“คนใกล้ตายมักจะหวนกลับไประลึกถึงอดีตหรือ”
เป็นธรรมดาที่ใจจะระลึกถึงอดีต บางทีก็เกิดนิมิตคือเห็นเป็นภาพ ส่วนใหญ่เป็นภาพที่ฝังใจในอดีต ทั้งที่ดีและไม่ดี แต่สิ่งที่ดี คนเราไม่ค่อยนึกถึงเท่าไหร่ ในยามนั้นมักจะนึกถึงสิ่งที่ไม่ดี เว้นแต่ว่ามีคนมาช่วยแนะย้ำ นำเอาสิ่งที่ดี ๆ มาให้เขาระลึกถึง พระพุทธเจ้าเวลาเสด็จไปเยี่ยมคนป่วยใกล้ตาย พระองค์มักแนะให้นึกถึงพระรัตนตรัย รวมทั้งความดีงามที่ตัวเองได้ทำ แต่คนที่ทำกรรมเลวกรรมชั่วเอาไว้ กรรมที่ไม่ดีเหล่านี้มันมักจะหวนกลับมาให้เห็นเป็นภาพหรือนิมิต เราคงเคยได้ยินว่า พวกที่มีอาชีพฆ่าสัตว์ พอใกล้ตาย สัตว์ที่ตัวเองฆ่าได้มาหลอกหลอน จนบางทีเจ้าตัวก็ร้องเหมือนเสียงสัตว์ที่ตัวเองฆ่า นี่เรียกว่าเกิดกรรมนิมิตขึ้น แต่บางกรณีก็เป็นการกลับไปสู่ภาพชีวิตในอดีต โดยตัวเองรู้สึกราวกับว่าได้กลับเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกครั้ง นี่เป็นเรื่องธรรมดา คนที่ทำสมาธิภาวนาแบบเข้มข้น มักจะเจอภาพเหล่านี้หวนกลับมา จะเรียกว่าจิตสำรอกความทรงจำออกมาก็ได้ บางทีเป็นความทรงจำที่เราไม่นึกว่าจะจำได้ เช่นความทรงจำตอนเด็ก ๆ สองขวบสามขวบ ซึ่งก็ไม่ได้สลักสำคัญอะไรเลย แต่ว่าจิตระลึกได้ แสดงว่าจิตของเราเก็บความทรงจำเอาไว้ได้เยอะ ถ้าหากว่าเราทำสิ่งที่ไม่ดี หรือทำความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่ใคร หรือไปเบียดเบียนใคร ส่วนนี้มันไม่หนีไปไหน มันถูกเก็บไว้ในความทรงจำ ถึงเวลามันก็อาจจะออกมา แต่เราก็ต้องระลึกว่า สิ่งเหล่านี้มันออกมาก็จริง แต่คนส่วนใหญ่จะทำความดีมากกว่าความชั่ว จึงควรเรียนรู้วิธีที่จะดึงส่วนที่ดี ๆ ออกมาด้วย ไม่ใช่ว่าปล่อยให้จิตไปหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ไม่ดี เพราะมันไม่เป็นกุศลเลย เว้นแต่ว่าสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้น เช่น ความโกรธ ความเคียดแค้น ความพยาบาท เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว เรารู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่นเอามาเป็นเครื่องเตือนใจให้รู้จักให้อภัย ให้อโหสิ แต่ถ้าเราไม่รู้จักอโหสิ ไม่รู้จักให้อภัย อารมณ์อกุศลเหล่านี้ก็อาจจะมาหลอกหลอนจนวาระสุดท้าย คนที่ใกล้ตายจึงต้องรู้จักปล่อยวางความรู้สึกที่ไม่ดีด้วย เมื่อปล่อยไปแล้ว หรืออโหสิไปแล้ว มันก็จะไม่มากวนใจอีกต่อไป แต่บางครั้งต้องมีคนมาช่วยแนะเขาถึงจะปล่อยวางได้

