ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : สัมภาษณ์
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

“เจ้าชายผัก” แห่งสวนป่าคอนกรีต นคร ลิมปคุปตถาวรชายผู้นี้มีนามว่า “ปริ๊นซ์”
Prince ที่แปลว่าเจ้าชาย
แต่ผู้คนรู้จักเขาในนาม “เจ้าชายผัก”ฉายานี้ได้มาอย่างไร

ณ บ้านพักกลางเมืองในย่านเศรษฐกิจที่โอบล้อมด้วยตึกสูง ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน  เขาเติมเต็มพื้นที่ว่างแทบทุกตารางเมตรด้วยสิ่งมีชีวิตสีเขียว ส่วนใหญ่เป็นพืชตระกูล “ผัก” ที่ปลูกง่าย โตไว เก็บเกี่ยวมารับประทานได้ทันใจหลังหย่อนเมล็ดลงหลุมไม่กี่สัปดาห์

นับจากได้รับที่ดินรกร้างไม่ห่างจากตัวบ้านกลางซอยลาดพร้าวมาไว้ในครอบครอง สิ่งแรกที่เขาทำคือทุบพื้นคอนกรีตบนเนื้อที่ราว ๓๐ ตารางเมตรทิ้ง เนรมิตแปลงผักนานาชนิดขึ้นแทน  เขาอธิบายว่า “พื้นปูนมันร้อนไม่เหมาะต่อการปลูกต้นไม้”  ขณะที่ตึกร้างสร้างไม่เสร็จในรั้วเดียวกัน เขามีโครงการทำ “สวนผักแนวตั้ง” ชุบชีวิตตึกร้างให้เป็นแบบอย่างวิถีการพึ่งพาตนเอง

จากหนุ่มน้อยผู้ไม่เคยปลูกผักสัมผัสดิน ปริ๊นซ์-นคร ลิมปคุปตถาวร กลายเป็นผู้นำการปลูกผักปลอดสารพิษอย่างไม่รู้ตัว  เมื่อราว ๓ ปีก่อนเขาเปิดโรงรถข้างบ้านเป็นสถานที่ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการปลูกผักในเมือง  ครั้งแรกมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมน้อยกว่าทีมงานด้วยซ้ำ กระทั่งต่อมาเริ่มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ล่าสุดจัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๑๐ กว่าแล้ว  ปริ๊นซ์ยังร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ริเริ่มโครงการสวนผักคนเมือง สนับสนุนให้กลุ่มบุคคล โรงเรียน วัด มัสยิด องค์กรเอกชนทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนชุมชนเมืองในต่างจังหวัดปลูกผักปลอดสารพิษกินเอง  มีกิจกรรมไฮไลต์คือการประกวดโครงการ “สวนผักในบ้านฉัน” ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งทุกปี

ทุกครั้งที่มีโอกาสหย่อนเมล็ดผักลงหลุม เฝ้าประคบประหงม มองดูผักแต่ละต้นแทงทะลุยอดอ่อนขึ้นจากดิน แตกกิ่งก้านใบจนเก็บมาปรุงอาหาร เมื่อมีเหลือก็แบ่งปันให้เพื่อนฝูง  เจ้าชายผักวัย ๒๘ ปีบอกว่าสิ่งที่ตนเองได้รับไม่ใช่เพียงอาหารสุขภาพ  แต่เขาได้ค้นหาความหมายของชีวิต ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้มิตรภาพ ได้ใช้แรงกาย ได้มีโอกาสสัมผัส “พลังชีวิต” ที่แฝงเร้นอยู่ในเส้นใยผัก

คนเมืองหลายคนอาจนึกอยากปลูกผักกินเองดูสักครั้ง หากยังลังเลว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร จะทำได้จริงหรือไม่  วันนี้ชายหนุ่มคนนี้ได้แสดงให้เห็นแล้ว

เจ้าชายผัก แห่งสวนป่าคอนกรีต นคร ลิมปคุปตถาวรชีวิตวัยเด็กเหมือนหรือแตกต่างจากเด็กเมืองทั่วไปอย่างไร
ผมเป็นคนกรุงเทพฯ เติบโตในครอบครัวช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศย่านห้วยขวาง เกือบทั้งชีวิตไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเกษตร  จำได้ว่าตอนเด็กๆ สุขภาพไม่แข็งแรง ป่วยเป็นโรคหอบหืด จนเมื่อย้ายมาอยู่โรงเรียนชายล้วนเริ่มหัดเล่นกีฬา โรคภัยไข้เจ็บก็ค่อยทุเลาลง

สิ่งหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากเอาชนะตัวเองในเรื่องสุขภาพเกิดขึ้นเมื่ออ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง  ผู้เขียนเป็นคนเดียวกับที่เขียนเรื่องกัปตันซึบาสะ (การ์ตูนฟุตบอลชื่อดังเมื่อราวทศวรรษ ๒๕๓๐-๒๕๔๐) พระเอกเป็นคนตัวเล็ก อ่อนแอ โดนเพื่อนแกล้งประจำ จึงหันมาฟิตซ้อมร่างกาย ชกมวยจนบึกบึน  แรงบันดาลใจจากการ์ตูนเรื่องนี้ทำให้ทุกวันก่อนเข้าห้องเรียนผมจะวิ่งรอบสนาม ๒๐ รอบ ซิตอัป อีกทั้งไปสมัครเรียนทักษะฟุตบอลกับธำรงไทยสโมสรจนได้ชื่อว่าเป็นนักเตะฝีเท้าดี

ถึงช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย แม้ไม่ใช่คนเรียนเก่งแต่ผมรู้ตัวว่าชอบอะไร สนใจคณะที่เปิดสอนเกี่ยวกับศิลปะ วิทยาศาสตร์ หรือกีฬา  ปรากฏว่าสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยรัฐได้ ๒ แห่ง คือคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผมตัดสินใจเลือกคณะหลังเพราะชอบบรรยากาศการต้อนรับของรุ่นพี่

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยทำให้คุณเริ่มสนใจเรื่องการเกษตรบ้างไหม
มันคาบเกี่ยวตั้งแต่ชั้นปีที่ ๑  ตอนนั้นชีวิตในมหาวิทยาลัย ครึ่งหนึ่งเรียนหนังสือ อีกครึ่งหนึ่งทำกิจกรรม  ไม่เคยกังวลกับผลการเรียน ขอเพียงได้เรียนในแบบที่ตัวเองมีความสุข  พอขึ้นชั้นปีที่ ๒ เทอม ๒ วิชาการเกษตรยั่งยืนคือวิชาแรกที่ได้เริ่มลงมือปลูกผักอย่างจริงจัง มีแปลงผักเป็นของตัวเอง  วิชานี้อาจารย์ผู้สอนจะเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือนักปฏิบัติการทางการเกษตรมาสอน เราชอบเรียนเพราะได้ความรู้จากผู้ที่ลงมือปฏิบัติจริง  ประกอบกับเมื่อขึ้นชั้นปีที่ ๒ เป็นต้นมา แม้รายวิชาเฉพาะทางการเกษตรจะมากขึ้น แต่ล้วนสอนให้ใช้ยาฆ่าแมลงหรือปุ๋ยเคมีที่อาศัยการท่องจำ สวนทางกับเนื้อหาของวิชาการเกษตรยั่งยืน การปลูกพืชปลอดสารพิษ เริ่มรู้สึกว่าตัวเองได้คิด เป็นนักศึกษาจริงๆ ก็คราวนั้น

