตเดียวกันกับช่วงก่อนจะเกิดสงคราม ก่อนจะใช้ข้อได้เปรียบของการไม่ต้องมีกองทัพ ทุ่มเททรัพยากรไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ จนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ ๒ รองจากสหรัฐอเมริกาความสำเร็จทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกลายเป็นสิ่งดึงดูดใจคนทั่วโลก ญี่ปุ่นเองก็เริ่มเข้าใจในวิธีการต่อสู้แบบใหม่ที่ไม่ต้องใช้กำลังทหาร ในแต่ละปี ญี่ปุ่นจะมอบทุนการศึกษาจำนวนมากแก่นักศึกษาต่างชาติ ให้มาศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของญี่ปุ่น ให้ทุนครูบาอาจารย์เพื่อมาดูงาน และทำวิจัย ออกทุนให้สื่อมวลชนจากทั่วโลกเดินทางมาท่องเที่ยว และรายงานข่าว กระทั่งจัดหาสถานที่ และเงินทุนสำหรับศิลปินให้มาใช้ชีวิต และสร้างสรรค์งานศิลปะในญี่ปุ่น

ที่ปรึกษาของนักการเมืองระดับสูงผู้มีสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของญี่ปุ่นบอกผมว่า ถ้าทีมของเขาได้กำหนดนโยบายของรัฐบาลในอนาคต เขาวางแผนที่จะสนับสนุนให้ชาวต่างชาติมาเรียนหนังสือ ทำงาน และใช้ชีวิตในญี่ปุ่นให้ได้ถึงปีละ ๒ ล้านคน

นโยบายเหล่านี้ถือเป็นการต่อสู้ขั้นสูงของการรบด้วยพลังละเมียดเชิงวัฒนธรรม ซึ่งนักคิดนักวิชาการญี่ปุ่นกำลังสนใจกันมาก

c03


พลานุภาพของวัฒนธรรม
โจเซฟ เอส. ไน จูเนียร์ (Joseph S. Nye, Jr.) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้คำนิยามพลังละเมียดไว้ว่า เป็นความสามารถในการดึงดูดให้ผู้อื่นทำตามในสิ่งที่คุณต้องการ โดยไม่ต้องใช้กำลังข่มขู่หรือใช้เงินซื้อหาถ้าพลังแกร่งเกิดจากการใช้กำลังทางการทหารหรือความได้เปรียบในเชิงเศรษฐกิจขับดัน พลังละเมียดกลับเกิดจากการใช้เสน่ห์ในเชิงวัฒนธรรมเป็นปัจจัยในการเอาชนะ

เมื่อเอาชนะใจผู้อื่นด้วยพลังละเมียดเชิงวัฒนธรรมได้แล้ว ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะเป็นสิ่งที่ติดตามมา

ในปี ๒๐๐๒ ผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นอย่างวิดีโอเกม แอนิเมชัน ภาพยนตร์ และสินค้าแฟชั่น สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศสูงถึง ๑๒.๕ พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ ๓๐๐ เมื่อเทียบกับปี ๑๙๙๒ ในขณะที่สินค้าส่งออกเดิมมีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ ๑๕

การประสบความสำเร็จอย่างสูงในเชิงการตลาดของภาพยนตร์แอนิเมชั่นรางวัลออสการ์เรื่อง Spirited Away ทำให้วัฒนธรรมญี่ปุ่นกลายเป็นความท้าทายใหม่ของผู้สร้างภาพยนตร์จากฮอลลีวูด จาก Lost in Translation สู่ The Last Samurai และล่าสุด Memoirs of a Geisha ก็สามารถพาตัวเองขึ้นสู่เวทีออสการ์ ในช่วงเวลาที่ตะวันตกเริ่มหมดความตื่นเต้นกับวิถีเดิม ๆ ของตนเอง และพยายามแสวงหาความแปลกใหม่จากวัฒนธรรมทั่วโลก

