นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๐ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๐ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ "มอแกน ยิปซีทะเลผู้หยุดเร่ร่อน"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๐ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

๑๔ ปี คลินิกคนไข้แห่งสงคราม

 

ของแพทย์หญิงชาวกะเหรี่ยง ซินเทีย มาว

 
  วันดี สันติวุฒิเมธี : เรื่อง / ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
(คลิกดูภาพใหญ่)       จากตัวอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก สู่สะพานมิตรภาพไทย-พม่า ก่อนถึงสนามบินอำเภอแม่สอดไม่กี่ร้อยเมตร มีเรือนไม้เล็ก ๆ หลังหนึ่งตั้งอยู่ริมถนน
      เรือนไม้หลังนี้ตั้งอยู่ที่นี่มา ๑๔ ปีแล้ว แต่เดิม ชั้นล่างของมันถูกดัดแปลงเป็นที่พักสำหรับคนไข้จากฝั่งพม่า ที่เดินทางเข้ามาเพื่อรักษาตัวในโรงพยาบาลอำเภอแม่สอด ก่อนจะค่อย ๆ ขยับขยายมาเป็นคลินิกและสถานที่พักฟื้นในเวลาต่อมา
      วันนี้ เรือนไม้ยังมีสภาพไม่ต่างไปจากเดิมนัก สิ่งที่เปลี่ยนไปคือจำนวนอาคารและผู้ปฏิบัติงานที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงจำนวนผู้ป่วยด้วย เตียงไม้กว่า ๕๐ เตียงไม่เคยว่างเว้นจากผู้ป่วยไข้จากโรคตั้งแต่ท้องร่วง มาลาเรีย ฯลฯ ไปจนถึงผู้บาดเจ็บจากการถูกยิงหรือเหยียบกับระเบิด 
      ไม่เพียงแต่รักษาพยาบาลผู้ป่วย สถานที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ และแหล่งข้อมูลความรู้สำหรับประชาชน ทั้งที่อยู่ในเขตประเทศพม่า และที่อพยพเข้ามาทำงานหรือลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย 
      สำหรับคนทั่วไป ที่นี่อาจเป็นเพียงสถานพยาบาลซ่อมซ่อ ที่มีอาคารสถานที่และอุปกรณ์การแพทย์ต่ำกว่ามาตรฐาน แต่สำหรับประชาชนผู้ทุกข์ยากจากประเทศพม่าแล้ว ที่นี่เป็นเสมือนสวรรค์ที่ช่วยเยียวยาทั้งร่างกายและหัวใจ ของทุกผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมือง ที่กินเวลายาวนานนับครึ่งศตวรรษ ที่สำคัญ..สถานพยาบาลแห่งนี้มีสิ่งที่สถานพยาบาลอื่นอีกหลายแห่งในโลกไม่มี นั่นคือ หัวใจอันเสียสละของแพทย์หญิงชาวกะเหรี่ยง--ดร. ซินเธีย มาว ผู้ก่อตั้งคลินิกเล็ก ๆ ที่ทั่วโลกรู้จักกันดีในชื่อ "คลินิก ดร. ซินเทีย"
 

คนไข้แห่งสงคราม

 (คลิกดูภาพใหญ่)      แพทย์อาสาสมัครจากสหรัฐอเมริกาคนหนึ่งกล่าวถึงลักษณะเฉพาะของ "โรค" ที่พบในคลินิกแห่งนี้ว่า
     "โรคที่นี่เป็นโรคที่เกิดจากผลพวงจากการปกครองที่ผิดพลาด เป็นโรคจากความรุนแรงระหว่างคนกับคน และระหว่างรัฐบาลกับประชาชน"
....................................................................