อาจารย์รับเชิญที่สร้างความประทับใจชื่ออาจารย์ชนวน รัตนวราหะ อดีตผู้ตรวจการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นข้าราชการเพียงไม่กี่คนในยุคนั้นที่สนใจการทำเกษตรอินทรีย์  จำได้คำหนึ่งอาจารย์ชนวนบอกว่า พวกคุณต้องให้ความสำคัญกับการเกษตรยั่งยืนเพราะนี่คือหัวใจแห่งอนาคต  เราฟังแล้วถึงกับงง สงสัยคำว่า “ยั่งยืน” หมายความว่าอย่างไร ที่เรียนมาปีกว่ามันไม่ยั่งยืนอย่างนั้นหรือ  ยกมือถามท่านบอกให้ใจเย็น ประเดี๋ยวเรียนไปจะรู้เอง เพียงบอกใบ้ให้ว่าความยั่งยืนต้องประกอบขึ้นจากความหลากหลาย ความเกื้อกูล และการพึ่งพาตนเอง

อีกคนคือ รศ. ดร. อรรถ บุญนิธี อายุ ๗๐ กว่าแต่ยังขี่จักรยานมาสอนหนังสือ ปลูกผักปลูกข้าวกินเองอยู่แถวตลาดไท ท่านสอนเราเรื่องการทำน้ำหมักชีวภาพโดยนำกากน้ำตาลมาหมักกับเศษอาหารเศษผักผลไม้  ท่านอธิบายว่าน้ำสีน้ำตาลใสจนเกือบดำที่ได้มีทั้งสารอาหาร จุลินทรีย์ ฮอร์โมนที่พืชต้องการ  ได้ยินดังนั้นเราหูผึ่งเลยเพราะตรงกับเรื่องปุ๋ยเคมีที่เคยร่ำเรียนมา  แต่น้ำหมักชีวภาพไม่ต้องเสียสตางค์ซื้อ เพียงมีความรู้ก็ทำปุ๋ยใช้เองได้

แต่การสอนปลูกผักในคณะนับว่าแปลก  เมื่อผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับเชิญมาสอนอย่างหนึ่ง แต่อาจารย์ประจำภาควิชาที่ควบคุมแปลงผักในวิชาเกษตรยั่งยืนกลับสอนอีกอย่างหนึ่ง คือบอกให้ใช้ปุ๋ยยูเรีย  เราก็ปฏิบัติตามกันไปปรากฏว่าต่อให้ใส่ปุ๋ย รดน้ำพรวนดินยังไง ต้นผักก็ยังแคระแกร็น

กระทั่งได้คุยกับ รศ. กษิดิศ อื้อเชี่ยวชาญกิจ อาจารย์ประจำภาควิชา ท่านทักขึ้นว่าเคยเห็นเราทำน้ำหมักชีวภาพทำไมไม่ใช้  ดูซิจะเหมือนอาจารย์อรรถว่าไว้จริงหรือเปล่า  วันนั้นท่านแบ่งน้ำหมักชีวภาพของท่านมาให้เราครึ่งหนึ่ง ผสมกับของเราอีกครึ่งหนึ่งใส่ฝักบัวเติมน้ำรดแปลงผักที่แคระแกร็น  รดไปเย็นวันศุกร์ ถึงเช้าวันจันทร์เรื่องมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น อย่างกับมีใครมาเปลี่ยนต้นผัก ! มันงามขึ้นอย่างผิดหูผิดตา  วิเคราะห์ดูก็พบว่าน่าจะเป็นอย่างที่อาจารย์อรรถ บุญนิธี บอก ในดินจะมีแต่ธาตุอาหารหลัก NPK จากปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีฮอร์โมน ธาตุอาหารเสริม จุลินทรีย์ด้วย ซึ่งเมื่อพลันได้รับน้ำหมักชีวภาพผักก็เติบโต

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น เราก็คิดว่าการทำเกษตรอินทรีย์มีทางเป็นไปได้  ตั้งแต่นั้นมา ถ้ารู้ว่ามีใครทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ก็จะตามไปขอดู

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการเกษตร ยังมีจุดเด่นข้อหนึ่ง คือกำหนดให้นักศึกษาต้องฝึกงานทุกปิดเทอม  ถึงชั้นปีที่ ๓ เทอม ๒ นักศึกษาได้มีโอกาสเดินทางไปฝึกงานต่างประเทศด้วย ซึ่งในสมัยนั้นประเทศที่มีโอกาสได้ไปคือญี่ปุ่นหรือออสเตรีย  ตอนนั้นแทบทุกคนมีญี่ปุ่นเป็นเป้าหมาย เราเองก็ลงชื่อไว้ ไปเข้าคอร์สเรียนภาษาญี่ปุ่นแล้ว แต่พอได้ฟังบรรยายของศาสตราจารย์ ดร. ฮานส์ มาร์ติน สไตเนอร์(Prof. Hans Martin Steiner) ชาวออสเตรีย ก็เปลี่ยนใจ  ท่านเล่าว่าออสเตรียเป็นประเทศที่น่าสนใจเพราะมีพื้นที่เพาะปลูกพืชอินทรีย์มากที่สุดของยุโรปในสมัยนั้น ราวปี ๒๕๔๕-๒๕๔๖ คิดเป็นร้อยละ ๑๑ ของทั้งประเทศ  ขณะที่ประเทศไทยในเวลานั้นยังมีพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่ถึงร้อยละ ๐.๑

เรารีบกลับมาชวนเพื่อนคนหนึ่งชื่อเต๋า  เต๋ากำลังจะได้ไปญี่ปุ่นอยู่แล้ว แต่เรารั้งไว้เพราะถ้าไม่มีใครไปด้วยคงจะพลาด  ซาบซึ้งที่เต๋าตอบตกลงทั้งที่เวลากระชั้นมาก  สรุปว่านักศึกษารุ่นนั้นมีไปฝึกงานออสเตรีย ๔ คน ที่เหลืออีก ๒๐ กว่าคนไปญี่ปุ่น

ประสบการณ์ฝึกงานที่ประเทศออสเตรียเป็นอย่างไร
ออสเตรียตั้งอยู่กลางยุโรป เป็นดินแดนแห่งดนตรีและศิลปะ เป็นบ้านเกิดของโมสาร์ทและดินแดนที่สร้างชื่อให้แก่เบโทเฟน  ชาวออสเตรียพบว่าการทำเกษตรเคมีจะทำให้ผืนดินเต็มไปด้วยพืชชนิดเดียว หากทำไร่มันฝรั่งก็เต็มพรืดไปด้วยต้นมันฝรั่งทั้งภูเขา ซึ่งเขาไม่คิดว่านั่นเป็นสิ่งที่งดงาม มันทำให้ผืนดินไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพ  คนออสเตรียจึงพยายามผลักดันให้เกิดการปลูกพืชผักหลากหลายชนิดและโหยหาวิถีเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันจะทำให้ประเทศของเขาเกิดทัศนียภาพที่งดงาม เขาเชื่อว่าที่สุดแห่งที่สุดคือเกษตรอินทรีย์และสมควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

