เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย : เรื่อง

pro2 เคยลองจินตนาการเล่นๆ ไหมว่า ผ้าขนหนูผืนสี่เหลี่ยม มี ๔ ด้าน ๔ มุม จะเป็นอะไรได้มากไปกว่า ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดผม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดเท้า ผ้าขี้ริ้ว 🙁

เจ้าผ้าขนหนูเองก็คงไม่ เคยนึกฝันมาก่อนว่า นอกจากการ “เช็ด” เป็นอาชีพหลักแล้ว วันหนึ่งมันจะได้รับบทบาทใหม่ที่น่าสนุก และน่าภูมิใจยิ่งกว่าเดิม

ด้วยนโยบายของบริษัท เรือสำราญแห่งหนึ่งในอเมริกา ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของรูมสจ๊วตบนเรือ ทำให้ผ้าขนหนูได้แปลงร่าง เป็นสัตว์สารพัดชนิด สร้างรอยยิ้มให้แก่นักท่องเที่ยว จำนวนมากบนเรือสำราญ

หนึ่งในรูมสจ๊วตเหล่านั้นเป็นคนไทยที่ชื่อว่า ไพฑูรย์ แสงศรี

ความมุ่งมั่นและเป้าหมาย ที่ไปไกลกว่ารูมสจ๊วตคนอื่นๆ ทำให้ในเวลาต่อมา เขาได้เป็นเจ้าของผลงานหนังสือ สอนวิธีพับตุ๊กตาผ้าขนหนู-เล่มแรกของโลก

วันนี้ไม่เพียงผ้าขนหนูบนเรือสำราญเท่านั้น ที่ได้มีโอกาสแปลงกาย

แต่ผ้าขนหนูผืนอื่นๆ ในโลก ก็ได้รับโอกาสนั้นเช่นกัน

…เรื่องเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๙๗ เมื่อรูมสจ๊วตบนเรือสำราญของบริษัท Carnival Cruise Lines กว่า ๒๐ ลำที่แล่นอยู่ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลแคริบเบียน อเมริกาใต้ ยุโรป ฯลฯ ได้รับนโยบายใหม่เรื่องการตกแต่งเตียงของแขกว่า ห้ามใช้ทรัพย์สินส่วนตัวของแขก แต่ให้ใช้ผ้าขนหนูของเรือแทน

“หน้าที่ของรูมสจ๊วตคือดูแลแขกตลอดการเดินทาง ตั้งแต่เช็กอิน เสิร์ฟอาหาร ซักรีด ทำความสะอาดห้อง และเรื่องทั่วๆ ไป ซึ่งนอกจากบริการเหล่านี้ เราต้องคิดด้วยว่าทำยังไงจะสร้างความรู้สึกเป็นกันเองกับแขกให้มากที่สุด โดยปรกติเราก็ใช้วิธีมาตรฐานทั่วไป คือหลังจาก turn down หรือเปิดเตียงในตอนเย็น ก็จะวางช็อกโกแลตหรือลูกกวาดไว้บนหมอน พร้อมข้อความ sweet dream ต่อมาก็ใช้สิ่งของที่หาได้ในห้อง เช่น เสื้อผ้าที่แขกวางไว้นอกกระเป๋า นำมาพับเป็นตุ๊กตาบ้าง ดอกไม้บ้าง ซึ่งก็ไม่ได้เหมือนจริงนัก แต่ก็ช่วยตกแต่งเตียงให้ดูสวย ก็ได้ผลในการเซอร์ไพรส์เขาพอสมควร แต่มีปัญหาว่าแขกบางคนไม่ชอบเพราะทำให้เสื้อผ้าเขายับ

