home
Contact Uscontact@sarakadee.com
สาระเพื่อนักเดินทาง และการท่องเที่ยว อย่างเข้าใจและรอบรู้
www.Thaitraveler.com
เที่ยวทั้วไทยกับ "นายรอบรู้" เดือนเมษายน

สัมผัสวิถีชีวิตชาวมอญที่สังขละบุรี

ทริปนี้ "นายรอบรู้" ขอประเดิมหน้าร้อนด้วยการไปสัมผัสวิถีชีวิตชาวมอญอันเรียบง่าย สงบงาม และธรรมชาติบริสุทธิ์ ริมทะเลสาบกลางหุบเขาชายแดนตะวันตกที่ อ. สังขละบุรี จ. กาญจนบุรี 
มนต์เสน่ห์ของเมืองนี้ เย้ายวนจนทำให้ใครที่เคยสัมผัสแล้ว มักย้อนกลับไปเยือนอีก แม้จะต้องเดินทางกันยาวไกลพอสมควร คือถ้าขับรถออกจากกรุงเทพฯ จะใช้เวลาเดินทางประมาณ ๖ ชม. หนทางช่วงแรกจากกรุงเทพฯ จนถึง อ. ทองผาภูมิไม่ยากลำบาก สถาพถนนดี เป็นทางตรง ขับสบาย แต่เส้นทางนับจากทางแยก อ. ทองผาภูมิ จนถึง อ. สังขละบุรี ระยะทางเกือบ ๘๐ กม. ถนนจะคดเคี้ยว ขึ้น-ลงเขาสูงชัน แถมบางช่วงถนนชำรุด ต้องขับอย่างระมัดระวัง
แผนที่ (คลิกดูภาพใหญ่)
สังขละบุรีเป็นเมืองเก่าที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แม้จะไม่เคยร้างราผู้คน แต่ก็ดำรงฐานะเป็นเพียงเมืองชายแดนเล็กๆ เรื่อยมา จุดเปลี่ยนสำคัญของเมืองนี้เกิดขึ้นสองครั้งด้วยกัน ครั้งแรกคือราวปี ๒๔๙๔ เมื่อหลวงพ่ออุตตมะซึ่งเป็นภิกษุชาวมอญจากเมืองมะละแหม่ง พาชาวมอญอพยพหนีภัยสงคราม และความแร้นแค้นเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยช่วยกันสร้างวัดและบ้านเรือนขึ้นเป็นชุมชนมอญ อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามตัวอำเภอ จากนั้นก็มีชาวมอญอพยพเข้ามาสมทบอีก เป็นระลอกจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ จุดเปลี่ยนที่สองเกิดขึ้นในราวปี ๒๕๒๗ เมื่อมีการสร้างเขื่อนเขาแหลม (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเขื่อนวชิราลงกรณ) สันเขื่อนอยู่ที่ อ. ทองผาภูมิ แต่พื้นที่กักเก็บน้ำช่วงปลายเขื่อนกินถึงสังขละบุรี ไม่เพียงไร่นามากมาย ตัวอำเภอสังขละบุรี รวมทั้งวัดวังก์วิเวการามของหลวงพ่ออุตตมะและหมู่บ้านมอญ ก็ล้วนต้องจมหายไปหมดสิ้น ชาวบ้านต้องย้ายวัดและบ้านเรือนขึ้นมาตั้งกันใหม่ที่เหนือเขื่อน
ถึงวันนี้ทั้งชาวมอญและอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน กลายเป็นทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของสังขละบุรี ทั้งนี้ยังไม่นับป่าเขาลำเนาไพรและด่านเจดีย์สามองค์ เพียงคุณมานอนพักผ่อนที่รีสอร์ตสวย ๆ และสงบเงียบริมน้ำ เช้าขึ้นมาก็ข้ามแม่น้ำซองกาเลียไปเที่ยวชุมชนมอญ และวัดหลวงพ่ออุตตมะที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ซึ่งคนสังขละเรียกกันว่า "ฝั่งมอญ" จะเลือกเดินข้ามสะพานไม้ที่ยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตร เดินไปชมทิวทัศน์ไป หรือขับรถข้ามสะพานปูนที่อยู่ตรงถนนใหญ่ก็ได้
สะพานไม้อุตตมานุสรณ์หรือสะพานมอญ เชื่อมตัวอำเภอกับฝั่งมอญเข้าด้วยกัน (คลิกดูภาพใหญ่)ชาวมอญเข้ามาไหว้พระและเจริญศีลภาวนาภายในเจดีย์พุทธคยาจำลอง (คลิกดูภาพใหญ่)
