ทีม Growth together
เรื่อง : ทัศนวรรณ ปัญญาแดง
ภาพ : รุ่งทิวา เปลี่ยนวอน

บ่อยครั้งที่มีข่าวการลาออกจากการรับราชการครู ทั้งที่เพิ่งได้รับบรรจุอย่างยากลำบากในสนามสอบแข่งขัน หรือบางคนรับราชการมา ๒-๓ ปี ด้วยเหตุผลว่าไม่อาจทนต่อระบบราชการ เหนื่อยหนักกับภาระงานที่ไม่ใช่การสอน ผิดหวังที่ต้องใช้เวลากับทำเอกสาร การประเมิน ประกวด มากกว่าการพัฒนานักเรียนให้ไปถึงขีดสุดแห่งศักยภาพเฉพาะบุคคลได้จริงๆ

แต่ก็มีคนที่รับราชการจนถึงวันเกษียณอย่างภาคภูมิใจ

ครูชาญชัย ชายร่างใหญ่ มีรอยยิ้มใจดี เป็นมิตรกับคนทั่วไป ให้บริการคนทุกเพศทุกวัย ทุกสาขาวิชาชีพด้วยความเต็มใจ ชายผู้หัวเราะเสียงดัง คอยช่วยกิจกรรมของเพื่อนครูทั้งภายในโรงเรียนและงานชุมชน คนที่ครูทั่วอำเภอเรียกสมญาว่า “ป๋าตุ๋ย” บ้างเรียก “พ่อครู”

บนเวทีงานเกษียณอายุราชการปลายเดือนกันยายน ครูชาญชัยกล่าวว่า

“เรามาเป็นครูเพราะเชื่อว่าคนเป็นเป้าหมายในการพัฒนาที่สำคัญที่สุด องค์กรเล็กหรือใหญ่จะก้าวหน้าหรือถอยหลังขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนในองค์กร

“เมื่อเราเลือกเป็นครู เราต้องรับหน้าที่สร้างคน เรามีโอกาสสร้างคุณค่าให้ตัวเองรวมถึงลูกศิษย์ของเรา หากแต่เราต้องใช้ความอดทน ทำงานด้วยความศรัทธา เชื่อมั่นในวิชาชีพ เพื่อรอคอยการเปลี่ยนแปลง เฝ้ามองการเติบโตของศิษย์ ครูจึงอยากอยู่ในอาชีพนี้ให้นานเท่านาน”

ครูชาญชัย ชายร่างใหญ่ มีรอยยิ้มใจดี เป็นมิตรกับคนทั่วไป ให้บริการคนทุกเพศทุกวัย ทุกสาขาวิชาชีพด้วยความเต็มใจ ชายผู้หัวเราะเสียงดัง คอยช่วยกิจกรรมของเพื่อนครูทั้งภายในโรงเรียนและงานชุมชน คนที่ครูทั่วอำเภอเรียกสมญาว่า “ป๋าตุ๋ย” บ้างเรียก “พ่อครู”

วิถีครูเกษตร : เรียนปนเล่น

ชาญชัยไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง หลังจบชั้น ม.ศ. ๕ ในปี ๒๕๒๗ จึงเลือกเรียนเกษตร อยากจบออกมาเป็นเกษตรอำเภอ แต่เรียนได้ ๒ อาทิตย์ก็ตัดสินใจลาออกมาเพาะเห็ดฟาง เลี้ยงหมู หารายได้จนครบปี จึงไปสอบเข้าเรียนวิชาชีพครู ระดับ ปกศ. สูง (เกษตรกรรม) แล้วทำงานเกษตรที่บ้านหาเงินส่งตนเองเรียน ใช้เวลา ๒ ปี พอเรียนจบจึงไปสอบบรรจุรับราชการเป็นครูที่โรงเรียนนาน้อย อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน แล้วก็เรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงควบคู่ สาขาส่งเสริมการเกษตร และจบปริญญาตรีภายใน ๒ ปี

แรงผลักดันสำคัญคืออยากให้พ่อแม่ภูมิใจ หลังจากผิดหวังที่ลูกลาออกกลางคัน ชาญชัยพยายามใช้เวลาเรียนให้น้อยที่สุด เพราะต้องรับราชการเพื่อความมั่นคงและสวัสดิการของพ่อแม่