“ตอนที่บริษัทบอกให้ใช้ผ้าขนหนู ก็ไม่ได้บอกว่าจะให้ทำเป็นรูปแบบไหน ให้มาคิดกันเอง เราก็ทำเป็นตุ๊กตาขึ้นมา ต่างคนต่างคิดว่าจะทำเป็นตัวอะไร ได้ออกมาเป็นวิธีการต้นแบบ คือถ้าเป็นตัวจะพับแบบนี้ หัวก็พับแบบนี้

“ผ้าที่ใช้พับจะเป็นคนละชุดกับผ้าที่แขกใช้ เราใช้ผ้าเก่าซึ่งมี ๓ ขนาด คือ ใหญ่ กลาง เล็ก และมีเฉพาะสีขาว ด้วยข้อจำกัดของขนาดกับสี และการพับโดยไม่เย็บไม่ติดกาว ทำให้ช่วงแรกเราไม่สามารถคิดแบบได้เยอะ ใครคิดแบบไหนได้ก็เรียนรู้ต่อๆ กันไป มี ๑๐ แบบ ก็ใช้หมุนเวียนกันอยู่อย่างนั้น

“แบบแรกๆ เป็นหมาพัปปี้ด็อก หูยาวๆ ต่อมาผมคิดพับตัวหมาที่ต่างจากคนอื่นเป็นตัวแรกคือ บูลด็อก หลังจากนั้นผมก็พับเป็นกระต่าย กบ เต่า ฯลฯ ได้อีกประมาณ ๒๐ กว่าแบบ

“รูมสจ๊วตแต่ละคนรับผิดชอบดูแลแขก ๒๐ ห้อง โดยมีผู้ช่วยอีก ๒ คน เรามีเวลาเปิดเตียงเฉพาะช่วง ที่แขกรับประทานอาหารตอนเย็น แบบของตุ๊กตาจึงต้องง่าย ใช้เวลาไม่ควรเกิน ๒ นาที ส่วนใหญ่จะเป็นหมา กระต่าย หรือแบบที่สามารถดัดแปลงไปเป็นตัวอื่นได้ เพราะแขกที่ชอบตุ๊กตาที่เราพับ เขาจะพยายามรักษารูปทรงของมันไว้ ถ้าย้ายจากเตียงก็จะเอาไปวางบนโต๊ะ วันรุ่งขึ้นถ้าเราไม่มีเวลา ก็ใช้ตัวเดิม แล้วพับใหม่แค่ส่วนหัว”

แต่สำหรับรูมสจ๊วตที่มี service mind เต็มร้อย เขาจะไม่หยุดอยู่แค่แบบที่ “ง่ายและเร็ว”

การรู้จัก “เรียนรู้” และ “ใส่ใจ” ในรายละเอียดของแขกแต่ละห้อง คือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เลือกแบบตุ๊กตาที่เหมาะสมกับแขกห้องนั้น ๆ ด้วย

“ถ้าเป็นแขกที่มาฮันนีมูน เราจะพับเป็นรูปหงส์คู่ให้ แบบนี้พับยากและใช้เวลานานก็จริง แต่สร้างความประทับใจให้เขาได้มาก ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ควรพับแบบที่น่ารักๆ ส่วนวัยรุ่น จะพับอะไรก็ได้ แมงป่องก็ได้ แบบที่ต้องระวังมากคือลิง เพราะนิโกรผิวดำบางกลุ่ม ถือว่าเป็นการล้อเลียนเขา เขาจะโยนทิ้งเลย อย่างงูนี่พยายามจะไม่พับ บางคนขอตั้งแต่แรกเลย ยูจะพับเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่งู”

การอุทานด้วยความตื่นเต้น เมื่อเปิดประตูเข้าไป เห็นตุ๊กตาผ้าขนหนู เป็นปฏิกิริยาตอบรับ ที่พบเห็นได้เป็นปรกติจากนักท่องเที่ยว ที่มาล่องเรือกับ Carnival Cruise Lines เป็นครั้งแรก ยิ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกแล้วละก็ พวกเขาจะไม่เก็บความรู้สึกไว้เงียบๆ เป็นแน่

