“นำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า”
ปุจฉา-วิสัชนา กับ เอนก นาวิกมูล

เรื่อง : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

author07 author07a

 

หากพูดถึงนักค้นคว้า นักเขียนสารคดี ผู้รู้เรื่องของเก่าและเรื่องราวในอดีตมากที่สุดคนหนึ่งในเมืองไทย คนแรกที่ต้องนึกถึงคือ เอนก นาวิกมูล

เขาให้คำจำกัดความงานของตัวเองว่า “นำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า”

เอนกทำงานสารคดีมานานถึง ๓๐ ปี เขียนหนังสือรวมเล่ม ๙๙ เล่ม ไม่รวมงานที่รอตีพิมพ์อีกหลายสิบเล่ม เก็บรวบรวมเทปสัมภาษณ์บุคคล ๑,๐๐๐ กว่าม้วน ภาพถ่ายที่เป็นฟิล์มขาวดำประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าม้วน สไลด์เกือบ ๔,๐๐๐ ม้วน ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้กล้องดิจิทัล ถ่ายภาพไว้ประมาณ ๓-๔ หมื่นรูป ไม่รวมวิดีโอที่เก็บบันทึกเรื่องราวของพ่อเพลงแม่เพลงไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ อีกหลายร้อยม้วน

เห็นผลงานขนาดนี้แล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่ชื่อ เอนก นาวิกมูล ได้กลายเป็นสถาบัน หรือแหล่งข้อมูลความรู้สำหรับผู้ต้องการค้นคว้าเรื่องราวในอดีต (อย่างไม่เป็นทางการ) ไปเสียแล้ว

ทำไมพี่เอนกจึงสนใจค้นคว้าเรื่องเก่า
เพราะว่า หนึ่ง สมัยเป็นเด็ก อ่านหนังสือแล้วเกิดข้อสงสัย เช่น เขาเขียนว่า น้ำแข็งเข้ามาเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ไม่ได้บอกว่ารู้มาได้อย่างไร พอเรามาค้นคว้าเองก็เริ่มรู้ว่าข้อมูลพวกนี้มีปัญหา คือเมื่อไปค้นย้อนกลับ เราไม่รู้ว่าข้อมูลตรงนั้นผู้เขียนได้มาจากไหน เพราะว่าสมัยก่อนเขาจะเขียนกันสบาย ๆ เช่นหนังสือเล่มหนึ่งกล่าวว่า ฝรั่งคนหนึ่งกล่าวว่า หรือว่าหนังสือ ๒ เล่มให้ข้อมูลไม่ตรงกันก็มี ต่างคนต่างเขียน ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด ก็เลยอยากจะมาค้นคว้าให้แน่ชัดขึ้น เหมือนเป็นการชำระอดีต เราสนใจของเก่า เรื่องเก่า เป็นห่วงศิลปวัฒนธรรมแบบเก่า พอมาจับเรื่องนี้ก็ทำให้รู้ว่ามีปัญหาและมีเรื่องให้ชำระมากมาย อย่างเรื่องเพลงพื้นบ้าน แต่เดิมเราก็ลอกหนังสือ ๓-๔ เล่ม แล้วก็มาเขียนต่อ ลอกจนจำได้ว่าอันนี้มาจากเล่มนี้ ๆ ซ้ำไปซ้ำมา ความรู้ก็ไม่งอกงาม เลยคิดว่าน่าจะค้นคว้าเรียบเรียงขึ้นใหม่ หรืออย่างเพลงพื้นบ้านมันก็เกี่ยวกับเสียง แต่ไม่มีใครคิดเก็บเทปเก็บแผ่นเสียงไว้เป็นกิจจะลักษณะ ไม่ไปหาพ่อเพลงแม่เพลงเพื่อรวบรวมข้อมูล ทำให้รู้สึกว่าต้องมีการนำเสนอข้อมูลใหม่และตรวจสอบข้อมูลเก่า ถ้าข้อมูลเก่าไม่ถูกต้อง เราก็ต้องบอกว่ามันไม่ถูกอย่างไร แปรเปลี่ยนอย่างไร

สอง ตั้งใจตั้งแต่เด็กแล้วว่าอาชีพที่ชอบที่สุดคือเขียนหนังสือ แต่รู้ตัวว่างานเรื่องสั้น งานกวี เราคงไม่ค่อยถนัดหรืออาจจะไม่ชอบ และเราก็รู้สึกว่างานสารคดีมันมีช่องว่างอยู่ คือมีสิ่งที่ควรจะชำระมากมาย เพราะฉะนั้นก็คิดว่าควรจะทำงานสารคดี

สารคดีในความหมายของพี่เอนกคืออะไร
สารคดีคือเรื่องที่ให้ข้อมูลความรู้ เน้นความรู้เป็นหลัก แต่ไม่ถึงกับเข้มแบบวิชาการ มันเป็นกึ่ง ๆ กันอยู่ มีการนำเสนอที่ง่ายกว่าตำรา งานวิชาการ เขียนให้อ่านเข้าใจได้สบาย ๆ แต่ก็มีหลายแบบ แล้วแต่ว่าเป็นสารคดีแบบไหน เอาเป็นว่า ความหนัก ความเข้ม งานสารคดีจะน้อยกว่างานวิชาการนิดหนึ่ง

มีวิธีการตรวจสอบข้อมูลอย่างไร
อ่าน ฟัง แล้วถ้าเห็นว่าไม่ตรงกัน ก็ไปอ่านไปฟังให้มากขึ้น เช็กข้อมูลให้มากขึ้น ไม่เชื่อทันที เมื่อได้ข้อมูลจากหลายแหล่งมาแล้ว ก็มาประมวลผล อย่างตอนที่ทำเรื่องแรกมีการถ่ายรูปในสยาม แต่เดิมก็ลอก ๆ กันมาว่า เริ่มมาจากสังฆราชปาเลอกัว ตอนหลังมาได้ข้อมูลใหม่ว่า นอกจากสังฆราชปาเลอกัวแล้ว ควรให้เครดิตบาทหลวงลาร์โนดีด้วย ในฐานะที่สังฆราชเขียนจดหมายสั่งให้บาทหลวงลาร์โนดีเอากล้องเข้ามา

หรืออย่างเรื่องแม่นากพระโขนง เราอยากจะรู้ว่ามันเกิดที่วัดมหาบุศย์จริงหรือเปล่า ก็ไปดูว่าชาวบ้านเชื่ออย่างไร มีอะไรเกี่ยวข้องกับแม่นากบ้าง กุฏิที่แม่นากเดินเอาตีนไต่เพดานยังมีเหลือไหม พอไปดูแล้วก็ได้รู้ว่ามีรูปปั้นแม่นาก ปั้นเมื่อช่วงสัก ๓๐-๔๐ ปีก่อน จากเดิมที่มีแต่คำเล่าลือ ก็ปั้นเป็นรูปขึ้นมา เ ราเขียนเผยแพร่เรื่องนี้ตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ หลังจากนั้นก็ได้ค้นพบข้อมูลอีกมากมาย อย่างประเด็นที่ว่าสมัยก่อนเรื่องแม่นากเคยมีคนเอามาทำเป็นละครวิทยุ คนฟังแล้วกลัวเลยถูกสั่งเลิก เราก็พยายามสืบเสาะว่ามีใครบ้างที่เคยร่วมงานกับคณะละครนี้ ก็ได้พบกับแม่ละม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา และได้เชิญท่านมาพูดคุยบนเวทีศูนย์สังคีตศิลป์ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรม

เรื่องเพลงพื้นบ้าน เพลงปรบไก่ มีแต่พูดถึงกัน แต่ไม่เคยได้ฟัง ไม่รู้ว่าจริง ๆ เป็นอย่างไร นิยมกันมาตั้งแต่ยุคอยุธยา แล้วมาหมดไปในยุครัชกาลที่ ๖-๗ ถามแม่เพลงบางคนก็ไม่รู้ จนกระทั่งอาจารย์เรไร สืบสุข แห่งราชภัฏเพชรบุรี บอกข่าวมาว่า ยังมีคนร้องเพลงปรบไก่กันอยู่ ให้ไปฟังที่บ้านลาดตอนวันเพ็ญเดือนหก ก็ไปฟังกัน ทำให้ได้รู้ว่าเพลงปรบไก่มันร้องแบบนี้ ที่ว่าหยาบนี้ มันหยาบอย่างไร

เรื่องส้วมโบราณ เรามองว่าคนก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่พอค้นเรื่องกระดาษชำระ อ่านในหนังสือของเสฐียรโกเศศว่า สมัยก่อนพอถึงวันเข้าพรรษาจะมีการเอาดอกไม้ธูปเทียนและแปรงสีฟัน (ข่อย) กับไม้ชำระก้นหรือไม้แก้งก้นไปถวายพระ (แก้ง-ขูด เช็ด) เราอ่านแล้วรู้สึกสะดุด ไม้แก้งก้นหน้าตาเป็นอย่างไร คนเฒ่าคนแก่เล่าว่าเหมือนไม้ไอติม มีกระดาษพันรอบ ๆ ก็ไม่เข้าใจ จนป่านนี้ยังไม่เคยเห็นของจริง จากนั้นก็มีคำถามขึ้นอีกว่า ทำไมไม่ใช้น้ำล้าง คำตอบก็คือ แต่ก่อนส้วมอยู่นอกบ้านและอยู่ห่างออกไป ขี้เกียจหิ้วน้ำ ถ้ามีไม้หักเป็นท่อนเล็ก ๆ อยู่แถวนั้น ก็เอามาปาดอึออก แล้วเวลาอาบน้ำค่อยชำระอีกที

อะไรคือแรงบันดาลใจในการค้นคว้า
ความไม่รู้และความเป็นห่วง ว่าถ้าเราไม่ชำระ มันก็จะถูกปล่อยเลยตามเลย เชื่อกันผิด ๆ ลอกกันผิด ๆ เรื่องศิลปวัฒนธรรมและภูมิความรู้ต่าง ๆ มันจะหายไปเสียเปล่า ๆ มรดกทางความรู้มันหายไปเยอะแล้ว ความรู้ที่อยู่ในหอสมุดแห่งชาติก็เยอะ แต่ถูกทำลายไปมาก เช่นหอสมุดจำหน่ายหนังสือทิ้ง หอสมุดอาจจะถ่ายไมโครฟิล์มไม่ครบ หนังสือเก่าสูญหายไปก็เยอะ โดนฉีกทิ้ง โดนทำลาย มันเป็นความรู้มหาศาล แต่ไม่มีการเอาความรู้เก่ามาบอกคนรุ่นปัจจุบัน ก็ต้องมานั่งนับหนึ่งใหม่กันอยู่เรื่อย แต่ถ้าเรานับไว้ให้บ้างแล้ว มันก็ไม่ต้องมานั่งเริ่มต้นใหม่

ที่ทำมาทั้งหมด มันเริ่มจากใจรัก และอยากให้คนในสังคมได้รับความรู้ที่ถูกต้อง ตอบคำถามให้ตัวเอง และตอบเผื่อคนอื่นด้วย ที่ไม่รู้ก็จะได้รู้ ที่รู้อยู่แล้วก็จะได้รู้มากขึ้น โดยใช้หนังสือเป็นสื่อในการเผยแพร่

