งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เรื่อง-ฑารัตน์ ฮิซาเอะ ทานากะ

ภาพ-พาฝัน พลเยี่ยม

ยาจีนในย่านจีน บทพิสูจน์ของความเชื่อและกาลเวลา

โหลยาจีนตั้งใชว์ในร้านเต๊กแซ่ซึง

ยาจีนในย่านจีน บทพิสูจน์ของความเชื่อและกาลเวลา

อาแปะแห่งร้านเต๊กแซ่ซึง

ยาจีนในย่านจีน บทพิสูจน์ของความเชื่อและกาลเวลา

ร้านเอี๊ยแซ

ยาแผนปัจจุบันตู้ยาโบราณ

ยาแผนปัจจุบันตู้ยาโบราณ

ร่องรอยยาจีนที่ยังอยู่

ร่องรอยยาจีนที่ยังอยู่

อุปกรณ์ชั่งยาจีน บนตู้ยาแผนปัจจุบัน

อุปกรณ์ชั่งยาจีน บนตู้ยาแผนปัจจุบัน

คุณไพบูลย์แห่งร้านเอี๊ยะกอ

คุณไพบูลย์แห่งร้านเอี๊ยะกอ

ข้าวของในร้าน ส่วนผสมยาจีนวางปะปนกับยาแผนปัจจุบันอื่นๆ

ข้าวของในร้าน ส่วนผสมยาจีนวางปะปนกับยาแผนปัจจุบันอื่นๆ

 

 

ภายในชั้นล่างของตึกแถวขนาดสองคูหา ขวดสมุนไพรยาจีน ที่เรียงรายอย่างสวยงามอยู่บนชั้นกระจก บนโต๊ะเบื้องหน้าเป็นตาชั่งยา และอุปกรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการทำยาสมุนไพรที่ถูกจัดเรียงไว้อย่างเรียบร้อย มองดูเผินๆ ก็รู้ได้ทันทีว่าที่นี่คือร้านขายยาจีนเก่าแก่ทั่วไปที่มักพบเห็นได้ตามย่านจีนต่างๆ เช่นไชน่าทาวน์หรือเยาวราช

“เต๊กแซ่ซึง โอสถสถาน” ป้ายไม้ขนาดใหญ่หน้าร้านช่วยย้ำความมั่นใจของเราอีกครั้ง

“ตรงนี้เอาไว้โชว์เฉยๆครับ ผมเลิกขายไปแล้ว” เสียงจากอาแปะร่างเล็กคนหนึ่งดังออกมาจากในร้าน

ยังไม่ทันที่จะสงสัย เราก็ได้คำตอบ

“ตรงนี้” คงหมายถึงสมุนไพรยาจีนที่อยู่ตรงหน้าเรา  เมื่อมองไปตรงข้ามเราพบว่าในตู้กระจกมียาแผนปัจจุบันชื่อฝรั่งหน้าตาคุ้นเคยยี่ห้อต่างๆ วางเรียงรายอยู่มากมาย ทั้งยาแก้ไอ ยาแก้ปวดหัว ยาแก้ปวดท้อง และอื่นๆ

ความสงสัยจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง

อาแปะเล่าให้เราฟังว่า ร้านเต๊กแซ่ซึงแห่งนี้ เปิดกิจการมาได้ประมาณ 90 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยรุ่นอากงที่อพยพมาจากเมืองจีน มาลงหลักปักฐานที่ย่านเจริญกรุง และเริ่มธุรกิจขายยาสมุนไพรจีนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“สมัยก่อนแถวนี้นี่ ร้านผมเป็นอันดับหนึ่งเลยนะ” อาแปะพูดกับเราด้วยรอยยิ้ม แต่เมื่อเราถามถึงเหตุผลที่เลิกกิจการ กลับเงียบไปเล็กน้อย ก่อนบอกกับเราว่า “คนจีนที่อยู่แถวนี้ย้ายบ้านไปหมดแล้ว ก็เลยต้องเลิก”

แปะเล่าต่อว่า สมัยก่อนยาแผนปัจจุบัน หรือที่เรียกกันว่า “ยาฝรั่ง” ยังไม่นิยมเหมือนสมัยนี้ คนย่านนี้เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะมาที่ร้านยาของแปะ สมัยก่อนมีหมอประจำร้านอยู่ด้วย คนก็มาซื้อยากันไปกินตามที่หมอสั่ง แต่ในปัจจุบัน ลูกค้าเก่าแก่ที่อยู่ตั้งแต่ดั้งเดิมได้ลดน้อยลงเรื่อยๆ บ้างก็ล้มหายตายจาก บ้างก็ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น อีกทั้ง “ยาฝรั่ง” ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น จนเข้ามาแทนที่ยาสมุนไพรในที่สุด