เราถูกส่งไปฝึกงานที่ฟาร์มชาวบ้านในหมู่บ้านชนบทชานเมือง  เมื่อถามเกษตรกรว่าปลูกพืชออร์แกนิกหรือเกษตรอินทรีย์ไปทำไม เขาตอบสั้นๆ ง่ายๆ ว่าอยากให้ครอบครัวได้รับในสิ่งที่ดีที่สุด สอดรับกับนโยบายระดับชาติที่อยากให้ประชาชนได้รับในสิ่งที่ดีที่สุดเช่นกัน

กิจวัตรประจำวันที่นั่นเป็นอย่างไร
เราเดินทางไปถึงเมื่อหิมะเริ่มละลาย อาศัยอยู่กับโฮสต์แฟมิลีที่เมืองอุนเตอร์มาลลิบาร์น (UnterMallebarn) ชานกรุงเวียนนาเมืองหลวงของออสเตรีย  ชาวบ้านเป็นเกษตรกรปลูกข้าวสาลี วิถีคล้ายชาวสวนในพื้นที่รอยต่อกรุงเทพฯ-ปทุมธานีที่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมกันอยู่

ครอบครัวที่เราไปอาศัยอยู่ในบ้านโบราณอายุไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ ปี ตระกูลนี้อยู่กันมา ๕ ชั่วรุ่นแล้ว ปัจจุบันยังอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ทั้งปู่ย่าตายาย พ่อแม่ น้าอา เด็กๆ  บ้านเป็นโรงนาเก่า ห้องเก็บผักและผลผลิตสดจะขุดลึกลงไปใต้ดิน  เราได้สัมผัสวิถีเกษตรของประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปซึ่งเดิมผมคิดว่าคงไม่พ้นการพึ่งพาเครื่องจักรเทคโนโลยี เป็นสังคมปัจเจกชนิดตัวใครตัวมัน แต่การณ์กลับเป็นตรงกันข้ามเพราะเครื่องจักรเหล่านั้นไม่ได้มีความหมายไปกว่าการที่เขาได้มีโอกาสอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าเลย  ในชุมชนเดียวกันบ้านแต่ละหลังจะมีเครื่องจักรไม่ซ้ำชนิดกันเพื่อเอาไว้แลกเปลี่ยน บ้านไหนไม่มีเครื่องปลูกมันฝรั่งก็ขอยืม หากรถแทรกเตอร์บ้านนี้ดีกว่า บ้านอื่นก็มาขอยืมใช้ รถไถจอดทิ้งไว้ในแปลงนาได้ไม่มีใครขโมย

เราอาศัยในหมู่บ้านชานเมืองซึ่งผู้คนส่วนใหญ่พูดภาษาเยอรมัน ฟังไม่ค่อยเข้าใจ แต่เมื่อเห็นเราเขาจะส่งยิ้มให้ เดินตรงมาทักทายไม่รังเกียจคนต่างถิ่น  นี่ไม่ใช่สังคมอุดมคติแต่มีอยู่จริงที่ออสเตรีย ที่สำคัญคือไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะสังคมเกษตรกร  เพื่อนบ้านเราเขาก็เป็นนักวิชาการประจำสถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุด ชื่อสถาบันลุดวิก โบลต์ซมานน์ (Ludwig Boltzmann Institute) จะเห็นว่านักวิชาการอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกับเกษตรกรใช้ชีวิตชนิดเป็นเพื่อนบ้านกันเลย

มีอยู่วันเราต้องไปเก็บใบว่านกระเทียมจากหลังบ้านนักวิชาการคนนี้  ใบมันมีกลิ่นฉุน เอามาต้มเป็นซุปกระเทียมได้  เราขออนุญาตเก็บใบ เขาแนะว่าให้เก็บไปเผื่อขายที่ตลาดอินทรีย์ด้วย

prince nakorn03ตลาดอินทรีย์ที่ออสเตรียแตกต่างจากตลาดสีเขียวในเมืองไทยหรือไม่ครับ
organic market หรือตลาดอินทรีย์ เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำผลผลิตมาจำหน่ายเอง เรียกว่า farmer’s market ริเริ่มโดยเทศบาลแห่งกรุงเวียนนา ประสานกับสมาคมเกษตรกร  ตลาดอินทรีย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดตั้งอยู่ในโซนหนึ่งของตลาดนัชมาร์ค(Naschmarkt) อันเป็นตลาดแบบแบกะดินที่มีชื่อเสียงมากของออสเตรีย  ลักษณะคล้ายตลาดนัดสวนจตุจักรบ้านเรา แต่เขาแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับขายสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ มีทั้งสินค้าปฐมภูมิและที่ผ่านการแปรรูป เช่น น้ำส้มสายชู ขนมปัง ไวน์ ฯลฯ  เราขับรถจากบ้านเข้าเมืองไปขายผักที่ตลาดแห่งนี้

ความตื่นตัวเรื่องสินค้าอินทรีย์ของคนที่นี่สูงมาก  สินค้าในซูเปอร์มาร์เกตบางรายการจะวางคู่กันกับสินค้าที่ไม่ใช่ออร์แกนิกเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ว่าราคาแตกต่างกันเท่าไหร่ ซึ่งแพงกว่าแค่ ๐.๑ ยูโร เป็นแบบนี้แล้วคุณจะซื้อได้รึยัง โปรโมตกันไปเลยว่าด้านหนึ่งคือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาตินะ

สำหรับสินค้าแปรรูปบางรายการที่โฮสต์แฟมิลีของเรานำมาจำหน่าย เช่นขนมปังและขนมเค้ก ซึ่งมีส่วนประกอบที่ผลิตขึ้นภายในประเทศไม่ได้ เช่นน้ำตาลทรายที่ออสเตรียผลิตได้อย่างจำกัด กลุ่มสหกรณ์การเกษตรจะนำเข้าน้ำตาลออร์แกนิกมาให้ใช้เลยเพื่อให้เค้กชิ้นนั้นเป็นออร์แกนิกทั้งหมด  นอกจากนั้นไข่ไก่ออร์แกนิก
๖ ฟอง ราคา (คิดเป็นเงินไทย) ๓๐๐-๔๐๐ บาทก็ยังมีคนซื้อ  แล้วจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมของคนที่นี่สูงมาก แผงไข่ทำจากเยื่อกระดาษหากเก็บมาใส่ไข่ครั้งต่อไปจะได้ลดราคา ถ้าเป็นในห้างนำแผงไข่มาคืนก็ได้เงิน

