อัมพร จิรัฐติกร : รายงาน / วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : ภาพ

 

east timor foreign 01หากจะกล่าวว่าติมอร์ตะวันออก เป็นดินแดนที่นักภูมิศาสตร์ นักนิเวศวิทยา นักดูนกทั้งหลายใฝ่ฝันอยากจะไปเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิต หลายคนอาจจะมีสีหน้างุนงงสงสัยอยู่ในใจว่า ประเทศเล็ก ๆ ที่แม้แต่ชื่อก็ไม่เคยปรากฏอยู่บนแผนที่โลกประเทศนี้ มีอะไรดีถึงขนาดที่ทำให้นักภูมิศาสตร์ทั้งหลายใฝ่ฝันอยากไปเยือนกันนัก

และหากจะกล่าวอีกว่า ติมอร์ตะวันออกก็เป็นดินแดนที่นักรัฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ นักสื่อสารมวลชนทั้งหลายใฝ่ฝันอยากไปเยือนเช่นเดียวกัน หลายคนก็อาจจะยิ่งงุนงงสงสัยว่า อะไรหรือคือเสน่ห์ดึงดูดใจของประเทศเล็กๆ ประเทศนี้ ประเทศที่มีแต่ชาวเกาะผมหยิก ๆ มีแต่บ้านเรือนร้าง ๆ ถูกเผา และมีแต่ทหารจากชาติต่าง ๆ รวมทั้งทหารไทยด้วยประจำการอยู่เต็มไปหมด

และเมื่อนักภูมิศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักสื่อสารมวลชนทั้งหลายได้มีโอกาสไปเยือนดินแดนที่เป็นความใฝ่ฝัน ดินแดนที่น้อยคนนักจะได้มีโอกาสรู้จักอย่างแท้จริง เรื่องราวของติมอร์ตะวันออก เสน่ห์ ความน่าสนใจของประเทศใหม่แห่งสุดท้ายบนโลกใบนี้ จึงได้รับการถ่ายทอดออกมาหลากหลายแง่มุมผ่านวงเสวนาเรื่อง “ติมอร์ตะวันออก : ที่ได้เห็นมา” ที่จัดโดยโครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค (อบศ. ๕) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ติมอร์ตะวันออกนั้นน่าสนใจในแง่ที่ว่า การเกิดขึ้นของประเทศนี้สะท้อนให้เห็นว่า คำว่า “ชาติ” นั้นเป็นประดิษฐกรรมอย่างหนึ่ง ที่มิได้จีรังยั่งยืนอะไร เกิดขึ้นแล้วก็ย่อยสลายลงไปได้ เหมือนดังเช่นที่สหภาพโซเวียตเคยเกิดขึ้นมา แล้ววันหนึ่งก็แตกสลายลงไป ติมอร์ตะวันออกเคยเป็นส่วนหนึ่งของโปรตุเกสและอินโดนีเซียอยู่นาน ในที่สุดวันหนึ่งก็เกิดเป็นเอกราชขึ้นมาได้ แถมการเกิดขึ้นของติมอร์ตะวันออก ยังเป็นตัวอย่างอันสำคัญ ของการที่คนในประเทศอาณานิคม สามารถใช้สิทธิตัดสินอนาคตของตนเอง โดยเลือกที่จะเป็นเอกราชได้เป็นผลสำเร็จ อย่างชนิดที่เรียกได้ว่า ไม่มีใครที่ไหนทำได้มาก่อน

เมื่อการเกิดขึ้นของติมอร์ตะวันออกนั้น “พิเศษ” กว่าการเกิดขึ้นของรัฐประชาชาติทั่ว ๆ ไป อีกทั้งเป็นกรณีตัวอย่างที่ฝาก “บาดแผล” ที่ลึกและเจ็บปวดที่สุดให้แก่อินโดนีเซีย จึงเป็นเรื่องที่นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหลาย จะสนใจในการเกิดขึ้น และเป็นไปของประเทศเล็ก ๆ ประเทศนี้

