เรื่อง/รูป : รอน แรมทาง

 

หมีแพนด้า จากตำนานถึงการเมือง
ภายในห้องจัดแสดง

ราวสิบกว่าปีก่อน จำได้ว่ามีข่าวใหญ่เกี่ยวกับการพยายามติดตามค้นหา “กูปรี” ในป่าทึบบริเวณรอยต่อระหว่างไทยกับกัมพูชา

ไม่นานจากนั้น เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ บอกกับผมถึงเรื่องการพบ “จระเข้น้ำจืด” ในป่าแควระบมสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา

ต่อมาเพื่อนคนเดียวกันนี้ ก็บอกกับผมถึงหลักฐานร่องรอยที่เชื่อว่าน่าจะเป็น “กระซู่” ที่เขาพบในป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั่นเอง ผมได้เห็นรูปถ่าย “จระเข้น้ำจืด” จากแหล่งอาศัยตามธรรมชาติของป่าปางสีดา จังหวัดสระแก้ว

แล้วยังมีเสียงร่ำลือถึงข่าว “ช้างแคระ” ซึ่งว่ากันว่ามีผู้พบเห็นตัวอยู่ในป่าลึกบริเวณชายแดนไทยติดต่อมาเลเซีย และป่าละแวกเดียวกันนี้ ก็มีข่าวเรื่อง “แรด” ควบคู่ตามมา

แน่นอน…ข่าวคราวข้างต้น บางข่าวอาจฟังดูบางเบา ทว่าหลายข่าวก็หนักแน่นยืนยันได้ด้วยหลักฐานพยานร่องรอยหรือรูปถ่าย –ถึงกระนั้น ข่าวทุกข่าวก็ค่อย ๆ จางเลือนหายไป ทั้ง ๆ สัตว์ป่าดังกล่าวมีทั้งที่ขึ้นบัญชีเป็น “สัตว์ป่าสงวน” และ “สัตว์คุ้มครอง” …มิพักต้องพูดว่า บางตัวเป็นหัวข้อถกเถียงถึงการเคยมีอยู่ของมันคล้ายราวกับเป็นสัตว์ในตำนานของป่าไทย…

แต่–นับจากกลางปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ก็มีข่าวเกี่ยวกับสัตว์ป่าหายากชนิดหนึ่ง ที่สร้างความแตกตื่นรื่นระเริงให้แก่ผู้คนประเทศนี้

“…ไทยกำลังจะได้หมีแพนด้า…”

เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔  ผมไม่รู้ว่า พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางไปเยือนจีนด้วยเรื่องอะไร แต่รู้ว่าการเยือนครั้งนั้นได้มีการขอ “หมีแพนด้า” จากรัฐบาลจีน

จากนั้น ผมก็ติดตามข่าวนี้มาเป็นระยะ…

-๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔  คณะรัฐมนตรีไทยมีมติรับทราบเรื่อง “หมีแพนด้า” แล้วมอบหมายให้องค์การสวนสัตว์ เตรียมปรับปรุงพัฒนาสถานที่สำหรับเลี้ยงและวิจัย

-๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อนุมัติให้สวนสัตว์เชียงใหม่ เป็นสถานที่สำหรับเลี้ยง และเดินทางไปดูสถานที่ด้วยตนเอง พร้อมจัดสรรงบประมาณจาก “งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น” จำนวน ๓๙,๘๑๘,๓๑๓ บาท เพื่อใช้ก่อสร้างอาคารขนาดจุผู้ชมได้ ๒๐๐ คน

-เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ กองพลทหารช่าง ค่ายภาณุรังษี จังหวัดราชบุรี ได้รับมอบหน้าที่ให้ลงมือก่อสร้าง โดยกำหนดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ๒๑๐ วัน ขณะเดียวกันมีการส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปศึกษาดูงานการเลี้ยงหมีแพนด้า ยังเกาะฮ่องกง และมณฑลซื่อชวน

-กลางปี พ.ศ. ๒๕๔๖ งบประมาณการก่อสร้างสถานที่เลี้ยงต้องเพิ่มเติมจากเดิมอีกประมาณ ๗ ล้านบาท รวมเป็น ๔๖ ล้านบาท นอกจากนี้มีข่าวออกมาชัดเจนว่า จีนไม่ได้มอบหมีแพนด้าให้ไทยเป็นเจ้าของ แต่เป็นการให้เช่าภายใต้เงื่อนไขค่าเช่าปีละเกือบ ๓ แสนยูเอสดอลลาร์ โดยมีสัญญาจะให้ไทยได้ทดลองศึกษาวิจัยชีวิตหมีแพนด้าคู่นี้เป็นเวลา ๑๐ ปี หลังจากนั้นจะต้องส่งกลับรวมถึงลูกที่เกิดจากทั้งคู่ด้วย

…และแล้วกระแสหลงหมีแพนด้า ก็ค่อย ๆ ทะลักบ่าไหลท่วมไปทั่วประเทศไทย !

panda02 panda01
   

ว่อหลง : บ้านของหมีแพนด้า

พูดถึง “หมีแพนด้า”–ผมจำได้ว่า ตอนปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ขณะเดินทางอยู่ในประเทศเวียดนาม อ่านพบข่าวเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น

“…จีนกำลังจะเปิดสถานีศูนย์ศึกษาวิจัย ‘แพนด้ายักษ์’ ทางตะวันตกเฉียงเหนือในมณฑลซื่อชวน ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่…”

ผมตัดข่าวชิ้นนั้นเก็บไว้ในสมุดบันทึก และคิดว่าสักวันถ้ามีโอกาสจะแวะไปดู – – แล้วก็เกือบลืมเรื่องนี้ไปเสียสนิท จนกระทั่งอีกเกือบ ๓ ปีถัดมาในระหว่างการเดินทางไป จิ่วไจ้โกว อุทยานแห่งชาติใกล้ชายแดนตอนบนในมณฑลซื่อชวนที่ว่ากันว่ามีสายน้ำสวยที่สุด

ผมหยุดพักแวะกินอาหารเที่ยงที่ตำบลอิ้งซิ่ว ห่างจาก เฉิงตู เมืองเอกของมณฑล ค่อนขึ้นมาด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร  จากที่นี่ ทางหลวงหมายเลข ๒๑๓ อันเป็นถนนสายหลัก ตัดบ่ายหน้าพุ่งขึ้นเหนือ แต่ผมสังเกตเห็นถนนลาดยางแคบ ๆ อีกสาย แยกตัวมุ่งสู่ตะวันตก แล้วเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากแผนที่ ก็พบว่า “ว่อหลง” ซึ่งเป็นที่ตั้ง “สถานีศูนย์ศึกษาวิจัยหมีแพนด้า” อยู่ห่างออกไปเพียงราว ๒๕ กิโลเมตร –ทว่าเที่ยวนั้นผมมีเวลาไม่พอสำหรับการแยกออกนอกเส้นทาง…

สองปีต่อมา ผมกลับไปจิ่วไจ้โกวอีกครั้งตอนปลายฤดูใบไม้ร่วง คราวนี้ “ว่อหลง” ถูกผนวกอยู่ในผังการเดินทาง– และนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นหมีแพนด้า…

จากตำบลอิ้งซิ่ว ถนนลาดยางสายแคบ โค้งคดไปตามช่องลึกของหุบเขาสูง ภูมิประเทศเกือบตลอดสองข้างทางเป็นป่าทึบเขียวขจี และต้องใช้เวลาเกือบ ๒ ชั่วโมงกับระยะทางแค่ ๒๐ กิโลเมตรเศษ กว่าจะถึงว่อหลง
ตัวสถานีศูนย์ศึกษาวิจัยฯ ในวันนั้น ประกอบด้วยกลุ่มอาคารไม่กี่หลัง ส่วนใหญ่เป็นกรงและคอกที่แบ่งซอยไว้สำหรับขังเลี้ยงหมีแพนด้าหลายสิบตัว บรรยากาศโดยทั่วไปดูเคร่งขรึมสงบวิเวกอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ราวกับเป็นอาศรมสำหรับบำเพ็ญเพียรของนักพรต

ข้อมูลเท่าที่ผมค้นได้ระบุว่า “ว่อหลงจวื้อหรานเป่าฮู่ชวี” คือชื่อเต็มยศในภาษาจีนของเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งนี้ ประกาศจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ มีอาณาเขตประมาณ ๒ แสนเฮกตาร์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าส่วนตะวันออกของเทือกเขา โฉวฺง ไหล ตั้งแต่พิกัดความสูง ๑๕๕ เมตร จนถึง ๖,๒๕๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล  และในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ รัฐบาลจีนร่วมมือกับ World Wide Fund for Nature (WWF) จัดทำโครงการสถานีศูนย์ศึกษาวิจัยหมีแพนด้าแห่งแรกขึ้นที่นี่ แล้วขยายเป็นศูนย์เพาะเลี้ยงหมีแพนด้า ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ โดยระยะแรกมี จอร์จ บี. เชลเลอร์ (George B. Schaller) นักสัตววิทยาชาวอเมริกัน มาร่วมทำวิจัย –เชลเลอร์ทำงานอยู่ที่ว่อหลงนาน ๔ ปี นอกจากผลงานบุกเบิกด้านวิจัย เขายังเขียนหนังสือเกี่ยวกับหมีแพนด้าที่สำคัญออกมาสองเล่ม คือ The Giant Pandas of Wolong (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๘) และ The Last Panda (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๓๖)

