ปราบดา หยุ่น (www.typhoonbooks.com)

eye1

นับตั้งแต่ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมในอเมริกายุคหกศูนย์ เปลือกแห่งแฟชั่นที่ยังทำหน้าที่แทนคำว่า “กบฎ” ได้อย่างเหนียวแน่นมาถึงทุกวันนี้มี ๒ อย่าง: ดนตรีร็อกและเสื้อยืดที-เชิ้ต

หลายเดือนก่อน ท่ามกลางกระแสประเด็น “เด็กแนว” ที่ลุกโชนท่วมสื่อจนชวนเอียนชวนอ้วก ไม่ว่าจะเป็นบทความโดยผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจความหมายของเด็กแนว บทความของเด็กแนวเขียนถึงเด็กแนวเพื่อปฏิเสธนิยามเด็กแนว บทความปรามาสเด็กแนว บทความสนับสนุนเด็กแนว รายการทีวีเกี่ยวกับเด็กแนว ไปจนถึงกลยุทธ์ประชาสัมพันธ์สินค้า (“หนังของเด็กแนว” “หนังที่เด็กแนวทุกคนต้องดู”) กระทั่งหนังสือพ็อกเกตบุ๊กที่ใช้คำว่า “เด็กแนว” เป็นจุดขาย–ผมสังเกตจากภาพรวมๆ ของเด็กแนว ว่าอย่างน้อยควรจะเป็นพวกนิยมใส่เสื้อยืดที่มีลวดลายบางอย่างสกรีนหราบริเวณหน้าอก ซึ่งเป็นแฟชั่นที่เกิดขึ้นจากการพยายามเลียนแบบเสื้อยืดมือสองที่เด็กแนวของแท้ (พั้งก์ในอังกฤษและอเมริกา) นิยมใส่กันมาแล้วหลายสิบปี

เสื้อยืดที่เป็นมือสองจริงๆ มีข้อดี ๒ ข้อ และเป็น ๒ ข้ออันเป็นที่มาของความนิยมในอเมริกา หนึ่งคือราคาถูกมาก (บางร้านใช้ระบบชั่งน้ำหนักขาย เช่น ๕ ดอลลาร์ต่อ ๑ ปอนด์) และสองคือเป็นการรีไซเคิลที่ดี แต่เมื่อมันกลายเป็นแฟชั่น เมื่อแม้แต่ร้านเสื้อแบรนด์เนมต่างก็พยายามผลิตสินค้าราคาแพงของตนให้เหมือนเสื้อมือสองเพื่อรองรับกระแส และเมื่อเสื้อมือสองกลายเป็นของต้องการจนผู้ขายสามารถปั่นราคาให้สูงลิบลิ่ว สถานภาพของเสื้อยืดมือสองในปัจจุบันจึงชักจะขัดแย้งกับที่มาที่ไปและประโยชน์ใช้สอยที่แท้จริงของมัน กลายเป็น “irony” อีกชิ้นของสังคมร่วมสมัยที่ถูกสร้างขึ้นโดยคำว่า “แฟชั่น” อีกตามเคย

และคำนิยามที่ตรงประเด็นที่สุดสำหรับเด็กแนวที่ผมได้ยิน เป็นบทสรุปที่ออกจากปาก “ขวัญใจเด็กแนว” คนหนึ่งของประเทศไทย ผู้เป็นเพื่อนรุ่นน้องของผมเอง (แต่ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อ เพราะนี่ไม่ใช่คอลัมน์แฉคนดัง) เขาบอกว่าเด็กแนว “ก็เป็นแค่ภาพลักษณ์ภายนอก แค่แฟชั่นอีกแบบหนึ่งเท่านั้น”

eye4

ชื่อหนัง Rebel Without A Cause ที่ทำให้ เจมส์ ดีน (James Dean) กลายเป็นฮีโร่อมตะของหนุ่มสาวอเมริกันเมื่อปี ๑๙๕๕ เป็นชื่อที่เหมาะมากสำหรับใช้เรียกเด็กแนวบางคน หรือกลุ่มกระแสอื่นๆ ที่ประยุกต์คุณค่าที่แท้จริงของการกบฏให้กลายเป็นแฟชั่นเพื่อประกาศความเท่ ผมขอแปลเป็นภาษาไทยแบบไม่ตรงตัวแต่ก็ไม่อ้อมค้อมว่า “กบฏที่ไม่มีกบาล”

