สนับสนุน

vote support

รศ.ดร.พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ
ผู้ว่าการสถาบันวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย

–>ระบบบริหารคุณภาพ ISO 9002 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ให้องค์กรที่อ่อนแอ บริหารงานโดยไม่มีระบบ หรือมีประสิทธิภาพต่ำ

–>ช่วยให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำลง การส่งออกได้รับการยอมรับ จากต่างประเทศ

–>ISO 9002 เป็นพื้นฐานที่จะสร้างฐาน ทางระเบียบวินัย จึงเหมาะกับคนไทย

–>ค่าใช้จ่าย เพื่อให้ได้ใบรับรองมาตรฐาน ISO น้อยกว่าผลประโยชน์ ที่จะได้รับ

……….

“การที่จะนำระบบมาตรฐานสากล ISO มาใช้นั้นทั้งสังคมจะต้องมีความเชื่อเรื่องคุณภาพ คุณภาพและมาตรฐานเป็นสิ่งจำเป็น ไม่อย่างนั้นไม่มีทางทำให้โลกเจริญ ถ้าเราต้องการให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ปัจจัยสี่ต้องพร้อม หากปัจจัยสี่แพงเกินไปเพราะสินค้าผลิตออกมาน้อยแล้วราคาแพง คนก็ไม่มีทางมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ระบบ ISO 9002 เป็นระบบบริหารคุณภาพที่ช่วยให้งานไม่ซ้ำซ้อน ลดความเสียหาย ลดปริมาณสินค้าย้อนกลับ ช่วยให้ต้นทุนสินค้าราคาถูกลง และทำงานง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ก็เป็นเพียงเครื่องมือขั้นพื้นฐานเท่านั้น โดยหลักการของระบบ ISO ก็คือ “เขียนสิ่งที่คุณทำ ทำในสิ่งที่คุณเขียน และพิสูจน์ให้ได้ว่าคุณได้ทำตามระบบที่เขียนไว้แล้ว” อยู่ที่ว่าคุณเขียนระบบงานไว้ว่าอย่างไรแล้วต้องทำอย่างที่เขียน ตรวจสอบตามที่เขียน องค์กรที่ฉลาด ก็จะเขียนให้มันเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาองค์กร เช่น ขสมก.ก็ควรเขียนว่าจะบริการประชาชนอย่างไร ขับรถอย่างไร รวมทั้งระยะเวลาในการตรวจซ่อมบำรุงรถ ถ้าเขียนเข้มงวดเกินไปหรือลอกของที่อื่นมาเพียงเพราะอยากจะได้ ISO บ้างก็จะไม่เกิดประโยชน์ และอาจเป็นผลเสียต่อองค์กรเอง คุณก็จะได้ ISO แบบห่วย ๆ ไป

เวลาเขียนระบบถ้าคุณต้องการจ้างบริษัทที่ปรึกษาก็ได้ถ้าไม่ต้องการคุณก็ต้องไปศึกษาเอง และก็ต้องเข้าใจด้วยว่า conflict of interest มีอยู่ในทุกเรื่องก็ต้องดูว่าสิ่งไหนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรมากที่สุด อย่างเรื่องรถเมล์ไม่เปิดประตูให้ขึ้นลงตรงไฟแดง ผู้โดยสารก็อาจว่าว่าไม่ยืดหยุ่นแต่แบบนั้นผมคิดว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุ ลดการจราจรติดขัดได้ แล้วเขาก็ต้องเขียนไว้ด้วยว่าจะเปิดประตูรถนอกป้ายต่อเมื่อ เกิดเหตุฉุกเฉิน แต่ถ้าได้ ISO แล้วเขายังจะไม่ยอมจอดป้ายเวลาคนโบกก็คงไม่มีอะไรจะเป็นหลักประกันเพราะนั่นคือคนใช้ ISO ทำผิด

