เรื่อง : นิรมล มูนจินดา
ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์

kudtiyaคิดว่า คนสนทนากันได้ นั่งคุยกันได้ สื่อสารกันชัดเจนได้  ทุกคนมีสิ่งที่ได้รับจากอัลเลาะห์อยู่ในจิตใจ ที่จะทำให้เข้าใจกันได้  เป็นจุดเริ่มต้นที่จะคุยกันได้และเริ่มต้นที่จะไปถึงสันติภาพได้  เพราะทุกคนในโลกนี้มีความดี ทุกคนมีความชั่ว  ถ้าเราแตะความดีกันได้ ก็มีหวังที่จะมีสันติภาพทุกฝ่าย  ส่วนอันที่ยังตรงกันไม่ได้ก็วางไว้ก่อน แล้วค่อย ๆ คุยกันตอนที่ใจเย็น

คำเดียวเรื่องอิรักนะคะ “เศร้า”  เศร้ามาก และยิ่งเห็นข่าว (ที่ทหารอเมริกันกระทำกับนักทโทษชาวอิรัก) ที่ออกมา เศร้าที่สุด  คิดว่าประชาชนอเมริกันทั่วไปที่เขาเห็นข่าวนี้  ต้องมี reaction มาก เพราะคนอเมริกันโตขึ้นโดยเชื่อว่าคนอื่นทำแต่พวกเรา เราไม่ทำคนอื่นนะ  จำได้ตอนเป็นวัยรุ่นอยู่ที่อเมริกา เคยได้ยินว่าในช่วงสงครามโลกญี่ปุ่นและเยอรมันโหดร้ายมาก ทำร้ายเชลย  และคนอเมริกันก็จะพูดว่า พวกเราอเมริกันจะไม่ทำอย่างนี้  เดี๋ยวนี้เขาพูดไม่ได้ เพราะเขาทำเหมือนกัน  เห็นข่าวที่เกิดขึ้นในอิรักก็เชื่อว่า ประชาชนอเมริกันเห็นแล้วก็คงจะเสียใจมาก

แต่ในความคิดของเรา เวลาที่ทุกคนเข้าไปที่สมรภูมิและถือปืนฆ่ากัน เขาต้องมี effect กับสุขภาพจิต  ทุกคนที่อยู่ในสมรภูมิซึ่งจะต้องยิงกัน จะฆ่ากันต้องกลัวมาก  มันทำให้ทุกฝ่ายเปลี่ยนแปลง  เพื่อนผมตาย เพื่อนฉันตาย ฉันโกรธมาก ฉันจะไปทำเขา และจะเริ่มไปแบบนี้  อาชญากรรมที่ฉันเห็นนะคะคือสงคราม  “การฆ่า” คำนี้เป็นอาชญากรรมอยู่แล้ว  ชีวิตทุกคนมาจากอัลเลาะห์องค์เดียว  มีแต่อัลเลาะห์องค์เดียวที่จะมีสิทธิ์เอาคืน  และถ้าหากถูกกระทำก็มีสิทธิ์สู้เพื่อป้องกันตัว แต่ก็ไม่มีสิทธิ์เอาชีวิตคนอื่น เพราะชีวิตเป็นของอัลเลาะห์

………….

เกิดที่เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา บิดามีเชื้อสายตุรกีแต่เติบโตในยุโรปและอเมริกา มารดามีเชื้อสายอิหร่าน  พออายุสองขวบโยกย้ายตามบิดาซึ่งเป็นนักวิชาการและนักการศึกษาไปใช้ชีวิตในประเทศต่าง ๆ ในแถบอเมริกาใต้  ขัตติยา ชลายนเดชะ เติบโตในครอบครัวมุสลิมที่สนับสนุนให้ลูก ๆ ทั้งหญิงและชายได้ศึกษาในระดับสูง  “คุณพ่อบอกว่าถึงร่างกายผู้ชายจะแข็งแรงกว่า แต่สมองไม่ได้ต่างกัน และในอนาคตผู้หญิงจะต้องคล่องตัวด้วย”  ลูก ๆ ในครอบครัวยังถูกฝึกให้ใช้ภาษาอังกฤษ สเปน และฝรั่งเศส พูดคุยกันในโต๊ะอาหารเย็น  ส่วนภาษาดั้งเดิมของบิดามารดานั้น ขัตติยาบอกว่า เธอรู้จักภาษาอิหร่านเป็นบางคำและไม่ได้ใช้ภาษาตุรกีเลย