     ที่อาคารอุบัติเหตุซึ่งรับคนไข้ได้ ๑๖ เตียงเต็มแน่นตลอดเวลา วันที่เราไปเยือน มีผู้ป่วย ๔ รายบาดเจ็บจากการเหยียบกับระเบิดซึ่งฝังอยู่ตามทุ่งนาใกล้ชายแดนฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอด กับระเบิดเหล่านี้ถูกฝังไว้ใต้ดินทั้งโดยฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าและฝ่ายกองกำลังชนชาติต่าง ๆ เพื่อสกัดกั้นกองกำลังฝ่ายตรงข้ามไม่ให้เข้ามาใกล้เขตแดนของตน แต่ในความเป็นจริง คนที่มีโอกาสเหยียบกับระเบิดมากที่สุดคือประชาชนผู้บริสุทธิ์ เพราะไม่รู้ว่าบริเวณไหนเป็นเขตวางระเบิดของใคร 
     หนึ่งในนั้น คือ เมียะ ฮุย หญิงสาววัย ๒๑ ปีที่ต้องสูญเสียขาทั้งสองข้างตั้งแต่เหนือเข่าลงไปเมื่อสองปีก่อน ขณะที่เธอกำลังเก็บผักข้างทุ่งนาไปทำกับข้าว แรงระเบิดตัดขาทั้งสองข้างของหญิงสาวขาดหายไปในทันที 
     ตอนแรก เมียะ ฮุย ถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเมียวดีของรัฐบาลทหารพม่า แต่เนื่องจากอาการบาดเจ็บของเธอต้องใช้เงินในการรักษาจำนวนมาก ครอบครัวไม่สามารถรับภาระนี้ได้ เพราะลำพังอาหารที่จะมายังชีพในแต่ละวันยังต้องอาศัยการออกไปเสาะหาตามทุ่งนา ญาติ ๆ จึงตัดสินใจส่งเธอข้ามชายแดนมายัง "คลินิกหมอกะเหรี่ยง" ที่คนทุกข์ยากอย่างพวกเธอรู้จักดี 
     นับจนถึงวันนี้ หญิงสาวพักรักษาตัวที่นี่ได้เกือบสองปีแล้ว ความเจ็บปวดจากบาดแผลที่ขาทั้งสองข้างลดน้อยลงตามเวลา เหลือแต่ใจที่ยังคงเจ็บแปลบทุกครั้งที่นึกถึงภาพเหตุการณ์วันนั้นและอนาคตข้างหน้า เธอจะต้องหัดใช้ขาเทียมให้คล่องเพื่อจะได้ออกไปใช้ชีวิตในสังคมภายนอกต่อไป เมียะ ฮุย ก็เป็นเช่นเดียวกับเหยื่อสงครามรายอื่น ๆ ที่จะต้องยอมรับชะตากรรมของตัวเอง- -ชะตากรรมของคนที่เกิดมาบนแผ่นดินที่เต็มไปด้วยไฟสงคราม 
(คลิกดูภาพใหญ่)      ที่คลินิกกายอุปกรณ์เทียมติดกับอาคารอุบัติเหตุ เหมือนเช่นทุกวัน ปูนปลาสเตอร์สีขาวถูกเทลงสู่แม่พิมพ์ซึ่งถอดมาแบบจากโคนขาส่วนที่เหลือของเจ้าของร่างผู้พิการ แววตาของ "นายช่าง" ผู้ถือปูนอยู่ในมือแฝงความเศร้าอยู่ลึก ๆ เขาบรรจงตบแต่งปูนปลาสเตอร์ให้เข้ารูปสวยงาม ด้วยรู้ซึ้งดีว่าขาเทียมแต่ละข้างมีความหมายต่อผู้สวมใส่เพียงใด เพราะเขาเองก็ใช้ขาเทียมเช่นกัน ขาจริงของเขาขาดหายไป หลังจากเหยียบกับระเบิดของฝ่ายทหารพม่า เมื่อครั้งที่เขาเป็นทหารในสังกัดกองกำลังกู้ชาติกลุ่มหนึ่ง ...ไม่ต่างอะไรกับเพื่อนเจ้าหน้าที่อีกสองคนในคลินิกเดียวกัน
     ซอ (นามสมมุติ) หนึ่งในเจ้าหน้าที่คลินิกกายอุปกรณ์เทียมเล่าว่า เขาทนไม่ได้ที่เห็นรัฐบาลทหารพม่าส่งทหารเข้ามาทำร้ายและกดขี่ข่มเหงชาวบ้านในหมู่บ้าน จึงสมัครเข้าเป็นทหารในกองกำลังกู้ชาติเพื่อหวังขับไล่ทหารพม่าออกไปจากแผ่นดินเกิด ระหว่างการสู้รบ ทหารทั้งสองฝ่ายจะฝังกับระเบิดล้อมแนวเขตของตน หากทหารฝ่ายตรงข้ามรุกล้ำเข้ามาก็จะโดนกับระเบิด ไม่นาน ซอก็กลายเป็นหนึ่งใน "เหยื่อ" กับระเบิดนั้น เมื่อเขารุกเข้าไปในเขตของฝ่ายศัตรู
     ทว่าตลอดเวลาสองปีที่นี่ เขากลับได้ทำขาเทียมให้แก่ทหารผ่านศึกในกองทัพพม่าหลายคน ทหารเหล่านี้เหยียบกับระเบิดของกองกำลังชนชาติต่าง ๆ หากก็ไม่ได้รับการเหลียวแลจากกองทัพพม่า หลายคนต้องเข้ามาเป็นขอทานในอำเภอแม่สอดเนื่องจากไม่มีขาเทียม เมื่อได้ข่าวว่าคลินิกแห่งนี้จัดทำขาเทียมให้ฟรี อดีตทหารผ่านศึกในกองทัพพม่าหลายคนจึงมารับบริการ ซอสรุปบทเรียนจากสงครามเพียงสั้น ๆ ว่า 
     "เราก็เหยียบกับระเบิดเขา (ทหารพม่า) เขาก็เหยียบกับระเบิดเรา สุดท้ายต่างฝ่ายก็ขาขาด"
     ที่น่าเศร้าใจไปกว่านั้นก็คือ สงครามที่ดำเนินมายืดเยื้อยาวนานนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ...จะมีอีกกี่คนที่ต้องตกเป็นเหยื่อของสงคราม 
 

หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 
เยียวยาชีวิตกลางป่า

 (คลิกดูภาพใหญ่)      ในราวป่าและดอยสูงเขตประเทศพม่าตลอดแนวชายแดนไทย หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกกันว่า "หมอแบ็กแพ็ก" (Back Pack Health Worker Team - BPHWT) จำนวน ๗๐ ทีม กำลังบุกป่าฝ่าดงข้ามลำน้ำใหญ่น้อย เพื่อเข้าไปช่วยชีวิตผู้ป่วยที่หลบซ่อนตัว จากการคุกคามของรัฐบาลทหารพม่าอยู่ในป่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย "ตัด ๔" หรือ "Four Cuts" (คือ เงินทุน เสบียงอาหาร อาวุธ และข้อมูลข่าวสาร) ซึ่งรัฐบาลทหารพม่านำมาใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านแอบส่งเสบียงไปให้ กองกำลังชนชาติเดียวกันที่เคลื่อนไหวอยู่ในป่า โดยบังคับโยกย้ายชาวบ้านทั้งหมู่บ้านออกไปอยู่ใน "แปลงอพยพ" (Relocation site) ภายใต้การควบคุมของทหารพม่า 
     การบังคับโยกย้ายถิ่นฐานดังกล่าวทำให้ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างอดอยาก แร้นแค้น เนื่องจากไม่สามารถกลับไปทำมาหากินในไร่นาของตนเอง อีกทั้งยังถูกทหารพม่าบังคับใช้แรงงาน ในกิจกรรมต่าง ๆ ของกองทัพ อาทิ หาบเสบียงและอาวุธ สร้างค่ายทหาร ทำถนน ฯลฯ ชาวบ้านจำนวนมากจึงพยายามหลบหนีออกจากแปลงอพยพ และเข้าไปใช้ชีวิตหลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่ในป่า มีสถานะเป็น "ผู้พลัดถิ่นภายใน" หรือ ไอดีพี (Internally Displaced Persons - IDPs) 
     หมอซินเทียกล่าวถึงสถานการณ์ของผู้พลัดถิ่นภายใน และความจำเป็นในการส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าไปช่วยเหลือว่า
     "ทุกวันนี้ ตลอดแนวชายแดนประเทศพม่ากับประเทศไทย มีผู้พลัดถิ่นภายในประมาณ ๑ ล้านคน คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับบริการด้านสุขภาพจากรัฐบาลทหารพม่า พวกเราจึงจัดโปรแกรมนี้ขึ้น เพื่อให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพ และฝึกฝนชาวบ้านในท้องถิ่น ให้รู้จักวิธีดูแลสุขภาพตัวเอง คนกลุ่มนี้มีปัญหาด้านการดูแลสุขภาพอย่างมาก เพราะพวกเขาจะต้องเคลื่อนย้ายหลบหนี การคุกคามของทหารพม่าอย่างน้อยทุกหกเดือน บางครอบครัวปีหนึ่งต้องเคลื่อนย้ายสองถึงสามครั้ง เนื่องจากเกิดการสู้รบในพื้นที่บริเวณที่หลบซ่อนอยู่ หลายครอบครัวไม่สามารถกลับไปยังพื้นที่หลบซ่อนเดิมได้ เนื่องจากเต็มไปด้วยกับระเบิด ผู้พลัดถิ่นภายในต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอาหาร และโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ นอกจากนี้ทารกแรกเกิดยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงด้วย" 
     หมอซินเทียเริ่มโครงการหมอแบ็กแพ็กครั้งแรกในปี ๑๙๙๘ โดยรับสมัครอาสาสมัครชาวบ้านจากพื้นที่ต่าง ๆ ในรัฐกะเหรี่ยง รัฐคะเรนนี (คะยา) และรัฐมอญ (สำหรับรัฐฉานมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เช่นกัน แต่การบริหารงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับคลินิกของหมอซินเธีย) จำนวน ๓๕ ทีม แต่ละทีมมีสมาชิกประมาณ ๕ คน ทั้งหมดจะได้รับการฝึกอบรมความรู้การแพทย์เบื้องต้น หลังจากนั้นแต่ละทีมจะแยกย้ายกันนำยารักษาโรค และเครื่องมือแพทย์ใส่เป้ หรือตะกร้าขนาดใหญ่แบกขึ้นหลัง เดินบุกป่าฝ่าดงเข้าไปค้นหาผู้พลัดถิ่นภายในที่หลบซ่อนอยู่กลางป่า 
(คลิกดูภาพใหญ่)      ในการเดินทางแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่แต่ละทีมจะต้องแบกยารักษาโรคที่มีน้ำหนักกว่า ๓๐๐ กิโลกรัม เมื่อไปถึงชุมชนในป่าก็จะนัดเรียกผู้นำชุมชนมาประชุมร่วมกัน เลือกสถานที่ใดที่หนึ่งเป็นที่สำหรับให้ผู้ป่วยในละแวกนั้นเดินทางมารักษา และให้เจ้าหน้าที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้น โดยเลือกสมาชิกในชุมชนขึ้นมาฝึกอบรมการดูแลสุขภาพคนในชุมชน จากนั้นหน่วยแพทย์ฯ จะมอบยาและอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นไว้ให้
     อาการป่วยที่พบมากคือ มาลาเรีย เพราะชาวบ้านต้องหลบซ่อนตัวอยู่กลางป่า รองลงมาคือภาวะการขาดอาหาร โรคท้องร่วง และการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิด นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกโจมตีจากทหารพม่าและเหยียบกับระเบิด เฉพาะปี ๒๐๐๑ เพียงปีเดียวมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนของทหารพม่าถึง ๒๐๑ คน และเหยียบกับระเบิด ๘๓ คน 
     อุปสรรคสำคัญของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ก็คือทหารพม่าและกับระเบิด เนื่องจากเส้นทางบางช่วงอยู่ในแนวเขตการสู้รบ ระหว่างกองกำลังทหารพม่า กับกองกำลังชนชาติต่าง ๆ และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทั้งหมดเองก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับกองกำลังชนชาติในพื้นที่นั้น ๆ หลายครั้งเมื่อทหารพม่าพบเจอหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ จึงเข้าโจมตี ด้วยเข้าใจว่าเป็นฝ่ายเดียวกับกองกำลังเหล่านั้น ส่วนกับระเบิดจำนวนมาก ที่กองกำลังไม่ทราบฝ่ายฝังไว้ใต้ดิน ก็ยังคงรอเวลาทำงานของมันอยู่ตามรายทาง หน่วยแพทย์เคลื่อนที่จึงมีชีวิตอยู่ระหว่างความเป็นความตาย ตลอดเวลาที่เดินทางเข้าไปเยียวยาชีวิตผู้พลัดถิ่น 
     มามา หัวหน้าหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ สรุปยอดตัวเลขสมาชิกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ที่เสียชีวิตนับแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อห้าปีก่อนว่า
     "เราสูญเสียสมาชิกไปแล้วทั้งหมดหกคน สามคนเสียชีวิตจากการเหยียบกับระเบิด สองคนถูกทหารพม่ายิง อีกหนึ่งคนพลัดตกเขา" 
(คลิกดูภาพใหญ่)      จากการเดินทางเข้าไปรักษาโรคในเขตรัฐต่าง ๆ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่พบว่า การเยียวยาแก้ไขปัญหาความเจ็บป่วยของประชาชนในแต่ละพื้นที่นั้น มีความยากลำบากแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่นในรัฐมอญ ที่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นเขตตกลงหยุดยิง หน่วยแพทย์เคลื่อนที่สามารถเดินทางเข้าไป รักษาโรคให้แก่ประชาชนได้ทั่วถึงกว่ารัฐอื่น ๆ ขณะที่ในรัฐกะเหรี่ยงตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบรุนแรงมากที่สุด การทำงานจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากชาวบ้านจำนวนมาก หลบหนีการโจมตีของทหารพม่า เข้าไปอาศัยอยู่ในป่า ส่วนเขตรัฐกะเหรี่ยงตอนใต้ ถึงแม้สถานการณ์จะสงบกว่าตอนบน แต่จำนวนผู้พลัดถิ่นภายในก็มีไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ ถูกทหารพม่าบังคับให้เคลื่อนย้ายถิ่นฐาน ถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงาน เป็นลูกหาบ จนมีเวลาทำงานหาเลี้ยงปากท้องเพียงแค่สองวันต่อสัปดาห์ ชาวบ้านจึงหลบหนีเข้าป่าไปในที่สุด 
     ช่วงเวลาที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทำงานยากที่สุด คือ ช่วงหน้าแล้งของทุกปี เนื่องจากสถานการณ์การสู้รบจะรุนแรง ทหารพม่าจะควบคุมถนนสายต่าง ๆ ทุกสาย ทำให้การเดินทางของหน่วยแพทย์ฯ ลำบากมากยิ่งขึ้น ดังเช่นในเขตท่าตอน รัฐกะเหรี่ยง ทีมแพทย์ห้าคนถูกทหารพม่าจับตัวไว้ และยึดเอายารักษาโรค อุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนรายงานข้อมูลผู้ป่วย ไปทั้งหมด 
     นอกจากให้การรักษา เป้าหมายสูงกว่านั้นของโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ คือการให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง แต่เนื่องจากการฝึกอบรมชาวบ้านให้มีความรู้นั้น ในสายตารัฐบาลทหารพม่าซึ่งหวาดระแวงอยู่เสมอว่าประชาชนจะลุกฮือขึ้นล้มล้างอำนาจ ก็จัดเป็นการกระทำที่ล่อแหลมต่อความมั่นคง ทีมแพทย์จึงต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษในการฝึกอบรมแต่ละครั้ง
     หน่วยแพทย์เคลื่อนที่กล่าวถึงบทเรียนที่ผ่านมาว่า
     "อุปสรรคของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในการให้ความรู้ด้านสุขภาพกับประชาชน คือ การควบคุมพื้นที่ของรัฐบาลทหารพม่าในบางพื้นที่ โดยเฉพาะเขตท่าตอน หน่วยแพทย์ฯ ไม่สามารถมอบอุปกรณ์การแพทย์และการศึกษาไว้กับชาวบ้านได้เลย เพราะถ้าทหารพม่าเข้ามาค้นเจอ คนเหล่านี้จะตกอยู่ในอันตราย ถูกจับขังคุก เพื่อที่จะให้การศึกษาอย่างต่อเนื่องต่อไป ทีมแพทย์ฯ จึงต้องทิ้งเครื่องมือไว้ตามสถานที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน วัด โบสถ์ ในหมู่บ้าน หรือแม้แต่บนต้นไม้ เพื่อไม่ให้ทหารพม่ากล่าวหาชาวบ้านคนใดคนหนึ่ง"
     แม้ว่าการทำงานของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จะอยู่บนเส้นด้ายแห่งความเป็นความตาย แต่จำนวนอาสาสมัครกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปีแรกมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพียง ๓๕ ทีม ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น ๗๐ ทีม ให้การช่วยเหลือประชาชนไปแล้วกว่า ๑๓๐,๐๐๐ คน จำนวนตัวเลขคนทำงานที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่า ในโลกที่ดูเหมือนไร้ความหวังของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า ยังคงมีแสงสว่างเล็ก ๆ จากดวงใจของผู้เสียสละอีกหลายดวง ที่พร้อมจะส่องนำหนทางอันมืดมนกลางราวป่าให้แก่พวกเขา
 