“แสดงว่าก่อนลมหายใจสุดท้าย หากจิตสงบแล้ว เชื่อว่าในภพต่อไปจะไปสู่สุคติ”
จิตสุดท้ายก่อนตายต้องเป็นกุศล คือสงบหรือกำหนดอยู่กับสิ่งที่ดีงาม ความสงบเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเรื่องที่ตัวเองต้องฝึก ถ้าฝึกก็มีโอกาสสงบได้ แต่สงบอย่างเดียวไม่พอ ต้องให้สว่าง คือมีปัญญาด้วย หมายความว่าขั้นแรก ต้องให้จิตสงบก่อน ขั้นต่อมาคือทำปัญญาให้เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เราจะพอใจแค่ว่าให้จิตสงบ เพื่อจะได้ไปสุคติ อาจจะไปเกิดในสวรรค์ ตามความเชื่อของคนโบราณ แต่ทางพุทธศาสนาบอกว่า จิตของคนเรามีศักยภาพที่จะทำได้มากกว่านั้น คือสงบเป็นขั้นต้น ขั้นต่อมาคือมีปัญญา และเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง จะหลุดพ้นได้หรือไม่ได้ในวาระสุดท้ายก็ตรงนี้ คือมีปัญญาเห็นสัจธรรม เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง เข้าใจว่าสิ่งทั้งปวงไม่น่ายึดถือ ไม่น่าเอามาเป็นตัวตนของเรา เข้าถึงภาวะที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่าจิตว่าง ที่จริงยังมีอีกสำนวนหนึ่งที่ท่านชอบพูดคือ “ตกกระได พลอยกระโจน” ไหน ๆ จะตกกระไดแล้ว ก็กระโจนลงไปเลย ไม่ต้องลังเล ไม่ต้องคิดหน้าคิดหลัง หรือเสียดายอะไรทั้งสิ้น ความหมายก็คือ เมื่อจะตายแล้ว ก็ปล่อยวางทุกสิ่ง ไม่อาลัยไยดี นี่เรียกว่ารู้จักใช้ความตายให้เป็นประโยชน์ คนเราตายไปแล้วกรรมย่อมเป็นพลังหนุนส่ง จะส่งไปไหน ไปสุคติ หรือทุคติ หรือไปสู่วิมุตหลุดพ้น ก็ขึ้นอยู่กับการวางจิตวางใจก่อนตาย ความตายมีพลังส่งแรงมาก ถ้าวางจิตให้ดี นึกถึงนิพพาน พระอรหันต์ ความหลุดพ้น ความตายก็สามารถหนุนส่งหรือผลักให้ไปสู่ความหลุดพ้นได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่ากรรมใกล้ตายหรืออาการของจิตสุดท้ายมีพลังแรง เหมือนกับวัวที่แออัดยัดเยียดอยู่ในคอก เมื่อเปิดประตูคอก ตัวที่จะออกมาก่อนคือตัวที่อยู่ใกล้ประตูที่สุด หมายความว่ากรรมใกล้ตายมันจะแสดงผลก่อน ถ้าจิตสุดท้ายมุ่งไปสู่ความหลุดพ้น จิตก็อาจหลุดพ้นไปเลย แต่ถ้าจิตสุดท้ายเป็นจิตที่ห่วงทรัพย์สมบัติ มันก็อาจจะกลับมาวนเวียนเฝ้าสมบัติ

“อาจารย์บอกว่าวาระสุดท้ายของชีวิต ถ้าหากว่าใจนิ่งก็สามารถไปสู่สุคติได้ แม้ว่าชาตินี้อาจจะทำความชั่วตลอด เพียงแต่ว่าแรงส่งอาจจะไม่เยอะ อย่างนี้ก็ไม่จูงใจให้คนอยากจะทำความดีซิครับ”
คนที่ทำความชั่วมาตลอด แม้ตอนใกล้ตายจะพยายามนึกถึงสิ่งที่ดีงาม แต่บางทีก็นึกไม่ออกหรอก เพราะว่ากรรมที่ไม่ดีมีแรงหนุนส่งมากกว่า ทำให้นึกถึงภาพที่ไม่น่าดู ทำให้นึกถึงความทุกข์ที่ตัวเองได้ทำเอาไว้มากกว่า ฉะนั้นทางที่ดีเราจึงควรหมั่นทำความดี เวลาลำบาก ความดีนั้นจะมาช่วยน้อมใจให้เป็นกุศลได้

