วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง เรื่อง
ประเวช ตันตราภิรมย์ ภาพ

chak phra 02

ฝนหรือแดดที่กำลังยื้อแย่งกันเป็นเจ้าของเวลายามสาย ไม่อาจขวางกั้นแรงศรัทธาในจิตใจของชาวบ้านทรายขาว พอได้ฤกษ์งามยามมงคล คนทั้งหมู่บ้านก็ร่วมแรงกันลากเรือออกจากวัด ผ่านกลางชุมชน เคลื่อนไปตามทางหลวงท้องถิ่นสายที่ทอดเข้าสู่ตัวอำเภอ

เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดเฉพาะที่บ้านทรายขาว

คนในตลาดลือกันว่าชาวบ้านโคกกอลากเรือพระออกจากวัดมาตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า

เรือพระของหมู่บ้านกะโผะ เคลื่อนจากวัดมะเดื่อทองช่วงสิบนาฬิกา
เรือพระจากวัดนาประดู่ วัดช้างให้ วัดหัวควนธรรมนิคม ก็กำลังมุ่งตามกันมาบนถนนสาย ยะลา-โคกโพธิ์

ส่วนเรือพระจากวัดศรีมหาโพธิ์ และวัดสุนทรวารี จะออกจากวัดตอนหลังเพล ไม่ต้องรีบร้อน เพราะวัดทั้งสองอยู่ห่างจากหน้าอำเภอไม่มาก

รายนามที่กล่าวแล้ว เฉพาะในส่วนของ เรือยอด ตามแบบของท้องถิ่นโคกโพธิ์เท่านั้น ยังไม่นับเรือประเภทอื่นอีก ๖๐ กว่าลำ ที่จะมาร่วมชุมนุมในงานชักพระอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ถนนทุกสายในจังหวัดชายแดนใต้มุ่งสู่โคกโพธิ์

chak phra 03

กลองตะโพนคู่ ที่ดังกึกก้องอยู่ในหมู่บ้านช่วงหลายวันที่ผ่านมา ถูกพาพ่วงติดมากับเรือพระ มากระหึ่มอยู่กลางลานโล่งหน้าที่ว่าการอำเภอ ประชันกับกลองของหมู่บ้านอื่นซึ่งต่างก็นำมาพร้อมกับเรือพระ ยามเมื่อกลองเป็นร้อย ๆ ใบแข่งกันคำราม ความอึกทึกบนพื้นดินสะท้อนสะเทือนไปถึงท้องฟ้า

ความสัมพันธ์ระหว่างกลองตะโพนกับเรือพระนั้นเป็นทั้งดนตรีประโคมและเป็นเสียงควบคุม จังหวะการตีมีอยู่ห้าท่วงทำนอง หนึ่งจังหวะสำหรับบรรเลงขณะเรือจอดอยู่กับที่ ส่วนที่เหลือมีไว้รัวกระหน่ำในยามลากเรือเดิน ให้เรือแล่น ฉุดเรือขึ้นจากหล่ม และให้หยุดเรือ !

ระยะทางราว ๕ กิโลเมตรจากหมู่บ้านทรายขาวถึงตัวอำเภอเป็นทางลาดยาง ทอดออกมาจากตีนเขาสันกาลาคีรีผ่านไปกลางทุ่งราบ จังหวะกลองคุมเรือมาอย่างเรียบเรื่อย ต่างจากเส้นทางไม่กี่ร้อยเมตรจากวัดมะเดื่อทองในหมู่บ้านกะโผะออกมายังถนนใหญ่ ซึ่งขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ เสียงกลองตะโพนเร่งรัวให้จังหวะเมื่อต้องฉุดเรือขึ้นจากหล่ม หรือยามลากเรือข้ามเนิน ส่วนเรือพระจากวัดช้างให้แม้ต้องลากมาไกลถึง ๑๕ กิโลเมตร แต่เป็นระยะทางบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๒ ที่ค่อนข้างสะดวกสบาย การต้องเดินทางไกลและคนลากล้วนเป็นคนหนุ่มๆ บางจังหวะเสียงกลองจึงปลุกเร้าให้คน-ลากเรือวิ่ง !!!

