ยัติภังค์
ในวงการภาพยนตร์ที่ปีหนึ่งๆ ผลิตออกมาจำนวนมหาศาลป้อนอุตสาหกรรม มีหนังจำนวนมากทีเดียวที่อาจไม่ได้ทำเงิน และเป็นที่รู้จักในวงกว้าง(แม้แต่ภายในประเทศเอง) และถูกลืมเลือนรวมถึงในเวทีการมอบรางวัล ซึ่งบ่อยครั้งการมองปัจจัยความสำเร็จเพียงถ่ายเดียวก็ทำให้เราอาจมองข้ามคุณค่าและความยอดเยี่ยมในผลงานชิ้นนั้นไปอย่างน่าเสียดาย ดังเช่น Kiba: The Fangs of Fiction (2020) ผลงานดัดแปลงจากนิยายของ ทาเคชิ ชิโอตะ ที่กำกับโดยผู้กำกับฝีมือดีอย่าง ไดฮาชิ โยชิดะ(The Kirishima Thing – 2012) แม้จะเป็นงานรวมดาราของญี่ปุ่น แต่ด้วยการเลื่อนฉายจากสถานการณ์โควิด-19 และการเป็นหนังที่เน้นเล่าเรื่องในวงธุรกิจ ทำให้มันไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้มากนัก
ฉากเปิดเรื่องของ Kiba: The Fangs of Fiction (2020) นับเป็นคำอธิบายประเด็นของงานชิ้นนี้ได้เป็นอย่างดีในความหมายของ “ทุกอย่าง(รวมถึงธุรกิจ) ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป …และรอการเกิดใหม่”
มันเป็นฉากตัดสลับระหว่างสองเหตุการณ์ในช่วงของเช้าวันเดียวกันที่เริ่มต้นอย่างเรียบง่ายก็จะแปรเปลี่ยนอารมณ์ให้ค่อยๆ ตื่นเต้น ชายชราคนหนึ่งกำลังวิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง โดยจูงสุนัขที่เลี้ยงวิ่งนำหน้า กับ ภาพในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งขณะ เมกุมิ(มายุ มัตสึโอกะ) กองบรรณาธิการนิตยสารวรรณกรรมประจำสำนักพิมพ์ กุนปุ ที่บังเอิยไปอ่านต้นฉบับผลงานนิยายที่ส่งมาให้พิจารณาเรื่องหนึ่ง ไม่นานเธอก็เพลิดเพลินกับการอ่านผลงานชิ้นนี้พลิกหน้าแล้วหน้าเล่าโดยไม่อาจละสายตา และอ่านมันจนจบ ขณะที่อีกด้านของสวนสาธารณะ สุนัขของชายชราก็เกิดวิ่งเร็วขึ้นๆ จนเขาเหนื่อยหอบ และไม่สามารถดึงเหนี่ยวรั้งให้มันชะลอการวิ่งลงได้ ก่อนเขาจะหัวใจวายล้มลงเสียชีวิตไปในที่สุด
แท้จริงชายชราคนดังกล่าวคือ คิโนสึเกะ อิบะ เจ้าของสำนักพิมพ์กุนปุ หนึ่งในสำนักพิมพ์รายใหญ่ของญี่ปุ่น การเสียชีวิตดังกล่าวเปรียบสะท้อนถึงกระแสธารความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วในโลกยุคใหม่ที่ข้อมูลและสื่อใหม่เกิดขึ้นบนออนไลน์กลายเป็น ‘คมเขี้ยว’ ที่กระทบถึงธุรกิจสิ่งพิมพ์จนเกินจะต้านทานไหว แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ยังคงได้รับความนิยมอยู่มาก ภายในงานศพที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ของเขา เกมการเมืองในบริษัทก็เริ่มต้นขึ้นทั้งเพื่อรักษาตำแหน่งแห่งที่ บ้างก็คิดหาทางปรับปรุงให้ธุรกิจนี้อยู่รอดไปตลอดรอดฝั่ง กับอีกหนึ่งความคิดที่มองถึงขั้นรื้อโครงสร้างธุรกิจเดิมแบบถอนราก