มาตรฐาน ISO จึงไม่ได้หมายถึงคุณภาพของสินค้า คุณอาจทำของออกมาห่วยอย่างสม่ำเสมอก็ได้ ISO ได้ ซึ่งคนซื้อก็ต้องดูอีกทีว่าจะซื้อหรือไม่ แต่ในบางกรณีถ้าไม่ผ่านมาตรฐาน ISO ลูกค้าก็อาจตัดสินใจไม่ซื้อสินค้าตั้งแต่ต้นแล้วเพราะไม่แน่ใจว่าล็อตนี้มาดี ล็อตหน้าอาจไม่ดีก็ได้

ISO เป็นเพียงระบบหรือเครื่องมือซึ่งเราควรใช้ให้เป็น สมัยก่อนผู้ผลิตสินค้าไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานรับรอง ไม่ต้องมีข้อกำหนดเรื่องรูปแบบของสินค้า ทำออกมาก็ขายไปเรื่อย ๆ แต่ตอนหลังก็มีปัญหา เพราะมีผู้ผลิตที่ทำงานเป็นระบบกว่า ถูกกว่า คุณภาพดีกว่า เร็วกว่า ส่งสินค้าตรงเวลากว่า แม้ว่าคุณพอใจจะเป็น SME ไปจนตาย พอวันหนึ่งคุณถูกบีบคุณก็ตาย แต่ถ้าคุณคิดจะขยายตลาดสินค้าคิดจะขายชิ้นส่วนให้เจเนอรัลมอเตอร์ โตโยต้า เขาเรียกร้องว่าต้องมี ISO รับรองก็จำเป็นต้องมี แต่ไหน ๆ ทำ ISO แล้วก็น่าจะให้ต้นทุนต่ำลงมาด้วย โดยการทำให้มีสินค้าเสียหายลดลง งานไม่ต้องนำกลับมาทำใหม่มาก ต้นทุนเวลาของพนักงานก็ลดลงมีเวลาเหลือไปพัฒนาอย่างอื่นให้มันดีขึ้น

ของบางอย่างแม้ไม่ได้ส่งขายต่างประเทศ แต่ก็ช่วยให้มีระบบที่ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน โรงพยาบาล

ประเทศไหนที่อุตสาหกรรมอ่อนแอ วิศวกรไม่พอ เครื่องจักรประสิทธิภาพต่ำ ระบบนี้จะช่วยได้ เช่นประเทศไทยขณะนี้วิศวกรเรามีหนึ่งแสนคน แต่ธุรกิจ SME มีมากกว่าแสนรายจึงไม่เพียงพอ ธุรกิจ SME อ่อนแอฐานของประเทศก็อ่อนแอไปด้วย ผมมองว่าถ้าองค์กรใดไม่มีระบบหรือมีระบบที่อ่อนแอ  แต่การบริหารงานเริ่มเป็นระบบมาตรฐาน ประสิทธิภาพขององค์กรจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ส่วนใครที่แข็งแรงแล้วระบบพวกนี้อาจไม่จำเป็น หรืออาจมีระบบที่ไม่ต้องเสียเงินมากเท่านี้แล้วถามว่าเราแข็งแรงหรือเปล่าล่ะ… ในประเทศไทยตอนนี้เกือบไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่มีระบบที่ดี

ข้อสำคัญอันหนึ่ง คือคนไทยไม่ค่อยมีระเบียบวินัย ISO เป็นพื้นฐานที่จะสร้างฐานทางระเบียบวินัยพอสมควร เพราะการเขียนอย่างที่ทำ ทำอย่างที่เขียนมันก็คือระเบียบวินัยถูกไหม หลายหน่วยงานในประเทศไทยทำงานโดยการถ่ายทอดกันเป็นรุ่น ๆ ซึ่งเกิดการผิดเพี้ยนได้ แต่ระบบ ISO เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อย่างน้อยคนที่เข้ามาจะได้รู้ว่ามีกระบวนการทำงานอย่างไรบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าระบบมาตรฐานที่เขียนไว้นี้เป็นคัมภีร์ที่เปลี่ยนไม่ได้ ถ้าทำให้หน่วยงานนั้น ๆ ดีขึ้นก็สามารถทำหนังสือแจ้งขอเปลี่ยนได้เสมอ

