เรื่อง วันชัย ตัน , ภาพประกอบ : DINHIN

artเป็นที่รู้กันว่า โรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชื่อดังทุกแห่ง จะต้องมีนักชิมเหล้าหรือนักชิมไวน์ เป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุมรสชาติให้ได้คุณภาพสม่ำเสมอ

คนเหล่านี้ยังทำหน้าที่คิดค้นเครื่องดื่มรสชาติใหม่ ๆ ด้วย

อาชีพนี้ใช้ลิ้นชิมรส ใช้จมูกดมกลิ่น

ในวงการน้ำหอมก็มีคนทำหน้าที่ดังว่าเช่นกัน เรียกว่า นักปรุงน้ำหอม

ฌอง คลาวด์ เอลลีนา นักปรุงน้ำหอมชื่อดังแห่งปารีส กล่าวว่า อาชีพสร้างกลิ่นต้องใช้สมาธิสูงมาก ถึงขนาดเวลานอนยังฝันถึงกลิ่นหอม

“บางคืนผมต้องลุกขึ้นมาเดินรอบ ๆ สวนหน้าบ้าน เพื่อให้เลิกฟุ้งซ่านเรื่องกลิ่นต่าง ๆ”

เอลลีนาเป็น ๑ ใน ๕๐ นักปรุงน้ำหอมของฝรั่งเศส  คนเหล่านี้มีจมูกเป็นเลิศในการแยกแยะกลิ่นหอมต่าง ๆ ได้หลายพันกลิ่น

เมื่อเร็ว ๆ นี้เขาให้สัมภาษณ์ว่า การทำน้ำหอมระดับโลกในปัจจุบันกำลังเดินทางผิด เพราะเชื่อนักการตลาดมากเกินไป

“บริษัทผู้ผลิตน้ำหอมมักจะออกแบบสอบถามไปยังผู้บริโภค ว่าต้องการกลิ่นแบบใด ให้ความสำคัญกับออกแบบขวดน้ำหอมและทำแผนการตลาดมากกว่าตัวน้ำหอม จนลืมไปแล้วว่า การปรุงน้ำหอมเป็นงานศิลปะ” เอลลีนากล่าว

“การปรุงน้ำหอมไม่ใช่การตอบโจทย์ทางการตลาด แต่เป็นเรื่องของการสร้างความพอใจ และความปรารถนาดีต่อมนุษย์” เขาพูดให้คิด

“หน้าที่ของคนปรุงน้ำหอมคือการสร้างความพึงพอใจที่ดี แต่ไม่ใช่การเอาใจลูกค้า” เอลลีนาย้ำ

เวรอนิก กอลิเตร์ หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์น้ำหอมของแอร์เมส กล่าวยอมรับว่า บริษัทน้ำหอมเริ่มหันมาทบทวนวิธีการทำตลาด ให้ความสนใจกับกระบวนการผลิตน้ำหอม มากกว่าความต้องการของลูกค้า

“หากคุณต้องการเอาใจตลาดโดยผลิตน้ำหอมกลิ่นที่ลูกค้าต้องการ แน่นอนว่าในระยะแรกคุณจะขายได้ดีมาก แต่สุดท้ายคุณจะขายไม่ได้ เพราะคนที่ใช้น้ำหอมเป็น คงไม่ต้องการใช้น้ำหอมกลิ่นเดียวกับที่คนอื่นนิยมใช้กันเกลื่อนถนน”

น้ำหอมคุณภาพดีแต่ละชนิดจึงไม่สามารถเพิ่มยอดขายได้ในท้องตลาด เพราะหากขายมากเกินไป น้ำหอมชนิดนั้นก็จะกลายเป็นน้ำหอมโหล ๆ

คนที่ใช้น้ำหอมเป็น จึงมักเลือกน้ำหอมที่เหมาะกับบุคลิกของตัวเอง หรือใช้น้ำหอมกลิ่นดี ด้วยความอยากรู้ว่า คนปรุงน้ำหอมคิดอะไรจึงสามารถปรุงน้ำหอมชนิดนั้นออกมาได้อย่างดีเลิศ

แอร์เมสจ้างเอลลีนาในวัย ๕๗  มาปรุงน้ำหอมให้บริษัท โดยสร้างห้องปรุงน้ำหอมอยู่กลางสวนแบบเมดิเตอร์เรเนียน เต็มไปด้วยดอกไม้สีน้ำเงินและสีฟ้า  ห้องปรุงน้ำหอมที่ว่านี้อยู่ที่แกรส–เมืองหลวงของการทำน้ำหอมในฝรั่งเศส

เอลลีนาเริ่มเป็นนักปรุงกลิ่นหอมมาตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี แต่ละครั้งเขาจะดมกลิ่นชนิดต่าง ๆ ราวสี่ห้าชนิด เพื่อคิดปรุงแต่งน้ำหอมกลิ่นใหม่ ๆ และใช้เวลาตั้งแต่ ๑ เดือนถึง ๔ ปี กว่าจะผลิตน้ำหอมแต่ละกลิ่นได้เสร็จสมบูรณ์

“น้ำหอมแต่ละชนิดมีที่มาต่างกัน ชนิดหนึ่งได้อิทธิพลจากกลิ่นขนมทาร์ตไส้สับปะรดและไส้ขิง น้ำหอมอีกชนิดได้อิทธิพลจากต้นโอ๊กที่ถูกโค่นลงมา และอีกชนิดได้อิทธิพลจากพริกไทย

“หลายครั้งที่ผมคิดถึงกลิ่นน้ำหอมที่ต้องการได้ตอนถูกน้ำราดหัว”

เอลลีนาเป็นนักปรุงกลิ่นหอมชื่อดังคนหนึ่งของโลก น้ำหอมที่สร้างชื่อให้เขามากที่สุดคือ “First” น้ำหอมคลาสสิกของโลก ออกสู่ท้องตลาดในปี ๒๕๑๙

น้ำหอมชั้นดีแต่ละขวดจึงเหมือนงานศิลปะของศิลปินน้ำหอม กว่าจะปรุงกลิ่นออกมาได้ ต้องผ่านการบ่มกลั่นทางความคิดอันยาวนาน

ถึงตรงนี้คงได้คำตอบว่า ทำไมน้ำหอมชั้นดีจึงราคาแพง