โดย นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

boyfight

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวว่าข้อเขียนในคอลัมน์นี้มักจะพิจารณาปัญหาทางจิตวิทยาของวัยรุ่นภายใต้บริบทของสังคมปัจจุบัน เพราะฉะนั้นหากสนใจจิตวิทยาของวัยรุ่นเพียงคนเดียว ควรเลือกหาหนังสือจิตวิทยาแนวฮาวทูที่สามารถบอกวิธีแก้ปัญหาวัยรุ่นเป็นข้อๆ แต่ถ้าเชื่อว่าวัยรุ่นหนึ่งคนในฐานะสมาชิกของสังคมย่อมไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้    เราจึงควรพิจารณาปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่นและสังคมร่วมด้วยเสมอ

ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้เป็นปลายเดือนธันวาคม ข่าวความรุนแรงที่เกิดจากนักเรียนอาชีวะ ยังอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ ขณะที่ข่าววิวาทะว่าด้วยสัดส่วนของจีพีเอในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยสงบลงด้วยข้อสรุปว่าให้คงสัดส่วนจีพีเอไว้ที่ร้อยละ 5 ตามเดิม

อันที่จริงทั้งสองเรื่องเกี่ยวกันพันกันอย่างแนบแน่น

ทบทวนวรรณกรรมว่าด้วยความรุนแรงที่เกิดจากนักเรียนอาชีวะ ทุกครั้งที่เกิดเหตุนักเรียนอาชีวะตีกัน มาตรการที่ใช้คือจับเข้าค่ายทหาร การจับนักเรียนเข้าค่ายทหารมิใช่ไม่ถูกต้องแต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นมาตรการเชิงอำนาจ นั่นคือใช้อำนาจเข้าแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ข้อเสียของมาตรการเชิงอำนาจคือตัวมันเองเป็นแบบอย่างให้นักเรียนอาชีวะซึ่งนิยมตอบโต้กันด้วยความรุนแรงอยู่แล้วมีความมั่นใจมากขึ้นว่าการใช้อำนาจและความรุนแรงเข้าแก้ไขปัญหาใดๆ (รวมทั้งปัญหาชีวิตส่วนตัว) เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ก็ยอมรับว่าถูกต้อง

ทบทวนวรรณกรรมว่าด้วยคุณค่าของนักเรียนอาชีวะ เป็นที่ยอมรับว่านักเรียนอาชีวะมีภาพลักษณ์ด้อยกว่านิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยมานานหลายปีแล้ว มายาคติที่ครอบงำคนส่วนใหญ่คือนักเรียนอาชีวะเป็นเด็กเรียนอ่อน นิสิตนักศึกษาเป็นเด็กเรียนเก่ง

ที่ถูกต้องควรเป็น นักเรียนอาชีวะคือเด็กที่สอบแพ้ นิสิตนักศึกษาคือเด็กที่สอบชนะ

ประเด็นคือ สมองและสติปัญญาของนักเรียนอาชีวะไม่เคยอ่อนหรือด้อยกว่าของนิสิตนักศึกษา     แต่ที่พวกเขาต้องกลายร่าง (metamorphosis) จากนักเรียนมัธยมเป็นนักเรียนอาชีวะ เพราะพวกเขาสอบแพ้ เหตุที่ใช้คำว่ากลายร่างในที่นี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า ร่างของนักเรียนมัธยมและร่างของนักเรียนอาชีวะไม่ใช่ร่างเดียวกัน ร่างของนักเรียนมัธยมยังไม่มีภาพลักษณ์ของเด็กเรียนอ่อน ร่างของนักเรียนอาชีวะเป็นเด็กเรียนอ่อน

คำถามคือ การสอบทุกชนิดที่เป็นอยู่ในบ้านเราทุกวันนี้  รวมทั้งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดำเนินมานานหลายสิบปีเป็นการแข่งขันที่ยุติธรรมหรือไม่

คำตอบคือ ไม่ อาจจะยุติธรรมเมื่อหลายสิบปีก่อนแต่ตอนนี้ไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว

การสอบแข่งขันที่ยุติธรรมน่าจะหมายถึงการให้โอกาสแก่นักเรียนทุกคนเดินทางเข้าสู่สนามแข่งขันได้โดยอิสระและเท่าเทียม แล้วจึงมาว่ากันเรื่องการแข่งขันที่ยุติธรรม แต่ในความเป็นจริงทุกวันนี้ มิใช่นักเรียนทุกคนในประเทศสามารถเดินทางเข้าสู่สนามสอบแข่งขันได้ดังใจปรารถนา  มีแต่เฉพาะนักเรียนที่คุณพ่อคุณแม่มีฐานะพอสมควรและสามารถเตรียมความพร้อมให้แก่ลูกหลานมาอย่างดีเท่านั้นที่สามารถมายืนที่จุดสตาร์ทได้  ส่วนลูกหลานของคนยากจน คนหาเช้ากินค่ำ ชาวไร่ชาวนา นักเรียนจำนวนเป็นล้านในชนบทและภาคเกษตรกรรม หรือแม้แต่ลูกหลานของข้าราชการชั้นล่างก็ไม่สามารถพาตนเองเข้ามาสู่สนามแข่งขันได้