นับจากนั้น จีนได้ทยอยประกาศเขตอนุรักษ์หมีแพนด้าเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้นราว ๑๖ เขต ในจำนวนนี้ ๑๑ เขตอยู่ในมณฑลซื่อชวน และถึงแม้ว่อหลงจะมีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุด แต่เขตซึ่งยืนยันว่าสำรวจพบหมีแพนด้าอาศัยในป่าธรรมชาติมากที่สุด กลับเป็นที่ ถางเจียเหอ ปลายเทือกเขา หมินซาน ชายแดนมณฑลซื่อชวน ด้านตะวันออกเฉียงเหนือติดกับมณฑลกานซู่

อย่างไรก็ตาม ว่อหลงดูจะเป็นที่รู้จักกันมากกว่าเขตอื่น เพราะไม่เพียงชื่อเสียงในฐานะ “The International Reserve Net of Man and Biosphere” ซึ่งองค์การยูเนสโก (UNESCO) ประกาศยกย่องให้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ แต่ยังบวกรวมกับแรงส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จีนพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นทศวรรษก่อน และทุ่มงบประมาณเข้ามาพัฒนาเส้นทางคมนาคมจนเจริญผิดหูผิดตาไปอย่างรวดเร็ว

…ช่วงรอยต่อปลายฤดูใบไม้ร่วงกับต้นฤดูหนาว พ.ศ.๒๕๔๕ ผมใช้เวลาสิบกว่าวันเดินทางตระเวนตามหุบโตรกด้านตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลซื่อชวน จากหุบเขาหมี่ย่าหลอ ขึ้นไปเมืองม่าเอ๋อร์คัง แล้วลงใต้ผ่านเมืองจินชวน มาเมืองตันปา ก่อนจะวกกลับตะวันออก เพื่อแวะเขตอนุรักษ์ธรรมชาติซื่อกูเหนียงซาน และว่อหลง –นั่นเป็นครั้งล่าสุดที่ผมมีโอกาสไปเยือนสถานีศูนย์ศึกษาวิจัยหมีแพนด้า

เอ่ยกันตามรูปศัพท์ “ว่อหลง” แปลว่า “หุบเขามังกรนอน”  แล้วหากพูดกันตามนั้น ผมสงสัยว่าหากมีมังกรนอนอยู่ที่นี่จริง มันจะหลับนอนได้สนิทหรือไม่ ?!? เพราะจากบรรยากาศซึ่งเดิมเคยสงบเคร่งขรึม วันนี้กลับกลายเป็นเสมือนแหล่งชุมทางการท่องเที่ยว เต็มไปด้วยโรงแรม รีสอร์ต ตลอดจนร้านขายของที่ระลึก เรียงรายตั้งห้อมล้อมอยู่รอบ ๆ อาณาบริเวณ

ครับ… และนี่คือสภาพในวันนี้ของสถานีศูนย์ศึกษาวิจัยฯ หรือที่เรียกกันว่าเป็น ‘บ้านของหมีแพนด้า’…

panda06 panda11
บริเวณที่ช่วงช่วงและหลินฮุ่ย
จะใช้ชีวิตอยู่อย่างเป็นส่วนตัว
ตัดไผ่มาเตรียมพร้อมทำความสะอาด
ตำนาน “หมีแมวใหญ่”

 

สัตว์ป่านิสัยค่อนข้างรักสงบ หน้าแป้น ขนขาว มีสีดำสนิทเฉพาะส่วนใบหู เบ้าตา แขน ขา  เป็นสัตว์ป่าที่ปรากฏอยู่ในบันทึกโบราณของจีนมานานกว่า ๓,๐๐๐ ปี ในชื่อ ‘พี๋ซิ่ว (แปลว่า ‘หนังสัตว์ที่มีแขน’)’ แต่ชื่อซึ่งรู้จักกันทั่วไปคือ ‘โสวฺงมาว (แปลว่า ‘หมีแมว’)’ หรือ ‘มาวโสวฺง (แปลว่า ‘แมวหมี)’ เพราะชาวจีนจินตนาการมองรูปลักษณ์ของสัตว์ชนิดนี้ว่าเป็นเช่นนั้น – – ส่วนชื่อปัจจุบันที่มักเติม ‘ต้า (แปลว่า ‘ใหญ่’)’ ไว้นำหน้า สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นไปตามกระแสรูปศัพท์ภาษาอังกฤษซึ่งเรียกสัตว์ชนิดนี้ในชื่อ ‘Giant Panda’

-บันทึกสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (พ.ศ. ๓๓๗-๕๖๗) กล่าวถึงสัตว์หายากที่สุดในแผ่นดิน ๔๐ ชนิด, ‘โสวฺงมาว’ อยู่ในรายชื่ออันดับต้น ๆ และมีค่าที่สุดในพระราชอุทยานนครซีอาน..

-กวีบทหนึ่ง สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๑-๑๔๕๐) เขียนพรรณนาถึงสรรพคุณวิเศษของ ‘หนังโสวฺงมาว’ ว่ามันมีพลังลึกลับคอยปกป้องคุ้มครองและขจัดปัดเป่าขับไล่วิญญาณชั่วร้ายให้แก่ผู้ห่มคลุมหรือสวมใส่

-หลักฐานสมัยราชวงศ์ชิง (พ.ศ.๒๑๘๗-๒๔๕๔) กำหนดไว้ว่า, ‘โสวฺงมาว’ ๑ ตัว ต้องมีค่าเท่ากับจำนวนรวมกันของ ยีราฟ ๓ ตัว, ม้าลาย ๒ ตัว, แรด ๒ ตัว, และฮิปโปโปเตมัส อีก ๒ ตัว…

ในแง่ตำนาน เท่าอ่านพบแม้มีอยู่หลายโครงเรื่อง แต่ทั้งหมดดูเหมือนน่าจะมาจากต้นเค้าตำนานพื้นบ้านชาว ‘เชียง’ ชนชาติที่ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ตามหุบเขาภาคตะวันตกของมณฑลซื่อชวน ตั้งแต่เมื่อเกือบ ๒,๐๐๐ ปีก่อน–ตำนานเรื่องที่ผมติดใจเป็นพิเศษ เล่าสืบต่อกันมาว่า

ณ อดีตกาลอันไกลโพ้น หุบเขาท่ามกลางป่าดงตรงปลายเทือกเขา โฉลฺง ไหล มีคนเลี้ยงแกะอาศัยอยู่ครอบครัวหนึ่ง ลูกสาวสี่คนของครอบครัวนี้ นอกจากรูปโฉมงามแล้ว จิตใจยังเปี่ยมไปด้วยความเมตตาปรานี รักต้นไม้ ภูเขา รวมถึงสัตว์ป่านานาชนิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้องสาวคนสุดท้องมีความเอ็นดู ‘โสวฺงมาว’ เป็นพิเศษ ทุกครั้งที่เธอต้อนฝูงแกะเข้าไปเลี้ยงตามทุ่งในหุบเขา หมีแพนด้าจึงมักออกมาเล่นเป็นเพื่อนอยู่ด้วยเสมอ จนบางครั้งมองดูกลมกลืนไปกับฝูงแกะ เพราะกาลครั้งนั้น ‘โสวฺงมาว’ เป็นสัตว์ที่มีขนสีขาวปลอดตลอดทั้งตัว

กระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่หมีแพนด้ากำลังเพลิดเพลินอยู่กับการกินใบไผ่ ก็ปรากฏร่างนายพรานซุ่มตัวอยู่ในดงและขึ้นธนูหมายยิงมาที่ตัว แต่ก่อนที่คมศรจะแล่นมาถึง บังเอิญสาวน้อยคนสุดท้องผ่านมาพบเหตุการณ์ เธอตัดสินใจวิ่งเข้าขวางอย่างไม่ห่วงชีวิต แล้วรับถูกลูกธนูนั้นแทน