พระไพศาล วิสาโล

“ปัจจุบันผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตที่โรงพยาบาลขณะที่ร่างกายถูกพันธนาการไว้ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์เช่นเครื่องปั๊มหัวใจเป็นต้น อย่างนี้จิตใจจะนิ่งสงบได้อย่างไรครับ”
อันนี้คือปัญหา เพราะหมอ ญาติคนไข้ แม้กระทั่งผู้ป่วยก็ดี ส่วนมากมีความคิดว่าต้องการยืดชีวิตให้ได้มากที่สุด เห็นความตายแต่มิติด้านกายภาพ ทำอย่างไรถึงจะให้มีลมหายใจได้นานที่สุด ดังนั้นจึงคิดแต่จะหาทางปั๊มหัวใจ ฉีดยาและกระตุ้นทุกวิถีทาง แม้วิธีนั้นจะทำให้เจ็บปวดและรบกวนจิตใจ เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่าทางออกในยามนี้มีทางเดียวคือต้องยืดชีวิตให้ได้นานที่สุด แต่พุทธศาสนาบอกว่า จะยืดชีวิตให้ได้มากหรือน้อย ไม่สำคัญเท่ากับการรักษาใจให้สงบและเกิดปัญญา มันเป็นมิติด้านจิตใจซึ่งการแพทย์สมัยใหม่มองข้ามไป การแพทย์สมัยใหม่เขาไม่สนใจเรื่องจิตใจ เขาสนใจเพียงแต่ว่าจะยืดลมหายใจได้นานเท่าไหร่ เขาทำทุกวิถีทางแม้จะรู้ว่าต้องแพ้ ต้องตาย ก็ขอยืดให้ได้สักหนึ่งวัน สองวันก็ยังดี แต่ไม่ได้นึกว่าสิ่งสำคัญกว่านั้นคือทำยังไงจิตใจจะสามารถเผชิญความสงบได้ สามารถประคองจิตให้มีสติ ถ้าหากญาติผู้ป่วยและตัวผู้ป่วยเห็นตรงนี้ เขาก็จะถอดเครื่องมือทั้งหลายออก แล้วกลับไปตายที่บ้าน ถ้าเป็นคนป่วยที่มีฐานะอาจจะขอตายในห้องพิเศษที่โรงพยาบาลนั่นแหละ แล้วก็ค่อย ๆ รับความตายอย่างมีสติ เดี๋ยวนี้ก็มีหลายคน พอรู้ว่าจะต้องตาย เขาก็กลับไปตายที่บ้าน โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ หลายคนเขาเลือกไปตายที่บ้าน เพราะว่าหนึ่ง มันเป็นที่ที่เขาคุ้นเคย สอง เป็นที่ที่เขาจะได้อยู่กับลูกหลาน การได้อยู่กับลูกหลานเป็นความสุขในช่วงสุดท้ายของชีวิต รวมทั้งได้สั่งเสียอะไรต่างๆ หลายอย่าง

อันนี้เป็นเรื่องที่ถ้าหากผู้ป่วยมีสติรู้ตัวอยู่ ก็ไม่ยาก แต่ถ้าอยู่ในภาวะโคม่า ญาติพี่น้องจะกล้าทำหรือเปล่า ถ้าญาติพี่น้องไม่เข้าใจเรื่องตรงนี้ และไม่เคยได้คุยกับผู้ป่วยมาก่อน ก็อาจไม่กล้า เพราะกลัวจะถูกหาว่าอกตัญญู คือคนมักคิดว่าถ้ารักพ่อรักแม่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตายช้าที่สุด จะลงทุนเท่าไหร่ก็ยอม ต้องทำให้เต็มที่ เพราะถือว่าเป็นโอกาสสุดท้าย เรื่องนี้หมอมีบทบาทสำคัญในการชี้แนะ ถ้าเป็นหมอที่มีความรู้ความเข้าใจ หากคนไข้ไม่รอดแน่ หมอก็น่าจะแนะนำให้ไปตายอย่างสงบที่บ้านดีกว่า

“ในทางพุทธศาสนา การหมดลมหายใจหรือสมองไม่ทำงาน ถือว่าตายสนิทแล้วหรือยังครับ”
เป็นแค่ตายทางกาย ในทางพุทธศาสนาเชื่อว่า จิตอาจยังอยู่ บางทีหมดลมแล้ว จิตอาจยังไม่รู้ว่าตายด้วยซ้ำ เราเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ตายแล้วแต่ไม่รู้ว่าตาย เพราะมันเหมือนกับฝันไป เวลาคุณฝัน คุณไม่รู้หรอกว่าคุณหลับอยู่ คนตายแล้วบางทีเขาเหมือนกับคนฝัน เขาอาจจะเห็นโน่นเห็นนี่ แต่เขานึกว่าไอ้ที่เห็นมันเป็นความฝัน แต่ที่จริงที่เขาเห็นมันไม่ใช่ฝันแล้วนะ คือเห็นจริง ๆ แต่เห็นในภาวะที่จิตออกจากร่างแล้ว