สร้างคนรุ่นใหม่เพื่ออนาคต

 (คลิกดูภาพใหญ่)      "คุณรู้ไหมว่า รัฐบาลทหารเทงบประมาณของชาติประมาณร้อยละ ๔๐ ให้แก่กองทัพ แต่มีงบให้การศึกษาและสาธารณสุขรวมกันแค่ร้อยละ ๒ เท่านั้น ผู้ที่มีอำนาจกำลังตักตวงผลประโยชน์จากประเทศชาติเพื่อสร้างความร่ำรวยให้แก่ตัวเอง"

อองซาน ซูจี
เลขาธิการพรรค NLD
เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี ค.ศ. ๑๙๙๐ *
*(จากนิตยสาร ELLE พฤษภาคม ๒๕๔๖)

     เกเก เป็นชื่อของเด็กชายกำพร้าวัยขวบเศษ ติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ พ่อแม่ของเด็กน้อยเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ ทางคลินิกจึงรับเลี้ยงเกเกไว้ด้วยความสงสาร เจ้าหน้าที่และคนไข้ทุกคนในคลินิกต่างรักและเอ็นดูเด็กชายผู้นี้ และหวังให้เด็กน้อยมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ต่อไปให้นานที่สุด
     ไม่เพียงแต่เกเกเท่านั้นที่เติบโตมาโดยแทบไม่มีโอกาสเห็นหน้าพ่อแม่ ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พื้นที่ซึ่งมีประชาชนจากประเทศพม่าอพยพมาทำงานมากที่สุดแห่งหนึ่ง มีเด็กกำพร้าถูกทอดทิ้งจำนวนไม่น้อย พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ไม่รู้จักวิธีคุมกำเนิด เมื่อมีลูกมากเกินไปจึงดูแลไม่ไหว แต่ละเดือน มีผู้หญิงที่พยายามทำแท้งเองและเสียเลือดมากจนต้องหามส่งคลินิกถึง ๓๐ ราย 
     หมอซินเทียกล่าวถึงที่มาของปัญหาเหล่านี้ว่า
     "ประชาชนในพม่าส่วนใหญ่ขาดโอกาสในการศึกษาและขาดความรู้ ในการดูแลสุขภาพตนเอง พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ไม่มีความรู้ในการป้องกันตัวเองจากโรคเอดส์ รวมทั้งไม่มีความรู้ในการคุมกำเนิด อัตราการทำแท้งและเด็กกำพร้าจึงเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน"
     แพทย์หญิงชาวกะเหรี่ยงเริ่มต้นแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการให้ความรู้แก่ประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่เปิดศูนย์เด็กเล็ก ให้การศึกษาแก่ลูกหลานแรงงานอพยพ เปิดหลักสูตรอบรมความรู้ด้านการแพทย์ ให้แก่เยาวชนจากประเทศพม่า ที่ต้องการกลับไปทำงานช่วยเหลือชุมชนของตนเอง โดยคัดเลือกผู้เข้าเรียนจากประชาชนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ ไทยใหญ่ คะฉิ่น ปะหล่อง กะเหรี่ยง มอญ เป็นต้น
     "ประชาชนจากประเทศพม่าอดทนรอคอยการเปลี่ยนแปลงมานานหลายสิบปี ระหว่างที่รอคอยการเปลี่ยนแปลง เราก็พยายามสร้างประสิทธิภาพในการทำงานของเรา ให้เข้มแข็งมากขึ้น ตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมา เราเห็นว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ประชาชนต้องเผชิญกับความเจ็บปวดมากขึ้น เราไม่อาจทนรออยู่เฉย ๆ ต่อไปได้ จึงต้องพยายามสร้างให้คนในสังคมดูแลสุขภาพของตนเองได้"

 (คลิกดูภาพใหญ่)      หญิงกลาง เป็นหนึ่งในนักศึกษาแพทย์ที่เดินทางมาเรียนที่นี่ในหลักสูตรอนามัยแม่และเด็ก ใช้เวลาเรียน ๑๘ เดือนหรือปีครึ่ง บอกถึงเหตุผลที่เดินทางมาเรียนที่นี่ว่า เธอต้องการนำความรู้กลับไปรักษาชาวบ้านในชุมชนที่เธออาศัยอยู่ เพราะที่นั่นขาดแคลนทั้งหมอและยา โอกาสที่ประชาชนจะได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐมีน้อยมาก และโอกาสที่คนยากจนอย่างเธอ จะได้เข้าเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐบาลก็ยิ่งน้อยไปกว่านั้น 
     ปัจจุบัน คลินิกแห่งนี้จึงไม่ได้ทำหน้าที่แค่รักษาโรค หากยังเป็นแหล่งสร้างคน สร้างอนาคตใหม่ ๆ ให้แก่ประเทศพม่า และในทางอ้อม การสร้างโอกาสสร้างอนาคตให้แก่ผู้คนเหล่านั้น ยังเป็นหนทางในการบรรเทาปัญหาสังคมให้แก่ประเทศไทยด้วย เพราะตราบใดที่ปัญหาในประเทศพม่ายังไม่สิ้นสุด และเส้นเขตแดนของสองประเทศ ไทย-พม่า ยังคงเชื่อมต่อกัน อนาคตของประเทศพม่าย่อมส่งผลต่ออนาคตของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แพทย์อาสาสมัครจากอเมริกาคนหนึ่งกล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า
     "ถ้าประเทศเพื่อนบ้านไม่ดูแลสุขภาพของตนเอง ประเทศไทยก็จะต้องรับผลพวงเหล่านี้ต่อไปอีกยาวนาน ผลกระทบที่เห็นได้ชัดจากการที่รัฐบาลพม่าไม่ลงมาดูแลด้านสาธารณสุขก็คือ การที่ปัจจุบันประเทศไทยต้องแบกรับโรคหลายชนิดที่เคยหมดไปจากประเทศไทยแล้ว อย่างเช่น โรคเท้าช้าง ซึ่งกำลังกลับมาแพร่เชื้อใหม่ในประเทศไทย"
 