หนังของ เจมส์ ดีน (กำกับโดย นิโคลาส เรย์-Nicholas Ray) เรื่องเดียวกันนั้น นอกจากจะส่งชื่อหนุ่มน้อยนัยน์ตาเศร้าให้เป็นดาวค้างหลังคาฮอลลีวูด ยังเป็นหนังเรื่องสำคัญที่จุดชนวนความนิยมในการสวมใส่เสื้อยืดแบบที-เชิ้ตให้แก่วัยรุ่นอเมริกันเป็นยุคแรกๆ ไม่น่าเชื่อว่าเสื้อเข้ารูป เนื้อผ้าฝ้ายนิ่มสบายที่เราซื้อขายใส่ถอดกันเป็นปรกติทุกวันนี้ จะดำเนินชีวิตมายังไม่ถึงร้อยปีด้วยซ้ำ และที่แปลกไปกว่านั้น เสื้อที่นักกบฏตั้งแต่บุปผาชนจนถึงพั้งก์ใช้เป็นเครื่อง “สื่อ” ทัศนคติขบถ วิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านระบบการปกครองกระแสหลัก มีที่มาจากการแต่งกายของทหารยุโรปและอเมริกันเมื่อต้นศตวรรษที่ ๒๐

เสื้อที่เราใส่ไว้ยืดความเท่ให้กระทบตากันและกัน เดิมทีเป็นเพียง “ชุดชั้นใน” ของชายในเครื่องแบบเท่านั้น

หลายวัฒนธรรมในโลกล้วนเคยผ่านยุคสมัยของการนิยมแต่งกายรุ่มร่าม ซึ่งไม่รู้เป็นเพราะความโง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้จักคิดหาวิธีแต่งกายให้เรียบง่าย หรือเพราะคนสมัยก่อนมีเวลามากจนสามารถพิถีพิถันกับการแต่งกายได้วันละหลายชั่วโมง หรือเพราะค่านิยมและทัศนคติต่อสถานภาพในสังคมที่ต่างจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง แต่กว่าการสวมเสื้อที-เชิ้ตจะกลายเป็นค่านิยมธรรมดา ปราศจากความเคอะเขินในการใส่ของทั้งท่านชายและท่านหญิง ก็ล่วงเข้าช่วงยุคหกศูนย์ (เสื้อยืดที-เชิ้ตที่ได้รับการเก็บรักษาและบันทึกว่าเป็นเสื้อยืดสกรีนตัวหนังสือตัวแรก อยู่ที่สถาบันสมิทโซเนียนของอเมริกา เป็นเสื้อยืดที่ผลิตขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กชื่อ โทมัส อี. ดูวี-Thomas E. Dewey เมื่อปีค.ศ. ๑๙๔๘)–ก่อนหน้านั้นการใส่เสื้อยืดตัวเดียวยังถูกมองว่าไม่สุภาพ โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง ซึ่งยังไม่มีการผลิตที-เชิ้ตออกมาให้ซื้อใส่ด้วยซ้ำ

eye3

หากมองความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ การเกิดและเติบโตของเสื้อยืดที-เชิ้ต มีความคล้ายคลึงกับการเกิดและเติบโตของระบบอินเทอร์เน็ตอยู่ไม่น้อย ทั้งสองต่างก็คลอดภายใต้คำบัญชาของการทหาร เมื่อกลายเป็นของใช้ราคาถูกของสาธารณชน ทั้งสองต่างก็กลายเป็น “เครื่องมือทางการค้า” และ “พื้นที่ประกาศตัวตน” อย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้การใช้สอยอินเทอร์เน็ตที่ได้ผลที่สุด คือการสร้างเครือข่ายระหว่างคนที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน หรือการสร้าง “ห้องส่วนตัว” เช่นเว็บไซต์หรือไดอารี นอกเหนือจากนั้น มันยังเป็นดินแดนอิสระที่เปิดโอกาสให้กบฏรูปแบบต่างๆ (ตั้งแต่ปัญญาชนไปจนถึงผู้ก่อการร้าย) มีช่องทางระบายออกโดยไม่ต้องหวาดกลัวกฎหมายจนเกินไปนัก ถึงแม้เสื้อยืดที-เชิ้ตจะเป็นรูปธรรมและมีความเป็นวัตถุมากกว่าอินเทอร์เน็ต แต่ก็มีสถานภาพของการเป็นสัญลักษณ์แสดงตัวตนรุนแรงชัดเจนไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในประเทศที่การ “มีตัวตน” เป็นเรื่องสำคัญมากในสังคม ข้อเขียนที่ถูกสกรีนลงบนเสื้อยืดจึงถูกคิดและคัดสรรเพื่อให้เหมาะสมกับความเชื่อของผู้สวมใส่ หากผู้ใส่เป็นวัยรุ่น ชื่อวงดนตรีบนหน้าอกเสื้อต้องบ่งบอกถึงรสนิยมในการฟังเพลงของเขาหรือเธอให้รู้กันไปเลยว่า “เชย” หรือ “เดิร์น”