ทางทิเบตพูดเรื่องนี้ไว้ชัดเลยว่า ถึงแม้จะหมดลมแล้ว แต่จิตยังไม่ออกจากร่างทันที ต้องผ่านกระบวนการแตกดับภายใน จนถึงขั้นที่เรียกว่า “แสงกระจ่าง” ถึงตอนนั้นจึงจะตายอย่างแท้จริง แต่ก็มีนักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อยที่หมดลมไปแล้วหลายวัน แต่จิตยังไม่แตกดับอย่างถึงที่สุด เพราะจิตยังไม่ออกจากร่าง อย่างนี้เรียกว่าลมหายใจภายในยังไม่หมด แม้ลมหายใจภายนอกจะหมดไปแล้วก็ตาม ในทิเบตเวลามีใครตาย เขาจะไม่แตะหรือเคลื่อนย้ายร่างเลย เพราะไม่ต้องการรบกวนจิตที่กำลังอยู่ในภาวะที่ละเอียดอ่อน มีการปล่อยไว้ถึง ๓ วัน ๗ วัน หรือ ๑๐ วันก็มี ปรากฏว่าร่างไม่เน่าไม่ส่งกลิ่น หมอฝรั่งก็แปลกใจว่าทำไมไม่เน่า ที่ไม่เน่าเพราะยังไม่ตาย ถึงแม้ว่าลมหายใจหมดแล้ว นี่เป็นกรณีนักปฏิบัติธรรม แต่ถ้าไม่ใช่นักปฏิบัติธรรม จิตจะแตกดับและหลุดจากร่างเร็วมาก อย่างไรก็ตาม เวลาใครตายญาติน่าจะปล่อยไว้นิ่ง ๆ สักครึ่งวันหรือหนึ่งคืน แล้วก็ร่วมกันสวดมนต์ภาวนา ทำสมาธิรอบ ๆ เตียงคนตาย ส่งจิตให้เขาได้รับกุศล แผ่เมตตาให้เขาได้รับความสงบเย็น

อย่างกรณี สุภาพร พงศ์พฤกษ์ หลังจากหมดลมแล้ว เพื่อนก็ยังทำสมาธิและตีระฆังให้จิตรับรู้ เพราะตอนมีชีวิตอยู่เขาคุ้นกับเสียงระฆัง ถ้ามีเสียงแบบนี้ช่วย จิตก็จะน้อมไปในทางที่เป็นกุศลได้ง่าย อันนี้เป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยได้คิด พอหมดลม ใครต่อใครก็พากันทำโน่นทำนี่กับศพ เตรียมทำความสะอาดศพบ้าง ฉีดน้ำยากันเน่าบ้าง บรรยากาศดูวุ่นวาย ไม่เอื้อต่อความสงบในขั้นสุดท้าย ที่จริงแม้กระทั่งตอนจัดงานศพแล้ว กระบวนการดังกล่าวก็ยังสำคัญอยู่ เพราะจิตก็อาจจะยังรับรู้ได้

“การรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันดูเหมือนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตใจใช่ไหมครับ”
ที่ผ่านมาไม่ค่อยมี แต่ตอนนี้เริ่มให้ความสำคัญแล้ว อย่างเช่นในหลายโรงพยาบาลในอเมริกาตอนนี้ เขาสนับสนุนให้ผู้ป่วยทำสมาธิภาวนาหรือสวดมนต์ เพราะจากการวิจัยพบว่า ผู้ที่สวดมนต์ภาวนาหรือสนใจศาสนา เวลาผ่าตัดใหญ่ พวกนี้จะหายไวกว่า โอกาสรอดมากกว่า ใช้ยาน้อยกว่า เคยมีการทดลองถึงขั้นว่าให้คนอื่นสวดมนต์ภาวนา แผ่เมตตาให้แก่ผู้ป่วย ปรากฏว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ใช้ยาน้อยลง เมื่อเทียบกับผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีใครสวดมนต์ภาวนาให้ หลายแห่งในยุโรปและอเมริกาจึงให้ความสนใจกับเรื่องจิตใจมากขึ้น ทำให้โรงพยาบาลสมัยใหม่เริ่มที่จะให้ความสนใจกับการดูแลรักษาจิตใจของคนใกล้ตาย แต่ก็ยังถือว่าเป็นกระแสรอง ไม่ใช่กระแสหลัก กระแสหลักก็เป็นอย่างที่เห็น คือพยายามช่วยยืดชีวิตเต็มที่ ใช้มาตรการทางการแพทย์ทุกอย่างเพื่อที่จะต่ออายุ ยืดลมหายใจ แต่สุดท้ายก็เป็นการยืดการตายมากกว่ายืดชีวิต ตอนนี้ในเมืองไทยก็มีหลายโรงพยาบาลที่ให้ความสนใจเรื่องนี้ อย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ มีกลุ่มหมอและพยาบาลที่พยายามอนุเคราะห์ผู้ป่วยในเรื่องของจิตใจด้วย ไม่ว่ามุสลิมหรือพุทธ เพราะเขาเห็นเลยว่าหลายคน พอเอามิติทางศาสนาเข้าไป อาการกลับดีขึ้น ไม่ใช่แค่ตายอย่างสงบด้วยซ้ำ คือหายด้วย มีผู้ป่วยบางคนเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย รักษายังไงก็ไม่หาย บอกหมอว่าอยากอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน หมอก็ตอบสนองตามความต้องการ ปรากฏพอได้อ่านคัมภีร์อาการก็ดีขึ้นมาก จนออกจากโรงพยาบาลได้ ที่โรงพยาบาลรามาฯ ก็มีพยาบาลบางคนให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาก ช่วง ๓-๔ เดือนที่ผ่านมา อาตมาได้รับนิมนต์ให้ไปพูดเรื่องนี้หลายที่ เช่น ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี รวมทั้งในการประชุมของสมาคมพยาบาล ล่าสุดไปพูดที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในแวดวงพยาบาลมีการตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องการช่วยเหลือทางจิตใจแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย นี่เป็นนิมิตที่ดี