มี “ซิตี้ฟาร์ม” หรือ “สวนผักคนเมือง” ให้เห็นไหม
แทบทุกบ้านในชนบทจะปลูกผัก แต่ไม่น่าแปลกใจเท่าบ้านในตัวเมือง  แม้แต่เพื่อนนักศึกษาชาวออสเตรีย เขารวมกลุ่มกัน ๔-๕ คนเช่าเกสต์เฮาส์กลางกรุงเวียนนา ปลูกผักแบ่งกันกิน  คนออสเตรียคิดว่าการปลูกผักกินเองได้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งสร้างกิจกรรมในครอบครัว ลดมลภาวะ ลดค่าใช้จ่าย ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารที่สดสะอาด ปลอดภัย

คนออสเตรียยังมีสุนทรียภาพในการดำรงชีวิต ให้ความสำคัญกับการพูดคุยกันในยามเย็น สังสรรค์กันอย่างเรียบง่าย เสาร์อาทิตย์ไปเดินชมสวน ปั่นจักรยาน  ครั้งหนึ่งเราได้ร่วมประเพณีสำคัญในวันหยุดประจำชาติ วันที่ ๑ พฤษภาคมของทุกปี (ตรงกับวันแรงงานในบ้านเรา) ญาติๆ และคนในชุมชนจะมารวมตัวกันแล้วไปล้อมต้นไม้จากป่านำกลับมาให้เด็กปลูก มอบหมายให้เด็กเป็นผู้ดูแลต้นไม้ไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ

ก่อนออกเดินทางไปออสเตรีย เราวาดภาพสังคมของประเทศพัฒนาแล้วแบบหนึ่ง แต่สิ่งที่เราพบกลับผิดไปถนัดตา

ในปีถัดมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อีก้า ดาร์นโฮเฟอร์ (Assoc.Prof.Dr.Ika Darnhofer) จากสถาบันเกษตรอินทรีย์ ภาควิชาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน มหาวิทยาลัยศาสตร์แห่งชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติเวียนนา ก็ได้รับเชิญมาจัดกิจกรรมด้านเกษตรอินทรีย์ให้แก่นักศึกษารุ่นน้อง รวมทั้งรับผิดชอบดูแลโครงการฝึกงานเกษตรอินทรีย์  ปรากฏว่าปีถัดมามีคนขอเดินทางไปฝึกงานที่ออสเตรียเพิ่มขึ้นเกือบ ๒๐ คน  แต่ละคนถูกส่งไปเรียนรู้วิถีเกษตรตามเมืองต่างๆ  หลังเดินทางกลับมานำเสนอผลการฝึกงาน แต่ละคนต่างก็นำเสนอด้วยแนวคิดและความรู้สึกต่อประเทศนี้ตรงกับประสบการณ์ของเรา  นั่นยิ่งทำให้เรามั่นใจว่าวิถีเรียบง่ายของคนออสเตรียนี้เป็นหนึ่งเดียว

ประสบการณ์ที่ออสเตรียยังทำให้เราเห็นวิถีเกษตรกรรมในโลก ถูกแบ่งออกเป็นสองกระแส คือกระแสที่เอาเงินตราเป็นตัวตั้ง กับกระแสที่เอาความสุขเป็นตัวตั้ง  เกษตรอินทรีย์และเกษตรยั่งยืนยึดถือความสุขของผู้ทำเป็นสำคัญ เป็นมาตรวัดว่าถ้ายั่งยืนทำแล้วต้องมีความสุขด้วย นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากการทำเกษตรยั่งยืน

คุณปริ๊นซ์ให้คำจำกัดความคำว่า “เกษตรยั่งยืน” อย่างไร แตกต่างจาก “เกษตรอินทรีย์” หรือไม่
ความหมายของเกษตรยั่งยืนซึ่งผมยึดถือมาโดยตลอด คือการเกษตรที่ทำวันนี้แล้วไม่เบียดเบียนลูกหลานในวันหน้า  หมายความว่าฐานทรัพยากรธรรมชาติต้องไม่ร่อยหรอลงไป ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ป่า พืช สัตว์ หรืออากาศอันบริสุทธิ์

เกษตรยั่งยืนเปรียบเหมือนจุดหมายบนยอดเขา  ขณะที่เรามีเกษตรอินทรีย์เป็นเส้นทางหนึ่งให้เลือกเดินขึ้นสู่ยอดเขานั้น  ทางเดินอาจมีได้หลายเส้นทาง เช่น เกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ หรือวนเกษตร

หากเป็นเส้นทางเกษตรอินทรีย์ เรายึดหลักว่าห้ามใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการเพาะปลูก เพราะไม่ต้องการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม  แต่หากเป็นวนเกษตร คุณมีพื้นที่อยู่ในป่า ก็ต้องปลูกแบบไม่ทำลายป่า หรือต้องปลูกพืชเลียนแบบป่า  หากเป็นเส้นทางเกษตรผสมผสาน นอกจากจะปลูกผักปลูกข้าวแล้วคุณต้องเลี้ยงสัตว์เพื่อเอามูลมาทำปุ๋ยด้วย  แต่ละเส้นทางจึงแตกต่างกันออกไป แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือเกษตรยั่งยืน

แล้วอีกทางเดินหนึ่งอย่างเกษตรที่ใช้สารเคมีล่ะเป็นอย่างไร จะนำทางเราสู่ความยั่งยืนได้หรือไม่  คำตอบในยุคสมัยของเราชัดเจนว่าการใช้ปุ๋ยเคมีทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ใช้ยาฆ่าแมลงทำให้ระบบนิเวศเสียหาย ฐานทรัพยากรธรรมชาติจึงถูกทำลาย เป็นการเบียดเบียนลูกหลานในอนาคต

ช่วงที่เริ่มหันมาสนใจเกษตรยั่งยืน เวลานั้นบริบทสังคมไทยในเรื่องเกษตรอินทรีย์เป็นอย่างไร
ช่วงปี ๒๕๔๕-๒๕๔๖ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกมีบทบาทในสังคมไทยอย่างเด่นชัด  เวลานั้นอยู่ในช่วงท้ายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘  มีการบรรจุหัวข้อการทำเกษตรยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ  กระทรวงเกษตรฯ ยอมรับให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโครงการของภาครัฐ

ระหว่างนั้นคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ร่างหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิขาการเกษตรยั่งยืน ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่เยี่ยมมาก  สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ และสถานการณ์ของบ้านเมืองที่มีผู้คนหันมาสนใจการทำเกษตรกรรมยั่งยืนมากขึ้น

แล้วจุดเริ่มต้นของการปลูกผักที่บ้านคุณปริ๊นซ์เกิดขึ้นได้อย่างไร
ระหว่างเรียนต่อปริญญาโท (คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิขาการเกษตรยั่งยืน) ผมออกเดินทางไปทั่วประเทศ ได้รับความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์มามาก สุดท้ายก็กลับมาหาพื้นฐานคือเริ่มที่ตัวเราเอง  ก่อนเรียนจบเรากลับมาเขียนวิทยานิพนธ์อยู่ที่บ้าน แล้วเริ่มปลูกผักกินเองตอนนั้น  จากที่เคยคิดว่าเมื่อเรียนจบจะหาที่ดินต่างจังหวัดทำไร่ทำนา แต่ใจหนึ่งก็คิดว่าที่ผ่านมาพ่อแม่อนุญาตให้เราทำสิ่งที่รักมาตลอด วันหนึ่งจะขอหนีไปอยู่ต่างจังหวัดจะเป็นการทำร้ายจิตใจท่านเกินไปหรือเปล่า เลยลงเอยด้วยการปลูกผักอยู่กับบ้าน ได้ทำงานที่รักและอยู่กับครอบครัว

