Click here to visit the Website
กลับไปหน้า สารบัญ กิ น อ ย่ า ง ค น ภู เ ก็ ต
ปราณี สกุลพิพัฒน์

    คนต่างถิ่นที่มาทำมาหากินในภูเก็ต มักจะสรุปเป็นคำเดียวกันว่า อยู่เมืองนี้ "ผอมยาก" เพราะคนเมืองนี้ ช่างกินเหลือเกิน กินตั้งแต่เช้ามืดจนดึกดื่นเที่ยงคืน สรรหามากินทั้งของคาว ของหวาน แถมของว่างอีกต่างหาก การสรรหาของกินในเมืองนี้ จึงเป็นเรื่องสนุก สนุกทั้งคนกิน สนุกทั้งคนขาย และคนขายอาหารก็ตั้งตัวได้ ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะลูกค้าช่างกินมีมาก และมีกำลังซื้อ เคยมีคนพยายามหาเหตุผล อธิบายความช่างกินของคนภูเก็ต โดยบอกว่า เมืองภูเก็ตขาดความบันเทิงด้านอื่น ๆ การกินจึงเป็นความเพลิดเพลิน ที่หาได้ง่ายที่สุด ภูมิอากาศก็คงเป็นส่วนช่วยกระตุ้น ให้ชาวภูเก็ตเป็นคนช่างกิน เพราะอากาศที่ฝนตกมาก ขนาดที่เรียกว่า "ฝนแปด แดดสี่" เมื่อฝนตกมาก ๆ เข้า การจะเดินทางไปไหน ก็ไม่สะดวก รอเวลาให้ฝนหยุดตกก็เบื่อ หนัก ๆ เข้าก็แก้เบื่อด้วยการกิน

สภาพร้านค้าที่ภูเก็ต (คลิกเพื่อดุภาพใหญ่)     คนภูเก็ตตื่นเช้า และไม่ได้กลัวเสาะท้อง เหมือนคนภาคอื่น อาหารเช้าในช่วงเจ็ดถึงเก้าโมงเช้า จึงเป็นอาหารรสจัด ประเภทปลุกให้ตื่นจากหลับ เริ่มจากขนมจีนสารพัดน้ำแกง แต่แกงที่ได้รับความนิยมทั่วไปคือ น้ำยาปักษ์ใต้ใส่เนื้อปลาเยอะฟู ในกะทิข้น เติมขมิ้นเหลืองสวย แต่งสีสัน ด้วยพริกแห้งเม็ดใหญ่ รับประทานพร้อมกับผักสด ผักลวก ผักดองอีกถาดใหญ่ แถมด้วยปลาชิ้งช้างตากแห้ง เป็นของรับประทานคู่กับขนมจีน ราคาของขนมจีนถูกมาก ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ มะพร้าวขูดราคากิโลกรัมละ ๕๐ บาท (เพราะพิษของอากาศแบบเอลนีโญ) ขนมจีนราคาจานละ ๑๐ บาท พิเศษ ๑๕ บาท กินอิ่ม ผักที่วางเสิร์ฟบนโต๊ะ มีมากมายน่าตื่นตาตื่นใจ เริ่มด้วยผักลวก เช่นผักบุ้ง ถั่วงอก ผักดอง เช่น ยอดผักหนาม ผักเสี้ยน ลูกเหลียงดอง ผักดองหวาน เช่น แตงกวาอาจาด ผักสด เช่น ลูกมุด (ส้มมุด หน้าตาคล้ายมะม่วง กลิ่นแรงกว่า ถ้าอ่อนจะกรอบมาก มีรสเปรี้ยว) รับประทานกับขนมจีนอร่อยมาก สับปะรดภูเก็ตหวานกรอบ แตงกวา ถั่วฝักยาว ยอดกระถิน ยอดสะตอ ยอดมันปู ยอดมะกอก ยอกผักหมุย (ผักมีกลิ่นแรงบางคนชอบ) โหระพา แมงลัก และยอดผักที่มีตามฤดูกาล
    ร้านขนมจีนแทบทุกร้าน จะขายห่อหมกควบคู่ไปด้วย (ห่อหมกในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ห่อใหญ่ราคา ๑๐ บาท) ห่อหมกจะนึ่งร้อน ๆ และเสิร์ฟตลอดเวลา ห่อหมกภูเก็ตจะมีหัวปลา เนื้อปลาชิ้นใหญ่ ๆ อยู่ในเนื้อห่อหมกด้วย อาจจะเป็นเพราะว่า ภูเก็ตอุดมสมบูรณ์ด้วยปลา ของกินเล่นเมืองนี้ จึงประกอบด้วยปลา และมะพร้าวเป็นหลัก เช่น ลูกชิ้นภูเก็ต (ทอดมัน) ซึ่งประกอบด้วยเนื้อปลา มะพร้าวขูด เครื่องแกง และกะทิ ไม่เติมผัก อย่างทอดมันภาคกลาง กินเป็นเครื่องเคียง กับขนมจีนหรือกินเป็นของว่างก็ได้ ราคาลูกชิ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ชิ้นใหญ่ชิ้นละ ๒ บาท
