ทีมป๊ะป๊ะแม๊ว
เรื่องและภาพ : กฤติยา จักรสาร กนกวรรณ มีพรหม

16min01

“คนไข้รู้สึกตัวไหมคะ คนไข้ยังหายใจอยู่ไหมคะ

“กำลังประสานขอความช่วยเหลือนะคะ แต่ระหว่างรอจะเปิดเสียงให้ฟังจังหวะบิ๊บ ให้กดหน้าอกปั๊มหัวใจ กดปล่อยตามจังหวะไปเรื่อยๆ และอย่าวางสายนะคะ เสียงบิ๊บได้ยินชัดเจนไหมคะ”

นั่นคือลำดับคำถามและคำแนะนำเบื้องต้นจากสายด่วนช่วยเหลือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ๑๖๖๙ ที่ฉันพอจะจำได้อย่างกระท่อนกระแท่น เพราะกำลังหูอื้อตาลายกับสถานการณ์คับขันตรงหน้า

ฉันลงนั่งข้างร่างสูงใหญ่ของสามีที่นอนหลับใหลไม่ได้สติอยู่ริมฟุตพาท รู้สึกตัวหวิว ๆ มือไม้สั่นเทา เมื่อมองร่างที่แน่นิ่งอยู่นั้น จิตใจยิ่งร้อนรนจนลมหายใจเบาบาง หัวใจเต้นไม่เป็นส่ำ หายใจไม่ทั่วท้อง เหงื่อผุดเม็ดปุด ๆ เต็มใบหน้าก่อนไหลถั่งลงตามลำคอ

โอย…คุณพระ…ฉันไม่รู้จะรับมือกับสถานการณ์เบื้องหน้าให้ผ่านไปได้อย่างไร คุณพระ คุณพระ…ฉันเรียกสติตัวเองให้ตื่นพร้อมที่จะปั๊มหัวใจให้เขา แต่นาทีวิกฤตมันช่างบีบคั้น จนรู้สึกมึนงง ตีบตัน ทำให้ความพยายามกู้ชีวิตเขาด้วยมือของฉันเองระหว่างรอทีมกู้ชีพเป็นไปอย่างลนลาน

นี่ถ้าวันนั้น…เป็นฉันที่เข้ารับการอบรมคอร์สการช่วยชีวิตพื้นฐานของมัคคุเทศก์แทนที่จะเป็นเขาก็คงดี ในยามวิกฤตอย่างนี้ฉันคงจะมั่นใจกว่าที่เป็น

นึกย้อนไปเมื่อสักเกือบ ๒๐ นาทีก่อน ฉันคงประเมินอาการของเขาผิด และเชื่อตามที่เขาบอกว่า “พี่ยังไหวอยู่” ไม่จำเป็นต้องเรียก ๑๖๖๙ ให้ฉันไปส่งโรงพยาบาลที่เขารักษาประจำก็พอ แต่ชั่วเพียงแค่เขาก้าวขึ้นนั่งในรถ ร่างก็ร่วงผล็อยทรุดเอนลงหมดสติ ตาดวงใหญ่คู่นั้นปิดลงครึ่งหนึ่ง มือทั้งสองข้างมีสีม่วงคล้ำ เห็นได้ชัดว่าเขากำลังอยู่ในภาวะหัวใจขาดเลือด

เวลาที่ผ่านไปทุกวินาทีนั่นช่างดูเนิ่นนานเชื่องช้า ความหวังที่จะเห็นเขาลืมตาริบหรี่ไปพร้อมกับหัวใจของฉันที่เริ่มเบาหวิวแทบจะล่องลอยไปเช่นกัน

เปลวแดดแห่งฤดูร้อนที่ลามเลียจนเม็ดเหงื่อละลายกลายเป็นน้ำไหลรินอาบนองทั้งใบหน้า ฉันฝืนสะกดอารมณ์ตัวเองให้นิ่ง ดึงลมหายใจตัวเองกลับมาให้มีสมาธิกับการปั๊มหัวใจ ขอบตาทั้งสองข้างเต้นระริกเพราะความพยายามกั้นทำนบไม่ให้น้ำตาแห่งความอ่อนแอและหวาดกลัวออกมาปนกับน้ำเหงื่อรสเค็มที่ผุดไหลล้นไม่ขาดสาย

แต่ราวกับน้ำตาที่ถูกกั้นไว้ไหลย้อนเข้าไปในอก หัวใจที่เต้นไม่เป็นส่ำยิ่งสั่นสะท้านหนักหน่วง พร้อม ๆ กับเรื่องราวและภาพมากมายสะท้อนเข้ามาในห้วงคำนึง หากแต่ร่างอันไร้สตินั้นกลับยังคงแน่นิ่ง หาได้ยลยินและตอบสนองต่อสิ่งเร้าใด ๆ

…..

