เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ณ เกาะยอ…

งานสรงน้ำ “สามสมเด็จเจ้าแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ประจำปีใน “ประเพณีวันว่าง” ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษามีการประดิษฐ์เบญจาใหม่และ ๑ วันก่อนพิธีสรงน้ำชาวบ้านผู้มีฝีมือแกะสลักจะช่วยกัน “แทงหยวก” สลักกาบกล้วยตานีกว่า ๑๐ ต้นประดับเบญจา

น่าสนใจตรงแต่ละขั้นตอนมีที่มา แต่ละสิ่งประดับประดามีเรื่องเล่าจากป่าหิมพานต์

แทงหยวกขึ้นเบญจา ปรัมปราในร่องแกะสลัก

:: วิจิตรศิลป์ตานี ::

ไม่ใช่กล้วยทุกต้นที่เหมาะจะใช้ในงานฝีมือ

แต่ “กล้วยตานี” ยืนหนึ่งเรื่องวัสดุแกะสลัก

นอกจากความกว้าง เหนียว ไม่เหี่ยว เขียวสด มันเงาของใบตองตานีจะถือว่ามีคุณภาพดีสุดเมื่อเทียบกับกล้วยชนิดอื่น “กาบกล้วยตานี” ก็ถือเป็นที่สุดสำหรับใช้ “แทงหยวก”

“คุณสมบัติของตานีคือลำต้นตรง กาบกล้วยที่ยังไม่แก่จะมีสีขาวผ่อง กาบด้านในไม่หนาไม่บางจึงกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ได้นาน เวลานำมาแกะสลักจะไม่เหี่ยวเฉาไม่ดำเร็ว และกาบด้านนอกก็ไม่เปราะแตกง่ายเหมือนพันธุ์อื่นด้วย เอามาอัดไว้ด้านในเสริมความแข็งแรงได้ดี”

ชาวบ้านที่มาอวดฝีมือแกะสลักผสมโรงเล่าข้อดีของวัสดุเอก

tangnguag02

ถึงอย่างนั้นเมื่อทำงานจริงก็ต้องเร่งมือ ยิ่งหน้าร้อนวัสดุธรรมชาติจะเฉาเร็ว พวกเขาแบ่งกลุ่มใช้มีดปาดตัดหยวกจากลำต้น บ้างใช้มีดฟันเลื่อยหั่นหยวกที่หนาหลายชั้น เช็ดยางออกจนลำต้นสะอาด ส่งต่อให้คนถนัดแทงหยวกปักปลายมีดทะลุกาบกล้วย ขยับข้อมือขึ้นลงพร้อมดันมือเดินหน้าถอยหลังตามแบบในใจ ช่างหลายคนไม่ต้องร่างลวดลายบนกาบกล้วยก็จดมีดตวัดได้รวดเร็วและแม่นยำ

tangnguag03

“ศิลปะการแทงหยวกเป็นหนึ่งในงานช่างสิบหมู่ที่นำทรัพยากรท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ ชาวภาคใต้ในแถบนครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง สุราษฎร์ธานี มีลวดลายที่นิยมต่างไป โดยมากใช้ลายกระหนก ส่วนคนสงขลาแถบลุ่มน้ำทะเลสาบนิยม ‘ลายนอ’ ใช้ตกแต่งแนวนอนกับ ‘ลายเสา’ ใช้ตกแต่งแนวตั้ง”