ครั้นพี่สาวทั้งสามได้รับข่าวการจากไปของน้องสาวคนเล็ก ต่างร่ำไห้จนในที่สุดก็ตรอมใจตายตาม  โสวฺงมาว จากทั่วทุกหย่อมย่าน พากันเดินทางมาร่วมงานฌาปนกิจที่ชาวบ้านจัดให้ทั้งlujดรุณีตามประเพณี และด้วยความโศกเศร้าอาลัย แม้งานศพจะผ่านไปหลายวัน แต่บรรดาหมีแพนด้าก็ยังคงห้อมล้อมกอดกองเถ้าถ่าน จนแขนขาเปื้อนเป็นสีดำ มือที่เปื้อนเถ้าเมื่อยกขึ้นเช็ดน้ำตาก็ทำให้ขอบตาดำตามไปด้วย และพอยกอุ้งมือขึ้นปิดหูเพราะมิอาจทนฟังเสียงสะอึกสะอื้นของพวกพ้อง ใบหูทั้งสองข้างก็พลอยดำตามอีกเช่นกัน …นับจากวันนั้นเป็นต้นมา, โสวฺงมาว ทั้งหมดจึงมีใบหู เบ้าตา แขน ขา เป็นสีดำสนิท เพื่อไว้ทุกข์ให้แก่สี่สาวที่พวกเขารัก และสถานที่ฌาปนกิจของสาวน้อยทั้งสี่พลันบังเกิดยอดเขาสูงขึ้นสี่ยอดชื่อ ‘ซื่อ กูเหนียงซาน (แปลว่า ‘ยอดเขาสี่ดรุณี’)’ ทอดสันประสานต่อกันเป็นแนวปราการคอยดูแลหมีแพนด้ามาจนกระทั่งทุกวันนี้…

panda07 panda05
เช็ดตัวทำความสะอาดร่างกาย ช่วงช่วงกับหลินฮุ่ย หยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน

การค้นพบ ‘แพนด้ายักษ์’

พ.ศ. ๒๔๑๒ คือปีที่ ปิแอร์ อาร์มันด์ ดาวิด (Pere Armand David) ทำให้โลกภายนอกรู้จัก ‘โสวฺงมาว’ เป็นครั้งแรก

โดยชาติกำเนิด ปิแอร์ อาร์มันด์ ดาวิด เกิดปี พ.ศ. ๒๓๖๙ จากครอบครัวชนชาติบาสค์ (Basque) แห่งเทือกเขาไพเรนีส (Pyrenees) ใกล้พรมแดนฝรั่งเศสกับสเปน  เมื่ออายุได้ ๒๒ ก็รับศีลเข้ารีตเป็นสาวกฝ่ายลาซารีสต์ (Lazarist) และบวชเป็นพระในปี พ.ศ.๒๓๙๔ –๑๑ ปีต่อมา ถูกส่งให้เดินทางไปเผยแผ่ศาสนาที่กรุงเป่ยจิง

เมื่อมาถึงแผ่นดินจีน, ปิแอร์ อาร์มันด์ ดาวิด นอกจากปฏิบัติภารกิจด้านเผยแผ่ศาสนา เขายังสนใจศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาอย่างกระตือรือร้น แล้วเรื่องหลังนี่เองดูเหมือนจะสร้างชื่อเสียงให้มากกว่าการเป็นมิชชันนารี เพราะบาทหลวงฝรั่งเศสคนนี้ได้ค้นพบพืชและสัตว์ที่มิเพียงเป็นการค้นพบครั้งแรกของโลกเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการค้นพบครั้งสำคัญทางวิทยาศาสตร์

ปี พ.ศ. ๒๔๐๘ ปิแอร์ อาร์มันด์ ดาวิด พบสัตว์เคี้ยวเอื้องประหลาดชนิดหนึ่งในเขตพระราชอุทยานล่าสัตว์ของราชวงศ์ชิง ใกล้กรุงเป่ยจิง มันเป็นกวางขนสีน้ำตาลอ่อนที่ชาวจีนเรียกว่า ‘หมีลู่ (แปลว่า ‘กวางอูฐ’)’ ซึ่งลักษณะภายวิภาคแปลกของมันคือ เขาเหมือนกวาง หางคล้ายล่อ คอเหมือนอูฐ และมีโหนกแบบวัว ชาวจีนให้สมญาสัตว์ชนิดนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ซื่อ ปู้ เซียง (แปลว่า ‘สี่ประหลาด’ หรือ ‘สี่ไม่เหมือน’)’ หมอสอนศาสนาผู้ชื่นชอบเรื่องธรรมชาติวิทยา เชื่อว่ากวางที่เขาพบอาจจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ และบางทีฝูงที่อยู่ในพระราชอุทยานหลวงคงเป็นฝูงสุดท้าย ซึ่งในความจริงเป็นเช่นนั้น –‘หมีลู่’ ๒ ตัว ถูกซื้อส่งกลับไปฝรั่งเศสเพื่อทำการศึกษาวิจัย ต่อมากวางประหลาดดังกล่าวก็ได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นเกียรติแก่ ปิแอร์ อาร์มันด์ ดาวิด ในชื่อ ‘อีลาพูรุส ดาวิดิอานุส (Elaphurus davidianus)’ และรู้จักกันในชื่อสามัญว่า ‘กวางเดวิด (David’s Deer)’

ต้นศตวรรษที่ ๒๐–‘กวางอูฐ’ เกือบจะต้องเผชิญกับชะตากรรมสิ้นสูญไปจากโลก เนื่องจากถูกชาวบ้านและทหารล่าไปเป็นอาหารในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ ‘กบฏนักมวย’ อย่างไรก็ตาม นับว่าโชคยังเข้าข้างอยู่บ้าง เพราะก่อนหน้านี้ไม่นาน ได้มีการซื้อ หมีลู่ จำนวนหนึ่ง โดยดยุคแห่งเบดฟอร์ด (Duke of Bedford) แล้วส่งไปเลี้ยงไว้ที่ วอเบิร์น เอบบี้ (Woburn Abbey) ประเทศอังกฤษ และสามารถเพาะเลี้ยงจนขยายพันธุ์ได้ . . . . ปี พ.ศ.๒๕๒๘ จากความพยายามของ มาเรีย บอยด์ (Maria Boyd) และเพื่อนร่วมงานชาวจีน ทำให้ ‘หมีลู่’ ๒๒ ตัว มีโอกาสกลับคืนสู่มาตุภูมิของพวกมัน เบื้องต้นทั้งหมดถูกนำมาปล่อยยังพื้นที่เขตพระราชอุทยานล่าสัตว์เดิม เพียงแต่คราวนี้ไม่ใช่เพื่อกีฬาล่าสัตว์ของพระจักรพรรดิ แต่เพื่อสืบสานความเป็น ‘ซื่อปู้เซียง’, ปัจจุบันทางการจีนสามารถขยายพันธุ์หมีลู่ และส่วนหนึ่งส่งไปเลี้ยงอยู่ที่มณฑลเหลียวหนิง กับมณฑลหูเป่ย

กลับมาที่เรื่องราวของ ปิแอร์ อาร์มันด์ ดาวิด – – ปลายปี พ.ศ.๒๔๑๑ หมอสอนศาสนาผู้นี้ เดินทางจากกรุงเป่ยจิง ไปเมืองเฉิงตู และต้นปีถัดมาก็ออกปฏิบัติศาสนกิจไปตามชายขอบตะวันตกของมณฑลซื่อชวน

“…ตามพื้นดิน เต็มไปด้วยซากผุพังจากลำต้นขนาดมหึมาของต้นสนโบราณที่ชาวจีนเรียก ‘ชา-มู (ต้นฉบับเขียน Sha-mu : ผมอนุมานว่าน่าจะเป็นต้น ‘ซามู่) มันถูกโค่นโดยคำสั่งของเจ้าแห่งเมืองมู่ผิง (ต้นฉบับเขียน Muping : ซึ่งผมตรวจสอบแล้วพบว่าปัจจุบันคือเมืองเล็ก ๆ ชื่อ ‘เป่าซิง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจากเมืองเฉิงตู ประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตรเศษ) เพื่อสร้างเป็นเครื่องกีดขวางต่อต้านกองทัพจากราชสำนัก…” นี่เป็นบันทึกที่ ปิแอร์ อาร์มันด์ ดาวิด เขียนไว้ขณะเดินทางเข้าไปสู่ถิ่นชนชาติเชียงและทิเบต

บันทึกของเขาให้รายละเอียดต่อไปอีกว่า “…วันจันทร์ที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๑๒, วันแรกในเมืองมู่ผิง, อากาศดีมาก, เท่าที่รู้ โรงเรียนสอนศาสนาในเมืองนี้ สร้างขึ้นราว ๕๐ หรือ ๖๐ ปีก่อน ตอนนั้นเกิดการประทุษร้ายต่อพวกมิชชันนารี่ฝ่ายอิตรานเจเรส์ (Etrangeres) แต่เจ้าเมืองได้ช่วยพามาซ่อนตัวและสร้างโรงเรียนให้…”

