กุลธิดา สามะพุทธิ รายงาน
บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ : ภาพ

260x147xvote sk2001 04.gif.pagespeed.ic.uZy1FuqjRi

เนื้อที่ ๔๙ ไร่ กับ ๑,๘๐๐ ไร่ไม่ใช่ความแตกต่างเพียงประการเดียวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์กับศูนย์รังสิต

เอกสารเผยแพร่ของฝ่ายวางแผนพัฒนา และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง ศูนย์รังสิต เมืองมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ ยังบอกให้รู้ถึงสิ่งที่ศูนย์รังสิต “มี” แต่ท่าพระจันทร์ “ไม่มี” อีกมากมาย เช่น อาคารเรียนรวมที่มีห้องเรียนขนาดต่าง ๆ รวม ๑๔๐ ห้อง, ห้องเรียนระบบมัลติมีเดีย, Media Training Center, โรงอาหารที่มีความจุ ๑,๓๐๐ ที่นั่ง, ศูนย์ฝึกอบรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อาคารสันทนาการ (ห้องเกม/ห้องออกกำลังกาย/มินิเธียเตอร์/ห้องซาวน่า/ร้านเสริมสวย/ร้านซักรีด), หอพักเกือบ ๔,๐๐๐ ห้อง

ศูนย์รังสิตมีแม้แต่สถานีไฟฟ้าเป็นของตัวเอง เพื่อรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ปี ๒๕๒๙ แม้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ณ ทุ่งรังสิต ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จะยังเป็นเพียงแค่ที่ดินแล้งโล่ง มีอาคารเล็ก ๆ อยู่ไม่กี่หลัง แต่ผู้บริหารก็เดินหน้าโครงการขยายกิจกรรมไปยังศูนย์รังสิตช่วงที่ ๑ โดยกำหนดให้ศูนย์รังสิตรองรับการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี เฉพาะชั้นปีที่ ๑ และหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ทั้งหมด

ช่วยบรรเทาความแออัดยัดเยียดของท่าพระจันทร์ลงไปได้บ้าง

ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา วัดมหาธาตุ สนามหลวงและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ไม่สามารถขยายพื้นที่ต่อไปได้อีกแล้ว

๑๐ ปีผ่านไป ปัญหาเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะที่พักของนักศึกษาและบุคลากรไม่เพียงพอ รวมทั้งความไม่สะดวกในการเดินทางทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถดำเนินการขยายในช่วงที่ ๒ ได้ จนกระทั่งเมื่อรัฐบาลตัดสินใจมอบสนามแข่งขันและที่พักของนักกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ ๑๓ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๑ ให้มหาวิทยาลัยดัดแปลงไปใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษา รวมทั้ง เครือข่ายคมนาคมสร้างเสร็จสมบูรณ์ (ทางด่วนสายแจ้งวัฒนะ-บางพูน บางไทร, ทางด่วนยกระดับดอนเมือง-รังสิต และถนนวงแหวนรอบนอก) พอดี ทำให้การเดินทางไปศูนย์รังสิตรวดเร็วยิ่งขึ้น

ฝ่ายวางแผนพัฒนาฯ จึงเริ่มดำเนินโครงการขยายฯ ช่วงที่ ๒ และให้คำจำกัดความมันว่า “เสมือนการย้ายเมือง”

เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกับประชาคมธรรมศาสตร์ให้ตระหนักถึงความจำเป็นในการขยายไปศูนย์รังสิต ต่อมาก็กำหนดให้นักศึกษาที่สอบเข้าได้ในปีการศึกษา ๒๕๔๔ จะต้องเรียนที่ศูนย์รังสิตจนจบหลักสูตร หมายความว่าในปี ๒๕๔๗ จะไม่มีการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีที่ท่าพระจันทร์อีกต่อไป

รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนพัฒนาฯ อธิบายว่าการที่ธรรมศาสตร์ย้ายไปศูนย์รังสิตนี้ ต่างจากการตั้งวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เช่น วิทยาเขตทับแก้วของมหาวิทยาลัยศิลปากร, กำแพงแสนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือศาลายาของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีการบริหารที่แยกเป็นอิสระจากกัน การเรียนการสอนก็แยกขาดจากกัน แต่ของธรรมศาสตร์นั้นยังคงเกี่ยวเนื่องกันทุกอย่าง

หลังจากนักศึกษาและบุคลากรประมาณ ๑ หมื่นคน, ที่ทำการของทุกคณะ และฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยย้ายไปอยู่ศูนย์รังสิตแล้ว สิ่งที่ท่าพระจันทร์จะเป็นต่อไปตามนโยบายของผู้บริหารก็คือ “ศูนย์วิจัยทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ชั้นสูง ศูนย์บริการวิชาการที่ให้ความสำคัญกับงานวิจัย” และธรรมศาสตร์ก็จะสามารถเปิดหลักสูตรการศึกษาปริญญาโทและการอบรมอาชีพต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของมหาวิทยาลัยได้มากเท่าที่ต้องการ