ผมจึงอาศัยพื้นที่ว่างตรงโรงรถประมาณ ๓๐ ตารางเมตรซึ่งเดิมเคยตั้งกรงเลี้ยงไก่ มาปลูกผักบุ้ง คะน้า ผักกาดหอม ลงในที่ดิน ๓ แปลง ล้อมรอบด้วยโหระพา กะเพรา ตำลึง แมงลัก สารพัดผักที่จะปลูกได้  แล้วลามไปในพื้นที่ว่างรอบบ้าน ตรงไหนมีที่ว่างและแสงแดดส่องถึง เราก็ปลูกผักใส่กระถางใส่เข่งไปวาง

ทำอย่างนั้นอยู่ราว ๑ ปี ทางบ้านก็ซื้อที่ดินรกร้างในซอยเดียวกัน  เราขออนุญาตใช้พื้นที่นั้นเพาะปลูก แต่ต้องทุบพื้นปูนทิ้ง  ข้างล่างเป็นดินปนทราย ต้องหาซื้อดินใหม่มาถม  ปรากฏว่าเมื่อแห้งแล้วแข็งเป็นก้อนจนปลูกผักไม่ได้ ต้องปรับปรุงคุณภาพดินโดยหว่านขี้วัวลงไป รดด้วยน้ำหมักชีวภาพให้ชุ่ม เอาฟางคลุมทับ สักเดือนก็เกิดเป็นหน้าดินใหม่

ในทางเทคนิคเราแทบไม่เจอปัญหาอะไร อุปสรรคคือการสร้างความเข้าใจกับครอบครัว  ครั้งหนึ่งพ่อผมนำปุ๋ยเคมีมาแอบใส่ในแปลงผักเพราะอยากเห็นผักโตไวๆ คุณแม่เลยต้องมาช่วยอธิบายว่าเราอยากทำเกษตรอินทรีย์ คุณพ่อก็เข้าใจ  ก่อนหน้านี้ผมเองก็ปลูกผักตามใจฉันโดยไม่ปรึกษาคนในบ้านว่าอยากกินอะไร จนเมื่อปรับความเข้าใจกันได้ทุกอย่างก็ราบรื่น

ระหว่างที่กำลังสนุกสนานกับพื้นที่เล็กๆ ในบ้าน เรื่องที่เราสนใจก็เวียนกลับมาหาเราอีกครั้งหนึ่ง คือเรื่อง farmer’s market ที่เมืองไทยเรียกว่า “ตลาดสีเขียว”

ความจริงที่เมืองไทยเคยมีคนจัด “ตลาดนัดเกษตรกร” ลักษณะนี้มาก่อนแล้ว (ที่จังหวัดสุรินทร์ มหาสารคาม เชียงใหม่ สงขลา ฯลฯ)  แต่เมื่อสวนเงินมีมาปรารภว่าจัดขึ้นในกรุงเทพฯ ก็อดตื่นเต้นไม่ได้  เดิมทีตั้งใจว่าจะเข้าไปเก็บข้อมูล แต่มานึกดูว่าอาจจะตักตวงความรู้ได้ไม่เต็มที่ ทางที่ดีน่าจะร่วมกิจกรรมกับเขาเลย โดยการออกบูทจำหน่ายสินค้าจากเครือข่ายสุขภาพและหมอพื้นบ้านที่รู้จักกัน

ระหว่างร่วมขบวนเครือข่ายตลาดสีเขียว พี่น้องผองเพื่อนในเครือข่ายก็มาสอบถามว่าเราทำอะไร  ผมก็เล่าว่าปลูกผักกินเองที่บ้านด้วย ปรากฏว่าเครือข่ายตลาดสีเขียวก็นำเรื่องของเราไปเขียนลงวารสาร มีผู้ให้ความสนใจมาก กลายเป็นเรื่องแปลกในสายตาคนอื่น

เป็นแรงบันดาลใจให้ร่วมโครงการสวนผักคนเมือง และจัดประกวด “สวนผักในบ้านฉัน”
ถึงงานกรีนแฟร์ ครั้งที่ ๒ หนังสือคู่มือประจำงานก็ตีพิมพ์เรื่องราวของเราอีก ทำให้มีผู้มาสอบถามมากขึ้น กระทั่งเราตัดสินใจเปิดอบรมเรื่องการปลูกผักในเมืองที่บ้าน ตรงแปลงปลูกผัก ๓๐ ตารางเมตร  ผู้เข้าร่วมอบรมรุ่นแรกมีน้อยกว่าทีมงานเสียอีก ก่อนจะได้รับความสนใจมากขึ้นในครั้งต่อๆ มา

เราสอนวิธีปลูกผัก ทำน้ำสมุนไพรไล่แมลง วางแปลนแปลงผัก  จนใกล้จะถึงงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ คุณสุภา ใยเมือง เจ้าหน้าที่โครงการฯ ก็ติดต่อมา แจ้งว่าปีนั้นทีมงานวางธีมหลักเป็นเรื่องผักพื้นบ้าน พร้อมกับมีการจัดประกวดสวนผักคนเมือง  คิดว่าเราน่าจะช่วยจัดงานและเป็นคณะกรรมการตัดสินได้

ปรากฏว่าตลอดทั้งงานมหกรรมสมุนไพรฯ ตรงลานวัฒนธรรมซึ่งเนื้อหาประเด็นหลักจัดแสดงเรื่องผักพื้นบ้าน เราต้องคอยตอบคำถามเรื่องการปลูกผักในเมือง  เมื่อเสร็จงานผู้จัดประเมินว่าลานวัฒนธรรมมีผู้ให้ความสนใจมากที่สุด เกิดจากสาเหตุใด  เราจึงชี้แจงไปว่าคนสนใจเรื่องการปลูกผักสวนครัวกินเอง

prince nakorn04คิดว่าอะไรเป็นเหตุผลให้คนหันมาสนใจเรื่องการปลูกผัก
ช่วงนั้นกระแสเรื่องการปลูกผักกำลังมา อาจจะตรงกับกระแสสังคมโลก  ราวปี ๒๕๕๑ เศรษฐกิจอเมริกาตกต่ำ คาดกันว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะตกต่ำตามไปด้วย  กระทั่งหลังจาก บารัก โอบามา ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี  มิเชล โอบามา สตรีหมายเลขหนึ่งได้จัดแคมเปญปลูกผักขึ้นในทำเนียบขาว สอนเด็กอเมริกันปลูกผักวันเสาร์อาทิตย์  ส่วนที่ประเทศอังกฤษ ควีนเอลิซาเบทก็ทำ  กระแสสังคมโลกดำเนินไปในทางนี้ ขณะที่เมืองไทยก็มีขบวนการเคลื่อนไหวอย่างที่พวกเราทำอยู่  เมื่อหลายๆ กระแสมาบรรจบกันกลายเป็นว่ามันบูม