อาจารย์ผู้หญิงจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เสริมรับกับตำราที่ว่าลายในงานแทงหยวกมีสามแบบ คือ ลายไทย ลายธรรมชาติ และลายผสมทั้งสองแบบ จำแนกย่อยได้สี่ลาย คือ “ลายหน้ากระดาน” (ชาวใต้เรียกลายนอ) ลายจะสมดุลทั้งซ้ายขวา กลุ่มที่นิยม คือ ลายลูกฟักก้ามปู ลายประจำยามก้ามปู ลายก้านต่อดอก ลายเครือเถา ฯลฯ, “ลายเสา” ตัวลายจะตั้งให้ยอดของลายอยู่ด้านบน กลุ่มที่นิยม คือ ลายเกลียว ลายก้านขด ลายก้านไขว้ ฯลฯ, “ลายเครื่องประกอบ” (ชาวใต้เรียกลายเครื่อง) เป็นการผสมลายหน้ากระดานกับลายเสาเกิดเป็นลายใหม่ อย่างลายกระจังฟันปลา ลายกลีบบัว ลายน่องสิงห์ ฯลฯ และ “ลายดอกลอย” จะใช้ในการตกแต่งอีกที อย่างลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ ลายประจำยาม ลายช่อกระหนก ฯลฯ

tangnguag04

“คนที่มาช่วยกันวันนี้มาจากหลายอาชีพเลย ทั้งอาจารย์ ช่างเทคนิค ช่างก่อสร้าง ช่างเทศบาล ช่างของหน่วยงานท้องถิ่น แม้ไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลัก แต่ทุกคนล้วนมีฝีมือด้านการเขียนลายไทย”

เมื่อคนหนึ่งแนะนำตน คนต่อไปก็นึกสนุกแสดงตัว เพื่อนแนะนำแทนบ้าง แม้ต่างฐานะทางสังคมแต่พวกเขาร้อยสัมพันธ์กันด้วยคุณค่าฝีมือและประสบการณ์ภูมิปัญญาที่ไม่มีใครน้อยกว่าใคร บรรยากาศของการช่วยงานแทงหยวกแม้เร่งมือจึงยังเป็นไปด้วยเสียงหยอกล้อ ปากสรวลเสขณะที่มือก็ไม่หยุดเดินมีด

“พอแทงหยวกเป็นลวดลายเสร็จ ก็จับคู่หยวกสองอันมาเสียบไม้ประกบกันแล้วสอด ‘กระดาษทองเกรียบ’ กระดาษสีสะท้อนแสงที่ดังกรอบแกรบอยู่นี่ละคั่นกลางหยวกกล้วยไว้ เป็นการรองสีพื้น เวลามองผ่านร่องฉลุหยวกกล้วยจะเห็นสีสันปรากฏตามช่องว่างเสริมให้ลายดูสวยเด่น”

นอกจากพระเอกอย่างหยวกกล้วย พระรองอย่างกระดาษทองเกรียบสีชมพู เขียว และน้ำเงิน รอบข้างเวลานี้ยังมีอุปกรณ์สมทบอย่าง “มีดปลายแหลม” ส่วนตัวเพื่อความถนัดมือ, “ไม้ไผ่” เหลาทำหมุด, “ก้านของยอดลาน” ไว้ทำตอกบิด และอุปกรณ์งานช่างเบ็ดเตล็ดอย่างตะปู ลวด เชือกฟาง เลื่อย ค้อน คีมตัดลวด ตลับเมตร ฯลฯ ยิ่งบ่ายคล้อยลงเรื่อยๆ พวกเขายิ่งเร่งมือแต่ไม่ได้ลน เหมือนยิ่งเร่งก็ยิ่งคล่อง

“มันเป็นหัตถกรรมที่น่าภูมิใจมากนะ และที่สงขลาก็เหลือคนทำเป็นไม่มาก”

:: เรื่องเล่าเบญจา ::