16min02

‘’พี่พอแล้ว” เขาตอบคำถามของฉันด้วยประโยคสั้น ๆ เพียงเท่านี้ เมื่อถูกถามถึงความอยากใช้ชีวิตที่เหลือ และฉันก็เชื่อว่าเขาพอแล้วจริง ๆ เพราะเขาใช้ชีวิตอยู่กับการเดินทางนำเที่ยวมาค่อนชีวิต จนแทบจะไม่มีเวลาได้อยู่กับครอบครัว กระทั่งหลังเกิดโรคระบาดโควิด-๑๙ กิจการงานที่ถูกปิดไปโดยปริยายของเราก็ทำให้เขาได้อยู่บ้านเสียที

และในคำตอบง่าย ๆ สั้น ๆ “พี่พอแล้ว” แสดงให้เห็นเป็นจริงผ่านความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยการ “ติดแมว” ซึ่งทำให้ฉันกับลูกยิ้มได้เมื่อเห็นรูปถ่ายของเขากับแมวในอิริยาบถต่างๆ

“ใครมีรูปล่าสุดของพี่ยักษ์บ้าง” เมื่อคำถามนี้ถูกถามขึ้นมาไม่นานนัก รูปภาพของเขาที่นั่งเอนกายยิ้มอ่อนมีแมวสีฝุ่นชิดหน้าแนบสนิท ก็ถูกส่งขึ้นเฟซบุ๊กจากเพื่อนหลายคนในเวลาไล่ ๆ กัน

เขาไม่ชอบถ่ายรูปจึงมีรูปถ่ายไม่มากนัก แต่รูปนั้นคือหนึ่งในภาพที่ฉันกับลูกเห็นแล้วกลั้นขำไม่ได้ เมื่อรู้ว่ามันเป็นภาพเซลฟี่ภาพเดียวที่เขาภูมิใจส่งอวดบรรดาเพื่อน ๆ เราหันหน้ามายิ้มให้กันเมื่อเห็นภาพนั้น มันเป็นรูปที่แสดงถึงความอ่อนโยนของพ่อและสามี ภาพนั้นลบเลือนภาพจำที่คุ้นเคยจากใบหน้าเข้มที่ทำให้เขาดูเป็นคนดุดัน

รูปเซลฟี่รูปนั้นของเขาช่างมีพลังยิ่งนัก มันคือพลังแห่งความสงบสุขที่เขาส่งต่อมาให้เรา

สมองคนไข้ขาดเลือดไปนานถึง ๑๖ นาที สภาพเนื้อสมองเสียหายเป็นส่วนใหญ่ ถ้าฟื้นขึ้นมาก็ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้อีกแล้ว

…..

เวลากับความพยายามปลุกชีพเขา ดูจะนานเกินไปสำหรับผู้ป่วยหัวใจขาดเลือด ช่วงขณะหนึ่งในหลายนาทีนั้น ฉันทุ่มเทแรงกายและแรงใจทั้งหมดเพื่อยื้อแย่งลมหายใจของสามีคืนมา จนกระทั่งเสียงหวีดของไซเรนฉุกเฉินดังเข้ามาปลุกความหวังที่เกือบจะหมดสิ้นไปพร้อม ๆ กับเรี่ยวแรงของฉัน

ภาพรถกู้ชีพโจนทะยานฝ่าความแออัดของการจราจรบนท้องถนนอย่างหวาดเสียว พร้อมเสียงหวอหวีดแหลมที่ทำให้ผู้ขับขี่รถต้องพร้อมยอมหลบหลีกทางให้ กำลังเกิดขึ้นโดยมีตัวฉันและสามีอยู่ในรถคันนั้น แต่ในนาทีแข่งมัจจุราช ใจฉันเร่าร้อนเหนือความเร่งรีบนั่นเสียอีก

มองผ่านแผ่นกระจกกั้น เด็กหนุ่มอาสากู้ชีพกำลังขะมักเขม้นปั๊มหัวใจให้ร่างไร้สติบนเปลพยาบาล

