เรื่อง/ภาพ: วรรณณิภา ทองหน่อหล้า

ลัดหน้าลาน

ท่ามกลางแสงอาทิตย์ระอุบนถนนหน้าพระลาน ผู้คนหลากเชื้อชาติต่างจอแจเข้าชมความงดงามสถาปัตยกรรมของพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฝั่งตรงข้ามนั้น หลังประตูแดงวังท่าพระ ก็กำลังฟุ้งด้วยจินตนาการ

Ju Ju “ลัดเลาะลวดลาย By โลเล”

เลาะลาย

Ju Ju” นิทรรศการว่าด้วยจินตนาการของทวีศักดิ์ ศรีทองดี หรือ “โลเล” ผู้นำชีวิตจริงมา คลุกเคล้าจินตภาพ

ภายในหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ห้องจัดแสดงรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยผสานอิทธิพลจีน และตะวันตก ภายในประกอบด้วยท้องพระโรง และพระตำหนักกลาง ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ในฐานะอาคารประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อ ปี ๒๕๒๑ ปรับใช้เป็นหอศิลป์ เพื่อจัดแสดง และสนับสนุนการเผยแพร่ศิลปะร่วมสมัย จัดแสดงงานศิลปกรรมสำคัญ ครั้งนี้นั้น ได้นำเสนอชิ้นงานศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้โด่งดังจากลายเส้นตัวหนังสือมุมเหลี่ยม เส้นประกอบร่างเป็นภาพ ขณะเดียวกันก็มีทรงกลมที่เผยโครงสร้างซับซ้อน เฉกจินตนาการของจิตรกร พร้อมกันนี้งานจัดแสดงยังได้คุณกฤษฎา ดุษฎีวนิช เป็นภัณฑารักษ์จัดงานอีกด้วย

lolae2 2

เส้นทางการเป็นนักสร้างสรรค์เกือบ ๓๐ ปี ปรากฏผลงานมากมาย ผ่านผลงานตัวการ์ตูนที่มีแนวคิดศิลปะรูปลักษณ์ (Figurative Art) อาศัยการก่อร่างของทัศนธาตุ เพื่อสร้างภาพแทน (Representation) ของสิ่งต่าง ๆ เช่น คน สัตว์ สิ่งของ สิ่งแวดล้อม และสถานที่ จนเกิดเป็นรูปทรงสมมุติ เพื่อเป็นประเด็นหลักในการสื่อสาร ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับศิลปะแบบเหมือนจริง (Realistic) ที่ตัวภาพมีประเด็นปรากฏชัดเจน ความเหมือนจริง และความถูกต้องตามหลักการ ภาพวาดการ์ตูนที่จัดแสดงนี้ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้รูปทรงดูเรียบ ทว่าสื่อสารความหมายแก่ผู้รับสารให้เข้าใจได้โดยง่าย

ทุกชิ้นงานดำเนินการภายใต้ “ความไร้กรอบ” อย่างพิถีพิถัน เพราะลายเส้นการ์ตูนสามารถสร้างสรรค์ให้ดูเกินจริง หรือบิดเบี้ยว (Exaggerated and Distorted) ปรับดัดแปลงรูปทรง โดยศิลปินมีอิสระในการถ่ายทอดจินตนาการลงไปอย่างไร้ข้อจำกัด นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาษาถ้อยคำ (Verbal Language) สื่อสารวัจนภาษาเข้าไปด้วย โดยศิลปินเขียนประกอบชิ้นงานชัดเจน อาทิ รักเธอเท่าพลูโต, ปลุกใจเสือป่า, ทาสแมว ฯลฯ เพื่อเป็นตัวแทนบรรยากาศ หรือเนื้อเรื่องนั้น ๆ

โลเลชัดเจน

ภายในอาคารจัดแสดงสองชั้น ต้อนรับผู้ชมด้วยช่องหน้าต่างภาพวาดสีขาวดำเด่นตา มีโซนจัดแสดงฉายภาพเงา ที่จัดวางหุ่นหลากหลายรูปแบบคล้ายของเล่นวัยเยาว์ ความธรรมดาถูกลบหาย เมื่อมีแสงเงาของเด็ก ๆ วิ่งซุกซนไปมาผ่านฉากจินตนาการ ทำให้ศิลปะเงา (Shadow Art) ที่สาดส่องผ่านมุมการจัดวางนั้น พาผู้ชมรำลึกช่วงวัยไปด้วย และหากได้ก้าวผ่านฉากนั้นชั่วขณะแล้ว เราก็อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงาน

ในส่วนภาพใบหน้าผู้คนต่างอารมณ์จำนวนมากชวนให้รู้สึกถึงความโกลาหล (CHAOS) หรือจะเป็นความซับซ้อนภายใต้โครงสร้างก็ว่าได้ นอกจากนี้กลางห้องโถง ก็ยังได้จัดแสดงสมุดทำงานจริงที่ศิลปินใช้ร่างต้นแบบภาพ (Sketchbook) นำมาร่วมจัดแสดง สามารถเปิดชมสมุดน่าสนใจแต่ละเล่มได้ แต่ต้องสวมถุงมือยางก่อนการสัมผัส เพื่อร่วมกันถนอมชิ้นงานนั้น

ใกล้เคียงกัน ชิ้นงานอื่น ๆ ก็ถูกแต่งแต้มด้วยลายเส้นของโลเล ทำให้เกิดเอกลักษณ์พิเศษอย่าง กีตาร์ไฟฟ้า ลวดลายสีดำสีขาวที่คดเคี้ยวบนเครื่องดนตรี มีที่กลิ่นไอลายเส้นรูปแบบศิลปะขีดเขียน (Graffiti) เพียงแต่ครั้งนี้ไม่ได้สาดสีสัน มิติเงา หรือวาดบนกำแพง แม้แต่ลายเส้นการ์ตูนบนแก้ว และบรรจุภัณฑ์กาแฟ ก็ทำให้รู้สึกว่าเครื่องใช้มีความน่ารักเฉพาะตัว

นอกจากผลงานเดี่ยว ยังมีผลงานที่โลเลจัดแสดงร่วมกับศิลปินท่านอื่น อาทิ แฮมฐาณิศร์ สินธารัตนะ ผู้ผสมผสานดนตรีแนวใหม่ผ่านการหยิบเอกลักษณ์ความเป็นไทย ทำให้ห้องกังวานไปด้วยเสียงเพลง รวมไปถึง ข้าวโพดมัญชุมาศ นำเบญจพล ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Munchu’s โดดเด่นด้านผสานศิลปะบนเครื่องแต่งกายอย่างลงตัว บอกเล่าความเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง แปลกใหม่ และเปี่ยมล้นด้วยแรงบันดาลใจ ออกแบบภายใต้เนื้อผ้าที่สวยงาม และเส้นใยการตัดเย็บ นำเสนอลวดลายของความสนุกสนานที่ไม่ถูกจำกัดในกรอบสังคม

lolae9

หลังชมผลงาน สิ่งที่ได้รับกลับมา ชวนให้เราตระหนักถึงความคิดของมนุษย์ที่ไม่มีทิศทางชัดเจน บางครั้งเงียบเหงา บางครั้งลุกโชน บางครั้งเลือนราง ฉับพลันก็เจิดจ้ากลับมาได้ แนวคิดสร้างสรรค์ลวดลายการ์ตูน พลันมีความหมายซุกซ่อนอยู่ภายในสีขาว สีดำ สีสันละลานตา หรือแม้แต่ห้วงคำนึงที่ไม่มีสีสัน แม้ดูราวเรียบง่าย ไม่ได้อิงหลักการเช่นดังภาพเหมือนจริง ทว่าก็แฝงไว้ด้วยความมหัศจรรย์ที่ยากหยั่งถึง

เชิญชวนให้มาลองลัดเลาะจินตนาการอันกว้างใหญ่ ค้นหาความซับซ้อนของศิลปะด้วยตัวเอง ณ งานนิทรรศการ “Ju Ju” by Lolay จัดแสดงถึง ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๖ วันจันทร์ วันเสาร์ (ปิดวันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา ๙.๐๐ ๑๘.๐๐ น. หรือโทร: ๐๒ ๒๒๑ ๓๘๔๑ รวมไปถึงติดตามได้ที่เพจ ART CENTRE, SILPAKORN UNIVERSITY