คนปัจจุบันค่อนข้างรังเกียจความตาย แตกต่างจากคนสมัยโบราณหรือไม่
คิดว่าต่างนะ เพราะความตายสำหรับคนสมัยใหม่ถือเป็นเรื่องที่ต้องห้ามมาก บางทีคำว่า “ตาย” ก็พูดไม่ได้ ต้องใช้คำว่า “จากไป” ในโรงพยาบาลฝรั่งเขาไม่เรียกว่าตาย เขาเรียก “expire” คือหมดอายุ ไม่กล้าพูดว่า “ตาย” เพราะถือเป็นเรื่องต้องห้าม คนไทย คนจีน เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกัน พูดแล้วกลัวว่าจะเป็นลางไม่ดี อัปมงคล เพราะความคิด วิถีชีวิต โลกทัศน์ของคนสมัยนี้มองชีวิตและความตายแยกจากกัน

คนสมัยก่อน ความตายเป็นเรื่องที่เขาคุ้นเคย เพราะใคร ๆ ก็ตายที่บ้าน ตั้งแต่เล็กจนโต ก็คุ้นกับความตาย เวลาใครใกล้ตาย คนในหมู่บ้านก็จะไปช่วยเป็นเพื่อน เวลาตายก็ตั้งศพที่บ้าน สวดมนต์ที่บ้าน ต่อเมื่อจะเผาจึงหามไปเผาที่ป่าช้าหรือที่วัด แต่เดี๋ยวนี้ผู้คนจะถูกปิดกั้นไม่ให้รับรู้เรื่องความตาย เช่นไปตายที่โรงพยาบาล หรือในห้องไอซียู ซึ่งคนไม่ค่อยได้เห็น เมื่อตายแล้วก็ไม่ได้เห็นศพ เพราะว่าศพอยู่ในโลงและเผากันแบบมิดชิด เรียกว่าเป็นชีวิตที่ถูกแยกขาดจากความตาย เลยไม่คุ้นเคยกับความตาย เห็นความตายเป็นเรื่องน่ากลัว ทั้ง ๆ ที่สื่อมวลชน วิทยุ โทรทัศน์ ก็มีเรื่องความตาย แม้กระทั่งในวิดีโอเกมก็มีเรื่องความตาย แต่เป็นความตายแบบ second hand คือผ่านสื่ออีกทีหนึ่ง เป็นความตายแบบเทียม ๆ อิทธิพลของสังคมตะวันตกก็มีส่วนในการบ่มเพาะทัศนคติแบบนี้ วัฒนธรรมตะวันตกในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา เป็นวัฒนธรรมที่มองความตายว่าเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจมาก พอมันเข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทย เราก็พลอยรับค่านิยมแบบนี้ไปด้วย

“ตอนนี้ชีวิตยังสนุกอยู่ จะไปเตรียมตัวเรื่องความตายทำไม ยังไม่อยากรับรู้”
จะสนุกอย่างไรในที่สุดเราก็ต้องเจอกับความตาย ปัญหาคือว่า ถึงตอนนั้น ถ้าเราไม่พร้อม เราก็ไม่มีโอกาสแก้ตัวแล้ว เพราะเรามีโอกาสตายได้แค่ครั้งเดียว ไม่เหมือนสอบเอนทรานซ์ และความทุกข์ทรมานตอนใกล้ตาย มันยิ่งกว่าความทุกข์ทรมานทั้งหลายทั้งปวงในตอนที่มีชีวิตอยู่ ตอนที่มีชีวิตอยู่ ตอนที่ยังสบาย เราพอที่จะจัดการกับความเจ็บปวดได้ เพราะเรายังมีสติดี ร่างกายเรายังมีกำลังเข้มแข็ง แต่ตอนที่ใกล้ตาย มันกะปลกกะเปลี้ยไปหมดทุกอย่างเลย ร่างกายก็อ่อนแอ จิตก็เสื่อมถอย สติก็เลือนราง ถึงตอนนี้ก็ยากที่จะรับมือกับความตายได้ คือในยามปรกติเราสามารถรับความสูญเสียอะไรก็ได้ที่เกิดขึ้น เช่น อกหัก ตกงาน ล้มละลาย แม้กระทั่งเวลาเจ็บป่วย แต่ตอนใกล้ตายไม่ใช่อย่างนั้น สังขารทั้งร่างกายและจิตใจมันเสื่อม มันอ่อนล้าไปทุกส่วน การเผชิญกับความตายซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ถ้ามองในแง่พระพุทธศาสนา เราเกิดมาทั้งชีวิต ก็เพื่อที่จะได้เตรียมตัวสำหรับเผชิญกับวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะความตายเป็นภัยพิบัติที่หนักหนาสาหัสที่สุดที่คนหนึ่งจะต้องประสบ