สหรัฐอเมริกาซึ่งสามารถเอาชนะญี่ปุ่นด้วยแสนยานุภาพทางการทหาร และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ จึงต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับ เมื่อถูกรุกด้วยพลังละเมียดในเชิงวัฒนธรรมของญี่ปุ่น หลังจากที่เคยถูกรุกหนักด้วยพลังทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐ จนทำให้ขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นติดต่อกันหลายปี เป็นกรณีพิพาทเรื่องการเปิดตลาดอยู่หลายเรื่อง (ก่อนปัญหาทางเศรษฐกิจจะถูกเบนความสนใจไปยังจีน ซึ่งกำลังใช้พลังทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการมีต้นทุนต่ำ บุกตะลุยตลาดตะวันตกจนปั่นป่วนไปทั้งโลก โดยเฉพาะในยุโรป และอเมริกา ซึ่งมีค่าครองชีพสูง และค่าจ้างแรงงานแพง)

c04


การหันมามุ่งเน้นพลังละเมียดเชิงวัฒนธรรม ส่งผลให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีการจดสิทธิบัตรเป็นอันดับ ๑ ในโลก โดยมีการใช้เงินไปกับการวิจัย และพัฒนาเป็นอันดับ ๔ เมื่อเทียบตามสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทุกวันนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก (วัดจากยอดขาย) ๒๕ บริษัท เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นถึง ๗ บริษัท และบริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้ได้กลายเป็นแบรนด์สำคัญซึ่งเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า ฮอนด้า หรือโซนี่

บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีของโลก เช่น โนเกีย และแอปเปิล ก็พยายามใช้สไตล์ความน่ารักแบบญี่ปุ่น (Kawaii) ปรุงแต่งลงในผลิตภัณฑ์ของตนเองเพื่อตีตลาดโลก เช่นเดียวกับภาพยนตร์การ์ตูนดังอย่าง Pokemon ซึ่งได้แพร่ภาพใน ๖๕ ประเทศทั่วโลก จนทำให้วัฒนธรรมญี่ปุ่นแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว

เมื่อนายกรัฐมนตรี โทนี่ แบลร์ ของอังกฤษเข้ารับตำแหน่งในปี ๑๙๙๗ เขาได้ประกาศนโยบาย Cool Britain เพื่อผลักดันให้อังกฤษเป็นประเทศแห่งความเท่ทันสมัยเพื่อดึงดูดการลงทุน และผู้คนจากทั่วโลก รัฐได้ทุ่มงบประมาณในการสร้างสาธารณูปโภคทางปัญญา เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะ โรงละครโอเปรา ให้เกิดขึ้นหลายแห่ง ทั้งนี้เพื่อพลิกโฉมอังกฤษให้เข้าสู่โลกยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา และความคิดสร้างสรรค์

ในญี่ปุ่นเอง เริ่มมีการพูดกันถึงเรื่อง Cool Japan ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้าง และส่งออกสินค้าวัฒนธรรม ที่เติบโตขึ้นมาแทนที่สินค้าส่งออกแบบเดิมของญี่ปุ่น ซึ่งนับวันต้องเผชิญกับการแข่งขันหนักขึ้นจากประเทศต้นทุนต่ำทั้งหลาย สินค้าวัฒนธรรมกำลังจะกลายเป็นเสาหลักค้ำยันเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปัจจุบัน รวมทั้งคาดว่าจะกลายเป็นขุมพลังใหม่ซึ่งช่วยให้ญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นมาได้อีกครั้งจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ ๑๙๙๐

c05


แมวไม่มีปาก ชีวประวัติของ Hello Kitty
ในการเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อดูงานด้านแอนิเมชันเมื่อปีที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ฮามาโนะ ยาสุกิ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแอนิเมชันแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว เล่าให้ฟังว่า มีข่าวลือในวงการแอนิเมชันของญี่ปุ่นว่า มหาเศรษฐี บิลล์ เกตส์ แห่งไมโครซอฟต์ ได้ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการบริษัทซานริโอ (Sanrio Company) เป็นเงินสูงถึง ๖๐๐ พันล้านเยนบริษัทนี้มิได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างที่หลายคนคาดเดา หากแต่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนหรือคาแร็กเตอร์ที่รู้จักกันดีในนาม เฮลโลคิตตี้ (Hello Kitty) รวมทั้งกิจการขายสินค้า และลิขสิทธิ์อันเกี่ยวเนื่องกับตัวการ์ตูนเหล่านี้ เรื่อยไปจนถึงสวนสนุกในกรุงโตเกียว

