สนับสนุน

vote support

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์
รองอธิการบดี ฝ่ายวางแผนพัฒนา และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  • นักศึกษาสายสังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สามารถเรียนข้ามคณะ กันได้ง่าย เป็นการบูรณาการความรู้ ให้รอบด้าน
  • ศูนย์รังสิตมีพื้นที่กว้างขวาง สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ซึ่งจะเป็นผลดี ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
  • จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ไม่ได้ถูกทำลาย เพราะความเป็นธรรมศาสตร์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ แต่อยู่ที่การสอนให้นักศึกษา เข้าใจถึงปรัชญา ของมหาวิทยาลัย

“การย้ายนักศึกษาระดับปริญญาตรีไปเรียนรวมกันที่รังสิต เป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่สมัยที่ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นอธิการบดี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ แล้ว เพราะท่านเล็งเห็นว่าท่าพระจันทร์นั้นคับแคบเกินไป หลังจากนั้นสภามหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนคณาจารย์ ผู้แทนฝ่ายบริหารและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เป็นศิษย์เก่าที่สังคมยอมรับ และผู้ที่มีความชำนาญในด้านต่าง ๆ เช่น อ.ประเวศ วะสี, อ.มารุต บุนนาค ก็มีมติเช่นเดียวกันนี้มาตลอด

“เหตุผลหลักที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย มีนโยบายให้ขยายการศึกษา จากท่าพระจันทร์ไปรังสิต คือ เราอยากให้นักศึกษาได้ใช้ชีวิต ในการเรียนร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกันตั้งแต่ชั้นปีที่ ๑ จนกระทั่งจบการศึกษา การที่นักศึกษาใหม่ ต้องแยกกันอยู่กับรุ่นพี่นั้น ทำให้ขาดความอบอุ่น ไม่มีรุ่นพี่เป็นผู้นำและช่วยชี้ทางในการเรียน

“ท่าพระจันทร์มีความสมบูรณ์น้อยกว่ารังสิตมาก โดยเฉพาะสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักศึกษา ไม่มีพื้นที่ที่ใช้ในการจัดกิจกรรม ที่จะช่วยให้นักศึกษาระหว่างสายวิทย์ กับสายศิลป์ได้เรียนรู้ร่วมกัน ไม่สามารถริเริ่มโครงการ-หลักสูตรการศึกษาใหม่ ๆ หรือรับนึกศึกษาเพิ่มได้เลย

แต่สิ่งหนึ่งซึ่งรังสิตอาจจะขาดไปก็คือ บรรยากาศที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของท่าพระจันทร์ ซึ่งชาวธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญ และมีความผูกพันมาก ผู้บริหารตระหนักในเรื่องนี้ดี จึงมีแนวคิดที่จะให้นักศึกษาปริญญาตรี มีความผูกพันกับท่าพระจันทร์ โดยการจัดหลักสูตรภาคฤดูร้อนที่ท่าพระจันทร์, รับปริญญาที่ท่าพระจันทร์ และจัดให้นักศึกษามาร่วมกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยที่ท่าพระจันทร์

“การย้ายไปอยู่รวมกันที่รังสิต ช่วยให้นักศึกษาเรียนข้ามคณะกันได้ง่ายขึ้น สายวิทยาศาสตร์กับสายสังคมศาสตร์ ก็จะได้เรียนรู้ร่วมกัน ทุกวันนี้นักศึกษาแพทย์ ไม่มีโอกาสจะเรียนด้านการบริหารเลย นักศึกษาสังคมสงเคราะห์ ที่ต้องทำงานร่วมกับโรงพยาบาล ก็กลับอยู่คนละที่กับคณะแพทย์ การเรียนรวมกันที่ศูนย์รังสิต จะช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้รอบด้าน

“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตมีเนื้อที่กว้างขวางกว่า จึงมีสิ่งอำนวยความสะดวก และให้บริการนักศึกษาได้มากกว่า รวมทั้งเอื้อให้นักศึกษาทำกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ เช่น ศูนย์กีฬา ตึกกิจกรรม ในขณะที่ท่าพระจันทร์แออัดมาก ที่จอดรถก็ไม่มี ที่ศูนย์รังสิตมีหอพักรองรับนักศึกษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีมาตรฐานดีกว่าของมหาวิทยาลัย ในต่างประเทศเสียอีก มีอาคารเรียนรวม ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ในการดูแลรักษาอีกด้วย