อาหารที่ขายในร้าน (คลิกเพื่อดุภาพใหญ่)     คนที่มีรสนิยมแบบไม่กลัวอ้วน ชอบรับประทานขนมจีน กับปาท่องโก๋ ซึ่งเรียกว่า "เจียะโก้ย" คนที่ชอบกรอบมาก ก็อาจจะเลือกปาท่องโก๋แบบกรอบ ซึ่งเรียกว่า "ไส้ไก่"
    คอกาแฟขนานแท้ และดั้งเดิมมีกาแฟชงในถุง จำหน่ายในร้านกาแฟเก่าแก่ แบบสภากาแฟ กินไปวิพากษ์เรื่องการเมืองไป สนุกสนานตามประสาคนใต้ ผู้ชอบและใส่ใจการเมือง แกล้มด้วยภาพนักการเมือง ที่ติดเด่นเป็นสง่าอยู่ในร้านกาแฟ โดยไม่เกรงใจฝ่ายค้านจะค้อน คนระวังรักษาท้อง จะรับประทานอาหารเช้าที่สุขุม เช่น ข้าวต้มเครื่อง หรือหมี่สั่ว เส้นหมี่ไข่ เส้นบางเหมือนฝอยทอง ปรุงรสด้วยหมูสับเช่นเดียวกับข้าวต้ม จัดได้ว่าหมี่ซั่วภูเก็ต เป็นของแปลกและไม่เหมือนใคร มีลักษณะเป็นอาหารประจำถิ่น ควรแก่การทำโปรโมชั่น
    ร้านขนมจีบซาลาเปา เป็นของเก่าคู่กับเมืองนี้ทีเดียว มีของนึ่ง ของทอด สารพัดชนิด เสิร์ฟตั้งแต่ตีห้า ศัพท์ที่ใช้เรียกขนมจีบ ใช้ภาษากวางตุ้ง เป็นสำคัญ เช่น ขนมจีบเรียกว่า เส่วโบ๋ย ฮะเก๋า เรียกว่า เกาจี๋ ของทอดดีเด่น เรียกว่า เกี้ยน คือไส้กรอกทอด เครื่องดื่มที่ให้คุณค่าทางอาหารสูง ที่ควรแก่การพูดถึงคือ กาแฟถั่วเหลือง คั่วหอม ชงกับน้ำร้อนและนมข้น ทราบว่าพัฒนา ในช่วงกาแฟขาดแคลน เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒
    อาหารกลางวัน จะเริ่มตอนเที่ยงตรง อาหารท้องถิ่นที่สำคัญ จะมีรสเผ็ดของน้ำพริก กินกับผักสด ผักลวก น้ำพริกที่เก๋มาก แตกต่างจากถิ่นอื่นคือ น้ำพริกกุ้งสด ซึ่งเรียกว่า น้ำชุบขยำ ใช้กุ้งสดลวกหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เครื่องปรุงทุกชนิดใช้หั่น ไม่ตำ เพราะไม่ต้องการให้แหลก น้ำที่เป็นตัวผสม คือน้ำต้มกุ้ง ส่วนผสมมีกะปิเผา หอมแดงซอย ปลาชิ้งช้าง หรือปลาย่างหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พริกขี้หนูซอย มะนาวแกะเป็นกลีบ มะอึกซอยเล็ก ระกำหั่น ส้มจี๊ดหรือส้มเก็ดด้า (ภาษาภูเก็ต) หั่นทั้งเปลือก กุ้มต้มจำนวนตามชอบ นำส่วนผสมทั้งหมด มาเคล้าให้เข้ากันด้วยช้อน และเติมน้ำต้มกุ้งพอขลุกขลิก