รางวัลแห่งความดี 

(คลิกดูภาพใหญ่)      "ในสายตาของรัฐบาลพม่า ดร. ซินเทีย คือผู้หลบหนีความผิด ผู้ทำงานต่อต้านรัฐบาล และผู้ก่อการร้ายลักลอบขนฝิ่นข้ามแดน ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธที่จะเรียกเธอว่า "หมอ" แต่ใส่ร้ายป้ายสีความผิดเหล่านี้ให้เธอบนเว็บไซต์ไร้สาระของรัฐบาล ทว่าความพยายามเหล่านี้ ดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์อะไร เพราะความดีของเธอมากล้นเกินกว่าคำใส่ร้ายป้ายสีใด ๆ จะกลบเกลื่อนได้มิดชิด"
     ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง ".....ดร. ซินเทีย" ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร ไทม์ฉบับ "Asian Heros 2003" เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
     รางวัล Asian Heros ไม่ใช่รางวัลแรกที่แพทย์หญิงชาวกะเหรี่ยงผู้นี้ได้รับ หากเป็นรางวัลล่าสุดหลังจากที่ได้รับมาแล้ว ๖ รางวัล และรางวัลนี้ก็ไม่ใช่รางวัลแรก ที่เธอไม่มีโอกาสเดินทางไปรับรางวัลด้วยตนเอง นั่นเพราะ 
     "ฉันมีสถานะเพียงผู้อพยพคนหนึ่งที่ขออาศัยอยู่ในประเทศไทย ฉันไม่มีเอกสารสำหรับเดินทางออกนอกประเทศไทย" ดร. ซินเทียบอกถึงเหตุผล ที่เธอไม่เคยเดินทางไปรับรางวัลใด ๆ
     รางวัลแรกที่เธอได้รับ คือ Jonathan Mann Award เมื่อปี ๑๙๙๑ งานมอบรางวัลจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่เธอทำได้เพียงเดินทางไปร่วมงานผ่านดาวเทียมที่กรุงเทพฯ เท่านั้น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จิมมี คาร์เตอร์ ผู้เป็นประธานในการมอบรางวัลครั้งนี้ กล่าวผ่านดาวเทียมมาถึงเธอว่า 
     "รางวัลนี้มอบให้แก่ผู้ประสบความสำเร็จในการทำงานด้านสุขภาพและสิทธิมนุษยชน น่าเสียดายที่ ดร. ซินเทียไม่สามารถเดินทางมารับรางวัลที่นี่ได้ด้วยตนเอง การสูญเสียอิสรภาพของเธอ ทำให้เธอเป็นเสมือนนักโทษของกรงขังแห่งความดีงาม"
     หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยเดินทางไปคลินิกแห่งนี้และได้พูดคุยกับเธอ คุณจะไม่แปลกใจว่าทำไมแพทย์หญิงผู้นี้จึงได้รับรางวัลมากมาย และคงไม่แปลกใจที่ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าพยายามใส่ร้ายป้ายสีเธอมาโดยตลอด เพราะการดำรงอยู่ของคลินิกแห่งนี้และการประกาศรางวัลยอมรับความดีงามของเธอ คือประจักษ์พยานที่ยืนยันถึงความล้มเหลว ในการบริหารประเทศ ของบรรดาผู้นำรัฐบาลทหารพม่านั่นเอง 
     หมอซินเทียพยายามบอกกับทุกคนในโรงพยาบาลผ่านทางคำพูด และการกระทำอยู่เสมอว่า ขอให้ทุกคนมี "อภัย" ในหัวใจ เธอมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่หลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เดินทางผ่านเข้ามาในคลินิกแห่งนี้เคารพซึ่งกันและกัน เพราะสงครามในประเทศพม่านั้น มีรากฐานมาจากปัญหาความแตกต่างทางชาติพันธุ์ และระบบการปกครองที่ผิดพลาด ได้ปลูกฝังให้ประชาชนต่างกลุ่ม ขาดการเคารพสิทธิของกันและกัน 
(คลิกดูภาพใหญ่)      "คนที่มาที่คลินิกแห่งนี้มาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เราพยายามที่จะปลูกฝังความคิด ในเรื่องการช่วยเหลือและเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อว่าสักวันหนึ่งเมื่อเราได้กลับไปใช้ชีวิตในประเทศพม่า เราจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข"
     ผลแห่งคุณงามความดีของเธอ ทำให้เงินบริจาคและน้ำใจจากแพทย์อาสาสมัครต่างประเทศ หลั่งไหลมาสู่คลินิกแห่งนี้ไม่ขาดสาย ปัจจุบันคลินิกแห่งนี้มีแพทย์ประจำ และแพทย์อาสาสมัครหมุนเวียนกันมาตลอด ปีละประมาณ ๕ คน เจ้าหน้าที่พยาบาล ๘๐ คน นักเรียนพยาบาล ๔๐ คน และเจ้าหน้าที่ทั่วไป ๔๐ คน ให้บริการผู้ป่วยในและนอกปีละประมาณ ๓ หมื่นราย และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่าไปแล้วกว่า ๑ แสนคน
     เมื่อสิบปีก่อน นิตยสาร สารคดี เคยตีพิมพ์เรื่องราวของแพทย์หญิงผู้นี้มาแล้วครั้งหนึ่ง คำพูดของเธอที่ลงไว้ท้ายบทความนั้น ยังคงเป็นความจริง ณ ปัจจุบัน
     "ฉันอยู่ในประเทศไทยก็ได้ อยู่ที่ไหนฉันก็ทำงานในฐานะมนุษย์ ชีวิตของฉันสั้นลงทุกวัน ฉันจึงทำสิ่งที่ดีที่สุดด้วยรักเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเต็มกำลังที่ฉันมีอยู่"
     สิบปีผ่านไปกับการทำงานอันมุ่งมั่น ของแพทย์หญิงชาวกะเหรี่ยง--ดร. ซินเทีย มาว ความเติบโตก้าวหน้าของคลินิกเล็ก ๆ แห่งนี้ ตลอดจนผู้คนมากมายที่ได้รับผลแห่งความดีของเธอ ยังคงเป็นประจักษ์พยานอันชัดเจนถึงพลังแห่งความรักและเมตตาที่เธอมีต่อเพื่อนมนุษย์ 
     แต่พลังนั้นจะมากพอที่จะลบล้างโรคภัยของประชาชนร่วมชาติของเธอลงได้หรือไม่ คงยากที่ใครจะตอบได้... โดยเฉพาะ "โรค" อันเกิดจากความรุนแรงที่ผู้ปกครองกระทำต่อประชาชน
 