“การย้ายไปรังสิตไม่ได้ทำให้หลักสูตรการเรียนการสอน ของธรรมศาสตร์อ่อนด้อยลงแต่อย่างใด เพราะอาจารย์ที่นี่ก็จะต้องตามไปสอนที่รังสิต ขณะนี้อาจารย์หลายท่าน ก็เตรียมบ้านพักใกล้ ๆ รังสิตไว้แล้ว นอกจากนี้เรายังเตรียมความพร้อมให้กับอาจารย์อย่างเต็มที่ โดยจัดสรรอาคารที่ได้จากเอเชียนเกมส์ ไว้สำหรับเป็นที่พัก อาจารย์ดี ๆ เก่ง ๆ ที่จะลาออกจากราชการ เพราะไม่อยากไปสอนที่รังสิต คงเป็นเพียงส่วนน้อย

“การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ ๑๓ ทำให้ศูนย์รังสิตได้รับอุปกรณ์ และอาคารเพิ่มขึ้นหลายอย่าง กลายเป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบมาก และมีความพร้อมในการนำนักศึกษา ไปอยู่ที่นั่นอย่างเต็มที่ อาคารที่สร้างขึ้นตอนเอเชียนเกมส์ มีมูลค่า ๖,๐๐๐ กว่าล้านบาท มหาวิทยาลัยก่อสร้างใหม่ อีกประมาณ ๑,๐๐๐ กว่าล้าน สร้างศูนย์สุขศาสตร์อีกไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ล้าน และลงทุนจัดหาคุรุภัณฑ์ไปแล้วประมาณ ๒,๐๐๐ ล้านบาท เงินทั้งหมดนี้เป็นภาษีของประชาชน ถ้าธรรมศาสตร์ไม่ใช้พื้นที่เหล่านี้ให้เต็มที่ ให้สมกับที่ประชาชนได้สละภาษีมาให้ หรือปล่อยให้เงินทั้งหมดนี้ สูญเปล่าคงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

“ผมไม่คิดว่าการย้ายนักศึกษาปริญญาตรี ไปอยู่ที่ศูนย์รังสิต จะทำให้เด็กรุ่นใหม่ สูญเสียความเป็นธรรมศาสตร์ เพราะสถานที่ย่อมมีบทบาทในการปลูกฝังความเป็นธรรมศาสตร์ น้อยกว่าการสอนให้นักศึกษา เข้าใจถึงจริยธรรมและปรัชญาของมหาวิทยาลัย มุมมองของคณาจารย์บางส่วน ที่คิดว่าท่าพระจันทร์ทำให้นักศึกษา มีความผูกพันกับมหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้ผิด แต่ในเชิงการบริหาร เราต้องชั่งน้ำหนักว่า แนวทางใดจะเป็นประโยชน์ กับการพัฒนามหาวิทยาลัยมากกว่า เราควรให้ความสนใจกับสิ่งที่จะสร้างให้นักศึกษา เป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์แบบ การคิดแต่ว่าตัวอาคาร / สถานที่ เป็นเพียงอย่างเดียวที่ปลูกฝังความเป็นธรรมศาสตร์นั้น เป็นการคิดไม่รอบด้าน

“บทบาททางการเมืองและสังคม ของมหาวิทยาลัย ก็คงไม่ลดน้อยลงไป เพราะโดยหลักการ ธรรมศาสตร์ก็ทำเพื่อสังคมอยู่แล้ว ธรรมศาสตร์รังสิตก็ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อชุมชนรอบ ๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น การให้บริการชุมชนในแถบปทุมธานี โดยนักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ คณะสังคมสงเคราะห์ ส่วนบทบาททางการเมืองนั้นอยู่ที่ไหนก็มีบทบาทได้ ไม่ใช่ว่าต้องอยู่ที่ท่าพระจันทร์เท่านั้น เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็มีการเคลื่อนไหวเรื่องท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย

“เหตุผลอีกประการหนึ่งที่เราต้องย้าย คือ มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องหารายได้ เพื่อพัฒนาอุดมศึกษาในอนาคต โครงการปริญญาโทเป็นโครงการที่ทำให้มหาวิทยาลัยมีรายได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ขณะนี้เราทำได้แค่เพียงเปิดหลักสูตรภาคค่ำ ไม่มีโอกาสที่จะเปิดสอนปริญญาโท และเอกภาคกลางวันเลย เพราะต้องใช้พื้นที่ ในการสอนนักศึกษาปริญญาตรี ถ้าย้ายนักศึกษาปริญญาตรีไปรังสิต โอกาสที่จะเปิดการอบรมหรือหลักสูตรปริญญาโทภาคกลางวัน ก็จะมีมากขึ้น อีกทั้งท่าพระจันทร์เป็นศูนย์กลางของชุมชน จึงสามารถให้บริการทางวิชาการ กับคนที่อยู่ในวัยทำงานได้เต็มที่ ซึ่งก็จะช่วยให้มหาวิทยาลัย มีรายได้กลับมาพัฒนาปริญญาตรี และมหาวิทยาลัยโดยรวม ขณะนี้หลายคณะกำลังเตรียมหลักสูตรภาคกลางวัน ที่ท่าพระจันทร์ เช่น คณะบัญชีก็วางแผนว่าจะเปิดหลักสูตร MBA ภาคภาษาอังกฤษ คณะนิติศาสตร์ก็จะมีหลักสูตร International Law คณะศิลปศาสตร์, เศรษฐศาสตร์ เตรียมหลักสูตรภาคกลางวันกันอย่างเต็มที่ พื้นที่ที่ท่าพระจันทร์จะถูกใช้ประโยชน์สูงสุดอย่างแน่นอน