ตอนอยู่โรงเรียนนาน้อย ครูกับนักเรียนอายุห่างกันไม่มาก ครูสอนเกษตรเต็มรูปแบบ มีรายวิชาปลูกผัก เลี้ยงไก่ แปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ครูสอนด้วยการลงมือทำ มีบางอย่างเรียนรู้พร้อมเด็ก สอนทักษะการทำงานที่แท้จริง เผชิญปัญหาและแก้ไขร่วมกัน สร้างทัศนคติที่ดีทางด้านงานเกษตรแก่นักเรียน

ครูรู้สึกถึงความสุขของเด็กๆ เมื่อใช้วิธีสอนแบบเรียนปนเล่น เรียนด้วยความสนุกสนานและได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ

“มีครั้งหนึ่งเลี้ยงไก่ไข่ พอไก่ปลดระวาง หากต้องขายไก่เป็นตัวจะราคาถูกมาก เด็กๆ เสนอให้นำไก่มาแปรรูปเป็นไก่อบโอ่งแบบพื้นบ้าน แต่ละคนก็ไปหาฟางข้าวตามทุ่งนา อุปกรณ์ย่างคือปี๊บน้ำมันพืช (แทนโอ่ง) ลานหลังบ้านพักครูคือสถานประกอบการ เราเรียนรู้การชำแหละไก่ หมักไก่ให้ได้รสชาติดี เวลาพอเหมาะและแรงไฟพอดีที่ทำให้ไก่สุก หอม อร่อย สำหรับลูกค้าที่เป็นครูในโรงเรียน การสั่งจองต่อเนื่องในคาบเรียนเกษตรเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดี

“ลองผิดลองถูกด้วยไก่สดจากฟาร์มเราหลายตัว จนได้ไก่อบโอ่งแสนอร่อยไปขายในงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกิจกรรมชุมนุมเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (ช.ก.ท.) ผลิตภัณฑ์ไก่อบโอ่งของเราได้รับคำชื่นชมถึงความอร่อย มีคนเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อรอซื้อ เด็กๆ ภาคภูมิใจในผลงาน บรรยากาศอบอวลด้วยควันฟางและความสุข เด็กๆ ได้กำไรอย่างไม่คาดคิด

“ครูก็มีความสุขเมื่อเห็นเขามีความสุขและเห็นคุณค่าความสามารถของเขาเอง”

ต้นปี ๒๕๖๕ ครูพานักเรียนไปแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนที่จังหวัดน่าน มีโอกาสพบลูกศิษย์ที่ทำไก่อบโอ่งที่โรงเรียนนาน้อย ปัจจุบันทำงานเป็นนักวิจัยพันธุ์พืชที่นั่น ครูนั่งคุยกับเขาถึงสิ่งที่ทำร่วมกันในชั่วโมงเกษตรที่นาน้อย ช่วงหนึ่งเขาบอกครูว่า

“ผมรักงานเกษตรเพราะครูเลยครับ ที่โรงเรียนครูสอนทุกทักษะที่จำเป็นสำหรับเกษตรกรที่มีคุณภาพจริงๆ ตอนเด็กผมไม่เข้าใจเท่าตอนนี้นะครับครู ผมเชื่อที่ครูเคยพูดว่า บนผืนแผ่นดินนี้ หากทำเกษตร ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ต่อให้ไม่ได้เป็นลูกจ้างบริษัทหรือรับราชการแล้ว เราก็ไม่อดตาย เงินทองเป็นของมายา แต่ข้าวปลาสิของจริง วันนี้ผมจะส่งต่อความรู้ไปรุ่นสู่รุ่น เหมือนครูครับ”

สำหรับครูแล้วไม่มีรางวัลจากองค์กรหรือหน่วยงานใด นำความสุขปลื้มปริ่มในหัวใจมาให้เท่ากับที่รู้ว่าลูกศิษย์ตกผลึกสิ่งที่ครูสอนได้และไม่มีวันลืม

kruchanchai02

ครูคอมพิวเตอร์บทบาทใหม่ : ใจสู้หรือเปล่า

ปี ๒๕๓๗ แม่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ครูจึงขอย้ายกลับภูมิลำเนาเพื่อดูแลแม่ โรงเรียนออนเหนือขณะนั้นมีครูเกษตรอยู่แล้วสามคน ต้องการรับย้ายหรือบรรจุครูคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ขาดแคลนเพราะส่วนใหญ่จะเลือกสอนในเมืองหรือใกล้เมือง