แต่ประเทศไทยตอนนี้เกือบจะไม่มีอุตสาหกรรมไหน ทำ ISO แบบไดัประโยชน์ คนส่วนใหญ่ใช้ ISO โดยคิดว่าหาคนมาช่วยทำยังไงก็ได้เพื่อให้ได้กระดาษมาแผ่นนึง อย่างนี้ถือว่าคนใช้ ISO ผิด ไม่ยอมให้ ISO เป็นสิ่งที่ดีขึ้น

และจะเสียเงินมาก ง่าย ๆ เลยนะ ตอนนี้ประเทศไทยส่งออกอาหารทะเลเป็นอันดับ ๑ ของโลก และเราผลิตเปลือกกุ้งได้จำนวนมาก เปลือกกุ้งนี้เอาไปสกัดสารเคมีซึ่งราคาแพงมากเรียกว่า ไคโตไซด์ แต่เราทำแล้วไม่ได้คุณภาพ เนื่องจากใช้ ISO เป็นยันต์กันผีใช้แค่เป็นแผ่นกระดาษ

แล้วเราเข้าใจผิดว่าในองค์กรขนาดใหญ่ ส่วนงานแต่ละส่วนต้องได้ ISO แต่ผมขอเสนอให้ส่วนงานต่าง ๆ ขององค์กรอยู่ภายใต้ ISO อันเดียวกัน ถ้าเรามีโรงงานสิบแห่ง แล้วขอ ISO ทั้ง ๑๐ โรง ค่าใช้จ่ายจะสูงมาก เราสามารถทำแค่โรงแม่โรงเดียวเป็นตัวคุม แล้วทำเสริมโรงอื่น ๆ จะทำให้เสียเงินน้อยลง และทำให้รู้จักทำงานเป็นทีม มีความผูกพันธ์กันในแต่ละโรงงาน เพราะหากโรงใดโรงหนึ่งไม่ได้ต่อ ISO โรงอื่นก็พลอยเจ๊งไปด้วยทั้งหมด

เราควรทำให้ระบบ ISO 9002 ได้รับการยอมรับในฐานที่ต่ำลงมาหรือราคาถูกลง แล้วทำประโยชน์จากมันให้ได้จริง ระบบเหล่านี้จะเวิร์กและมีประสิทธิภาพเสมอ แล้วก็ต้องให้มีบริษัทที่ได้ ISO มากๆ จนเป็นเรื่องปรกติ ให้ผลิตสินค้าแข่งกัน ถ้ามีน้อยเกินไป ISO จะกลายเป็นของวิเศษิอาจตกเป็นเครื่องมือของการแบ่งเกรดกันเองภายในประเทศ

ค่าใช้จ่ายสำหรับใบรับรองมาตรฐาน ISO เป็นเงิน ๒ แสนบาทต่อปี และเสียค่าใช้จ่ายอีกจำนวนหนึ่งทุกครั้ง ที่มีการเข้ามาตรวจ  การตรวจสอบจะมีทุก ๆ ๖ เดือน ถ้าพบว่าไม่พร้อมตามที่ระบุก็ต้องแก้ไขให้ได้ภายในช่วงเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นจะถูกถอนใบรับรอง ซี่งลักษณะนี้ถือว่าดีกับองค์กรเพราะการตรวจสอบอยู่เสมอจะทำให้บุคคลากรเกิดความกระตือรือร้นมากขึ้น

บริษัทที่ปรึกษาเรื่องการวางระบบทำงานเพื่อให้ได้มาตรฐาน ISO ไม่ใช่ว่าต้องจ้างฝรั่งเท่านั้น ของคนไทยที่มีคุณภาพดีก็มีบ้างและแนวโน้มในอนาคตก็น่าจะเพิ่มขึ้น เพราะเราได้เรียนรู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาพอสมควร แต่ตอนนี้เราเริ่มต้นจ้างบริษัทที่ปรึกษาของฝรั่งบ้างก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะถ้าเสียค่าจ้างไป ๑ ล้านบาทแล้วองค์กรนั้นทำถูกต้องตามระบบ ที่เขียนไว้ทำให้ปรับลดค่าใช้จ่ายได้ถึง ๒ ล้านบาทก็ถือว่าได้ประโยชน์ ถ้าปรับปรุงได้ ๒ แสนบาทก็ขาดทุนไป