ไม่มีเครื่องยนต์กลไกใดเลย ด้วยแรงแห่งศรัทธาเพียงอย่างเดียวที่ขับเคลื่อนเรือไม้น้ำหนักเป็นตัน เขยื้อนเลื่อนไหลกระทั่งแล่นลิ่วไปบนทางบก ก็สิ่งนี้มันมีอยู่ในตัวคนมาตั้งแต่โลกยังปราศจากไฮเทคโนโลยีโน่นแล้ว

เล่ากันมาเป็นเชิงพุทธตำนานว่า เมื่อกว่า ๒,๕๐๐ ปีที่ล่วงแล้ว ในคราวที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา ครั้นสิ้นสมัยพรรษาจึงเสด็จกลับมายังมนุษยโลกในเช้าตรู่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ พุทธศาสนิกต่างปีติยินดีพากันไปรอรับเสด็จพร้อมเตรียมภัตตาหารไปถวายกันอย่างล้นหลาม มีคนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงพระพุทธองค์ ต้องใช้ใบไม้ห่อภัตตาหารเป็นก้อนเพื่อโยนใส่บาตร

พุทธประวัติตอนนี้เป็นที่มาของประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะในประเทศไทย และประเพณีชักพระของภาคใต้ หลักฐานในบันทึกของพระภิกษุชาวจีนชื่ออี้จิง ที่จาริกผ่านคาบสมุทรมลายูไปศึกษาพระศาสนาในประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. ๑๒๑๔-๑๒๓๘ เล่าความหลังของแผ่นดินภาคใต้ว่า อาณาจักรศรีวิชัยในเวลานั้นมีประเพณีชักพระเกิดขึ้นแล้ว

chak phra 04

ส่วนที่โคกโพธิ์นั้น คนท้องถิ่นเล่าต่อกันมาว่า ประเพณีชักพระเริ่มต้นมาจากการทำพนมหาม ออกรับผลไม้มาถวายพระในวันออกพรรษา ต่อมาผลไม้มีจำนวนมากจนเกินหามจึงเปลี่ยนมาใช้การลาก มีการต่อเติมยอดพนม ตกแต่งด้วยดอกไม้ ใบไม้ท้องถิ่น (ใบสิเหรง) แล้วเรียกชื่อเรือที่ลากไปบนพื้นดินนั้นว่า พนมเรือพระ เป็นสัญลักษณ์ในการจำลองเหตุการณ์ วันคืนสู่โลกมนุษย์ของพระพุทธองค์เมื่อครั้งพุทธกาล การห่อภัตตาหารด้วยใบไม้ในพุทธตำนาน กลายมาเป็นขนมต้มสามมุม ที่ชาวใต้เรียกว่า ต้ม ทำด้วยข้าวเหนียวห่อใบกะพ้อ เอามาแขวนข้างลำเรือในวันชักพระ

คงเป็นความพ้องกาลโดยบังเอิญ ในปีเดียวกับที่มีการอภิวัตน์เปลี่ยนแปลงการปกครองที่กรุงเทพฯ วัดมะเดื่อทอง ในตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ก็ได้มีการปฏิวัติการทำเรือพระ จากวัฒนธรรมใบไม้มาเป็นกระดาษ

เริ่มจากการใช้กระดาษสีเดียวติดยอดพนมเรือยกชั้น มาสู่การใช้กระดาษหลากสีฉีกเป็นริ้วติดทับกัน แล้วพัฒนามาสู่การแกะกระหนกลายไทย-สอดสี

มาถึงสมัยที่พระครูมานิตสมณคุณ หรือหลวงพ่อศรีพุฒ เป็นเจ้าอาวาสวัดมะเดื่อทอง ท่านได้พัฒนารูปแบบเรือพระอีกครั้ง โดยให้ใช้ไม้แกะรูปพญานาค ๒ ตัว ทำเป็นฐานเรือแทนไม้ไผ่ และให้ช่างออกแบบเรือพระใหม่ เป็นเรือยอดทรงสูง มีองค์ประกอบสี่ส่วน