ในที่สุดหยวกที่แทงเสร็จก็ถึงเวลาขึ้นประดับเบญจา

ช่างพื้นบ้านช่วยกันนำหยวกลายเครื่องประกอบต่างๆ เย็บเข้าชุดเป็นแพ ก่อนนำไปติดตั้งกับโครงรอบแท่นพิธีจัตุรมุขที่จะใช้สำหรับสรงน้ำ “สามสมเด็จเจ้าแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” (สมเด็จเจ้าเกาะยอ สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ และสมเด็จเจ้าพะโคะ) โดยใช้หมุดไม้ไผ่ ตะปู หรือวัสดุต่างๆ ยึดชุดแพหยวกไว้ให้ไส้หยวกติดโครงสร้าง พิจารณาจัดวางจังหวะความสมดุล สีสัน ความเป็นระเบียบ ตรงไหนยังไม่สมบูรณ์ก็จัดแจงแทงหยวกลายดอกลอยปิดมุมประกบ หรือประดับด้วยดอกไม้สดเข้าไป แล้วใช้ใบมะพร้าวตกแต่งตามโครงสร้าง หาผ้ามาเสริมแต่งให้โดยรวมออกมาสวยงาม พร้อมอวดสายตาแขกเหรื่อที่จะมาสรงน้ำวันพรุ่งนี้ใน “ประเพณีวันว่าง” ของชาวปักษ์ใต้ที่ตรงกับช่วงตรุษสงกรานต์ของภาคอื่น

tangnguag07

“คำว่า ‘เบญจา’ เป็นคำสันสกฤตที่ใช้ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาจาก ‘มัญจา’ ที่หมายถึงแท่นหรือฐานรองรับสิ่งประเสริฐ เป็นสัญลักษณ์แทนพิมานของเทพสูงสุดบนสรวงสวรรค์ ในทัศนคติของชาวบ้านเบญจาเปรียบดั่งเขาพระสุเมรุบนสวรรค์ จึงมีฉัตรหลายชั้นล้อมเบญจาดั่งภูเขาทั้งหลายที่รายล้อมเขาพระสุเมรุ แวดล้อมด้วยอุบะสวยงามดั่งพืชพรรณนานา แล้วมีการล้อมรั้วไก่ที่มีรูปสัตว์ต่างๆ ในวรรณคดีแทนอาณาเขตป่าหิมพานต์ เบญจาจึงเหมาะจะใช้เป็นปะรำพิธีอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพบูชาขึ้นไปประดิษฐาน สำหรับชาวเกาะยอก็คือสามสมเด็จเจ้าแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลานี่ละครับ”

บุญเลิศ กัณฑลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญประเพณีถิ่นใต้ ชวนสังเกตนัยสิ่งประดับรอบสถาปัตยกรรม

tangnguag08

ความเชื่อนั้นมาจากการที่ชาวพุทธศรัทธาว่าเขาพระสุเมรุบนเนื้อที่เกือบห้าหมื่นกิโลเมตร อาณาเขตโดยรอบนับแสนกิโลเมตร ประดับภูเขากว่าแปดหมื่นยอด และสระน้ำใหญ่เจ็ดสระ เจ๋งสุดคือ “สระอโนดาต” แวดล้อมยอดเขาที่มีความสูงและสัณฐานกินพื้นที่ไพศาล มีตีนเขาเป็นป่าหิมพานต์ ในป่านั้นมากด้วยสรรพสัตว์ประหลาดที่ผสมพันธุ์ต่างสปีชีส์จากจินตนาการมนุษย์…คือที่อยู่ของเทวดา

และยอดเขาพระสุเมรุในป่าหิมพานต์นี้ก็คือที่ตั้งของสวรรค์ดาวดึงส์ จึงจำลองเบญจาดั่งเขาพระสุเมรุที่ตั้งอยู่ในป่าหิมพานต์รายล้อมด้วยเทือกเขาทั้งเจ็ด (เขายุคนธร เขาอิสินธร เขากรวิก เขาสุทัสนะ เขาเนมินธร เขาวินตกะ และเขาอัสกัณ) แต่ละเขาจะเรียงเป็นชั้นๆ (แทนความหมายด้วยฉัตร) ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ และมีแม่น้ำสีทันดรอีกเจ็ดสายคั่นเขาแต่ละเทือก