เสื้อยืดที-เชิ้ตมีข้อได้เปรียบสินค้าอื่นๆ ตรงที่ราคาค่อนข้างย่อมเยา (แม้แต่ในร้านเสื้อแบรนด์เนม เสื้อยืดมักเป็นสิ่งที่ราคาถูกและขายง่ายที่สุด) มีประโยชน์ใช้สอยตรงไปตรงมา ทั้งยังใช้ได้กับหลายโอกาส มันจึงกลายเป็นทั้งของที่ระลึก ของแจกของแถม ของขวัญ เป็นที่ประชาสัมพันธ์ ที่โฆษณา เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคยินดีควักเงินซื้อโดยไม่ต้องคิดมาก

จึงไม่แปลกที่เสื้อยืดจะถูกสวมลงบนร่างธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างแนบเนียน ไม่ว่าจะไปสถานที่มีชื่อแห่งใดในโลก เป็นต้องมีเสื้อยืดสกรีนลายอันเป็นเอกลักษณ์ของสถานที่นั้นแขวนขายหราเต็มหน้าเต็มตาและเต็มถนน ไปเวียดนามต้องซื้อเสื้อยืดสีแดงประทับดาวเหลืองกลางอก ไปนิวยอร์กต้องซื้อเสื้อยืด “ฉันหัวใจเอ็นวายซี” ไปข้าวสารต้องซื้อเสื้อยืดกระทิงแดง หรือเสื้อยืดลาย “ล้อเลียน” โลโก้สินค้าชื่อดังต่างๆ ที่ถูกแปลงให้เป็นสโลแกนลามกหรือตลกขบขันอย่างยุแหย่ศีลธรรม (อันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยที่เราทุกคนควรภาคภูมิใจ)–ดูเหมือนมันจะเป็นวิธีเดียวที่จะอวดให้ชาวบ้านรู้ว่าผู้ใส่เคยเดินทางไกลไปถึงต่างแดนมาแล้ว จะให้คล้องหนังสือเดินทางไว้กับคอก็คงไม่ค่อยสะดวกนัก

ในช่วง ๒-๓ เดือนที่ผ่านมา ผมเห็นเสื้อยืดเรียบๆ ง่ายๆ ที่มีเพียงตัวหนังสือภาษาอังกฤษสกรีนบนหน้าอกว่า “staying alive” กลายเป็นกระแสนิยมในกรุงเทพฯอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่ผู้ใส่เพศหญิงวัยรุ่นและวัยทำงาน ทราบมาว่ามีทั้งที่เป็นเสื้อยืด “ของจริง” และของก๊อบปี้ออกมาขายสนองความนิยม ผมไม่รู้ว่าต้นตอของเสื้อยืดลายที่ว่านี้คือการออกแบบและผลิตขายของร้านเสื้อยี่ห้อใด (ผมไม่ค่อยซื้อเสื้อผ้าหรือเดินดูเสื้อผ้าตามห้าง) แต่เชื่อว่าผู้ใส่จำนวนมากไม่ได้ซื้อเพราะอยู่ดีๆ ทุกคนหวนกลับไปชื่นชอบเพลงแนวดิสโก้ชื่อ “Stayin’ Alive” ของวง Bee Gees ที่โด่งดังมากจนทำให้คนคลั่งไคล้เพลงดิสโก้ (และเป็นเพลงที่ทำให้ จอห์น ทราโวลตรา กลายเป็นดาราเนื้อหอมจากบทบาทของเขาในหนังเพลงเรื่อง Saturday Night Fever) หรือจะว่าเป็นความนิยมที่มาจากชื่อเสียงของยี่ห้อผู้ผลิตเสื้อลายนี้ ก็ไม่น่าจะใช่

eye2
ความหมายที่หญิงไทยกลางใจเมืองได้จากการอ่านข้อความ “staying alive” น่าจะมีความสอดคล้องข้องเกี่ยวอย่างเหมาะเจาะกับความรู้สึกร่วมของคนส่วนมาก จนใครๆ ก็อยากประกาศว่าตนกำลัง “staying alive” เช่นกัน