แม่เรือเป็นนาคคู่

ใช้ไม้ตะเคียนต้นโค้งขนาด ๘ นิ้วคูณ ๘ นิ้ว ทำเป็นรูปนาคต้นละตัว แกะส่วนโค้งเป็นส่วนหัวนาค ส่วนตรงเป็นลำตัวตั้งพื้น ปลายหางงอนขึ้น ลายของนาคสองตัวจะไม่เหมือนกัน อาจต่างกันที่ปาก หงอน คาง สื่อความหมายทางเพศสภาพของพญานาค แต่บางวัดนาคทั้งสองละม้ายกันมากจนดูไม่แตกต่าง อย่างนั้นให้ถือตามตำแหน่งที่อยู่ นาคตัวผู้อยู่ข้างขวา และนาคตัวเมียอยู่ทางซ้ายของลำเรือ

ตัวเรือ ใช้ไม้ไผ่สานลายลูกแก้วทั้งสี่ด้าน

บุษบก หรือห้องพระ เป็นที่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป หรือที่เรียกกันว่า พระลาก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ประจำวัด

chak phra 05

และยอดเรือทรงฉิมพลี ใช้กระดาษเงินกระดาษทองแกะกระหนกลายไทยปิดประดับ

ต่อมาต้นแบบเรือพระทรงฉิมพลีของวัดมะเดื่อทอง แพร่ไปสู่วัดสุนทรวารี วัดโรงวาส วัดมะกรูด วัดปุราณประดิษฐ์ ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกัน แต่ทุกวัดต่างก็ลากเรือกันอยู่ในบริเวณหมู่บ้านของตัวเอง ด้วยการร่วมแรงของคนภายในชุมชน

ใช้เชือกหวายเส้นเท่าลำอ้อยคาดท้ายเรือ ขนาบผ่านตัวนาคทั้งสองออกไปทางหัวเรือข้างละเส้น คนลากเรือจับเชือกยืนเรียงแถวไปตามความยาวเชือก จำนวนหนึ่งคอยผลักหัวเรือให้หันไปตามทาง และอีกส่วนหนึ่งแบกไม้ขนาดเล็กกว่าน่อง ยาวกว่าความกว้างเรือเล็กน้อยคนละดุ้น สำหรับวางเป็นไม้หมอนรับเรือ พอเรือเคลื่อนพ้นก็เก็บไปวางดักหน้าอีก ค่อยคืบไปทีละศอกทีละวา เส้นทางลากเรืออาจผ่านไปตามทางเดินในหมู่บ้าน ในทุ่ง ในนา ที่เขลอะหล่มโคลนในช่วงฤดูฝน ระหว่างทางจึงมีการเล่นสาดน้ำสาดโคลนใส่กันไปด้วย เป็นความรื่นรมย์ท่ามกลางไอดินกลิ่นโคลน

ที่หมายของการลากเรืออาจเป็นจุดหนึ่งจุดใดในหมู่บ้านตามที่ตกลงกัน ถึงที่หมายก็ถวายภัตตาหารเพล แล้วลากเรือกลับวัด ร่วมกันสรงน้ำพระพุทธรูป อาบน้ำชำระดินโคลนออกจากร่างกายของตัวเอง

ส่วนจิตใจข้างในนั้นให้ธรรมะช่วยชำระล้าง

จนถึงปี ๒๔๙๐ เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้ง หลังจากหลวงพ่อแดง สุนฺทโร เป็นเจ้าอาวาสวัดมะเดื่อทอง หลวงพ่อเกิดความคิดว่าหากเรือพระของแต่ละหมู่บ้านได้มาชุมนุมในที่เดียวกัน ก็จะเห็นภาพความสามัคคีของชาวพุทธ และยิ่งกว่านั้นอำเภอโคกโพธิ์จะสามารถเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาในจังหวัดชายแดนใต้

วันชักพระปีนั้น เรือพระของวัดต่างๆ จึงได้มาชุมนุมร่วมกันเป็นครั้งแรก ณ บริเวณพลับพลาที่ประทับทอดพระเนตรสุริยุปราคา ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ๔ ปีต่อมา เลื่อนไปรวมกันที่โรงเรียนบ้านโคกโพธิ์ จนถึงปี ๒๕๐๒ ก็ได้ย้ายจุดชุมนุมเรือพระมายังลานหน้าที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ หลังจากทางราชการนมัสการของานชักพระมาเป็นประเพณีประจำอำเภอโคกโพธิ์