chak phra 06

งานชักพระที่มีอำเภอโคกโพธิ์เป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ จอดเรือสมโภชกันหลายวันหลายคืน เรือพระถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบอีกครั้งในส่วนฐาน จากที่เคยใช้ฝาไม้ไผ่สานลายลูกแก้ว เปลี่ยนมาเป็นโครงไม้เช่นเดียวกับบุษบกและยอดเรือ มีการจัดประกวดแข่งขันการทำเรือยอด มีเรือพระประเภทเรือความคิด และเรือโฟม เข้ามาร่วมด้วย

เรือความคิด เกิดขึ้นในปี ๒๕๐๔ ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นสื่อถ่ายทอดเรื่องราวในพุทธประวัติหรือชาดก ๑๐ ชาติของพุทธองค์ ความวิจิตรในเชิงช่างไม่ละเอียดลออเท่าเรือยอด
ส่วน เรือโฟม เป็นรูปแบบการทำเรือพระของชาวสงขลา เป็นเรือจากนอกพื้นที่อำเภอโคกโพธิ์ มีเข้ามาร่วมงานชักพระโคกโพธิ์ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๒ จนบัดนี้ก็ยังคงมีมาทุกปี ปีละไม่มากลำ
ผ่านมาถึงวันนี้ ประเพณีชักพระโคกโพธิ์กลายเป็นงานใหญ่ประจำปีของจังหวัดปัตตานี เป็นงานที่คนในจังหวัดและพื้นที่โดยรอบรอคอย ลูกหลานคนโคกโพธิ์ไปอยู่ไหนไกลถิ่นจะพากันกลับมาเยี่ยมบ้านในเทศกาลนี้ บรรยากาศของความสนุกสนานและคลื่นขบวนของศรัทธาชนที่หลั่งไหลกันมาร่วมชุมนุม เป็นภาพตราตรึงซึ่งคนที่เคยได้มาเที่ยวงานไม่มีวันลบลืม

สมัยที่บ้านเมืองยังไม่ร่ำรวยงานรื่นเริงเช่นทุกวันนี้ คนใต้เขาถึงพูดว่า “สนุกเหมือนงานชักพระ” เมื่อต้องการบอกเล่าถึงความสนุกล้นเกินคำบรรยาย

อันหนึ่งที่ควรต้องกล่าวด้วย ปัจจุบันงานชักพระโคกโพธิ์ ถือเป็นพุทธประเพณีเพียงหนึ่งเดียวที่ยังยืนยงอยู่ได้ กลางดินแดนของอิสลามมิกชน

เช่นนี้แล้ว คนแห่งคำถามย่อมเกิดความสงสัย–เบื้องหลังความสนุกสนาน และสีสันอันตระการตานั้น มีปัจจัยเงื่อนไขใดค้ำชูอยู่บ้าง เรือพระที่อำเภอโคกโพธิ์จึงแล่นข้ามกาลเวลามาได้เป็นร้อยๆ ปี?

ใต้แผ่นทองคำเปลวที่ปิดอยู่บนองค์พระลาก คงมีคำตอบให้ค้นหา

chak phra 07

หลังเข้าพรรษา วัดต่างๆ จะเริ่มหุ้มกลองตะโพนกันแล้ว ต้องตระเตรียมล่วงหน้าก่อนถึงวันงานค่อนข้างนาน เพราะการทำมีรายละเอียดที่ต้องพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ไม้ที่เอามาทำ “หน่วยโพน” (ตัวตะโพน) ต้องเป็นไม้แข็งเนื้อเหนียว จำพวกไม้ขนุน ไม้พะยอม ผู้เฒ่าบางคนบอกว่าหนังกลองที่ดีควรเป็นหนังวัวหรือควาย ถ้าได้หนังลูกวัวตายในท้องก็จะดี เอามาแช่น้ำข่า รากช้าพลู หมักไว้สัก ๒ วัน ให้หนังอยู่ตัวแล้วค่อยขูดขนออก เอามาหุ้มโพนจะให้เสียงก้องกังวานดีที่สุด เวลาไปตีแข่งกับเขาในวันงานก็ไม่อายกลองตะโพนของวัดอื่น

ครั้นถึงวันงานบุญเดือนสิบ (งานบุญระลึกถึงบรรพบุรุษของชาวปักษ์ใต้) เจ้าอาวาสของวัดแต่ละแห่งมักใช้โอกาสนั้นหารือกับทายกทายิกาเรื่องงานชักพระ ถ้าคนในชุมชนเห็นร่วมด้วย การทำบุญระดมทุนทำเรือพระจะเกิดขึ้นในวันนั้น

หลายปีมานี้การทำเรือพระที่โคกโพธิ์คึกคักขึ้นมาก คนในหมู่บ้านกระตือรือร้นที่จะมีเรือของหมู่บ้านออกไปร่วมเทศกาล มีการช่วงชิงซื้อตัวช่างฝีมือดีมาทำงาน แต่ช่างส่วนมากมักเลือกที่จะร่วมงานกับวัดที่ตนผูกพันมากกว่าเห็นแก่สินจ้าง