“นอกจากนี้ ด้วยความที่ท่าพระจันทร์เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการที่ดูแลเกาะรัตนโกสินทร์ ก็ต้องการให้เราปรับปรุงพื้นที่ตรงนี้ ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของเกาะ เพราะฉะนั้นเมื่อย้ายการเรียนการสอนระดับชั้นปริญญาตรีออกไปแล้ว ก็จะมีการปรับปรุงสนามฟุตบอล ให้เป็นสวนสาธารณะภายใน อาคารใดที่รูปทรงไม่เหมาะสมกับเกาะนัก ก็อาจจะมีการรื้อออก เช่น โรงยิมฯ ที่ทรุดโทรม เวทีมวย ฯลฯ

“ส่วนเรื่องหอสมุดนั้น เราจะแบ่งหนังสือที่ใช้สำหรับปริญญาตรี จากหอสมุดปรีดี พนมยงค์ ไปไว้ที่รังสิตส่วนหนึ่ง เพราะขณะนี้เรามีหนังสืออยู่เกือบล้านเล่ม เก็บในหอสมุดที่ท่าพระจันทร์แห่งเดียว ก็ไม่พออยู่แล้ว หลังจากย้ายไปอยู่รังสิต หอสมุดที่ท่าพระจันทร์ ก็จะมีหนังสืออยู่ประมาณ ๕-๖ แสนเล่ม ที่หอสมุดศูนย์รังสิตมีประมาณ ๔ แสนเล่ม หอสมุดของทั้งสองวิทยาเขต จะเชื่อมโยงกัน ขอยืมจากกันได้โดยมีรถขนส่งที่วิ่งบริการทุกวัน ส่วนห้องสมุดประจำคณะต่าง ๆ ที่ท่าพระจันทร์ก็อาจจะยุบไป หรือไม่ก็ดัดแปลงเป็นห้องอ่านหนังสือ

“แผนการทั้งหมดนี้เริ่มมาตั้งแต่ ๒๕๑๔ ดังนั้นชาวธรรมศาสตร์ จึงได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น มาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่มหาวิทยาลัยก็ยินดีจะรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า เมื่อเราต้องย้ายไปแล้ว เราจะต้องทำอย่างไรบ้าง เช่น สวัสดิการของคณาจารย์ ชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษา การเชื่อมต่อระหว่างท่าพระจันทร์กับรังสิต”

คัดค้าน

vote object

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  • ธรรมศาสตร์จะสูญเสีย ความเป็นผู้นำทางวิชาการไป เพราะขาดแคลนอาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งหาได้ง่าย ในใจกลางเมือง
  • เป็นการทำลาย จิตวิญญาณ ของชาวธรรมศาสตร์ เพราะต้องละทิ้งท่าพระจันทร์ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ ทางการเมืองมายาวนาน
  • การย้ายธรรมศาสตร์ ไปอยู่นอกเมือง อาจเป็นความต้องการลึก ๆ ของผู้บริหาร ที่อยากจะลดบทบาท ทางการเมือง ของธรรมศาสตร์

“แนวคิดเรื่องการขยายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังศูนย์รังสิต ซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นอธิการบดีเพิ่งจะมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมขึ้น ในยุคเศรษฐกิจ และวิชาการฟองสบู่ เนื่องจากผู้บริหารมองว่า ถ้าหากเอานักศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีออกไป มหาวิทยาลัยจะมีพื้นที่สำหรับจัดโครงการอบรมเสริมวิชาชีพ และหลักสูตรปริญญาโทเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างรายได้ให้มหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก

“เราจำเป็นต้องตีความกันก่อนว่า การไปรังสิตนี้เป็นการ “ย้าย” หรือ “ขยาย” สิ่งที่ผู้บริหาร และสภามหาวิทยาลัย กำลังทำอยู่นั้นเป็นการ “ย้าย” คือ ยกปริญญาตรีออกไปทั้งหมด ซึ่งผมไม่เห็นด้วย มหาวิทยาลัยควรจะ “ขยาย” โดยการให้นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ เรียนวิชาพื้นฐานที่รังสิตเหมือนที่เป็นอยู่ ส่วนโครงการที่ขยายเพิ่มเติม หรือคณะที่จะตั้งขึ้นใหม่ ถึงจะเอาไปไว้ที่รังสิต เราจะต้องรักษาปริญญาตรี ซึ่งเป็นหัวใจของมหาวิทยาลัยเอาไว้ที่ท่าพระจันทร์ โดยเฉพาะคณะนิติศาสตร์ บัญชี รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เพราะเป็นคณะดั้งเดิมของธรรมศาสตร์ และมีความแข็งแกร่งทางวิชาการมาก

“การย้ายการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ไปไว้นอกเมืองเป็นความคิดที่ผิด เพราะจะทำให้คุณภาพของปริญญาตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายสังคมศาสตร์-มนุษย์ศาสตร์ตกต่ำลง และธรรมศาสตร์จะสูญเสียความเป็นผู้นำทางวิชาการไปในที่สุด

“นอกจากนี้ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ซึ่งใช้งบประมาณไปทั้งสิ้นเกือบหนึ่งพันล้าน และเป็นหอสมุดทางสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย จะถูกฉีกออกเป็นสองส่วน ถ้าหากนักศึกษาระดับปริญญาตรีถูกย้ายไปรังสิต นี่คือความพังพินาศทางวิชาการอีกประการหนึ่งของธรรมศาสตร์ และเอาเข้าจริง การขยายธรรมศาสตร์ไปรังสิตในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ก็สร้างความตกต่ำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ในระดับหนึ่งแล้ว

“ความแออัดของธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ไม่ได้แปลว่าธรรมศาสตร์ไม่มีคุณภาพ ธรรมศาสตร์มีคุณภาพในความแออัดนี้ เพราะมันตั้งอยู่ใจกลางเมือง ทำให้สามารถจัดหาบุคลากร ครูบาอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงความรู้ได้ง่าย และความเป็นเลิศทางวิชาการ ก็ต้องพึ่งพาบุคลากรที่มีคุณภาพเหล่านี้ ที่ผ่านมาธรรมศาสตร์มีความโดดเด่นทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม เพราะว่ามันอยู่ในกรุงเทพฯ นั่นเอง มหาวิทยาลัยศิลปากรก็เคยเจอปัญหาคล้ายกันนี้ คือ เมื่อเขาต้องการตั้งคณะดุริยางคศิลป์ขึ้นใหม่ ก็ไม่กล้าเอาไปไว้ที่วิทยาเขตนครปฐม เพราะไม่มั่นใจว่าจะมีใครไปสอนให้ได้

“ผมมองในแง่ร้ายต่อไปว่า นอกจากธรรมศาสตร์จะกลายเป็นที่ร้าง เพราะอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาตรี ทั้งหมื่นกว่าคนย้ายไปอยู่ที่โน่นหมดแล้ว การที่ผู้บริหารใช้ท่าพระจันทร์ เป็นที่หารายได้จากหลักสูตรปริญญาโท หลักสูตรนานาชาติ มินิ..อะไรต่างๆ ซึ่งมีนักศึกษาจำนวนไม่มากนั้น จะส่งผลให้ที่นี่กลายเป็น “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการค้า” คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินผืนนี้อย่างคุ้มค่า ประกอบกับการที่ตอนนี้ ลัทธิท่องเที่ยวนิยม กำลังมีอิทธิพลมหาศาล จึงอาจเกิดการผลักดันให้พื้นที่ตรงนี้ ถูกใช้ไปเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งเหมาะมากเพราะอยู่ริมแม่น้ำ ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ ในที่สุด มหาวิทยาลัยก็จะสูญเสียที่พื้นที่ตรงนี้ไป เพราะไม่มีข้ออ้างเกี่ยวกับการศึกษาที่มีน้ำหนักเพียงพอ และนี่คือจุดจบของธรรมศาสตร์อย่างแท้จริง