บทเรียนและความหวังของแพทย์หญิงชาวกะเหรี่ยง 
ดร. ซินเทีย มาว

 (คลิกดูภาพใหญ่) คุณหมอได้เรียนรู้อะไรบ้างในช่วง ๑๔ ปีที่ผ่านมา
     ก่อนหน้าที่ฉันจะเดินทางมาที่นี่ ฉันไม่เคยรู้ปัญหาของประชาชนในเขตชนบทอื่น ๆ นอกเหนือจากบริเวณที่ฉันอาศัยอยู่ ฉันไม่เคยรู้ปัญหาของผู้อพยพมาเมืองไทย แต่ในช่วง ๑๔ ปีที่ผ่านมา ฉันได้พบผู้คนจำนวนมากที่พากันอพยพมาเมืองไทยมากขึ้นมากขึ้น ฉันได้เรียนรู้ปัญหาของประชาชนทั้งในประเทศพม่าและผู้อพยพมาเมืองไทยมากขึ้น ได้รู้ว่าคนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากปัญหามากมายในประเทศพม่า ทั้งปัญหาการสู้รบ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อุปสรรคสำคัญในการทำงานที่ผ่านมาคืออะไร
     เราเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ทั้งปัญหากำลังเงิน กำลังคน ความปลอดภัย แม้ว่าเราจะเปิดรักษาฟรี แต่ผู้ป่วยก็ยังจำเป็นต้องมีเงินสำหรับจ่ายค่ารถมาโรงพยาบาล หากจะเดินทางจากชายแดนมาที่นี่ ต้องใช้เงินประมาณ ๕๐-๑๐๐ บาท บางคนรักษาหายแล้วไม่มีค่ารถกลับ เราก็ต้องให้เงินค่ารถกลับไปด้วย เพราะผู้ป่วยเหล่านี้ไม่มีเงินจริง ๆ เคสที่น่าเศร้าใจมากที่สุดในชีวิตการทำงานของฉัน ก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง เด็กสาวคนหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตพม่า เธอคลอดลูกแล้วเสียเลือดมาก ญาติพยายามหาทางพามาส่งโรงพยาบาล แต่ตอนเกิดเหตุเป็นช่วงกลางคืน หารถค่อนข้างยากและแพง กว่าจะหาเงินค่ารถได้ ๒๐๐ บาท เธอก็สิ้นใจไปแล้ว
     ปัญหาเรื่องภาษาก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากประเทศพม่ามีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มก็มีภาษาพูดของตนเอง บางครั้งเจ้าหน้าที่ของเราไม่สามารถพูดภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นได้ ก็สื่อสารไม่รู้เรื่อง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่บางคนเกิดและเติบโตในเมืองไทย บางครั้งก็ไม่เข้าใจสถานการณ์ภายในประเทศพม่าเท่าใดนัก แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปทุกคนก็เริ่มเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ปัญหาที่ใหญ่กว่าก็คือ ผู้ป่วยไม่รู้ว่าคลินิกตั้งอยู่ที่ไหน ทำให้เดินทางมาไม่ทันเวลา ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการขาดโอกาสในการศึกษาและเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
(คลิกดูภาพใหญ่)
ทำไมผู้ป่วยเหล่านี้ไม่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในฝั่งประเทศพม่า

     โรงพยาบาลในประเทศพม่ามีเจ้าหน้าที่อยู่ไม่มากนัก เจ้าหน้าที่คนหนึ่งต้องทำงานหนักมาก และพวกเขาก็ได้รับงบประมาณสนับสนุนค่ายารักษาโรคและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพียงน้อยนิด แต่ปัญหาที่สำคัญคือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีฐานะยากจนมาก ๆ ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา 

ทำไมคุณหมอไม่ย้ายคลินิกเข้าไปอยู่ในฝั่งประเทศพม่า
     ครั้งหนึ่งรัฐบาลทหารพม่าเคยส่งคนมาติดต่อ ให้เรากลับไปตั้งคลินิกในฝั่งโน้นเหมือนกัน แต่เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในประเทศพม่า ยังไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้เราไม่สามารถให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง การเปิดคลินิกภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารพม่า มีข้อจำกัดมากมาย เราไม่สามารถเดินทางไปช่วยเหลือผู้คนนอกคลินิกได้โดยอิสระ ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ ฉันไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉันจึงเลือกที่จะอยู่ที่นี่ พวกเราต้องการอยู่ที่นี่ เพราะจำเป็นต้องให้การศึกษาแก่ผู้คนที่อยู่ในป่ามากขึ้นกว่านี้ หากปราศจากรัฐบาลและระบบการปกครองที่ดี เพียงแค่การเปิดคลินิกเฉย ๆ คงไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ดีขึ้นมาได้

ปัจจุบันโรคอะไรเป็นปัญหามากที่สุด
      ตั้งแต่เริ่มต้นเปิดคลินิก มาลาเรียเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ผู้คนมากมายเสียชีวิตเพราะโรคมาลาเรีย ต่อมาเราก็พบโรคและปัญหาด้านสังคมและสุขภาพอื่น ๆ ที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ การทำแท้งในครอบครัวแรงงานอพยพ ปัญหาเด็กกำพร้าที่ส่วนใหญ่ มีสาเหตุมาจากการไม่รู้จักวิธีคุมกำเนิด และการมีบุตรมากเกินไปทำให้ดูแลไม่ไหว นอกจากนี้ก็มีปัญหาการขาดสารอาหารในเด็ก ปัญหายาเสพย์ติดและการติดเชื้อเอดส์ในกลุ่มหญิงขายบริการซึ่งกำลังรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากหญิงบริการหลายคนถูกบังคับให้เสพยา เมื่อติดยา อำนาจในการต่อรองให้แขกที่มาเที่ยวใช้ถุงยางอนามัยก็น้อยลง นอกจากนี้ปัญหายาเสพย์ติดและเอดส์ยังขยายตัวสู่เด็กรุ่นใหม่ซึ่งส่วนใหญ่ขาดการศึกษา หลายคนถูกส่งไปขายบริการเนื่องจากไม่มีโอกาสหางานอื่นที่ดีกว่า และต่อมาก็ติดเชื้อเอดส์เนื่องจากไม่มีความรู้ในเรื่องการป้องกัน ปัญหาเกี่ยวกับโรคเอดส์จึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ 
 (คลิกดูภาพใหญ่)
ในฐานะที่ประเทศไทยและพม่าเป็นเพื่อนบ้านกัน คุณหมอคิดว่าปัญหาในพม่าส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร
     ฉันคิดว่าหลายปัญหาส่งผลกระทบต่อประเทศไทย หากประชาชนที่อพยพมาจากประเทศพม่าขาดการศึกษา และขาดข้อมูลข่าวสารในการดูแลสุขภาพของตนเอง เมื่อเข้ามาเป็นแรงงานในประเทศไทย พวกเขาก็จะเป็นภาระให้คนไทย

