ปราบดา หยุ่น

03 1วันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๓ ในรัฐมิสซิสซิปปี ชายเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันวัย ๓๘ ชื่อ เม็ดการ์ เอเวอร์ส (Medgar Evers) ถูกกระสุนปืนยิงโดนแผ่นหลังขณะที่เขาเพิ่งออกมาจากรถและกำลังจะก้าวเข้าบ้าน ประมาณเกือบ ๑ ชั่วโมงหลังจากนั้น เอเวอร์สสิ้นใจบนเตียงพยาบาล เขาเป็นหมากตัวสำคัญของขบวนการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพสำหรับประชาชนผิวสี (National Association for the Advancement of Colored People-NAACP) ระหว่างช่วงคุกรุ่นร้อนผ่าวของสงคราม “ขาว-ดำ” ที่อื้อฉาวในอเมริกา

ริชาร์ด ดอว์กินส์ (Richard Dawkins) นักวิทยาศาสตร์ (ชีววิทยาและชาติพันธุ์วิทยา) ผู้เป็นกระบอกเสียงสำคัญของการรณรงค์ให้มนุษย์เลิกงมงายกับความเชื่อทางศาสนา เปรียบความศรัทธาในพระเจ้าเหมือนการเหยียดสีผิว ที่จะค่อยๆ จางหายไปจากความนิยมในสังคม เมื่อมนุษย์เรียนรู้ที่จะไตร่ตรองด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น

หากความเห็นของดอว์กินส์จะเป็นจริง ก็คงไม่ใช่ในระยะเวลาอันใกล้ (และความศรัทธาในพระเจ้ากับการเหยียดสีผิวระหว่างมนุษย์อาจมีความแตกต่างกันมากกว่าที่ดอว์กินส์คิด) แต่สิ่งที่สามารถเห็นได้ชัดเจนว่าจริง อย่างน้อยก็ในอเมริกาต้นศตวรรษที่ ๒๑ คือ คน “ผิวสี” มีสิทธิและเสรีภาพมากกว่าเดิม ถึงขั้นที่หลายคนกลายเป็นผู้ประสบความสำเร็จมากที่สุดในหลายสาขาอาชีพ (และมีสมาชิกวุฒิสภาเป็นตัวเต็งในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี ๒๐๐๘) ทั้งๆ ที่เพียงไม่ถึง ๔๐ ปีที่แล้วพวกเขายังถูกจัดเป็นพลเมืองชั้นต่ำ ถูกห้ามไม่ให้เทียบเคียงกับคนขาว และเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายร่างกายจนถึงชีวิตโดยไม่ได้รับความยุติธรรมทางกฎหมายแต่อย่างใด

พูดง่ายๆ ชีวิตของพวกเขาไม่ดีกว่าผักปลา ในสายตาของคนขาว ผักกับปลายังได้รับการทะนุถนอมดีกว่าด้วยซ้ำ

เม็ดการ์ เอเวอร์ส เป็นหนึ่งในคนจำนวนมากที่ถูกเกลียดชังและถูกสังหารเพราะสีผิว เขาเป็นพลเมืองดี มีประวัติน่านับถือ (เคยเป็นทหารออกรบกับกองทัพอเมริกัน) และมีผลการเรียนเป็นเลิศ ถึงอย่างนั้นเมื่อสมัครเข้าโรงเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี เขากลับถูกปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าสีผิวของเขาเข้มเกินไป

ไม่ถึง ๑ วันก่อนที่เอเวอร์สจะถูกยิง ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี เพิ่งกล่าวสุนทรพจน์แพร่ภาพออกโทรทัศน์ทั่วประเทศว่า “ประเทศนี้เกิดขึ้นได้โดยคนหลากเชื้อชาติและพื้นเพ สร้างขึ้นด้วยหลักการที่ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน และเมื่อสิทธิของมนุษย์ ๑ คนถูกคุกคาม ก็แปลว่าสิทธิของมนุษย์ทั้งหมดสูญหายไปด้วย …วันนี้เรามุ่งมั่นกับการดิ้นรนต่อสู้ในระดับโลก ที่จะสนับสนุนและปกป้องสิทธิของมนุษย์ทุกคนที่ต้องการเป็นอิสระ”

