เย็นวันหนึ่งหลังสงกรานต์ผ่านไปได้ไม่นาน รถปิกอัปคันหนึ่งแล่นเข้ามาจอดริมถนนที่ผ่ากลางหมู่บ้านเลิงแสง หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่น้อยคนจะรู้จัก อยู่ในอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

ชาวบ้านหลายคนละสายตาจากงานบ้านที่ทำอยู่ เมื่อเห็นบุรุษหกคนก้าวลงจากรถ …นำมาด้วยพระ ตามติดด้วยทนายความ เจ้าของกิจการ นักคอมพิวเตอร์ และคนทำหนังสือซึ่งคือตัวผมเอง

พวกเราเดินทางมาตามหาประวัติศาสตร์ส่วนตัวที่ซีดจางไปตามกาลเวลา

“จำพวกผมได้ไหมครับ พ่อใหญ่แม่ใหญ่” พวกเราแนะนำตัวเอง เพียงครู่เดียวชาวบ้านก็ส่งเสียงร้อง เข้ามาจับไม้จับมือ สวมกอดพวกเราด้วยความดีใจ

“จำได้ จำได้ คนนั้นอ้ายเปี๊ยก อ้ายแปด อ้ายเซ่อ…” ชาวเลิงแสงเริ่มไล่ชื่อแต่ละคน

“นั่นแม่คำ พี่วิมาน ทุกคนสบายดีนะครับ” พวกเราร้องทักทาย เสียงถามไถ่ทุกข์สุขดังขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมเสียงหัวเราะและน้ำตาแห่งความตื้นตันใจ

ยี่สิบแปดปีผ่านไป คนเหล่านี้ไม่คิดไม่ฝันว่าในชีวิตนี้จะได้กลับมาเจอะเจอกันอีก
ภาพเหตุการณ์ในอดีตที่บ้านเลิงแสงค่อย ๆ แจ่มชัดขึ้นตามลำดับ

…………………..

สมัยยังเป็นนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ช่วงปิดภาคฤดูร้อนของทุกปี ผมจะไปออกค่ายสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร เป็นเวลาถึง ๒๐ วัน

เวลานั้นการออกค่ายสร้างโรงเรียนในชนบท เป็นกิจกรรมที่จำกัดอยู่ในแวดวงนักศึกษามหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่เคยมีเด็กนักเรียนนุ่งกางเกงขาสั้นวัย ๑๓-๑๗ ปีชวนกันไปออกค่าย ยกเว้นนักเรียนของโรงเรียนอัสสัมชัญซึ่งรวมกลุ่มกันในชื่อ “กลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนา” มีภราดาวิจารณ์ ทรงเสี่ยงชัย อธิการโรงเรียนในสมัยนั้น เป็นผู้ก่อตั้งและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อมุ่งหวังให้เด็กเมืองกรุงได้เข้าใจชีวิตชนบท และใช้เวลาว่างช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กนักเรียนบ้านนอก

กิจกรรมค่ายของกลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนา ดำเนินการเองโดยนักเรียน ไม่ว่าจะจัดคอนเสิร์ตหาทุน นั่งรถ บขส. ออกสำรวจพื้นที่ คำนวณวัสดุที่จะใช้ และหอบเงินหลายหมื่นไปซื้ออุปกรณ์ก่อสร้าง

ผมไปออกค่ายครั้งแรกในชีวิตที่บ้านหนองอียอ จังหวัดสุรินทร์ ตอนอายุ ๑๓ ขวบ ยังเป็นเด็กตัวกระเปี๊ยก รุ่นพี่มอบหมายให้อยู่ฝ่ายพยาบาล คอยแจกยาทำแผลให้แก่ชาวค่ายรวมถึงชาวบ้านที่มาขอยาด้วย ตำแหน่งนี้ชาวค่ายเรียกเสียโก้หรูว่า “อ้ายหมอ”