ครูต้องเริ่มศึกษา อบรมเฉพาะทาง อ่านหนังสือ สัมมนา ฝึกปฏิบัติการทักษะคอมพิวเตอร์แบบลองผิดลองถูก เป็นครูสอนรายวิชาคอมพิวเตอร์ ผู้ดูแลระบบสารสนเทศของโรงเรียน ครูให้ข้อคิดว่า

“หากรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ใด บางครั้งอาจไม่ง่ายที่เราจะเรียนรู้ แต่การทุ่มเทและฝ่าฟันด้วยความเชื่อมั่นในความสามารถตนเองและลงมือทำสิ่งนั้นเต็มที่ เราจะไม่นึกเสียใจภายหลัง”

ครูเล่าความประทับใจที่ได้สร้างโอกาสแก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งครูเป็นที่ปรึกษา ในการเรียนรู้กับทีมงานกบนอกกะลา-กบจูเนียร์ และส่งผลงานตัดต่อหนังสั้นครั้งแรกว่า

“ตอนครูพาเด็กๆ ร่วมอบรมการถ่ายทำและตัดต่อหนังสั้นจากทีมงานกบนอกกะลา ตั้งใจแรกคือเปิดโลกความรู้ทั้งครูและเด็ก โรงเรียนเรายังไม่มีกล้องถ่ายแบบปรับชัตเตอร์หรือปรับแสงเลย ใช้กล้องอัตโนมัติส่วนตัวของครู มีโน้ตบุ๊กของโรงเรียนหนึ่งเครื่อง ไปเรียนรู้ในวันเสาร์-อาทิตย์ ๒ สัปดาห์ กลับมาตัดต่อหนังสั้น เรื่องยังไง

“มีเด็กหญิงสองคนเขียนบท หานักแสดง กำกับการแสดง มีเด็กชายหนึ่งคนเป็นผู้ถ่ายทำและตัดต่อ เราส่งผลงานไปคัดเลือกปรากฏว่าผ่านเข้ารอบห้าทีมสุดท้าย ความที่ต้องไปศึกษาดูงานและแข่งขันอีกรอบที่กรุงเทพฯ เด็กๆ ตื่นเต้นและกลัวมากพอๆ กัน”

เข้ม เด็กชายคนเดียวในทีมเดินมาหาครูแล้วบอกว่า

“ผมไม่ไปกรุงเทพฯ ได้ไหมครับครู ยายผมให้มาถามเพราะไม่มีเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้”

พ่อแม่ของเข้มแยกทางกันแล้วมีครอบครัวใหม่ทั้งคู่ เขาอยู่กับตายายตั้งแต่เด็ก ตายายรับจ้างทั่วไป รายได้น้อย เข้มไม่กล้าขอเงินยายไปถึงกรุงเทพฯ ที่บ้านไม่มีห้องส่วนตัว ไม่มีคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมืออื่นใดที่ใช้ตัดต่อภาพยนตร์เลย เข้มเล่าว่า

“ผมใช้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนทำงานส่งครูครับ ตอนอยู่ในทีมผมก็ใช้โน้ตบุ๊กของเพื่อนเป็นหลัก”

เมื่อเพื่อนให้ยืมโน้ตบุ๊กเข้มจึงตั้งใจทำงาน ทุ่มเทเวลาอย่างมาก จนเพื่อนเลือกมาร่วมทีมโดยให้เหตุผลว่า

“ครูคะขนาดพวกเรามีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะอยู่ที่บ้านเรายังทำผลงานไม่ได้อย่างเข้มเลย เขามีฝีมือ มีทักษะด้วยค่ะ แต่ไม่มีเครื่องมือดีๆ” คนเขียนบทและกำกับการแสดงกล่าวถึงเข้ม

“เขาตั้งใจมากค่ะครู บางวันทำจนถึงเช้าเลยค่ะ เพราะเขาต้องเอาโน้ตบุ๊กมาคืน เขาบอกว่าถ้ามีโอกาสจะเป็นคนตัดต่อภาพยนตร์”