ชายผู้ลั่นไกใส่เอเวอร์สเป็นสมาชิกของขบวนการ Klu Klux Klan (ที่ต่อต้านคนผิวสีด้วยความรุนแรงและการฆาตกรรมมาตั้งแต่ปี ๑๘๖๖) ชื่อ ไบรอน เดอ ลา เบ็กวิท (Byron de la Beckwith) เขาถูกจับในปีถัดมา แต่แล้วก็ได้รับการปลดปล่อยโดยคณะลูกขุนในศาลซึ่งเป็นคนผิวขาวทั้งหมด

สามเดือนถัดจากวันที่ เม็ดการ์ เอเวอร์ส ถูกฆาตกรรม สมาชิกของขบวนการ Klu Klux Klan วางระเบิดโบสถ์ในรัฐแอละแบมา ในช่วงสายของวันอาทิตย์ที่ ๑๕ กันยายน ขณะที่กลุ่มเด็กเล็กผิวดำอายุ ๑๐ ขวบกว่าๆ กำลังเดินไปยังห้องชั้นใต้ดินเพื่อสวดภาวนา ทำให้เด็กเสียชีวิต ๔ คน บาดเจ็บย ๒๒ คน เป็นชนวนของการจลาจลและความรุนแรงที่ทำให้มีคนผิวสีเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกในภายหลัง

เหตุการณ์เหล่านั้นและอีกหลายเหตุการณ์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันสร้างบรรยากาศอึมครึมตึงเครียด และบ่มเพาะความโกรธแค้นในสังคมฝ่าย “เสรีนิยม” ของอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง การตายของ เม็ดการ์ เอเวอร์ส ถูกถ่ายทอดเป็นบทเพลงโดยศิลปินโฟล์กวัยหนุ่มอย่าง บ๊อบ ดีแลน (เพลง “Only a Pawn in Their Game”) ทั้งยังได้รับการพูดถึงหรือเขียนถึงโดยปัญญาชนคนขาวต่างแขนงอย่างกว้างขวาง

แต่ยิ่งกว่าใครทั้งหมดที่ออกมาประณามความโหดเหี้ยมไร้เหตุผลของประเทศตัวเอง นีนา ซิโมน (Nina Simone) เป็นตัวแทนทั้งของดนตรีและของคนผิวสี ผู้กระจายเสียงประจานได้บาดลึกและแสบสันต์ที่สุดด้วยเพลง “Mississippi Goddam” ซึ่งเธอแต่งและร้องเองด้วยอารมณ์ร่วมบวมเป่ง พร้อมจะระเบิดใส่รัฐธรรมนูญอเมริกันโดยไม่เกรงใจใคร

Lord have mercy on this land of mine
We all gonna get it in due time
I don’t belong here
I don’t belong there
I’ve even stopped believing in prayer

03 2

คนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นและศรัทธาอย่างลึกซึ้งในพระเจ้า เป็นคุณสมบัติที่อยู่ในเม็ดเลือดของพวกเขาพอๆ กับความสามัคคีแน่นแฟ้นแบบ “นับญาติ” ที่พวกเขามีให้กัน (ตราบที่โลกนี้ยังมีผู้ถูกเหยียดหยามรังแกเช่นที่คนผิวดำพบเจอมาเป็นศตวรรษ ตราบนั้นความปราศจากศาสนา ปราศจากพระเจ้า อย่างที่ ริชาร์ด ดอว์กินส์ คาดหวังคงเป็นไปได้ยาก) แต่เมื่อ นีนา ซิโมน ตะเบ็งด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ประกาศว่าความรุนแรงและความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นทำให้เธอ “เลิกเชื่อในการสวดภาวนา” อาจเปรียบเสมือนเสียงสะท้อนจากคนผิวดำถึงความเหลืออดเหลือกลั้นของการมีชีวิตที่ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นเพียงเศษขยะ จนกระทั่งไม่อาจฝากความหวังไว้กับ “ความดี” ใดๆ ได้เลย แม้กระทั่งความดีสูงสุดในสรวงสวรรค์