และส่วนใจความสำคัญของบันทึกเล่มนี้คือ… “…วันที่ ๑๑ มีนาคม, ข้าพเจ้าได้เห็นหนังสัตว์พิเศษผืนหนึ่ง มันเกือบจะมีขนสีขาวทั่วทั้งผืน ยกเว้นแต่ช่วงแขน-ขา ใบหู และเบ้าตาเท่านั้น ที่เป็นสีดำ…”

ในวันที่ ๒๓ เดือนเดียวกันนั้นเอง, ปิแอร์ อาร์มันด์ ดาวิด ได้รับซาก ‘โสวฺงมาว’ วัยกำลังเจริญพันธุ์ที่เพิ่งถูกฆ่ามาซากหนึ่ง แล้วต้นเดือนเมษาก็ได้ซากขนาดโตเต็มวัยเพิ่มขึ้นอีกตัว เชื่อกันว่าเขาคงจ้างพรานท้องถิ่นล่าหาตัวอย่างให้ ปิแอร์ อาร์มันด์ ดาวิด ลงความเห็นอย่างมั่นอกมั่นใจ… “…มันคือสัตว์สายพันธุ์ใหม่ในสกุลอูร์ซุส (Ursus)…” –อูร์ซุส เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ในสกุลหมี

ปิแอร์ อาร์มันด์ ดาวิด ส่งซากตัวอย่างพร้อมกระดูก กะโหลก กลับไปพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติกรุงปารีส พร้อมจดหมายอย่างละเอียดบรรยายสิ่งที่เขารู้เกี่ยวกับสัตว์ตัวนี้ จดหมายลงท้ายว่า “…มันคือสัตว์งดงามที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าเคยพบ…”

พ.ศ. ๒๔๑๓ อัลฟองเซ มิลเน เอ็ดเวิร์ดส์ (Alphonse Milne-Edwards) ชาวฝรั่งเศส ผู้ทำการตรวจสอบซาก ‘โสวฺงมาว’ รายงานว่า ซากสัตว์ที่ ปิแอร์ อาร์มันด์ ดาวิด ส่งมาจากจีน แม้จะมีสรีระภายนอกคล้ายหมี แต่อวัยวะตลอดจนองค์ประกอบกายวิภาคอื่นๆ กลับแตกต่างจากหมีอย่างสิ้นเชิง มันมีส่วนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ แพนด้าแดง (Red Panda) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ‘เอลูรัส ฟัลเจนส์ (Ailurus fulgens)’ มากกว่า  อัลฟองเซ มิลเน เอ็ดเวิร์ดส์ จึงสรุปตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้แก่สัตว์ค้นใหม่ตัวนี้ในชื่อ ‘เอลูโรโพด้า เมลาโนลูคา (Ailuropoda melanoleuca)’ ซึ่งหมายถึง ‘สัตว์อุ้งเท้าขาว-ดำคล้ายแพนด้า’ เพราะเห็นว่ามันมีส่วนเกี่ยวดองกับ แพนด้าแดง

ตั้งแต่นั้น – – โลกก็รู้จัก ‘โสวฺง มาว’ ด้วยการเรียกขานตามชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า ‘แพนด้ายักษ์ (Giant Panda)’…

panda08 panda03
พี่เลี้ยงลงตารางข้อมูล
น้ำหนักตัว ปริมาณการกิน การขับถ่าย
พี่เลี้ยงกำลังป้อนไผ่ให้หลินฮุ่ย

การตามล่า ‘แพนด้ายักษ์’

…ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าหมีแพนด้ามีวิวัฒนาการมาจากยุคไมโอซีน (Miocene) เมื่อกว่า ๓ ล้านปีก่อน แล้วเริ่มต้นปรากฏลักษณะเป็นอย่างที่เห็นเมื่อปลายยุคไพโอซีน (Pliocene) หรือต้นยุคไพลสโตซีน (Pleistocene) ตามข้อสันนิษฐานจากซากฟอสซิลที่พบตั้งแต่จีน ลงมาพม่า เวียดนาม และไทย ซึ่งตรวจสอบอายุย้อนหลังไปได้ถึง ๖ แสนปี และนักสัตววิทยาก็ยังคงอ้างอิงด้วยการใช้ชื่อ ‘เอลูโรโพด้า เมลาโนลูคา (Ailuropoda melanoleuca)’ โดยจัดให้มันอยู่ในอันดับ ‘คาร์นิโวร่า (Carnivora)’ วงศ์ ‘เออร์ชิเด (Ursidae)’ –ถึงกระนั้นก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาตลอดระยะเวลาร้อยกว่าปีว่า แท้จริงหมีแพนด้าควรมีชื่อวิทยาศาสตร์ ‘เอลูโรโพด้า (Ailuropoda)’ หรือ ‘เอลูโรปุส (Ailuropus)’ หรือ ‘อีลูโรปุส (Aeluropus)’ และมันเป็นสัตว์ในสกุลไหนกันแน่ ?!?

ผมอ่านพบรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาด้วยการวิเคราะห์จากสี่องค์ประกอบ คือ DNA, alumin immunological distance, isozyme genetic distance, และ karyotype, รายงานชิ้นนี้ยืนยันว่า โสวฺงมาวมีสายพันธุ์ใกล้ชิดกับหมี มากกว่าแพนด้า หรือแร็กคูน – – แต่อีกนั่นแหละ ยังมีนักสัตววิทยาหลายคนไม่เห็นด้วยกับรายงานดังกล่าว…

ขอข้ามเรื่องทางด้านวิชาการเกี่ยวหมีแพนด้า ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญดีกว่า –แต่ผมอยากจะย้อนกลับมาพูดถึงเรื่องราวต่อจากการค้นพบ โสวฺง มาว ของ ปิแอร์ อาร์มันด์ ดาวิด

ทันทีที่ข่าว ‘แพนด้ายักษ์’ แพร่กระจายออกไปจากฝรั่งเศส พลันก็เกิดกระแสอยากได้หนังได้ซาก ‘หมีขาวแห่งตะวันออก’ มาเก็บไว้เป็นสมบัติในกรุสะสมทั้งของรัฐและเอกชน ใบสั่งจำนวนมากกระจายสู่พ่อค้า นายพราน–นักล่าชาวยุโรป ชาวอเมริกัน จึงบ่ายหน้าเข้าสู่แผ่นดินจีน !

ถัดจาก ปิแอร์ อาร์มันด์ ดาวิด มีหลักฐานว่าปี พ.ศ. ๒๔๕๙ นักสัตววิทยาชาวเยอรมันชื่อ ฮิวโก ไวโกลด์ (Hugo Weigold) เป็นชาวตะวันตกรายแรกที่พบเห็น โสวฺงมาว ขณะที่มันยังมีชีวิตและซื้อไว้ระหว่างเดินทางสำรวจย่านรอยต่อจีน-ทิเบต แต่ลูกหมีแพนด้าตัวนี้อยู่ได้ไม่นานก็ตายเพราะการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง

สำหรับการล่า เรื่องราวของคณะที่นำโดย ทีโอดอร์ จูเนียร์ (Theodore Jr.) และ เคอร์มิต (Kermit) สองพี่น้องลูกชาย ทีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นับเป็นตำนานด้านมืดบทแรกซึ่งมักถูกบิดเบือนอีกทั้งยังยกย่องให้เกียรติ !!! – – ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๗๒ พิพิธภัณฑ์ซากสัตว์ป่าแห่งชิคาโก (The Chicago Field Museum ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น American Museum of Natural History) ออกทุนให้สองพี่น้องสกุลรูสเวลต์ พร้อมด้วย ซูย์ดัม คัตติง (Suydam Cutting) และ เอช. สตีเวนส์ (H. Stevens) เดินทางจากพม่าเข้าจีน ผ่านเมืองต้าหลี่  มณฑลหยุนหนาน  ขึ้นเหนือไปมณฑลซื่อชวน จนถึงเมืองต่าเจี้ยนหลู (ปัจจุบันคือเมืองคังติ้ง) แล้วตัดวกมาทิศตะวันออกเฉียงเหนือสู่เมืองมู่ผิง (ปัจจุบันคือเมืองเป่าซิง ) โดยมี โสวฺง มาว เป็นเป้าหมาย

จากหนังสือหนา ๒๗๘ หน้า ชื่อ Trailing the Giant Panda (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๗๒) เขียนโดยสองพี่น้องสกุลรูสเวลต์ ทำให้รู้รายละเอียดว่า วันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ณ บริเวณภูเขาเจี๋ยจินซาน คณะพี่น้อง ทีโอดอร์ จูเนียร์ และ เคอร์มิต ยิงได้ โสวฺง มาว ตัวแรกเป็นเพศผู้ หลังจากนั้นอีกไม่กี่วันก็ล่าได้เพศผู้อีกตัว

“…ต้องขอบคุณพระเจ้า ที่ประทานสัตว์ลักษณะพิเศษ ‘แกะ-มาร์โคโปโล’ และความสำเร็จให้แก่ความเพียรพยายามของพวกเรา…” เคอร์มิตกล่าวไว้ในหนังสือเล่มนั้น –และโลกตะวันตกก็เชิดชูประหนึ่งวีรบุรุษในทำนอง “นี่คือบุคคลชาวผิวขาวคณะแรกที่สามารถยิงแพนด้ายักษ์ได้” !…

ช่วงเวลาต่อจากสองพี่น้องรูสเวลต์ มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการล่าหมีแพนด้าไว้ว่า อาจจะมี โสวฺงมาว ถูกฆ่าโดยมิได้ถูกบันทึก – – การล่าหนักข้อขึ้นเมื่อสวนสัตว์ประเทศตะวันตกหลายแห่งประกาศความต้องการแพนด้ายักษ์ในสภาพที่ยังมีชีวิต และยินดีจ่ายอย่างงาม!

