วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ : รายงาน
ชัยชนะ จารุวรรณากร : ถ่ายภาพ

vote iso9002

ISO หรือ “มาตรฐานสากล” เป็นเหมือนศาสนาใหม่ของโลก ที่กำลังแผ่ขยายขอบเขตความเชื่อกว้างไกลออกไปทุกที…  จากแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมสู่วงการอื่น ๆ ไม่ว่าจะการศึกษา การสาธารณสุข การทหาร หรือสิ่งแวดล้อม ตัวเลขจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ แสดงให้เห็นว่าสถิติผู้ใช้มาตรฐานระบบบริหารคุณภาพ ISO 9000 เพิ่มขึ้นทุกปีทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชน กระทั่งว่ากันว่าในไม่ช้าวงการศาสนาของประเทศไทย ก็ต้องการเครื่องหมาย ISO

เรื่องราวของมาตรฐาน/มาตรฐานสากล ถือเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่ควบคู่กับสังคมมนุษย์กระนั้นหรือ ?

เชื่อกันว่าแนวคิดเกี่ยวกับ “มาตรฐาน” ถือกำเนิดมาแต่ครั้งบรรพกาล เมื่อราว ๕,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ชาวอียิปต์ และเมโสโปเตเมียโบราณเริ่มรู้จักการทำดินตากแห้งที่มีขนาดเท่ากันเป็นจำนวนมาก ด้วยการอัดดินลงในแบบไม้เพื่อใช้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยและเป็นกำแพงป้องกันศัตรู เป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดปรัชญาทางด้านมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง specification หรือคุณสมบัติเฉพาะ นอกจากนี้ ชาวอียิปต์ ฟีนีเซีย และบาบิลอน ยังได้คิดค้นมาตรฐานการวัดขึ้นใช้ ในการค้าและการทำศึกสงคราม อันเป็นที่มาของการวัดระบบเมตริกซ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบันในนามของระบบ SI (Systems International)

ในโลกสมัยใหม่ แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างมาตรฐาน (standardization) รวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพอย่างเป็นระบบ เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น นับจากช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ ๑๙ โดยเริ่มจากความต้องการผลิตยุทโธปกรณ์ทหาร ของกรมสรรพาวุธแห่งสหรัฐอเมริกาที่ต้องผลิตและประกอบชิ้นส่วน ตามขั้นตอนที่ซ้ำ ๆ กันจำนวนมาก ทั้งยังต้องลดปัญหายุ่งยากในการเก็บสต็อกอีกด้วย

ผู้ผลิตหรือโรงงานจำเป็นต้องออกแบบกระบวนการทำงานที่ต่อเนื่องครบวงจรตามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลผลิตที่ได้มาตรฐานเดียวกัน  และเมื่อผลิตสินค้าใดใดขึ้นมา อะหลั่ยหรือชิ้นส่วนประกอบของสินค้านั้น ๆ จะสามารถทดแทนกันได้ อันเนื่องมาจากการที่แต่ละชิ้นส่วนมีมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน ส่งผลให้ผู้ที่เข้ามาดำเนินการผลิตไม่ว่าจะใครก็ตาม สามารถดำเนินการตามระบบที่วางไว้ได้ซึ่งจะได้มาตรฐานของผลผลิตที่เท่าเทียมกัน และเป็นไปได้ว่าทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง

ในระบบของการผลิตด้านอุตสาหกรรมนั้น ระยะแรกได้มีการเผยแพร่การนำระบบควบคุมคุณภาพ (Quality Control/QC) ระบบบริหารงาน ๕ ส และระบบการจัดการคุณภาพทั้งองค์กร (Total Quality Management/TQM) มาใช้ในการปรับปรุงผลผลิตให้มีคุณภาพ ปัจจุบัน แนวคิดเรื่องการพัฒนามาตรฐานระบบคุณภาพ และการประกันคุณภาพมีอิทธิพลสูงต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม จึงได้มีการรวมตัวกันระหว่างองค์กรอุตสาหกรรมนานาประเทศขึ้น เรียกว่า องค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ หรือ ISO (The International Organization for Standardization) โดยหน่วยงานมาตรฐานระดับชาติของไทย ก็เข้าร่วมเป็นสมาชิก ISO

ISO ได้กำหนดมาตรฐานของระบบคุณภาพไว้หลายด้าน ได้แก่ ISO 9000 -มาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ, ISO 14000- มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม และ ISO 18000 เป็นมาตรฐานด้านชีวอนามัย (แต่ละ ISO ประกอบด้วยอนุกรมมาตรฐาน ISO ต่าง ๆ อาทิ ISO 9001,9002, 9003) มาตรฐานเหล่านี้เป็นมาตรฐานของ “ระบบ” เช่นระบบการบริหารจัดการ ดังนั้นองค์กรใดได้รับการรับรอง ISO ในเรื่องใด อนุกรมใด ย่อมหมายถึงระบบในเรื่องนั้นได้รับการรับรอง มิใช่คุณภาพสินค้า อย่างไรก็ตาม บางคนกล่าวว่า ISO เป็นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดคุณภาพ ของสินค้าและบริการ

ทว่าภายใต้ร่มเงาของสิ่งที่ฝรั่งตะวันตกเรียกว่า ต้นไม้แห่งคุณภาพ (quality tree) อันมี ISO เป็นกิ่งก้านหลักนั้นมีสิ่งแอบแฝงอยู่บ้างหรือไม่ บริษัทเอกชนมีความจำเป็นอันใดถึงกับต้องขึ้นป้าย ISO 9002 ขนาดใหญ่ยักษ์กว่าป้ายชื่อบริษัทหลายเท่า บางหน่วยงานต้องเจียดงบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์ “มาตรฐานสากล” ของตัวเอง หลังจากเสียเงินก้อนโตจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อให้ได้ ISO และค่าใช้จ่ายสำหรับใบรับรอง ISO ๒ แสนบาทต่อปี

และ, ถ้ามาตรฐานสากลคือตัวตนของยุคสมัยใหม่อันน่าติดตามอย่างใกล้ชิด เราจำเป็นหรือไม่ต้องอาศัยคำถาม มุมมองแบบหลังสมัยใหม่ (postmodern) จากไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ช่วยให้เรามองเห็นแง่มุมของปรากฏการณ์ ISO หลากหลายและแจ่มชัดขึ้น