เบญจาตรงหน้าที่มีการชักระเบียงเชื่อมถึงกันและปักราชวัติ-แนวรั้วเป็นแผงโปร่งกั้นเขตปริมณฑลโดยมีฉัตรปักหัวท้ายแผงจึงผ่านการออกแบบมาแล้วโดยช่างผู้ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากครูบาอาจารย์ทั้งรูปลักษณ์และลวดลายโดยอิงหลักเกณฑ์ตกแต่งที่คำนึงถึงฐานะของผู้ประดิษฐานบนแท่นพิธี สิ่งสำคัญที่ขาดลืมไม่ได้ต้องมีผ้าขาวปูพื้นแท่นพิธี และมีผ้าขาวขึงทั่วด้านบนเป็นเพดาน สื่อนัยถึงที่ประทับเฉพาะกิจที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับสิ่งประเสริฐที่ชาวเกาะยอเทิดทูนสูงสุดตามความเชื่อเรื่องวิมาน ปราสาท ราชวัง

ชาวบ้านที่มาสรงน้ำสามสมเด็จฯ ในประเพณีวันว่างจึงพลอยได้จินตนาการไกล

ว่าตนกำลังเข้าแสดงความเคารพศรัทธาต่อเทพยังวิมานแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

tangnguag09

:: วงศ์วานวันว่าง ::

อย่างน้อยปีละครั้งที่ลูกหลานในครอบครัวจะกลับบ้านพบปะตระกูล

ช่วงก่อนสงกรานต์ชาวบ้านจะรีบเร่งทำงานที่คั่งค้างให้เสร็จ ทำความสะอาดบ้านเรือน แล้วพากันไปวัดวาในชุมชนซึ่งมักจัดกิจกรรมสร้างกุศลและปัดเป่าทุกข์

อย่างที่วัดแหลมพ้อ บ้านสวนทุเรียน หมู่ที่ ๔ ของเกาะยอจะกำหนดวันจัดงาน “ประเพณีห่มผ้าพระนอน” พระพุทธไสยาสน์ปางปรินิพพานองค์ใหญ่ที่สุดในไทย

ปี ๒๕๖๖ มีชาวบ้านมาร่วมทำบุญค่อนข้างหนาตา พากันเขียนชื่อตนและครอบครัวลงบนผ้าจีวรขนาดนับร้อยเมตร ก่อนร่วมขบวนเดินแห่ผ้าไปรอบองค์พระนอนขนาดความยาว ๔๓ เมตร เมื่อเจ้าอาวาสนำเวียนครบสามรอบ กลับมาจบขบวนที่ตำแหน่งพระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา จึงได้สังเกตเห็นฝ่าพระบาทที่มีลวดลายศิลปะของภาพมงคล ๑๐๘ ประการเต็มตา

ญาติโยมช่วยกันส่งผ้าจีวรต่อๆ กันขึ้นไปห่มพาดองค์พระที่นอนตะแคงเบื้องขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย (หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาวางหงายข้างพระเขนย ยากที่ใครจะได้เห็นว่าชื่อของใครได้อยู่ตำแหน่งไหนบนองค์พระ แค่รู้ว่ามีก็อิ่มใจ

tangnguag11

ก่อนตะวันตกดินมีการนำเรือแพที่ให้ชาวบ้านร่วมตัดผม ตัดเล็บ ใส่ลงไป แห่ไปที่ท่าน้ำท้ายวัด

“รู้กันแต่ว่าเป็นประเพณีเก่าแก่มีมานานแต่ไม่รู้ว่าเริ่มเมื่อไร ผู้เฒ่าชาวเกาะยอเล่าว่าเกิดมา ๗๐ กว่าปีก็มีประเพณีนี้แล้ว การลอยแพสะเดาะเคราะห์จะทำขึ้นเพื่อปัดเป่าเอาความทุกข์ ความโศก โรคภัยไข้เจ็บ สิ่งชั่วร้าย สิ่งไม่ดีออกจากหมู่บ้าน ระหว่างพิธีกรรมที่พระสงฆ์สวดให้พร สวดสะเดาะเคราะห์ให้คนทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านก็จะตัดเล็บมือ เล็บเท้า ผม เสื้อผ้า ใส่ลงไป”

ดอกเตอร์โชติกา รติชลิยกุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ฐานะภาคีผู้ร่วมจัดงานกับวัดแหลมพ้อเกริ่นถึงประเพณี