เอี๊ยด…รถเบรกกะทันหันจนเกิดแรงกระชากให้ล้อเสียดครูดผิวถนน ตัวรถยังคงไถลไปข้างหน้าก่อนจะหยุดลง พร้อมกับร่างเด็กหนุ่มที่ลอยปลิวมากระแทกกระจกด้านหลังฉันเสียงดังโครมใหญ่ เคราะห์ดีที่เขาไม่บาดเจ็บ และร่างของสามีฉันยังคงถูกรัดตรึงอยู่กับเปลไม่ร่วงหล่น

สมองคนไข้ขาดเลือดไปนานถึง ๑๖ นาที สภาพเนื้อสมองเสียหายเป็นส่วนใหญ่ ถ้าฟื้นขึ้นมาก็ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้อีกแล้ว

ตอนนี้คนไข้หายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ ญาติจะให้หมอรักษาถึงขั้นตอนไหน จะให้ยาถึงที่สุดไหม และถ้าหัวใจหยุดเต้นจะให้ช่วยกลับมาหรือไม่

แพทย์ผู้รักษารายงานอาการคนไข้ด้วยโทนเสียงเรียบ ๆ แต่ฉันกลับรู้สึกเหมือนกำลังยืนประจันหน้าสู้กับสายลมเย็นเยียบจากภูเขาน้ำแข็งที่พัดโหมกระหน่ำเข้าใส่จนหนาวเหน็บ ชาทื่อไปทั้งตัว

ทุก ๆ วินาทีที่ผ่านไป ทั้งฉันและเจ้าหน้าที่ต่างทำหน้าที่อย่างไม่ลดละที่จะเรียกคืนลมหายใจของเขาให้กลับคืนมา

แต่มันคือ ๑๖ นาทีที่สายไป

16min04
16min05

เขาเดินทางข้ามภพไปอย่างสงบในวันถัดมา

สายน้ำแห่งชีวิตครึ่งหนึ่งของฉันไหลเลยล่วงจากไปแล้วอย่างไม่มีวันย้อนกลับ และเขาเลือกจากไปโดยไม่ทิ้งร่องรอยความเจ็บปวด ไม่ยื้อกับความตายของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ฉันเตรียมใจเผื่อไว้ พร้อมที่จะดูแลหากเขายังไม่พร้อมจะจากไป และตื่นขึ้นมาในสภาพเจ้าชายนิทรา

ก่อนหน้านั้น ฉันเข้าไปคุยกับเขาผ่านดวงตาข้างหนึ่งที่ยังหรี่ค้าง ไม่หลับสนิท เป็นครั้งสุดท้ายที่ฉันกุมมือเขาเพื่อปลอบประโลมหากเขาเลือกที่จะตื่น พร้อม ๆ กับการบอกลาหากเขาเลือกที่จะจากไป

ก่อนที่ดวงตาข้างนั้นจะปิดลงสนิท และพยาบาลออกมายืนยันการตายของเขาในอีก ๒ ชั่วโมงถัดมา

ทั้ง ๆ ที่เมื่อวันวานเต็มไปด้วยความวุ่นวายโกลาหลกับความพยายามกู้ชีพ แต่วันนี้ทุกอย่างกลับเงียบสงบ ต้นลีลาวดีหน้าบ้านของเรายังคงทำหน้าที่ของมัน ทิ้งใบแก่ปลิดปลิว และปลดดวงดอกเก่าให้โรยหล่นร่วงลงดิน พร้อม ๆ กับผลิช่อดอกใหม่ขึ้นมาบานเบ่งทดแทน

นับจากนี้ยังเหลือฉันและลูก ๆ ที่ต้องปรับวิถีการใช้ชีวิต ให้ก้าวข้ามความรู้สึกโดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงาไปให้ได้ เพื่อก้าวต่อไปกับชีวิตที่เหลืออยู่อย่างเข้มแข็ง มั่นคง

เราได้เข้าใจในหลักธรรมชาติของชีวิต ที่จะต้องพานพบกับพลัดพรากจากไปด้วยความตายของผู้คนอันเป็นที่รักคนแล้วคนเล่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนกว่าสุดท้ายที่ตัวเรา

ใช่แล้ว สักวันตัวเราเองจะเป็นคนสุดท้ายที่ได้รับรู้ถึงการพลัดพรากจากคนที่รักด้วยความตายของเราเอง เราจึงมี “มรณานุสสติ” เพื่อเตรียมพร้อมรับกับวันนั้น

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปรินายก ทรงพระนิพนธ์หนังสือ วิธีสร้างบุญบารมี และกล่าวถึงการสร้างบารมีด้วยมรณานุสสติกรรมฐานว่า