สิ่งสำคัญที่คุณพ่อสอนคือ ให้ดูชีวิตรอบตัว เช่น ที่โบลิเวียสมัย ๕๐ ปีก่อนนั้นยากจนมาก มากจนคุณนึกไม่ถึง เพราะจะไม่เห็นที่นี่  ประชาชนที่นั่นจะแบ่งแยกชนชั้นมาก  ที่เราพักอยู่เป็นโรงแรมหรู ๆ อยู่ในเมืองหลวงชื่อลาพาส แปลว่าสันติภาพ  แต่เขามีสันติภาพโดยปืนค่ะ ใครขัดข้องก็จัดการ  คุณพ่อพาไปยืนบนระเบียงหน้าห้องที่โรงแรม แล้วให้มองลงไปข้างล่างซึ่งเป็น town square เป็นศูนย์กลางของเมืองที่คนจะนั่งพัก นั่งคุยกัน ทำอะไรทุกอย่าง  แล้วคุณพ่อให้เลือกผู้ใหญ่สองคนกับเด็กคนหนึ่ง นับเป็นสองครึ่ง คือให้เด็กเท่ากับผู้ใหญ่ครึ่งคน  ฉันเลือกผู้ใหญ่สองคนกับเด็กคนหนึ่ง  คุณพ่อบอกว่าคนที่ลูกเลือกเขาจะกินอิ่มตลอด ส่วนคนอื่นที่ลูกไม่ได้เลือกจะหิวตลอดชีวิต  เขาอยากจะให้เข้าใจตัวเลขสถิติที่บอกว่า คนที่อดอยากยากจนมี ๙๗.๕ เปอร์เซนต์ ส่วนคนกินอิ่มมี ๒.๕ เปอร์เซนต์ นั้น ไม่ใช่ตัวเลข แต่เป็นคนจริง ๆ  คนที่อดอยากจะนอนหิวทั้งคืนจากวันเกิดถึงวันตาย  คุณพ่อยังให้เลือกอีกแต่จำไม่ได้ว่าเท่าไหร่  บอกว่าคนที่เลือกเขาจะมีบ้านส่วนตัว ส่วนคนที่เหลือไม่มีบ้าน จะต้องกินนอนอาศัยคนอื่นตลอดชีวิต  คุณพ่อหัดตั้งแต่เล็กว่า สถิติที่พูดถึงกันนี้เป็นชีวิตคน

“คุณพ่อจะสอนว่า ที่อัลเลาะห์ให้เราอยู่ในโลกนี้ก็เพื่อทำให้ดีขึ้น  อยู่-เพื่อทำให้ดีขึ้น  ปรับให้ตัวเองดีขึ้น แล้วก็ทำให้โลกนี้ดีขึ้น  บางทีทุกคนก็ต้องเจออะไรที่ไม่ชอบ แต่พ่อบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณเห็น ที่คุณไม่ชอบ หรือถูกกระทำ เป็นบทเรียนจากอัลเลาะห์ที่คุณต้องรู้ว่า อย่าไปทำอันนี้ต่อคนอื่น”

ขัตติยาเรียนจบชั้นประถมและมัธยมต้นในโรงเรียนคอนแวนต์ใน่เปอร์โตริโก แล้วย้ายกลับไปเรียนมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยด้านอักษรศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา  หลังจบการศึกษาเข้าทำงานในห้องสมุดของเมืองลิงคอร์น รัฐเนบราสกา  ก่อนจะย้ายเข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นพนักงานในห้องสมุดของ Asian Pacific Development Institute และทำธุรกิจตามลำดับ

