วิมลศรี ตระกูลสิน : รายงาน
“เพื่อนรัก
ผมโชคดีที่ได้วาด ชาร์ลี บราวน์ กับเพื่อน ๆ ของเขามาเป็นเวลาเกือบ ๕๐ ปี ซึ่งเป็นการบรรลุความใฝ่ฝัน ในวัยเด็กของผม
น่าเศร้าที่ผมไม่สามารถทำงาน ตามกำหนดเวลาอันเร่งรัด ของการ์ตูนช่องรายวันได้อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอประกาศหยุดการทำงานของผม
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมรู้สึกซาบซึ้งในมิตรภาพอันมั่นคงของบรรณาธิการ และความสนับสนุนอย่างแข็งขัน ตลอดจนความรักจากแฟน ๆ การ์ตูน ที่มอบให้แก่ผม
ชาร์ลี บราวน์, สนูปปี, ไลนัส, ลูซี…ผมไม่มีวันลืมพวกเขาได้เลย…
ชาร์ลส์ เอ็ม ชูลส์”
ชาร์ลส์ มอนโร ชูลส์ ผู้สร้างการ์ตูนช่อง “พีนัตส์” วัย ๗๗ ปี เสียชีวิตแล้ว เมื่อเย็นวันเสาร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่บ้านพัก ณ เมืองซานตาโรซา รัฐแคลิฟอร์เนีย ด้วยอาการแทรกซ้อน จากโรคมะเร็งลำไส้ เขาเสียชีวิตหนึ่งวัน ก่อนที่การ์ตูนช่องชิ้นสุดท้ายของเขา จะตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ฉบับวันอาทิตย์
พีนัตส์เป็นการ์ตูนช่องที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ในประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ การ์ตูนพีนัตส์เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ ในหนังสือพิมพ์เจ็ดฉบับ ปัจจุบัน ชาร์ลี บราวน์และเพื่อน ๆ ปรากฏตัวอย่างสม่ำเสมอ ในหนังสือพิมพ์ ๒,๖๐๐ ฉบับ ๒๕ ภาษา ใน ๗๕ ประเทศทั่วโลก พีนัตส์มีผู้อ่าน ๓๕๕ ล้านคนโดยประมาณ หนังสือพิมพ์ วอชิงตันโพสต์ เป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ฉบับแรก ๆ ที่ตีพิมพ์การ์ตูนพีนัตส์ มาตั้งแต่เริ่มแรก จนถึงการ์ตูนชิ้นสุดท้าย
เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของชูลส์ บริษัทยูไนเต็ดฟีเชอร์ซินดิเคต ผู้ถือลิขสิทธิ์ของการ์ตูนพีนัตส์ จะไม่ขอให้ศิลปินคนอื่นวาดการ์ตูนพีนัตส์สืบต่อจากชูลส์ และเพื่อตอบสนอง ความต้องการของผู้อ่าน ทางบริษัทฯ จะตีพิมพ์ซ้ำการ์ตูนช่องพีนัตส์คลาสสิก ซึ่งชูลส์ได้วาดไว้นับจากปี ค.ศ. ๑๙๗๔ การ์ตูนช่องชุดนี้ เริ่มเผยแพร่ไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ค.ศ. ๒๐๐๐ เหตุผลที่เลือกงานในปี ๑๙๗๔ ของชูลส์ ให้เป็นจุดเริ่มต้น ของชุดพีนัตส์คลาสสิก เป็นเพราะงานของชูลส์ ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นมา ได้ผนวกเอาตัวการ์ตูน ในยุคเริ่มแรก เช่น ชาร์ลี บราวน์, ลูซี, ชโลเดอร์ และสนูปปี เข้ากับตัวการ์ตูนใหม่ ๆ ที่วาดขึ้น ในยุคหลัง เช่น เพปเพอร์มิน, แพตตี และวูดสต็อก