ครูทึ่งกับความคิดและความพยายามต่อสู้บนความขาดแคลนของเด็กชาย ดังนั้นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ของลูกศิษย์จึงเป็นหน้าที่ครู

ครูไปขออนุญาตและชี้แจงค่าใช้จ่ายกับผู้ปกครองเด็กทุกคน สำหรับเข้มครูจะช่วยดูแลค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มเติมจากโครงการเอง

“ในที่สุดเด็กๆ ได้นั่งรถทัวร์ไปไกลบ้านมากที่สุดแล้วในชีวิต การเห็นความตื่นตัว และตื่นเต้นของเด็กๆ ทำให้ครูเป็นสุขทุกครั้ง ครูภูมิใจที่เปิดโลกกว้างให้พวกเขาเติบโตอย่างเบิกบานและเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ” ครูชาญชัยเอ่ยถึงเด็กๆ ในทีมหนังสั้น

“ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยทำงานวันนี้ การไปแข่งตัดต่อหนังสั้นกับครูชาญชัยเป็นเพียงครั้งเดียวในชีวิตที่ผมออกเดินทางไกลบ้าน ครูทำให้ผมได้พักโรงแรมหรู กินชาบูสายพาน เจอศิลปินที่ชื่นชอบที่ตึกอาร์เอส” เข้มย้อนความหลังยิ้มๆ

“ผมมีโอกาสได้เรียนรู้ นำเสนอผลงาน ได้รับเสียงปรบมือดังก้องห้องประชุมและเสียงปรบมือชื่นชมจากพี่ๆ น้องๆ หน้าเสาธงโรงเรียน ผมมีความสุขที่สุดและจดจำได้ทุกช่วงเวลาและทุกประสบการณ์ที่มีร่วมกันครับ”

kruchanchai03

การประเมิน : การให้คุณค่าครูหรือผู้บริหาร

ครูทำงานที่โรงเรียนออนเหนือ ๗ ปี ในปี ๒๕๔๔ ครูดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายแผนงานและประกันคุณภาพการศึกษา โรงเรียนนี้เป็นกลุ่มโรงเรียนแรกของจังหวัดที่ผ่านการประเมินและได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการศึกษา สมศ. ในปี ๒๕๕๑ โรงเรียนออนเหนือเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนแม่ออนวิทยาลัย จนถึงปี ๒๕๕๒ โรงเรียนผ่านการประเมินโรงเรียนในฝัน

หลายคนมองว่าการประเมินคุณภาพมาตรฐานการศึกษา ไม่ใช่หน้าที่ของครู เป็นภาระงานเอกสาร ทำให้เสียเวลาพัฒนานักเรียน มุ่งสร้างผลงานและเลื่อนตำแหน่งให้แก่ผู้บริหารมากกว่า

ครูชาญชัยแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า

“สำหรับครูการประเมินคุณภาพทางการศึกษาเป็นการรวบรวมผลงานที่เราทำตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จากการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็กๆ ในแต่ละรายวิชา การบูรณาการการสอนกับเพื่อนครู กำหนดแผนงาน ร่วมมือร่วมใจทำงาน ทั้งด้านเอกสาร จัดเตรียมสถานที่ สร้างแรงบันดาลใจ เป็นกำลังใจให้กัน ร่วมแก้ไขปัญหา โดยมีการประเมินจากภายในสถานศึกษาและหน่วยงานภายนอกเข้ามารับรองและช่วยปรับทิศทาง รูปแบบและวิธีจัดการศึกษาให้ได้มาตรฐานเพื่อลูกศิษย์ของเรา

“การสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชน สามารถทำให้เกิดขึ้นในชั้นเรียน การบริหารจัดการชั้นเรียนเป็นการบริหารที่ทรงพลังสูงสุดในการพัฒนานักเรียน”

เป็นถ้อยความที่ครูชาญชัยกล่าวกับครูรุ่นน้องที่ท้อแท้ใจในการทำงานหรือขัดแย้งกับนโยบายที่นอกเหนือจากการสอน

kruchanchai04

ผู้นำ ตำแหน่ง ตำนาน

ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๖๐ โรงเรียนแม่ออนวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับเข้าเป็นโรงเรียนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ตามพระราชดำริฯ