ติมอร์ตะวันออกที่ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้พบเห็นมาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓ หนึ่งปีหลังจากประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากอินโดนีเซียนั้น วันนี้ติมอร์ตะวันออกยังคงมีสภาพรกร้าง เพราะบ้านเรือนถูกเผาไปเป็นจำนวนมาก หลังจากที่คนติมอร์ลงประชามติ แยกตัวเป็นเอกราชจากอินโดนีเซียอย่างท่วมท้น จนทำให้ทหารอินโดนีเซียโกรธแค้น ถึงกับเผาบ้านเรือน เผาหลังคาบ้านวอดวายไปทั้งเมือง

ในสายตาของนักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ที่เคยรับรู้การเกิดใหม่ของชาติอย่างสิงคโปร์ จากเริ่มแรกที่ไม่มีอะไรเลย ทุกวันนี้สิงคโปร์พัฒนาก้าวหน้า จนมีระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดร. ชาญวิทย์มองเห็นว่ากรณีของติมอร์ตะวันออกนั้น คงไม่สามารถเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ได้ เพราะสิงคโปร์มีองค์ประกอบปัจจัยหลายอย่าง ที่ทำให้พัฒนาก้าวหน้ามาได้ถึงทุกวันนี้ ทั้งความเป็นเมืองท่าเป็นจุดศูนย์กลางการคมนาคมการค้า และการมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่กรณีติมอร์นั้น หลายฝ่ายกำลังวิตกกันอย่างมากว่า ติมอร์ตะวันออกจะไปรอดหรือไม่ ติมอร์จะทำอะไรกิน หลังจากที่บอบช้ำมาขนาดหนักเช่นนี้

east timor 21อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ดีแล้ว ดร. ชาญวิทย์เห็นว่า สังคมชนบทของติมอร์ตะวันออกนั้นเข้มแข็งมาก ระบบเครือญาติในสังคมชนบทที่เข้มแข็ง ผนวกกับการที่ ติมอร์ตะวันออกมีก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน พอ ๆ กับประเทศบรูไน ก็อาจจะทำให้ติมอร์ตะวันออกพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐชาติใหม่ได้อย่างตลอดรอดฝั่ง

ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้มีโอกาสไปเยือนติมอร์ตะวันออกมาด้วยเช่นกัน กล่าวถึงติมอร์ตะวันออกในสายตาของนักนิเวศวิทยา และนักภูมิศาสตร์ว่า ติมอร์ตะวันออกเป็นดินแดนแห่งความใฝ่ฝัน ที่นักภูมิศาสตร์แทบทุกคนอยากไปเยือนสักครั้ง เพราะเกาะแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นจุดกำเนิดของทฤษฎีวิวัฒนาการ อันถือว่าเป็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญของโลก

ทฤษฎีวิวัฒนาการนั้น แทบทุกคนคงเข้าใจว่า เจ้าของทฤษฎีผู้คิดค้น คือ ชารลส์ ดาร์วิน แต่เพียงผู้เดียว แต่แท้จริงแล้วทฤษฎีนี้ เกิดจากการคิดค้นของนักวิทยาศาสตร์สองคน คนแรกนั้น คือ ชารลส์ ดาร์วิน ส่วนอีกคนหนึ่ง คือ อัลเฟรด รัสเซลล์ วอลเลซ (Alfred Russell Wallace) ซึ่งได้ศึกษาการกระจายของสัตว์ในหมู่เกาะแถบนี้ จนทำให้คิดค้นทฤษฎีวิวัฒนาการขึ้นมาได้ และในที่สุดได้เผยแพร่ทฤษฎีวิวัฒนาการ ร่วมกับ ชารลส์ ดาร์วิน

นอกจากนี้นายวอลเลซคนนี้ยังเป็นคนแรกที่เสนอว่า แผ่นดินนั้นมีการเคลื่อนที่ไปมาได้ มิใช่สิ่งที่หยุดนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว วอลเลซจึงเสนอทฤษฎีว่าด้วย การเคลื่อนที่ของแผ่นทวีปบนผิวโลก ซึ่งเขาคิดค้นทฤษฎีนี้ได้ จากการศึกษาหมู่เกาะติมอร์ และพบว่าบนเกาะแห่งนี้มีสายพันธุ์จากถิ่นหนึ่ง คือสายพันธุ์ของทวีปออสเตรเลีย และสายพันธุ์ของทวีปเอเชียปะปนอยู่ นั่นก็เป็นเพราะเกาะติมอร์นั้น เกิดจากการเคลื่อน ของแผ่นดินทางเหนือของทวีปออสเตรเลีย ที่เคลื่อนมาชนกับแผ่นทวีปของเอเชีย ในยุคหลายร้อยล้านปีก่อน