ในคำแถลงของประธานาธิบดีคลินตัน ที่มีขึ้นภายหลังการเสียชีวิตของชูลส์ กล่าวว่า ชูลส์และตัวการ์ตูนของเขา จะคงอยู่ในความทรงจำ ของบรรดาแฟนตลอดไป “ในวันที่หนังสือพิมพ์ ตีพิมพ์การ์ตูนช่องพีนัตส์ชิ้นสุดท้ายของเขา เป็นวันเดียวกับที่พวกเราต้องเศร้าสลดยิ่ง กับการจากไปของตัว ชาร์ลส์ ชูลส์ เองด้วย”
ชูลส์ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง จากบรรดานักวิจารณ์พอ ๆ กับที่ได้รับ ความนิยมจากผู้อ่าน เขาได้รับรางวัลรูเบน ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดระดับโลก ด้านการ์ตูน จากสมาคมนักเขียนการ์ตูนแห่งชาติ ถึงสองครั้ง คือในปี ค.ศ. ๑๙๕๕ และ ๑๙๖๔ ศาลาอารมณ์ขัน ระหว่างประเทศ ณ กรุงมอนทรีออล ประเทศแคนาดา โดยการโหวตลงคะแนน จากนักเขียนการ์ตูนกว่า ๗๐๐ คนทั่วโลก ได้เลือกชูลส์เป็นนักเขียนการ์ตูนสากล ประจำปี ๑๙๗๘ ในปี ๑๙๙๐ รัฐบาลฝรั่งเศส ได้ประกาศเกียรติคุณ แก่ชูลส์ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะ และอักษรศาสตร์ ผลงานของเขาจัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ในกรุงปารีสด้วย
สิ่งที่ยืนยันชื่อเสียง และความสำคัญของชูลส์ และตัวการ์ตูนที่เขาสร้างขึ้น ก็คือ การขึ้นปกนิตยสาร ไทม์ ในปี ๑๙๖๕ และนิตยสารไลฟ์ ในปี ๑๙๖๗ ในทศวรรษนี้เอง ที่การ์ตูนพีนัตส์ได้เผยแพร่ไปไกลถึงนอกโลก องค์การนาซาได้ตั้งชื่อยานลูก ที่ใช้สำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ ของยานอะพอลโล ๑๐ ซึ่งออกปฏิบัติการในอวกาศ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ๑๙๖๙ ว่า สนูปปี หนังสือการ์ตูนพีนัตส์ มียอดจำหน่ายหลายร้อยล้านเล่ม ภาพยนตร์การ์ตูนพีนัตส์ ที่สร้างขึ้นเพื่อออกฉายทางโทรทัศน์ ในวาระพิเศษต่าง ๆ ล้วนได้รับรางวัลเอมมี และรางวัลพีบอดี เช่น A Charlie Brown Christmas ได้รับรางวัลในปี ๑๙๖๕ A Charlie Brown Thanksgiving (๑๙๗๓) You’re a Good Sport, Charlie Brown (๑๙๗๕) Life is a Circus, Charlie Brown (๑๙๘๐) What Have We Learned, Charlie Brown? (๑๙๘๓) ในเรื่องนี้ กลุ่มเด็กพีนัตส์แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับวันดีเดย์ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ สินค้าที่มีรูปตัวการ์ตูนพีนัตส์ มียอดจำหน่ายกว่า ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ด้วยผลิตภัณฑ์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นถ้วยกาแฟ กล่องข้าว ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัวชายหาด เสื้อยืด เนกไท ปฏิทิน เครื่องเขียน นาฬิกา ฯลฯ
ในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ มีหนังสือออกมาหลายเล่ม อธิบายการ์ตูนพีนัตส์ ในฐานะที่เป็นนิทานเปรียบเทียบทางศาสนา เช่น Parables of Peanuts อีกเล่มหนึ่งติดอันดับเบสเซลเลอร์ ด้วยยอดจำหน่ายกว่า ๑๐ ล้านเล่ม ชื่อ The Gospel According to Peanuts เขียนโดยบาทหลวงนิกายเพรสไบทีเรียน ชื่อ โรเบิร์ต แอล ช็อต ซึ่งใช้การ์ตูนพีนัตส์ มาอธิบายหลักความเชื่อทางคริสต์ศาสนา พระอิตาเลียนรูปหนึ่ง เคยแปลการ์ตูนพีนัตส์เป็นภาษาละติน โดยมี “สนูปปิอุส” เป็นตัวเอก
ชูลส์บอกว่าเขาได้ข้อมูล ที่ใช้เขียนการ์ตูนจากการฟังลูก ๆ (เขามีลูกทั้งหมดห้าคน) แต่เนื้อหาของพีนัตส์ก็ได้รับอิทธิพล จากการอบรมเลี้ยงดู ในวัยเด็กตลอดจนประสบการณ์ ในวัยหนุ่มของตัวเขาเองด้วย เขาเติบโตขึ้น ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สูญเสียแม่ซึ่งจากไปด้วยโรคมะเร็ง เมื่อเขาอายุ ๒๐ และต้องผิดหวังกับความรักครั้งแรก เมื่อ “สาวผมแดง” ปฏิเสธคำขอแต่งงานของเขา ในช่วงเวลาที่การ์ตูนช่องของเขา เริ่มตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ (แฟนเก่าคนนี้เอง เป็นที่มาของสาวน้อยผมแดง ในการ์ตูนพีนัตส์ที่ ชาร์ลี บราวน์ แอบรักข้างเดียว)
เมื่อหวนคิดถึงวัยเด็ก ชูลส์กล่าวว่า “เป็นเด็กนั้นไม่ง่ายเลย มีโลกที่น่ากลัวอยู่ข้างนอก สนามเด็กเล่น ก็เป็นที่ที่อันตราย การไปโรงเรียนทุกวัน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าไม่ใช่ครู ก็เพื่อนแกล้ง ผู้ใหญ่ส่วนมาก ลืมไปแล้วว่าพวกเขาเคยเผชิญกับอะไรมาบ้าง เลยไม่สนใจปัญหาของเด็ก ๆ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ คุณเรียนรู้วิธีจัดการปัญหา และเอาตัวรอดได้ แต่เด็กเล็ก ๆ ต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้อยู่ได้”
ชาร์ลส์ มอนโร ชูลส์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๑๙๒๒ ที่เมืองมินนาโปลิส และโตที่เมืองเซนต์พอล รัฐมินเนโซตา เขาเป็นลูกคนเดียวของ คาร์ล ชูลส์ ช่างตัดผม กับภรรยา ซึ่งเป็นแม่บ้านชื่อ ดีนา เมื่ออายุได้สองวัน ลุงของเขาได้ให้ฉายา ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นชื่อเล่น ที่เรียกขานกันในหมู่ผู้ใกล้ชิดว่า “สปาร์กี” ตามชื่อของม้าแข่งสปาร์กพลัก ในการ์ตูนบาร์นี กูเกิล
ชูลส์ไม่เคยชอบโรงเรียน และสอบได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย เขาค่อนข้างเก็บตัว ไม่สุงสิงกับเพื่อนในห้อง ชูลส์สืบทอดความรักในการ์ตูน จากพ่อของเขา ซึ่งชอบอ่านการ์ตูนช่อง ในหนังสือพิมพ์ทุกวัน เขาฝึกวาดภาพป๊อบอายในสมุดเรียน เมื่อเรียนชั้นมัธยมปีสุดท้าย เขาสมัครเรียนศิลปะทางไปรษณีย์ แต่การ์ตูนของเขา ที่ส่งไปลงในหนังสืออนุสรณ์ เมื่อจบชั้นมัธยม ไม่ผ่านการพิจารณาให้ลงพิมพ์