ฤดูกาลทำเรือพระปี ๒๕๔๖ ช่างมือเอกอย่าง วิเชียร เภามี จึงยังอยู่กับวัดโคกกอ ตำบลโคกกอ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ฝีมือการทำเรือของเขาไม่ธรรมดา เรือยอดจากวัดโคกกอถึงได้รางวัลชนะเลิศ ๑๓ ปีติดต่อกันมาแล้ว

เช่นเดียวกับ ช่างเจริญ อินทร์วรณะ ซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับช่างวิเชียร เขาทั้งสองเป็นคนบ้านโคกกอด้วยกัน แต่เพราะความนับถือและความสนิทสนมที่มีต่อพระครูไพศาลธรรมสุนทร (หลวงพ่อม็อง) เจ้าอาวาสวัดสุนทรวารี ตำบลบางโกระ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เจริญจึงยอมมาเป็นช่างทำเรือให้แก่ชาวบางโกระ

chak phra 08

ส่วน แคล้ว มณีพรหม ช่างอาวุโสของอำเภอโคกโพธิ์ วัย ๗๕ ปี ช่างเรือประจำวัดมะเดื่อทอง ตำบลกะโผะ อำเภอโคกโพธิ์ ถูกขอให้ทำเรือพระแบบเก่าเพื่อการสาธิตให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก เรือของวัดมะเดื่อทองในปีนี้จึงเป็นเรือพระลำเดียวที่ยังรักษารูปแบบดั้งเดิม (ฐานเป็นฝาไม้ไผ่สานลายลูกแก้ว) เป็นเรือกิตติมศักดิ์ของงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกวด แต่อีกฐานะหนึ่งช่างแคล้วยังมาเป็นที่ปรึกษาให้แก่สองศิษย์เอก อนันต์ ปานทน กับ สุพิศ แว่นแก้ว ช่างเรือของวัดศรีมหาโพธิ์ ซึ่งตั้งอยู่คนละฟากถนนกับที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์

วัดทรายขาวซึ่งเพิ่งเริ่มทำเรือยอดมาเพียง ๕ ปี ได้ช่างมือใหม่แต่ตั้งใจจริงอย่าง นายดาบพิน แก้วทองคง มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เขาใช้เวลานอกราชการอุทิศให้แก่งานศิลป์แห่งพุทธศาสนา ช่างพินบอกว่าการที่ข้าราชการอย่างเขามาทำงานอย่างนี้มีทั้งคนที่เห็นใจและไม่เข้าใจ บางคนคิดว่าเขามารับจ้างทำหารายได้ ผู้บังคับบัญชาบางคนก็ไม่พอใจ ทั้งที่เขาไม่เคยเอาเวลาราชการไปทำเรือ แต่เขารู้ว่าผู้ใหญ่เหล่านั้นมาแล้วไม่นานก็จากไป ต่างกับเขาที่ต้องอยู่ที่นี่ตลอดไป เขาต้องทำงานให้บ้านเกิด ก่อนหน้านี้อาจเพราะตำแหน่งหน้าที่ทำให้ชาวบ้านไม่ค่อยอยากจะคุยด้วย หลังจากมาเป็นช่างเรือคนในหมู่บ้านรักเขา เด็กๆ กล้าเข้ามาเล่นด้วย เขาภูมิใจที่การทำเรือช่วยหลอมรวมความเหนียวแน่นของคนในหมู่บ้าน ได้อนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ได้สืบสานงานช่าง และได้งานมวลชนสัมพันธ์โดยไม่ต้องพึ่งทฤษฎีที่ซับซ้อนอันใดเลย
มนูศักดิ์ ทองมา คนหนุ่มวัย ๓๓ ปี ช่างรุ่นใหม่แห่งวัดหัวควนธรรมนิคม ตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ ก่อนจะมาทำเรือยอด เขาทำเรือประเภทความคิดเข้าร่วมงานชักพระโคกโพธิ์ หลายปีติดต่อกันมาแล้ว หลังเข้าร่วมอบรมช่างเรือยอดที่วัดสุนทรวารี เมื่อปี ๒๕๔๑ ความคิดที่จะทำเรือยอดก็คุกรุ่นอยู่ในใจตลอดมา กระทั่งคืนหนึ่งในงานชักพระโคกโพธิ์เมื่อปี ๒๕๔๔ ช่างเรือชื่อ จอน หนูผล เอาเหล็กขุด (เครื่องมือแกะลายกระหนก) มายัดใส่มือเขา “เอ็งทำเรือยอดเสียทีเถอะวะ” ช่างเรือเฒ่ารบเร้า หลังวันงานผ่านพ้นเขาขับรถไปยังหมู่บ้านโคกกอ พร้อมกับโครงร่างเรือยอดที่เขียนลงในกระดาษไข เอาไปให้ช่างเจริญดู และขอแบบลายกระหนกจากครู แล้วกลับมาลงมือทำเรือยอดทันที ข้ามขวบปีมาถึงเดือน ๑๑ ปีต่อมา เขาก็ได้เรือยอดลำหนึ่งมาร่วมงานชักพระที่หน้าอำเภอโคกโพธิ์