เมื่อเข้าถึงตัวหมู่บ้าน ถ้าไปตอนเช้า แนะนำให้แวะไปเที่ยวตลาดเช้าที่ตลาดวัดวังก์ก่อน ช่วงเวลานี้เราจะได้เห็นสีสันของชุมชน นอกจากชาวบ้านจะมาจับจ่ายข้าวของแล้ว บางคนมาหาอาหารมื้อเช้ากิน คนหนุ่มสาวเตรียมไปทำงานในไร่นา เด็กๆ เดินเรียงเป็นแถวไปโรงเรียนวัดวังก์ที่อยู่ใกล้ ๆ ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่จัดสำรับอาหารไปถวายพระที่วัด บรรยากาศเหมือนอยู่เมืองมอญ พวกผู้ชายนุ่งโสร่ง ส่วนผู้หญิงนิยมประแป้งพม่าที่มีสีเหลืองเหมือนขมิ้น และส่วนใหญ่ยังใช้ภาษามอญสื่อสารกัน ข้าวของที่ขายอยู่ในตลาด ก็แสดงความเป็นท้องถิ่นไม่น้อย (แถมราคาไม่แพงด้วย) เช่น โสร่ง ผ้าซิ่นมอญ ปลาสดที่จับได้จากเขื่อน พืชผักพื้นบ้าน เป็นต้น
ตรงข้ามกับตลาดเป็นตัวหมู่บ้าน เดินเข้าไปชมได้ ชาวมอญที่นี่แม้จะมีสำนึกทางชาติพันธุ์สูง แต่ก็ไม่ปิดตัวเอง พวกเขายิ้มแย้มแจ่มใสกับนักท่องเที่ยว ทักทายพูดคุยเป็นกันเองตามแบบชาวบ้านในชนบท แม้ผู้หญิงและคนแก่บางคนจะพูดไทย "ไม่แข็งแรง" ก็ตาม ถ้าเป็นวันพระ ลองเข้าไปเที่ยวแต่เช้ามืดแล้วจะได้เห็นภาพประทับใจ คือชาวบ้านแต่ละหลังจะออกมาเขย่าต้นไม้ที่หน้าบ้านของตน เมื่อดอกหล่นก็เก็บมาเสียบก้านไม้ให้เป็นช่อ สายหน่อยจึงนำไปถวายพระที่วัด เหตุที่ต้องเขย่าต้นไม้ก็เพื่อให้ดอกที่บานเต็มที่ร่วงลงมาอย่างไม่บอบช้ำ บางบ้านยายกับหลานมาช่วยกันเขย่าและเก็บดอกไม้ เห็นแล้วก็ชื่นใจ ที่ว่าคนมอญเคร่งครัดในพระศาสนามากนั้น เมื่อได้มาเห็นที่นี่แล้วจะเชื่อสนิทใจ
"ฝั่งมอญ" มองจากตัว อ. สังขละบุรี เห็นเจดีย์พุทธคยาจำลองตั้งเด่นเป็นสง่า (คลิกดูภาพใหญ่)ถ้าคิดจะซื้อพลอยพม่าจากร้านขายของที่ระลึก ต้องแน่ใจว่าดูพลอยเป็น (คลิกดูภาพใหญ่)
ออกจากหมู่บ้าน เลยไปราว ๔๐๐ ม. คือที่ตั้งของวัดวังก์วิเวการาม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าวัดหลวงพ่ออุตตมะ เป็นวัดประจำหมู่บ้านมอญ และวัดสำคัญของ จ. กาญจนบุรี ความสำคัญนี้เกิดจากความเลื่อมใสศรัทธา ที่ผู้คนทั่วสารทิศมีให้หลวงพ่ออุตตมะ (ปัจจุบันอายุ ๙๒ ปี) ประจักษ์ได้จากสิ่งก่อสร้างใหญ่โตภายในวัด ทั้งโบสถ์ วิหาร ศาลา ที่สำคัญคือเจดีย์พุทธคยาจำลอง เป็นเจดีย์องค์ใหญ่ สูงเกือบ ๖๐ ม. ตั้งเด่นสง่า เห็นได้ชัดจากตัวอำเภอฝั่งตรงข้าม บนยอดเจดีย์ประดับด้วยฉัตรทองคำหนักถึง ๔๐๐ บาท ด้านข้างเจดีย์เป็นเพิงขายของที่ระลึก มีร้านค้านับสิบเรียงติดกันเป็นพรืด ขายสินค้าหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องไม้จากพม่า ตั้งแต่ของเล็กๆ อย่างตุ๊กตาไม้ ไปจนถึงของใหญ่อย่างโต๊ะเก้าอี้ ฝีมือใช้ได้ ที่สำคัญราคาถูกมาก เหมาะอย่างยิ่งที่จะซื้อกลับบ้าน และถ้าเป็นของชิ้นใหญ่ทางร้านมีบริการจัดส่งให้ด้วย
สำหรับเรื่องที่พักและอาหารการกินนั้นหายห่วง ปัจจุบันมีรีสอร์ตสวย ๆ ริมเขื่อน แถมอยู่ในตัวอำเภอให้เลือกพักนับสิบแห่ง แต่ละแห่งก็มีร้านอาหารบริการครบครัน หรือถ้าเบื่ออาหารรีสอร์ต และนึกอยากชิมรสฝีมือชาวบ้าน ก็มีตลาดโต้รุ่งอยู่ในตัวตลาดให้เลือก
การเทินของไว้บนหัวเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสาวมอญ (คลิกดูภาพใหญ่)
ขากลับอย่าลืมแวะเที่ยวด่านเจดีย์สามองค์ เพราะถ้าพลาดก็เท่ากับว่าคุณไปไม่ถึงสังขละบุรี นอกจากนี้ถ้ามีเวลาก็สามารถแวะเล่นน้ำตามน้ำตกต่าง ๆ ที่อยู่ตามเส้นทางกลับเข้าตัวจังหวัดได้
Home