“สมัยก่อนยังมีการใส่ขมิ้น หัวหอม พริก ข้าวสาร น้ำ และเงินลงไปในตัวแพที่ทำจากหยวกกล้วย หลังคาทำจากใบมะพร้าว ในแพจะมีรูปนายเภาเรือแกะสลักจากไม้ ถือตีนแจวและไม้พายอยู่ท้ายเรือ เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีให้พร สวดสะเดาะเคราะห์เสร็จ ชาวบ้านจะนำเรือแพไปลอยทะเล ภายหลังพิธีนี้หายไป เมื่อช่วงปี ๒๕๖๐ ทางท้องถิ่นเกาะยอจึงร่วมกันรื้อฟื้นประเพณีโบราณของคนเกาะยอให้กลับมาอีกครั้ง นำมาสู่การจัดงานประเพณีแห่ผ้าห่มพระนอนพร้อมลอยแพสะเดาะเคราะห์ในครั้งนี้”

ขณะขบวนหามเรือพากันเดินไปท่าน้ำท้ายวัด นำโดยพระสงฆ์และชาวบ้านต่อแถวยาวไม่แพ้ตอนห่มผ้าพระนอน มีการร้องรำทำเพลงประกอบเครื่องดนตรีดีด สี ตี เป่า กันอึกทึกสนุกสนาน

เท้าความกันสนุกๆ ประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์อาจเทียบเคียงกับ “กำเนิดโนรา” ตำนานของชาวปักษ์ใต้ ที่ “พญาสายฟ้าฟาด” เจ้าเมืองบางป่าแก้วมีภรรยาคือ “นางศรีมาลา” และธิดา “นางนวลทองสำลี” คืนหนึ่งเทวดาเข้าฝันสอนธิดาให้รำโนรา ๑๒ ท่า พร้อมบอกเครื่องประโคมดนตรีเสร็จสรรพ นางก็จดจำและรำได้สวยงามตามเทวดาสอน ไม่นานจากนั้นนางไปอาบน้ำที่ลำคลองแล้วเก็บดอกบัวกิน เป็นเหตุให้ตั้งครรภ์อย่างอัศจรรย์ พญาสายฟ้าฟาดโกรธเคืองที่ลูกสาวประพฤติตนเป็นหญิงชั่ว เป็นกาลกิณีบ้านเมือง จึงจำเป็นต้องขับออกจากเมืองโดยให้จับใส่แพล่องทะเลไปตามยถากรรม

นัยของการลอยแพจึงเป็นการขับเสนียดจัญไร-อัปมงคลให้พ้นจากตัวผู้ลอย

แม้เรือในแบบของวัดแหลมพ้อจะไม่ได้ทำจากหยวกกล้วยมุงหลังคาจากใบมะพร้าวอย่างแต่ก่อน และในลำเรือนอกจากผม เล็บ หรือสิ่งที่อยากสะเดาะ ก็ปรับเป็นใส่ดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อบูชาพระแม่คงคาผู้รักษาน้ำตามสมัยนิยมแทน ขอให้ท่านช่วยนำเคราะห์ร้ายให้พ้นไปจากเจ้าของและบ้านเมือง

และไม่ได้ปล่อยเรือล่องทะเลสาบสงขลาไปตามยถากรรม…

ลอยพอเป็นพิธีสักเดี๋ยวก็มีคนว่ายน้ำนำเรือกลับเข้าฝั่งเพื่อไม่ให้เป็นขยะในทะเล คงไว้แต่สิ่งที่เป็นสิริมงคลต่อจิตใจ เตรียมขวัญรับ “วันว่าง” ช่วงสงกรานต์ในวันถัดไป