ข้อมูลการตามล่าหมีแพนด้า ได้รับการจารึกอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ –นักล่าสัตว์ส่งสวนสัตว์ชาวอเมริกันชื่อ วิลเลียม ฮาร์กเนสส์ (William Harkness) ซึ่งเคยตระเวนล่าและหาซื้อสัตว์ป่าจากทั่วโลกเพื่อส่งให้แก่สวนสัตว์บร็องซ์ (Bronx Zoo) นครนิวยอร์ก (New York) คือคนหนึ่งในจำนวนนักล่าค่าหัวแพนด้ายักษ์ เขาออกเดินทางไปจีนทั้ง ๆ เพิ่งแต่งงานได้เพียงแค่สองสัปดาห์กับ รูท แมคคอมบส์ (Ruth McCombs) สาวนักออกแบบแฟชั่นที่เขาจีบอยู่นานร่วมสิบปี; เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ วิลเลียม ฮาร์กเนสส์ เสียชีวิตที่เมืองซ่างห่าย ด้วยโรคมะเร็ง โดยไม่เคยเห็นแม้แต่ซากของสัตว์ที่เขาตามล่า

อย่างไรก็ตาม รูท แมคคอมบส์ ซึ่งหันมาใช้นามสกุลฮาร์กเนสส์ ตัดสินใจสานงานการล่าแพนด้ายักษ์ต่อจากสามี — หลังได้รับข่าวการตายของวิลเลียม  ๒ เดือนต่อมาเธอออกเดินทางจากนิวยอร์ก นั่งเรือข้ามแอตแลนติก ผ่านทะเลแดง ไปศรีลังกา แวะสิงคโปร์และฮ่องกง จนถึงซ่างห่าย

ที่เมืองซ่างห่าย รูทเกิดขัดแย้งกับ ฟลอยด์ ทันกิแอร์ สมิท (Floyd Tangier Smith) หุ้นส่วนสามี จึงหันไปติดต่อร่วมมือกับนักล่าสัตว์ลูกครึ่งจีน-อเมริกันชื่อ แจ็ก ยัง (Jack Young) แล้วในวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ คณะของรูทก็ล่องเรือทวนแม่น้ำฉางเจียง (แม่น้ำแยงซี) บ่ายหน้าสู่ทิศตะวันตกและเดินเท้าต่อลึกเข้าไปยังเขตภูเขาสูงระหว่างมณฑลซื่อชวน-ทิเบต

มันเป็นความโชคดีของรูท–วันที่ ๙ พฤศจิกายนปีนั้นเอง คณะล่าหมีแพนด้าก็จับได้ลูก โสวฺง มาว วัยแรกเกิดที่ยังไม่ทันลืมตาตัวหนึ่ง น้ำหนัก ๓ ปอนด์ เธอเข้าใจผิดคิดว่ามันเป็นตัวเมีย เลยตั้งชื่อว่า ‘ซู หลิน (Su Lin)’ แล้วรีบนำออกจากป่า แวะผ่านเมืองเฉิงตู ก่อนจะเร่งรุดไปเมืองซ่างห่าย เพื่อจะส่งลูก โสวฺง มาว ตัวนี้สู่สหรัฐอเมริกา

เบื้องต้น ทางการจีนไม่อนุญาต แต่ด้วยอิทธิพลทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจตะวันตก ในที่สุด วันที่ ๒ ธันวาคม เจ้าหน้าที่จีนก็จำยอมต้องปล่อยให้รูทนำลูก โสวฺงมาว ออกนอกแผ่นดินแม่

“…มันเป็นปฐมบทของคุณค่าครั้งสำคัญทางวิทยาศาสตร์…” นิตยสาร ไทม์ รายงานอย่างยกย่องต่อการล่าครั้งนี้ไว้ในฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๙…

panda09 panda10
เฝ้าดูพฤติกรรมหมีแพนด้าทางโทรทัศน์วงจรปิด พี่เลี้ยงกำลังเช็ดตัวทำความสะอาดร่างกาย

 

จากการล่า สู่การเมือง

…๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ รูท แมคคอมบส์ ฮาร์กเนสส์ นำลูกแพนด้ายักษ์เดินทางถึงแผ่นดินสหรัฐฯ และนำออกเร่แสดงตามเมืองต่าง ๆ ก่อนจะขายต่อให้สวนสัตว์บรู๊กฟิลด์ (Brookfield Zoo) เมืองชิคาโก (Chicago) ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดมา ด้วยราคา ๘,๗๖๐ ดอลลาร์ – – เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑  ซูหลินอยู่ในกรงสวนสัตว์เพียงปีเศษ ก็ตายจากโลกนี้ไป เนื่องจากการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง

มาถึงตอนนี้ กระแสล่าหาตัว โสวฺงมาว ส่งสวนสัตว์กลายเป็นเป้าหมายสูงสุดของกลุ่มธุรกิจค้าสัตว์ป่า
พ.ศ. ๒๔๘๐ มี โสวฺงมาว ๒ ตัวถูกส่งออกจากจีนเพื่อไปสวนสัตว์ลอนดอน (London Zoo) ตัวหนึ่งไม่มีชื่อ ส่วนอีกตัวชื่อ เจนนี่ (Jennie) ทั้งคู่ตายบนเรือสินค้าก่อนจะถึงปลายทาง  เดือนธันวาคมปีเดียวกัน รูทกลับไปจีนเพื่อตามล่า โสวฺงมาว อีก และได้ซื้อ ‘เม่ยเม่ย (Mei Mei)’ โสวฺงมาวที่เธอเข้าใจผิดอีกว่าเพศเมียต่อจากพรานท้องถิ่น ส่งกลับมาให้สวนสัตว์บร็องซ์ และตายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕

รูทเดินทางไปจีนเพื่อตามล่าหมีแพนด้าอีกเป็นครั้งที่ ๓  คราวนี้แม้จะพบ โสวฺง มาว ๒ ตัว แต่ตัวหนึ่งถูกยิงตาย ส่วนอีกตัวก็ดิ้นรนไม่ยอมถูกขังจนเธอต้องปล่อยไป –รูทเขียนหนังสือเล่าเรื่องของเธอในชื่อ The Lady and the Panda (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๘๑) และหยุดการตามล่าหมีแพนด้า หันไปสนใจโบราณคดีเกี่ยวกับชาวอินคา ในอเมริกาใต้ แล้ว พ.ศ.๒๔๘๕ เธอก็พิมพ์หนังสือชื่อ Pangoan Diary จากนั้นชื่อเสียงก็เงียบหายไป จนมาปรากฏเป็นข่าวอีกครั้งวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๐ มีคนพบร่างไร้วิญญาณของเธอในโรงแรมแห่งหนึ่งของเมืองพิตส์เบิร์ก (Pittsburgh)

ต่อจาก รูท แมคคอมบส์ ฮาร์กเนสส์  ข้อมูลการล่า โสวฺงมาว เพื่อส่งสวนสัตว์ ดูเหมือนไม่มีใครเก็บรายละเอียดผู้ล่า จะมีก็แค่รายชื่อ สถานที่เลี้ยง และวันเดือนปี ที่จับได้หรือตายเท่านั้น –และรายชื่อเท่าที่ผมค้นและรวบรวมได้ คือ