ในปี ๑๙๖๓ ที่ นีนา ซิโมน เขียนเพลง “Mississippi Goddam” ขึ้น เธอเป็นที่รู้จักอยู่บ้างแล้วในฐานะนักร้องเพลงแจ๊ซสแตนดาร์ด (jazz standard) จากเพลง “I Love You Porgy” (ประพันธ์โดย จอร์จ เกิร์ชวิน สำหรับละครเพลงเรื่อง Porgy and Bess) ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟังจนสามารถไต่อันดับเพลงยอดนิยมจากการสำรวจของนิตยสาร Billboard ในปี ๑๙๕๘ และก่อนหน้านั้น เธอเคยทำงานหาเลี้ยงตัวเองด้วยการเล่นเปียโนและขับร้องเพลงในบาร์ชื่อดังย่านแอตแลนติกซิตี (เมืองบ่อนพนันฝั่งตะวันออกของอเมริกา) มาตั้งแต่อายุ ๒๐ ต้นๆ โดยมีแฟนเพลงผู้ชื่นชอบสำเนียงเสียงร้องของเธอติดตามฟังอยู่จำนวนหนึ่ง จึงไม่อาจกล่าวว่า นีนา ซิโมน แจ้งเกิดในฐานะนักร้องจากเพลงแนวประท้วง (protest music) อย่าง “Mississippi Goddam” แต่คงไม่เกินเลยความจริงที่จะกล่าวว่าเธอสร้างความเป็น “ตำนาน” และความเป็น “ดีวา” (Diva ในความหมายของนักร้องหญิงผู้เลอเลิศระดับนางพญา) ให้ตัวเองอย่างแท้จริง จากการแสดงออกอย่างเหิมเกริมต่อผู้มีอำนาจ จากความหาญกล้าที่จะเรียกร้องเสรีภาพให้แก่เพื่อนร่วมสีผิว และจากความเป็นปัจเจกสูงทั้งในการร้องเพลงและในการใช้ชีวิต

นีนา ซิโมน เป็นชื่อที่ ยูนิส แคทลีน เวย์มอน (Eunice Kathleen Waymon) ตั้งให้ตัวเองสมัยที่เธอทำงานเป็นนักร้องในบาร์ เพื่อปกปิดไม่ให้แม่ผู้เคร่งศาสนาของเธอล่วงรู้ถึงงานที่เธอทำ ความฝันของเด็กหญิงยูนิสคือการเป็นนักเปียโนคลาสสิก (ซึ่ง นีนา ซิโมน ยังคงยืนยันจนถึงบั้นปลายชีวิตว่าเธอเป็นนักเปียโนคลาสสิก และเรียกดนตรีที่เธอเล่นโดยรวมๆ ว่า “ดนตรีคลาสสิกของคนผิวดำ” แทนชื่อแนวดนตรีอย่างแจ๊ซหรือโซล ด้วยเหตุผลที่ว่า “มัน [แจ๊ซ] เป็นแค่คำที่ [คนผิวขาว] ใช้ระบุเรียกคนผิวดำ”)