“staying alive” อาจหมายถึงการดิ้นรนต่อสู้เพื่อความเป็นอยู่ ซึ่งมีน้ำเสียงหนักแน่นออกไปในแนวให้กำลังใจตัวเอง ประกาศความแข็งแกร่งห้าวหาญที่ฉันสามารถยืนหยัดอยู่ถึงทุกวันนี้ หรือมิเช่นนั้นก็เป็นคำแสดงอาการอ่อนเปลี้ยละเหี่ยใจ ในลักษณะ “อยู่ไปวันๆ” ของชีวิตที่ต้องแข่งขันแบบตะบี้ตะบันของคนเมือง–คนใส่อาจต้องการสื่อถึงอารมณ์ทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กัน คำหรือข้อความที่เปิดโอกาสให้แก่ความหมายต่างขั้วกันขนาดนี้หาไม่ได้ง่ายๆ และยิ่งไม่บ่อยนักที่จะปรากฏหราบนหน้าอกหน้าใจของเสื้อผ้าราคากันเอง

เป็นได้ทั้ง “cynical” และ “optimistic” คือมองโลกทั้งแง่ร้ายและดีแบบมีความหวังไปพร้อมกัน

ในสังคมร่วมสมัยที่ทุกอย่างล้วนมีความขัดแย้งและแฝงความหมายซ้อนความหมาย การเลือกซื้อของมีปัจจัยของการตัดสินใจเพิ่มจากประโยชน์ใช้สอยและความจำเป็น แม้แต่การเลือกเฟ้น “statement” หรือข้อความบนเสื้อยืดที่บ่งบอกความนึกคิดของผู้ใส่ ก็กลายเป็นความสำคัญที่สะท้อนสถานการณ์ทางสังคมและสภาวะทางจิตใจของสมาชิกในสังคมนั้นอย่างชัดเจน

ฮิปปี้กับพั้งก์มักใช้ข้อความบนเสื้อยืดประกาศความเชื่อของตนเช่นกัน ฮิปปี้อาจจะเน้นภาพใบกัญชา รูปหน้ายิ้มสีเหลืองกลม แสดงถึงการเลือกความรักและความรื่นรมย์แทนที่ความโหดร้ายและสงคราม ในขณะที่พั้งก์เน้นสัญลักษณ์ตัวอักษร A ในวงกลม ซึ่งเป็น “โลโก้” ของ “อนาธิปไตย” (Anarchy) ประกาศทัศนคติต่อต้านระบบกฎหมายและการปกครอง ทว่าดูเหมือน “เด็กแนว” ของไทยเรา (ซึ่งตามประวัติศาสตร์ น่าจะเป็นอิทธิพลที่สานต่อมาจากวัฒนธรรมแบบฮิปปี้ผสมพั้งก์) จะปราศจากทัศนคติหรือความเชื่อที่ชัดเจนอย่างนั้น หากเป็นเพียงรูปแบบภายนอกที่เน้นความอยากเท่มากกว่าจะมาจากแรงขับที่มีความหมาย เช่นเดียวกับรูปลักษณ์ประเภทอื่นๆ ที่ล้วนเกิดจากความนิยมตามกระแสมากกว่าจะมีที่มาลึกซึ้งไปกว่าหน้ากระดาษของนิตยสารต่างประเทศ

eye5

ในบรรดาเสื้อผ้าต่างชนิด ผมชอบใส่เสื้อยืดมากที่สุด ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ เย็นสบาย ใส่ง่าย และราคาไม่แพง ทั้งยังคิดว่าในลักษณะอากาศร้อนอบอ้าวแบบบ้านเมืองเรา เสื้อยืดเป็นสิ่งที่เหมาะสมต่อการสวมใส่อย่างยิ่ง เครื่องแบบนักเรียนนักศึกษาน่าจะเปลี่ยนให้เป็นเสื้อยืดได้ หรือจะว่าไป ไม่ว่าจะเป็นใคร ตำแหน่งหน้าที่อะไร ก็น่าจะใส่เสื้อยืดได้ทั้งนั้น ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมจะเปลี่ยนเครื่องแบบทุกอย่างเป็นเสื้อยืดให้หมด (ไม่ต้องกลัวครับ ผมไม่มีวันได้เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน)

