“เราจัดให้เรือพระอยู่โดดเด่นที่สุด” นายอำเภอโยธิน บัวทอง โต้โผงานชักพระโคกโพธิ์ยืนยัน “เพราะนี่เป็นงานชักพระ ต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับเรือพระ”

ตะวันเพิ่งพลบ พระจันทร์คืนแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ยังไม่โผล่จากขอบฟ้า แต่ลานหน้าอำเภอโคกโพธิ์สว่างไสวโดยไม่ต้องพึ่งแสงจันทร์หรือแสงดาว เรือยอดประดับดวงไฟตลอดทั้งลำ สีสันของลายกระหนกเปล่งประกายระยับเด่นทาบฟ้าสีเข้มของยามพลบ ดูคล้ายเวียงวังของทวยเทวาในเทวโลก

ความรู้สึกของผู้คนที่คลาคล่ำอยู่รายรอบก็คงไม่ต่างกับการได้มาเดินอยู่ในสรวงสวรรค์ และดวงหน้าที่แช่มชื่นอิ่มเอิบก็บอกความตามนั้น

คนมาเที่ยวงานชักพระโคกโพธิ์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ชาวพุทธเท่านั้น สังเกตจากเครื่องแต่งกายก็รู้ว่าผู้คนจำนวนหนึ่งเป็นชาวมุสลิม

เทศกาลของความสนุกและความดีงาม ไม่มีแบ่งแยก เรา-เขา

แต่เบื้องหลังสีสันของความสนุกสนานเบิกบานใจก็มีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่ด้วยเหมือนกัน
โดยสัดส่วนประชากรอำเภอโคกโพธิ์มีคนพุทธอยู่ไม่ถึงครึ่ง และโดยภูมิศาสตร์วัฒนธรรมจังหวัดปัตตานีถือเป็นพื้นที่ของชาวมุสลิม ว่าไปแล้วคนพุทธในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือจะเจาะจงเฉพาะที่โคกโพธิ์ก็ตาม ต้องถือว่าเขาเป็นชนส่วนน้อย

chak phra 16

ความพยายามในการดิ้นรนเพื่อรักษาอัตลักษณ์ของตนจึงมีอยู่เป็นธรรมดา

“ไม่เคยมีความแตกแยกระหว่างคนพุทธกับคนมุสลิม เขาอยู่กันอย่างกลมกลืนมาแต่ครั้งอดีต ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามโอกาส ที่นี่คนต่างศาสนาอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันอย่างปรองดองครับ” สภาพการณ์ในท้องถิ่นรายงานจากปากคำของนายอำเภอโยธิน บัวทอง พ่อเมืองโคกโพธิ์

“ทุกวันนี้ประเพณีวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานีมีแต่ของมุสลิม งานชักพระโคกโพธิ์เป็นประเพณีพุทธเพียงหนึ่งเดียวที่มีอยู่ ชาวพุทธถือเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ถ้าเรามัวคิดแก่งแย่งแข่งขันกันแต่เรื่องประกวดเรือ ทะเลาะเบาะแว้งกันเอง ประเพณีชักพระจะล่มสลาย ต่อไปก็จะมีแต่ประเพณีมุสลิม” ชาวบ้านโคกโพธิ์พูดกันทำนองนั้น

ประสบการณ์ ๑๒ ปีที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นในอำเภอโคกโพธิ์ ศศิธร สุวรรณมณี สรุปภาพรวมว่า ในสายตาของเธอ การจัดงานเชิงประเพณีวัฒนธรรมของทั้งสองกลุ่มศาสนิก ไม่มีลักษณะของการแข่งขัน อวดโอ่ หรือเกทับกัน แต่เป็นไปในทำนองของการพยายามรักษาประเพณีของตนเอาไว้ให้ได้ ไม่ให้เล็กลง ไม่ให้หายไป หากต้องให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้น

“ในรอบปีมีงานเทศกาลของมุสลิมอยู่เยอะแล้ว เขาเป็นคนส่วนใหญ่ จะทำอะไรก็ทำได้เลย ทำได้บ่อยไม่ต้องรอวาระโอกาส งานแห่นก แข่งนก อะไรต่างๆ มากมาย จะจัดกันเวลาไหนก็ได้ แต่ประเพณีชักพระต้องรอวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ วันเดียวในรอบปี เราต้องรักษาไว้ให้ได้ ให้อยู่คู่กับอำเภอโคกโพธิ์ เพื่อความหลากหลายของประเพณีในท้องถิ่น”