อุปสรรคที่ขัดขวางนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ให้มาสอบแข่งขันได้ เพราะคุณพ่อคุณ แม่ของพวกเขาไม่มีทั้งเงินและเวลา ไม่มีเงินส่งเสริมการศึกษาหรือให้เขาไปกวดวิชา ไม่มีเวลาที่จะอบรมสั่งสอนให้พวกเขาตั้งใจเรียน   ดังที่รู้กันว่าแม้แต่คุณพ่อคุณแม่เองก็ไม่มีเวลาให้แก่กันและกัน เพราะต่างฝ่ายต้องทำงานหากินตัวเป็นเกลียวเป็นเหตุให้คุณภาพของครอบครัวต่ำลงแล้วซ้ำเติมความตั้งใจเรียนของลูกๆให้ลดลงไปอีก

คำกล่าวที่ว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นการสอบที่ศักดิ์สิทธิ์และยุติธรรมที่สุด จึงเป็นคำกล่าวที่มีความหมายเพียงแคบๆว่าเป็นการสอบที่ไม่มีการทุจริตและไม่มีเส้นสาย  แต่ความยุติธรรมนั้นมิได้กินความถึงกระบวนการคัดเลือกนักเรียนทุกคนจากทั่วประเทศให้เข้ามาสอบอย่างเท่าเทียมกัน

นักเรียนอาชีวะคือผลลัพธ์ของนักเรียนที่สอบแพ้ แพ้เพราะคุณพ่อคุณแม่ของเขาไม่มีเงินอัดฉีดและไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนอย่างที่เราเรียกว่า “well-trained” เด็ก well-trained ไม่เพียงเรียนเก่งเกรดสี่ตลอดแต่ยังรอบรู้ทั้ง ดนตรี กีฬา และคอมพิวเตอร์ มีโอกาสอ่านนิตยสารอย่าง สารคดี อัพเดท  และเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ดังที่ลูกหลานของผู้มีอันจะกินส่วนมากเป็นกัน

มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า ขณะที่มีวิวาทะเรื่องจีพีเอนั้น ไม่เพียงเทคโนแคร็ตทางการศึกษาเท่านั้นที่ออกมาต่อต้านการเพิ่มจีพีเออย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ยังปรากฏข้อเขียนและการให้สัมภาษณ์ของเด็ก well-trained จำนวนมากที่ออกมาชี้ข้อดีของระบบเอ็นทรานซ์ปัจจุบัน และชี้ข้อเสียของการเพิ่มจีพีเออย่างชนิดที่เรียกว่าทำการบ้านมาอย่างดีและมีเอกสารอ้างอิงพร้อม

ไม่มีข้อเขียนหรือความเห็นจากเด็กๆ ในภาคเกษตรกรรม หรือนักเรียนอาชีวะเลย

ในขณะเดียวกันมาตรการนำนักเรียนอาชีวะเข้าค่ายก็มาจากเทคโนแคร็ตทางการศึกษาทั้งสิ้น    เท่าที่สังเกตมีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหานักเรียนอาชีวะตีกันโดยมุ่งเน้นการปฏิรูปการศึกษาให้เท่าเทียมน้อยกว่าน้อย

หากเราเชื่อการทบทวนวรรณกรรมว่าด้วยคุณค่าของนักเรียนอาชีวะ เรื่องที่ควรรีบทำคือ เพิ่มคุณค่าให้แก่นักเรียนอาชีวะ นักเรียนอาชีวะที่รู้ซึ้งถึงคุณค่าของตนเองย่อมไม่คิดสั้นตีรันฟันแทงกันเป็นว่าเล่นแบบไม่มีอนาคตเช่นนี้

เหตุที่พวกเขาตีรันฟันแทงกันเป็นว่าเล่นแบบไม่มีอนาคต เพราะพวกเขารับทราบถึงความต่ำต้อยของนักเรียนอาชีวะและพวกเขารับรู้ถึงอนาคตอันมืดมนหลังเรียนจบอาชีวะ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือนักเรียนอาชีวะรู้ว่าตนเองไม่มีอนาคตตั้งแต่วันที่เข้าเรียนวันแรกแล้ว สำหรับวัยรุ่น การไม่มีภาพลักษณ์ที่ดีและไม่มีอนาคตที่ดีจะทำให้ไม่มีอัตลักษณ์ (identity) ด้วย พวกเขาจำต้องแสวงหาอัตลักษณ์ของตนเอง เจ้ากรรมที่พวกเขาแสวงหาอัตลักษณ์ด้วยวิธีสำแดงอำนาจทั้งของตนเองและของสถาบัน สภาพการณ์เช่นนี้เกินกำลังคุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งเกินกำลังค่ายทหารใดๆจะจัดการแก้ไขได้

