เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

 

สุริยาหีบศพรับสร้าง “บ้านหลังสุดท้าย” และบริการหลังความตาย ๒๔ ชั่วโมง
“คนค้าหีบ” อาชีพเปื้อนคำครหาว่าหากินกับความตาย
เบื้องหลังคือความพิถีพิถันทุกขั้นตอนการประดิษฐ์หีบ
เพื่อร่วมส่งผู้ตายสู่การเดินทางครั้งสุดท้ายของชีวิต

ดึกสงัด ท่ามกลางความเงียบสงัดภายในห้องดับจิตของโรงพยาบาลย่านนนทบุรี

มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีรายงานความสูญเสียเกิดขึ้น

เบื้องต้น พนักงานบริการห้องดับจิตที่ถูกส่งมาเฝ้าประจำจาก หจก.นนทบุรี สุริยา แคราย จะมุ่งหน้าไปห้องพักผู้ป่วยเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่เปลเคลื่อนย้ายร่างไร้วิญญาณมาเก็บไว้ยังห้องดับจิต ห้องที่เต็มไปด้วยร่างไร้ชีวิตนอนเรียงรายอยู่ภายในตู้แช่เย็น

“ศพ” จะได้รับการทำความสะอาดอย่างทะนุถนอมไม่ต่างจากศพญาติพี่น้องของพวกเขาเอง–อาบน้ำชำระล้างสิ่งสกปรก ตกแต่งใบหน้าและเรือนร่าง เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดเกียรติยศสมฐานะ และฉีดน้ำยาฟอร์มาลิน รอเวลาญาติมารับไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทุกขั้นตอนที่กล่าวมาเป็นไปด้วยความเคารพอย่างสูงสุด

ปฏิบัติการหลังความตายโดยพนักงาน หจก.นนทบุรี สุริยา แคราย ยังประกอบด้วยการให้บริการรถตู้ขนส่งศพ จำหน่ายอุปกรณ์เชิญวิญญาณ จัดดอกไม้หน้างานและเมรุ ให้บริการเกี่ยวกับการจัดพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่พิธีรดน้ำ/บรรจุร่างลงหีบ ไปจนถึงพิธีเก็บอัฐิ/ลอยอังคาร อันเป็นบริการที่ต่อยอดเข้ามาหลังจำหน่ายหีบศพเป็นงานหลักมานานกว่า ๕๐ ปี

ด้วยรูปแบบหีบศพเกิน ๒๐ ประเภท จากหีบธรรมดาสนนราคาหลักร้อย หีบลูกฟูกทำจากวัสดุรีไซเคิล หีบจำปา (โลงจีน) หีบคริสต์โปรเตสแตนต์ หีบปรับอากาศ (โลงแอร์) หีบกระจกมุก หีบทองในแกะลายองุ่น จนถึงหีบหรูหราสนนราคาหลักแสนอย่างหีบไม้สักทรงธรรมแกะลายปิดทอง ฯลฯ ผู้ใช้บริการ “บ้านหลังสุดท้าย” ของสุริยาซึ่ง
ก่อตั้งโดย สมชาย สุริยเสนีย์ จึงมีตั้งแต่ผู้ยากไร้ไปจนเข้าขั้นเศรษฐี

suriyacoffin02
สมชาย สุริยเสนีย์ ผู้ก่อตั้ง หจก.นนทบุรี สุริยาแคราย หรือ “สุริยาหีบศพ”

จากเด็กตักน้ำสู่คนรับจ้าง “วิ่งศพ”

สมชาย สุริยเสนีย์ ปัจจุบันอายุ ๗๓ ปี ประกอบอาชีพค้าหีบศพมาเป็นเวลา ๕๑ ปีแล้ว

จากเด็กรับจ้างตักน้ำในคลองบ้านขมิ้น ติดแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ชีวิตของสมชายพลิกผันจนในที่สุดกลายเป็นเจ้าของกิจการจำหน่ายและต่อหีบศพ ประสบความสำเร็จในธุรกิจเกี่ยวกับความตาย