เมื่อถูกถามถึงข่าวลือนี้ ผู้บริหารระดับสูงของซานริโอได้แต่ยิ้ม ๆ ตามสไตล์คนญี่ปุ่น ก่อนจะตอบว่า เฮลโล คิตตี้ ไม่ได้มีไว้ขาย แต่ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว

ชินทาโร่ ทสึจิ ก่อตั้ง ยามานาชิ ซิลค์ เซ็นเตอร์ อันเป็นกิจการเริ่มต้นของเขาในปี ๑๙๖๐ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น ซานริโอ ในปี ๑๙๗๓ และเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก ๑ ล้านเยนเป็น ๓.๕ ล้านเยน โดยก่อนหน้านั้นเขาได้เปิดร้านขายของที่ระลึกขึ้นในย่านชินจูกุในกรุงโตเกียวเมื่อปี ๑๙๗๑ จนถึงปี ๑๙๗๔ ตัวการ์ตูนเฮลโลคิตตี้จึงถูกสร้างขึ้น

เฮลโลคิตตี้เป็นแมวประหลาด เพราะถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่มีปาก ยูโกะ ยามากูชิ หัวหน้าดีไซเนอร์คนล่าสุดผู้ดูแลการออกแบบคิตตี้ ให้เหตุผลว่า คิตตี้นั้นสามารถสื่อสารด้วยภาษาที่ออกมาจากใจ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งเป็นการเฉพาะ การมีปากจึงอาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับเธอ (คิตตี้เพิ่งขยับปากได้นิดหน่อยเมื่อถูกสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน เพื่อให้การพูดดูสมจริงขึ้น)

ข้อดีของการไม่มีปาก คือ ทำให้เธอไม่ต้องแสดงอารมณ์อันใดออกมา คิตตี้จึงยังคงเป็นแมวที่น่ารักมาตั้งแต่วันที่เธอถูก อิคุโกะ ชิมิซึ ดีไซเนอร์คนแรกสร้างขึ้น ก่อนที่ เซ็ตสึโกะ โยเนะคุโบะ จะมารับช่วงต่อในปี ๑๙๘๐ จนกระทั่งมาถึงมือ ยูโกะ ยามากูชิ ซึ่งดูแลเฮลโลคิตตี้อยู่ในปัจจุบัน

จะว่าไปเฮลโลคิตตี้นั้นก็เปรียบเสมือนจินตนาการครอบครัวอบอุ่น เธอมีพ่อทำงานอยู่ในบริษัทเทรดดิ้ง มีแม่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเบเกอรี ตามประวัติอย่างเป็นทางการบอกว่า เธอเกิดเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ปี ๑๙๗๔ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เธอจึงมีความเป็นสากลในสายตาคนญี่ปุ่น และดูมีความเป็นญี่ปุ่นเมื่ออยู่ในโลกตะวันตก

c06


คิตตี้ชอบเดินทางท่องเที่ยว ชอบเล่นดนตรี อ่านหนังสือ และที่สำคัญที่สุด เธอชอบพบเพื่อนใหม่อยู่เสมอตลอดระยะเวลา ๓๐ ปีที่เธอถือกำเนิดมาบนโลก ผู้สร้างค่อย ๆ บรรจงใส่ตัวละครใหม่ ๆ ลงไปในชีวิตเธอตามลำดับ ทำให้คิตตี้กลายเป็นตัวการ์ตูนที่มีพัฒนาการ และเริ่มมีมิติทางสังคม

ปี ๑๙๗๙ คุณปู่ผู้ชอบวาดรูป และคุณย่าผู้รักงานเย็บปักถักร้อยของเธอถูกสร้างขึ้น โดยทั้งคู่อาศัยอยู่ในชนบทห่างจากบ้านของเธอไม่ไกลนัก ปี ๑๙๘๙ เดียร์ แดเนียล (Dear Daniel) แฟนหนุ่มของเธอถูกสร้างขึ้นให้เป็นรักแท้ของคิตตี้ ก่อนระยะทางจะพรากทั้งคู่ออกจากกัน เมื่อแดเนียลต้องตามครอบครัวไปต่างประเทศ ทำให้คิตตี้กลายมาเป็นแมวนักเขียนโปสการ์ด และจดหมาย ส่งผลให้การ์ดที่ระลึกรูปคิตตี้ในลีลาต่าง ๆ กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของบริษัท

การเกิดของแดเนียลทำให้บริษัทสามารถขยายผลิตภัณฑ์คิตตี้ไปสู่สินค้าสำหรับคู่สมรส สินค้าสำหรับแม่ รวมทั้งสินค้าที่มุ่งเน้นความเป็นคู่ทั้งหลาย อันเป็นฐานรายได้ใหม่ให้แก่บริษัทซึ่งมีผลิตภัณฑ์จากคิตตี้รวมแล้วกว่า ๒ หมื่นชนิด

ที่สนุกที่สุดเห็นจะเป็นเมื่อปี ๒๐๐๔ เมื่อ จอร์จ ไวท์ พ่อของคิตตี้ ได้มอบสัตว์เลี้ยงเป็นแมวตัวเล็ก ๆ น่ารักชื่อว่า ชาร์มมี่ คิตตี้ (Charmmy Kitty) ให้แก่เธอ ส่วนแดเนียลก็ไม่ยอมน้อยหน้า เขามอบหนูแฮมสเตอร์ ชื่อว่า ชูการ์ (Sugar) ให้แก่คิตตี้ตามสมัยนิยม โดยแทบจะลืมไปว่าคิตตี้เป็นแมว และวันใดวันหนึ่งเมื่อหิวจัด เธออาจรับประทานสัตว์เลี้ยงของเธอได้

คิตตี้ถูกสร้างให้เป็นแมวที่เกาะติดกับกระแสสังคมมาโดยตลอด อย่างเช่นเมื่อกระแสการเรียนเปียโนเริ่มเป็นที่แพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น ดีไซเนอร์ได้ออกแบบการ์ดรูปคิตตี้เล่นแกรนด์เปียโน อันเป็นสิ่งที่เด็กญี่ปุ่นใฝ่ฝันอยากมีไว้ในครอบครอง แต่ส่วนใหญ่มีไม่ได้ เนื่องจากบ้านพักมีขนาดเล็กเกินกว่าจะใส่แกรนด์เปียโนเข้าไป

คิตตี้จึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์ในจินตนาการที่จับใจ และเข้ามาทดแทนความรู้สึกที่ขาดหายไปในโลกแห่งความเป็นจริง

จากญี่ปุ่น คิตตี้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปโด่งดังในสหรัฐอเมริกา ด้วยชินทาโร่ได้บุกเบิกเปิดร้านขายของที่ระลึกในซานฟรานซิสโกมาตั้งแต่ปี ๑๙๖๙ เมื่อคิตตี้ถือกำเนิดขึ้นในอีก ๕ ปีต่อมา จึงมีการทำการตลาดอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการศึกษารสนิยมผู้บริโภค การเลือกใช้สีที่เหมาะกับตลาด นำมาสู่การออกแบบคิตตี้ที่แตกต่างจากญี่ปุ่น แต่สอดคล้องกับตลาดอเมริกา

บุคลิกที่น่ารักของคิตตี้ ทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายในฝั่งตะวันตก ดาราฮอลลีวูดหลายคนกลายมาเป็นแฟนคลับของคิตตี้ ทั้ง มารายห์ แครี่ คาเมรอน ดิแอซ แมนดี้ มัวร์ รวมทั้งนางแบบอย่าง ไฮดี้ คลุม คิตตี้จึงพัฒนาตัวเองจากสินค้าที่ระลึกมาเป็นสินค้าแฟชั่น คอลเล็กชันใหม่ ๆ ถูกนำออกสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอ เพราะมีนักสะสมกำลังซื้อสูงรอคอยการปรากฏตัวของเธออย่างเหนียวแน่น

เหตุผลหนึ่งที่ บิลล์ เกตส์ ต้องการครอบครองคิตตี้นั้น ว่ากันว่าเป็นเพราะลูกสาวของเขาก็เป็นแฟนคิตตี้เช่นกัน