หมู่เกาะแถบนี้จึงได้รับการเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะวอเลเชีย (Wallasia) เพื่อเป็นเกียรติแก่นายวอลเลซ

การที่ติมอร์เกิดจากแผ่นดินสองแผ่นดิน ที่เคลื่อนมาชนกัน ทำให้ติมอร์มีเอกลักษณ์ในการปะทะ ปะปนทางภูมิศาสตร์หลายแง่ จนทำให้มีความหลากหลายทางนิเวศวิทยาอย่างมาก เกาะเล็ก ๆ เกาะนี้มีนกถึง ๒๒๒ ชนิด เป็นนกเฉพาะถิ่นในบริเวณหมู่เกาะแถบนี้ถึงร้อยละ ๒๐ และนกเฉพาะถิ่นของเกาะติมอร์เองร้อยละ ๓ ซึ่งเปรียบเทียบกับเมืองไทยแล้ว แม้จะมีนกมากชนิดกว่าหลายเท่า แต่ก็มีลักษณะเป็นชุมทาง และมีนกเฉพาะถิ่นอยู่เพียงชนิดเดียวคือ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ซึ่งก็สูญพันธุ์ไปแล้ว

east timor foreign 02

east timor 22

east timor 18

east timor 19

ในแง่ของป่าและพืชพรรณ ติมอร์ตะวันออกก็มีความหลากหลายอย่างมาก มีทั้งป่าแบบสะวันนา เป็นทุ่งหญ้าแห้งแล้ง มีหญ้าระบัดใบราวกับท้องทุ่งในแอฟริกา มีทั้งป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าผสม แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าป่าแทบทุกประเภท บนเกาะติมอร์นั้นทุกวันนี้เหลืออยู่เพียงน้อยนิด เหลืออยู่เพียงแต่ทุ่งหญ้า พงรก เป็นทุ่งหญ้าแบบสะวันนา อยู่ถึงประมาณร้อยละ ๘๐

สาเหตุของการที่ป่าของติมอร์ตะวันออกหายไปนั้น ก็เนื่องจากการที่ต้องตกเป็นอาณานิคมซ้ำซ้อนถึงสองครั้งสองครา จาก ๓๐๐ ปีภายใต้การปกครองของโปรตุเกสมาจนถึง ๒๕ ปีภายใต้การปกครองของอินโดนีเซียนั้น พื้นที่ป่าของติมอร์ตะวันออกถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก เมื่อครั้งโปรตุเกสปกครองติมอร์ โปรตุเกสได้ทำการขนไม้จันทน์หอม ซึ่งเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจไปจนเกือบหมด

แต่กล่าวไปแล้วช่วงที่ทรัพยากรของติมอร์ตะวันออกถูกทำลายไปมากที่สุด กลับเป็นช่วงที่ติมอร์ อยู่ใต้การปกครองของอินโดนีเซีย โดยที่ดินบนเกาะติมอร์จำนวนมาก ถูกครอบครองโดยครอบครัวของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต ซึ่งนำที่ดินเหล่านั้นไปทำสวนป่า ทำไร่อ้อย ทำให้มีการถากถางพื้นที่ป่าลงไปเป็นจำนวนมาก

และปัจจัยสำคัญอีกประการที่ทำให้ป่าของติมอร์ หดหายลงไปเป็นจำนวนมาก ก็คือการที่รัฐบาลของอินโดนีเซีย มีความพยายามอย่างมาก ที่จะเผาทำลายพื้นที่ป่าลง เนื่องจากป่าถูกใช้เป็นที่หลบภัยของขบวนการต่อต้านรัฐบาลอินโดนีเซีย ความพยายามในการทำลายพื้นที่ป่าของรัฐ เพื่อทำลายแหล่งหลบภัยของขบวนการต่อต้านนั้น ก็คงเหมือนกรณีที่ป่าหลาย ๆ แห่งของไทยถูกทำลายลงอย่างหนัก เพื่อปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ ในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ ที่ผ่านมา