สมชายเล่าว่าเขาเกิดหลังโรงพยาบาลศิริราช ฐานะทางบ้านค่อนข้างลำบาก อาชีพแรกที่ทำคือรับจ้างตักน้ำในคลองใส่ตุ่ม ตุ่มเล็กได้ ๑ บาท ตุ่มใหญ่ได้ ๒ บาท เมื่อเติบใหญ่ก็หันมาเอาดีด้านการขับรถรับจ้าง เริ่มจากรถสามล้อถีบ เปลี่ยนเป็นรถตุ๊กตุ๊ก สิบล้อ จนมาถึงรถตู้ฟอร์ด ตระเวนขายสินค้าในครัวเรือนจำพวกกะปิ น้ำปลา น้ำตาล ปลากระป๋อง ท่องไปทั่วราชอาณาจักร

เป็นพาหนะลำดับท้ายสุดนี้เองที่นำเขาเข้าสู่เส้นทางของการเป็นคนรับจ้าง “วิ่งศพ”

สมชายเล่าว่า “ผมหยุดขับรถเร่ขายของเพราะได้ยินข่าวโจรออกปล้นสะดมตามรายทาง ด้วยความที่มีบ้านอยู่หลังโรงพยาบาลศิริราช รถตู้ที่ซื้อมาก็จัดแจงรื้อเบาะออกหมดแล้ว จึงนึกถึงการวิ่งศพขึ้น…

“การวิ่งศพที่ว่าหมายถึงการรับจ้างขนศพที่เสียชีวิตจากโรงพยาบาลไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่บ้านหรือวัด ดังนั้น หากเป็นศพที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนโดยทั่วไป นั่นไม่ใช่หน้าที่ของเรา ปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของป่อเต็กตึ๊ง”

หลังขับรถวิ่งศพมาได้ระยะหนึ่ง ญาติของผู้เสียชีวิตซึ่งมักนั่งอยู่เคียงกันระหว่างทางก็ถามถึงหีบศพขึ้นมา บ้างก็ว่า “ขับรถขนศพอย่างนี้ทำไมไม่ขายหีบศพเสียด้วย จะได้ช่วยบรรเทาภาระแก่เจ้าทุกข์ ไม่ต้องไปหาซื้อหีบศพจากแหล่งอื่นให้เสียเวลา”

สมชายกล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้นว่า “เรื่องราวมันโยงกันไปโยงกันมาจนผมต้องมาค้าหีบศพเสียเอง”

บุตรชายคนที่ ๓ จากพี่น้องทั้งหมด ๖ คนตัดสินใจเปิดร้านขายหีบศพเล็กๆ ใกล้บ้านพักย่านพรานนก เริ่มต้นจากการรับหีบศพจากคนรู้จักมาขายต่อ เพาะบ่มความเชี่ยวชาญในวิชาชีพที่เกี่ยวพันกับความตายด้วยการลงไปคลุกคลีกับร่างไร้วิญญาณด้วยตนเอง

นอกเหนือจากการรับจ้างวิ่งศพแล้ว ความเป็นคนมีอัธยาศัยดีและใฝ่รู้ยังชักนำให้เขามีโอกาสทำความรู้จักกับบุคลากรภายในโรงพยาบาลศิริราช ทั้งยาม เจ้าหน้าที่ จนถึงแพทย์ผู้ทำหน้าที่วินิจฉัยสาเหตุการเสียชีวิต

เขาเล่าว่า “จากที่เคยเป็นคนกลัวผี หลังเข้าไปรับหน้าที่พิเศษภายในโรงพยาบาลศิริราชเพียง ๖ ปี ผมบรรลุเลย หน้าที่พิเศษของผมที่โรงพยาบาลเริ่มจากการนอนเฝ้าศพ หัดฉีดน้ำยาฟอร์มาลิน แล้วจึงมีโอกาสเข้าไปเป็นลูกมือหมอในห้องผ่า คอยหยิบมีดหยิบกรรไกรให้ กระทั่งได้ทดลองผ่าศพด้วยตนเอง เรียนรู้วิธีการลอกกระดูก ตัดแขนตัดขา เลาะตับไตไส้พุงออกมา หรือเอาสมองออกจากกะโหลกศีรษะ ผมทำได้หมด”