อย่างไรก็ตาม หากจะถามว่านี่คือกระแสแรกของการปลูกผักในเมืองเลยหรือไม่ คำตอบคือไม่  จากที่ได้พูดคุยกับหลายคน อาทิ คุณเดชา ศิริภัทร เจ้าของฉายา “ปราชญ์ชาวนาขั้นเทพ” ท่านเล่าว่าก่อนกระแสปลูกผักมาแรงในยุคนี้ เคยมีมาแล้วถึง ๒ ยุค  ยุคแรกเมื่อท่านยังเด็ก ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทั่วประเทศเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ผู้คนหาอยู่หากินกันลำบาก  รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามออกพระราชบัญญัติให้ชาวบ้านปลูกผักสวนครัวเพื่อพึ่งพาตัวเอง

ยุคที่ ๒ เป็นยุคแห่งการตื่นตัวเรื่องสุขภาพ เกิดกระแสชีวจิต เป็นยุคที่มีการกำเนิดขึ้นของเลมอนฟาร์ม ซึ่งในขณะนั้นเลมอนฟาร์มได้จัดสรรที่ดินย่านพระราม ๙ ให้คนเข้ามาเรียนรู้เรื่องการปลูกผักโดยไม่ต้องใช้สารเคมี  นอกจากนี้ในยุคนั้นก็ยังมีคุณคมสัน หุตะแพทย์ ต้นตำรับคนเมืองพึ่งตนเอง และบรรณาธิการบริหารวารสาร เกษตรกรรมธรรมชาติ รณรงค์ให้คนหันมาปลูกผักกินเอง แปรรูปอาหาร ทำสบู่แชมพูใช้เอง พึ่งพาตัวเองให้มากที่สุดอีกด้วย

ในการจัดประกวดสวนผักคนเมืองปีที่ ๑ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มปลูกผัก หรือปลูกผักในชีวิตประจำวันมาก่อนแล้ว
มีทั้งสองแบบ แต่เราอยากให้เป็นแบบหลังมากกว่า คือไม่จำเป็นว่าต้องออกแบบสวนผักขึ้นมาใหม่เพื่อส่งเข้าประกวด  แต่ขอให้เป็นสวนผักที่มีอยู่ในบ้าน ใช้ประโยชน์ได้จริงในวิถีประจำวัน  เพียงคุณถ่ายรูป เล่าเรื่องสั้นๆ แล้วส่งจดหมายมา  เราจะส่งคณะกรรมการไปเยี่ยมชม  ข้อกำหนดมีเพียงว่าต้องปลูกผักไม่น้อยกว่า ๑๐ ชนิด ไม่ใช้สารเคมี และใช้ประโยชน์ได้จริงในครอบครัว เท่านี้ก็เท่ากับคุณมีหลักคิดเรื่องความยั่งยืนแล้ว

ในการประกวดครั้งแรกมีผู้สมัครหลายคนถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตกว่าจะมาเป็นสวนผักในบ้าน  มีอยู่คนหนึ่งที่มีเรื่องราวน่าประทับใจมาก ชื่อคุณชุมพล บัวแย้ม ช่างภาพประจำหนังสือพิมพ์ มติชน  เขาปลูกผักกินเองเพราะลูกแพ้โปรตีนในนมกระป๋อง  คุณชุมพลอาศัยภูมิปัญญา นำใบตำลึงที่เลื้อยอยู่ข้างบ้านมาตุ๋นร่วมกับข้าวให้ลูกกิน ปรากฏว่าลูกกินได้ ชดเชยคุณค่าทางโภชนาการแทนการกินนม  หน้าบ้านคุณชุมพลทุกวันนี้จะมีกระถางพืชผักวางตั้งอยู่เต็มไปหมด แม้แต่บนเสาไฟฟ้าก็ยังมีแขวนไว้  เขาจึงควรค่าแก่รางวัลเพราะเขามีการปลูกผักอยู่ในหัวใจ

คลุกคลีกับเรื่องนี้มานาน มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในสังคม
ผมไม่มีสถิติว่าก่อนหน้านี้คนกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร แต่บอกได้ว่าปัจจุบันเราพบคนที่สนใจเรื่องการปลูกผักมากขึ้น  สำคัญคือมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ

ปัจจุบันเราทำงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ทั้งกับชาวบ้านและคนเมือง ได้เห็นว่าคนเมืองกับคนต่างจังหวัดมีทัศนะแตกต่างกัน กล่าวคือคนต่างจังหวัดมีแนวโน้มว่าจะปลูกผักกินเองน้อยลง รวมทั้งละทิ้งวิชาชีพเกษตรกร  อาจเป็นเพราะเกษตรกรมีอายุมากขึ้น สวนทางกับการรณรงค์ให้คนปลูกผักกินเองในเมือง ผู้ที่สนใจกลับอายุน้อยลง จากเดิมเป็นคนวัยเกษียณร่นลงจนถึงคนวัยทำงาน มาถึงคนที่เริ่มทำงานมาไม่ถึง ๑๐ ปี จนตอนนี้มีนักศึกษาที่สนใจด้วย  สังเกตได้ว่าปีนี้มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ขอให้ผมช่วยเป็นที่ปรึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผักนับสิบคน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาสถาปัตย์ที่อยากออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับปลูกผักกินเอง

คนเหล่านี้เป็นพวกหันเหชีวิตกลับ อยากนำสิ่งที่เป็นธรรมชาติกลับมาใกล้ตัว  แต่ละคนก็มีเหตุผลของตัวเอง ช่วงแรกอาจเป็นเหตุผลด้านสุขภาพ อยากให้คนรักหรือญาติซึ่งป่วยอยู่มีสุขภาพดีขึ้น  ต่อมาเริ่มมีเหตุผลเรื่องการพึ่งพาตัวเอง ยิ่งเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี มีการกักตุนสินค้าจนวัตถุดิบอาหารขาดแคลน ก็ยิ่งทำให้คนรู้สึกไม่ปลอดภัย  ผู้คนหันมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถึงเวลาที่เราต้องหันกลับมาพึ่งพาตัวเองแล้ว

น้ำท่วมใหญ่ปลายปี ๒๕๕๔ การปลูกผักในบ้านเข้ามามีบทบาทมากแค่ไหน
เพื่อนหลายคนแชร์รูปในเฟซบุ๊กให้ดู ว่าช่วงน้ำท่วมเขาปลูกผักกินเองด้วย เพาะเห็ด เพาะถั่วงอก เก็บเกี่ยวมากิน รวมถึงผู้ที่เคยมาเข้าคอร์สอบรมกับเราคนหนึ่งทำงานที่กระทรวงสาธารณสุข น้ำท่วมเดินทางกลับบ้านไม่ได้ เขาต้องปลูกผักกินเองในกระทรวง  นอกจากนี้โครงการสวนผักคนเมืองยังมีหน่วยอบรมเคลื่อนที่ (mobile unit) อาสาออกหน่วยเคลื่อนที่ไปให้ความรู้เรื่องการปลูกผัก เพาะเห็ด เพาะถั่วงอก ทำชุดกรองน้ำสะอาด ทำเตาหุงต้มพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งตรงกันถึงบ้าน รวมถึงการทำก้อนจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียไปแจกอีกหลายหมื่นหลายแสนลูก  ภูมิปัญญาจากสวนผักช่วยคนได้มาก กระทั่งแปลงผักของเราเองที่รอดพ้นจากน้ำก็ยังได้นำไปปรุงอาหารแจกจ่ายผู้ประสบภัย แม้จะทันเก็บเกี่ยวเพียงรอบสองรอบก็ยังดี ผักบุ้ง ๒๐ กิโลก็ยังพอช่วยคนได้