ในสายตาของ ดร. สรณรัชฎ์แล้ว แม้ว่าติมอร์ตะวันออกจะมีความหลายหลายทางธรรมชาติ สัตว์ พืชพรรณต่างๆ แต่ติมอร์ตะวันออกก็มีปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ฝังรากมาจากช่วงที่ตกอยู่ใต้การปกครองของโปรตุเกส และอินโดนีเซีย ป่าเสื่อมโทรมถูกทำลาย ทำให้น้ำที่มีน้อยอยู่แล้วตามธรรมชาติขาดแคลนยิ่งขึ้น และหน้าดินถูกชะพังทลายอย่างรุนแรง นอกจากนี้ติมอร์ยังไม่มีระบบการพัฒนาแหล่งน้ำที่ดี จึงมิอาจกล่าวได้เลยว่า ติมอร์ตะวันออกมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่อาจกล่าวได้ว่า เป็นเสมือนของขวัญที่พระเจ้าประทานมาให้คนติมอร์ก็คือ ท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยโคลัมเบียได้เคยประมาณการ ผลผลิตจากท้องทะเลของติมอร์ว่ามีถึง ๖ แสนตันต่อปี ในขณะที่คนติมอร์ใช้ไปในแต่ละปีไม่ถึงร้อยละ ๑ จากผลผลิตทั้งหมด

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกาะเล็ก ๆ แห่งนี้อยู่ในความสนใจของชาวโลกก็คือ การที่ท้องทะเลของติมอร์ตะวันออก เป็นแหล่งน้ำมันจำนวนมหาศาล ประมาณว่าติมอร์ตะวันออก มีปริมาณน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติสูงสุด เป็นอันดับที่ ๒๐ ของโลกเลยทีเดียว ซึ่งน่าจะผลิตน้ำมันได้ถึงวันละ ๕ พันล้านบาร์เรล นอกจากนี้ก็ยังมีแหล่งน้ำมันบนบกอีกถึง ๒๔ จุด ซึ่งคาดว่าในอีกสี่ปีข้างหน้า คงจะเริ่มมีการขุดเจาะนำออกมาใช้กัน

ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ติมอร์ตะวันออกจะสร้างชาติด้วยน้ำมัน ขึ้นมาได้หรือไม่ หรือหากได้มันก็คงเป็นเหมือนการเนรมิตชาติขึ้นมาด้วยพลังเงิน แต่จะทำอย่างไรที่ติมอร์ตะวันออกจะพัฒนาสังคมของตนขึ้นมาด้วย หลังจากที่อยู่ใต้การปกครองของโปรตุเกส ของอินโดนีเซียมาอย่างยาวนาน

ดร. สรณรัชฎ์จบเรื่องราวของ “ติมอร์ตะวันออก ที่ได้เห็นมา” ด้วยคำพูดของ ซานาน่า กุสเมา ผู้นำติมอร์ตะวันออก ที่คาดว่าเขาจะเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศติมอร์ตะวันออก ซานาน่า กุสเมา กล่าวว่า เขาอยากเห็นชาวติมอร์ซึ่งมีระบบเครือญาติที่เข้มแข็งอย่างมาก ช่วยกันสร้างความฝันร่วมกันว่าอยากเห็นการจัดการที่ดินอย่างไร อยากให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างไร พยายามสร้างความฝันร่วมกันเพื่อสร้างชาติติมอร์ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

นั่นคงเป็นเรื่องที่คนไทยเรา- ในฐานะที่ไม่เคยได้โอกาสในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรของชาติเราเองอย่างแท้จริง จนทำให้เกิดกรณีอย่างเขื่อนปากมูล หรือกรณีแย่งชิงทรัพยากรระหว่างคนท้องถิ่น กับคนเมืองหลวงที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา คงต้องจับตามองติมอร์ตะวันออกอย่างเอาใจช่วย

เพื่อให้ความฝันของคนติมอร์ที่จะสร้างชาติของตน บนพื้นฐานของความยั่งยืนนั้น เป็นความจริงขึ้นมาได้สักวัน

หมายเหตุ : บทความนี้รวบรวมและสรุปมาจากรายการ “เสวนา อบศ. ๕” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค” ที่ได้รับความสนับสนุนจากสำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภารกิจของโครงการนี้ คือ การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาความรู้ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นิเวศวิทยาที่เกี่ยวพันกับ ๕ ภูมิภาคของโลก คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และละตินอเมริกา