โรงพยาบาลศิริราชยุคนั้นได้รับการกล่าวขวัญว่า “ผีดุ” เป็นที่สุด ยิ่งช่วงดึกราวสักตีสามตีสี่ หากใครมีหน้าที่อยู่เวรจะได้ยินเสียงหมาเห่าหมาหอนดังระงม แต่ด้วยภาระที่ต้องรับผิดชอบกลับทำให้ สมชาย สุริยเสนีย์ เลิกกลัวผีไปโดยปริยาย

ประสบการณ์ในช่วงนั้น (อายุราว ๒๐ ปี) เป็นรากฐานอันสำคัญที่ทำให้เขารู้จักและเข้าใจในวิชาชีพคนทำหีบศพอย่างแท้จริง หลังก้าวออกจากโรงพยาบาลศิริราชจึงตัดสินใจหันหน้าเข้าสู่วงการค้าหีบศพอย่างเต็มตัว เรียนรู้วิธีต่อหีบด้วยตนเองแทนการสั่งมาขายซึ่งได้กำไรน้อยกว่าและอาจได้หีบที่มีลักษณะไม่ตรงตามความต้องการ ก่อนขยายกิจการเปิดสาขา ๒ ที่ย่านแครายในเวลาต่อมา

นับเป็นสาขาหลักจากทั้งหมดที่มี ๘ สาขาในปัจจุบัน

suriyacoffin03
หีบศพยุคใหม่ทำจากไม้ปาร์ติเกิล เป็นไม้วิทยาศาสตร์ที่มีส่วนประกอบจาก
ชานอ้อย ฟางข้าว หรือ ฟางข้าวโพด ใช้ทดแทนไม้เนื้อแข็งอย่าง
ยาง ตะแบก หูควาย ที่หาได้ยากในปัจจุบัน

suriyacoffin04
ลายเทพพนม ทำจากพลาสติกสีดำนำมาชุบผงสีทอง
ผสมน้ำยาแล็กเกอร์เป็นส่วนประกอบสำคัญในการตกแต่งหีบศพ

suriyacoffin05
หีบจำปา(โลงจีน) หีบทองในแกะลายกอบัว หีบขอบไม้สัก
หีบกระจกแกะลายปิดทอง ฯลฯ บางส่วนของหีบศพที่มีให้เลือกมากกว่า ๒๐ แบบ
และอาจเพิ่มขึ้น ๑๐๐ แบบเมื่อปรับเปลี่ยนรายละเอียดปลีกย่อย

“หีบศพของเรา…คนเห็นแล้วอยากตาย”

“ปัง ปัง ปัง ปังปัง ปัง ปัง” เสียงเครื่องยิงตะปูลมยังคงดังอย่างต่อเนื่อง เมื่อเราก้าวเท้าเข้าสู่ลานประกอบหีบทางด้านหลังสำนักงาน หจก.นนทบุรี สุริยา แคราย

โถงกว้างใต้หลังคามุงกระเบื้องแห่งนี้มีสภาพไม่ต่างไปจากโรงไม้ รายล้อมด้วยหีบศพเล็ก-ใหญ่ ทั้งที่ต่อเสร็จแล้วและกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ ลึกเข้าไปภายในมีเศษไม้และอุปกรณ์ตกแต่งหีบจำพวกผ้าตาดทอง ลายเทพพนม วางระเกะระกะเกลื่อนพื้น บนชั้นวางมีโต๊ะหมู่บูชา ตู้พระธรรม โต๊ะรองหีบ แท่นวางรูปหน้าหีบ พวงหรีดผ้า และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อ ๓๑ ปีก่อน สมชายตัดสินใจย้ายออกจากร้านขายหีบศพย่านพรานนก ยกสมบัติให้น้องชาย เพื่อมาสร้างอาณาจักรแห่งใหม่ที่ย่านแครายแห่งนี้