ความโด่งดังของคิตตี้ทำให้เธอได้รับเลือกให้เป็นทูตของยูนิเซฟในปี ๑๙๘๓ และในปี ๑๙๙๑ ภาพยนตร์เรื่อง Hello Kitty & Friends ได้รับการแพร่ภาพผ่านเครือข่าย CBS ของสหรัฐอเมริกา ก่อนที่มาสเตอร์การ์ดจะจับเธอใส่ไว้ในบัตรเดบิตในปี ๒๐๐๔

จากทุนจดทะเบียนเริ่มต้น ๑ ล้านเยน ปัจจุบันบริษัทซานริโอกลายเป็นธุรกิจใหญ่มีทุนจดทะเบียน ๑๘.๓ พันล้านเยน มียอดขายปีละ ๘๓ พันล้านเยน โดยรายได้หลักร้อยละ ๙๑.๕ มาจากการขายสินค้าที่ระลึก ร้อยละ ๕.๓ มาจากการขายการ์ด และมีรายได้จากการจำหน่ายวิดีโอ ภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์ รวมทั้งสวนสนุก และร้านอาหารเป็นส่วนเสริม

จากแมวธรรมดาจึงกลายมาเป็นสินทรัพย์มูลค่ามหาศาลด้วยกระบวนการสร้างมายาภาพอันแยบคายในช่วงเวลากว่า ๓ ทศวรรษ

c07


ความมั่งคั่งซึ่งได้มาในเวลา 3 ทศวรรษ
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับที่คิตตี้จะถือกำเนิดขึ้น เด็กหนุ่มคนหนึ่งจากซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ได้สมัครเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่ยังไม่ทันจบ เขา และเพื่อนสมัยมัธยม คือ พอล อัลเลน และเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยอีกคนหนึ่ง คือ สตีฟ บัลล์เมอร์ ได้ตัดสินใจยุติการเรียน เพื่อออกมาบุกเบิกกิจการเล็ก ๆ ที่เขาเชื่อว่าจะมีอนาคตก้าวไกล ในยุคที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้ถือกำเนิดขึ้นในโลกจากบริษัทที่เริ่มต้นด้วยคน ๒-๓ คน ใช้ทุนสมองสร้างระบบปฏิบัติการสำหรับคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ บริษัทนี้ได้พัฒนาตัวเองขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นบริษัทผู้ผูกขาดระบบปฏิบัติการสำหรับคอมพิวเตอร์ทั่วโลก อันนำความมั่งคั่งมาสู่บริษัทพร้อม ๆ กับคดีความเรื่องการผูกขาดตลาดกระนั้นความสำเร็จในช่วงเวลา ๓ ทศวรรษนี้ก็เพียงพอที่จะทำให้เด็กหนุ่มคนดังกล่าวกลายเป็นชายวัยกลางคนผู้ที่ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Forbes ว่ารวยที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี โดยประมาณการว่าเขาน่าจะมีสินทรัพย์มากถึง ๕ หมื่นล้านเหรียญสหรัฐบริษัทนี้มิได้เป็นเจ้าของโรงงานขนาดใหญ่ ไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่เคยสร้างความมั่งคั่งให้แก่นักอุตสาหกรรมอเมริกันในยุคก่อน หากแต่บริษัทนี้เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่ชื่อ วินโดวส์

ชายผู้นี้มีชื่อว่า บิลล์ เกตส์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกิจการไมโครซอฟต์ขึ้นเมื่อปี ๑๙๗๕ หรือ ๑ ปีหลังการถือกำเนิดขึ้นของเฮลโลคิตตี้ อันเป็นช่วงเวลาที่โลกกำลังเดินทางเข้าสู่ยุคที่ได้รับการเรียกขานจาก อัลวิน ทอฟฟเลอร์ ว่า ยุคคลื่นลูกที่ ๓ หรือ ยุคปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร ซึ่งในช่วง ๓ ทศวรรษที่ผ่านมาได้พลิกโฉมหน้าโลกไปอย่างมากมาย และได้กลายเป็นแหล่งความมั่งคั่งใหม่ของผู้คนจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา