เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย : รายงาน
บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ : ถ่ายภาพ

delivery1
เชื่อไหม…การกินผักเป็นอาหารหลัก อาจทำให้คุณตายเร็วขึ้น กลิ่นที่คุ้นเคยยามหยิบกะหล่ำปลีสดเข้าปาก แท้จริงคือกลิ่นยาฆ่าแมลง อ้าว ! ไหนใคร ๆ ก็บอกว่า กินผักสดมาก ๆ สุขภาพจะแข็งแรง กะหล่ำปลีอุดมไปด้วยวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แน่นอน…แต่ถ้านั่นเป็นผักที่เติบโตมาด้วยสารเคมี…ผลที่ได้อาจเป็นตรงกันข้าม ! เอาละ ทีนี้ฉันอยากจะเป็นผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้นอีกนิดหนึ่ง…พอไปซูเปอร์มาร์เกต เห็นผักที่ติดป้ายคำว่า “ปลอดสารพิษ” หรือ “อนามัย” ก็คว้ากลับมาทำกับข้าว
เฮ้อ…ค่อยสบายใจขึ้นมาอีกหน่อย

แต่…เดี๋ยวก่อน…คุณเข้าใจคำเหล่านั้นที่ประทับไว้บนสินค้ามากแค่ไหน

เคยคิดหรือไม่ว่า…เราอาจกำลังตกเป็นเหยื่อของกระแสการตลาดเพื่อสุขภาพก็เป็นได้

นวพรรษ จินดารัตนวรกุล ฝ่ายการตลาดภายในประเทศ สหกรณ์กรีนเนท ซึ่งดำเนินธุรกิจส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์เกษตรธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“ผักปลอดสารพิษ หรือผักอนามัย คือผักที่ใช้สารเคมีในการปลูกได้ แต่ใช้ในระดับที่กำหนด และต้องทิ้งช่วงเวลาก่อนตัดไปขาย แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้เรื่องการสะสมของสารพิษ
‘ปลอดสาร’ เป็นคำที่น่ากลัวสำหรับกระแสตอนนี้ เพราะไม่มีใครลงไปตรวจสอบว่า ปลอดสารคือแค่ไหน เราไม่อยากให้ผู้ผลิตใช้โอกาสของกระแสในการกอบโกย โดยไม่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค”

แล้วมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ไหม…อย่าพูดถึงการปลูกผักกินเองเลย เพราะนั่นคือชีวิตอุดมคติที่ไม่มีวันเป็นไปได้ โดยเฉพาะสำหรับคนกรุงที่หมดเวลาไปกับการทำมาหากิน

การบริโภคผักเกษตรอินทรีย์จากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะปัจจุบันทั่วโลกต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า อาหารที่ได้จากกระบวนการเกษตรอินทรีย์ คืออาหารที่ดีที่สุดต่อสุขภาพ

เกษตรอินทรีย์ คือการทำเกษตรกรรมโดยพึ่งพากลไกธรรมชาติ ยึดหลักการสร้างสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ปฏิเสธกระบวนการดัดแปรพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) และการใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิด ทั้งปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต เน้นการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ฟื้นฟูระบบนิเวศ ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติ เช่น ปลูกตะไคร้หอมเป็นพืชร่วมในแปลงผักคะน้า เพื่อขับไล่แมลงศัตรูพืชของผักคะน้า รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองด้านปัจจัยการผลิต

ผู้ที่บริโภคผักเกษตรอินทรีย์ นอกจากจะมีสุขภาพดี ปลอดภัยจากสารเคมีแล้ว ยังได้ช่วยให้เกษตรกรไทยมีสุขภาพแข็งแรงและมีรายได้ที่มั่นคง และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ มาถึงขั้นนี้ หลายคนคงกำลังคิดในใจว่า อืม…ฟังดูดี แต่…ผักอินทรีย์ไม่ได้วางขายในตลาดแถวบ้านนี่ ฉันไม่มีเวลาไปหาซื้อที่ร้านไกล ๆ หรอก

สหกรณ์กรีนเนทเข้าใจอุปสรรคข้อนี้ของคนกรุง จึงได้พยายามอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค เท่าที่ศักยภาพของสหกรณ์ฯ จะทำได้ โดยจัดให้มีบริการส่งตรงผักสดถึงบ้านในลักษณะการเป็นสมาชิก บริการนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่ ๑๐ ปีที่แล้ว พร้อมๆ กับการก่อตั้งสหกรณ์กรีนเนท “ค่าผักสำหรับสมาชิกคือเดือนละ ๘๐๐ บาท ชำระล่วงหน้า ๓ เดือน เราจะจัดผักอินทรีย์ตามฤดูกาลให้ประมาณสัปดาห์ละ ๓-๔ กิโลกรัม โดยเรามีรายการผักให้สมาชิกเลือกดูว่า ผักชนิดไหนชอบกินมากที่สุด พอกินได้ และไม่กินเลย พอผักมา เราก็จะจัดให้ตามลำดับตัวเลือกของเขา ประมาณ ๕-๖ อย่างต่อสัปดาห์ จัดส่งสัปดาห์ละครั้ง ข้อดีของการเป็นสมาชิกคือจะได้ความหลากหลายกว่า เพราะผักบางชนิดที่มาน้อย เราจะจัดให้สมาชิกก่อน ที่เหลือจึงไปส่งตามห้าง นอกจากนี้ถ้าสมาชิกต้องการผลิตภัณฑ์อินทรีย์อื่น ๆ เช่น ข้าว ธัญพืช ชาสมุนไพร ซีอิ๊วขาว น้ำมันงา กะปิ เราก็จัดส่งให้พร้อมกันได้ด้วย”

delivery2

นวพรรษบอกว่า จำนวนสมาชิกขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่เสมอ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ ๓๐ คน เมื่อก่อนอาจจะมีถึง ๕๐ แต่บางช่วงก็ลดลงจนเหลือแค่ ๑๐ คน เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยปัจจัยหลายอย่าง “ปัจจัยเรื่องการจัดการของเราเองที่ไม่สามารถไปส่งได้ทุกพื้นที่ ถ้าเราไปส่งแค่ถุงเดียวที่รังสิต ก็ไม่คุ้ม ดังนั้นสมาชิกส่วนใหญ่จะมีบ้านอยู่ใกล้กับเรา พื้นที่ที่จัดส่งก็ครอบคลุมสีลม บางรัก สาทร สุขุมวิท ลาดพร้าว สุทธิสาร ห้วยขวาง แต่ถ้าไม่อยู่ในพื้นที่นี้ จะต้องรวบรวมสมาชิกให้ได้อย่างน้อย ๕ ครอบครัวในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เราจึงจะจัดส่งให้ได้

“ราคาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สมาชิกลดลง ผักอินทรีย์มีราคาสูง แม้จะไม่ต้องซื้อปุ๋ย แต่เราต้องใช้เวลาลงไปเยอะ และเราทำเกษตรอินทรีย์ที่เป็น Fair Trade คือ ระบบการค้าที่เป็นธรรม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของเกษตรกร ให้ได้ผลตอบแทนที่สมดุล “นอกจากนี้ผักที่ไม่ค่อยหลากหลายในแต่ละฤดูกาล อาจทำให้ผู้บริโภคเบื่อ เพราะต้องกินผักซ้ำๆ กัน แต่ที่ถูกต้องคือควรจะเลือกกินผักตามฤดูกาล เพราะถ้าฝืนธรรมชาติ เช่น อยากกินบรอกโคลีในหน้าร้อน เกษตรกรก็ต้องพยายามปลูกโดยใช้ปุ๋ยเคมีอีก “ใคร ๆ ก็สนใจดูแลสุขภาพกันทั้งนั้น แต่ปัญหาคือ สนใจ แต่ไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจัง คนที่กินมังสวิรัติเขาคิดว่าได้ดูแลสุขภาพ แต่แทนที่เลิกกินเนื้อ แล้วสุขภาพจะดีขึ้น กลับกลายเป็นว่าได้รับสารเคมีเยอะขึ้นจากการกินผัก