เมื่อคราวเป็นวัยรุ่นครั้งก่อน (ที่ต้องบอกว่า “ครั้งก่อน” เพราะผมกำลังรอการกลับไปเป็นวัยรุ่นครั้งใหม่อย่างตื่นเต้น) ผมก็เคยซื้อเสื้อยืดวงดนตรีที่ชื่นชอบมาใส่ประกาศรสนิยมบ้างเหมือนกัน ทุกวันนี้ก็ยังมีเสื้อยืดบางตัวที่ผมจงใจเลือกลายบนหน้าอกเพื่อแสดงอารมณ์ขันบางอย่าง และเลือกด้วยเหตุผลที่ซับซ้อนกว่าความจำเป็นและประโยชน์ใช้สอย

สังคมร่วมสมัยล้นเอ่อเกร่อทะลักไปด้วยสินค้าและผลิตภัณฑ์อันเกินขอบเขตของความจำเป็นและประโยชน์ใช้สอย แม้แต่เสื้อผ้าก็กลายเป็นอุปกรณ์ประกาศตัวตนที่เราไม่ได้เลือกจากความเชื่อที่แท้จริงของตัวเอง หากแต่เป็นการคัดสรรจาก “ตัวเลือก” ที่เกิดจากการตลาดและการปลุกปั่นของระบบบริโภคนิยม ไม่เพียงแต่สิ่งที่เห็นกันจะจะอย่างเสื้อยืดที-เชิ้ตเท่านั้น แม้แต่สิ่งที่หลบๆ ซ่อนๆ อย่างเหล็กดัดฟันหรือถุงยางอนามัย ยังอุตส่าห์มีหลายรูปแบบให้เลือกเข้ากับ “ตัวตน” ของผู้สวมใส่–เด็กแนวอาจจะต้องใช้ถุงยางมือสอง เก่าๆ ขาดๆ และมีคราบเกาะติด อะไรทำนองนั้น

ในสังคมอย่างสังคมไทย (และสังคมร่วมสมัยของประเทศแถบเอเชียจำนวนมาก) ที่ให้ความสำคัญกับเปลือกและแฟชั่นโดยไม่สนใจความหมายและที่มา จึงยังไม่ถึงเวลาที่ใครจะประกาศ “ตัวตน” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมันเป็นตัวตนที่ลอกเลียนตัวตนคนอื่นมาอีกทอดหนึ่ง

เราล้วนยังอยู่ในสถานะของความเป็นทาสแฟชั่น จนกว่าจะถึงวันที่เราลืมตาแล้วตั้งคำถามว่าเหตุใดรูปแบบชีวิตของเราจึงต้องถูกบงการโดยคนเพียงหยิบมือที่มีอาชีพหลักเป็นนักซื้อนิตยสารต่างประเทศมาลอกเลียนแบบ และพยายามเกลี้ยกล่อมตัวเองและผู้อื่นให้คิดว่ากรุงเทพฯ คือ ปารีส-ลอนดอน-นิวยอร์ก-โตเกียว

eye6

จนกว่าจะถึงวันนั้น ผมมีไอเดียดีๆ ที่เชื่อว่าน่าจะตีตลาดได้ในอนาคต

ในเมื่อเสื้อยืดที-เชิ้ตยังเคยเป็นเพียงชุดชั้นในของท่านชาย ที่ไม่สุภาพพอจะใส่ไปไหนมาไหน เป็นไปได้ไม่ใช่หรือว่าวันหนึ่งกางเกงในอาจจะกลายเป็นกางเกงธรรมดาที่คนนิยมใส่โชว์หราออกมาข้างนอกโดยไม่ต้องอับอายอีกต่อไป

เป็นไปได้ไม่ใช่หรือว่า วันหนึ่งการสกรีนข้อความลงบนบริเวณด้านหน้าของกางเกงในจะเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง เหมือนการสกรีนเสื้อยืดทุกวันนี้

ไอเดียเด็ดของผม: เรามาเริ่มธุรกิจสกรีนกางเกงในกันเถอะ

“staying alive”–ตัวตนส่วนล่างในกางเกงของผมอาจจะต้องการป่าวประกาศอะไรอย่างนั้น