เกษร สิทธิหนิ้ว : รายงาน
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ภาพ

vote dam

ละครเรื่องเดิมเปิดฉากอีกครั้ง…

ไม่มีตัวละครใดถอนตัวออกไป ฉากและโครงเรื่องก็ไม่ต่างจากเดิม
“ดงสักงาม” บริเวณที่ถือว่าเป็นหัวใจของผืนป่า ๒๘๔,๒๑๘ ไร่ของอุทยานแห่งชาติแม่ยม จังหวัดแพร่ ซึ่งนักพฤกษศาสตร์ถือว่า เป็นระบบนิเวศแบบป่าสักแห่งเดียวในประเทศไทย คือที่ตั้งของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น- -เขื่อนกักเก็บน้ำขนาด ๑,๑๗๕ ล้านลูกบาศก์เมตร ที่จุดชนวนให้เกิดละครเรื่องยาวนี้ขึ้นมา

เริ่มต้นเมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการศึกษาโครงการผันน้ำกก-อิง-ยม-น่านในปี ๒๕๒๓ โดยมีเป้าหมายในการผันน้ำจากแม่น้ำโขง แม่น้ำอิง แม่น้ำน่านและแม่น้ำกก ลงสู่แม่น้ำยม โดยจะมีเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นเขื่อนศูนย์กลางคอยรับน้ำเกือบทั้งหมด เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เก็บกักน้ำ นำไปใช้ประโยชน์ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในฤดูแล้ง และจะมีการผันน้ำจากแม่น้ำน่านบางส่วน ผ่านอุโมงค์ลงไปสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ที่กั้นแม่น้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์

เขื่อนแก่งเสือเต้นจะทำให้ป่า ๔๐,๖๒๕ ไร่อันเป็นบริเวณ “ดงสักงาม” หัวใจของผืนป่าแม่ยม จมอยู่ใต้น้ำทันที

ต่อมาในปี ๒๕๒๘ กฟผ. ได้โอนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ให้กรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการที่ให้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่

กระทั่งปี ๒๕๓๒ คณะรัฐมนตรีสัญจรที่เชียงใหม่ ได้อนุมัติให้ทำการศึกษาโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ตามที่กรมชลประทานเสนอ โดยวัตถุประสงค์หลักในการสร้างเขื่อน ก็เพื่อพัฒนาระบบชลประทาน ให้แก่ประชาชนในจังหวัดแพร่และสุโขทัย ซึ่งจะมีพื้นที่ชลประทานถึง ๓๐๕,๐๐๐ ไร่ ทั้งนี้ทางกรมชลประทาน ได้ว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการศึกษา และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ภายหลังเปลี่ยนจากเขื่อนผลิตไฟฟ้า มาเป็นเขื่อนเพื่อการชลประทานและป้องกันน้ำท่วม การผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็เกิดขึ้นเป็นระยะท่ามกลางกระแสคัดค้าน ทั้งยังเคยจะมีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ในเดือนกันยายน ๒๕๓๘ เพื่อขออนุมัติ ทั้งที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ

กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ คณะรัฐมนตรีสัญจรที่เชียงใหม่ ในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ก็ได้นำเรื่องแก่งเสือเต้นเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้ง คราวนี้เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนักทั้งจากเอ็นจีโอ นักวิชาการ และชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องถูกอพยพ กระแสคัดค้านเป็นผลให้รัฐบาลมีมติ ครม. ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙ ให้ชะลอโครงการออกไปเพื่อศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ก่อนตัดสินใจว่าจะเดินหน้าหรือยกเลิก

นับจากนั้นเป็นต้นมา ทั้งฝ่ายผลักดันและคัดค้านต่างผลัดกันรุกผลัดกันรับเป็นระยะ โดยต่างฝ่ายต่างหยิบยกเอาข้อมูลและผลการวิจัยต่าง ๆ ขึ้นมาสนับสนุนแนวคิดของตน รัฐบาลเองก็มีมติ ครม. ให้เดินหน้า- ชะลอโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นระยะเช่นกัน ตามแต่สถานการณ์จะนำไป

ฝ่ายสนับสนุนการสร้างเขื่อนชูประเด็นปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง รวมถึงประโยชน์ทางด้านการชลประทาน ที่จะเกิดกับประชาชน ๑๒ จังหวัดท้ายเขื่อน นับแต่จังหวัดแพร่ ไปจนถึงสุโขทัย พิจิตร ฯลฯ

ขณะที่ฝ่ายคัดค้านก็นำผลการวิจัย ว่าด้วยผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแง่ต่าง ๆ มาตอบโต้ ทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ความเสี่ยงอันเนื่องมาจากที่ตั้งเขื่อน ตลอดจนเหตุผลทางด้านสังคม และสิทธิชุมชนของชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบ

ระหว่างความขัดแย้งดำเนินไป หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ทยอยนำเสนอผลงานวิจัยของตนออกสู่สาธารณะ อาทิ

รายงานการสำรวจผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ทางธนาคารโลกได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยมหิดล ทำการศึกษาอย่างละเอียด พบว่า พันธุ์ไม้ที่สำรวจพบในบริเวณที่จะถูกน้ำท่วมมีถึง ๔๓๐ ชนิด (ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของพันธุ์ไม้ทั้งหมด เนื่องจากไม้ล้มลุกส่วนใหญ่ ออกดอกจนโรยหรือเหี่ยวเฉาไปแล้วก่อนที่จะมีการสำรวจ) มีสัตว์ป่าหายากชนิดต่าง ๆ หลงเหลืออยู่หลายชนิด ซึ่งการสร้างอ่างเก็บน้ำ จะปิดกั้นทางเดินของสัตว์ ที่จะไปหากินยังบริเวณที่ราบต่ำภายในอุทยานแห่งชาติแม่ยม นอกจากนี้นกในเขตอุทยานฯ ที่มีอยู่ถึง ๙๖ ชนิดจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะนกยูงทองที่พบได้เฉพาะที่นี่เพียงแห่งเดียว ทั้งยังมีพันธุ์ปลาอีกถึง ๖๘ ชนิดที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน

ทางด้านกรมป่าไม้ก็ระบุว่า หากมีการสร้างเขื่อน ต้นไม้ใหญ่ที่จะถูกทำลายมีกว่า ๒ ล้านต้น แต่ถ้ารวมต้นเล็ก ๆ ด้วยแล้วจะมีมากถึง ๖๐ ล้านต้น คิดเป็นปริมาณถึง ๔๐๓,๘๘๔.๖๗ ลูกบาศก์เมตร ทว่ารายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ทางกรมชลประทานศึกษา กลับระบุว่ามีเพียง ๑๑๒,๒๗๒.๑๙ ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ และอำเภอน้ำก้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ตามมาด้วยปัญหาภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ กระแสการผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็ระอุขึ้นมาอีกครั้งกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยครั้งนี้สื่อมวลชนรายงานว่า “อธิบดีดันทุรัง ชาตินี้ต้องสร้างแก่งเสือเต้น” (ข่าวสด, ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๕)

หลังจากนั้นไม่นาน ดร. คุณหญิง สุธาวัลย์ เสถียรไทย จากสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSE) หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “การประเมินค่าทางเศรษฐศาสตร์ของป่าไม้ : กรณีศึกษามูลค่าที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ของป่าไม้สัก ในอุทยานแห่งชาติแม่ยมจากการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น” ได้ทำการประเมินมูลค่าการใช้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา ๕๐ ปีว่า หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เราอาจสูญเสียประโยชน์ที่ได้จากป่าแก่งเสือเต้น เป็นมูลค่าสูงถึง ๔,๑๒๑ ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับรวมมูลค่าที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ ซึ่งหากคิดในมูลค่าปัจจุบันจะตกเป็นเงินถึง ๒,๑๗๘.๓ ล้านบาท

จากงานวิจัยชิ้นนี้ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการประเมินค่าสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรชีวภาพออกมาเป็นตัวเลข พบว่า ผืนป่าสักในอุทยานแห่งชาติแม่ยม ให้ผลตอบแทนสูงกว่ามูลค่าของการมีเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งทางองค์การอาหารและเกษตร (FAO) และธนาคารโลกประเมินไว้ที่ ๑,๘๐๐ ล้านบาท ประมาณ ๒-๔ เท่า อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังไม่ถูกนำมาใช้ประกอบ ในการพิจารณาความเหมาะสม ของโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๒๐๖ เม.ย. ๒๕๔๕)

………………….

การเปิดฉากอีกครั้งของละครเรื่องเดิมดูไม่ต่างจากที่ผ่านมาเท่าไร ตัวละครแต่ละฝ่ายต่างก็ยึดกุมบทบาท และเป้าหมายเดิม ๆ ของตนไว้อย่างมั่นคง ที่เปลี่ยนไปบ้างคงเป็นข้อมูลและมุมมองใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลา

แต่ที่สำคัญ เรื่องราวของมันดูจะไม่ลงเอยไปง่าย ๆ แม้ว่าละครเรื่องนี้จะเดินเรื่องยืดเยื้อยาวนานมากว่า ๒๐ ปีแล้วก็ตาม

ทว่าผู้ชมอย่างเราก็คงมีหน้าที่ต้องตั้งตารอดูกันต่อไป เพราะละครเรื่องนี้ไม่ใช่ละครธรรมดา หากเป็นละครเรื่องยาว ที่มีป่าสักทองผืนสุดท้ายของประเทศ แหล่งต้นน้ำสำคัญ พันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด รวมถึงชีวิตผู้คนกว่า ๒,๐๐๐ ครอบครัว เป็นเดิมพัน