นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๐ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๐ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ "มอแกน ยิปซีทะเลผู้หยุดเร่ร่อน"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๐ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

จากบรรณาธิการ

 

 (คลิกดูภาพใหญ่)
ฉบับหน้า
มอเตอร์ไซค์ พาหนะของคนจน

     ในรอบหลายปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรืออีโคทัวร์ ดูจะเป็นแนวทางที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ให้ความสนใจมาก และพยายามนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ
     วันหนึ่งของภาคการศึกษาฤดูร้อนที่ผ่านมา ขณะที่ผมบรรยายเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้แก่นักศึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่นั้น นักศึกษาคนหนึ่งได้ยกมือถามผมว่า 
     หัวใจของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรืออีโคทัวร์ คืออะไร
     ผมคิดออกมาดัง ๆ โดยไม่ได้นึกถึงทฤษฎีการท่องเที่ยวใด ๆ แต่ใช้ประสบการณ์ในการเดินทางตอบไปว่า
     หัวใจของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์คือ ตีน ครับผม
     สิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมเดินทางท่องธรรมชาติไปตามขุนเขาลำเนาไพร ด้วยพาหนะทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ รถ เรือ เกวียน และเท้าทั้งสองข้าง
     แต่เอาเข้าจริงแล้ว ช่วงที่ผมเดินเท้าย่ำไปตามป่าเขา ข้ามห้วย ลำธารใส ปีนหน้าผา ไต่ลงเหวอย่างช้า ๆ กลับเป็นเวลาที่ทำให้ผมได้ครุ่นคิด เรียนรู้ และเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง มากกว่าตอนที่เดินทางด้วยพาหนะชนิดอื่น
     ทุกครั้งที่แบกเป้ เดินเท้าเข้าป่าไปเรื่อย ๆ ผมได้มีโอกาสเรียนรู้สรรพสิ่งรอบข้าง และเริ่มรู้ว่าธรรมชาติทุกแห่งที่เราไป ล้วนมีชีวิต มีความงดงาม ที่เราควรให้ความเคารพและทะนุถนอม
     เดินป่าบ่อย ๆ ทำให้เราเลิกคิดที่จะทิ้งกระดาษห่อลูกอมบนพื้น เลิกทิ้งกลักฟิลม์ที่เอามาทำที่เขี่ยบุหรี่ชั่วคราวไปโดยปริยาย ไม่พยายามเดินออกนอกเส้นทางในป่า เพื่อหลีกการเหยียบย่ำต้นไม้อื่น ๆ ในขณะที่คิดหนักหากจะหักกิ่งไม้ในป่ามาทำฟืนหุงอาหาร
     เดินเท้าไปตามทางในป่าอาจจะช้าไม่ทันใจเท่าขับรถโฟร์วีลไปถึงบริเวณน้ำตก หรือขับรถตะลุยขึ้นไปถึงยอดเขาได้อย่างง่ายดาย แต่สองเท้าก้าวไปข้างหน้า นำเราไปทุกที่ที่รถยนต์ไปไม่ถึง ตั้งแต่ปีนขึ้นยอดดอย ลัดเลาะเข้าไปในป่าทึบ และไม่สร้างมลพิษใด ๆ
     อุทยานในออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาหลายแห่งจะมีถนนตัด เข้าไปเพียงแค่ที่ทำการอุทยานที่อยู่ด้านหน้า หากใครต้องการเดินขึ้นยอดเขา หรือน้ำตกใด ๆ ในป่า ต้องใช้สองเท้าเดินอย่างเดียว ไม่ว่าหนทางนั้นจะไกลกี่สิบกิโลเมตร