ในยุคก่อน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พ่อแม่จะอนุญาตให้เด็ก ๆ อย่างเราเดินทางไปต่างจังหวัดนานถึง ๒๐ วัน พวกเราจึงออกอุบายบอกทางบ้านว่าจะไปทัศนศึกษาที่ต่างจังหวัดกับทางโรงเรียนสัก ๓-๔ วัน หลังจากนั้นค่อยเขียนจดหมายมาสารภาพความจริงกับพ่อแม่ และถือโอกาสยืดเวลากลับบ้านออกไปอีก

พอขึ้นชั้น ม.ศ. ๒ ผมเป็นกรรมการค่ายคนหนึ่ง ปีนั้นทางกลุ่มฯ ตัดสินใจไปออกค่ายที่ขอนแก่น จุดหมายคือโรงเรียนบ้านเลิงแสงซึ่งมีนักเรียนประถมร่วม ๑๐๐ คน อาคารโรงเรียนแห่งนี้มีเพียงหลังคาคลุม พวกเราจึงไปช่วยต่อเติมฝาและเทพื้น

เวลาร่วมเดือนที่ต้องนอนกลางดินกินกลางทราย ทำให้เด็กนักเรียนจากเมืองกรุงซึ่งล้วนมีฐานะร่ำรวย ได้รู้จักชีวิตชนบทที่แท้ และรู้ซึ้งน้ำใจของชาวอีสาน สมาชิกค่ายได้รับมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบต่าง ๆ กัน ซึ่งล้วนเป็นงานที่ไม่เคยทำมาก่อน ไม่ว่าเวรหุงข้าวทำอาหารเลี้ยงคนคราวละ ๔๐-๕๐ คน เวรล้างจาน เวรโยธา ที่ต้องแบกไม้ หัดตอกตะปู หัดตีพื้น ไสไม้ด้วยกบ หัดผสมปูน เทปูน พอตกมืดค่ำต้องหัดก่อไฟ จุดตะเกียงเจ้าพายุ เพราะหมู่บ้านเลิงแสงไม่มีไฟฟ้าใช้

ชาวค่าย ๔๐-๕๐ คนที่ใช้ชีวิตร่วมกันเกือบเดือน หลายคนกลายเป็นเพื่อนสนิทกัน ทุกคนไม่เคยลืมประสบการณ์ครั้งนั้น ซึ่งพูดได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต

เด็กเมืองกรุงที่ใช้แต่ส้วมซึม ชักโครก ก็ได้รู้จักการ “ไปทุ่ง” เพราะห้องส้วมแบบคอห่านที่ขุดกันเองไม่เพียงพอกับคนครึ่งร้อย ตอนเช้ามืดจึงเห็นชาวค่ายเดินถือจอบถือเสียมออกไปตามท้องทุ่ง พอหาที่ลับตาได้ก็จัดแจงขุดหลุมส่วนตัว ทำการทิ้งระเบิด ไม่ลืมฝังกลบเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ

วันไหนชาวบ้านว่างเว้นจากการทำไร่ไถนา พวกเขาจะมาช่วยเราสร้างโรงเรียน บางคนสอนเราทำวงกบประตู หน้าต่าง สอนให้ใช้สิ่วสกัดแผ่นไม้ สอนให้ผสมปูน

งานหนึ่งที่เด็กเมืองกรุงรู้สึกว่ายากลำบากมาก ก็คือการหาบน้ำ ที่ต้องใช้ไม้คานพาดไหล่หาบถังเหล็กที่ถ่วงอยู่สองข้าง ถ้าหาบไม่เป็นจะเจ็บไหล่มากและจะรู้สึกว่าถังน้ำนั้นหนักผิดปรกติ เวลาเดินน้ำจะกระฉอกออกเหลือแค่ครึ่งถัง ชาวค่ายเดินหาบน้ำเก้ ๆ กัง ๆ วันละหลายสิบรอบกว่าน้ำจะเต็มตุ่ม อีนางหลายคนต้องสละเวลาเลี้ยงควายมาช่วยหาบน้ำกินจากบ่อที่อยู่ค่อนข้างไกล ด้วยความสงสารเด็กเมืองกรุง

bk
ส่วนเรื่องอาหารการกิน บางมื้อชาวบ้านก็แบ่งอาหารที่หาได้มาให้ เมนูคือ แมลงกินนูน แมลงกุดจี่ทอดรสชาติมัน ๆ ดักแด้ตัวไหมรสชาติเหมือนข้าวโพดต้ม อึ่งอ่างย่าง และกิ้งก่าปิ้ง ฉีกกินกับข้าวเหนียว