สิ่งที่ครูดำเนินการแล้วภาคภูมิใจคือ “หลักสูตรบูรณาการโครงงานส่งเสริมอาชีพตามโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร พุทธศักราช ๒๕๖๒ โรงเรียนแม่ออนวิทยาลัย ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑” ซึ่งช่วยส่งเสริมอาชีพทั้งหกระดับชั้น

ระดับชั้น ม. ๑ พืชผักสวนครัวอายุสั้น เช่น พริก มะเขือ กะเพรา ผักกาด คะน้า ผักบุ้ง เป็นต้น

ระดับชั้น ม. ๒ พืชผักสวนครัวอายุยืน คือ มะนาวและผักเชียงดา ผักพื้นบ้านภาคเหนือ

ระดับชั้น ม. ๓ การปลูกหม่อนและไม้ผล เรียนรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไม้ผล

ระดับชั้น ม. ๔ การทำเกษตรอินทรีย์ และโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีต

ระดับชั้น ม. ๕ การทำปุ๋ยอินทรีย์จากใบไม้โดยไม่พลิกกลับกอง

ระดับชั้น ม. ๖ การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ เช่น หมู ไก่ จิ้งหรีด กบ ปลา เป็นต้น

วันศุกร์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๓ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการ กพด. ของโรงเรียน

ในโอกาสนั้นครูได้ถวายรายงานผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด ถือเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจ และแรงบันดาลใจในการพัฒนานักเรียนตามแนวพระราชดำริของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง

สำหรับครูแล้วเป็นความภาคภูมิใจ ปลาบปลื้ม ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่มีโอกาสทำงานสนองพระราชดำริอย่างเต็มกำลัง ความสามารถ รู้สึกเสมือนพระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นความทุ่มเทของครู

นักเรียนได้กล่าวรายงานนำเสนอเป็นฐานการเรียนรู้ในแต่ละฐาน พระองค์มีพระราชปฏิสันถารกับเด็กๆ อย่างไม่ทรงถือพระองค์ ทรงซักถาม และให้ข้อเสนอแนะในแต่ละฐานแก่ครูผู้ดูแลฐานนั้นๆ

วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๕ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมการดำเนินงานตามโครงการ กพด. ของโรงเรียนเทพศิรินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ครูมีโอกาสเข้าเฝ้าเพื่อถวายรายงานการดำเนินงานตามโครงการ กพด. ของโรงเรียนแม่ออนวิทยาลัยอีกครั้ง

วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ ทางสำนักงานเลขาธิการโครงการ กพด. ประสานงานขอนำคณะครูและบุคลากรของโรงเรียนเทพศิรินทร์มาศึกษาดูงานการบริหารจัดการโครงการ กพด. ของโรงเรียน

วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ ทางสำนักงานเลขาธิการโครงการ กพด. ตามพระราชดำริฯ ของพื้นที่ภาคเหนือ ประสานงานขอนำครูจากโรงเรียนในโครงการ กพด. ของจังหวัดเชียงใหม่ มาศึกษาดูงานการบริหารจัดการโครงการหลักสูตรวิชาชีพ นับเป็นเวลา ๒ ปีหลังจากรับเสด็จครั้งแรก

“ครั้งหนึ่งในชีวิตครูที่เราสามารถปฏิบัติงานจัดการเรียนรู้จนได้เป็นต้นแบบ มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับผู้มีอุดมการณ์และภาระงานร่วมกัน ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน เป็นอีกครั้งที่ความสุขวิ่งอยู่รอบตัวเรา สิ่งที่ยืนยันกับตัวเองได้คือเราเป็นครูของแผ่นดินตลอดไป

ครูชาญชัยกล่าวด้วยสีหน้าปลาบปลื้มใจ

kruchanchai05

ครูพิเศษสำหรับเด็กพิเศษ

ในแต่ละโรงเรียนมักมีเด็กที่มีความต้องการพิเศษซึ่งต้องได้รับการดูแล ช่วยเหลือในการเรียนมากกว่าเพื่อนร่วมชั้นคนอื่นๆ

เด็กชายฟ้าอาสาไปแข่งขันร้องเพลงลูกทุ่งสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน แต่ฟ้าอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และร้องเพลงเพี้ยน !

