home
Contact Uscontact@sarakadee.com
สาระเพื่อนักเดินทาง และการท่องเที่ยว อย่างเข้าใจและรอบรู้
www.Thaitraveler.com
เที่ยวทั้วไทยกับ "นายรอบรู้" เดือนธันวาคม

เยือกลมหนาวริมน้ำโขง ที่เมืองโบราณเชียงแสน

สายลมหนาวที่พัดจากเมืองจีนผ่านเข้ามาในช่วงนี้ ก็เหมือนกับสายน้ำโขงที่ล่องมาจากทางเหนือลงสู่ใต้ ยิ่งคิดก็ยิ่งเหมือนกับอดีตอันโรจน์รุ่งเรืองที่ผ่านเลยมานาน อย่างไรก็ดีสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตก็เป็นรากฐานให้แก่ปัจจุบัน และเป็นข้อเตือนใจเพื่อที่จะได้สร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าเพื่ออนาคต
หนาวลมเดือนนี้ "นายรอบรู้" อยากเชิญชวนให้ไปเที่ยวสัมผัสบรรยากาศอันสงบนิ่ง และเยือกเย็นริมแม่น้ำสายยิ่งใหญ่ ที่เมืองโบราณเชียงแสน เมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำโขงใน จ. เชียงราย จะเดินทางด้วยการขับรถยนต์ไปเอง หรือขึ้นเครื่องบินไปลงเชียงราย แล้วต่อรถโดยสารก็ได้ แต่ถ้าให้สะดวกสำหรับคนไม่มีรถ นั่งรถทัวร์จากกรุงเทพฯ ไปเชียงแสนได้โดยตรง 
แผนที่ (คลิกดูภาพใหญ่)
รถทัวร์จะไปถึงเชียงแสนแต่เช้าตรู่ ก่อนจะไปเที่ยวชมเมืองโบราณ อย่าพลาดการไปเดินชมตลาดสดยามเช้าใกล้ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งหนาวๆ อย่างนี้บางทีจะได้เจอกับหมอกบางๆ ลอยอ้อยอิ่งอยู่ในตลาด มีทั้งพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย คนหนุ่มสาว มาเดินเลือกซื้อกับข้าวกับปลา แวะดื่มกาแฟอุ่น ๆ สักแก้ว แล้วเตรียมแรงไว้เดินเที่ยวกันดีกว่า 
เมืองเชียงแสนนี้เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าแสนภู พระราชนัดดาของพระเจ้ามังราย ทรงสร้างเมืองขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๗๑ และขนานนามว่า เมืองหิรัญนครชัยบุรีศรีช้างแสน ซึ่งปัจจุบันยังมีร่องรอยของกำแพงเมือง และวัดต่างๆ ถ้าต้องการรู้ลึกถึงรายละเอียด ควรเข้าไปชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน ตั้งอยู่ในบริเวณเมืองโบราณเชียงแสนก่อนเป็นอันดับแรก ที่นี่จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นับเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในภาคเหนือ ภายในอาคารจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเชียงแสน ทั้งพระพุทธรูป จารึกที่ค้นพบในเมืองโบราณ ลวดลายปูนปั้นจากวัดป่าสัก เครื่องถ้วยล้านนาใน จ. เชียงราย นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนไทใหญ่ ไทลื้อ และชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ น่าสนใจมาก
จากนั้นควรเข้าไปชม วัดเจดีย์หลวง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อยู่ด้านข้างของพิพิธภัณฑ์นั่นเอง มีประวัติกล่าวไว้ว่าสร้างโดยพระเจ้าแสนภู และทรงสร้างเจดีย์ไว้เป็นที่บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า แต่คงมีการปฏิสังขรณ์กันหลายครั้ง ปัจจุบันมีลักษณะเป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม องค์ระฆังกลมมีมาลัยเถาเป็นฐานบัวลูกแก้วซ้อนกันสามชั้น จัดว่าเป็นเจดีย์แบบพื้นเมืองเชียงแสน