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสายอนุรักษ์ กองบรรณาธิการนิตยสารกุนปุวรรณกรรม ที่เดิมเคยสร้างชื่อเป็นหน้าเป็นตาให้กับบริษัท หากปัจจุบันกลับเป็นแผนกที่ประสบปัญหาขาดทุนมากที่สุด มีการใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลืองเกินจำเป็น, การเข้ามาของ ฮายามิ(โย โออิซุมิ) คนในแวดวงสิ่งพิมพ์ที่ชื่อเสียงไม่ค่อยดีนักที่เข้ามากุมบังเหียนเป็นบรรณาธิการบริหารแผนกนิตยสาร, และการเสนอโครงการ KIBA จากซีอีโอคนใหม่ โทมัตสึ(โคอิจิ ซาโต้) ที่คิดจะสร้างบริษัทผลิตสื่ออนิเมชั่น มัลติมีเดีย และละครโทรทัศน์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ในบริษัทแต่ก็ต้องงัดข้อกับบุคลากรเก่าแก่จำนวนมาก
เมกุมิต้องเข้ามาร่วมงานกับฮายามิ บรรณาธิการบริหารคนใหม่ จากความเป็นคนอยู่ไม่เป็นของเธอที่นอกจากไม่มีตำแหน่งแห่งที่สำคัญในกองบรรณาธิการ ยังไปวิจารณ์นิยายของนักเขียนดังของสำนักพิมพ์ อีกทั้งความพยายามเสนอต้นฉบับนิยายของนักเขียนหน้าใหม่ที่เธอได้อ่านก็ไม่ผ่านการเห็นชอบด้วยความเห็นส่วนใหญ่ที่มองว่ามันแหวกแนวเกินไป ทำให้เธอต้องออกจากงานและถูกชวนให้มาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของฮายามิ
นอกเหนือจากคำบอกเล่าถึงการรุกคืบจากบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Amazon ที่เข้ามาตีตลาดอีบุ๊คอย่างหนักในญี่ปุ่น รวมถึงข่าวบนหน้าจอโทรทัศน์ที่บอกสภาวะของสำนักพิมพ์ใหญ่แห่งนี้ที่กำไรหดตัวลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โลกภายนอกในเรื่องก็แสดงให้เห็นการเสื่อมความนิยมของสื่อสิ่งพิมพ์ด้วยเช่นกัน บ้านของเมกุมิ พ่อวัยกลางคนของเธอดำเนินกิจการร้านหนังสือเล็กๆ ที่แทบไม่มีคนเข้า เด็กส่วนใหญ่มักมาอ่านมังงะฟรี และบอกว่าถึงอ่านไม่จบพรุ่งนี้ หรืออีกไม่กี่วันก็มีคนมาสแกนให้อ่านฟรีๆ บนออนไลน์กันแล้ว ส่วนพ่อที่ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงยังพยายามรักษาลูกค้าที่ต้องการซื้อหนังสือที่ไม่มีในร้าน ด้วยการรับปากว่าจะหามาให้พรุ่งนี้ และใช้วิธีเดินไปซื้อร้านหนังสือเชนใหญ่ที่ไกลจากละแวกนั้น
เหตุการณ์ต่อจากนั้นคือความพยายามปั้น Trinity นิตยสารสายวัฒนธรรมที่ยอดขายตกหล่นให้กลับมาโดดเด่นขายดีของฮายามิ ทั้งการนำเสนอนิยายของนักเขียนดังประจำสำนักพิมพ์ในรูปแบบมังงะ ไปจนปั้นนักเขียนหน้าใหม่ที่หลายคนคาดไม่ถึง รวมไปถึงการตามหานักเขียนชื่อดังในตำนานคนหนึ่งของเมกุมิ พร้อมกับการขับเคี่ยวชิงไหวชิงพริบของขาใหญ่มากเขี้ยวเล็บในองค์กรแห่งนี้