อุปสรรคของการปลูกผักในเมืองคืออะไรครับ
ทางกายภาพคือบ้านในเมืองมีพื้นที่จำกัด บางคนอาศัยในแฟลต คอนโด  เมื่อพื้นที่มีจำกัดพื้นที่รับแสงแดดก็จำกัดตามไปด้วย  การปลูกผักต้องอาศัยแสงแดด ถ้าไม่ได้รับแสงแดดพืชก็สร้างอาหารเองไม่ได้  อีกเรื่องคือเมื่อเริ่มปลูกใหม่จะหาวัสดุต่างๆ ได้ยาก พวกดิน ฟาง ปุ๋ยคอก ไม่รู้จะหาจากไหน แต่พอทำไปเรื่อยๆ ปัญหาจะค่อยๆ คลี่คลาย

อุปสรรคสำคัญอีกอย่างเป็นเรื่องปัจจัยทางสังคม กล่าวคือความเป็นชุมชนของสังคมเมืองมีน้อย  คนที่มีกำแพงบ้านอยู่ติดกัน เขาอาจจะไม่ได้เป็นเพื่อนบ้านกันก็ได้ ถามว่าข้อนี้เป็นอุปสรรคอย่างไร  การมีเพื่อนบ้านช่วยให้การปลูกผักสนุกและมีความหมายมากขึ้น  หากเราปลูกอยู่เพียงลำพัง ไม่มีใครสนใจเรื่องเดียวกันไม่มีเรื่องพูดคุยกันก็จะน่าเบื่อ  หากจิตใจไม่หนักแน่นพอสุดท้ายก็คงเลิกราไปเอง แต่หากมีจิตใจที่เข้มแข็ง แล้วยังมีเพื่อนบ้านที่น่ารัก เราจะยิ่งมีความสุข มีเรื่องให้พูดคุยกัน  คนเมืองอาจจะแก้ปัญหานี้ด้วยสังคมออนไลน์ เล่าเรื่องแชร์กันในเฟซบุ๊ก แม้ไม่ได้อยู่บ้านใกล้กันก็ยังดี

การมีเพื่อนบ้านดีๆ หรือโซเชียลมีเดียจะช่วยต่อยอดสังคมแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีผู้นำประสบการณ์มาถ่ายทอดสู่กันฟัง ความสัมพันธ์ทางสังคมจึงสำคัญและช่วยให้สังคมการปลูกผักในเมืองดำรงอยู่ต่อไปและขยายวงกว้าง

การปลูกผัก วัตถุประสงค์จึงไม่ใช่เพียงได้ผักเป็นอาหารอย่างเดียว
การปลูกผักไม่ได้หวังผลแค่ผัก แต่มันได้อะไรมากกว่าที่คิด อาทิ ได้สุขภาพที่ดี ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เพื่อน ได้ออกกำลังกาย ได้มีโอกาสสัมผัสพลังชีวิตที่แฝงเร้นอยู่ในเส้นใยผัก  ผมเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิจะเป็นผู้ปกป้องสภาวะแวดล้อมของโลกใบนี้ด้วยการปลูกผักหรือปลูกต้นไม้  เมื่อเราเริ่มปลูกผักดินจะดีขึ้น อากาศก็ดีขึ้นโดยอัตโนมัติ  การมองเห็นคุณค่าของพืชผักยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งล้ำค่าให้คงอยู่กับเราต่อไป  ปลูกผักเป็นเรื่องเล็กที่ส่งผลกระทบถึงเรื่องใหญ่ ดังคำกล่าวว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

ส่วนตัวผมไม่เคยนึกฝันว่าจะต้องมาปลูกผัก ทำแล้วก็อดประหลาดใจไม่ได้ว่าการปลูกผักทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับคนมากมาย คนที่ไม่น่าจะมาเกี่ยวข้องกันได้ อย่างนักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ แพทย์ สุดท้ายเราก็ได้เป็นเพื่อนกัน  เรายังได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักและอยู่กับครอบครัว ได้นอนหลับอย่างเป็นสุข แม้ไม่ได้ครอบครองอะไรมากมาย

เคยมีคนตั้งคำถามว่าคุณปริ๊นซ์ปลูกผักอย่างใจรักเพราะมีต้นทุนชีวิตที่ดี มีครอบครัวสนับสนุน  แต่กับอีกหลายคน เขาไม่คิดว่าจะทำได้
ผมได้รับแรงบันดาลใจจากคนที่ไม่ได้มีความพร้อมมากไปกว่าตัวเรา อย่างพ่อค้าขายก๋วยเตี๋ยวที่ปลูกถั่วงอกกินเองแล้วเขาภูมิใจ  ความประทับใจที่ได้เห็นบุคคลเหล่านั้นพึ่งพาตนเองต่างหากที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมมาจนบัดนี้  มันไม่เกี่ยวว่าเราจะมีความเหลื่อมล้ำกันทางเศรษฐกิจหรือไม่ ที่สำคัญคือเรามีแรงบันดาลใจให้เริ่มต้นทำต่างหาก  ต่อให้มีความรู้ แต่ถ้าไม่มีความรัก ไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่มีความมุ่งมั่น ก็คงไม่มีทางสำเร็จ

ในโลกแห่งความเป็นจริง ความคิดและการกระทำต้องเดินคู่ไปด้วยกัน  คนเมืองอาจนึกอยากปั่นจักรยานไปทำงาน แต่ใจหนึ่งกลับลังเลไม่กล้า คิดว่าคงทำไม่ได้ เลยไม่ได้เริ่มลงมือทำสักที  เช่นเดียวกัน มีหลายคนสนใจในสิ่งที่ผมทำ อยากปลูกผักบ้าง ก็ขอให้เริ่มทำตั้งแต่วันนี้  พอลงมือทำแล้วบางสิ่งอาจไม่เป็นอย่างที่หวังหรือที่เคยได้รับคำแนะนำ แต่ความรู้บางอย่างซ่อนอยู่ในการปฏิบัติ บางอย่างต้องอาศัยหู ตา จมูก ลิ้น กาย  บางอย่างต้องใช้ “ใจ” ด้วยซ้ำ  ถ้าไม่ลงมือปฏิบัติคุณจะไม่มีวันล่วงรู้  แล้วเรื่องที่ตำราไม่บอกมีอยู่จริง ผมเจอมาเองกับตัว อย่างเรื่องการใส่ปุ๋ยต้นไม้  ปัจจุบันเราปลูกผักจนไม่ต้องใส่ปุ๋ยแล้ว ถ้าลองใส่ปุ๋ยปุ๊บแมลงมาทันที ทั้งที่ไม่มีในตำรา ว่าปลูกผักไปสักระยะเราจะหยุดใส่ปุ๋ยได้