เขาเล่าความหลังเมื่อครั้งยังเป็นนักต่อหีบมือใหม่ให้ฟังว่า “ผมเริ่มศึกษาการต่อหีบจากนายช่างที่รู้จักกัน แต่ด้วยความเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ ชอบต่อยอด จึงทดลองออกแบบหีบที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเองขึ้นมา”

เขายกตัวอย่างเรื่องขนาดหีบ

“หีบยุคก่อนขนาดเล็กสุดเริ่มต้นจาก ๑๕ นิ้ว หมายความว่ากระดานแต่ละแผ่นมีความกว้าง ๑๕ นิ้วเท่ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นแผ่นรองพื้น แผ่นข้าง หรือฝาโลง เมื่อเราเอาทั้ง ๔ แผ่นมาประกอบกัน บวกกับอีก ๒ แผ่นหัวท้าย ก็จะได้หีบ ๑ ใบ แต่ผมคิดต่างว่าอัตราส่วนดังกล่าวมันไม่สวยงามและเหมาะสม หีบเล็กสุดควรจะมีขนาด ๑๖ นิ้ว โดยวัดเอาตามความกว้างของแผ่นรองพื้น ส่วนแผ่นด้านข้างจัดให้แคบกว่าคือ ๑๕ นิ้ว เช่นเดียวกับฝาหีบที่วางอยู่ด้านบนและต้องหลบมุมเข้าในก็ควรให้กว้างสัก ๑๕ นิ้วด้วย”

ด้วยขนาดหีบที่มีให้เลือกตั้งแต่ ๑๖ นิ้ว ๑๘ นิ้ว ๒๐ นิ้ว เรื่อยไปจนถึงหีบใหญ่สุดขนาดแผ่นรองพื้น ๓๖ นิ้ว หีบแต่ละใบจึงมีอัตราส่วนเฉพาะตัว ยกตัวอย่างหีบ ๑๘ นิ้ว มีความกว้างของแผ่นรองพื้น ๑๘ นิ้ว แผ่นด้านข้าง ๑๖ นิ้ว ฝาหีบ ๑๗ นิ้ว เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างออกไปจากผู้ค้าหีบยุคเดียวกันซึ่งยังนิยมใช้ไม้กระดานกว้างเท่ากันหมดทุกแผ่น

“ส่วนด้านในหีบก็เช่นกัน ยุคก่อนจะไม่มีการตกแต่งอย่างประณีตงดงามเหมือนในปัจจุบันนี้เลย อย่างมากก็เอาชันเรือมาพอนตามขอบ ตามพื้น แล้วเอากระดาษฟางปูทับ แผ่นกระดานด้านข้าง ฝาปิดหีบ แผ่นปิดหัวท้ายด้านในไม่มีการไส ปล่อยให้มีเสี้ยนไม้อยู่เต็มไปหมด แตกต่างจากหีบศพสุริยาที่เริ่มปฏิวัติให้มีการไสทั้งหมดทุกด้าน จากนั้นยังมีการบุผ้าภายใน โดยปัจจุบันมีให้เลือกทั้งผ้านวม ผ้าต่วน ผ้าต่วนลายจีน”

สมชายกล่าวว่า “เราพยายามต่อหีบของเราอย่างประณีตที่สุด ทำให้งดงามที่สุด ให้คนเห็นแล้วเกิดความรู้สึกอยากตาย อย่างนี้ถึงจะค้าขายเจริญ”

suriyacoffin06
ฉลุลวดลายแล้วลงรักปิดด้วยทองคำเปลว ขั้นตอนสำคัญซึ่งต้องอาศัยเรี่ยวแรงมนุษย์เท่านั้น ไม่อาจพึ่งพาเทคโนโลยีใดๆ