เมื่อกระแสสังคมเริ่มเปลี่ยนไป แปะจึงต้องรับยาแผนปัจจุบันมาขายแทน ปล่อยให้ยาจีนที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวเป็นเพียงอดีตที่อยู่ในตู้กระจกเท่านั้น

ถัดจากร้านเต๊กแซ่ซึงไปไม่ไกล หากเดินไปเรื่อยๆตามถนนเจริญกรุง จะเจอร้านยาเล็กๆอีกร้านหนึ่งตั้งอยู่ แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ กลิ่นยาจีนที่หอมฉุนมาแต่ไกล แม้สายตาจะยังไม่เห็น แต่จมูกก็แอบกระซิบบอกเราว่า ร้านนี้ยังคงดำเนินกิจการสมุนไพรยาจีนอยู่

พูดถึงร้าน “เอี๊ยะแซ”  หลายคนคงคุ้นหูกับชื่อนี้ในรูปของยาดมสมุนไพรขนาดกะทัดรัดพกสะดวก   คุณกัลยาลูกสาวเจ้าของร้าน บอกกับเราว่าร้านนี้มีมาตั้งแต่รุ่นพ่อของอากง(คุณทวด) ที่เริ่มต้นทำกิจการร้านยาจีนที่ชลบุรี ต่อมาตัวอากง(คุณปู่) ที่เป็นแพทย์แผนจีนอยู่แล้ว จึงได้มาลงหลักปักฐานที่ตลาดน้อย ขายกันมาจนถึงรุ่นปัจจุบันคือคุณไพบูลย์ซึ่งเป็นคุณพ่อของคุณกัลยา  จึงเรียกได้ว่าครอบครัวคุณกัลยากับตลาดน้อยเติบโตและเปลี่ยนแปลงมาด้วยกัน  “ตลาดน้อยเปลี่ยนไปเยอะ อย่างสมัยรุ่นพ่อก็จะมีรถราง เป็นตลาดหน้าบ้าน แต่พอมารุ่นนี้ก็จะเห็นตลาดหรือคนขายของหน้าบ้านบ้าง แต่ไม่มีรถรางแล้ว”

เช่นเดียวกับกิจการยาจีน คุณกัลยาบอกว่าเมื่อก่อนแถวนี้ก็จะมีร้านยาจีนหลายร้าน แต่ด้วยกาลเวลาและค่านิยมต่อการรักษาที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ตอนนี้ในย่านตลาดน้อยเหลือร้านเอี๊ยะแซร้านเดียวที่ยังเป็นร้านยาจีนแผนโบราณอยู่      “พวกสมุนไพรที่ร้านเรารับมาส่วนใหญ่ก็จะรับมาจากเมืองจีนอีกที ด้วยเหตุผลที่ว่าบ้านเค้าอากาศดีกว่า ดินดีกว่า ของที่เราได้มาก็จะมีคุณภาพดีกว่า”

เมื่อเราถามถึงการตระเตรียมการขายในแต่ละวันว่ามีอะไรบ้าง คุณกัลยายิ้มเล็กน้อยก่อนจะเริ่มเล่าต่อ

“มีเยอะมากค่ะ ตั้งแต่ตรวจเช็คยา อย่างยามาถึงไม่ใช่ว่าจะขายได้เลย ต้องทำความสะอาดให้ลูกค้าก่อน ต้องมาร่อนยาทิ้ง อย่างเวลาสั่งยามากิโลนึง ขีดนึงคือที่เราร่อนทิ้งไป แต่ก็ต้องขายในราคากิโลนึง ได้กำไรนิดเดียว แต่ก็ต้องทำเพราะเราอยากให้ลูกค้าได้ของที่ดี ที่สะอาด”

ในเรื่องยอดขาย คุณกัลยาบอกกับเราว่า หากเทียบกับสมัยก่อนก็ถือว่ายอดขายแตกต่างกันมาก เพราะปัจจุบันนี้ คนสมัยใหม่หันมาพึ่งยาแผนปัจจุบันในการรักษาโรค ด้วยเหตุผลที่ว่าตัวยาออกฤทธิ์และเห็นผลไวกว่าสมุนไพรมากแต่ในขณะเดียวกันกระแสสมุนไพรก็เริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง   “ทุกวันนี้ก็ขายได้ทุกกลุ่มลูกค้านะ เด็กที่นี่ก็จะกินยาจีน เด็กเล็กๆนี่ก็กิน คนแถวนี้ก็ยังมาซื้ออยู่เพราะที่นี่เป็นร้านโบราณ เชื่อถือได้    หลังๆคนเค้าก็เริ่มมาพึ่งยาสมุนไพรกันแล้ว เพราะมันปลอดภัยกว่า เพียงแต่มันใช้เวลานานเท่านั้นเองกว่าจะออกฤทธิ์” คุณกัลยาอธิบาย