บางวันพวกเรามีโอกาสติดตามชาวบ้านเดินข้ามท้องนา พายเรือไปทอดแหจับปลาท้ายเขื่อนน้ำพอง ปรากฏว่าพ่อใหญ่จับได้ปลาช่อนตัวเท่าแขน ปลาขาวตัวเท่าฝ่ามือ จึงขนกลับมาค่ายซึ่งพี่น้องผองเพื่อนนึ่งข้าวเหนียวตั้งวงคอยท่าอยู่

ชาวบ้านผลัดกันมาดูแลชาวค่ายอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ชาวค่ายก็ผลัดเวรออกไปเยี่ยมชาวบ้าน ไปศึกษาชีวิตจริงของพวกเขา บางคนย่องเข้าไปดูในบ้านชาวบ้านซึ่งมีเพียงเสื่อและฟูกเป็นเฟอร์นิเจอร์

วันสุดท้ายมาถึง อาคารเรียนความยาว ๒๔ เมตรตีฝาอย่างสวยงามด้วยฝีมือเด็กนักเรียนเมืองกรุง สำเร็จลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ พวกเราเกิดความภูมิใจเล็ก ๆ ที่ในชีวิตนี้ได้ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น

ชาวบ้านจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญผูกข้อมือ อวยพรให้เดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยปลอดภัย มีการแลกที่อยู่เพื่อติดต่อกันทางจดหมาย ชาวค่ายโบกมือลา สัญญาว่าจะกลับมาเยี่ยมอีก หลายคนอดน้ำตาไหลไม่ได้

ปีแรก ๆ ก็มีการเขียนจดหมายติดต่อกัน พวกเราสัญญาว่าจะกลับไปเยี่ยมชาวเลิงแสง แต่ก็ผัดมาเรื่อย จนชาวค่ายเข้ามหาวิทยาลัย บางคนไปเรียนต่อต่างประเทศ กลับมาทำงาน แต่งงานมีลูกกันแล้ว ก็ยังไม่ได้กลับไปตามสัญญา

ขณะที่ชาวบ้านหมั่นเขียนจดหมาย ตั้งหน้าตั้งตารอคอยการกลับมาของชาวค่าย จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี เป็น ๑๐ ปี จนเลิกคิดว่าจะมีใครไปเยี่ยมพวกเขา

เกือบ ๓๐ ปีนั่นแหละ พวกเราจึงทำตามสัญญา นัดกันขับรถจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ขอนแก่น ไปเยี่ยมหมู่บ้านเลิงแสงอีกครั้ง ชาวบ้านแทบไม่เชื่อว่าพวกเราจะกลับไปเยี่ยมพวกเขาจริง ๆ เพราะการออกค่ายสร้างโรงเรียนเมื่อ ๒๘ ปีก่อน ได้กลายเป็นตำนานของหมู่บ้านนี้ไปแล้ว

คนเฒ่าคนแก่บางคนยังมีชีวิตอยู่ เด็กสาวหลายคนที่เคยมาช่วยหาบน้ำ กลายเป็นแม่ใหญ่ออกเรือนแต่งงานมีลูกมีหลานกันแล้ว บางคนก็ย้ายตามสามีไปอยู่จังหวัดอื่น

ชาวบ้านที่รู้จักหลายคนออกไปเป็นกรรมกรก่อสร้างทางด่วนในกรุงเทพฯ แต่หลายคนล่องใต้ไปขายไอติมรถเข็นถึงกระบี่ บอกว่ารายได้ดีกว่าทำไร่ไถนา