ชื่อ เพศ สถานที่ขัง วันที่เริ่มขัง วันที่ตาย
แพนโดรา (Pandora) เมีย สวนสัตว์บร็องซ์ (Bronx Zoo) สหรัฐอเมริกา ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
หมิง (Ming) เมีย สวนสัตว์ลอนดอน (London Zoo) อังกฤษ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๗
ถาง (Tang) ผู้ สวนสัตว์ลอนดอน (London Zoo) อังกฤษ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓
ซุง (Sung) ผู้ สวนสัตว์ลอนดอน (London Zoo) อังกฤษ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
แกรนด์มา (Grandma) เมีย สวนสัตว์ลอนดอน (London Zoo) อังกฤษ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒
แพน (Pan) ผู้ สวนสัตว์บร็องซ์ (Bronx Zoo) สหรัฐอเมริกา ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
แฮปปี้ (Happy) ผู้ ตระเวนอยู่ตามสวนสัตว์หลายในยุโรปก่อนจะส่งไปขังที่สวนสัตว์เซนต์หลุยส์ (St. Louis Zoo) สหรัฐอเมริกา ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙
เผ่าเผ้ย (Pao Pei) เมีย จากสวนสัตว์บร็องซ์ (Bronx Zoo)ย้ายไปสวนสัตว์เซนต์หลุยส์ (St. Louis Zoo) สหรัฐอเมริกา ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๕
เม่ยหลาน (Mei Lan) ผู้ สวนสัตว์บบรู๊กฟิลด์ (Brookfield Zoo)สหรัฐอเมริกา ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๖
แพนดี้ (Pan Dee) เมีย สวนสัตว์บร็องซ์ (Bronx Zoo) สหรัฐอเมริกา ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
แพนด้า (Pan Dah) ? สวนสัตว์บร็องซ์ (Bronx Zoo) สหรัฐอเมริกา ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๔
เหลียนโฮ (Lien Ho) ผู้ สวนสัตว์ลอนดอน (London Zoo) อังกฤษ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๓
Unnamed ผู้ สวนสัตว์บร็องซ์ (Bronx Zoo) สหรัฐอเมริกา ไม่มีข้อมูล ไม่มีข้อมูล
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นปกครองจีน สวนสัตว์ของโลกเสรีตะวันตกก็หมดโอกาสแสวงหาแพนด้ายักษ์มาครอบครอง – – แต่ โสวฺงมาว ช่วงยุคสงครามเย็นก็ยังคงถูกส่งออกไปยังประเทศพันธมิตรของจีน
ชื่อ เพศ สถานที่ขัง วันที่เริ่มขัง วันที่ตาย
ปิงปิง (Ping Ping) ผู้ Moscow Zoo, (Former) USSR ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๔
ชิชิ (Chi Chi) เมีย สวนสัตว์ลอนดอน (London Zoo) อังกฤษ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
อัน อัน (An An) ผู้ สวนสัตว์มอสโก (Moscow Zoo) รัสเซีย ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
เมีย สวนสัตว์ยองยัง (Pyongyang Zoo)เกาหลีเหนือ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ไม่มีข้อมูล
? สวนสัตว์ยองยัง (Pyongyang Zoo)เกาหลีเหนือ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ไม่มีข้อมูล
ซัน ซิง (San Xing) เมีย สวนสัตว์ยองยัง (Pyongyang Zoo)เกาหลีเหนือ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ไม่มีข้อมูล
หลิน หลิน (Lin Lin) ผู้ สวนสัตว์ยองยัง (Pyongyang Zoo)เกาหลีเหนือ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ไม่มีข้อมูล

พ.ศ. ๒๕๑๕ การเยือนจีนของ ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ประธานาธิบดีคนที่ ๓๗ ของสหรัฐอเมริกา นอกจากจะเปลี่ยนโฉมการเมืองโลกแล้ว –โสวฺงมาว ก็ถูกส่งออกจากจีนอีกครั้ง

มีเกร็ดเล่ากันว่า มันเป็นความคิดของภริยา โจวเอินไหล–สตรีหมายเลข ๑ ของจีน เธอยื่นซองบุหรี่รูปโสวฺงมาว ๒ ตัว ให้แก่สามีในระหว่างงานเลี้ยงต้อนรับ ริชาร์ด นิกสัน

“จะให้บุหรี่กับแขกหรือ ?” ท่านผู้นำกระซิบถามภริยา
“ไม่ใช่ !” ท่านผู้หญิงทำเสียงดุ ส่วนสายตาจ้องที่รูป โสวฺงมาว เหมือนบอกนัย…

…และแล้ว เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕ สวนสัตว์วอชิงตัน (National Zoo Washington) ก็ได้สมาชิกใหม่ เป็นหมีแพนด้า เพศเมียชื่อ หลิงหลิง (Ling Ling) และเพศผู้ชื่อ ซิงซิง (Hsing Hsing) – – หลิงหลิงตายวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕  ส่วนซิงซิงตายวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒

ทุกวันนี้ แม้จีนจะเข้มงวดและมีภาครัฐเท่านั้นที่มีสิทธิ์เลี้ยงหรือจับ โสวฺงมาว ถึงกระนั้นก็ตาม โสวฺงมาว ก็ยังคงทยอยออกจากแผ่นดินแม่

ชื่อ เพศ สถานที่ขัง วันที่เริ่มขัง วันที่ตาย
หลานหลาน (Lan Lan) เมีย สวนสัตว์อูเอโนะ (Ueno Zoo) โตเกียว,ญี่ปุ่น ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๒
คัง คัง (Kang Kang) ผู้ สวนสัตว์อูเอโนะ (Ueno Zoo) โตเกียว,ญี่ปุ่น ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๓
ลี่ลี่ (Li Li) ผู้ สวนสัตว์ปารีส (Paris Zoological Garden)ฝรั่งเศส ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๗
เยน เยน (Yen Yen) ผู้ สวนสัตว์ปารีส (Paris Zoological Garden) ฝรั่งเศส ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๓
ชิงชิง (Ching Ching) เมีย สวนสัตว์ลอนดอน (London Zoo) อังกฤษ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๘
ไชไช (Chia Chia) ผู้ ย้ายจากสวนสัตว์ลอนดอน (London Zoo) อังกฤษไปสวนสัตว์ชาพูลเตเพก์ (Chapultepec Zoo) เม็กซิโก กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๗ -ยังมีชีวิตอยู่-
เพ้ยเพ้ย (Pe Pe) ผู้ สวนสัตว์ชาพูลเตเพก์ (Chapultepec Zoo) เม็กซิโก กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๑
หยิงหยิง (Ying Ying) เมีย สวนสัตว์ชาพูลเตเพก์ (Chapultepec Zoo) เม็กซิโก กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๒
เฉาเฉา (Shao Shao) เมีย สวนสัตว์มาดริด (Madrid Zoo) สเปน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖
ฉางฉาง (Chang Chang) ผู้ สวนสัตว์มาดริด (Madrid Zoo) สเปน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ -ยังมีชีวิตอยู่-
ตันตัน (Dan Dan) ผู้ สวนสัตว์ยองยัง (Pyongyang Zoo) เกาหลีเหนือ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ ไม่มีข้อมูล
เทียนเทียน (Tian Tian) เมีย สวนสัตว์เบอร์ลิน (Berlin Zoo)
เยอรมนีตะวันออก (ในเวลานั้น)
พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗
เปาเปา (Bao Bao) ผู้ สวนสัตว์เบอร์ลิน (Berlin Zoo)
เยอรมนีตะวันออก(ในเวลานั้น)  

 

 

พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๓ -ยังมีชีวิตอยู่-
ฮวนฮวน (Huan Huan) เมีย สวนสัตว์อูเอโนะ (Ueno Zoo) โตเกียว, ญี่ปุ่น มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๓ -ยังมีชีวิตอยู่-
เฟยเฟย (Fei Fei) ผู้ สวนสัตว์อูเอโนะ (Ueno Zoo) โตเกียว, ญี่ปุ่น พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๕ -ยังมีชีวิตอยู่-
ทงทง (Tong Tong) ผู้ สวนสัตว์อูเอโนะ (Ueno Zoo) โตเกียว, ญี่ปุ่น พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๕ -ยังมีชีวิตอยู่-
ซวนซวน (Shuan Shuan) ผู้ สวนสัตว์ชาพูลเตเพก์ (Chapultepec Zoo) เม็กซิโก เกิด พ.ศ. ๒๕๓๐ -ยังมีชีวิตอยู่-
ซินซิน (Xin Xin) ผู้ สวนสัตว์ชาพูลเตเพก์ (Chapultepec Zoo) เม็กซิโก เกิด ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓ -ยังมีชีวิตอยู่-
ไป่หยุน (Bai Yun) เมีย สวนสัตว์ซานดิเอโก (San Diego Zoo) สหรัฐอเมริกา ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ -ยังมีชีวิตอยู่-
ซีซี (Shi Shi) ผู้ สวนสัตว์ซานดิเอโก (San Diego Zoo) สหรัฐอเมริกา ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ -ยังมีชีวิตอยู่-
เจียเจีย (Jia Jia) ผู้ สวนสัตว์โอเชียนพาร์ก (Ocean Park Zoo) ฮ่องกง มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๒ -ยังมีชีวิตอยู่-
อันอัน (An An) เมีย สวนสัตว์โอเชียนพาร์ก (Ocean Park Zoo) ฮ่องกง มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๒ -ยังมีชีวิตอยู่-
ฮวาเม่ย (Hua Mei) เมีย สวนสัตว์ซานดิเอโก (San Diego Zoo) สหรัฐอเมริกา เกิด ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ -ยังมีชีวิตอยู่-
หยางหยาง (Yang Yang) ผู้ สวนสัตว์แอตแลนตา (Zoo Atlanta) สหรัฐอเมริกา ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ -ยังมีชีวิตอยู่-
หลุนหลุน (Lun Lun) เมีย สวนสัตว์แอตแลนตา (Zoo Atlanta) สหรัฐอเมริกา ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ -ยังมีชีวิตอยู่-
เม่ยเซียง (Mei Xiang) เมีย สวนสัตว์วอชิงตัน (National Zoo Washington) สหรัฐอเมริกา ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ -ยังมีชีวิตอยู่-
เทียนเทียน (Tian Tian) ผู้ สวนสัตว์วอชิงตัน (National Zoo Washington) สหรัฐอเมริกา ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ -ยังมีชีวิตอยู่-
และล่าสุด–วันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลา ๑๗.๒๕ น. ประเทศไทยเป็นปลายทางของ โสวฺงมาว ๑ คู่, เพศผู้ชื่อ ‘ช่วงช่วง (Chuang Chuang)’ ส่วนเพศเมียชื่อ ‘หลิ ฮุ่ย (Lin Hui)’ โดยมีกำหนดการว่าจะพำนักอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่เป็นเวลา ๑๐ ปี เพื่อแลกกับค่าตอบแทนปีละเกือบ ๓ แสนยูเอสดอลลาร์…

………………..

จากหนังสือหลายสิบเล่มที่อ่านผ่านตา  ผมคิดว่างานวิจัยหมีแพนด้าได้ก้าวมาถึงขั้นเกือบจะสมบูรณ์แล้ว

อย่างไรก็ตาม การรับ หลินฮุ่ย และ ช่วงช่วง มาเลี้ยงที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ไทยเรายังมีภารกิจด้านงานวิจัยหมีแพนด้าในกรงเลี้ยง เพื่อค้นหาข้อมูลใหม่ ๆ ที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน

หากรัฐบาลลงทุนกับหมีแพนด้าได้ ผมก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะให้เงินทุนสนับสนุนการติดตามสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของไทยด้วย

–เพราะมันต่างก็เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน !

ขอขอบคุณ :
คุณโสภณ ดำนุ้ย ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์
คุณทนง นทีพิทักษ์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่
คุณประเสริฐศักดิ์ บุญตระกูลพูนทวี หัวหน้าโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย
คุณรชฎ วิสราญกุล Pro Center

แพนด้า หรือหมีแพนด้า (Giant Panda / Ailuropoda melanoleuca)ลักษณะทั่วไป : แพนด้าหรือหมีแพนด้าเป็นสัตว์ในตระกูลหมี (Ursidae) มีขนส่วนใหญ่เป็นสีขาว เว้นแต่บริเวณรอบดวงตา จมูก หู ขาหน้าจนถึงไหล่ ขาหลังและเท้า ที่เป็นสีดำ  แพนด้ามีระบบการย่อยอาหารแบบสัตว์กินเนื้อ แต่ได้วิวัฒนาการมาเป็นสัตว์กินพืช โดยอาศัยกินใบไผ่และลำไผ่เป็นอาหาร  เนื่องจากแพนด้ากินแต่ไผ่ซึ่งมีสารอาหารค่อนข้างต่ำ แพนด้าจึงต้องใช้เวลากินอาหารถึงวันละ ๑๔ ชั่วโมง เป็นไผ่ ๑๒-๑๕ กิโลกรัม 

นิเวศวิทยา : แพนด้ามีอาณาเขตในการหากินตั้งแต่ ๓.๙-๑๒ ตารางกิโลเมตร งานวิจัยระยะยาวจากเขตอนุรักษ์ว่อหลงในมณฑลซื่อชวนพบว่า แพนด้าอยู่อาศัยตามลำพัง เว้นแต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ที่แพนด้าหนุ่มจะต้องแข่งขันกันหาตัวเมียให้พบ ซึ่งตัวเมียจะเป็นสัดหรือพร้อมที่จะผสมพันธุ์เพียงปีละ ๒-๓ วันเท่านั้น  อย่างไรก็ตามข้อมูลล่าสุดจากเขตอนุรักษ์ในมณฑลชานซีรายงานว่า แพนด้าที่อาศัยอยู่บนเทือกเขาคินหลิน อาศัยอยู่เป็นกลุ่มอย่างน้อยกลุ่มละ ๒ ตัว จนมากที่สุดถึงกลุ่มละ ๒๘ ตัว  แพนด้าไม่จำศีลเหมือนหมีหลายชนิด  ลูกที่เกิดใหม่มีขนาดค่อนข้างเล็ก หนักประมาณ ๙๐-๑๓๐ กรัมเท่านั้น ในขณะที่แพนด้าตัวเต็มวัยหนักมากกว่า ๑๐๐ กิโลกรัม  แพนด้าที่เกิดใหม่มีขนเพียงเล็กน้อยและอ่อนแอมาก จึงมีอัตราการตายค่อนข้างสูง  เท่าที่มีการศึกษาพบว่า อายุเฉลี่ยของแพนด้าอยู่ที่ ๑๘ ถึง ๒๐ ปีในธรรมชาติ และอาจอยู่ได้มากกว่า ๓๐ ปีในที่เพาะเลี้ยง

การกระจายพันธุ์ : ครั้งหนึ่งแพนด้าเคยพบได้ทั่วไปทางตอนใต้และตะวันออกของประเทศจีน พม่า และเวียดนาม แต่ปัจจุบันเหลือแพนด้าอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ ตัวเท่านั้น และทั้งหมดนี้พบอยู่เฉพาะในป่าไผ่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

สถานภาพ : แพนด้าอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ในเวลาเพียง ๑๑ ปีระหว่างปี ๑๙๗๓-๑๙๘๔  ป่าไผ่ซึ่งเป็นที่อยู่อันเหมาะสมของแพนด้าถูกทำลายลงถึง ๕๐ % ปัจจุบันมีแพนด้าเหลือรอดอยู่เฉพาะในประเทศจีน ในเขตอนุรักษ์แพนด้าจำนวน ๑๓ แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ ๖,๐๙๔ ตารางกิโลเมตร

ภัยคุกคาม : ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย และถูกคุกคามโดยการล่า  แม้จีนจะกำหนดโทษสำหรับผู้ล่า หรือผู้มีแพนด้าอยู่ในครอบครองสูงสุดถึงประหารชีวิต แต่ในปัจจุบันยังคงมีคนจำนวนหนึ่งเสี่ยงที่จะล่าแพนด้าอยู่ เพราะหนังแพนด้าเพียงชิ้นเดียว มีมูลค่ามากกว่า ๑๐ ล้านบาทในญี่ปุ่น

ที่มา : World Wide Fund For Nature

จากจีนถึงเชียงใหม่ มาทำรายได้วันละ ๒.๕ แสนบาท
ประเสริฐศักดิ์ บุญตระกูลพูนทวี
หัวหน้าโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย

คุณประเสริฐศักดิ์เข้ามาดูแลโครงการนี้ได้อย่างไรครับ
เราได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ที่ให้โอกาส ก็คงเหมือนกับที่จีนให้โอกาสแก่ประเทศไทย ทั้ง ๆ ที่โดยความพร้อมเราก็ไม่ได้โดดเด่น  แต่ที่ให้มาเพราะเขาไว้วางใจ ผู้ใหญ่เห็นจากการที่เราทำงานที่นี่มา ๑๐ ปี ก็มีการสอบถามกันว่าจะทำได้ไหม เรารับปากว่าดูแลได้

โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทยมีความเป็นมาอย่างไร
เป็นความสืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-จีน ที่มีต่อกันมายาวนานแล้ว สำหรับโครงการนี้เริ่มมาจากปี ๒๕๔๔ ในสมัยที่พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านเดินทางไปเยือนจีนและมีการพูดคุยกันถึงเรื่องขอหมีแพนด้าจากจีน  ต่อมาได้รับการตอบรับจากรัฐบาลจีนว่าจะมอบให้หนึ่งคู่  รัฐบาลนำเรื่องเข้า ครม. และมีมติให้องค์การสวนสัตว์เป็นผู้รับผิดชอบเจรจากับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าจีน ใช้เวลา ๒ ปี หมีแพนด้าก็ได้มาเยือนแผ่นดินไทยที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๖

