สำรวจโลก (สารคดี) กับ โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ
บรรณาธิการบริหาร National Geographic ฉบับภาษาไทย

เรื่อง : เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

author19 author19a

 

สหรัฐอเมริกา ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๘๘ นิตยสาร National Geographic ฉบับแรกของโลก ถือกำเนิดขึ้นโดยสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ซึ่งนิยามตนเองว่าเป็น “องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษาที่ดำเนินการโดยไม่แสวงหาผลกำไร”

๑๑๓ ปีต่อมา ประเทศไทย สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ National Geographic ฉบับภาษาไทย ตีพิมพ์เป็นครั้งแรก โดยบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ภายใต้การนำของ ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ (๒๔๘๕-๒๕๔๕) ประธานกรรมการบริหารในเวลานั้น

ปฐมฤกษ์ของ National Geographic ฉบับภาษาไทย ซึ่งเป็นฉบับภาษาต่างประเทศภาษาที่ ๑๘ ไม่เพียงทำให้ความฝันของ ชูเกียรติ ที่มีมานานเป็นจริง–ความฝันที่จะเห็นนิตยสารที่เขารักและเก็บสะสมมานานปรากฏสู่สายตาผู้อ่านคนไทย ด้วยภาษาไทย หากยังทำให้ผู้ที่เคยได้เพียงตื่นตากับภาพถ่ายที่สวยงาม ได้มีโอกาสสำรวจโลกกว้างผ่านการอ่านโดยไม่ถูกขวางกั้นด้วยกำแพงแห่งภาษาอีกต่อไป

ปัจจุบันนิตยสารกรอบเหลืองเล่มนี้ (ซึ่งต่อจากนี้ขอเรียกอย่างย่อว่า NG) มีอายุเกือบ ๑๑๗ ปี ตีพิมพ์กว่า ๒๐ ภาษาใน ๒๖ ประเทศ เป็นหนึ่งในนิตยสารไม่กี่เล่มของโลกที่มีอายุเกิน ๑ ศตวรรษและยังคงมียอดพิมพ์สูงลิ่ว รวมทุกภาษากว่า ๑๕ ล้านเล่ม

ส่วนฉบับภาษาไทย กำลังย่างเข้าสู่ขวบปีที่ ๕ โดยการนำทีมของ โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ ซึ่งเขยิบขึ้นมารับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารได้เพียง ๔ เดือน และนี่เป็นการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนครั้งแรก

“การทำงานหนังสือเป็นความฝันแรก ๆ ของเด็กอักษรฯ พอเรียนจบก็มาสมัครที่อมรินทร์ฯ ได้ทำงานเลขานุการอยู่ที่โรงพิมพ์ ๘ เดือน จากนั้นออกไปค้นหาตัวเองอยู่สักพัก หลังเรียนจบจากอังกฤษก็กลับมาทำงานที่อมรินทร์ฯ อีกครั้งในตำแหน่งบรรณาธิการโรงพิมพ์ พอคุณชูเกียรติจะเปิด National Geographic เรารู้สึกว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้ความฝันเป็นจริง ก็ขอย้ายเข้ามาทำ เข้ามาแรก ๆ เป็น text editor คอยตรวจเนื้อหาและภาษา ถึงตอนนี้อยู่มา ๕ ปีแล้ว

“NG อยู่มาได้เป็นร้อยปีเพราะเนื้อหาที่หลากหลาย การไม่หยุดนิ่ง ปรับรูปแบบและเนื้อหาอยู่ตลอด และอาจเป็นเพราะคนอเมริกันรู้สึกว่า NG เป็นสถาบัน

“คนไทยอาจจะรู้สึกว่า geography คือภูมิศาสตร์ที่น่าเบื่อ แต่โดยจิตวิญญาณของ NG เขามองคำนี้ในหลายมิติ คำจำกัดความของเนื้อหาคือ “The World and everything in it” คือทุกอย่างในโลก ตั้งแต่ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี ผู้คน

“โดยเนื้อแท้เราเป็นหนังสือแปล จึงเป็นความท้าทายที่จะทำให้คนไทยอ่านแล้วไม่รู้สึกว่าเป็นหนังสือแปล ดังนั้นบทบาทของกอง บ.ก. จะทุ่มไปกับการถ่ายทอดเนื้อหามาเป็นภาษาไทย วิธีการที่เรียกว่า localization คือปรับสำนวนฝรั่งให้เข้ากับคนไทย เราทำกันอยู่ทุกวัน เช่นเขาพูดว่าเจดีย์ในทิเบตรูปทรงเหมือนไอศกรีมโคน เราก็ปรับมาเป็นรูปทรงคล้ายระฆังคว่ำ เพราะคนไทยคุ้นเคยกับมันมากกว่า

“ฉบับภาษาอังกฤษจะส่งแผนงานมาล่วงหน้าเป็นปี ว่าแต่ละเดือนมีเรื่องอะไรบ้าง มีเว็บไซต์กลางให้แต่ละประเทศดาวน์โหลด text และ layout ออกมาใช้ ส่วนภาพที่มีความละเอียดสูงจะส่งมาเป็นแผ่นซีดี

“ปีแรกเขาตรวจเราเข้ม เนื้อเรื่องที่เราแปล เขาต้องไปจ้างทีมคนไทยในอเมริกาตรวจ layout ทุกหน้าต้องส่งไป ทำอยู่ประมาณ ๑ ปีจนเขาเชื่อใจ ตอนหลังไม่ตรวจเนื้อเรื่องทุกเล่มแล้ว แต่ใช้สุ่มตรวจ ส่วน layout จะตรวจเฉพาะสารคดีไทยและปก