ความสามารถในการเล่นเปียโนของเธอโดดเด่นตั้งแต่ที่เธอได้แสดงคอนเสิร์ตบนเวทีครั้งแรกในโบสถ์ขณะมีอายุเพียง ๑๐ ขวบ แม้แต่ความมุ่งมั่นในการเรียกร้องความเท่าเทียมให้แก่คนผิวดำของเธอก็ปรากฏชัดขึ้นพร้อมๆ กัน ในคอนเสิร์ตครั้งนั้น เมื่อผู้ปกครองของเธอถูกไล่จากที่นั่งแถวหน้าให้ถอยไปอยู่ข้างหลังเพื่อเปิดพื้นที่ให้คนผิวขาวได้นั่งแทน เด็กหญิงยูนิสปฏิเสธที่จะเล่นเปียโนจนกว่าพ่อกับแม่ของเธอจะได้กลับมานั่งที่เดิม

ชีวิตช่วงแรกของ นีนา ซิโมน ไม่ลำบากลำบนเท่านักร้องหรือนักดนตรีผิวดำชื่อดังจำนวนมาก เธอได้รับการศึกษาที่ดีแม้ว่าพ่อแม่ของเธอไม่ได้ร่ำรวย และความสามารถทางดนตรีของเธอก็ทำให้เจ้านายของแม่เอ็นดูและสนับสนุนค่าเรียนเปียโนอย่างต่อเนื่อง เมื่ออายุได้ประมาณ ๑๗ ปี นีนา ซิโมน มีโอกาสเข้าศึกษาเปียโนแนวคลาสสิกที่โรงเรียนดนตรีจูลลิอาร์ด (The Juilliard School of Music) โรงเรียนชื่อดังของนครนิวยอร์ก เป็นพื้นฐานที่ทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งในนักร้องหญิงผิวสีกลุ่ม “นักร้องเพลงแจ๊ซระดับตำนาน” ของอเมริกาไม่กี่คน ที่มีความรู้และมีทักษะทางดนตรีตามระบบการศึกษาอย่างแท้จริง

ในเมื่อความฝันของเธอคือการได้เป็นนักเปียโนคลาสสิก เมื่อเรียนจบจากจูลลิอาร์ด นีนา ซิโมน จึงพยายามสมัครเข้าเรียนเปียโนขั้นสูงที่สถาบันดนตรีเคอร์ติส (The Curtis Institute of Music) และเมื่อถูกปฏิเสธ เธอคิดว่าสาเหตุไม่ใช่ปัจจัยใดอื่นนอกจากสีผิวของเธอ ความผิดหวังในครั้งนั้น ประกอบกับสถานการณ์สงครามสีผิวในอเมริกาที่ยุ่งเหยิงขึ้นเรื่อยๆ อาจมีส่วนผลักดันให้ นีนา ซิโมน ให้ความสำคัญกับการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพอย่างขึงขังจริงจัง นอกจากนั้นเธอยังได้แรงบันดาลใจจากบรรดาเพื่อนปัญญาชนคนผิวสี เช่นสองนักเขียนใหญ่ แลงส์ตัน ฮิวส์ และ เจมส์ บอลด์วิน ให้ “รู้สึก” กับปัญหาของคนผิวดำอย่างลึกซึ้งกว่าเดิม

03 3

ถึงแม้ปัญหาการเหยียดสีผิวในอเมริกาจะคลี่คลายลงในที่สุด แต่ นีนา ซิโมน ดูเหมือนจะไม่เคยรู้สึกว่าพฤติกรรมของคนอเมริกันเปลี่ยนแปลงไปมากนัก และแม้เธอจะแต่งเพลง “Mississippi Goddam” ขึ้นตั้งแต่ในเวลาตอนต้นของการเป็น “นางพญา นีนา ซิโมน” ที่ค่อนข้างยาวนาน (เธอเสียชีวิตในปี ๒๐๐๓ เมื่อมีอายุ ๗๐ ปี) แต่เนื้อหาของมันดูเหมือนจะเป็นบทสาบานที่ นีนา ซิโมน ให้ไว้แก่ตัวเองและกับสังคมของมนุษย์ที่เธอเรียกว่า “ยังไม่พัฒนา” สังคมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง การหลอกลวง และความโง่เขลา รายละเอียดในเพลงนั้นจึงยังเป็นจริงเสมอในความคิดของเธอ และเมื่อไรที่มีคนถามถึงอเมริกา เธอเป็นต้องด่าทอประเทศบ้านเกิดของตัวเองด้วยความอัดอั้นเคียดแค้นเช่นเคยเสมอ

Oh but this whole country is full of lies
You’re all gonna die and die like flies
I don’t trust you any more
You keep on saying “Go slow!”