ขนมโอ้เอ๋ว คือ อาหารที่ได้รับความนิยมมาก (คลิกเพื่อดุภาพใหญ่)     แกงเลียง ที่เหมาะจะใช้เสิร์ฟในฤดูร้อน คือ แกงเลียงย่าหนัดหน่อข่า หรือแกงเลียงสับปะรด และหน่ออ่อนของต้นข่า ปรุงรสด้วยกะปิ กุ้งแห้งหรือกุ้งเสียบ เสริมรสเปรี้ยว ด้วยยอดส้มป่อย ถ้าหาต้นกล้วยอ่อนได้ ก็เติมลงไปพองาม หยวกกล้วยหรือต้นกล้วยอ่อน เป็นอาหาร ที่ได้รับความนิยมพอสมควร โดยไม่ใส่ใจว่า ใครจะค่อนว่าหยวกกล้วยเขาเอาไว้เลี้ยงหมู
    ฤดูร้อนบางปี ฝนตกผิดฤดู ทำให้มียอดอ่อนของผักหวานมาก ก็จะเอามาแกงเลียงกะปิ ใส่ไข่เติมเม็ดกาหยีอ่อน รสชาติตอนซดร้อน ๆ ชื่นใจ ไร้โรค เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องยาฆ่าแมลง
    บางคนถนัดแกง อาจจะชอบแกงไตปลาอันเลื่องชื่อ เพราะไตปลาภูเก็ต ไม่ได้ทำจากขี้ปลา แต่ทำจากกระเพาะ และเครื่องในของปลาทะเลตัวโต ๆ ส่วนผสมของเครื่องแกง จะร้อนพริกไทย แต่ไม่เผ็ดพริกขี้หนู เวลาแกง จะเคี่ยวเฉพาะไตปลาที่ดองจนเปรี้ยวได้ที่ บนไฟอ่อน ๆ จนหอมแตกมัน แล้วเติมเครื่องแกงลงไป ผัดจนหอม จึงเติมน้ำ และปลาย่างภายหลัง เมื่อเดือดได้ที่แล้ว จึงเติมผักที่ชอบ บางรายใส่กะทิ
    แกงภูเก็ตที่ได้รับความฉงน ว่าแกงแขกหรืออย่างไร นั่นคือแกงตูมี้ เป็นแกงที่คล้ายผัดเผ็ด ปรุงรสเปรี้ยว ด้วยส้มควายตากแห้ง (ส้มควาย บางแห่งเรียกส้มแขก ชื่อสามัญคือ Garcinia fruit ซึ่งกำลังโด่งดัง เพราะมีสารลดความอ้วน คือ Garcitric acid) คนที่ไม่อยากตำเครื่องแกงเอง อาจจะซื้อเครื่องแกงเหลืองจากตลาด เติมกระเทียมและหัวหอมเพิ่มลงไป ผัดเครื่องแกง กับน้ำมันพืชให้หอม เติมน้ำทิ้งให้เดือด เติมปลาปรุงรสตามชอบ และเติมผัก เช่นกระเจี๊ยบ และโหระพา ทั้งนี้ถ้าเป็นคนท้องถิ่นจริง ๆ จะเติมดอกกาหลาอ่อนหั่นฝอย เพื่อปรุงรสและกลิ่น (ดอกกาหลาหรือดาหลา Torch Ginger)
    อย่างไรก็ตาม เมนูอาหารมื้อเที่ยง ที่จาระไนมานี้ เป็นรายการอาหาร ที่คนภูเก็ตกินกันในมื้อเย็นด้วย มิได้เจาะจงว่า กินกันเฉพาะมื้อเที่ยงเท่านั้น
      ผ่านอาหารกลางวัน ไปสักสองสามชั่วโมง ถึงเวลาอาหารว่างอีกแล้ว สาว ๆ จะชอบรับประทานของเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ คาว ๆ เช่น เกลือเคย ซึ่งรับประทานกับผลไม้รสเปรี้ยว เกลือเคยเป็นน้ำปลาหวานชนิดหนึ่ง ปรุงรสด้วยกะปิ น้ำตาลทราย ซีอิ้วดำ กุ้งแห้ง หรือปลาชิ้งช้าง และพริกขี้หนูสด เวลารับประทาน จะราดบนผลไม้หลายชนิด เช่นมะม่วง สับปะรด ชมพู่เทียน และแตงกวา บางคนอาจจะเติมเลือดหมูต้ม      เกลือเคยนี้สันนิษฐานว่า เราเลียนแบบจาก rojak ของมาเลเซีย เพียงแต่ของเขา ปรุงรสด้วยมันกุ้งแทนกะปิ วิธีรับประทานเหมือนกัน
    หอยเป็นของหาง่ายมีทั่วไป บางคนชอบรับประทาน หอยลวกน้ำจิ้มรสแซ่บ เช่นหอยชักตีน หอยน้ำพริก หอยพวกนี้ ในปัจจุบันนี้หายากมากขึ้น ราคาก็สูงขึ้นด้วย จากของกินเล่น ก็เลยเลื่อนฐานะเป็นของกินจริง
