นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๑ เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖ นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๑ เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖ "มอเตอร์ไซค์ เรื่องของทุกคนบนถนน"
  นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๑ เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๖ ISSN 0857-1538  

โฮโม เซเปียนส์ อิดัลตู  ๑๖๐,๐๐๐ ปีที่รอการค้นพบ

  วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ : เรียบเรียง / www.nature.com, BBC news : ภาพ
(คลิกดูภาพใหญ่)       แม้จะสายไปเป็นแสนเป็นล้านปี มนุษย์ก็หาทางกลับคืนถิ่นกำเนิดของตนจนพบ
      ฟอสซิลกะโหลกมนุษย์จากเอธิโอเปีย แจ้งสารดังกล่าวถึงนักโบราณมานุษยวิทยาทันทีที่มันถูกค้นพบ -ในฐานะของ โฮโม เซเปียนส์ เก่าแก่ที่สุด ๑๖๐,๐๐๐ ปี และนี่คือแรงสนับสนุนใหญ่หลวงต่อทฤษฎีที่ว่า มนุษย์สมัยใหม่ วิวัฒนาการขึ้นในแอฟริกาก่อนแพร่กระจายไปทั่วโลก และสยบข้อโต้แย้งว่า มนุษย์วิวัฒนาการขึ้นจากหลายส่วนของโลกไปด้วยในตัว
      วารสาร Nature ฉบับกลางเดือนมิถุนายนนี้ รายงานถึง "การพบฟอสซิลที่อาจสำคัญที่สุดของมนุษย์ยุคดั้งเดิม" ว่าเป็นฝีมือของ ทิม ไวต์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ และทีมงาน พบในปี ค.ศ. ๑๙๙๗ บริเวณเมืองเฮอร์ตู เขตอะวอช ประเทศเอธิโอเปีย ในแอฟริกาตะวันออก พื้นที่นี้ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาริฟต์อันแห้งแล้ง และเต็มไปด้วยซากมนุษย์โบราณหลายยุคหลายชนิดพันธุ์ ฟอสซิลกลุ่มที่พบมีสามชิ้น เป็นกะโหลกศีรษะสภาพสมบูรณ์ของผู้ใหญ่และเด็ก ๖-๗ ขวบอย่างละชิ้น และเศษกะโหลกผู้ใหญ่กระจัดกระจายอีกหนึ่ง ทั้งหมดเป็น โฮโม เซเปียนส์ หรือ มนุษย์สมัยใหม่ ที่มีลักษณะทางกายวิภาคผสมผสานรูปแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ ช่วงอายุสามารถพิสูจน์ได้ค่อนข้างชัดว่า พวกเขาโผล่มาจาก ๑๖๐,๐๐๐ ปีที่แล้ว เนื่องจากมีชั้นตะกอนเถ้าภูเขาไฟ ที่ตรวจหาอายุได้ประกบทั้งด้านบนและล่าง
      กะโหลกซึ่ง "เป็นตัวอย่างดีเยี่ยม แสดงลักษณะเด่นทุกประการของมนุษย์สมัยใหม่- ไม่มีส่วนใดขาดพร่อง" ตามความเห็นของ เดเนียล ลีเบอร์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิวัฒนาการมนุษย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มลรัฐแมสซาชูเซตส์ มีขนาดใหญ่ ช่องบรรจุสมองกลม และใบหน้าแบนตามลักษณะมนุษย์สมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็ปรากฏลักษณะร่วมของ โฮโม เซเปียนส์ ยุคต้น เช่น รูปศีรษะที่บึกบึน ช่วงหว่างตากว้าง และสันเหนือกระบอกตานูนหนา ฯลฯ แต่ถือได้ว่าเป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