ได้หมีแพนด้ามาโดยมีข้อแลกเปลี่ยนอะไรบ้าง
มีข้อตกลงระหว่างกันในการรับผิดชอบชีวิตของหมีแพนด้า ดูแลเขาให้ดีในเรื่องที่พัก อาหาร  ในระยะ ๑๐ ปี เราต้องทำวิจัยเรื่องการจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย เกี่ยวกับการเจริญเติบโต พฤติกรรม การกินอาหาร การผสมพันธุ์ การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร  ถือเป็นโครงการความร่วมมือ ทางจีนเป็นเจ้าของวัตถุดิบ เราเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของค่าใช้จ่ายทั้งหมด และเรายังต้องจ่ายให้สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าจีน ปีละ ๒ แสน ๕ หมื่นดอลลาร์ เพื่อใช้ในการวิจัยเพื่ออนุรักษ์หมีแพนด้าในประเทศจีน  เมื่อครบ ๑๐ ปีทั้งสองฝ่ายจะมาเจรจากันใหม่ว่าจะจัดการกับหมีคู่นี้อย่างไรต่อไป ระหว่างนี้ถ้ามีลูก ไทยจะเลี้ยงไว้ ๒๔ เดือน แล้วส่งคืนให้จีน

ชีวิตประจำวันของหมีแพนด้าเป็นอย่างไรบ้างครับ
ที่ไม่เหมือนสัตว์ทั่วไปก็คือต้องดูแลเขาด้วยใจ เราต้องเทรนเจ้าหน้าที่ให้ระมัดระวังในการเลี้ยงดู มีความรอบคอบ เอาใจใส่เหมือนเลี้ยงเด็ก  หมีแพนด้าจะกิน นอน ขับถ่าย ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ไม่จำกัดกลางวันกลางคืน  กินจนอิ่ม เล่น ยืดเส้นยืดสาย งีบหลับ ขับถ่าย วนกันไปไม่เป็นเวลา ยกเว้นในช่วงกลางคืนที่ไม่มีเสียงรบกวนจะนอนยาวราว ๓ ชั่วโมง

อาหารมีอยู่สามส่วน อาหารหลักคือไผ่ทุกชนิด ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละตัว เราต้องหาพันธุ์ไผ่ที่หลากหลายมาให้เขาลอง ตอนนี้เราเอาไผ่จีนมาให้ลอง  ไผ่สี่เหลี่ยม ไผ่ขน ไผ่ดำ หมีชอบมากแต่มีให้กินไม่เพียงพอ  ส่วนหนึ่งก็ใช้ไผ่ท้องถิ่น ไผ่ตงดำ ไผ่สีทอง ไผ่ไร่ ไผ่หวาน ไผ่รวก ต้องมีให้ ๒๔ ชั่วโมง หมีแพนด้าจะกินทุกส่วนยกเว้นเปลือก  สองตัว กินวันละ ๑๕ กิโลกรัม ตัวเมียคือ หลินฮุ่ย อายุ ๒ ปี ๔ เดือน น้ำหนักประมาณ ๖๐ กิโลกรัม  ตัวผู้ชื่อ ช่วงช่วง อายุ ๓ ปี ๖ เดือน หนักประมาณ ๑๑๕ กิโลกรัม

อีกส่วนคืออาหารเสริม ทำจากผงไผ่เศษไผ่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง แป้งข้าวเจ้า นมผง แคลเซียม เกลือ วิตามินรวม ผสมแล้วอัดเป็นก้อน นึ่งให้สุก ก็เรียกว่า ขนมปัง  อีกส่วนใช้อบ ออกมาจะแข็ง เรียกว่า บิสกิต

นอกนั้นจะมีผลไม้ คือ แครอต แอปเปิล ให้วิตามินและช่วยในการย่อย อาหารจะอยู่ในท้องหมีประมาณ ๗-๘ ชั่วโมงจึงถูกขับถ่ายออกมา

สูตรอาหารทั้งสามส่วนมาจากจีน ซึ่งผ่านการศึกษาทดลองมาเแล้ว

แล้วเรื่องที่อยู่ล่ะครับ บ้านของแพนด้าเป็นอย่างไรครับ
ช่วงกลางวันเขาจะใช้ชีวิตอยู่ในส่วนจัดแสดง อยู่กับกิ่งไม้ ยางรถยนต์ ที่ทำไว้ให้ห้อยโหน รวมทั้งของเล่น เพื่อช่วยลดความเบื่อหน่าย เบนความสนใจจากการถูกรบกวน  ช่วงเย็นจะนำเข้ามาในห้องกัก เขายังอยู่กับการกิน นอน เล่นเหมือนเดิม

ตั้งแต่มาอยู่เคยมีปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยบ้างไหม
ยังไม่มี ทีแรกคิดว่าน่าจะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงยาก ดูบอบบาง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เขาเป็นสัตว์ที่มหัศจรรย์ในตัวเอง อากาศกับอาหารเป็นปัจจัยสำคัญ เราไม่ห่วงเพราะเรามีห้องปรับอากาศ และมีอาหารเพียงพอ  สิ่งที่ห่วงคือเรื่องเชื้อโรค ในไทยเราเลี้ยงสัตว์มากอยู่แล้ว โดยเฉพาะหมากับแมว ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนกัน  เราต้องประชาสัมพันธ์ให้มีการป้องกัน รวมทั้งให้เดินผ่านยาฆ่าเชื้อก่อนเข้ามาชม เจ้าหน้าที่ของเราต้องดูแลเรื่องการป้องกันเชื้อโรคอย่างเข้มงวด

ยอดผู้ชมเยอะไหมครับ
เปิดมา ๔๙ วัน (นับถึงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๗) มีคนมาประมาณ ๒.๖ แสนคน เฉลี่ยวันละ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ คน เกินเป้าที่คิดไว้  ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๕๐ เด็ก ๒๐  ถ้าคำนวณดูก็จะเห็นเงินจำนวนมาก แต่รายได้เป็นเพียงผลพลอยได้ อยากเน้นเรื่องโอกาสมากกว่า คนไทยได้เห็นหมีแพนด้าในบ้านของตัวเอง ซึ่งถือเป็นโอกาสดีกว่าคนอื่นในโลกอีกหลายร้อยล้านคนที่อยากดู แต่ประเทศจีนไม่ยอมมอบหมีแพนด้าให้

คนในเชียงใหม่มาดูเยอะไหมครับ
คนที่มาส่วนใหญ่เป็นคนจากต่างจังหวัดครับ คนเชียงใหม่คงอยากเปิดโอกาสให้คนไกลๆ มาดูก่อน  คนที่มาก็มีทั้งที่สมหวัง ผิดหวัง บางคนมาช่วงที่หมีนอนหลับก็อาจได้เห็นไม่ชัด ซึ่งเราจะไปบังคับให้เขาตื่นตลอดเวลาก็คงไม่ได้  บางคนก็บอกว่าเงิน ๕๐ บาทกับเวลา ๑๐ นาทีที่ได้ดูหมี มันไม่คุ้มค่า  ผมอยากเปรียบเทียบให้เห็นว่า ที่จีนเก็บค่าเข้าชมคนละ ๑๐๐ หยวน (๕๐๐ บาท) ที่เมืองไทยจึงถูกกว่ามาก  คนไทยบางคนยอมนั่งเครื่องบินมาดู มาแล้วเข้าดูหลายรอบ อันนี้ก็ทำให้เราชื่นใจ

การที่มีคนเข้ามาดูมากๆ จะเป็นการรบกวนหมีแพนด้าไหม
ก็อาจกระทบต่อสุขภาพจิตของเขา เราป้องกันโดยเบนความสนใจของเขาด้วยอาหาร ของเล่น แต่คู่นี้เขานิสัยดี ไม่ดุร้าย ดูเหมือนเด็กๆ

ที่ผ่านมาเจอปัญหาอะไรบ้างไหม
เจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อย นักท่องเที่ยวมีจำนวนมาก บางทีข้างนอกรถติดยาวจนต้องปิดบางช่วง

มีอะไรจะฝากถึงคนรักหมีแพนด้าบ้าง
เรื่องความปลอดภัย แพนด้าทั้งสองเป็นสัตว์สำคัญ เขาให้ยืมมา  ต้องช่วยกันดูแลไม่ให้เสียชื่อเสียง เราเป็นประเทศเล็ก แต่เขายอมมอบให้ เขาจับตาดูอยู่ว่าเรามีปัญญาจะดูแลไหม นักท่องเที่ยวต้องได้รับการปลูกฝังความเข้าใจไม่ให้รบกวนสัตว์ ทั้งเสียง แสงแฟลชกล้องถ่ายรูป เชื้อโรคที่จะมากับสัตว์เลี้ยงของท่าน ซึ่งไม่สมควรนำเข้ามาในสวนสัตว์