เมื่อหีบไม้กลายเป็นงานศิลป์

หลังศึกษาการต่อหีบจากนายช่างที่รู้จักกัน สมชายพัฒนาฝีมือจนมีหีบให้เลือกมากกว่า ๒๐ แบบ และอาจเพิ่มขึ้นถึง ๑๐๐ แบบเมื่อปรับเปลี่ยนรายละเอียดปลีกย่อย อาทิ หีบธรรมดา หีบขอบเทพพนม หีบฐาน ๑ ชั้น ๒ ชั้น ๓ ชั้น หีบผ้าตาดทอง หีบทรงธรรม หีบจำปา หีบปรับอากาศ หีบกระจกมุก หีบทองในลายพิกุลประดับกระจก หีบลูกฟูกทำจากวัสดุรีไซเคิลช่วยลดเชื้อเพลิงในการเผา

๕๑ ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตยังคงเป็น “ไม้”

หากแต่เปลี่ยนจาก “ไม้ป่า” มาเป็น “ไม้ประดิษฐ์”

ชายวัย ๗๓ ปีผู้ยังมีความสุขในการประกอบวิชาชีพและได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการต่อหีบให้ลูกน้องกว่า ๔๐ ชีวิตกล่าวว่า “หีบศพในอดีตนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งอย่างไม้ยาง ตะแบก หูควาย มะยมหิน แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นไม้อัด ไม้เอ็มดีเอฟ ไม้ปาร์ติเกิลกันเกือบหมดแล้ว”

ครั้งหนึ่ง เขายังเคยทดลองใช้ไม้เนื้ออ่อนที่เปื่อยยุ่ยง่ายอย่างไม้กระท้อน ไม้ทุเรียน มาต่อหีบ แนะนำสำหรับศพที่ตั้งสวดอภิธรรมเพียงไม่กี่วันแล้วเอาขึ้นเมรุเผาเลย นอกจากจะใช้งานได้ ไม่มีปัญหา ราคายังถูกกว่าหีบไม้เนื้อแข็งด้วย แต่ปัจจุบันหีบศพของสุริยาคงเหลือเพียงหีบที่ต่อจากไม้เอ็มดีเอฟ ไม้ปาร์ติเกิล และไม้สัก เพียง ๓ ชนิด

ไม้เอ็มดีเอฟ (Medium-Density Fiberboard) หรือไฟเบอร์บอร์ดความหนาแน่นปานกลาง เป็นไม้วิทยาศาสตร์ที่ผลิตจากการบดไม้เนื้ออ่อนแล้วเอามาอัดขึ้นรูป ประสานด้วยสารเคมีภายใต้อุณหภูมิและความดันตามกำหนด ส่วนไม้ปาร์ติเกิล (Particle Board) เป็นไม้วิทยาศาสตร์ที่มีส่วนประกอบสำคัญคือ ชานอ้อย ฟางข้าว ฟางข้าวโพด

ไม้ประดิษฐ์ทั้งสองชนิดเริ่มได้รับความนิยมสำหรับการต่อหีบเมื่อราว ๕ ปีที่ผ่านมา

สมชายอธิบายว่า “แม้จะเปลี่ยนจากไม้ธรรมชาติมาเป็นไม้วิทยาศาสตร์ แต่คุณภาพและราคาก็แทบไม่ต่างไปจากเดิม หีบที่ต่อเสร็จสมบูรณ์ยังคงเก็บรักษาไว้ได้ไม่ต่ำกว่า ๒-๓ ปี ขณะที่หีบที่ต้องมีความโค้งมนเป็นเอกลักษณ์อย่างหีบจำปา (โลงจีน) ทีมงานสุริยาก็หาทางดัดไม้ให้มีลักษณะเป็นไปตามความต้องการได้”

ในส่วนขั้นตอนการต่อหีบ เขาเริ่มต้นจากการตัดแผ่นไม้ให้ได้ขนาด นำมา “ขึ้นโครง” หรือประกอบเป็นรูปร่างโดยใช้เครื่องยิงตะปูลม ติดขาตรงหัวมุมทั้ง ๔ ด้าน