ประเทศไทยเราเวลามีเรื่องกับต่างประเทศ มักร้องแรกแหกกะเฌอว่าคนอื่นแกล้งแต่เราไม่เคยปรับปรุงตัวของเรา ว่าทำยังไงจึงจะให้สู้เขาได้ คือในโลกอนาคต มันไม่ใช่ใครแกล้งใครหรอก เราต้องพร้อมจะสู้ในฐานที่เท่ากัน ไม่เช่นนั้นจะเสียเปรียบ

เรื่องนี้ถ้าเรายอมให้ฝรั่งหลอกเราก็ถูกหลอก ถ้าเราไม่ให้หลอกก็ไม่ถูกหลอก สมมุติว่าฝรั่งมาตั้งโรงงาน เพื่อหวังแรงงานราคาถูก แล้วภายหลังก็ย้ายฐานการผลิตไปยังที่ใหม่ ถ้าโรงงานนั้นมีระบบ ISO ผมว่ามีสิทธิ์ที่คนไทยจะทำได้เอง เพราะมันรู้ว่าทำอย่างไร ของทุกอย่างมันเป็นดาบสองคม แล้วแต่ว่าเราจะใช้ประโยชน์ของมันจากส่วนไหน”

คัดค้าน

vote object

รศ.ดร. ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

–>ไม่ปฏิเสธว่ามนุษย์ต้องมีมาตรฐาน คำถามเชิงรัฐศาสตร์คือว่า ทำไมจึงเป็นมาตรฐานชุดนี้ชุดเดียว

–>ISO คือมายาคติในโลกที่ถูกจัดระเบียบ โดยภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เป็นระบบของอำนาจ ซึ่งปิดบังซ่อนเร้น สิ่งที่ต่างจากมาตรฐานเอาไว้

–>ขบวนการจัดมาตรฐาน จะทอนทุกอย่างลงมาเป็นเชิงปริมาณ ทำให้สูญเสียความละเอียดอ่อน และความสลับซับซ้อนไป เนื่องจากมีช่องว่าง ระหว่างตัวที่ต้องการวัด กับสิ่งที่ใช้วัด

–>เครื่องหมายมาตรฐานสากลที่กำกับตัวสินค้า ไม่ได้ช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงิน เพราะไม่ได้ลดการบริโภค แต่กลับสร้างอุปสงค์เทียม ให้เกิดการบริโภค

……….

“ผมไม่มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับ ISO เข้าใจว่าเป็นระบบเกี่ยวกับอะไรสักอย่างที่ช่วยสร้างมาตรฐานสากล วิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดแบบสมัยใหม่ที่มีมาตรฐานชุดเดียว มาตรฐานแบบเดียวกันที่สามารถพบได้ทุกแห่งโดยมีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเป็นวิธีคิดหลักสามารถนำไปใช้ที่ไหนก็ได้

กระบวนการทำให้เป็นสากลถ้าพูดแบบภาษาหลังสมัยใหม่ (postmodernism) คือกระบวนการทำให้เป็นชายขอบ หรือทำให้เป็นอื่น ขณะเดียวกันกระบวนการมาตรฐานทุกชนิด จะเก็บกด ปิดกั้นสิ่งที่ไม่เหมือนกับมาตรฐาน เนื่องจากการกำหนดมาตรฐานเป็นการแบ่งประเภทระบบการจัดประเภททุกชนิด เป็นระบบของอำนาจ เราจะบอกว่าอะไรควรจะอยู่อะไรไม่ควร ยกตัวอย่างใกล้ ๆ ตัว เช่น ความเป็นไทย/อะไรที่ไม่ใช่ไทย… เป็นอะไรที่กำกวมมาก

คำถามปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่ว่าจะต้องมีมาตรฐานไหม เราไม่ปฏิเสธว่ามนุษย์ต้องมีมาตรฐาน คำถามเชิงรัฐศาสตร์คือว่าทำไมเป็นมาตรฐานชุดนี้ไม่ใช่ชุดนั้น เป็นชุดนี้แล้วใครได้ประโยชน์ เราจำเป็นต้องมองมาตรฐานสากล ให้เป็นเรื่องของการเมือง เรื่องของอำนาจ เช่นอำนาจของวิทยาศาสตร์-การสร้างระเบียบ กฏเกณฑ์ว่าอะไรคือวิทยาศาสตร์ อะไรไม่ใช่ ดังที่เราแบ่งแยกผู้ชาย/ผู้หญิง ผู้ชายทำอะไรได้บ้าง ผู้หญิงทำอะไรได้บ้างและทำอะไรไม่ได้ อำนาจในที่นี้จึงไม่ได้หมายถึงอำนาจของใครโดยเฉพาะ แต่เป็นอำนาจของระบบ ระเบียบ

ขอยกตัวอย่างจากแนวคิดของนักวิชาการชื่อ โรล็องด์ บาร์ตส์ ISO ก็คือมายาคติ หรือ myth อย่างหนึ่ง พูดให้ซับซ้อนน้อยที่สุด มายาคติคือภาษาชนิดหนึ่งแต่เป็นภาษาที่วางอยู่เหนือภาษา เรียกว่า metalanguage อย่างเวลาเราได้ยินคำว่า ISO เลขอะไรผมก็ไม่รู้นะ ความหมายของภาษาคือ การประกันคุณภาพ ควบคุมคุณภาพ คือดีตลอด เหมือนเวลาได้ยินคำว่าการพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โลกาภิวัฒน์

ส่วนภาษาชุดที่สอง หรือในระดับของมายาคติ คือสิ่งที่ ISO ปิดบังซ่อนเร้น เบี่ยงเบนความสนใจไปจากเรื่องของความแตกต่าง มาตรฐานชุดเดียวทำให้ความแตกต่างกลายเป็นศัตรู ที่ชั่วร้ายต้องกำจัดออกไป เนื่องจากเป็นภัยคุกคามต่อ “มาตรฐานสากล”

มาตรฐานชุดนี้ไม่ได้ผ่านการพิสูจน์หรือแข่งขันจนชนะคนอื่น หากเป็นการใช้อำนาจเข้ามาครอบงำผ่านกระบวนการศึกษา ผ่านสื่อต่าง ๆ เราทำได้สองอย่างคือสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง เขาให้ QC คุณก็ QC เขา good governent คุณก็ good governent แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่มีภูมิปัญญา ผมคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมมีภูมิปัญญาแต่เราไม่มีอำนาจต่อรอง อีกอย่างหนึ่งคือเราไม่เคยถามว่า มายาคติชุดนี้มีปัญหาอย่างไร วิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดแบบแยกขั้วเป็นขั้วตรงข้าม ชาย/หญิง, ซ้าย/ขวา, ดี/เลว มันอันตรายตรงที่ว่า แยกข้างหนึ่ง ชูข้างหนึ่ง ระบบมาตรฐาน ISO ก็เหมือนกัน ถ้ามองแบบหลังสมัยใหม่ก็คือระบบของการปิดกั้นกีดกันนั่นเอง

มองแบบการเมือง เราถูกทำให้มองว่ามาตรฐานสากลนั้นเป็นธรรมชาติ วิถีชีวิตแบบนี้เป็นธรรมชาติ โลกกาภิวัฒน์ก็เหมือนกัน เมื่อเป็นธรรมชาติแล้วเราจะไม่ตั้งคำถาม ไม่สงสัย เช่นทำไมธรรมชาติผู้หญิงจะต้องยอมผู้ชาย เราไม่เคยถามเลยว่านี่เป็นกรอบความคิดที่ผู้ชายสร้างขึ้นมาเพื่อกดผู้หญิง สิ่งนี้ไม่ใช่ธรรมชาติ ไม่ใช่สัจธรรม แต่เป็นประดิษฐกรรมทางสังคม ตรงนี้สำคัญมาก