ครูชาญชัยมาช่วยฝึกซ้อมการร้องเพลง พลางถามฟ้าหลังจากร้องอย่างไรก็ยังไม่เป็นเพลงลูกทุ่งว่า

“ใจยังสู้ไหม ถ้าสู้ไหวเราจะไปต่อ”

ฟ้ากลัวครูผิดหวังจึงพกเนื้อร้องไปท่องที่บ้านทุกวัน ถึงแม่จะบ่นว่าทำอะไรเกินตัว แต่ครูชาญชัยให้หมั่นฝึกร้อง จนวันแข่งเขาตื่นเต้นมาก กังวลว่าจะร้องได้ไหม แต่ก่อนขึ้นเวที ครูตบไหล่เขาเบาๆ บอกว่า

“เราซ้อมมาเต็มที่ เราทำดีที่สุดแล้ว”

พอผลประกาศว่าฟ้าได้เหรียญทอง แม้ไม่ใช่ลำดับที่ ๑ เขารีบขอยืมโทรศัพท์ครูโทรฯ บอกแม่

ครูชาญชัยย้ำกับฟ้าว่า “ความพยายามเท่านั้นที่จะทำให้เราชนะ”

ทุกวันนี้ฟ้ายังจำเสียงปรบมือกึกก้องตอนรับรางวัลหน้าเสาธงได้และมีความสุขเมื่อนึกถึง

นอกจากนี้เด็กหลายคนที่มักแสดงพฤติกรรมผิดกฎระเบียบ ไม่มีวินัยในการเรียน มีผลให้ถูกตำหนิ ลงโทษเสมอ โดยเฉพาะเด็กแผนการเรียนช่างอุตสาหกรรม ที่ไปเรียนหลักสูตรทวิศึกษา (ช่างยนต์) ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคสันกำแพง ปีนี้ (๒๕๖๖) ครูชาญชัยมาทำหน้าที่ครูที่ปรึกษา วันแรกเจอกันครูถามว่า

“พวกเธออยากจบพร้อมกันทั้งรุ่นไหม ถ้าใช่ ก็ช่วยเหลือกัน เริ่มจากแก้ไขผลการเรียนที่มีปัญหาก่อน อย่าเพิ่งท้อ ถอดใจ”

พวกเด็กช่างใช้เวลาตลอดเดือนเพื่อแก้ไขผลการเรียนรายวิชาที่ติดศูนย์, ร, มผ โดนครูดุ โดนโทรฯ ตามให้มาส่งงาน ครูโทรฯ หาพ่อแม่ ผู้ปกครอง ถูกปลุกให้มาเข้าแถว พวกเขาบอกว่าไม่ง่ายเลยที่จะผ่านมาได้

“ผมทึ่งกับคุณครูชาญชัยจริงๆ ครูทำทุกวิถีทาง พวกเราคุยกันว่าพ่อแม่ว่าเข้มงวด ชอบบ่น ครูยิ่งกว่าหลายเท่า แต่เราก็รับรู้ได้ว่าครูหวังดีและช่วยเหลือเราเต็มที่เลยไม่อยากให้ครูผิดหวัง

ปรกติพวกเด็กช่างไม่ค่อยร่วมกิจกรรมจิตอาสาหรือพัฒนาอะไร ครูชาญชัยจึงเอ่ยชวน

“คนเราหาคุณค่าด้วยการทำสิ่งที่มีประโยชน์ ลองคิดซิว่าพวกเธอจะเป็นคนมีคุณค่าในโรงเรียนได้อย่างไร เป็นฮีโร่แบบไหนของโรงเรียน”

“พวกเราต้องคิด ออกแบบ วางแผน วิเคราะห์และแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือกัน เพื่อให้โรงเรียนน่าอยู่และมีความสุข

“ครูมักพยักหน้าและยิ้มปลาบปลื้มที่พวกเราถกเถียง วางแผนการทำงาน คำที่ครูชอบพูดและพวกผมชอบฟังคือ เยี่ยมเลย มาถูกทางแล้วฮีโร่ของครู พยายามต่อไป ครูเฝ้าดูอยู่พร้อมช่วยเสมอนะ

“พอถึงปลายเทอม เราก็พัฒนาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน ต่อเติมเล้าไก่ ล้อมบ่อกบ ปรับปรุงลานธรรม ทำปุ๋ยหมักอินทรีย์จากเศษใบไม้ นับว่าเยอะเกินคาดแล้วครับ”