หลังจากรับราชการทหาร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาทำงานกับนิตยสาร การ์ตูนคาทอลิกฉบับหนึ่ง พร้อม ๆ ไปกับเป็นครูสอนศิลปะ และขายการ์ตูน ให้แก่หนังสือพิมพ์แซตเทอร์เดย์อีฟนิงโพสต์ ต่อมาบริษัทยูไนเต็ดฟีเชอร์ซินดิเคต ในนิวยอร์ก ตกลงรับงานของเขา แต่ขอเปลี่ยนชื่อ ซึ่งชูลส์ใช้เรียกการ์ตูนช่องของเขา จาก “ลิททึล โฟล์ก” (Li’l Folks) เป็น “พีนัตส์” (Peanuts) ซึ่งชูลส์ไม่เห็นด้วยเลย เพราะชื่อพีนัตส์ ให้ความรู้สึกไร้คุณค่าไร้สาระ ทางบริษัทฯ ยังยืนยันที่จะใช้ชื่อนี้ โดยให้เหตุผลว่า ชื่อ “ลิททึล โฟล์ก” คล้ายกับการ์ตูนช่องอีกเรื่องหนึ่ง ของทางบริษัทฯ ซึ่งได้รับความนิยมอยู่แล้ว คือ “ลิททึล แอ็บเนอร์”
ปีแรกการ์ตูนพีนัตส์ ไม่ประสบความสำเร็จเลย ติดอันดับท้ายสุด จากการสำรวจความนิยมของผู้อ่าน จนเมื่อชูลส์ได้รับรางวัลรูเบน ในปี ๑๙๕๕ การ์ตูนพีนัตส์ จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของเล่นชิ้นแรกสุด ซึ่งสร้างขึ้นตามตัวการ์ตูนพีนัตส์ ในปี ๑๙๕๘ คือตุ๊กตาสนูปปี ทำจากพลาสติก ในช่วงปีแรก ๆ ตัวการ์ตูน มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ๆ ชูลส์เพิ่มตัวการ์ตูนบางตัวเข้ามา และตัดบางตัวออกไป ตัวอย่างเช่น ชาร์ล็อต บราวน์ ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่เป็นผู้หญิง และเสียงดังกว่า ชาร์ลี บราวน์ ถูกเพิ่มและตัดออกไปในปี ๑๙๕๔ ส่วน แซลลี บราวน์ น้องสาวของ ชาร์ลี บราวน์ มาในปี ๑๙๕๙ และอยู่กับพีนัตส์มาจนปัจจุบัน วูดสต็อก นกสีเหลืองตัวจ้อย ซึ่งพูดภาษาที่ถอดรหัสไม่ออก สหายของสนูปปี ก็ปรากฏตัวครั้งแรกในปี ๑๙๗๐ โดยชูลส์ตั้งชื่อให้มัน ตามชื่องานเทศกาลดนตรีครั้งยิ่งใหญ่ ในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอเมริกัน ในบรรดาตัวการ์ตูนทั้งหมดของชูลส์ สนูปปีได้รับความนิยมสูงสุด
การ์ตูนของพีนัตส์ มีชื่อเสียงในเรื่องข้อมูล ที่ถูกต้องแม่นยำ ตัวอย่างเช่น ชูลส์ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าดนตรีของบีโธเฟน แล้วคัดลอกตัวโน้ตบางส่วน ของคีตกวีมาประกอบภาพของชโลเดอร์ นักเปียนโนรุ่นเยาว์ ซึ่งเชื่อว่า บีโธเฟนเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา “ผมเลือกบีโธเฟนเพราะเขาดูยิ่งใหญ่จริงจัง” ชูลส์เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ “ผมชอบบราห์มส์มากกว่า”
การ์ตูนของชูลส์ ก่อให้เกิดความคิดเห็นหลากหลาย โทมัส อิงก์ ศาสตราจารย์ทางมนุษยศาสตร์ ประจำแรนดอฟ-เมคอน คอลเลจ ในรัฐเวอร์จิเนีย และผู้เขียนหนังสือการ์ตูน ในฐานะวัฒนธรรม (Comics as Culture) ตั้งข้อสังเกตว่า “เมื่อตอนที่ชูลส์เริ่มเขียนการ์ตูนเป็นอาชีพ การ์ตูนไม่มีอะไรน่าสนใจ ไม่น่าตื่นเต้น ไม่มีอะไรใหม่ แต่เขาพลิกโฉมหน้าใหม่ของวงการการ์ตูน ชูลส์แสดงให้เห็นว่า คุณสามารถพูดถึงประเด็นสำคัญ อย่างเทววิทยา ปรัชญา จิตวิทยาได้ในการ์ตูนช่อง และด้วยการปฏิวัตินี้ เขาสร้างพลังให้แก่การ์ตูนช่อง ต่อเนื่องมาอีก ๕๐ ปี”