อย่างที่บอกไปว่า ร้านเอี๊ยะแซนั้นมีแบรนด์เป็นของตัวเองด้วย นั่นคือยาดมสมุนไพร เมื่อสอบถามถึงที่มาก็ได้ความว่าเป็นสูตรของครอบครัวที่สืบทอดต่อๆกัน เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนไม่ได้มีการจำหน่าย ทางร้านทำไว้แค่แจกลูกค้าที่มารักษากับที่ร้านเท่านั้น

“แจกไปแจกมาเริ่มเยอะ คนไข้เริ่มบอกต่อว่าที่นี่มี คนเลยมาขอกันจนเราก็เลยเริ่มทำขาย ก็ผลิตกันเองภายในบ้าน เอาแม่บ้านที่ไม่มีงานมาช่วยกันผลิตขาย”

หลายคนถามคุณกัลยาว่า ทำไมไม่ตั้งโรงงานผลิตไปเลย คุณกัลยาบอกเพียงว่า หากตั้งโรงงานผลิต กลุ่มแม่บ้านที่เราจ้างอยู่ก็จะไม่มีงานทำ การทำธุรกิจในลักษณะนี้ก็จะเป็นการช่วยเหลือจุนเจือกันรูปแบบหนึ่ง

“เมื่อก่อนแถวนี้ก็จะมีร้านยาจีนหลายร้าน แต่ตอนนี้ก็จะเหลือร้านนี้ร้านเดียว นอกนั้นก็เริ่มหายไปตามกาลเวลา”  คุณกัลยากล่าวทิ้งท้ายกับเรา

คุยกับคุณกัลยาได้ซักพักใหญ่ๆ ก็ประจวบเหมาะกับเวลาที่คุณหมอประจำร้านเสร็จงานจากลูกค้าพอดี เราเลยได้คุยกับคุณไพบูลย์ คุณพ่อของคุณกัลยา เจ้าของร้านยาเอี๊ยะแซกันต่อ

เราจึงได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากกิจการยาจีนแล้ว ที่นี่ยังรับรักษาคนไข้อีกด้วย เพราะคุณไพบูลย์เองก็ประกอบอาชีพแพทย์แผนโบราณอยู่แล้ว มีใบประกอบอาชีพในการรักษาโรคถูกต้องทุกประการ   “เวลาใครเป็นอะไรมาหาเรา ก็ดูจากสีหน้า แล้วจับชีพจรก็จะรู้ได้ครับว่าเป็นอะไร” คุณไพบูลย์อธิบายคร่าวๆถึงศาสตร์แพทย์แผนโบราณของจีน หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “หมอแมะ” ให้เราฟัง

โดยทั่วไป การแมะ นั้นหมายถึงการจับชีพจรเพื่อตรวจการทำงานของอวัยวะภายในต่างๆ เช่นปอด ตับ ไต ม้าม ว่ามีความผิดปกติอย่างไรบ้าง ซึ่งก่อนที่แพทย์จะมาวินิจฉัยรักษาได้ ก็ต้องเรียนรู้และฝึกฝนจนเชี่ยวชาญเสียก่อน

เราถามคุณไพบูลย์ต่อว่า ในยุคสมัยที่ยาฝรั่งเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นขนาดนี้ กลัวไหมว่ายาจีนจะเลือนหายไปตามเวลาจนดำเนินกิจการต่อไม่ได้  เราตั้งข้อสงสัยจากสิ่งที่เห็นบวกกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับร้าน “เต๊กแซ่ซึง โอสถสถาน”

คุณไพบูลย์หัวเราะเบาๆ ก่อนจะตอบกับเรา  “เดี๋ยวนี้คนเริ่มหันมากินยาจีนกันตั้งเยอะแยะ คนไทยคนฝรั่งก็หันมากินกันหมด อีกอย่างสมุนไพรจีนมีประวัติมาตั้งสี่พันกว่าปี ไม่มีวันหมดหรอกครับ”

ถ้าสิ่งที่คุณไพบูลย์พูดเป็นความจริง ก็คงไม่มีอะไรที่จะพิสูจน์เวลา ได้ดีไปกว่า “เวลา” ที่นำพาความเชื่อและความศรัทธาในอาชีพมาสู่ทั้งสองร้าน เราไม่อาจบอกได้ว่าระหว่างเส้นทางของร้านยาจีนกับอดีตร้านยาจีน เส้นทางไหนจะดีกว่ากัน แต่สิ่งสำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้แต่ละคนเลือกทางก้าวเดินนั้น คงเป็นนามธรรมที่เรียกว่าความเชื่อมั่น ว่าเรามีมันมากน้อยแค่ไหน