ในวันเกษียณอายุราชการของครูชาญชัย เด็กชายห้องช่างทั้งห้องแสดงเต้นประกอบเพลง “รักคือฝันไป” ของ สาว สาว สาว และร้องเพลง “เล่าสู่กันฟัง” ของเบิร์ด ธงไชย เป็นที่ระลึกสำหรับครู

“วันนั้นครูน้ำตาซึมกับความพยายามในการซ้อมเต้น เล่นกีต้าร์ ร้องเพลง ฝ่าความอายมาทำสิ่งที่ไม่คุ้นเคย บางทีความรักก็ไม่ได้แสดงออกเป็นคำพูดเสมอไป”

ครูชาญชัยกล่าวถึงเด็กๆ ด้วยเสียงกลั้วหัวเราะ แค่นึกถึงก็มีความสุข

kruchanchai06

คนสร้างสุข คุณค่าและความหายของความเป็นครู

เมื่อถามสิ่งที่ได้เรียนรู้ตามบทบาทหน้าที่จนวันเกษียณอายุราชการ ครูกล่าวว่า

“พอถึงวาระเกษียณอายุราชการในวัย ๖๐ ปี ไม่ว่าตำแหน่ง วิทยฐานะจะสูงส่งเพียงใด ไม่อาจติดตามเราไป แต่สิ่งที่ธำรงไว้ตลอดอายุขัยคือความเป็นครูของศิษย์ ความเป็นครูจึงทรงพลังในความหมายและคุณค่า”

ครูบอกเทคนิคและทักษะการสอนที่สร้างคุณค่าและความหมาย นั่นก็คือ

“การให้โอกาสและสร้างโอกาสให้เขาเติบโต เรียนรู้ เฝ้ามองอย่างเข้าใจ พร้อมช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา ให้ข้อมูลที่เขาต้องปรับปรุงตัวเอง สร้างคุณค่าและตัวตนให้เขาชื่นชม ยอมรับตนเองก่อนแสวงหาการยอมรับจากผู้คนรอบข้าง เหล่านี้เป็นหน้าที่ของครู”

อาจมีหลายคนไม่อาจทนรับกับระบบราชการหรือการบริหารจัดการการศึกษาจึงลาออก หากต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเองดำรงชีวิตอย่างมีความสุขได้พอดี ครูเสนอแนวคิดว่า

“ความสุขของครูคือการรู้ตัวตน สามารถจัดการ ควบคุมอารมณ์ให้มีสติในสถานการณ์กดดันหรือคับขัน ปล่อยวางได้เมื่อรู้ว่าไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง เหมาะสมกับตนเอง ไม่ดื้อรั้นดันทุรังจนทำให้อาจเสียใจภายหลัง รู้จักให้อภัยในสิ่งผิดพลาดของตนเองและผู้อื่น จึงเป็นผู้มีวุฒิภาวะที่แท้”

สำหรับผู้จะทำหน้าที่ครู สิ่งที่พึงตระหนักก่อน ระหว่าง และหลังจากประกอบอาชีพคือ

“การสร้างและพัฒนาคน เราไม่อาจทำแค่สอนความรู้ หากแต่ต้องสนับสนุนให้เขาพัฒนาทั้งร่างกาย สติปัญญา สังคม อารมณ์และจิตใจ มาตรวัดความสุขในชีวิตคนเราต่างกัน จึงต้องยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคลให้ได้ก่อน

ในฐานะครูเราไม่อาจเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบสำหรับนักเรียนได้ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกของใครคนหนึ่งให้เขามีความพร้อมเพื่อสร้างความสุขแก่ตนเอง ด้วยการใช้ความรักความเข้าใจ

“ความสุขของคนเราไม่อาจประเมินค่า หรือตัดสินจากภายนอก แต่เกิดขึ้นจากภายในและเราเลือกได้ด้วยตัวเอง”ครูกล่าวทิ้งท้าย

#ครู #การศึกษา #โรงเรียนนาน้อย #โรงเรียนแม่ออนวิทยาลัย #น่าน #สุขหมุนรอบตัวเรา #ค่ายนักเล่าความสุข #มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ #นิตยสารสารคดี #เพจความสุขประเทศไทย #สสส