เราจำเป็นต้องชี้ให้เห็นว่า ISO มีบทบาทหน้าที่ทำอะไร ? คือการจัดระเบียบโลกแบบหนึ่ง เพียงแต่ว่าโลกหลังยุคสงครามเย็นกับยุคสงครามเย็นไม่เหมือนกัน ยุคสงครามเย็นการจัดระเบียบโลกคือ การเมืองที่แยกซ้าย/ขวา โลกหลังยุคสงครามเย็นที่เราใช้ว่ายุคโลกาภิวัฒน์ เงื่อนไขของการจัดระเบียบตกอยู่กับภาคธุรกิจอุตสากรรม จึงมี WTO, NAFTA อะไรมากมาย ซึ่งมาตรฐานสากลนี้ท้าทายสิ่งที่เรียกกันว่า อำนาจอธิปไตยของรัฐ เพราะมันเข้ามาเปลี่ยนเข้ามาจัดการกิจการภายในของรัฐ

ซึ่งจริง ๆ แล้วโลกก็ไม่ใช่อยู่นิ่งๆ ให้เกิดการจัดระเบียบแต่มีขบวนการต่อต้านมีชื่อแปลเป็นไทยว่า “ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัฒน์” ซึ่งผมไม่ชอบชื่อนี้ เพราะทำให้ถูกประณามว่าเป็นพวกขวางโลก แล้วพวกนั้นก็ชาญฉลาด ที่จะปิดฉลากพวกที่เคลื่อนไหวต่อต้านว่าขวางโลกเป็นพวกผู้ไม่หวังดี และไม่เห็นด้วยกับกระแสการเปลี่ยนแปลงโลกที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ เป็นคนกำหนดกฏเกณฑ์ผ่าน WTO

ในความคิดของผม ISO ก็เป็นภาษาแบบหนึ่ง เวลาเข้าสู่โลกค้าขายจะคุยกับใครให้รู้เรื่อง ก็ต้องคุยด้วยภาษานั้น แต่ภาษาไม่ได้เป็นเครื่องมือของการสื่อสารแต่มาพร้อมกับวัฒนธรรม มองแบบหลังสมัยใหม่ คือภาษาของ ISO สร้างโลกเฉพาะแบบขึ้นมาเป็นระบบหนึ่ง รวมทั้งสร้างอาชีพใหม่คือองค์กรรับปรึกษาเพื่อให้ได้ ISO ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

เราอยู่ในโลกซึ่งเน้นวิทยาศาสตร์เชิงกายภาพที่ให้ความสำคัญกับตัวเลข ปริมาณที่วัดได้จับได้ เวลาเราจัดมาตรฐานจะวัดเชิงปริมาณเป็นหลัก เราเอาคุณภาพของสินค้าของสังคมมาทอนโดยใช้ดัชนีชั่งตวงวัด หรือทอนทุกอย่างให้เป็นเชิงปริมาณ ขบวนการเหล่านี้ทำให้สูญเสียความละเอียดอ่อน และความสลับซับซ้อนไปหมด ตัวอย่างเช่น การวัดประชาธิปไตยในเมืองไทยโดยดูจากตัวเลขประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกัน หรืออย่างล่าสุด เอกสารระเบียบคณะกรรมการป้องกันทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการตอบแทนผู้ทำคุณงามความดีในการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ.๒๕๔๓ แยกการทำคุณงามความดีเป็นชั้นดีเยี่ยม คือสามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ระดับ ๑-๔ หรือเทียบเท่า ๑๐ คนขึ้นไป ระดับ ๕-๗ หรือเทียบเท่า ๓ คนขึ้นไป ถ้าเอาระบบนี้มาใช้กับมหาวิทยาลัย โดยกำหนดให้อาจารย์ต้องเขียนตำราปีละ ๒ เล่ม ตำราแต่ละเล่มก็ไม่เหมือนกัน นี่เป็นข้ออ่อนของวิธีคิดแบบนี้ การทอนทำให้เราสูญเสียรายละเอียดหลายอย่างเนื่องจากมีช่องว่างระหว่างตัวที่เราต้องการวัดกับสิ่งที่ใช้วัด