ชื่อของหนัง Kiba: The Fangs of Fiction ยังชวนให้ขบคิดระหว่างความหมายของคำว่า Fiction(นิยาย) ที่อาจจะตีความถึงเขี้ยวเล็บของคนทำงานในสำนักพิมพ์แห่งนี้ที่งัดข้อกันชิงความเป็นใหญ่ หรือจะตีความหมายถึงนิยายจากนักเขียนชื่อดังที่กลายเป็นกุญแจสำคัญที่คนต่างตามหา ไปจนมองในความหมายของภาพลวงถูกมองข้ามจากเหตุการณ์หักมุมในช่วงท้ายก็ได้เช่นกัน
หากที่งดงามกว่านั้น หนังเรื่องนี้ยังชวนให้ตั้งคำถามถึงคุณค่าที่แท้จริงของ ธุรกิจ – ศิลปะ – บรรณาธิการ
ขณะที่ผู้คนกำลังหาทางแย่งชิงผลประโยชน์มหาศาลในบริษัทโดยที่ตระหนักว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์อาจไม่มีทางออกมากไปกว่าการประชาสัมพันธ์ หรือปรับตัวให้ทันสมัยยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เมกุมิตัวเอกของเรื่องผู้มีสถานะไม่ต่างจากผู้สังเกตการณ์ที่ถูกดึงไปอยู่ในจุดต่างๆ ก็มาพร้อมสายตาชวนสงสัยว่านี่อาจไม่ใช่วิถีการทำงานที่สร้างสรรค์ เหมาะสมกับกับงานทุกชิ้น แล้วร้านหนังสือเล็กๆ ของพ่อเธอ หรือผลงานวรรณกรรมที่เธอเชื่อว่ามีคุณค่าจะมีตำแหน่งแห่งที่ตรงไหนในโลกธุรกิจเช่นนี้กัน ?
แต่ในอีกด้านหนึ่งหนังก็ไม่ได้มองโลกธุรกิจในด้านลบเสียหมด เพราะหากไม่มีความเปลี่ยนแปลง ไม่เกิดการแข่งขันไม่ว่าจะทั้งปัจจัยภายนอกของสื่อใหม่ที่รุกคืบ หรือภายในองค์กรแห่งนี้ ก็คงไม่อาจเกิดการกลับมาทบทวนคุณค่าของร้านหนังสืออิสระ ที่ยังมีข้อดีของมัน นำไปสู่โมเดลธุรกิจอีกแบบขึ้นในช่วงท้ายเรื่อง
ไปจนถึงความรู้สึกพ่ายแพ้สยบยอมของฮายามิก็กดดันให้เขากลับมาตระหนักถึงหน้าที่ของบรรณาธิการอีกครั้ง ที่ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไร ความสามารถและงานของเขาก็จะยังคงมีต่อไป
จะด้วยเพราะผลกระทบที่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต หรือเพราะเนื้อหาที่ไม่ดึงดูดเพียงพอก็ตาม เราจึงไม่ค่อยเห็นงานที่นำเสนอประเด็นนี้ในหนังและซีรี่ส์โทรทัศน์จากสหรัฐอเมริกามากนัก ทั้งที่ยุคหนึ่งเรื่องราวในแวดวงแมกกาซีน คือเนื้อหายอดนิยมในหนังและซีรี่ส์ที่ตีตลาดกลุ่มผู้หญิงวัยทำงาน (โดยไม่จำเป็นต้องนับรวมถึงสื่อจากประเทศอื่นที่น้อยกว่ามาก)
Kiba: The Fangs of Fiction จึงไม่เพียงสะท้อนการแข่งขันห้ำหั่นกันในวงการธุรกิจนี้ได้อย่างสนุกอย่างเหนือคาดหมาย มันยังเป็นภาพยนตร์ไม่กี่เรื่องที่บันทึกความผันผวนของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในโลกยุคใหม่ได้อย่างละเอียดครบถ้วนมากที่สุดเรื่องหนึ่ง