อยากให้ช่วยอธิบายเรื่องพลังชีวิตในพืชผัก มันเป็นอย่างไรครับ
พลังชีวิตในพืชผักเป็นเรื่องที่คนทั่วไปไม่ยอมรับ แต่เรารับรู้ได้ด้วยการปลูกผักแล้วพบว่ามีพลังบางอย่างเปล่งออกมา

ในทางกายภาพเราอาจพิสูจน์ได้โดยการนำผักปลูกเองกับผักตลาดมาเปรียบเทียบกัน  เราจะพบว่าผักปลูกเองเก็บรักษาได้นานกว่ามาก ถึงเวลาก็เหี่ยวแห้งไปโดยไม่เละเป็นน้ำเหมือนผักฉีดสารเคมี  พิสูจน์คุณค่าทางโภชนาการก็พบว่าสูงกว่าผักตลาด  ครั้งหนึ่งเคยตรวจพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าผักฉีดสารเคมีเกือบร้อยเท่า  นอกจากนี้ยังมีพลังชีวิตอีกแบบหนึ่งที่เราไม่อาจประเมินค่าได้ แต่รับรู้ได้เมื่อเดินเข้าไปในสวนผัก ให้ร่างกายได้สัมผัสต้นไม้ใบหญ้า ได้เหยียบดิน ได้รดน้ำแปลงผักให้ฉ่ำเย็น  จิตใจจะค่อยๆ ผ่อนคลาย ความคิดฟุ้งซ่านหายไป  หากวันใดคุณอารมณ์ไม่ดี ลองเดินเข้าไปในสวนดูสิ พลังชีวิตในธรรมชาติจะเยียวยาเรา

นอกจากปลูกผักกินเอง คุณคิดจะแก้ปัญหาระบบตลาดที่เอาเปรียบเกษตรกรอย่างไร
เรากำลังทดลองระบบ CSA ย่อมาจาก Community-Supported Agriculture ที่มีรากจากญี่ปุ่น เรียกว่าระบบเตเก้ (Teikei)

เตเก้เป็นความสัมพันธ์ฉัน “เพื่อน” ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค  เริ่มขึ้นเมื่อแม่บ้านญี่ปุ่นเดินตรงเข้าไปหากลุ่มเกษตรกร บอกว่าขอให้ช่วยผลิตวัตถุดิบอาหารที่ดีให้หน่อยเพราะอยากให้คนในครอบครัวมีสุขภาพดี และคิดว่าตัวเกษตรกรเองก็ควรมีชีวิตที่ดีด้วย  เราสนใจระบบนี้เพราะเป็นระบบที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคใส่ใจซึ่งกันและกัน

สำหรับระบบตลาดปัจจุบัน ผู้ที่ควบคุมและจัดการตลาดมักจะเป็นคนที่ได้เปรียบ เกษตรกรและผู้บริโภคต่างตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบด้วยกันทั้งคู่  เกษตรกรเสียเปรียบในแง่ไม่อาจกำหนดราคาสินค้าได้ ผู้บริโภคเสียเปรียบในแง่ว่าไม่อาจเข้าถึงข้อเท็จจริง เพราะระบบโฆษณาทำให้เจ้าของสินค้าต้องโปรโมตสินค้าของตัวเอง  แต่ CSA จะทำให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตได้มาเจอกัน เปิดโอกาสให้สองฝั่งได้ติดต่อกันโดยตรง

เราทดลองระบบนี้หลังจากปลูกผักกินเองจนมีเหลือพอแบ่งปันญาติๆ  หิ้วผักไปฝากบ่อยเข้า เขาก็เริ่มเกรงใจ ถามว่ามีอะไรพอจะตอบแทนได้บ้างไหม เลยเสนอว่ามาทำเหมือนผูกปิ่นโตกันดีกว่า  คุณสมทบทุนค่าใช้จ่าย ผมเก็บผักส่งให้  ที่ผ่านมาเคยมีคนอ่านเรื่องของเราในวารสาร ถามว่าอยากกินผักของเราต้องทำอย่างไร พอเล่าให้ฟังว่ากำลังทดลองระบบนี้ เขาก็ยินดีสนับสนุนทันทีหลังจากที่คุยกัน

คุณคิดจะทำโครงการอะไรอีกบ้างในอนาคต
เราโชคดีที่ได้เรียนรู้หลายอย่าง  ที่ผ่านมามีโอกาสเดินทางไปภูฏาน ญี่ปุ่น ได้เห็นว่าที่ญี่ปุ่นมีนโยบายอนุรักษ์วิชาชีพเกษตรกร หากลูกหลานเกษตรกรแต่งงานมีครอบครัว รัฐบาลจะให้สวัสดิการ แต่ขอให้พ่อแม่ปลูกฝังลูกหลานให้รักในวิชาชีพเกษตรกร  ขณะที่ประเทศภูฏาน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรอยู่แล้ว ก็ยังมีหลักคิดว่าขอใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วย  ความสุขของคนภูฏานครอบคลุมไปถึงความสุขของสิ่งมีชีวิตรอบข้าง  จะตัดถนนสักสายต้องคิดว่านกจะอยู่อย่างไร ช้างม้าวัวควายล่ะจะอยู่ได้ไหม  เขาไม่ต้องการความสุขในชีวิตเพียงลำพัง ไม่ได้ต้องการความสุขในเผ่าพันธุ์ของเราเท่านั้น แต่ทุกสิ่งรอบตัวล้วนเป็นองค์ประกอบของความสุข  องค์ประกอบของฤดูกาลไม่ใช่แค่ลม ฝน แสงแดด แต่เป็นทุกสิ่งที่หมุนเวียนมาพร้อมฤดูกาล  พืชผักชนิดนี้ นกชนิดนี้ แมลงพันธุ์นี้ ล้วนเป็นองค์ประกอบของฤดูกาลทั้งสิ้น  เกิดวันหนึ่งมันหายวับไป นั่นหมายความว่าฤดูกาลเดิมได้หายไปแล้ว

เป้าหมายในอนาคตเราอยากพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกผักให้เป็นแหล่งเรียนรู้ครบวงจร จากเดิมเน้นเรื่องการปลูกผักเป็นอาหาร อนาคตอยากให้มีเรื่องสมุนไพรเพื่อสุขภาพ พลังงานทดแทน การรักษาสิ่งแวดล้อม  อยากสร้างตึกร้างหลังนี้ให้อยู่ได้โดยไม่ทำร้ายใคร ขณะเดียวกันก็ขอให้เราดำเนินชีวิตอยู่ได้เข้าข่ายคำว่าผู้ประกอบการทางสังคม (Social Entrepreneur) คือผู้ประกอบการที่ฝันอยากเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น  ผลของการทำงานอาจไม่ได้ตอบสนองกำไรของตัวเอง แต่เป็นความคาดหวังถึงสังคมที่น่าอยู่ แม้จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ตาม