คุณหมอมองแนวทางการแก้ปัญหาด้านสุขภาพ ของประชาชนจากประเทศพม่าไว้อย่างไรบ้าง 
     ทุกวันนี้ปัญหาเศรษฐกิจ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ทำให้มีผู้อพยพเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น ในเมื่อเรายังแก้ปัญหา หรือหยุดยั้งไม่ให้พวกเขาเดินทางมายังประเทศไทยไม่ได้ เราก็ควรจะเตรียมความพร้อม ในการดูแลและให้ความรู้แก่คนเหล่านี้ สอนให้พวกเขารู้จักป้องกันและดูแลสุขภาพของตนเอง เพื่อไม่ให้ตกเป็นภาระแก่คนไทยมากนัก เพราะเราเองก็ไม่ต้องการให้คนพม่า มาสร้างภาระให้คนไทยเหมือนกัน
      ถ้าเราสามารถให้การศึกษา สร้างโรงเรียน สร้างชุมชนสุขภาพ จนพวกเขาสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ คนเหล่านี้ก็จะไม่เป็นภาระกับคนไทย และจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญสำหรับประเทศพม่าในอนาคต แต่ถ้าเราไม่ให้ความใส่ใจกับเรื่องนี้ พวกเขาก็จะกลายเป็นภาระกับสังคมใหม่คือสังคมไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่ปัญหาเศรษฐกิจและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่ายังไม่มีอะไรดีขึ้น ผู้คนก็จะต้องหลบหนีมายังประเทศไทยเพื่อหางานทำ และโอกาสในการยังชีพ เราจึงจำเป็นที่จะต้องตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก

คุณหมอได้รับความร่วมมือ จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยอย่างไรบ้าง
      เราได้รับความช่วยเหลือทั้งจากคนไทยเองและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในอำเภอแม่สอดเป็นอย่างดี เราพยายามประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุขของไทยในพื้นที่ เพื่อแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ และได้รับความร่วมมืออย่างดี 
 (คลิกดูภาพใหญ่)
คุณหมอคิดว่าคนไทยควรร่วมมือในการแก้ไขปัญหาในพม่าอย่างไร
     ตราบใดที่เราไม่สามารถตัดชายแดนประเทศออกจากกันได้ ปัญหาในประเทศพม่าย่อมส่งกระทบถึงประเทศไทย ทั้งในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย เศรษฐกิจ หรือแม้แต่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ในการแก้ปัญหา คุณไม่สามารถจะเน้นเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะถ้าพม่าได้รับผลกระทบ ประเทศไทยก็ต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วยเช่นกัน
     ฉันคิดว่าภาคประชาชนควรจะมีบทบาทและทำงานร่วมกันในประเด็นสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น พวกเราควรเตรียมความพร้อมในเรื่องสิทธิของประชาชน จะทำอย่างไรเพื่อรับรองอนาคตของพวกเขา เพราะปัญหาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตจะยังดำรงอยู่ต่อไป ตราบเท่าที่ประชาชนยังไม่ได้รับการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐาน 
     สำหรับตัวฉันเอง ฉันคิดว่าฉันต้องทำงานใกล้ชิดกับสังคมไทยให้มากยิ่งขึ้น เพราะเท่าที่ผ่านมา ฉันแยกตัวออกมาจากสังคมไทยค่อนข้างมาก เพราะรู้ตัวว่าอาศัยอยู่ในแผ่นดินนี้อย่างคนพลัดถิ่น ฉันจึงไม่ค่อยกล้าไปไหนและไม่กล้าติดต่อกับคนไทยมากนัก และการที่คิดอยู่เสมอว่าวันหนึ่งฉันจะได้กลับไปพม่า ฉันจึงไม่ค่อยได้ใส่ใจกับสถานการณ์ที่นี่ ทำให้มีประสบการณ์ที่แคบมาก แต่ขณะนี้ฉันรู้แล้วว่า ไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่ที่ใดในโลก คุณจำเป็นต้องเรียนรู้และแบ่งปันซึ่งกันและกัน 

ความฝันของคุณในตอนนี้คืออะไร
      สร้างอนาคตให้แก่ประเทศ เราจำเป็นต้องใส่ใจกับเด็ก ๆ ปกป้องสิทธิของเด็ก ชุมชน และสังคม พวกเราจำเป็นต้องสอนให้เด็ก ๆ รู้จักจำแนกบทบาทหญิงชาย เคารพความแตกต่างทางเชื้อชาติ เคารพซึ่งกันและกัน และต้องสอนทุก ๆ เรื่องในสังคม ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเรื่องอื่น ๆ เราจำเป็นต้องเริ่มต้นจากเด็ก ๆ ฉันคิดว่าอนาคตขึ้นอยู่กับเด็ก ๆ เหล่านี้ ถ้าเราให้การศึกษาแก่เด็ก สอนให้พวกเขาเคารพคนอื่น พวกเขาก็จะสามารถอาศัยอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข แต่ถ้าพวกเขาไม่มีทักษะเหล่านี้ และเรียนรู้แต่การใช้ความรุนแรง พวกเขาก็จะกลายเป็นคนที่เต็มไปด้วยความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เด็ก ๆ จะเติบโตจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งในสภาพของคนไร้การศึกษา ซึ่งจะสร้างปัญหาให้สังคมไทยและสังคมของตนเองมากขึ้นแน่นอน
 

รางวัลที่ได้รับ

 (คลิกดูภาพใหญ่) ปี ๒๕๔๒
  • Jonathan Mann Award for Global Health and Human Rights
  • The John Humphrey Freedom Award
  • The American Medical Women's Association President's recognition Award

ปี ๒๕๔๔

  • Van Heuven Geodhart Award
  • Asian Human Right Award

ปี ๒๕๔๕

  • Ramon Magsaysay Award

ปี ๒๕๔๖

  • Asian Heroes