มีคราวหนึ่ง หลวงปู่มั่นไปเยี่ยมพระรูปหนึ่งซึ่งชรามากและใกล้มรณภาพแล้ว ท่านไปถึงก็ยิ้มให้ แล้วแนะนำว่าที่เราปฏิบัติธรรมกันมาทั้งหมด ก็เพื่อโอกาสนี้เท่านั้นแหละ อีกอย่างหนึ่งพุทธศาสนามองว่า มนุษย์เราจะหลุดพ้นจากวัฏสงสารหรือเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารหรือว่าจะตกสู่อบายภูมิหรือไม่ ทั้งหมดนี้ล้วนมีความตายเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้าคุณจัดการกับความตายได้ไม่ดี ก็ไปสู่อบายภูมิเลย แต่ถ้าจัดการกับความตายได้ดี ก็สามารถไปสู่สุคติภูมิหรือหลุดพ้นได้ จุดสุดท้ายของชีวิต เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ถ้าเราเตรียมตัวมาไม่ดี ก็ไปเลย

แต่วิถีชีวิตปัจจุบันก็ยังถือว่าความตายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ อย่างที่ท่านเคยบอกว่า คนสมัยนี้ส้วมเอาไว้ในบ้าน แต่ศพเอาไว้นอกบ้าน มันเป็นวิวัฒนาการ คือเริ่มเห็นว่าเป็นของน่ารังเกียจ ต้องเอาออกนอกบ้านไป ถือว่าไม่สะอาด แต่ขณะเดียวกันห้องส้วมเรากลับเอาเข้ามา และถือว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์ส่วนหนึ่งของบ้าน มาอวดอัครฐานกัน บางทีก็วัดกันที่ห้องน้ำ ว่าใช้โถส้วมแบบไหน ราคาเท่าไหร่ ใช้กระเบื้องอะไร เรียกว่าเป็นอิทธิพลของบริโภคนิยมด้วย บริโภคนิยมทำให้เราเพลิดเพลินกับการเสพ การบริโภค และไปวิ่งไต่เต้าแสวงหาสิ่งที่ไม่ใช่สาระของชีวิต รวมถึงชื่อเสียง เกียรติยศ และอัครฐาน

