chak phra 09

ความงามอย่างสมบูรณ์แบบของเรือยอด เริ่มตั้งแต่การวางโครงสร้างอย่างได้สัดส่วน จากฐานไล่ขึ้นไปถึงยอดสุด

“โครงเรือต้องเข้ามุม และต้องได้สัดส่วน เรือยอดจึงจะออกมาสวย” ช่างเจริญว่าถึงพื้นฐานเบื้องแรกของการทำเรือ และต่อมา “กระหนกลายไทยที่นำมาปิดต้องวาดและแกะอย่างประณีต การสอดสีต้องรู้จักเลือกใช้กระดาษที่ทำให้ลายกระหนกเกิดมิติ และรู้จักเลือกใช้กระดาษสีที่ดูเด่นทั้งในแสงแดดและแสงไฟกลางคืน และที่สำคัญลายจะต้องอยู่ถูกที่ถูกทาง”
ว่าแล้วก็นำเข้าไปใกล้ลำเรือ ชี้ให้ดูแต่ละส่วนตั้งแต่ฐานล่างขึ้นมา

“ฐานใหญ่ ใช้ลายกระหนกก้านขดหางหงส์ เป็นชั้นที่รับน้ำหนักมากต้องให้ดูหนักแน่น ชั้นที่ ๒ เรียกว่าฐานนรสิงห์ มีลายเฉพาะเรียกว่าลายนรสิงห์ ถัดขึ้นไปเป็นหน้ากระดานลายก้ามปูลูกฟัก
“บัวคว่ำ ใช้ลายกระหนกหางนกยูง ถัดจากบัวเป็น ร่องน้ำ ใช้ลายดอกพิกุลหรือลายตาข้าวพอง ถัดขึ้นไปที่เป็นสันสามเหลี่ยมนั่นเรียกว่า อกไก่ ต้องใช้ลายกระหนกสามเหลี่ยมให้เข้ารูปกับโครง ผมใช้ลายใบไม้เรียง ถัดจากอกไก่ขึ้นไป ร่องน้ำ บัวหงาย และหน้ากระดาน ลายเดิม
“ส่วนต่อจากนั้น คือการทำซ้ำจากร่องน้ำถึงหน้ากระดานอีกชุดหนึ่ง แต่ย่อมุมให้เล็กลง วางต่อข้างบนอีกชั้นโดยมีทับทรวงลายกล้วยเชิงเป็นตัวเชื่อม”

“ทั้งหมดนี้เรียกว่าส่วนฐานใช่ไหมครับ”

“ใช่”
“ขอบคุณครับ เชิญลุงนำดูต่อเลย”

chak phra 10

“หน้ากระดานตัวบนสุดของฐานเป็นรูปหน้าสิงห์ ถัดจากนี้ขึ้นไปจะไม่มีลายนี้อีกแล้ว เพราะมันเป็นสัตว์ จะอยู่สูงกว่าพระไม่ได้”

น้ำเสียงเนิบนาบสะท้อนบุคลิกเยือกเย็นของผู้พูด บนใบหน้ามีรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลา

“ส่วนห้องพระที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่นเป็นซุ้มประตู หรือม่านแกวก”

“คำว่า แกวก หมายถึง แหวก ในภาษากลางหรือเปล่าครับ”

“ใช่ ดูรูปของมันสิ คล้ายกับผ้าม่านแหวกออกให้เห็นพระพุทธรูปที่อยู่ภายใน กระหนกลายไทยในส่วนนี้ใช้ลายกาบไผ่หุ้มเสา บัวรับหัวเสาลายกาบขนุน ส่วนล่างลายก้านส่งดอก ส่วนกรอบม่านแกวกเป็นลายขดสิงห์คาบดอก” ทุกคำพูดของแกหล่นออกมาจากรอยยิ้ม

“แล้วลายของส่วนยอดล่ะครับ”