แครอล แอน มาร์ลิง ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยมินเนโซตา กล่าวว่า ฉากที่ไม่เจาะจง และอาจเป็นที่ไหนก็ได้ ของการ์ตูนช่องพีนัตส์ ช่วยให้ความรู้สึกที่เป็นสากล ของเขตชานเมืองช่วงหลังสงคราม
“ไม่มีภูมิประเทศ ไม่มีสถานที่ ไม่มีผู้ใหญ่ ราวกับว่าเด็กพวกนี้ หล่นลงมาแถวชานเมือง รอบนอกของเซนต์พอล แล้วก็เริ่มครุ่นคิดถึงอารมณ์ ความรู้สึก และความหวาดกลัวของพวกเขา” มาร์ลิงชี้ว่าตัวละครเด็กเหล่านี้ เป็นตัวแทนคนธรรมดาทั่วไป ซึ่งอาจจะเป็นใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น ชโลเดอร์ ผู้คลั่งไคล้บีโธเฟน หรือปัญญาชนอย่างไลนัส ชูลส์เป็นคนแรก ที่นำเสนอความเชื่อทางศาสนา และจริยธรรมจากมุมมองของคนนอกวัด ให้แก่ผู้อ่านการ์ตูนช่องของเขา ซึ่งเปรียบเสมือนไบเบิลเล่มจิ๋ว
“ฉันไม่เคยหัวเราะเลย เมื่ออ่านการ์ตูนพีนัตส์ แต่มันมีอะไร ให้ฉันเก็บมาคิดทุกครั้งที่อ่าน และก็ยิ่งน่าประทับใจมากจริง ๆ เมื่อคิดถึงว่า ชูลส์ทำงานของเขาในสื่อซึ่งผู้คนใช้ห่อขยะ”
นักวิจัยศิลปะชาวมินนาโปลิส เดวิด มรัส ได้เปรียบผู้สร้างพีนัตส์ กับนักเขียนการ์ตูนชื่อดังอย่างเจมส์ เทอร์เบอร์ และ ดร. ซูส ว่า “ช่องเล็ก ๆ ที่บรรจุคำและภาพพวกนั้น ยกระดับการ์ตูนขึ้นสู่สถานะของบทกวี ซึ่งสั่งสมประสบการณ์ของมนุษย์ ทั้งสุขนาฏกรรมและโศกนาฏกรรม”
“การ์ตูนช่องของชูลส์ พูดถึงสภาวะของมนุษย์โดยรวม ไม่เฉพาะเจาะจง เพราะฉะนั้น มันจะคงคุณค่าในอีกร้อยปีข้างหน้า ตราบเท่าที่เรายังมีโรงเรียน โต๊ะเรียน เด็ก ๆ เล่นว่าว และนั่งครุ่นคิดว่าพวกเขาเป็นใคร การ์ตูนเหล่านี้จะยังคงอยู่”
ตลอดเวลาเกือบ ๕๐ ปี ที่การ์ตูนช่องพีนัตส์ เผยแพร่สู่สายตาผู้อ่าน ชูลส์วาดการ์ตูนช่องทุกวัน โดยไม่ได้อาศัยผู้ช่วยร่างภาพและทีมครีเอทีฟ เหมือนนักเขียนการ์ตูนชื่อดังคนอื่น เขาได้ความคิดจากหนังสือพิมพ์ จากการพูดคุยกับเพื่อน จากหนังสือรวมคำคม (Bartlett’s Familiar Quotations) หรือบางครั้งความคิดก็แวบขึ้นมาเอง
“ผมจะวาดการ์ตูนต่อไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่ผมยังมีสุขภาพดีอยู่ แล้วผมก็ทำอย่างอื่นไม่เป็นด้วยสิ ผมมีความสุข กับการวาดการ์ตูนในทำนองเดียวกับ ที่นักเปียนโนได้เล่นเปียโน กวีเขียนบทกวี และจิตรกรวาดภาพสีน้ำ พวกเขาทำสิ่งนั้น เพราะชีวิตจะไม่มีความหมายเลย ถ้าเขาไม่ทำ การ์ตูนเป็นชีวิตของผม”
สนิฟฟี