    บางคนอาหารว่างจานโปรด เป็นอาหารหนักท้อง กินกันเป็นเรื่องเป็นราว เช่น โกต้าว หรือหอยนางรมทอดเติมเผือก ทอดด้วยแป้งหมี่ ผสมแป้งข้าวเจ้า รับประทานบ่อย ๆ คงอ้วนมาก อาหารว่างที่หลายคนชอบ คือเปาะเปี๊ยะสด ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากปอเปี๊ยะกรุงเทพฯ เพราะไส้ทำจากมันแกวผัด ปรุงรสด้วยตีเจียว (ผลไม้หมักแบบจีนมีรสหวาน สีแดงไหม้)
    อาหารว่างที่ค่อนข้างหนักอีกอย่าง คือ หมี่ฮกเกี้ยน ผัดอาหารทะเลนานาชนิด หรือหมี่เช็ค หมี่น้ำที่ใช้น้ำกุ้งต้ม เป็นส่วนผสมสำคัญ หมี่ที่ใช้เป็นหมี่เหลืองเส้นใหญ่เท่าสปาเกตตี้
    อากาศตอนบ่ายร้อนอบอ้าว อาหารคลายร้อน ที่ได้รับความนิยมมาก คือขนมที่เติมน้ำแข็ง--โอ้เอ๋ว คือวุ้นที่ทำขึ้นจากส่วนผสมของยาจีนขยำกับกล้วย รับประทานคู่กับถั่วแดงต้มเติมน้ำเชื่อม หอมหวานชื่นใจคลายร้อน
    คุณแม่ลูกเยอะ ซื้อของให้ลูกกินก็สิ้นเปลืองมาก มีอะไรเหลืออยู่ พอใส่เข้าไปได้ก็รวมกันต้ม ได้สูตรขนมใหม่ เรียกว่า "ตูโบ้" เครื่องปรุง มีน้ำกะทิ ถั่วแดงเม็ดเล็ก มันเทศหั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า เผือก ฟักทอง แป้งมันผสมน้ำ นวดพอเหนียว ตัดเป็นชิ้น เติมลงไปพอให้เคี้ยวกรุบ ๆ ตูโบ้นี้บางคนเรียกว่า "ตูโบ้เจี้ยะเจี๊ยะ" ตูโบ้แปลว่า แม่หมู เจี๊ยะ แปลว่า กิน แม่คงทำของหวานชนิดนี้แล้ว ลูกๆ คงกินกันหนุบหนับน่าเอ็นดู จึงเป็นที่มาของ "ตูโบ้เจี้ยะเจี๊ยะ"
    มีอาหารที่คนสูงวัยไม่ควรกินคือ หัวหมู และเครื่องในหมูพะโล้ เรียกว่า โลบะ ก่อนเสิร์ฟ คนขายจะนำมาทอดน้ำมันอีกครั้ง เพื่อให้ร้อนและกรอบ รับประทานคู่กับแตงกวา
    ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ คงเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า คนภูเก็ตช่างกินเพียงใด และถ้านึกถึงคติที่ว่า You are what you eat ท่านก็คงจะไม่แปลกใจว่า ทำไมคนภูเก็ตจึงมีแต่คนอวบ อ้วนนิดหน่อย อ้วนปานกลาง และอ้วนมาก
 สนับสนุน หรือ คัดค้าน
นักศึกษากับ การประกวดนางงาม โอกาสที่ยั่งยืน หรือเย้ายวน

สิทธิคนไทย กับการดูหนังเรื่อง Anna and the King
สารบัญ | จากบรรณาธิการ | ย้อนรอย ๑๕ ปี สารคดี | อาชญากรเด็ก ? เหยื่อความรุนแรงในครอบครัว | กินอย่างคนภูเก็ต | ลาก่อน "พีนัตส์" | นักรบชายขอบ การต่อสู้ของชนกลุ่มน้อย ชายแดนไทย-พม่า | ซองคำถาม | เฮโลสาระพา
Soldiers at the Margins | Tracing Back 15 Years of Sarakadee

สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สมาชิก/สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]

ขึ้นข้างบน (Back to Top) นิตยสาร สารคดี (Latest issue) E-mail