“ผมว่าฝรั่งเป็นคนอารมณ์ดี ขำง่าย โดยเฉพาะเวลามาพักร้อน ยิ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็น จะยิ่งตื่นเต้นมาก ส่วนใหญ่เขาจะอุทานว่า ‘oh ! so cute’ ถ้ามากันเป็นครอบครัวใหญ่ เขาจะเอามาอวดกันว่าแต่ละห้องได้อะไร ถ้าเรารู้ว่าเขามาด้วยกัน ก็ต้องทำให้แต่ละห้องไม่เหมือนกันนะ แล้วสุดท้าย ผมก็จะจับทุกตัวมารวมกันเป็นเรื่องเป็นราว เช่นจับเอามานั่งล้อมวงเล่นไพ่

“ถ้าเป็นเด็กๆ เขาจะรีบกินข้าว ไม่กินของหวาน เพราะอยากจะรีบกลับมาดูว่าวันนี้ยูจะทำตัวอะไรให้ฉัน บางทีเขาก็จะขอให้ทำเป็นตัวโน้นตัวนี้ให้ ถ้าเป็นแบบที่เราไม่เคยทำอย่างยีราฟ เราก็จะบอกว่าไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า เอาเป็นไดโนเสาร์แทนได้มั้ย พอทำให้ เขาก็จะอุ้มกลับไปให้พ่อแม่เขาดู

“ฟีดแบ็กของแขกนอกจากการมาขอบอกขอบใจ หรือเขียนโน้ต thank you ไว้ให้เราแล้ว ก็จะขอวิธีการทำ ตอนมีกิจกรรมสาธิตการพับผ้าขนหนู ซึ่งบ่อยครั้งผมจะได้รับเลือกให้เป็นคนสาธิต ก็จะได้รับความสนใจอย่างมาก และแขกจะถามตลอดว่ามีหนังสือสอนวิธีพับมั้ย”

นับตั้งแต่เริ่มพับผ้าขนหนูในปี ๑๙๙๗ ไพฑูรย์เรียนรู้และพัฒนาแบบไปเรื่อยๆ บนเป้าหมายเล็กๆ ที่ว่า “ทำยังไงให้ลูกค้าพอใจ เพื่อให้เขาควักกระเป๋าจ่ายเราได้เต็มที่”

“บริษัทจ่ายค่าจ้างเดือนละ ๔๕ เหรียญ ที่เหลือลูกค้าเป็นคนจ่าย หัวละ ๓ เหรียญต่อวัน อาทิตย์หนึ่งเขาจ่าย ๒๑ เหรียญ ถ้าเราทำให้เขาพอใจตรงนี้ เขาอาจจะจ่าย ๒๕ หรือ ๓๐ เหรียญก็ได้

“แต่สำหรับวิชาชีพของเรา บางครั้งสิ่งที่ได้กลับมาไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเท่านั้น ตุ๊กตาผ้าขนหนูเป็นเหมือนตัวเชื่อมความสัมพันธ์ ความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเรา กับแขกมันทำให้เรามีความสุข แล้วยังช่วยลดปัญหาในการทำงานลง เหนื่อยน้อยลงด้วย”

ปีแล้วปีเล่าที่ผ่านไป ไพฑูรย์ไม่เคยคิด จะนำวิธีพับตุ๊กตาผ้าขนหนูมาทำเป็นหนังสือ จนกระทั่งในปี ๒๐๐๑ ที่เขาเริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับอาชีพรูมสจ๊วตบนเรือสำราญ บวกกับการสะสมประสบการณ์ และข้อมูลหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเสียงเรียกร้อง ของแขกที่อยากได้หนังสือ หรือการที่ได้เห็นหนังสือประเภท cook book วางขายบนเรือ ทำให้เขามองเห็นความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจหนังสือตุ๊กตาผ้าขนหนู