ตอนแรก ชูลส์ตั้งชื่อสุนัขพันธ์บีเกิล (beagle) ในการ์ตูนช่องของเขาว่า “สนิฟฟี” โดยจำลองลักษณะ จากเจ้าสไปก์ สุนัขพันทาง ที่เขาเลี้ยงในวัยเด็ก วันหนึ่ง ที่แผงขายหนังสือ ในห้างสรรพสินค้า เขาไปเห็นหนังสือการ์ตูนเล่มหนึ่ง ที่มีสุนัขชื่อ สนิฟฟี เขาจึงคิดว่า “แย่จัง นี่มันชื่อหมาของฉันนี่นา” แล้วจู่ ๆ เขาก็จำขึ้นมาได้ ที่แม่เคยพูดไว้นานมาแล้วว่า “ถ้าบ้านเรามีหมาอีกตัวหนึ่ง เราจะตั้งชื่อมันว่า สนูปปี”
แรงบันดาลใจจากชีวิตจริง
ในสมัยที่ชูลส์เริ่มอาชีพนักเขียนการ์ตูน ที่โรงเรียนสอนศิลปะ ในเมืองมินนาโปลิส เขามีเพื่อนร่วมงานชื่อ ชาร์ลี บราวน์ และ ไลนัส มอเรอร์ ชูลส์บอกว่า เขาถ่ายโอนความไม่สมหวังมากมายในวัยหนุ่ม ลงในตัวการ์ตูนเอก ชาร์ลี บราวน์ “ผมวิตกกังวลในเกือบทุกสิ่ง เท่าที่จะวิตกได้ และเพราะผมวิตกกังวล ชาร์ลี บราวน์ ก็ต้องวิตกกังวลด้วย”
ลูซี : ชาร์ลี บราวน์ เธอเคยกังวลว่าโลกจะแตกมั้ย
ชาร์ลี : มันขึ้นอยู่กับ…วันนี้วันอะไรนะ
ลูซี : วันอังคาร
ชาร์ลี : ปรกติวันอังคารฉันกังวลเรื่องบุคลิกภาพ…ส่วนวันพฤหัสเป็นวันที่จะกังวลเรื่องโลกแตก
พรวันเกิด
เมื่อวันเกิดครบรอบ ๗๕ ปี ชูลส์เปิดเผยว่า พรวันเกิดที่เขา (แอบ) อธิษฐานในใจก็คือ ขอให้ได้พบกับ แอนดรู ไวเอท (Andrew Wyeth) จิตรกรชาวเพนซิลเวเนีย ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทอง จากสภาครองเกรสในปี ค.ศ. ๑๙๙๐
“ผมไม่มีวันได้เป็นอย่างแอนดรู ไวเอท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ผมอยากให้สิ่งที่ผมทำเป็นงานศิลปะ แต่ผมสงสัยว่า มันคงไม่ใช่ แม้ว่าการ์ตูนของผม จะผ่านการค้นคว้ามาอย่างดี และไม่ได้เลียนแบบใคร แต่ผมไม่เคยมองว่า งานที่ผมทำเป็นงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ การ์ตูนช่องมีอายุสั้นมาก ศิลปะมีคุณค่ากว่า มันพูดกับคนรุ่นหลังได้ ผมคิดว่าการ์ตูนช่องของผม คงไม่ยืนยาวไปถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไป”
รู้จักชูลส์
ถ้าอยากรู้จัก ชาร์ลส์ เอ็ม ชูลส์ มากขึ้น อ่านหนังสือชีวประวัติเล่มแรก และเล่มเดียวของเขา ชื่อ Good Grief! A Biography of Charles M. Schulz เขียนโดย Rheta Grimsley Johnson และถ้าอยากไปเยี่ยมบ้านสนูปปี ในอินเทอร์เนต ก็ลองเข้าไปที่เว็บไซต์ www.snoopy.com หรือ www.peanuts.com
งานส่วนใหญ่ของชูลส์ นอกเหนือจากที่จัดแสดงอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลกซึ่งรวมทั้งพิพิธภัณฑ์ลูฟว์แล้ว จะถูกรวบรวมและนำมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ชาร์ลส์ เอ็ม ชูลส์ ณ เมือง ซานตาโรซา รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในฤดูใบไม้ผลิ ปี ๒๐๐๐ นี้
- ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 181 มีนาคม 2543