      หลังจากศึกษาทางกายวิภาคและเปรียบเทียบกับตัวอย่างมนุษย์สกุล โฮโม จำนวนมาก ทิม ไวต์ และทีมวิจัยเห็นพ้องกันว่าเป็นฟอสซิล โฮโม เซเปียนส์ ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในปัจจุบัน และจัดลำดับชั้นให้เป็นสายพันธุ์ย่อยใหม่ เรียกว่า โฮโม เซเปียนส์ อิดัลตู - Idaltu ในภาษาพื้นเมืองอะฟาร์ หมายถึง ผู้อาวุโส
      ข้อสังเกต จุดพบกะโหลกในอดีตน่าจะเคยเป็นชายฝั่งทะเลสาบน้ำจืดอันอุดมด้วยสัตว์ใหญ่ อันเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ตามริมน้ำมาก่อน เพราะใกล้ ๆ กันสำรวจพบกระดูกฮิปโปโปเตมัสและสัตว์ตระกูลละมั่งที่มีรอยถูกเถือ ถูกแล่ พร้อมเครื่องมือหิน เศษหินกะเทาะตกอยู่เกลื่อน แม้รูปการณ์ไม่อาจระบุได้ว่าพวกเขารวมกลุ่มกันล่าหรือเก็บเศษซากสัตว์มากิน ทว่าหลักฐานก็แสดงถึงพัฒนาการด้านเทคโนโลยีเครื่องมือหินที่น่าสนใจ
(คลิกดูภาพใหญ่)       นอกเหนือจากเทคโนโลยีการผลิต เป็นธรรมดาที่นักวิจัยมักมองลงไปในระดับวัฒนธรรมความเชื่อ ดูเหมือนไวต์ก็พบ "ร่องรอย" น่าตื่นเต้นบางอย่างจากรอยเฉือนหรือตัดบนกะโหลกศีรษะ บางทีอาจชี้ว่ามนุษย์โบราณเหล่านี้รู้จักแล่เนื้อหนังออกจากศพคนตายเพื่อเก็บกระดูกไว้ด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง โดยเฉพาะบนกะโหลกของเด็กจะเห็นชัดว่ามีความมันวาวเหมือนถูกขัด เขาเชื่อว่าอาจเป็นการนำมันมาใช้งาน (พิธี) บางอย่างในภายหลังก็ได้ 
      "นี่มิใช่กะพริบสัญญาณแรกว่าด้วยเรื่องอารมณ์ความรู้สึกที่มนุษย์มีต่อความตายหรอกหรือ" นักโบราณคดีชื่อดังเสนอ โดยเขาเห็นว่ามันไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับประเด็นการกินเนื้อมนุษย์ด้วยกัน เนื่องจากความเชื่อทำนองนี้ ปัจจุบันยังพบได้ในคนบางกลุ่มในปาปัวนิวกินี ผู้มีวัฒนธรรมการเก็บรักษาและบูชาหัวกะโหลกบรรพบุรุษในพิธีกรรม
      อย่างไรก็ตาม อลิสัน บรูกส์ นักมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน เสนอมุมมองว่า แม้ในโลกยุคใหม่เราจะพบเรื่องเหล่านี้อยู่ในวัฒนธรรมของชาวเผ่าหลายกลุ่ม ทว่าการแล่เนื้อหนังออกจากร่างก็ไม่ใช่หลักฐานสำคัญสนับสนุนว่ากระดูกถูกใช้ในพิธีกรรมหลังความตาย เพราะหลายครั้งที่ยากจะบอกได้ว่าเหล่ากระดูกถูก "ฝัง" หรือ "เก็บรักษา" ไว้
      ...............................
      เอ่ยถึง Homo sapiens นักโบราณมานุษยวิทยามักใช้คำว่า มนุษย์สมัยใหม่ เพื่อให้รู้ว่าเป็นคนละชนิดกับวงศ์วานมนุษย์โบราณอันเก่าแก่ทั้งมวล ที่สูญพันธุ์ไปก่อนนานแล้ว โฮโม เซเปียนส์ ยุคแรกน่าจะกำเนิดขึ้นราว ๒๕๐,๐๐๐ ถึง ๑๓๐,๐๐๐ ปีที่แล้ว และพัฒนามีลูกหลานสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ก่อนนี้รับรู้กันว่าในโลกมีสองสายพันธุ์ย่อยคือ มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (พบหลักฐานเฉพาะในยุโรปและตะวันออกกลาง) และมนุษย์ โฮโม เซเปียนส์ ข้อถกเถียงใหญ่สำหรับความเป็นมาของมนุษย์สมัยใหม่ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ คือ โฮโม เซเปียนส์ มีหลายจุดกำเนิด กระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก หรือมีเพียงจุดกำเนิดเดียวตามทฤษฎีที่เรียกกันว่า "ลาจากแอฟริกา" (Out of Africa) 
