ผู้นำกับ AI

ข่าวสารบ้านเมืองในช่วง ๒-๓ เดือนที่ผ่านมาคงทําให้หลายคนรู้สึกไม่สบายใจ โดยเฉพาะความสับสนวุ่นวายทางการเมืองทั้งการกลับมาแสดงบทบาทของ ทักษิณ ชินวัตร จนมีคําถามว่าใครคือนายกรัฐมนตรีตัวจริง การเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร เสน่ห์สังคม ที่เรียกร้องคําตอบจากระบบยุติธรรม ความซับซ้อนของกติกาการเลือกตั้ง สว.ที่อาจเกิดปัญหาจนไม่ได้ประกาศผล ไปจนถึงแนวโน้มการตัดสินยุบพรรคก้าวไกลที่กําลังจะมาถึงฯลฯหลายคนจึงคาดว่าเดือนมิถุนายนนี้อาจมีความร้อนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นอีก

นับจากปี ๒๔๗๕ ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึง พ.ศ. นี้ ระบอบประชาธิปไตยของไทยมีอายุครบ ๙๒ ปีแล้ว เรามีนายกรัฐมนตรีถึง ๓๐ คน บางคนเป็นนายกฯของหลายรัฐบาล บางคนเป็นนายกฯได้ไม่กี่วันไม่กี่เดือน บางคนก็เป็นยาวนานหลายปีโดยเฉพาะนายกฯทหารหลังการรัฐประหาร ขณะที่นายกฯจากการเลือกตั้งที่อยู่ครบเทอม ๔ ปีนั้นมีไม่กี่คน

ผู้นําทางการเมืองหรือองค์กรในอดีตมักเป็นผู้ที่ใช้การตัดสินใจเด็ดขาด เป็นผู้กุมข้อมูลข่าวสารและบริหารงานสั่งการแบบทอปดาวน์
ซึ่งอาจประสบความสําเร็จในยุคที่ช่องทางการสื่อสารเป็นแบบทางเดียว การเข้าถึงข้อมูลของประชาชนมีจํากัดทําให้การตรวจสอบทําได้ยาก
และประชาชนไม่ค่อยมีส่วนร่วมตัดสินใจในทิศทางการพัฒนาประเทศ

แต่โลกทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปแล้วจากศตวรรษที่ ๒๐ มาเป็นศตวรรษที่ ๒๑ จากสมัยสงครามโลกครั้งที่๒พลิกโฉมเป็นโลกไร้พรมแดนโลกที่สิ่งแวดล้อมกําลังเสื่อมสลายเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง และผันผวนรวดเร็วจากเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AI

เมื่อผมถาม AI ChatGPT (version1.1.0) ว่าผู้นําทางการเมืองที่ดีในสมัยนี้แตกต่างจากสมัยก่อนอย่างไร

ChatGPT ก็พิมพ์ตอบมาค่อนข้างยาวย่อความให้ได้ว่า

  • ผู้นําต้องมีความโปร่งใสเปิดเผยข้อมูลพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนสามารถสร้างความเชื่อมั่นสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
  • ต้องทํางานร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียหลากหลายโดยสร้างความร่วมมือกับทั้งภาครัฐเอกชนและประชาสังคม
  • มีความสามารถจัดการกับความขัดแย้งอย่างสันติและสร้างสรรค์ รวมถึงการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนด้วยวิธีการที่ยั่งยืนและมีความคิดสร้างสรรค์
  • สามารถปรับตัวและยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้แน่ใจว่าทรัพยากรธรรมชาติจะยังคงมีอยู่สําหรับคนรุ่นถัดไป

อ่านความเห็นของ AI แล้วเรามาลองฟังความเห็นของ “เคน” นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ผู้นําและผู้บริหารแห่งสํานักข่าวออนไลน์ The Standard และผู้เขียนหนังสือ The Invisible Leader ผู้นําล่องหนซึ่งเล่าไว้ในรายการ “The Secret Sauce” EP.614 ว่า ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงและผันผวนนี้ ผู้นําทางการเมืองหรือองค์กรต้องเปลี่ยนจากนักบริหารเป็นนักบริการ เปลี่ยนจากคนสั่งเป็นคนฟัง รับฟังทุกเสียงที่แตกต่างแล้วหาฉันทามติ ผู้นําต้องเป็นนักสื่อสารนักประสาน และเจรจาความขัดแย้งซึ่งจะเป็นบทบาทที่สําคัญขึ้นเรื่อยๆ

“ผู้นําล่องหน” ไม่ได้หมายความว่าผู้นําไม่สําคัญ แต่เป็นผู้นําที่ใช้อํานาจสั่งการน้อยที่สุด เพราะตอนนี้โลกต้องการความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลง จึงต้องมี empathy ความเห็นอกเห็นใจคนอื่นบริหารคนเป็น และสามารถปลุกพลังของความร่วมมือ ไม่ใช่คิดเองทําเองอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งถ้ายังเป็นผู้นําแบบเก่าก็เตรียมตกยุคได้

คําตอบของ AI ดูซ้อนทับกับ “ผู้นําล่องหน” ของเคนอยู่ไม่น้อย ซึ่งทั้งเคนและ AI ก็อาศัยการประมวลและสังเคราะห์ข้อมูลจากหลายๆ แหล่งที่พวกเขาเข้าถึง (แต่หลังบ้าน AI อาจเอาข้อมูลของเคนมาประมวลเป็นคําตอบด้วยก็เป็นได้)

“แล้ว AI จะเป็นผู้นําที่ดีได้ไหม ”ผมถาม ChatGPT อีกคําถาม ปัญญาประดิษฐ์ตอบว่า AI ยังขาดคุณสมบัติของมนุษย์ เช่น การสื่อสารความรู้สึกการสร้างแรงบันดาลใจกระตุ้นให้ทีมงานมุ่งมั่น โดยเฉพาะการตัดสินใจทางจริยธรรมความยุติธรรมและผลกระทบต่อสังคมอาจมีอคติจากข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไป

คําตอบนี้แม้จะจี้จุดอ่อนของ AI แต่ก็ชูจุดเด่นของ AI ด้วยคือการรู้ว่าตนเองไม่รู้อะไร ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นํายุคใหม่ที่พร้อมจะทํางานร่วมกับผู้อื่นและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ

แต่บรรดาผู้นําทั้งหลายที่เราเคยพบเจอไม่ค่อยจะมีคุณสมบัตินี้กันสักเท่าไร

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com