เขาเก็บความคิดนี้ไว้เงียบๆ คนเดียว แล้วลงมือทำโดยไม่รีรอ

“ผมมองว่า ๒๐ แบบที่มีอยู่เดิมไม่มากพอจะจูงใจให้คนยอมจ่ายเงินซื้อหนังสือได้ ก็เลยตั้งเป้าไว้ว่าต้องมี ๔๐ แบบ ตอนนั้นผมเหลือสัญญาการทำงานกับเรืออีก ๖ เดือนก็จะถึงช่วงพักร้อน เลยต้องเร่งคิดอีก ๒๐ แบบ พอมีเวลาว่างตอนพัก หรือเลิกงานก็จะรีบคิดแล้วจดวิธีการไว้ จริงจังมากขนาดนอนหลับฝันหรือเคลิ้มๆ ว่าน่าจะพับอย่างนี้นะ ก็ต้องรีบตื่นขึ้นมาจด เสร็จแล้วก็ทดลองดูผลตอนสาธิต ว่าแขกชอบไหม ดูออกไหมว่าเป็นตัวอะไร

“ผมมีพื้นฐานการทำตัวอยู่แล้ว ๓ แบบ รวมทั้งวิธีการอื่นๆ เช่น พับลง จับมุมสามเหลี่ยมเพื่อเป็นปาก พับข้างม้วนเข้ามาเพื่อให้เป็นหัว พับลงมาเพื่อที่จะล็อก จากพื้นฐานตรงนี้ ผมก็พับไปเรื่อย ๆ เพื่อดัดแปลงเป็นตัวอื่น การคิดแบบของผม คือทดลองดูว่าผ้าผืนหนึ่ง จะพับไปทางไหนได้บ้าง พับด้านนี้หรือด้านนั้น พับมุมนี้ไม่ได้ก็เปลี่ยนมุม พับสองพับสามพับ ลองพลิกบนพลิกล่าง

“เวลาคิดแบบก็มีทั้งการตั้งเป้าว่าจะทำเป็นตัวอะไร และการลองพับไปเรื่อยๆ ดูว่าจะออกมาเป็นตัวอะไร ถ้าออกมาแล้วดูใกล้เคียงตัวนั้นนะ ก็ดูว่ายังขาดตรงไหน แล้วลองพับให้เกิดความชัดเจนขึ้น สิ่งที่ยากคือการทำหน้า ต้องดึงจุดเด่นออกมาให้ได้ ลองพับแล้วเอามาประกอบกับลำตัวว่าจะเป็นตัวนั้นได้ไหม ถ้าเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีหน้าตาคล้ายกัน อย่าง หมู วัว ม้า ก็จะดัดแปลงจากตัวเดิม

“ตัวที่ใช้เวลาคิดนานที่สุดคือวัว มันยากตรงที่จะพับยังไง ให้มุมผ้ามีทั้งส่วนที่เป็นเขาและหู พอพับออกมาได้ รู้สึกว่าหน้าตามันน่ารักดี และวิธีการพับก็ไม่ง่ายไม่ยากเกินไป ก็เลยเป็นตัวที่ผมชอบที่สุดด้วย”

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคิดวิธี พับผ้าขนหนูผืนสี่เหลี่ยมแค่ ๒-๓ ผืนให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ โดยไม่เย็บและไม่ติดกาว พอคิดไปได้สัก ๓๐ แบบ ความคิดของไพฑูรย์ก็เริ่มติดขัด เขารู้ว่าคงไม่ได้การหากมัวแต่หมกตัวอยู่บนเรือ และวนเวียนอยู่กับการพับผ้าไปมาอยู่อย่างนั้น เขาจึงใช้เวลาว่างช่วงที่เรือจอดพักที่ท่าเรือ ไปเดินสำรวจตามร้านขายตุ๊กตาเพื่อหาไอเดียใหม่ ๆ

