เรื่องและภาพ : จันทร์กานต์ พรหมแก้ว

สุขล้นใจจากครัวเล็กๆ ในเมืองกรุง

“เป็นผู้หญิงน่ะ เราต้องหัดทำอาหารไว้นะจ้อย ดูไว้ ต่อไปจะได้ทำเป็น”

ทุกครั้งที่ “ยาย” เข้าครัว ยายชอบพูดกับหนูแบบนี้เสมอ หนูที่ยืนช่วยยายหั่นผักอยู่ข้างๆ มักคิดไปว่า เพราะเป็นผู้หญิงสินะ เราถึงต้องฝึกทำอาหาร หนูในวัยเด็กไม่ได้คิดอะไรกับคำพูดของยายมากนัก แค่คอยช่วยยายเตรียมของ แล้วกินกับข้าวอร่อยๆ ที่ยายตั้งไว้เต็มโต๊ะ กินเสร็จก็เก็บโต๊ะ ล้างจาน จากนั้นก็ไปนั่งเล่นพักผ่อน นั่งดูการ์ตูน แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว

ในวัยเด็กหนูคิดเพียงแค่ว่า หนูคงได้กินอาหารอร่อยๆ แบบนี้ไปอีกเรื่อยๆ แต่แล้ว 18 ปีที่อิ่มอร่อยกับครัวของยายมาตลอดก็ต้องจบลง เมื่อถึงเวลาที่หนูต้องย้ายไปเรียนที่กรุงเทพ “ความเปลี่ยนแปลง” บางอย่างที่ตัวหนูเองไม่คาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้น ก็ได้เกิดขึ้น

หนูย้ายมาอาศัยอยู่ในคอนโดฯ ไม่ห่างจากมหาวิทยาลัยนัก ภายในเป็นห้องชุดทั่วไปซึ่งมีห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ และส่วนห้องครัวเล็กๆ ที่มีเพียงตู้เย็น ชั้นวางของ โต๊ะเล็ก และพื้นที่ว่างที่หนูคิดว่าคงเอาไว้วางเตาไฟฟ้า

ในวันที่หนูย้ายเข้ามาอยู่ “ป้าแตง” ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มาตลอด ก็ช่วยหนูย้ายสัมภาระต่างๆ มาไว้ที่ห้อง ก่อนกลับป้าแตงได้มอบเตาไฟฟ้าสีขาวพร้อมชุดถ้วยชามเล็กน้อยให้หนู

“เตานี้ป้าเก็บไว้นานแล้ว ไม่ค่อยได้ใช้ จ้อยเอาไปเถอะ เผื่อไว้เจียวไข่ก็ยังดี”

หนูยิ้มพร้อมไหว้ขอบคุณป้าแตง สิ่งที่น่าขำก็คือ หลังจากป้าแตงกลับไปแล้ว หนูก็หยิบเตาไฟฟ้านั้นไปเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้า เพราะคิดว่าคงไม่ได้ใช้มันหรอก อยู่คนเดียวจะทำอาหารไปทำไม ซื้อมากินสิง่ายกว่า

littlekitchen02
littlekitchen03

อาทิตย์แรกของการเปิดเทอมเริ่มขึ้น หนูไปฝากท้องอันหิวโหยไว้กับร้านอาหารตามสั่งที่มหาวิทยาลัย ร้านอาหารใต้คอนโดฯ ร้านรถเข็นที่มาตั้งแผงกันตอนช่วงเย็น หรือบางครั้งก็เป็นพวกข้าวกล่องแช่เย็นที่ขายตามซูเปอร์มาร์เกต

หนูไม่มีปัญหาอะไรในช่วงแรกๆ แต่เมื่อนานวันเข้าจนใกล้จะครบเดือน ความเบื่อความจำเจก็เริ่มเกิดขึ้น เวลาไปร้านอาหารตามสั่ง หนูชอบสั่งแต่เมนูเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวหมูทอดกระเทียม ข้าวผัดหมู ผัดซีอิ๊ว บางครั้งก็เป็นก๋วยเตี๋ยว วนอยู่แค่นี้ หนกินคนเดียวเลยไม่อยากสั่งเป็นกับข้าวเพราะเปลืองเงินไปหน่อย อาหารจานเดียวจึงตอบโจทย์ที่สุด