เดี๋ยวนี้การบริโภคจะเน้นเรื่องภาพลักษณ์มาก เช่น ความทันสมัย อย่างกินแฮมเบอร์เกอร์ เราไม่ได้กินเอาความอร่อย แต่กินเอาภาพลักษณ์ เช่น ความเท่ ความทันสมัย ใส่รองเท้า เราไม่ได้ใส่เพราะมันนุ่มเท้า แต่เพราะใส่แล้วรู้สึกว่าเราเป็นผู้ชนะ เหมือน ไมเคิล จอร์แดน หรือ ไทเกอร์ วูดส์ ที่เขาเอามาเป็นพรีเซนเตอร์ เดี๋ยวนี้คนเราไปหลงบริโภคกับสิ่งเหล่านี้ซะเยอะ จนกระทั่งลืมไปว่าวันหนึ่งเราจะต้องตาย บริโภคนิยมในแง่หนึ่งก็เป็นปฏิปักษ์กับความตาย คือเขาไม่ต้องการให้คนมาคิดถึงเรื่องความตายมาก เพราะคิดถึงเรื่องความตายแล้ว จะรู้สึกว่าที่เราไปไล่ล่าหาของมาเสพนั้นมันไม่ใช่สาระของชีวิต สักวันหนึ่งของพวกนี้ก็ต้องพลัดพรากสูญหายไป บริโภคนิยมทำให้เราลืมตาย ทำให้ประมาท ตัวบริโภคนิยมเองไม่อยากพูดถึงความตาย ถ้าจะพูดก็ต้องเป็นความตายที่ขายได้ เช่นในวิดีโอเกม หรือในหนัง ที่ต้องมีการฆ่าเลือดท่วมจอ บู๊ล้างผลาญ เอาความตายมากระตุ้นให้เกิดความตื่นเต้นขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น ตอนเกิดสงครามอิรัก สื่อมวลชนจะคอยติดตาม เสนอข่าวการใช้จรวดทำลายที่โน่น ระเบิดที่นี่ คนดูก็คอยติดตามข่าวสงครามในอิรักเพราะว่ามันตื่นเต้นเหมือนในหนัง ไม่ได้รู้สึกรู้สมกับความทุกข์ทรมานหรือความตายที่เกิดขึ้นเลย ถ้ารู้สึกรู้สมแล้ว ก็จะหวนระลึกขึ้นมาได้ว่าถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์อย่างนั้นบ้าง เราจะเป็นอย่างไร แต่เนื่องจากสื่อมวลชนนั้นส่วนหนึ่งต้องการขายข่าว ต้องการเพิ่มยอดคนดู จึงต้องพยายามเสนอเรื่องที่น่าตื่นเต้น แม้กระทั่งเรื่องความตาย ก็เอามานำเสนอให้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นได้ ความตายที่ขายได้คือสิ่งที่กระตุ้นเร้าให้รู้สึกตื่นเต้นสะใจ แทนที่จะทำให้เกิดความสลดสังเวช หนังฮอลลีวูดก็จะเป็นอย่างนี้ซะเยอะ อันนี้เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเดี๋ยวนี้เขาไม่ค่อยนึกถึงความตายเท่าไหร่ หรือรู้สึกว่าความตายเป็นเรื่องที่ไม่ต้องนึกถึงก็ได้

คนทั่วไปเชื่อว่ามีแต่คนแก่เท่านั้นที่นึกถึงความตาย แต่คนหนุ่มสาวไม่ควรคิดถึงความตาย เพราะจะทำให้พลังในการสร้างสรรค์ลดลง คนหนุ่มคนสาวไม่ตายหรอกหรือ ความตายเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่มียกเว้น แต่ความจริงง่าย ๆ อย่างนี้ ผู้คนกลับมองไม่เห็นเพราะเพลินกับการเสพการบริโภค สังคมทุกวันนี้ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมที่เน้นการเสพ การบริโภค เน้นความสุขทางเนื้อหนัง ความตายมันเป็นปฏิปักษ์กับความสุขทางวัตถุโดยตรง เพราะว่ามันหมายถึงความสูญเสีย หมายถึงความพลัดพราก การหมดโอกาสที่จะได้เสพบริโภค แต่ไม่ว่าจะเพลินแค่ไหน ความตายมันก็มาโดยไม่เลือกเวลา มีนักร้อง ดาราดัง ๆ ที่ตายไปในช่วงที่เป็นวัยรุ่นก็เยอะ คือมันประมาทไม่ได้ ไม่ว่าจะหนุ่มสาว คนมีอายุ ก็มีโอกาสที่จะตายได้ตลอดเวลา คนแก่เขาต้องคิดถึงความตายมากขึ้น เพราะว่ามันมาใกล้ทุกทีแล้ว แต่คนหนุ่มคนสาวก็ใช่ว่าจะหนีความตายได้

อย่างไรก็ตาม การนึกถึงความตายก็ต้องนึกให้ดีเหมือนกัน ไม่ใช่นึกแล้วใจห่อเหี่ยว ถ้านึกแบบนั้นไม่ถูกต้อง คือหนึ่ง เรานึกถึงความตายเพื่อที่เราจะได้ไม่ประมาท ไม่เผลอคิดว่าเราจะอยู่ค้ำฟ้า สอง เราคิดถึงความตายเพื่อจะได้เร่งทำสิ่งที่ควรทำ ขยันขันแข็ง ไม่แชเชือน อะไรที่จะต้องทำก็ควรรีบทำเสียแต่เนิ่น ๆ อย่าปล่อยให้ชีวิตล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ พอความตายเข้ามาถึงแล้วจะนึกเสียดายว่า โอย ฉันไม่น่าปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไป เราต้องรู้จักเอาความตายมากระตุ้นเตือนตัวเองเพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีค่าที่สุด