จนในที่สุด เขาก็ได้ครบ ๔๐ แบบภายใน ๖ เดือนตามที่ตั้งใจไว้ “การพับผ้าขนหนูเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่ง ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะ ผมชอบศิลปะ แต่ไม่มีพรสวรรค์ด้านนี้ มีแต่ความพยายาม ความอดทน และความเชื่อมั่นว่าเป็นไปได้ ผมเชื่อว่าทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเรามีเป้าหมาย แล้วตั้งใจทำอย่างจริงจัง ต่อให้ยากแค่ไหน ก็สำเร็จได้ทุกอย่าง”

ช่วงพักร้อนของงานรูมสจ๊วต กลางปี ค.ศ. ๒๐๐๑ ไพฑูรย์หอบเอาวิธีพับผ้าขนหนูทั้ง ๔๐ แบบกลับมาเมืองไทย เขาตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า Towel Creations จากนั้นก็เปิดบริษัทเพื่อผลิตหนังสือ ทดลองพิมพ์ออกมาครั้งแรก ๑,๐๐๐ เล่ม ปรากฏว่ายังใช้ไม่ได้ เพราะมีข้อผิดพลาดทั้งเรื่องการใช้ภาษา และคุณภาพการพิมพ์ เขาตัดสินใจแก้ไข แล้วพิมพ์ออกมาอีก ๑,๐๐๐ เล่มในปี ค.ศ. ๒๐๐๒

ไพฑูรย์พยายามหาทางเปิดตลาด โดยผ่านบริษัทตัวแทนหลายๆ แห่ง แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควร เขาตัดสินใจกลับไปทำงานร้านอาหารของเพื่อนที่อเมริกา ขณะเดียวกันก็ลองติดต่อร้านหนังสือใหญ่ๆ ที่นั่น แต่ก็ยังไม่ได้ผลอีก สุดท้ายเขากลับไปติดต่อบริษัท Carnival Cruise Lines ที่เขาเคยทำงานอยู่ โดยนำเสนอหนังสือตรงเข้าไปยังแผนก housekeeping

“ผมรู้ว่าถ้าเข้าไปทางฝ่ายจัดซื้อ เขาจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าเป็นแผนก housekeeping เขาจะรู้ว่าหนังสือแบบนี้ต้องขายได้ เพราะมีบันทึกคอมเมนต์ จากแขกที่ต้องการหนังสืออยู่

“พอติดต่อไปถูกจุดปุ๊บ เขาก็เอาเลย เพราะหนึ่ง มันเป็นจุดขายที่จะทำให้ทาง Carnival ได้เปรียบบริษัทเรือคู่แข่ง และสอง หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกและเล่มเดียว ยังไม่เคยมีใครทำแน่ๆ”

หลังจากใช้เวลาถึง ๒ ปีในการหาตลาด ในปี ค.ศ. ๒๐๐๔ Carnival Cruise Lines ก็ตกลงสั่งหนังสือ Towel Creations ล็อตแรก ๑ แสนเล่ม สำหรับการขาย ๑ ปี โดยมีสัญญาผูกมัดว่า ห้ามขายให้แก่บริษัทเรือสำราญอื่น ๆ

“จริงๆ แล้วข้อตกลงนี้ทำให้ผมเสียเปรียบเยอะ แต่การได้เข้าไปขายตรงนั้น อย่างน้อยก็ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น และก็อาจจะทำให้การเสนอขาย กับร้านหนังสือที่ไม่ได้อยู่บนเรือง่ายขึ้นด้วย”

ปีนั้น ไพฑูรย์กลับเมืองไทยเพื่อผลิต และส่งออกหนังสือ Towel Creations

ปีที่ผ่านมา เขาส่งล็อตที่ ๒ ไปอีก ๑ แสนเล่ม และตอนนี้กำลังปรับปรุงหนังสือสำหรับการส่งล็อตที่ ๓ ทั้งในส่วนคำอธิบาย รูปภาพ ส่วนจำนวนแบบยังเป็น ๔๐ แบบเท่าเดิม แต่ตัดแบบเก่าออกบ้าง แล้วเพิ่มแบบใหม่เข้าไปแทน

