นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๑ เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๑ เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖ "มอเตอร์ไซค์ เรื่องของทุกคนบนถนน"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๑ เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

จากบรรณาธิการ

 

 (คลิกดูภาพใหญ่)
ฉบับหน้า
วันนี้ของ นกแต้วแล้วท้องดำ

     แม่ลาน้อย เป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
     ผมเดินทางไปถึงที่นั่นเป็นครั้งแรก เมื่อมีโอกาสติดตามมิตรสหายไปทำข่าวการระเบิดหินของโรงโม่หินแห่งหนึ่ง ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน
     จากกรุงเทพฯ เราตีรถรวดเดียวถึงอำเภอแม่สะเรียง พักค้างแรมที่นั่นหนึ่งคืน รุ่งเช้าจึงออกเดินทางต่อไปยังอำเภอแม่ลาน้อย
     โรงโม่หินแห่งนี้ตั้งอยู่ติดเขาหินปูนลูกหนึ่ง บริเวณรอบ ๆ โรงโม่หินเป็นที่นาของชาวบ้าน อยู่ไม่ไกลจากตลาดในตัวอำเภอ
     จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เวลาระเบิดหินบนภูเขาแต่ละครั้ง ชาวไร่ชาวนาแถวนั้นต้องคอยหลบสะเก็ดหินที่ปลิวหล่นใส่ที่นา บางก้อนขนาดเท่าถังปูน โชคดีที่ยังไม่เคยหล่นใส่หัวใคร
     พวกเราขับรถอ้อมวัดแห่งหนึ่งขึ้นไปอีกด้านของภูเขา เพื่อตั้งกล้องวิดีโอบันทึกภาพ แต่รอแล้วรอเล่าก็ไม่มีวี่แววว่าจะมีการระเบิดหิน จึงบันทึกได้แต่ภาพเครื่องโม่หินกำลังทำงาน
     พรรคพวกในท้องถิ่นบอกว่า ตั้งแต่มีข่าวชาวบ้านร้องเรียนเรื่องการระเบิดหิน ทางโรงโม่หินก็ระวังตัว ไม่ค่อยระเบิดหินถี่เหมือนเมื่อก่อน คงรอให้เรื่องเงียบหายไป จึงค่อยมาหากินกับการแปลงทรัพย์สินทางธรรมชาติให้เป็นทุนต่อไป
     การระเบิดหินสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนในพื้นที่เกือบทุกแห่งทั่วประเทศ ผู้นำที่ลุกขึ้นมาสู้กับโรงโม่หิน มักถูกลอบยิงเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ให้เห็นเป็นประจำ แต่ส่วนใหญ่เรื่องมักเงียบหายไป ด้วยเบื้องหลังโรงโม่หินมันเป็นผู้มีอิทธิพล
     ลงทุนจ่ายค่าประทานบัตรไม่กี่ตังค์ ก็สามารถเป็นเจ้าของภูเขาได้เป็นลูก ๆ และมีอำนาจพอจะเสกภูเขาให้หายวับ กลายเป็นก้อนหินเล็ก ๆ เปลี่ยนเป็นกำไรมหาศาลได้อย่างง่าย ๆ
     รัฐมนตรีชื่อดังคนหนึ่งในรัฐบาลชุดนี้ ก็มีกิจการโรงโม่หินหลายแห่งหนุนหลังอยู่
     พอถ่ายภาพเสร็จ พรรคพวกชวนเราไปดูถ้ำใหม่แห่งหนึ่งที่เพิ่งค้นพบเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เล่าลือกันว่าภายในถ้ำงดงามมาก ขนาดเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินยังเสด็จมาชม