ทัศนะของพระสงฆ์บางรูป
เพราะเป็นที่หลอมรวมความสามัคคี และความกลมเกลียวเหนียวแน่นในหมู่ชาวพุทธ ชาวบ้านจึงมาร่วมแรงกันอย่างเต็มกำลัง ช่วยกันทำเรือให้สวยงามอย่างไม่มีที่ติ และจัดงานเทศกาลสมโภชกันให้ยิ่งใหญ่พอที่ใครๆ จะจดจำไปเป็นปีๆ หรือหลายปี

คนที่มาเที่ยวดูเรือพระเพียงผิวเผินอาจไม่ทันคิดว่า ลำเรืออันแพรวพราวเลื่อมระยับแลงามตานั้น โดยแท้จริงก็เพียงสัญลักษณ์ที่เปรียบเหมือนเปลือกกะพี้ของต้นไม้

เป็นเรือที่จะนำศรัทธาชนข้ามไปสู่แก่นแกนแห่งพุทธธรรมที่ว่าด้วยอัตตาและภราดรภาพ คือการละวางอัตตาและรักคนรอบข้างได้โดยไม่ติดอยู่กับความแตกต่างทางศาสนา

chak phra 17

ล่วงถึงวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ คนของแต่ละหมู่บ้านจะชวนกันลากเรือพระกลับวัด หลังจากจอดชุมนุมอยู่ใต้แสงแดดและแสงดาว ตากน้ำค้างและน้ำฝนมา ๖ วัน ๕ คืน

ผลการประกวดเรือยอด เรือความคิด เรือโฟม การตีกลองตะโพน ขบวนแห่เรือ ประกาศคำตัดสินแล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา หมู่บ้านที่ได้รางวัลติดมือกลับไปด้วย ขบวนแห่ก็คึกคักยิ่งกว่าตอนมา

แต่แม้ไม่ได้รับรางวัลใด เรือทุกลำก็คงจะหนักกว่าตอนขามา

หนักอึ้งผลบุญที่บรรทุกมาในลำเรือ

ตำนานอีกด้านของงานชักพระเล่าว่า นอกจากเป็นงานบุญออกพรรษา คตินิยมของประเพณีนี้ยังเกี่ยวโยงกับการบูชาฟ้าฝนด้วย

ช่วงวันงานชักพระจะมีฝนตกหนักทุกปี

ไม่วันลากเรือก็กลางงาน
หรือไม่ก็วันกลับ

แต่ยามนั้น ฝนหรือแดดจะเป็นเจ้าของกาลเวลาก็คงไม่มีใครใส่ใจอีกแล้ว บางที ร้อน-หนาวกายภายนอกก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรือนใจในตัวตนต่างหากที่ต้องรู้ระลึกอยู่ทุกขณะจิต

จะปล่อยให้ความดีหรือความชั่ว เข้าครองหัวใจ

เอกสารประกอบการเขียน
สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา พ.ศ. ๒๕๒๙
หนังสือ ฅนเฒ่าเล่าให้ฟัง ประเพณีชักพระโคกโพธิ์ ของ สุชีพ จองเดิม สำนักพิมพ์เหรียญทอง พ.ศ. ๒๕๔๑

ขอขอบคุณ
วัดสุนทรวารี วัดโรงวาส วัดปุราณประดิษฐ์ วัดมะกรูด วัดหน้าเกตุ วัดหัวควนธรรมนิคม วัดช้างให้ วัดนาประดู่ วัดมุจลินทวาปีวิหาร วัดมะเดื่อทอง วัดศรีมหาโพธิ์ วัดทรายขาว
พระครูไพศาลธรรมสุนทร, ช่างแคล้ว มณีพรหม และชาวบ้านกะโผะ, ช่างเจริญ อินทร์วรณะ และชาวบ้านบางโกระ, นายอำเภอโยธิน บัวทอง, คุณสุวิทย์ จันทรจังหวัด, คุณเอกชัย สาหลำ, ช่างมนูศักดิ์ ทองมา, ช่างวิเชียร เภามี, ช่างพิน แก้วทองคง และชาวบ้านทรายขาว, ช่างเขียว หม่นสิทธิ์ และชาวบ้านช้างให้, ช่างอนันต์ ปานทน ช่างสุพิศ แว่นแก้ว และชาวบ้านโคกโพธิ์
ขอบคุณพิเศษ คุณศศิธร สุวรรณมณี และคุณเกษร ช่วยหนู สำหรับความเอื้อเฟื้อและการอำนวยความสะดวกทุกอย่างตลอดการทำงาน

และขอบคุณคุณกุศล เอี่ยมอรุณ และคุณชมภูนุช ฉัตรนภารัตน์ ให้แนวคิดและข้อมูลในการเขียนสารคดีเรื่องนี้