“การย้ายการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ไปอยู่ที่รังสิตจะทำให้บทบาททางสังคม การเมืองของธรรมศาสตร์ลดลงอย่างแน่นอน น่าสังเกตว่าการย้ายมหาวิทยาลัยออกไปนอกเมืองหลวง เป็นความฝันของผู้มีอำนาจในทุกประเทศ ในอุษาคเนย์เลยทีเดียว ผู้บริหาร ผู้ปกครอง อยากทำมาก ทหารพม่าก็ต้องการย้ายมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ออกจากกรุงย่างกุ้ง เพราะมันเป็นหนามยอกอก ย้ายไม่ได้ก็ปิดมันเสียเลย มหาวิทยาลัยในอินโดนีเซียก็ถูกย้ายออกไป มหาวิทยาลัยนันยางในสิงคโปร์ก็ถูกลี กวน ยู ปิด เพราะมหาวิทยาลัยเป็นตัวจุดประเด็นความคิดทางการเมืองอยู่เสมอ เป็นที่บ่มเพาะความคิดเสรี ความคิดอิสระ มหาวิทยาลัยที่มีกิจกรรมนักศึกษามาก ก็ล้วนแต่เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น มหาวิทยาลัยปารีส, มหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์, UCLA,มหาวิทยาลัยลอนดอน เพราะฉะนั้นผู้มีอำนาจจึงมักไม่ชอบมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเมือง กรณีของการย้ายนักศึกษา อาจารย์และกิจกรรมส่วนใหญ่ของธรรมศาสตร์ ไปไว้นอกเมือง อาจเนื่องมาจากแนวความคิดเช่นเดียวกันนี้ก็ได้ เพราะลึก ๆ แล้วคนที่ขึ้นมาเป็นผู้บริหารธรรมศาสตร์ก็คงกลัว ๆ อยู่เหมือนกัน การเป็นผู้บริหารธรรมศาสตร์ ก็เหมือนกับนั่งอยู่บนภูเขาไฟ ธรรมศาสตร์อาจจะไม่มีอันตรายทางการเมืองนัก ในวิธีคิดของคนบางคนถ้าหากว่าถูกย้ายไปอยู่ไกล ๆ

“การย้ายไปอยู่รังสิตยังเป็นการทำลายจิตวิญญาณ ความเป็นธรรมศาสตร์อีกด้วย ที่ตรงนี้เป็นที่เปิดการศึกษาของชาติครั้งแรกในประวัตศาสตร์ ทำให้คนจำนวนมากได้เรียน ได้เลื่อนฐานะ เป็นที่กู้ชาติในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นที่บัญชาการของเสรีไทย ที่ตรงนี้ต่อสู้กับเผด็จการทหาร เป็นระยะเวลายาวนานมาก และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตย กับประชาสังคม ถ้านักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่ได้อยู่ตรงนี้ เขาก็ย่อมจะไม่มีจิตวิญญาณ ความเป็นธรรมศาสตร์ สถานที่มีความสำคัญมาก ในการปลูกฝังความรู้สึกนึกคิด เช่น ถ้าเราย้ายคนไทยไปอยู่อินโดนีเซีย เขาก็ไม่มีความเป็นไทย

“ผู้บริหารชุดปัจจุบันกังวลว่า อาคารที่ได้จากเอเชียนเกมส์จะสูญเปล่า แต่ความจริงมหาวิทยาลัยยังมีโครงการใหม่ ๆ และมีการขยายงานอีกมาก อาคารที่มีอยู่ยังอาจไม่พอด้วยซ้ำ อาคารที่สร้างสมัยเอเชียนเกมส์ จึงใช้ทำอย่างอื่นได้อีกมากมาย อย่าลืมว่าปัจจุบันนี้ธรรมศาสตร์ รับนักศึกษาปีละตั้ง ๕ พันคน จากที่เมื่อก่อนนี้รับเพียง ๑ พันกว่าคนเท่านั้น

“ผมเชื่อว่ามีคนไม่เห็นด้วย กับการย้ายธรรมศาสตร์ไปรังสิตเยอะมาก แต่ว่าระบบการบริหารของมหาวิทยาลัย เป็นการบริหารแบบตัวแทน คือ คณบดี อธิการบดี สภามหาวิทยาลัยประชุมตกลงกันเองแล้วก็จบ โดยอ้างว่าตัวเองได้เสียข้างมากมาแล้ว เช่นเดียวกับพวกนักเลือกตั้ง สส. สว. แต่ผมคิดว่าเรามาถึงระดับที่ต้องมีส่วนร่วมแล้ว การย้ายไปรังสิตนั้น ทำมาตั้งแต่ทศวรรษที่ ๒๕๒๐ แต่ไม่เคยมีการประชาพิจารณ์ ไม่เคยมีการปรึกษาหารืออย่างกว้างขวางเลยว่า คนอื่น ๆ มีความเห็นอย่างไรบ้าง”

.