รสชาติอาหารไม่ใช่สิ่งสร้างปัญหา เพราะทุกร้านทำได้อร่อยถูกปาก แต่การกินข้าวหมูทอดกระเทียมเกือบทุกเย็นก็ทำให้รู้สึกเบื่อ บางครั้งหนูอยากสั่งเพิ่มอีกจานเพราะไม่อิ่ม แต่ก็ไม่อยากเสียเงินเพิ่ม หนูเริ่มคิดว่า หรือมันถึงเวลาแล้วที่เราควรจะลองทำอาหารกินเองดูบ้าง

หลังจากวันนั้น พอเสาร์อาทิตย์หนูก็ไปห้างสรรพสินค้าที่ไม่ไกลจากคอนโดฯ มากนัก เพื่อซื้ออุปกรณ์ทำครัวเพิ่มเติม เช่น กระทะ ตะหลิว มีด เขียง รวมถึงอาหารสดต่างๆ อย่างเนื้อหมู ไข่ ผัก แถมด้วยซอสและเครื่องปรุงหลายชนิดมาทำอาหารกลับถึงห้องหนูก็เริ่มทำเมนูที่ชื่นชอบและคิดถึงมันที่สุด นั่นก็คือไก่อบซอส เมนูที่ยายทำให้กินประจำ เพียงแค่นำน่องไก่มาต้มกับหัวหอม มันฝรั่ง แครอต พร้อมด้วยซอสมะเขือเทศ เคี่ยวไปนานๆ จนซอสเริ่มข้น ปรุงรสหวานเค็มนิดหน่อย เพียงแค่นี้ก็ตักกินกับข้าวสวยร้อนๆ ได้เลย

ภาพในความทรงจำตอนที่หนูช่วยยายเตรียมของ รวมถึงเสียงของยายที่คอยบอกขั้นตอนการทำ เริ่มวนเวียนกลับเข้ามาในหัว หนูทำตามขั้นตอนที่ยายสอนแล้วรอชิมผลลัพธ์อย่างใจจดใจจ่อ ไม่นานเกินรอ ไก่อบซอสที่ไม่ได้ลิ้มรสมาเนิ่นนานก็เสร็จสมบูรณ์

ในตอนนั้นที่ยังไม่มีหม้อหุงข้าว ข้าวหนึ่งถุงที่ซื้อจากร้านอาหารตามสั่งถูกนำไปอุ่นให้ร้อนในเตาไมโครเวฟ หนูตักน่องไก่กับซอสใส่ถ้วยมานั่งกินกับข้าวสวย หลังจากตักเข้าปากไปหนึ่งคำ หนูยิ้ม บอกกับตัวเองว่า “ก็ไม่เลวนะ เก่งใช้ได้เลยนี่” รสชาติออกมาใกล้เคียงกับที่ยายเคยทำให้กินแทบไม่ผิดเพี้ยน หนูกินอาหารมื้อแรกที่ทำด้วยตัวเองอย่างมีความสุข

littlekitchen04
littlekitchen05

เมื่อมีครั้งแรกย่อมมีครั้งต่อไปเสมอ หลายคนพูดไว้แบบนี้ หลังจากได้ลองทำอาหารกินเองแล้ว หนูเริ่มคิดถึงเมนูต่างๆ ที่ยายทำแล้ววางแผนว่าจะทำอะไรต่อไป เริ่มง่ายๆ จากแกงจืด มักกะโรนีผัดไข่ ผัดบร็อกโคลีกับกุ้ง

ทุกครั้งที่ทำอาหาร หนูชอบถ่ายรูปส่งไปให้ครอบครัวดู ว่าหนูทำอาหารกินเองได้ แม่เห็นหนูเริ่มสนุกกับการทำอาหาร จึงส่งเงินจำนวนหนึ่งมาให้ซื้ออุปกรณ์เพิ่ม ครัวเล็กๆ ของหนูจึงมีหม้อหุงข้าว กาต้มน้ำร้อน เครื่องปั่น หม้อ และจานชามอีกหลายใบมาเติมเต็ม

หนูเริ่มต้นทำอาหารเพียงเพราะอยากจะขจัดความเบื่อหน่ายที่เริ่มมีต่ออาหาร จากทำกินเองเฉพาะมื้อเย็นก็กลายมาเป็นทำสำหรับมื้อเที่ยงบ้าง บางวันที่มีเวลาหนูจะทำข้าวกล่องไปกินที่มหาวิทยาลัยด้วย แรกๆ ก็เขินอายบ้าง ว่าเพื่อนๆ จะมองเรายังไง แต่กลับกัน ทุกครั้งเวลาเปิดกล่องข้าว เพื่อนจะรอดูว่าวันนี้หนูทำอะไรมากิน