ก่อนจะมาเมืองไทยแรก ๆ มีคนบอกว่า เวลาคุณไปเมืองไทย คุณจะต้องระวังมาก เพราะผู้หญิงไทยเขาต้องวางตัวดี มีอะไรกับผู้ชายไม่ได้เลย  เมืองไทยจะสตริ๊กมาก ไม่เหมือนที่อเมริกา  พอมาเจอจริง ๆ ก็รู้สึกว่า อิสระมากกว่าที่คิด  เดินที่ดอนเมืองก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่งที่สวยมาก  โอ้โห แต่งตัวเต็มที่ไม่เคยเห็น  ฉันก็ชมว่าคนนี้สวยมาก ก็มีคนบอกว่าอันนี้ไม่ใช่ผู้หญิง อันนี้กะเทย  คืออะไรกะเทย เขาก็บอกว่า คือผู้ชายที่แต่งตัวเป็นผู้หญิง เป็นไปได้อย่างไร อย่างนี้มีเหรอ  ยังไม่เคยเห็นที่อเมริกามาก่อน ผิดกฎหมาย  นั่นพูดถึงอเมริกาเมื่อ ๓๕ ปีก่อนนะคะ

ขัตติยาแต่งงานกับ ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ นักประวัติศาสตร์มุสลิม ผู้เขียนหนังสือมุสลิมในประเทศไทย และเป็นผู้ตั้งชื่อภาษาไทยให้ใกล้เคียงกับชื่อภาษาอาหรับว่า คะดีจะห์ (Khadijah)  ขัตติยาโอนสัญชาติจากอเมริกันมาถือสัญชาติไทยเมื่อ ๓๓ ปีก่อน

เมื่อก่อนดิฉันรู้สึกว่าเหมือนคนไม่มีสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งโดยเฉพาะ  คือไม่ได้อยู่อิหร่านไม่ได้อยู่ตุรกีที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นคนเชื้อสายอิหร่านหรือเป็นคนเชื้อสายตุรกีได้  และไม่ได้รู้สึกเป็นอเมริกันเท่าไร เพราะเวลาที่อยู่ในวัฒนธรรมของเขาก็รู้สึกเหมือนว่าเราเป็นคนอื่น  มีความคิดความเห็นและอัธยาศัยที่ไม่เหมือนกัน  รู้สึกว่าคนที่เกิด เติบโต และใช้ชีวิตในหลายประเทศแบบดิฉันจะลอย ๆ  แต่เดี๋ยวนี้ที่รู้สึกว่าชอบเป็นบ้านมากที่สุดก็คือเมืองไทย  ชอบที่นี่ และก็ชอบที่ทุกอย่างที่นี่  คนก็เข้ากันได้  ทุกศาสนาเข้ากันได้ ไม่มีใครบีบบังคับคนอื่น  อย่างที่มัสยิดต้นสนก็มีสุสานสุหนี่กับชีอะห์อยู่ด้วยกันน่ารักมาก

ชอบมากที่คนไทยเป็นคนสุภาพ มีกิริยามารยาท มีวัฒนธรรมโบราณอย่างที่เป็นไทย ๆ  ชอบดูละครสี่แผ่นดินทุกครั้งที่ทำออกมา  อีกเรื่องหนึ่งเป็นละครโบราณคือ แต่ปางก่อน  ดูอะไรที่เป็นไทย ๆ แล้วจะมีความสุข

ปัจจุบันขัตติยาทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการในบริษัทบริการประสานงาน รับจัดหาคนงาน และรับทำอาหารให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่ขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียมและแก้สในประเทศไทย  ในขณะเดียวกันก็สนใจงานเพื่อสันติภาพ
สิ่งที่อยากทำจริง ๆ ถ้ามีเวลาว่างคือ อยากทำงานเพื่อสันติภาพ  อยากแปลงานที่คนไทยเขียนเป็นภาษาอังกฤษให้กระจายทั่วไป  ให้คนรู้ว่าสันติภาพคืออะไร เป็น peace reporting  ส่วนมากเวลาคนเขียนข่าวจะพูดถึงคนตีกัน รบกัน ฆ่ากัน แต่พีซรีพอร์ติงจะดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตคนที่อยู่ในนั้น และจะดูทั้งสองฝ่ายว่าชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไร  ดูถึงความทุกข์ทรมานเวลาที่ลูกดูศพพ่อที่เป็นตำรวจ หรือพ่อที่ต่อสู้เพื่อป้องกันตัวเองหรือเพื่อประชาชน หรือเวลาที่พ่อแม่มารับศพลูก ก็ให้ดูว่าสองฝ่ายมีหัวใจและได้รับผลกระทบอย่างไร  คนทุกฝ่ายจะได้เข้าใจกัน จะได้ไม่ฆ่ากัน ไม่เกลียดกัน