ความเบื่อหน่ายอึดอัดต่อสังคมอเมริกัน ความเกลียดชังอุตสาหกรรมบันเทิง และความต้องการใช้ชีวิตอิสระอย่างเต็มที่ (และอาจรวมถึงเหตุผลส่วนตัวบางอย่าง) ทำให้ นีนา ซิโมน ย้ายถิ่นฐานออกจากอเมริกาอย่างถาวรในปี ๑๙๗๐ และหลังจากได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆ หลายแห่ง (เมื่อไปถึงแอฟริกา เธอบอกว่าเธอได้ “กลิ่น” ของความเป็นบ้าน ทำให้เธอมีความสุขกายสบายใจถึงขั้นต้องถอดรองเท้าเดิน และเต้นระบำโดยไม่สวมเสื้อผ้าแม้แต่ชิ้นเดียวอยู่หลายชั่วโมง) มีความสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคน ในที่สุดเธอก็ไปหยุดอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจนถึงวันสุดท้าย

แต่ก่อนจะเดินทางไกลจากบ้านโดยไม่อยากหวนกลับ (นอกจากจะกลับไปร้องเพลงและออกอัลบั้มเป็นครั้งคราว) นีนา ซิโมน ประพันธ์บทเพลงสำคัญให้แก่พลเมืองผิวสีในอเมริกาอีก ๑ เพลง ด้วยจังหวะจะโคนและน้ำเสียงที่แตกต่างจาก “Mississippi Goddam” พอสมควร หาก “Mississippi Goddam” เป็นเพลงประท้วงล้วงขอความยุติธรรมจากหัวใจอำมหิตของปีศาจผิวขาว เพลงใหม่ของเธอที่ชื่อ “To Be Young, Gifted and Black” (แต่งด้วยแรงบันดาลใจจากบทละครที่ ลอร์เรน ฮานส์เบอร์รี เพื่อนของเธอเขียนค้างไว้ก่อนตาย โดยมี เวลดอน เออร์ไวน์ เป็นคนเขียนเนื้อร้อง) อาจเรียกได้ว่าเป็นเพลง “ปลุกใจ” หรือ “ปลอบขวัญ” อย่างนุ่มนวลให้สังคมคนผิวสีของเธอไว้ขับกล่อมกันเองในระหว่างที่เธอไม่อยู่

When you feel really low
Yeah, there’s a great truth you should know
When you’re young, gifted and black
Your soul’s intact

สำเนียงของ นีนา ซิโมน ในเพลง “To Be Young, Gifted and Black” คือตัวอย่างของเพลงที่ทำให้ผู้คนในวงการดนตรีขนานนามเธอว่า “ภิกษุณีใหญ่แห่งดนตรีโซล” (High Priestess of Soul) แต่ นีนา ซิโมน ไม่เคยชอบฉายาใดที่สังคมตั้งให้เธอ และยังคงรักษาบทบาทของความเป็นขบถ เป็น “คนนอก” ของตัวเธอไว้อย่างเข้มแข็งโดยตลอด

ในช่วงท้ายของชีวิต นีนา ซิโมน ยังคงแสดงออกถึงความผิดหวังต่ออเมริกา ต่ออุตสาหกรรมดนตรี แม้กระทั่งต่อสังคมคนผิวดำที่เธอเคยเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้ ด้วยการขับครวญความรู้สึกจากเบื้องลึกออกมาเป็นบทเพลงระดับอมตะหลายต่อหลายเพลง