มีหนทางเดียวคือเร่งปฏิรูปการศึกษาให้เกิดความเท่าเทียมอย่างแท้จริง

การเพิ่มจีพีเอโดยไม่เปลี่ยนปรัชญาการศึกษาย่อมไม่เกิดผลอะไร เพราะจะนำมาซึ่ง ระบบการศึกษาและกวดวิชาเพื่อ “จีพีเอ” แทนที่จะเป็นระบบกวดวิชาและการศึกษาเพื่อ “เอ็นทรานซ์” ดังเดิม ทั้งจีพีเอและเอ็นทรานซ์ยังคงทำหน้าที่รับใช้กระบวนการไต่เต้าทางสังคมโดยอาศัยการศึกษาเป็นเครื่องมือเช่นเดิม เพราะฉะนั้นการต่อต้านสัดส่วนจีพีเอที่เพิ่มขึ้นจึงมีเหตุผลอยู่ในที

แต่อย่างไรก็ตามการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงโดยอ้างเหตุผลถึงความเหมาะสมของระบบการศึกษาหรือการสอบคัดเลือกที่เป็นอยู่เดิมก็ไม่ใช่เหตุผลที่ฟังขึ้น

เมื่อพูดถึง จีพีเอ และเอ็นทรานซ์ พวกเรามักคิดถึงแต่นักเรียนมัธยมในกรุงเทพมหานคร หรือโรงเรียนอันดับหนึ่งประจำจังหวัด ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเด็กๆในภาคเกษตรกรรมจำนวนมหาศาลที่กำลังจะไม่มีที่ไป ในทำนองเดียวกันเมื่อพูดถึงนักเรียนอาชีวะตีกัน พวกเรามักคิดถึงแต่นักเรียนอาชีวะล้วนๆ ไม่ค่อยมีใครคิดถึงนักเรียนมัธยมจำนวนมากมายที่กำลังจะสอบแพ้ แล้วกลายร่างเป็นนักเรียนอาชีวะรุ่นต่อไป

กล่าวโดยสรุปในขั้นตอนนี้คือ การเพิ่มจีพีเอ ยกเลิกเอ็นทรานซ์ แก้ปัญหานักเรียนอาชีวะตีกัน และปฏิรูปการศึกษา ที่จริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน

ในฐานะพ่อแม่ของนักเรียนอาชีวะหนึ่งคน พวกเราจะทำอะไรได้บ้างภายใต้โครงสร้างการศึกษาที่รุนแรงถึงตายได้เช่นนี้

ขั้นแรก คือ รับรู้และเข้าใจความรู้สึกของลูก เป็นไปได้ที่เขาจะรู้สึกเหมือนนักเรียนอาชีวะส่วนใหญ่  นั่นคือเป็นผู้แพ้ เรียนไปก็ไม่รู้จะไปทำอะไร  อนาคตจะต้องเป็นลูกจ้างรายวันไปตลอดชีวิตหรือเปล่า    ชาตินี้จะมีหนทางเงยหน้าอ้าปากบ้างหรือไม่ พ่อแม่ต้องทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจสภาพของเขาและพร้อมร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขา

ขั้นสอง คือ วางแผนให้เขาเรียนรู้ให้ได้ว่าชีวิตมิได้มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ดังที่เขาคิด อนาคตเป็นสิ่งที่เขาสร้างเองได้หากรับรู้และยอมรับข้อจำกัดของความเป็นนักเรียนอาชีวะในสังคมไทย หากลูกต้องการมีอนาคตลูกก็ต้องไม่ใช้ชีวิตลอยไปวันๆกับโรงเรียน หลักสูตร หรือกลุ่มเพื่อน แต่ลูกต้องช่วยตนเองให้อ่านมาก รู้มาก และคิดให้มากเพื่อพัฒนาตนเองไปให้ไกลกว่าหลักสูตรให้ได้

ขั้นสาม คือ คุณพ่อคุณแม่เองต้องปรับปรุงตัวไม่คิดดูหมิ่นนักเรียนอาชีวะตามกระแสสังคม นอกจากนี้ยังต้องเตรียมทรัพยากรทั้งการเงินและความรู้ให้ลูกได้ใช้เป็นทุนรอนในการต่อสู้ชีวิตหลังเรียนจบ    การกระทำของคุณพ่อคุณแม่จะเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าที่จริงแล้วเขามีคุณค่าในสายตาของคนเป็นพ่อแม่และอนาคตของเขาขึ้นกับครอบครัวของเรา  ครอบครัวของเราก็ขึ้นกับตัวเขาด้วยเช่นกัน

จะเห็นว่าเป็นฮาวทูสามข้อที่ทำได้ยาก เพราะอย่างไรๆพวกเราก็เป็นเพียงสมาชิกน้อยๆของสังคมที่มีโครงสร้างการศึกษาถึงตายได้เช่นนี้