เด็กหนุ่มสาวในหมู่บ้านส่วนใหญ่ไปเรียนหนังสือในเมือง ปิดเทอมนั่นละจึงกลับมาเยี่ยมบ้าน เด็กรุ่นนี้เลี้ยงวัวกันไม่เป็นแล้ว ควายไม่ต้องพูดถึง เราแทบจะไม่เห็นควายตามท้องทุ่งเหมือนเมื่อก่อน เพราะชาวบ้านเปลี่ยนไปใช้ควายเหล็กกันหมด

นอกจากนี้เด็กยุคใหม่ยังติดไฟเตาถ่านไม่เป็น เพราะใช้เตาแก๊สกันแทบทุกบ้าน ไม่รู้จักการออกไปจับปลาหาผักตามท้องไร่ท้องนา เพราะมีรถขายกับข้าวเข้ามาถึงหมู่บ้านทุกวัน …เป็นเด็กอีสานรุ่นใหม่ที่ไม่กินแมลงกุดจี่ ปฏิเสธปลาร้า ปลาแดก

ถนนที่เคยเป็นลูกรัง กลายเป็นถนนลาดยาง ไฟฟ้ามาถึงหมู่บ้านสิบกว่าปีแล้ว

บ่อน้ำที่เราต้องเดินไปหาบน้ำ เปลี่ยนเป็นน้ำประปาหมู่บ้าน ต่อท่อถึงบ้าน ไม่มีใครหาบน้ำกันอีก ถังเหล็กหายไปหมดเหลือแต่ถังพลาสติก

เมื่อได้แวะเวียนไปเยี่ยมบ้านแต่ละหลัง จึงพบว่าทุกบ้านมีเครื่องเล่นวีซีดี ตู้เย็น วิทยุ โทรทัศน์ เป็นพื้นฐาน แถมบางบ้านมีเครื่องซักผ้าอีกต่างหาก

มอเตอร์ไซค์ที่จำได้ว่าทั้งหมู่บ้านเคยมีอยู่คันเดียว ตอนนี้ทุกบ้านมีกันหมด ไม่นับรถปิกอัปอีกหลายคัน

ส่วนโทรศัพท์มือถือแต่ละบ้านมีกันมากกว่าหนึ่งเครื่อง เกือบทั้งหมดเป็นยี่ห้อโนเกีย และระบบจีเอสเอ็ม ภาพชาวนาใช้โทรศัพท์มือถือกลางท้องนากลายเป็นภาพชินตา

เราเดินไปที่โรงเรียน อาคารไม้ที่สร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราถูกรื้อทิ้งไปร่วม ๑๐ ปีแล้ว แต่ยังเห็นเศษไม้กองทิ้งไว้ ที่มาแทนที่คืออาคารคอนกรีตหลังใหม่ ทว่าจำนวนนักเรียนกลับลดลงเหลือ ๖๐ กว่าคน เพราะพ่อแม่ยุคใหม่นิยมมีลูกไม่เกินสองคน

สองคืนในหมู่บ้าน ชาวบ้านจัดอาหารมาเลี้ยงต้อนรับสมกับที่พวกเขารอคอย เป็นอาหารอีสานรสชาติเดิมที่เราเคยกินเป็นครั้งแรกที่นี่ พวกเรานั่งหวนรำลึกถึงความหลังกันข้ามคืน ก่อนจากลา เราสัญญาว่าจะกลับมาเยี่ยมใหม่ มีการแลกเบอร์โทรศัพท์มือถือและเบอร์อีเมลกัน

ทุกอย่างอาจดูเปลี่ยนไป แต่ความทรงจำในอดีตไม่เคยเปลี่ยน

เป็นประวัติศาสตร์ส่วนตัวที่สร้างให้แต่ละคนเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
บรรณาธิการบริหาร

vanchaitan@yahoo.com