“แบบที่ตัดออกส่วนใหญ่เป็นแบบผ้าผืนเดียว อย่างแมวน้ำ ม้าน้ำ ส่วนแบบใหม่ก็เช่น นกยูง หมาพูเดิล คิงคอง และตัวเดิมแต่เปลี่ยนมาเป็นแบบยืนได้ คือเดิมจะเป็นตัวนั่งหรือนอนหมอบทั้งหมด มีช้างเท่านั้นที่ยืน และแบบนั้นก็พับช้างได้อย่างเดียว พอผมคิดออกว่าจะพับยังไงให้ตัวอื่นยืนได้ด้วย ก็ทำให้มีจำนวนแบบมากขึ้น”

แม้ตุ๊กตาผ้าขนหนู จะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนสัตว์จริงๆ แต่ตัวมันเองก็มีเสน่ห์ที่ทำให้ใครๆ หลงรักได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นวิธีการพับที่ทำให้มองออกอย่างชัดเจนว่าเป็นตัวอะไร ความน่าทึ่งของเทคนิคการพับซึ่งอาศัยคุณสมบัติ ที่มีอยู่แล้วในผ้าขนหนู นั่นคือขนที่ฟูกำลังดีของผ้าที่ไม่เก่าไม่ใหม่เกินไป จะช่วยให้ผ้าเกาะตัวกันเอง โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยยึดใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าอยากเติมเสน่ห์เข้าไปอีก ก็มีวิธีสร้างสรรค์ได้อีกสารพัด ขึ้นอยู่กับไอเดียของแต่ละคน เช่น จับหัวมันวางเอียงนิดหน่อย หยิบแว่นตามาใส่ให้ หรือให้มันนั่งกอดกระป๋องเบียร์ก็ดูขำไปอีกแบบ

เมื่อประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศแล้ว ไพฑูรย์เริ่มหันกลับมามองว่า ทำอย่างไรศิลปะการพับตุ๊กตาผ้าขนหนู จะแพร่หลายในประเทศไทยด้วย แน่นอนว่าเป้าหมายอย่างหนึ่งคือความสำเร็จในเชิงธุรกิจ แต่อีกมุมหนึ่ง เขามองว่านี่เป็นศิลปะที่สามารถนำไปใช้ ให้เกิดประโยชน์ได้มากมาย

“ประโยชน์ใกล้ตัวที่สุด คือช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ ของคนในครอบครัว โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย สามารถสอนให้เขาทำตามได้ทีละขั้นตอน เพราะมันไม่ยาก หรือจะพับแล้วใช้เล่านิทานก่อนนอน ให้เขานอนกอดจนหลับไปก็ได้ ถ้าอยากให้เขาเก็บไว้เล่นได้นานๆ ก็อาจจะใช้ด้ายเย็บ ข้อดีคือเป็นของที่เราทำให้ด้วยมือเราเอง ไม่ต้องเสียเงินซื้อตุ๊กตาแพงๆ แถมเปลี่ยนแบบได้ทุกวัน สำหรับคุณครู ก็ใช้เป็นสื่อการสอน ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ สนุกกับการเรียนมากขึ้น

“ในแง่การค้าขาย ตุ๊กตาจะช่วยดึงดูดความสนใจต่อตัวสินค้า อย่างร้านขายแว่น เครื่องประดับ ผ้าเช็ดตัว หนังสือ