(คลิกดูภาพใหญ่)       ด้วยแม้ว่าแอฟริกาจะพบซากวงศ์วานมนุษย์โบราณหรือหลักฐาน (เช่นรอยเท้า เครื่องมือหิน) อายุเกิน ๓ ล้านปีมากมาย แต่ซากฟอสซิลมนุษย์ โฮโม อีเรกตัส อายุประมาณ ๑.๘ ล้านปีลงมากลับพบในหลายภูมิภาคของโลก ทำให้นักวิชาการพวกหนึ่งเชื่อว่า มนุษย์สมัยใหม่มีวิวัฒนาการขึ้นหลายจุด โดยมีมนุษย์ โฮโม อีเรกตัส หรือ โฮโม ไฮเดลเบอร์เจนซิส หรือแม้แต่นีแอนเดอร์ทัล ทั้งในยุโรป รัสเซีย ตะวันออกกลาง จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นบรรพบุรุษ แม้ชั้นหลังจะมีหลักฐานการวิจัยด้านพันธุกรรมบ่งว่า มนุษย์ในโลกทุกวันนี้เคยมีบรรพบุรุษร่วมกัน ณ ทวีปแอฟริกาเมื่อราว ๑๒๐,๐๐๐ ปีที่แล้ว ซึ่งอธิบายความได้ว่า ภายหลังการปรากฏตัวของ โฮโม อีเรกตัส ในแอฟริกา มนุษย์สกุลโฮโม น่าจะอพยพออกจากแอฟริกาสองสามระลอกใหญ่ ๆ โดยครั้งหลังสุด คือ ๑๒๐,๐๐๐ ปีที่แล้ว ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วโลก และเข้าแทนที่มนุษย์โบราณรุ่นก่อน รวมทั้งนีแอลเดอร์ทัลจนหมดสิ้นก็ตาม
      ทั้งนี้ เพราะแอฟริกาอัตคัดหลักฐานของ โฮโม เซเปียนส์ ช่วงอายุ ๓๐๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ ปีที่สมบูรณ์และสามารถยืนยันอายุได้ชัดเจนมานาน ชิ้นเก่าสุดที่มีอยู่อายุก็ไม่มากไปกว่า ๑๒๕,๐๐๐ ปี ขณะที่ภายนอกแอฟริกา โดยเฉพาะในจีนประกาศว่าพบเก่าถึง ๒๐๐,๐๐๐ ปี โครเอเชียพบอายุ ๑๓๐,๐๐๐ ปี อิตาลีพบอายุ ๑๒๐,๐๐๐ ปี อิสราเอลพบอายุ ๑๑๕,๐๐๐ ปี
      ตามทัศนะของ ชริส สตริงเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ กรุงลอนดอน และเป็นผู้เขียนบทวิเคราะห์ในวารสาร Nature "กะโหลกมนุษย์เฮอร์ตู" จากเอธิโอเปีย ซึ่งจัดเป็นมนุษย์สมัยใหม่ยุคต้น น่าจะสัมพันธ์กับกะโหลกมนุษย์สมัยใหม่ ที่พบจากแอ่งโอโมของเอธิโอเปีย, เจเบลในโมร็อกโค และถ้ำควาฟ์เซห์ในอิสราเอล ซึ่งล้วนตั้งอยู่บนเส้นทางการอพยพไม่น้อย และเป็นฟอสซิลสำคัญที่ยืนยันหนักแน่นว่า "เรามาจากแอฟริกา-บางทีเป็นเอธิโอเปีย"
      คำถามต่อไปได้แก่ มนุษย์สมัยใหม่วิวัฒนาการขึ้นมาอย่างไรในทวีปอันใหญ่โตนี้
      "ผมสังหรณ์ใจว่าเราจะพบสถานที่หนึ่งซึ่งทุกอย่างได้อุบัติขึ้นแล้ว" ชริส สตริงเกอร์ กล่าว เขาหมายถึงแอฟริกาตะวันออก...สภาวะทะเลทรายอันแห้งแล้ง อาจทำให้ประชากรมนุษย์สมัยใหม่ยุคนั้นต้องโดดเดี่ยว แยกกันอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ต่อมาสภาพภูมิอากาศดีขึ้น บางกลุ่มอาจกลับมารวมกันอีก และก็ถ่ายทอดลักษณะ อันเป็นคุณต่อการดำรงชีพที่ต่างก็ได้พัฒนาขึ้นมาแก่กันและกัน
      นี่เป็นเพียงความเห็น ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เว้นแต่เราจะพบตัวอย่างซากที่สมบูรณ์กว่า หรือสามารถกำหนดอายุได้แม่นกว่า เก่ากว่ามนุษย์เฮอร์ตูเพิ่มมากกว่านี้ เขากล่าวในที่สุด

ข้อมูลจากเว็บไซต์ nature.com และ scientific american.com ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๖