“น่ากินจังเลย”

นั่นเป็นคำที่หนูได้ยินบ่อยที่สุดจากเพื่อนๆ คำชมอีกมากมายทำให้หนูมีความสุขและภูมิใจกับสิ่งที่ได้ทำ จากทำอาหารเพียงแค่บางวันเลยกลายเป็นทำทุกวัน จากเมนูเดิมๆ ที่เคยกิน หนูก็เริ่มสรรหาเมนูใหม่ๆ มาลองทำ ทั้งจากในยูทูบ เว็บไซต์ทำอาหาร และช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทย เช่น ต้มยำ ต้มขาไก่ แกงมัสมั่น อาหารฝรั่งอย่างเบอร์เกอร์เนื้อ สปาเกตตีคาโบนาร่า หรืออาหารญี่ปุ่น เช่น หมูทอดทงคัตสึพร้อมแกงกะหรี่ญี่ปุ่น ไก่ทอดซอสเทอริยากิ และอาหารอีกหลายสัญชาติ

จากสิ่งที่หนูไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันเท่าไร กลับค่อยๆ กลายเป็น “ความสุข” ในชีวิตของหนูแบบไม่รู้ตัว

บ่อยครั้งที่ทำอาหาร หนูมักโพสต์รูปหรือวิดีโอลงในอินสตราแกรมเพื่อให้เพื่อนๆ ได้เห็น หลายคนทนหิวไม่ไหว อยากลิ้มลองฝีมือของหนูสักครั้ง ในวันที่มีการบ้านที่ต้องทำด้วยกัน หนูเลยชวนเพื่อนๆ มาทำงานที่ห้อง แล้วทำอาหารให้ชิม

“อร่อยมากกกกก”

littlekitchen06

เพื่อนๆ เอ่ยปากชมเสียยกใหญ่หลังจากได้ชิมอาหาร และนั่งกินด้วยกันจนหมด พวกเขาเริ่มบอกต่อๆ กันเรื่องฝีมือการทำอาหารของหนู ทำให้หลายคนเมื่อเจอกันที่มหาวิทยาลัยก็ต้องเอ่ยทักว่าเมื่อไรจะได้ชิมฝีมือหนู หนูยิ้มและรับปากว่าถ้าว่างจะทำให้ชิมแน่นอน

เพื่อนหลายคนที่ได้ชิมฝีมือของหนูแล้ว ตั้งฉายาให้หนูว่า “คุณแม่ตัวน้อย” เพราะอาหารของหนูทำให้พวกเขาคิดถึงบ้าน คิดถึงอาหารฝีมือแม่

นับจากวันที่ตัดสินใจเริ่มทำอาหาร จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว ที่หนูได้ค้นพบความสามารถด้านการทำอาหารของตัวเอง ซึ่งทำให้ตัวหนู ครอบครัว และเพื่อนๆ มีความสุข

หนูขอบคุณตัวเองอยู่เสมอที่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ ถ้าหนูยังขี้เกียจและยอมทนต่อความจำเจที่เกิดขึ้น หนูก็คงไม่ได้ทำอาหารอร่อยๆ ให้ตัวเองและคนรอบข้างได้กิน

การทำอาหารเองทำให้หนูได้กินสิ่งที่อยากกิน ในรสชาติที่ชอบ ได้ชิมเมนูใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน ได้ประหยัดเงินแม้จะเล็กน้อยก็ตาม ที่สำคัญที่สุดคือทำให้คนที่หนูรักมีความสุข

หนูคิดถึงและเข้าใจคุณยายแล้ว ว่าทำไมทุกครั้งที่คนในบ้านตักอาหารชิม ยายต้องถามเสมอว่าอร่อยไหม พอได้ยินว่า “อร่อย”ยายก็จะยิ้มอย่างมีความสุข

มันคงเป็นความรู้สึกแบบนี้สินะครับยาย ตอนนี้หนูเข้าใจแล้วว่า ไม่ใช่เพราะเป็นผู้หญิงจึงต้องฝึกทำอาหาร แต่ยายคงอยากส่งมอบความสุขในแบบของยายให้ไว้กับหนู

“ขอบคุณครับยาย ตอนนี้หนูได้รับความสุขนั้นแล้วครับ”

ปล. ตั้งแต่วัยเด็ก หนูจะใช้คำว่าครับ แทนคำว่าค่ะ กับยายเสมอ.