โดยส่วนตัวผมก็อยากให้องค์กรมีระเบียบ  แต่ต้องถามต่อว่ามีระบบระเบียบแล้วจะทำอะไรต่อไป ในกรณี ISO 9002 คือมีระเบียบแล้วผลิตได้มากขึ้น ผลิตมากขึ้นแล้วใครได้ประโยชน์ ผลประโยชน์ที่ได้กระจายอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่เราไม่ถามกัน กรณีบอกว่าถ้ามีมาตรฐาน ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ได้บริโภคสินค้าตามที่มาตรฐานกำหนด คำถามก็คือเป็นสินค้าประเภทไหน เราจำเป็นต้องบริโภคไหม ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่สร้างอุปสงค์เทียมด้วยการโฆษณา เราจำเป็นต้องมีโทรศัพท์มือถือเพราะเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องแสดงฐานะ หรือนาฬิกาข้อมือทุกเรือนที่จะบอกความทันสมัย และสื่อความหมายถึงสำนึกเรื่องเวลา วัตถุเหล่านี้ไม่ใช่แค่เครื่องประดับ.. .แต่มากกว่า ครั้งหนึ่งบริษัทซิงเกอร์ คิดว่าจะทำอย่างไรจึงเปลี่ยนคอนเส็ปต์จักรเย็บผ้า จากเครื่องจักร เป็นเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน สินค้าพอมี ISO เราก็ไม่คิดอย่างอื่น จะซื้อเครื่องไฟฟ้า มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ ๕ ก็รีบซื้อเลย เพราะเราเชื่อว่าเป็นการบริโภคเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อประหยัดไฟ ผลคือไม่ได้ลดการบริโภค การบริโภคก็ยังเพิ่มอยู่ดี

ฉลากพวกนี้กลับทำให้บริโภคง่ายขึ้น ตัดสินใจง่ายขึ้น ระหว่างของสองสิ่งมีฉลากกับไม่มีฉลาก แต่สรุปคือเราก็ยังเสพ นี่เป็นเสน่ห์ของทุนนิยม คือต้องการให้เราเสพ ยิ่งเสพเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ที่จริงพวกโฆษณาเขาก็ใส่ ISO ไปในสินค้าเรียบร้อยแล้ว ด้วยฉลาก เช่น ปลอดสารพิษ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เราชนชั้นกลางที่ถูกครอบงำ โดยมายาคติแบบหนึ่งก็จะรีบเสพ

เรื่องการศึกษายิ่งไม่ควรต้องมี ISO เพราะไม่มีอะไรรับประกันว่าครูจำนวนเท่านี้ต่อนักเรียนจำนวนเท่านี้ จะทำให้การศึกษามีคุณภาพ หรือคนไทยจะได้รับรางวัลโนเบล เรื่องระเบียบชั่วโมงสอนของครูก็สามารถทำเองให้มีคุณภาพได้ไม่ต้องพึ่ง ISO ทุกวันนี้โรงเรียนต้องการ ISO เพื่อสร้างความชอบธรรมให้โรงเรียน อีกหน่อยวัดก็ต้องมี ISO ขณะนี้วงการมหาวิทยาลัยก็กำลังพูดถึง QA (การประกันคุณภาพ) กันใหญ่

สรุปคือผมคิดว่าเรื่องมาตรฐานสากลเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน ควรมีมาตรฐานแต่ไม่ควรเป็นมาตรฐานชุดเดียว ถ้าคุณบอกว่าระบบมาตรฐานมีการแข่งขันกันแล้ว ตัวนี้ชนะได้เป็นมาตรฐานสากล อย่างนี้ดีถือว่า politicize แล้วก็อยู่เพียงชั่วคราว ไม่ใช่เรื่องของสัจธรรมหรือเรื่องของธรรมชาติ

ความคิดในเรื่องมาตรฐาน และต้องเป็นมาตรฐานแบบเดียวกัน สามารถพบเห็นได้ทุกสถานที่ทุกเวลาและทุกวัฒนธรรม คือความฝันสูงสุดของมนุษย์เป็นความฝันที่ต้องการจัดระบบ ระเบียบ ควบคุม ขณะเดียวกันทุกยุคทุกสมัยของมนุษย์เช่นกันก็จะมีการต่อต้าน ขัดขืนระบบระเบียบนี้ และนี่คือ “ความเป็นจริง” ของโลกและสังคม

.