“มรณัสสติกรรมฐานนั้น โดยปกติเป็นกรรมฐานของผู้ที่มีพุทธจริต คือคนที่ฉลาด การใคร่ครวญถึงความตายเป็นการพิจารณาถึงความเป็นจริงที่ว่า ไม่ว่าคนและสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญวัยเป็นหนุ่มสาว เฒ่าแก่ แล้วตายไปในที่สุด ไม่อาจล่วงพ้นไปได้ทุกผู้คน”

คนธรรมดาอย่างฉันและลูกอาจไม่ได้มีพลังบุญจากการฝึกกรรมฐาน เพียงแต่เราเลือกมองชีวิตด้วยความเข้าใจ เราจึงสามารถก้าวข้ามความทุกข์จากการสูญเสียคนที่เป็นครึ่งหนึ่งของชีวิตเราไปได้อย่างเข้มแข็ง

เมื่อมองย้อนไปถึงการยอมรับความจริงในสภาพพยาธิแห่งสังขารที่ล่วงเลยเข้าสู่วัยชราของสามีแล้ว ฉันก็เข้าใจได้ว่าเขาเองคงเตรียมกายเตรียมใจพร้อมที่จะเดินทางข้ามภพภูมิในทุกขณะจิต เพราะไม่มีแม้สักครั้งที่เขาปริปากบ่นและท้อแท้กับการต่อสู้กับความเจ็บป่วยที่เข้ามาเยือน จนต้องเทียวไปหาหมอเป็นประจำ แม้จะต้องใช้เวลาทั้งวันในทุกครั้งที่ต้องไปพบแพทย์ แต่เขาก็ดูปล่อยวาง ไม่อึดอัดหรือท้อถอย

16min06
16min07

คงเป็นดังเช่นที่ท่านพุทธทาสภิกขุบรรยายไว้ในหนังสือ ปัจฉิมอาพาธ ความตอนหนึ่งว่า

“การเรียนรู้ชีวิตใกล้ตาย ทำให้มีปัญญาที่สมบูรณ์ขึ้น เราจะศึกษาความเจ็บ ความตาย ความทุกข์ ให้มันชัดเจน ไม่สบายทุกทีก็ฉลาดขึ้นทุกทีเหมือนกัน…การตายเป็นหน้าที่ของสังขารอย่างไม่มีทางเปลี่ยนแปลงแก้ไข นอกจากการต้อนรับให้ถูกวิธี”

ดอกลีลาวดีที่ร่วงโรยหลายต่อหลายดอกยังคงมีสีสันสดสวย กลีบยังเบ่งบานดูงดงาม ฉันจึงมักเก็บมาแช่น้ำไว้สำหรับเสียบปากแก้วเพื่อขับแต่งน้ำผลไม้ปั่นในร้านให้สดใสสวยงามน่าดื่มกิน และยิ่งมีความสุขที่ได้เห็นแหม่มสาว ๆ ดึงดวงดอกไม้งามบนปากแก้วนั้นขึ้นมาทัดหู ก่อนจะดื่มด่ำกับน้ำผลไม้ฉ่ำหวาน

ทั้งที่เป็นดอกไม้ร่วงแล้วแท้ ๆ แต่มันยังคงมีคุณค่าปลอบประโลมให้หัวใจของเราสดชื่นขึ้นมาได้

หากในความร่วงโรยของชีวิตมนุษย์ จะราโรยในระหว่างเส้นทางอันแสนสั้นหรือยาวนาน เราคงไม่อาจกำหนดรู้ได้ แต่ความจริงที่เราทุกคนต่างต้องประจักษ์เหมือน ๆ กันคือ ชีวิตมีเกิดใหม่ มีเส้นทางการเติบโต มีสิ่งที่ต้องเรียนรู้มากมาย จนกว่าจะดับสูญ

เราจะเรียนรู้ที่จะชื่นชมในส่วนที่ควรชื่นชม หรือเลือกแต่เพียงความเศร้าโศกทุกข์ตรม ก็คงสุดแล้วแต่ตัวเราจะเลือก

ด้วยความระลึกถึงเสมอและความขอบคุณเขาผู้เป็นครึ่งหนึ่งของชีวิต ในความเป็นสามีและพ่อของลูก วันนี้ยังมีเราที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าด้วยกันบนถนนสายเดิมที่เคยมีเขาร่วมเดิน

กิจกรรมดีๆ ของ “ค่ายนักเล่าความสุข” ปี 3 ร่วมสร้างสรรค์เรื่องเล่าความสุข และสังคมที่มีความสุข

  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • นิตยสารสารคดี
  • เพจความสุขประเทศไทย
  • สสส.