chak phra 12

คืนขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
พุทธศาสนิกชนแถบริมเทือกเขาสันกาลาคีรี จะไปชุมนุมกันที่วัดของหมู่บ้าน

เรือพระต้องเสร็จสมบูรณ์ในคืนนี้

วัดทุกแห่งเต็มแน่นด้วยคนในชุมชน หลายคนอยู่ยาวเป็นกำลังหลักในการทำเรือมาหลายวันแล้ว เหนื่อยนักก็ขอปลีกตัวไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วกลับมาใหม่ บางคนมาพร้อมกับข้าวปลาอาหาร เอามาเลี้ยงคนทำเรือกินกันอิ่มหนำ ความจริงภาพนี้มีต่อเนื่องหลายวันติดต่อกันมาแล้ว แต่คืนนี้ดูจะคึกคักมากกว่าคืนอื่น

หลังไหว้พระเวียนเทียนคืนวันออกพรรษา ทุกคนมาช่วยกันทำเรือ วาดแบบ แกะกระหนก สอดสี ทากาว ปิดลำเรือ ประดับตกแต่ง ฯลฯ ร่วมแรงแข็งขันกันคนละไม้ละมือเหมือนผึ้งงานช่วยกันสร้างรัง

กล่าวกันตามความจริง หากจะนำเครื่องมือสมัยใหม่เข้ามาใช้ งานที่ซับซ้อนด้วยรายละเอียดก็คงจะง่ายและเสร็จเร็วขึ้นมาก แต่ไม่มีใครคิดจะทำอย่างนั้น

เพราะโดยแท้จริง เป้าหมายของการทำเรือพระไม่ได้อยู่ที่ลำเรือ หากอยู่ในโมงยามของการทำงาน ซึ่งคนในชุมชนได้มาใช้ชีวิตรวมหมู่ด้วยกัน งานทำเรือเป็นเงื่อนไขให้คนได้มาพบปะ ความสามัคคีระหว่างพี่น้องร่วมหมู่บ้าน ความสัมพันธ์เกื้อกูลระหว่างบ้านกับวัด การถ่ายทอดข้อคิดวิชาความรู้จากคนเฒ่าสู่ลูกหลาน รวมทั้งการปลูกฝังศรัทธาในเรื่องคุณงามความดี เกิดขึ้นและงอกงามในโมงยามเหล่านั้น

ศรัทธาสามัคคีเป็นพลังที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตา แต่นักต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ของโลกบางคน เชื่อว่ามันสามารถเขยื้อนขุนเขาข้ามมหาสมุทร

chak phra 13

ช่างแต่ละคนตาแดงก่ำ ผมยุ่งเป็นกระเซิง แต่ไร้แววความอิดโรยทั้งที่ไม่ได้หลับนอนมาทั้งคืน

เรือพระของวัดศรีมหาโพธิ์ เสร็จสมบูรณ์ช่วงตีสี่กว่าๆ ครั้นได้ฤกษ์ลากเรือออกจากโรงตอนตี ๕.๕๙ เขาก็ใช้กำลังคนที่มีอยู่ ๑๐ กว่าคน ลากเรือเอาฤกษ์ชัยออกไปจอดใต้ร่มโพธิ์ หน้ารูปปั้นหลวงพ่อแดง

“ให้หลวงพ่อแดงได้เห็นเรือของเราด้วย” ช่างแคล้วพูดเสียงดัง ทุกคนได้ยิน และรูปปั้นหลวงพ่อก็คงได้ยิน

ออกมาอยู่ในที่โล่งแล้ว คนทยอยมาวัดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วยเพ่งพินิจหาจุดบกพร่องเพื่อที่จะได้รีบแก้ไขกันเสีย ไม่ให้หลุดรอดไปถึงสายตาคนนอก

หลังทำบุญตักบาตรเช้า ช่างเรืออาวุโสขึ้นไปโบสถ์ อาราธนาพระลากมาประดิษฐานบนเรือ
เป็นพิธีการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องฤกษ์ยามด้วยเหมือนกัน

“ต้องจุดเทียนส่องดูหน้าพระลากก่อน ถ้าหน้าพระดูขรึมยังยกมาไม่ได้ ต้องคอยจนกว่าจะเห็นยิ้มอิ่มเอิบจึงปลงลงมา โดยฆ้องตีประโคมมาด้วย” ช่างอาวุโสเล่าเคล็ดความเชื่อ

“เมื่อมาประดิษฐานบนเรือ ต้องวางองค์พระให้พอดี หน้าพระต้องพอดีกับหัวเชือก ถ้าตั้งไม่ถูกเรือไม่เดิน หน้าพระก้มต่ำเกินเรือจะลากไม่แล่น แต่ถ้าเงยมากไปเรือจะเร็วจนแล่นทับคน”
เรือพระแล่นเร็วจนทับคน !

ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น แต่เป็นเหตุการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้นแล้ว
ครั้งแรกเกิดกับหลวงพ่อแดง พระสงฆ์ผู้เป็นตำนานแห่งวัดศรีมหาโพธิ์ คราวนั้นท่านเดินอยู่ในขบวนด้วย แล้วพลาดล้มลงโดนเรือแล่นทับ กดร่างหลวงพ่อจมโคลน ท่านบาดเจ็บไม่มาก ครั้งต่อมาเกิดกับชายชื่อพร้อม ปานพิมพเสร ชาวบ้านบางโกระ ชายเคราะห์ร้ายโดนเรือทับบนถนน เขาเสียชีวิตคาที่

เพื่อนบ้านยังคงลากเรือต่อไปจนถึงจุดชุมนุม และพวกเขาคงรู้ว่าในเวลาเดียวกันนั้น วิญญาณดวงหนึ่งของคนบุญก็ได้เดินทางเข้าสู่สรวงสวรรค์

chak phra 14

ชาวบ้านจึงค่อนข้างเคร่งครัดกับการถือฤกษ์ชัย ออกเรือในยามมงคลจะช่วยให้คนลากแคล้วคลาดจากภัยอันตราย และก่อนลากเรือจะต้องไหว้ครูเสียก่อน

เครื่องบูชาในพิธีไหว้ครู ประกอบด้วยข้าว ๑๒ ที่ หมากพลู ธูปเทียน เหล้าขาว และขันน้ำมนต์ ถูกเตรียมพร้อมสรรพ วางอยู่บนแคร่ในโรงเรือของวัดศรีมหาโพธิ์ ช่างแคล้วเรียกเหล่าลูกศิษย์และชาวบ้านที่มารอลากเรือเข้ามาพร้อมหน้ากัน แล้วแกก็เริ่มพิธีสวดมนต์ เชื้อเชิญครูบาอาจารย์รับเครื่องเซ่นไหว้ กรวดน้ำ เสร็จพิธีแล้วศิษย์ก้มลงกราบครู ปู่แคล้วใช้น้ำมนต์พรมให้ทั่วทุกคน

“ได้ครอบครูแล้ว เวลาทำงานตาจะเห็นลายลอยมาไม่ขาดสายเหมือนในจอหนังฉาย” ปู่แคล้วว่าถึงความสว่างไสวในดวงตาช่างที่ได้ผ่านการครอบครู และว่า “ทำงานอะไรต้องนึกถึงครู งานจะคล่อง อุปสรรคจะคลี่คลาย”

จวนได้เวลาลากเรือของวัดสุนทรวารี พ่อเฒ่าแดง จันทร์สว่าง ผู้อาวุโสของหมู่บ้านบางโกระ ร้องขอ “ต้ม” จากปากนาคสองห่อ

เด็กหนุ่มหยิบมายื่นให้ พ่อเฒ่านั่งลงหลังหน่วยโพน แกะห่อใบกะพ้อออก ใช้ก้อนข้าวเหนียวขีดรูปยันต์บนหน้ากลองทีละลูก ลูบลงโอบตัวโพนไว้ในอ้อมแขนแล้วเป่ามนต์ซ้ำบนรอยยันต์ เสร็จแล้วหันมาเรียกหาไม้ตี ใครคนหนึ่งส่งให้ ชายชราอายุเฉียดร้อยหวดไม้ลงบนหน้ากลองสุดแรง เสียงกลองของผู้เฒ่าก้องสะท้อนไปทั้งหมู่บ้าน

“พ่อเฒ่าแกทำอะไร?” เด็กรุ่นใหม่ในหมู่บ้านถามพ่อของเขา
“ลงยันต์กลอง”
“ทำทำไม”
“ให้เสียงมันเข้าหูคน ใครได้ยินคนนั้นก็ชอบ”

chak phra 15

ฝนหรือแดด ที่กำลังยื้อแย่งกันเป็นเจ้าของเวลากลางวัน ไม่อาจขวางกั้นศรัทธาในจิตใจพุทธศาสนิกชนชาวโคกโพธิ์ พอได้ฤกษ์งามยามมงคล ผู้คนแต่ละหมู่บ้านก็ลากเรือของพวกเขาออกจากวัด มุ่งสู่ลานหน้าที่ว่าการอำเภอ ตีกลองตะโพนประโคมและโห่ร้องกันไปตลอดทางอย่างครึกครื้น เรือพระผ่านมาหน้าบ้านใคร คนบ้านนั้นก็จะออกมาช่วยลาก คนในขบวนแห่จะมีทั้งคนหนุ่มสาว หญิงชายวัยฉกรรจ์ ผู้เฒ่าผู้แก่หลังงองุ้ม เด็กเพิ่งรู้วิ่ง รวมทั้งเด็กน้อยที่ยังแนบอยู่กับอกแม่ ทุกคนแต่งกายสวยงาม ใครมีเสื้อผ้าใหม่ เครื่องประดับ ก็เอาออกมาแต่งกันเต็มตัว ยิ่งผ่านทางมาไกล จำนวนคนลากเรือแต่ละลำก็เพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยๆ คน จนบางทีเชือกสองเส้นความยาวหลายสิบเมตรไม่เหลือที่จับ ต้องใช้วิธีเกาะแขนเกาะไหล่กันไป
ในช่วงเทศกาลวันงานชักพระ อำเภอเล็กๆ ริมเทือกเขาห่างไกล รื่นรมย์และสว่างไสวคล้ายกับว่าตัวอำเภอได้กลายเป็นสวนสนุกไปชั่วคราว ทางหลวงแผ่นดินสาย ๔๒ ช่วงผ่านกลางตลาดถูกปิดการจราจรเสียครึ่งซีก เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่ร้านขายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์) หน้าโรงเรียนบ้านโคกโพธิ์เป็นส่วนของสวนสนุกกลางแจ้ง จำพวกชิงช้า ม้าหมุน ฯลฯ ถัดมาเป็นส่วนของร้านค้าเคลื่อนที่ มีตั้งแต่สินค้าทำมือเรื่อยไปจนถึงสินค้าราคาถูกจากโรงงาน ถัดมาอีกเป็นส่วนของโรงมหรสพ โนรา หนังตะลุง หนังฉาย (ภาพยนตร์) ฯลฯ เรื่อยมาจนถึงลานโล่งกว้างหน้าที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ เป็นที่สำหรับจอดเรือพระ หัวใจของงานชักพระโคกโพธิ์