อย่างเช่น สตีเฟน ฮอว์คิง คนเขียนเรื่อง A brief history of time ถ้าอ่านประวัติเขา จะเห็นได้ว่าตอนที่เขาเป็นนักศึกษา ไม่ได้มีอะไรเด่นเลย แถมเป็นคนชอบเที่ยว ชอบสนุกสนาน แต่พอเขาเป็นโรคที่ทำลายระบบสั่งการของกล้ามเนื้อ มันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเขามากเลย เพราะโรคนี้รักษาไม่หาย และส่วนมากจะต้องตายในเวลาไม่นาน เมื่อรู้ว่าตัวเองจะมีชีวิตในโลกนี้ได้ไม่นาน เขาจึงคิดหนักว่าจะทำยังไงกับชีวิต ก็เลยนึกถึงสิ่งที่ตัวเองจะทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุด คือการหาคำตอบในเรื่องจักรวาล เขาเลยทุ่มเทกับการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องจักรวาล จนกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านจักรวาลวิทยาที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง ถ้าความตายไม่มาคุกคาม สตีเฟน ฮอว์คิง โลกคงไม่มีนักวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่นอย่างเขา

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งว่า ความตายสามารถกระตุ้นให้คนเราถามหาความหมายของชีวิต และเริ่มที่จะคิดว่าเราจะใช้เวลาที่เหลือน้อยนิดไปทำประโยชน์ให้แก่โลกและตัวเองได้อย่างไร นี่คือการคิดถึงความตายในแง่ที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์ แต่ถ้าหากว่าเราคิดถึงความตายในแง่ที่ชวนให้ท้อแท้ หดหู่ อันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี พระพุทธเจ้าไม่สนับสนุนไม่สรรเสริญ เราจึงต้องรู้จักใช้ความตายให้เป็นประโยชน์ คนหนุ่มคนสาวจึงควรคิดเรื่องนี้ให้มาก เพราะจะได้มีเวลาเตรียมตัวในขณะที่ยังมีกำลังวังชาอยู่ เพราะเมื่อแก่แล้วจะนึกเสียดายที่เวลามันผ่านไปอย่างรวดเร็ว และกำลังวังชาก็หมดไปแล้ว ไม่ทันได้เตรียมตัว

แต่คนส่วนใหญ่คิดถึงเรื่องความตายทีไรก็ห่อเหี่ยวทุกที และพยายามจะหลีกหนีมัน เอาไว้แก่ ๆ ค่อยคิด ตอนนี้หาเงิน สร้างครอบครัวก่อน แต่เราหนีมันไม่พ้น คือเมื่อเราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ แทนที่เราจะเอาแต่เที่ยวเล่น เราก็ทำในสิ่งที่ควรทำ เช่น ถ้าเรามีหน้าที่ต่อครอบครัว เราก็ต้องขยันขันแข็งในการทำมาหากิน เพื่อที่จะได้มีทุนรอนให้แก่ครอบครัว เพราะเราจะไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ถ้าเราไป แล้วครอบครัวเรามีหลักมีฐาน ก็หมดห่วง คนที่คิดเรื่องความตายเขาคิดแบบนี้เหมือนกัน ทำให้เกิดความขยันขันแข็งในการทำมาหากิน แต่จะทำมาหากินอย่างเดียวคงไม่พอ นอกจากขยันขันแข็งในการทำมาหากินแล้ว ก็ควรคิดถึงการใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ ตรงนี้หลายคนมาได้คิดก็ตอนที่ใกล้จะตาย หรือเมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง อย่างที่เราคงได้ยินหลายคนพูดว่า โชคดีที่เป็นมะเร็ง โชคดีเพราะว่าตอนที่ไม่เป็นมะเร็งก็เอาแต่เที่ยว หรือบางคนก็เอาแต่ทำงาน โดยที่ไม่เคยมีเวลาอยู่กับครอบครัว ไม่มีเวลาอยู่กับตนเอง แต่พอเป็นมะเร็ง ความตายมันใกล้เข้ามา ก็เลยคิดถึงครอบครัว ให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น หลายคนหันมาคิดถึงความหมายของชีวิต มีเวลาให้แก่การปฏิบัติธรรมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องยอมรับก็คือว่า แม้ความตายของเราอาจจะอยู่อีกไกลเพราะเรายังหนุ่มยังสาวอยู่ แต่ว่าความตายของคนใกล้ชิดเราเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ความตายของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน ไม่มีทางที่เราจะปฏิเสธหรือหนีพ้น และมันทุกข์ใจมากนะ ถ้าเราไม่มีภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทานต่อความทุกข์ ความตายของคนใกล้เคียงจะบั่นทอนจิตใจของเราให้ทุกข์ระทม แต่ถ้าเรารู้จักความตายดี จัดการกับความตายได้อย่างถูกต้อง เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่ทำให้เราทุกข์มาก ถามว่าเราจะรู้จักความตายได้อย่างไร ก็ต้องคุ้นเคยกับมัน และคิดถึงมันบ่อย ๆ จนกระทั่งเรารู้ว่าเราสามารถเข้าใจธรรมชาติของมันตามที่เป็นจริงได้ และก็ไม่กลัว