“กิจการที่ใช้ประโยชน์ได้มากคือโรงแรม เพราะตุ๊กตาผ้าขนหนูจะสร้างความรู้สึกที่เรียกว่า personal touch แสดงให้เห็นว่าโรงแรมนั้นมีความละเอียดอ่อน หรือเอาใจใส่ลูกค้า นอกจากนี้ยังมีผลพลอยได้ ในแง่การลดต้นทุน เช่นห้องที่จัดผ้าขนหนูไว้ ๒ ชุด แต่แขกอยู่คนเดียว ถ้าเราเอาชุดหนึ่งมาพับ แล้วเขาชอบ เขาก็จะเก็บมันไม้ แล้วใช้ผ้าชุดเดียว ลดต้นทุนการซักผ้าไปครึ่งหนึ่ง หรือห้องบ่าวสาวที่ปรกติจะโรยดอกกุหลาบ เป็นรูปหัวใจไว้บนเตียง ถ้าเปลี่ยนมาพับผ้าขนหนูเป็นรูปหงส์คู่ ซึ่งมันจะเป็นรูปหัวใจ แล้วโรยดอกกุหลาบรอบๆ จะลดต้นทุนการซื้อดอกกุหลาบลง แล้วก็ให้ความรู้สึกที่ดีไปอีกแบบด้วย

“ช่วงก่อนที่ผมจะกลับไปดูตลาดที่อเมริกา ผมเคยนำแนวคิดนี้ไปเสนอโรงแรม ๒ แห่งในเมืองไทย แต่มีโรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ แห่งเดียวที่สนใจ ผมก็เลยไปสอนวิธีการพับให้พนักงานของเขา ผมไม่คิดค่าสอน แต่ฝากหนังสือขาย แต่การขายหนังสือได้ หรือไม่ก็ไม่สำคัญเท่ากับ ผมได้มีโอกาสนำเสนอแนวคิด เพื่อให้โรงแรมบ้านเรา มีความละเอียดอ่อนกว่าประเทศอื่น ตอนนี้ก็มีรีสอร์ทและโรงแรมในเมืองไทย ติดต่อมาบ้างว่าอยากให้ไปอบรม

“สำหรับการเปิดตลาดในเมืองไทยนั้น ผมอยากจะทำเป็นภาษาไทย ปรับปรุงคำอธิบายขั้นตอน การทำให้เข้าใจง่ายขึ้น สื่อให้เข้าใจด้วยภาพ และคิดว่าจะแบ่งพิมพ์เป็นเล่มเล็กๆ เหลือเล่มละ ๑๐ แบบ แล้วขายให้ถูกหน่อย เพื่อเผยแพร่ให้คนรู้จักมากขึ้น”

วันนี้แม้ศิลปะการพับตุ๊กตาผ้าขนหนู จะยังไม่แพร่หลายในหมู่คนไทย และคนไทยน้อยคนนักจะรู้ว่า เขาคือเจ้าของผลงานหนังสือสอนวิธีพับตุ๊กตาผ้าขนหนู เล่มแรกของโลก แต่เขาก็ภูมิใจกับหนังสือเล่มแรกของเขา เขายังหวังอีกว่า หากมีคนเก่งๆ ที่เห็นคุณค่าของศิลปะแขนงนี้ แล้วต่อยอดความคิดออกไปให้สมบูรณ์ สวยงาม และมีแบบมากมายกว่านี้ หนังสือตุ๊กตาผ้าขนหนูเล่มใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นก็อาจกลายเป็นความภูมิใจ ของคนไทยทั้งประเทศก็ได้

“ผมกล้าพูดว่า เรามีต้นแบบการพับตุ๊กตาผ้าขนหนู ซึ่งใช้มาเป็นร้อยๆ ปี อย่างการพับผ้าขนหนูเป็นชะนีเวลาทอดผ้าป่า และตอนนี้มันพัฒนามาเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผมพูดได้เต็มปากว่าเป็นของคนไทย ไม่แน่ว่าต่อไปเมื่อพูดถึงการพับผ้าขนหนู จะต้องนึกถึงประเทศไทย เหมือนเมื่อพูดถึงการพับกระดาษ ก็ต้องนึกถึงญี่ปุ่น”

pro1
pro3
pro4
pro5
pro6
pro7