สัมภาษณ์ : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ, ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
ถ่ายภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

athapol01

ทุก ๆ ปีในช่วงปิดเทอมที่มีการสอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ประเด็นปัญหาการศึกษาไทยมักถูกยกขึ้นมาเป็นข่าวอยู่เสมอ ก่อนจะหายเงียบไปเมื่อพ้นช่วงเวลาดังกล่าว

แต่ตลอดปีสองปีมานี้ ปมปัญหาด้านการศึกษาปรากฏเป็นข่าวดังค่อนข้างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มวิชาหน้าที่พลเมือง (ปี ๒๕๕๗) นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (ปี ๒๕๕๘) การวัดผล PISA ที่เด็กไทยได้คะแนนต่ำกว่าเพื่อนบ้าน (ปี ๒๕๕๙) หรือล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ กับการอนุญาตให้ผู้ที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาทางครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์สมัครสอบคัดเลือกเป็นครูได้จนเกิดกระแสคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่มวิชาชีพครู

ต้องยอมรับว่าประเด็นการศึกษาเป็นเรื่องถกเถียงในสังคมไทยมายาวนาน คำว่าปฏิรูปการศึกษาได้ยินกันจนเป็นเรื่องชาชิน ล่าสุดความสำเร็จด้านรายได้กว่า ๑๐๐ ล้านบาทของภาพยนตร์ไทยเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง ที่ออกฉายเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ได้รับการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นภาพยนตร์ตีแผ่ระบบการศึกษาไทย และธุรกิจโกงข้อสอบ

ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งยังเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (Thai Civic Education) มักแสดงความเห็นวิจารณ์ปัญหาต่าง ๆ ด้านการศึกษาผ่านทางหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว ให้สัมภาษณ์สื่อหลายแขนง รวมถึงมีส่วนร่วมจัดเสวนาเรื่องการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะเห็นว่าปัญหาการเมืองกับการศึกษานั้นมีคนพูดถึงน้อย และในฐานะผู้ฝึกหัดครู (Teacher Educator) ที่เข้าถึงปัญหาจากประสบการณ์ตรงของการจัดการเรียนการสอน ยิ่งต้องออกมาพูดให้ความเห็นแทนครูที่อาจพูดไม่ได้เพราะอยู่ภายใต้กระทรวงฯ ซึ่งต้องกระโดดเต้นตามนโยบายที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ของ “ผู้ใหญ่” มากหน้าหลายตาที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปในช่วงเวลาสั้น ๆ

สารคดี เปิดวงสนทนากับอาจารย์อรรถพล ตั้งแต่ความพยายามปฏิรูปการศึกษาจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ จนถึงปัจจุบันที่เหมือนจะยังก้าวเดินไปไม่ถึงไหน เพราะหากคาดหวังให้เยาวชนพัฒนาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ประชาชนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมก้าวสู่สังคมยุคใหม่ ปัญหาการศึกษาคือรากฐานสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขและจัดการ

แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจากความเข้าใจในระบบการศึกษาของไทยอย่างแท้จริง