ทราบมาว่าพี่เอนกเขียนไดอารีทุกวันตั้งแต่เด็ก ๆ จนทุกวันนี้ไดอารีกลายมาเป็นข้อมูลสำคัญในงานเขียน
ผมเขียนไดอารีทุกวันตั้งแต่ ป. ๖ ถึงบัดนี้ ไปเจออะไรมา มันเอามาอ้างอิงได้ สมมุติวันนี้ไปถ่ายรูปมา เราก็อาจจะทำเป็นเครื่องหมายพิเศษให้เห็นเด่นชัดว่าวันนี้มีการทำงานอย่างไร เพราะมันต้องเอาไปใช้ ลงเบอร์ฟิล์ม ลงซองฟิล์ม ใช้ในการอ้างอิง ระบุไว้ในคำบรรยายภาพ การลงวันเดือนปีที่ถ่ายภาพและรายละเอียดอื่น ๆ ไว้ในคำบรรยายมันก็มีประโยชน์สูง เพราะทำให้เรารู้ว่าในวันนั้น ศิลปินคนนี้ยังมีชีวิตอยู่ อายุประมาณเท่านั้นเท่านี้ ไม่ใช่ลงลอย ๆ ว่า ยายต่วน บุญล้น แม่เพลง แต่เราจะบอกว่า ถ่ายเมื่อไร ใครเป็นผู้ถ่าย นายเอนกถ่าย หรือไปก๊อบปี้ ขอใครเขามา ถ้าเป็นหนังสือที่ยืมมาจากห้องสมุด ก็จะได้รู้ว่ามาจากห้องสมุดไหน และจะบอกด้วยว่าหน้าปกสีอะไร เพราะถ้าเราพิมพ์รูปเป็นขาวดำ เวลาใครไปค้นจะได้ง่ายขึ้น เราเองไปค้นก็ง่ายสำหรับเรา ช่วงท้ายของไดอารี เราก็จะเขียนถึงเหตุการณ์ที่น่าสนใจของปีนี้ ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัวและที่เป็นเหตุการณ์สำคัญ อย่างซื้อคอมฯ เครื่องใหม่ ซื้อกล้องดิจิทัลตัวใหม่ หรือว่ามีขโมยมาขึ้นบ้านข้าง ๆ หรือเรื่องสึนามิ เป็นบันทึกช่วยจำอีกทางหนึ่ง

พี่เอนกสนใจค้นคว้าเรื่องเก่าทุกเรื่องหรือไม่
เรื่องที่ไม่สนใจก็ไม่ทำ เช่น พระเครื่อง หรือเครื่องถ้วยเครื่องลายคราม ช่วงเวลาในอดีตที่สนใจจะอยู่ประมาณ ๑๐๐ กว่าปี ถ้าเกินยุครัตนโกสินทร์ไปแล้ว ไม่เอาเลย ข้าวของเครื่องใช้สมัยกรุงธนบุรี อยุธยา สุโขทัย เราไม่สนใจ เราไม่ถนัด ถือว่าคนอื่นก็ทำกัน หลัก ๆ เราจะสนใจเรื่องภาพเก่าและข้าวของในชีวิตประจำวัน หนังสือที่เขียนออกมาส่วนใหญ่ก็จะชี้แจงก่อนว่า ทำไมถึงไปทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่น พูดถึงเรื่องสวนเอกชนแห่งแรกที่เปิดให้เข้าชมและเก็บค่าผ่านประตู ก็คือหิมพานต์ปาร์กและปาร์กสามเสน หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าปัจจุบันคือวชิรพยาบาล

มีหลักในการเขียนหนังสืออย่างไร
นำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า เริ่มจากการอ่านและตั้งข้อสงสัย เรื่องใดอ่านแล้วน่าสนใจ ชวนให้สงสัย ก็ไปหาคำตอบ ทั้งจากหนังสือที่มีอยู่แล้วและหนังสืออื่นที่เราบังเอิญไปอ่านพบ จากนั้นก็ต้องออกสำรวจ ออกไปเห็นด้วยตาตัวเอง และถ่ายภาพเองเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นการเดินทางก็มีความสำคัญ หลักอื่น ๆ ก็คือ ต้องให้เกียรติผู้ที่ให้ความรู้เรา มีการอ้างอิง แล้วก็เขียนหนังสือให้อ่านง่าย เพราะเราไม่ชอบอ่านเรื่องที่ง่ายแต่ทำให้อ่านยาก