       ผมจึงเจอคนหนุ่มสาวและคนชราจำนวนมาก เดินสวนกันเป็นปรกติในป่าหลายแห่งที่ออสเตรเลีย
     ด้วยเหตุผลเดียวคือ ไม่อยากให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศอันเปราะบาง
     การเดินทางด้วยเท้าจึงเป็นหัวใจสำคัญของอีโคทัวร์
     เพราะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์คือการเดินทาง ท่องธรรมชาติอย่างสนุก ได้ความรู้ และไม่ทำร้ายธรรมชาติ
     แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะทำโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นสู่ยอดดอยเชียงดาว ภูเขาหินปูนที่สูงเป็นอันดับสามของประเทศ รองจากดอยอินทนนท์และดอยผ้าห่มปก
     เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางขึ้นยอดดอยเชียงดาวได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินเท้าปีนขึ้นไป
     อันที่จริงปัจจจุบันการเดินทางขึ้นยอดดอยเชียงดาวที่มีความสูง ๒,๒๒๕ เมตร ก็ไม่ใช่เรื่องยากลำบากนัก เพราะมีถนนจากตีนดอยให้ขับรถขึ้นไปจนถึงหน่วยพิทักษ์ป่าเด่นหญ้าขัด ใช้เวลาราว ๒ ชั่วโมง บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าฯ มีที่กางเต็นท์ ห้องน้ำ และแหล่งน้ำ ให้ค้างแรมอย่างสะดวกสบาย มีทางเดินป่าลัดเลาะขึ้นไปตามเขาจนถึงยอดดอยเชียงดาว ใช้เวลาเดินเพียง ๕ ชั่วโมง 
     ตามเส้นทางที่เดินเราจะเห็นสภาพป่าที่เปลี่ยนแปลงไปตามความสูงของภูมิประเทศ ตั้งแต่ทุ่งหญ้า สังคมป่าดิบเขา ไปจนถึงสังคมพืชอัลไพน์บนยอดดอย ซึ่งมีพรรณไม้หายาก อาทิ ชมพูเชียงดาวที่มีแห่งเดียวในโลก กุหลาบดอยเชียงดาว พืชเฉพาะถิ่นที่ ททท. นำมาโฆษณาในแคมเปญชุดใหม่ Unseen in Thailand และกล้วยไม้ที่เพิ่งพบใหม่ล่าสุดของโลก คือ กล้วยไม้สิรินธร
     ทุกปีเราจะเห็นนักท่องเที่ยวทั้งเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ คนชรา พากันปีนขึ้นยอดดอยเชียงดาว ด้วยความเบิกบานใจ
     พวกเขารู้แก่ใจว่า การเดินเท้าเป็นการเที่ยวป่าที่รบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด การเดินเท้าขึ้นดอยเชียงดาวจึงเป็นตัวอย่างของอีโคทัวร์ที่ดีที่สุด
     หลายครั้งที่ผมยืนอยู่หน้าดอยเชียงดาว และรู้ว่าความก้าวหน้าทางวิศวกรรม คงจะสามารถสร้างกระเช้าลอยฟ้าได้สำเร็จ ถึงจะเป็นการผิดกฎหมาย เพราะดอยเชียงดาวอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาวก็เถอะ 
     แต่นึกถึงการลงเสาเข็มทะลุภูเขาหินปูนนับร้อยต้นเพื่อสร้างเสาเคเบิล การตัดต้นไม้จำนวนมหาศาลเพื่อก่อสร้างบ้านพัก ร้านอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่อยากมาพิชิตดอยด้วยกระเช้าไฟฟ้า ไม่นับรวมไปถึงการเหยียบย่ำลงไปบนพืชอัลไพน์จำนวนมาก ที่กว่าจะโตขึ้นมาได้เพียง ๒-๓ เซนติเมตร อาจใช้เวลาถึง ๓๐ ปี 
     หาก ททท. มีจุดยืนเรื่องอีโคทัวร์อย่างชัดเจน ทัศนะของ ททท. ต่อกรณีกระเช้าไฟฟ้าบนดอยเชียงดาวจึงน่าสนใจยิ่ง

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com