ซุ้มจระนำประดับลายปูนปั้นที่วัดป่าสัก (คลิกดูภาพใหญ่)เครื่องถ้วยเขียนลายใต้เคลือบ เตาเวียงกาหลง ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ (คลิกดูภาพใหญ่)เจดีย์พระธาตุจอมกิตติ อยู่บนเนินเขา (คลิกดูภาพใหญ่)
อีกวัดหนึ่งที่น่าสนใจเข้าไปชมคือ วัดป่าสัก ต้องเดินทางออกนอกกำแพงเมืองตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๑๖ ไปอีกประมาณ ๓๐๐ ม. ตามตำนานกล่าวว่าในปี พ.ศ. ๑๘๓๘ มีพระมหาเถระองค์หนึ่งชื่อพุทธโฆษาจารย์ ได้พระธาตุโคปผกะ (กระดูกตาตุ่มเบื้องขวา) ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวจากเมืองปาฏลีบุตร นำมาถวายพระเจ้าแสนภู และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาเจดีย์ สถาปนาเป็นพระอาราม เสร็จแล้วจึงโปรดให้ปลูกต้นสักล้อมรอบวัด ๓๐๐ ต้น 
สิ่งที่ไม่ควรพลาดชมก็คือ ลวดลายปูนปั้นที่ปรากฏอยู่บนองค์เจดีย์ ทรงมณฑปยอดระฆัง สูง ๒๑ ม. โดยส่วนล่างเป็นซุ้มพระ ประดิษฐานด้วยพระพุทธรูปประทับยืนปางเปิดโลก เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแล้ว แล้วจึงเป็นหน้ากระดานรับเรือนธาตุ ซึ่งที่เรือนธาตุนี้จะมีซุ้มจระนำอยู่สี่ทิศ เสียบด้วยฝักเพกาแหลม 
ลวดลายปูนปั้นที่งดงามจะปรากฏอยู่บริเวณเรือนธาตุนี่เอง มีทั้งลายประจำยาม ลายพรรณพฤกษา แต่ที่โดดเด่นมากก็คือ รูปหน้ากาลมกรแบบพุกาม หน้ากาลหรือเกียรติมุขนี้ มีลักษณะเป็นหน้ายักษ์ยิงฟัน เห็นขากรรไกรบนและฟัน ดูคล้ายราหูอมจันทร์ ตามตำนานมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งที่พระอิศวรทรงพิโรธอย่างรุนแรง ก็เกิดมีตัวเกียรติมุขกระโดดออกมาจากระหว่างพระขนง (คิ้ว) ที่ขมวดนั้น เมื่อเกิดออกมาแล้วก็กันกินทุกอย่างรอบตัวจนหมดสิ้น จึงหันกลับมากินตัวเองจนเหลือแต่หัว พระอิศวรจึงสาปให้ประดิษฐานอยู่ตรงหน้าบัน หรือหน้ามุข เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติมนุษย์ว่า "กาลเวลาย่อมกินตัวเอง และทำลายทุกสิ่งทุกอย่างลงหมดสิ้นไป"
เจดีย์วัดป่าสักที่มีลวดลายปูนปั้นอันงดงาม (คลิกดูภาพใหญ่)บรรยากาศของตลาดสดเชียงแสนยามเช้า (คลิกดูภาพใหญ่)
ก่อนยามเย็นจะมาเยี่ยมกราย ควรเดินทางต่อไปยัง วัดพระธาตุจอมกิตติ ซึ่งสามารถขับรถขึ้นไปได้ถึงตัวพระธาตุ ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าพังคราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๓๐ หมื่นเชียงสงได้ก่อสร้างเจดีย์ครอบทับองค์เดิม มีลักษณะเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงปราสาท ปิดทองงดงาม นอกจากจะได้นมัสการพระธาตุแล้ว ยังได้ชมทิวทัศน์ท้องทุ่ง และตัวเมือง อ. เชียงแสนด้วย เพราะที่ตั้งของวัดอยู่บนเนินสูง
เสร็จจากการเที่ยวชมวัดแล้ว "นายรอบรู้" แนะนำให้แวะกินปลาช่อนนึ่งในกระบอก หรืออาหารที่ทำจากปลาแม่น้ำโขงสด ๆ ตามแผงขายอาหารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอนั่นเอง จากนั้นจะกลับเข้าไปนอนในเชียงราย หรือหาเกสต์เฮาส์ริมแม่น้ำไว้พักแรมคืน เพื่อสัมผัสสายลมเย็นและม่านหมอกยามเช้าของแม่น้ำโขงก็แล้วแต่ใจ
Home