       ถ้ำแห่งนี้อยู่บนเขาหินปูนละแวกเดียวกับบริเวณโรงโม่หิน เรียกว่า ถ้ำแก้วโกมล อยู่ในวนอุทยานแก้วโกมล
     เราเดินไปตามทางเดินที่ทอดลงสู่ด้านล่าง ผนังและเพดานถ้ำเป็นผลึกแร่แคลไซต์มีรูปร่างหลากหลาย คล้ายปะการัง ดอกกะหล่ำ และเกล็ดน้ำแข็ง ยามต้องแสงไฟจะสะท้อนแสงระยิบระยับ เป็นสีขาวและสีเหลืองสวยงามยิ่ง
     เจ้าหน้าที่วนอุทยานฯ ที่พาเราชมถ้ำ บรรยายว่า ถ้ำแก้วโกมลมีลักษณะเฉพาะตัว เกิดจากกระบวนการกลั่นตัวของไอน้ำร้อน ที่อิ่มตัวด้วยสารละลายแคลเซียมไบคาร์บอเนต จนเกิดเป็นผลึกแร่แคลไซต์ที่เกาะอยู่ตามผนังรอบถ้ำ
     เราไต่ลงไปตามทางแคบ ๆ ที่นำไปสู่ห้องต่าง ๆ ที่งดงามไปด้วยผลึกทางธรรมชาติ และไต่ลึกลงไปเรื่อย ๆ ไม่ต่ำกว่า ๕๐ เมตรจากปากถ้ำ ใจอดชื่นชมผู้ที่ค้นพบถ้ำแห่งนี้ไม่ได้
     ถ้ำแห่งนี้ถูกค้นพบโดยบังเอิญเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน ขณะที่วิศวกรเหมืองแร่ของบริษัทที่ได้รับสัมปทานทำแร่ฟลูออไรต์ในเขาลูกนี้ ออกสำรวจหาสายแร่
     เมื่อวิศวกรท่านนี้ได้พบถ้ำอันงามวิจิตร ก็นำความไปแจ้งกับทางกรมทรัพยากรธรณี เพื่อที่ทางกรมทรัพย์ฯ จะได้ส่งนักธรณีวิทยามาสำรวจและอนุรักษ์ไว้ ในเวลาต่อมาพื้นที่บริเวณถ้ำนี้ถูกถอนประทานบัตร พื้นที่ประมาณ ๕๑ ไร่ถูกกันออกมาเพื่อประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานแก้วโกมล
     หากวิศวกรนิรนามท่านนี้ไม่ใส่ใจ ป่านนี้ถ้ำแห่งนี้คงถูกขุดพังพินาศ หรือถูกระเบิดป่นปี้เป็นสะเก็ดหินไปหมดแล้ว
     แต่ผลกรรมของการเป็นพลเมืองดี ทำหน้าที่ดูแลทรัพยากรของชาติ ก็คือ เขาถูกบริษัทไล่ออกทันที เพราะทำให้บริษัทเสียผลประโยชน์ จากการที่พื้นที่บางส่วนถูกถอนประทานบัตร
     ไม่มีใครรู้ว่าวิศวกรคนนี้คือใคร และปัจจุบันทำงานอะไร
     เจ้าหน้าที่เล่าว่า วิศวกรท่านนี้สำรวจถ้ำอย่างยากลำบาก ต้องไต่เชือกจากด้านล่างขึ้นไปทีละขั้น ๆ
     กว่าจะพบปากถ้ำที่เราเดินลงมา
     ตลอดเวลาที่อยู่ในถ้ำ ทุกคนได้รับคำเตือนไม่ให้แตะต้องผนังถ้ำใด ๆ เพราะอาจสร้างความขุ่นมัวกับผลึกแร่ และที่สำคัญคือ ผลึกแร่ที่มีอายุเก่าแก่ใช้เวลาหลายแสนปีในการตกผลึกนั้น มีความเปราะบางมากกว่าที่เราคิดนัก
     อายุที่ยาวนานขึ้นก็ใช่ว่าจะทำให้จิตใจของมนุษย์เปราะบางน้อยลง

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com