จักรพันธุ์ กังวาฬ

whale

วาฬหลังค่อม (Humpback whale) ภาพ : NOAA

ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเลออกมาระบุเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า คลื่นเสียงรบกวนใต้ทะเลจากกิจกรรมของมนุษย์ซึ่งเพิ่มระดับความดังขึ้นทุกที ไม่ว่าเสียงคำรามของเครื่องยนต์เรือเดินสมุทร การสำรวจแรงสั่นสะเทือนโดยบริษัทขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หรือคลื่นโซนาร์จากกองทัพเรือ กำลังคุกคามวิถีชีวิตสัตว์ทะเลอย่างรุนแรง โดยเฉพาะวาฬ โลมา และเต่าทะเล ซึ่งใช้คลื่นเสียงในการสื่อสาร หาอาหาร และจับคู่ผสมพันธุ์

ผู้เชี่ยวชาญยังคาดว่าสัตว์ทะเลที่ตื่นตกใจจากเสียงรบกวนอาจดำน้ำอย่างผิดปรกติ กระทั่งได้รับความทรมานจากอาการป่วยแบบที่เกิดกับนักดำน้ำเมื่อดำน้ำลึกแล้วรีบขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันพักปรับระดับความดันตามกำหนด

จากรายงาน Ocean Noise: Turn It Downโดยกองทุนนานาชาติเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ ระบุว่าระยะทางที่วาฬสีน้ำเงินสามารถใช้เสียงเพื่อการสื่อสารถูกตัดขาดถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์จากผลกระทบของเสียงรบกวนใต้น้ำที่ดังมากขึ้น

รายงานดังกล่าวยังระบุว่า ช่วงเวลา ๕๐ ปีที่ผ่านมา คลื่นเสียงรบกวนความถี่ต่ำใต้ทะเลมีระดับความดังเพิ่มเป็น ๒ เท่าทุก ๆ ๑๐ ปี ขณะที่จำนวนเรือเพิ่มขึ้นเป็น ๓ เท่า

ผลกระทบจากเรือที่มีจำนวนมากขึ้นและมีความเร็วสูงขึ้นทำให้มีสัตว์ทะเลถูกเรือชนเพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนั้นผู้เชี่ยวชาญยังแสดงความกังวลต่อปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้น้ำทะเลมีสภาพเป็นกรดสูงขึ้นและสามารถดูดซับเสียงรบกวนใต้น้ำได้น้อยลง

“เมื่อใต้น้ำเต็มไปด้วยเสียงรบกวน สัตว์ทะเลจะไม่ได้ยินเสียงเรือที่กำลังแล่นมา” มาร์ก ซิมมอนดส์ ผู้อำนวยการวิทยาศาสตร์แห่งสมาคมอนุรักษ์วาฬและโลมา กล่าวถึงผลกระทบที่ต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่

นักอนุรักษ์สัตว์ทะเลออกมาเรียกร้องรัฐบาลและกลุ่มอุตสาหกรรมประเทศต่าง ๆ ให้หันมาใช้เครื่องยนต์เรือที่ส่งเสียงเบากว่าเดิม เข้มงวดต่อการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเล รวมทั้งลดการปล่อยคลื่นโซนาร์โดยกองทัพเรือด้วย