ด้วยขั้นตอนที่กล่าวมา หากเตรียมตัดไม้ไว้ให้พร้อมจะใช้เวลาต่อหีบ ๑ ใบราว ๘ นาทีเท่านั้น เป็นสถิติที่สมชายทำไว้ในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง

เมื่อนำมาทาสีขาว บุภายในด้วยพลาสติกกันซึม ก็สามารถนำไปใช้งานได้ทันที โดยเรียกชื่อว่า “หีบธรรมดา” ราคา ๒,๕๐๐ บาท

หากแต่ในยุคปัจจุบัน “บ้านหลังสุดท้ายของชีวิต” ได้ถูกนำมาตกแต่งเพิ่มเติมอย่างประณีตบรรจง จนมีคุณค่าและความงามไม่ต่างจากผลงานศิลปะเลยทีเดียว

ยกตัวอย่างการจับผ้าตาดจีบรอบใบหีบ

การประดับลวดลายเทพพนม นางฟ้า ชุบสีทองอร่ามตา

การฉลุเนื้อไม้จนกลายเป็นลวดลายของเถาองุ่น พิกุล มังกร ที่อ่อนช้อยงดงามราวกับมีชีวิต ลงรักปิดด้วยทองคำเปลว

หรือจะเป็นการออกแบบหีบขามนชนิดไม่มีฐานรอง ที่เมื่อมองจากด้านข้างแลดูขาหีบคล้ายกับปีกนก

ทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยากลำบากที่ไม่อาจพึ่งพาเทคโนโลยีใดๆ ในการผลิต จำเป็นต้องอาศัยทั้งหัวใจและเรี่ยวแรงมนุษย์ ประกอบกับมันสมองที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ความหลงใหลในงานที่ทำ และความเป็นมืออาชีพที่ต้องการให้ผลงานออกมาดี เพื่อร่วมส่งผู้ตายสู่การเดินทางครั้งสุดท้ายไปพร้อมกัน

ขณะเดียวกันก็พลอยทำให้ “มูลค่า” ของมันเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

การตกแต่งหีบภายหลังขึ้นโครงเสร็จเรียบร้อยจึงแตกต่างออกไปตามหีบแต่ละประเภท หากเป็นหีบขอบเทพพนมให้ติดลายเทพพนม นางฟ้า ใบอ้อยบนตัวหีบทั้ง ๔ ด้าน ติดฐานรองหีบที่มีให้เลือกตั้งแต่ ๑-๓ ชั้น แล้วบุทับพลาสติกกันซึมอีกชั้นหนึ่งด้วยผ้านวม ราคาขยับขึ้นเป็น ๔,๕๐๐-๘,๐๐๐ บาท

หีบผ้าตาดทองเรียบต้องติดผ้าตาดสีทองก่อนติดลายเทพพนม เมื่อกระทบแสงไฟจะส่งประกายระยิบระยับงดงามราวหมู่ดาว ด้านในยังบุทับพลาสติกด้วยผ้าต่วนซึ่งมีความเงามัน ราคา ๑๘,๐๐๐ บาท

หีบทองในแกะลายองุ่น ตัวหีบทำจากไม้สักอายุระหว่าง ๒๕-๕๐ ปี แกะสลักแผ่นไม้เป็นลวดลายเถาองุ่น แล้วปิดด้วยทองคำเปลวบริสุทธิ์ ราคา ๑๕๐,๐๐๐ บาท

หีบกระจกมุกลายเปลว ผนังหีบทำจากกระจกใส ผนังด้านในประดับด้วยกระจกเงาเพื่อช่วยในการมองเห็น ติดไฟดาวน์ไลต์และพัดลมดูดอากาศ เหมาะสำหรับเกจิอาจารย์หรือบุคคลสำคัญ ราคา ๒๐๐,๐๐๐ บาท

หีบไม้สักทรงธรรม ฝาหีบนูนเหมือนหีบสไตล์ตะวันตก ตัวหีบทาเชลแล็กโชว์ลายไม้สักแท้ หีบนี้ออกแบบมาสำหรับลูกค้าที่ต้องการเก็บศพไว้นานเกิน ๑ ปี ราคา ๒๕๐,๐๐๐ บาท