“คนที่รักสุขภาพควรจะเปลี่ยนทัศนคติในการกิน ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตมากินแต่ผัก แต่ควรจะใส่ใจตัวเองหน่อย เวลาไปกินอาหารข้างนอก จะมีแม่ค้าสักกี่คนที่ห่วงใยผู้บริโภค เวลาเขาจะใส่กระเทียมไปในอาหาร เขาก็จะคว้ามาบุบ แล้วใส่ลงกระทะเลยโดยไม่ได้ล้าง ซึ่งถ้ากระเทียมชื้น ก็จะมีอัลฟาท็อกซิน ผักเองก็เหมือนกัน เราไม่มีทางรู้ว่าเขาจะล้างมากน้อยแค่ไหน”

หากต้องการหลักประกันว่าผักที่คุณซื้อมา เป็นผักอินทรีย์จริง ๆ ไม่ใช่ผักตามตลาดสดที่นำมาย้อมแมวขายเป็นผักอินทรีย์ ก็ขอให้สังเกตว่าบนถุงผักนั้นๆ จะต้องมีตรารับรองของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์ในทุกขั้นตอน

“การสังเกตผักเป็นเรื่องยาก เพราะมองด้วยตาเปล่าก็เหมือนๆ กัน พอกินเข้าไป ก็ไม่ได้ตายทันที สินค้าบางอย่างติดป้ายว่าเป็นอินทรีย์ แต่คุณก็ไม่รู้ว่าอินทรีย์จริงแท้แค่ไหน คนที่ทำเกษตรอินทรีย์จะต้องมีจริยธรรม ซื่อสัตย์ แต่จริง ๆ แล้ว คนที่ได้กินผักอินทรีย์เป็นประจำ อย่างน้อยสักเดือนหนึ่ง แล้วกลับไปกินผักที่เป็นเคมี จะรู้ทันทีว่าใช่หรือไม่ใช่”
อ๋อ…คุณยังมีปัญหาว่า ถึงจะมีผักมาส่งถึงบ้าน แต่คงไม่มีเวลาทำกับข้าวเองใช่มั้ย…ถ้าอย่างนั้น ลองไปฟังประสบการณ์ของ สุชาดา เต็มวาณิชย์ ซึ่งเป็นสมาชิกผักอินทรีย์กรีนเนทมา ๑๐ ปีกันดีกว่า เผื่อจะเปลี่ยนใจคุณได้

“เมื่อก่อนเคยเป็นภูมิแพ้ ต้องหาหมอ กินยาทุกเดือน พอเปลี่ยนมากินผักอินทรีย์ จำไม่ได้แล้วว่าครั้งสุดท้ายที่เป็นหวัด หรือป่วยจนต้องหาหมอคือเมื่อไหร่ น่าจะไม่ต่ำกว่า ๗ ปีที่แล้ว ตอนนี้สุขภาพแข็งแรง ไม่ต้องพึ่งยาอีก

“ดิฉันเชื่อว่า แม่บ้านที่ต้องทำงานนอกบ้านด้วย สามารถทำอาหารกินเองได้ ถ้ารู้จักแบ่งเวลาและตั้งใจ เราทำอาหารกินเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องครบสูตร การปรุงง่ายๆ อย่างนำผักมาลวก ต้ม ไม่ได้ใช้เวลามาก ยิ่งใช้ผักเกษตรอินทรีย์ ยิ่งสะดวก เพราะไม่ต้องเสียเวลาล้างยาฆ่าแมลง ไม่รู้สึกเบื่อเมื่อกินผักซ้ำ เพราะเราสามารถเปลี่ยนเมนูไปได้เรื่อยๆ ผักเกษตรอินทรีย์จะไม่ขมเหมือนผักตลาด เมื่อกินจนชิน จะรู้สึกว่าผักมีรสหวานเป็นธรรมชาติ อร่อยโดยไม่ต้องปรุงแต่ง

“คนเดี๋ยวนี้มักมองว่าการเข้าครัวเป็นเรื่องไร้สาระ พวกเขามีเวลาดูโทรทัศน์หลาย ๆ ชั่วโมง มีเวลาเมาท์กับเพื่อน แต่กลับบอกว่าไม่มีเวลาเข้าครัว นั่นเป็นเพราะเราไม่เคยถูกปลูกฝังในเรื่องการกินอยู่อย่างถูกต้อง”

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สหกรณ์กรีนเนท โทร. ๐๒-๒๗๗-๙๓๘๐-๑ หรือ www.greennetorganic.com