แม้ว่า “To Be Young, Gifted and Black” จะได้รับการเลือกให้เป็น “เพลงชาติสำหรับคนอเมริกันผิวดำ” อย่างเป็นทางการ นีนา ซิโมน ยังคงคิดว่าการต่อสู้ในยุคหกศูนย์ของเธอและเพื่อนพ้อง (ที่เสียชีวิตไปหมดแล้ว) ล้วนไม่ประสบผลสำเร็จ และสังคมคนผิวดำในอเมริกาก็ไม่ได้เดินไปในทิศทางที่ดีขึ้น อาจเรียกได้ว่าเธอไม่ได้ผิดหวังเฉพาะกับคนผิวขาวหรือคนผิวดำเท่านั้น ทว่าเธอผิดหวังกับมนุษยชาติโดยรวม และยินดีที่จะเก็บตัวอยู่ห่างๆ

อย่างไรก็ตาม นีนา ซิโมน เป็นนักร้องหญิงผู้มีชีวิตโลดโผนที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ และไม่ว่าเธอจะยินดีด้วยหรือไม่ ชื่อของเธอก็กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศบ้านเกิดที่เธอรังเกียจ นั่นคือสัญลักษณ์ของนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพ สัญลักษณ์ของศิลปินผู้ทุ่มเทอารมณ์และวิญญาณให้แก่งานอย่างแท้จริง สัญลักษณ์ของปัจเจกชนผู้ไม่ประนีประนอมต่อสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อ และสัญลักษณ์ของหญิงผู้มีไหวพริบแพรวพราว มีความภาคภูมิใจในเพศและสีผิวของตัวเอง และมีความ “ทัดเทียม” กับมนุษย์ทุกคนบนผิวโลก โดยไม่ต้องให้ใครเรียกร้องหรือปกป้องสิทธิเสรีภาพให้ หากแต่มีความทัดเทียมและเป็นอิสระด้วยการตัดสินใจของเธอเอง

แม้จะมีข้อบกพร่องเช่นเดียวกับคนทั่วไป (เธอเป็นคนอารมณ์ร้าย และมีอาการทางจิตที่ถูกปกปิดต่อสาธารณชนในขณะยังมีชีวิต) แต่น้ำเสียงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความจริงใจและการถ่ายทอดบทเพลงด้วยความ “ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง” คือคุณสมบัติที่ทำให้อารมณ์ร้าวลึกในฐานะของพลเมืองชั้นต่ำผู้ถูกกดขี่กักกั้น ปรากฏขึ้นบนพื้นผิวของทุกเพลงที่เธอขับร้อง

ในปี ๑๙๗๑ ขณะที่ นีนา ซิโมน กำลังบันทึกเสียงเพลง “My Father” (แต่งโดย จูดี คอลลินส์) อยู่ๆ เธอก็หยุดร้องกะทันหัน หลังจากเพิ่งเปล่งน้ำเสียงเอกลักษณ์ของเธอออกไปว่า “My father always promised me that we would live in France. We’d go boating on the Seine, and I would learn to dance. We lived in Ohio then, he worked in the mines…,” ห้องอัดเงียบกริบไปชั่วอึดใจ ก่อนจะได้ยินนีนาพูดเบาๆ

“ฉันร้องเพลงนี้ไม่ได้…มันไม่ใช่ตัวฉัน

“พ่อของฉันสัญญาเสมอว่าพวกเราจะได้รับเสรีภาพ แต่เขาไม่เคยสัญญากับฉันว่าพวกเราจะได้ไปอยู่ที่ฝรั่งเศส”

แล้วเธอก็ระเบิดหัวเราะดังกึกก้องนานหลายวินาทีให้แกานิสัยซื่อตรงแต่ดื้อดึงของตัวเอง ด้วยพลังเสียงไม่ด้อยไปกว่าเวลาที่เธอตะเบ็งร้องเพลงประกาศความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์