หีบมุกแกะลายสระบัว ตัวหีบแกะสลักลวดลายสระบัวประดับมุก ราคา ๔๕๐,๐๐๐ บาท เป็นหีบที่มีราคาสูงสุดในบรรดาหีบศพของ หจก.นนทบุรี สุริยา แคราย

ในปัจจุบันนอกเหนือจากรับทำหีบศพเฉพาะกิจตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง สมชายยังเดินหน้าพัฒนารูปแบบหีบศพใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ปรัชญาชีวิตจากนักทำหีบศพมืออาชีพ

ประกอบอาชีพค้าหีบศพมานาน ขยายกิจการจนครอบคลุมแทบทุกด้านเรื่องการให้บริการหลังความตาย ๒๔ ชั่วโมง (รถตู้ขนส่งศพ พนักงานฉีดน้ำยาฟอร์มาลิน จำหน่ายอุปกรณ์ประกอบพิธีกรรมทุกศาสนา ราชรถหรือรถเข็นศพ ชุดดอกไม้หน้างาน ของชำร่วย ลุ้งอังคาร โกศ ฯลฯ)

ได้รับความไว้วางใจให้ต่อหีบบรรจุศพบุคคลสำคัญของประเทศมาก็หลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี กำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ มารดาของเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย นักร้อง-นักแสดงชื่อดัง ฯลฯ

บ่อยครั้งเขาถูกตั้งคำถามว่าคิดอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า “อาชีพค้าหีบศพ อาชีพที่หากินกับความตาย”

สมชายให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า “จากประสบการณ์ของผม การจัดพิธีศพของไทย ญาติผู้เสียชีวิต ๑๐๐ รายจะเลือกใช้หีบศพที่มีคุณภาพเสีย ๙๐ ส่วนที่เหลืออีก ๑๐ จะไม่เรื่องมาก ขอหีบอะไรก็ได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาถือว่าผู้เสียชีวิตเป็นบิดามารดา ครูอาจารย์ หรือใครก็ตามที่เขาให้ความเคารพนับถือ เมื่องานศพถูกจัดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิต ก็ขอทุ่มเททำให้ดีที่สุด

“เคยมีบางคนถามว่าหีบผ้าตาดทองเรียบราคาเท่าไหร่ เมื่อรู้ว่าราคาต่ำไปเขาก็เปลี่ยนไปสนใจใบอื่น พอได้ยินว่าหีบไม้สักทรงธรรมราคาสองแสนห้าแล้วหยุดกึกเลย อยากจะได้หีบนี้เท่านั้น”

เมื่อถามว่าทุกครั้งที่ขายหีบได้ นั่นคือมีคนตายเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชีวิต เขาคิดในเรื่องนี้อย่างไร

“โดยสถิติทางการแพทย์หรือสถิติอุบัติเหตุก็ตาม จะมีการคำนวณอยู่แล้วว่าในรอบวันมีคนเสียชีวิตโดยเฉลี่ยจำนวนเท่าไร ไม่ว่าจะมองมุมไหน อย่างไร ความตายก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญของมนุษย์ เราไม่จำเป็นต้องไปแช่งชักหักกระดูกใคร เพียงทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดก็พอ

“แท้จริงการทำธุรกิจนี้ต้องมีความเมตตา คนขายต้องสะอาด เถรตรง ไม่คดโกงเพื่อหวังเอาเงินเพียงอย่างเดียว ใครที่คิดดี พูดดี ทำดี ก็จะได้รับสิ่งดีๆ ตามมา ความรู้สึกเวลาเราจัดหีบศพให้ ช่วยญาติของผู้ตายดูแลเรื่องพิธีกรรมจนเขาพึงพอใจ ให้ศีลให้พรเรากลับมา มันเป็นความรู้สึกภาคภูมิใจและสบายใจอย่างบอกไม่ถูก

“ผมทำอาชีพนี้มา ๕๑ ปี กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์”