“คนภาคใต้ตอนกลางกับตอนล่างไม่มีประเพณี ‘สงกรานต์’ ที่หมายถึงการ ‘เคลื่อนย้าย’ ดวงดาวจากราศีมีนสู่เมษ คนใต้เราให้ความสำคัญกับ ‘ตรงกลาง’ ที่เป็น ‘ความว่าง’ เชื่อว่ามนุษย์มีเทวดาประจำราศี เมืองก็มีเทวดาผลัดมาอารักษ์ เมื่อราศีหนึ่งกำลังเคลื่อนไปขณะที่อีกราศียังมาไม่ถึง ภาวะรอยต่อตรงนั้นจึงว่างจากผู้ดูแล เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดเหตุร้ายยามไร้ผู้คุ้มครองจึงกำหนดให้ผู้คนว่างจากงาน งดเดินทางไกล งดออกทะเล แล้วทำบุญให้จิตว่างจากกิเลส บางคนจึงเรียกประเพณีทำบุญเดือนห้า”

อาจารย์บุญเลิศ-ผู้เชี่ยวชาญประเพณีถิ่นใต้อธิบายรูปแบบของงาน

วันแรกของสงกรานต์ที่รัฐบาลกำหนดเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน ในประเพณีวันว่างจะมีพิธี “รับเทียมดา” ส่งเทวดาเดิม-รับเทวดาใหม่ประจำเมือง ทั่วสงขลาจะพร้อมใจจัดงานบวงสรวง

ที่เกาะยอนอกจากจะมีจัดตามวัดในชุมชนยังมีจัดที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา พิเศษตรงอัญเชิญรูปเคารพ “สามสมเด็จเจ้าแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” (สมเด็จเจ้าเกาะยอ สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ และสมเด็จเจ้าพะโคะ) จากในพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยามาประดิษฐานบนเบญจาให้ชาวบ้านได้สรงน้ำ

ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และที่ยาใจสำคัญยามเกาะยอว่างเทพารักษ์

วันว่างสำหรับบางครอบครัวอาจเหงามากเกินไปหากไร้วงศ์วานกลับมาเยี่ยมเยือน

สิบห้าปีมานี้สถาบันทักษิณคดีศึกษาจึงจัดให้มีกิจกรรมรดน้ำขอพรผู้สูงอายุไปด้วย ชายหญิงวัยหลังเกษียณชาวเกาะยอหลายรายจึงได้แต่งกายสวยงามด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับใหม่ๆ มานั่งเป็นมิ่งมงคลให้พรประเสริฐแก่ลูกหลานเกาะยอบ้านเดียวกัน รับ-ส่งความสุขให้กันและกันในวันปีใหม่

เพราะแม้ขวัญจะเป็นสิ่งไม่มีตัวตน แต่เชื่อกันว่ามีอยู่ประจำชีวิตของทุกคนตั้งแต่เกิดมา

ถ้าขวัญอยู่กับตัวก็เป็นสิริมงคล จึงไม่ควรปล่อยให้ใครเสียขวัญ-ว่างจากความรักข้ามปี

tangnguag14

…………………………

หมายเหตุ เรื่องนี้ขยายจากหัวข้อ “สมเด็จเจ้าเป็นศรี” ในบทความเรื่อง ก้าว () ย่างเกาะยอ โดย สุชาดา ลิมป์ นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๔๖๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖

ขอขอบคุณพนัดดา เทพญา นักวิชาการชำนาญการ สถาบันทักษิณคดีศึกษา

ข้อมูลอ้างอิง

กองบรรณาธิการ.(๒๕๕๓). ประเพณีวันว่างภาคใต้. องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ. สงขลา.

ดำรงค์ ชีวะสาโร. (๒๕๕๔). “ศึกษาการแทงหยวกของช่างพื้นบ้านในจังหวัดสงขลา”. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. (ไทยคดีศึกษา). มหาวิทยาลัยทักษิณ. สงขลา.

น. ณ ปากน้ำ. (๒๕๓๐). พจนานุกรมศิลป์ (พิมพ์ครั้งที่ ๓). กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

นิตย์ พงศ์พฤกษ์. (๒๕๕๓). เกาะยอปริทัศน์. ศูนย์สามวัยสานสายใยรักแห่งครอบครัว. สงขลา.

สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. (๒๕๔๒).“หยวก : ในวัฒนธรรมภาคใต้”. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม ๑๗. มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารพาณิชย์. กรุงเทพฯ.