“เป็นส่วนที่สี่หรือส่วนบนสุดของเรือ มีรายละเอียดยิบย่อยมาก ไล่ดูจากล่างขึ้นไป ได้แก่ ระย้าใต้หลังคา หน้ากระดานลายก้ามปูลูกฟักสองชั้น และมีกระจังตาอ้อยปักอยู่ตามแนวหลังคา ต่อไปมองขึ้นไปบนหลังคา–ลายกระหนกบนนั้นลอกแบบมาจากลายของกระเบื้องดิน มีจับมุมบังมุมลายกระหนกสามตัว และรางมุม (รอยต่อระหว่างหลังคาแต่ละด้าน) ลายครีบนาค ดาดฟ้าลายรดน้ำ หน้ากระดานลายก้ามปูลูกฟักสองชั้น มีกระจังตาอ้อยและกระหนกจับมุมลายหางนาค ถัดขึ้นไปเป็นทับทรวงลายรดน้ำ ร่องน้ำลายร้อยรัก มดตามกันหรือปลาตามกัน ตามแต่จะเรียก อกไก่ลายใบไม้เรียง บัวหงายและหน้ากระดานลายเดิม กระจังลายตาอ้อย แม่เฌอ ที่รับดอกลูกล้อม ๘ ยอด ระหว่างยอดมีจั่วอยู่กลาง ๒ จั่ว หลังจั่วเป็นทับทรวงลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์และก้านส่งดอก ฐานรับยอดเอกเรียกว่าระฆังหงายมีจั่วข้างละหนึ่ง ปากระฆังเป็นหน้ากระดานลายลูกฟัก กระจังตาอ้อยปักบนลายลูกฟัก ทับทรวงของยอดเอกลายกาบขนุน ใช้ทับทรวงสี่ชั้นคั่นด้วยอกไก่สามตัว”

“ลวดลายทั้งหลายที่เอามาใช้ ลุงได้จากไหนครับ”

chak phra 11

“คนเราต่างเดินตามรอยเท้าช้างมาทั้งหมด” ช่างเจริญตอบเป็นปริศนาธรรม ก่อนจะขยายความต่อว่า ช้างที่เดินไปก่อนนั้นหมายถึงบรรพบุรุษของเรา เขาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่ฝากรูปรอยไว้ตามแผ่นผา ผนังถ้ำ บนแผ่นหิน แผ่นปูน เราต้องถอดออกมาให้ได้ เอามาทำสืบต่อ ประยุกต์ พัฒนา และถ่ายทอดให้ลูกหลานรุ่นหลัง ไม่ทำอย่างนั้นเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นก็สูญหายหมด ในชีวิตเขาเคยเป็นครูให้แก่ช่างวัดต่างๆ มาแล้ว ๑๒ แห่ง เวลานี้ศิษย์คนหนึ่งของเขาก็ทำอยู่ที่วัดหัวควนธรรมนิคม

ที่วัดหัวควนธรรมนิคม เรือยอดลำที่ ๒ ในชีวิตของช่างหนุ่มนามมนูศักดิ์วางโครงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว เหลือแต่การประดับตกแต่ง เรามาทันเห็นการทำงานของเขากับพระสงฆ์วัดหัวควน สามสี่รูปที่มาช่วยเป็นลูกมือ

มนูศักดิ์วาดลายลงบนกระดาษขาว นำมาวางทับบนกระดาษทองที่ซ้อนกันอยู่ ๑๕-๓๐ ชั้น แล้วใช้เหล็กขุดแกะลายตามเส้นร่าง เสร็จแล้วก็ใช้กระดาษสี สอดสลับสองสี สามสี หรือมากกว่า ทากาวด้านหลังปิดตามตำแหน่งที่ลายนั้นๆ ควรอยู่

“แล้วนั่น…ใช้กับส่วนไหนครับ” สายตาซอกแซกเหลียวไปเห็นพวงดอกไม้ประดิษฐ์ช่อใหญ่ วางอยู่ในมุมค่อนข้างมิดชิด

“เขาเรียกดอกท้าน เอาไว้ประดับเรือ” มนูศักดิ์ไปหยิบมาดอกหนึ่ง ขนาดของมันเท่าดอกบัวหลวง กลีบดอกทำจากกระดาษทองอังกฤษ แผ่นบาง สีสันแวววาว ก้านดอกเป็นลวดขดสปริง
“ทำไมถึงเรียกดอกท้าน”

“ท้าน ภาษาใต้แปลว่า สั่น ไหว ถ้าในภาษากลางน่าจะเรียกว่า ดอกไม้ไหว เวลาปักอยู่บนลำเรือมันจะเต้นไหวตามแรงสะเทือน” เขายื่นมาให้จับ กลีบดอกท้านแข็งกรอบแกรบเหมือนทำจากแผ่นโลหะ แต่เมื่อถือที่โคนก้านดอกท้านกลับสั่นไหว

มันเป็นเพียงไม้ประดิษฐ์ดอกหนึ่ง แต่โดยสารัตถะแล้วดอกท้านมีบางด้านพ้องพานกับหลายชีวิต

ดูแข็งแกร่งแต่อ่อนไหว