“การทำสารคดีไทยใน NG เราต้องเสนอโครงเรื่องไปก่อน เมื่อโครงเรื่องผ่านก็ทำเรื่องแล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษส่งไปให้ตรวจ จัด layout คร่าว ๆ ไปให้ดู พร้อมรูปส่วนที่เหลือ แล้วมาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เรื่อง “นักมวยเด็ก” เป็นสารคดีไทยเต็มรูปแบบเรื่องแรก ลงในฉบับธันวาคม ๒๕๔๗ ตอนแรกเราทำเป็นสารคดีขนาดเล็ก แต่พอเขาเห็นรูป ก็เสนอให้ทำเป็นสารคดีใหญ่ ซึ่งมันเกินความคาดหมายของเรา เราฝันอยากเห็นสารคดีไทยอยู่ใน NG มานานแล้ว อยากให้คนอ่านรู้สึกว่ามีเรื่องที่ใกล้ตัวเขาบ้าง ช่วงแรก ๆ ฝรั่งพูดแกมขู่ไว้ว่า ถ้าจะทำสารคดีไทยให้อยู่ใน NG อย่าให้คนอ่านเปิดดูแล้วรู้สึกสะดุดว่าเป็นของ local edition คือจะต้องไม่สะดุดในเชิงมุมมองของช่างภาพ รวมทั้งอารมณ์และคุณภาพของภาพ

“NG เป็นประเภท Photograph-driven Magazine คือมีจุดแข็งที่ภาพถ่าย เวลาคิดเรื่องเราจะนึกก่อนว่าภาพจะออกมาเป็นยังไง ช่างภาพที่จะลงภาคสนาม ไม่ได้ไปเหมือนกระดาษขาวแล้วก็ถ่าย ๆ ๆ แต่เขาจะมีกระบวนการทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องอยู่ในระดับหนึ่ง แล้วหลอมรวมเข้ากับสิ่งที่เขาเห็น ฉะนั้นภาพใน NG จะทำหน้าที่เล่าเรื่องได้

“เราไม่จำเป็นต้องทำเหมือนฉบับภาษาอังกฤษ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เรามีสิทธิ์เสนอแนะหรือขอปรับเปลี่ยนได้หากมันไม่กระทบกับแก่นเรื่อง หลายเรื่องเราเลือกที่จะไม่ลงเพราะเป็นอเมริกันมากเกินไป เราเข้าใจว่าฐานคนอ่าน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของฉบับภาษาอังกฤษเป็นอเมริกัน เขาก็ต้องทำเรื่องที่คนอเมริกันสนใจ แต่ก็ต้องแคร์ฉบับภาษาต่างประเทศ ๒๐ กว่าภาษาด้วย อย่างตอนเกิดเหตุการณ์ ๑๑ กันยายน ฉบับภาษาต่างประเทศรู้สึกพร้อมกันว่ามีอะไรบางอย่างแทรกอยู่ ถ้าเรารู้สึกว่าเนื้อหาตรงนั้นมากเกินไป เราจะขอลดทอนลงบ้าง เขาก็รับฟังและอนุญาตให้ทำได้

“เรื่อง layout ไม่จำเป็นต้องทำตามเป๊ะทุกอย่าง เพราะบางทีภาษาเรามีข้อจำกัดในการปรับรูปแบบตัวหนังสือให้เข้ากับ layout ฉบับภาษาอังกฤษ เราเพียงแต่รักษาอารมณ์ของเรื่องให้ได้ ส่วนการวางลำดับรูปต้องเหมือนกัน เรียกว่า copy fit คือเรามีจำนวนหน้าเท่ากับเขาเป๊ะ ๆ ทำยังไงก็ได้ให้เนื้อของเราไปลงได้พอดีกับ layout ของฝรั่ง

“ความหลากหลายทำให้เรามองว่า NG เป็นหนังสือที่มีกลุ่มผู้อ่านกว้าง เราเชื่อว่าในเมืองไทยมีความต้องการความรู้ตรงนี้อยู่ เราทำงานอย่างมีความสุขเพราะรู้ว่ามีแฟนประจำกลุ่มหนึ่งที่รักเรา แต่เราก็พยายามจะขยายออกไปให้ถึงผู้อ่านทุกกลุ่ม ทุกวัย ให้เป็นหนังสือของครอบครัวอย่างแท้จริง

“ตอนเข้ามา NG ใหม่ ๆ ยอมรับว่ามีบ้างที่รู้สึกว่า NG กับสารคดี เป็นคู่แข่งกัน แต่ยิ่งทำไปกลับรู้สึกว่าไม่ใช่ เพราะจุดยืนของสารคดี คือนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเมืองไทย และสามารถอุทิศพื้นที่ให้ได้อย่างเต็มที่ ในระดับคนทำงาน เราก็รู้จักกัน โทรถามเรื่องวิชาการกันเป็นปรกติ สารคดี มีคนรู้เรื่องนก เราก็โทรถาม…เอ๊ะ พี่ นกตัวนี้ชื่ออะไร ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคู่แข่งกัน แต่เหมือนเรา “ช่วยกันทำหน้าที่” มากกว่า

“เราอาจจะไม่ใช่คนทำสารคดีประเภทที่ได้ตื่นเต้นสนุกสนานกับการออกไปค้นคว้า ถ่ายรูป เขียนเรื่อง แต่ก็พยายามบอกทีมงานว่าให้เปิดใจรับว่าทุกเรื่องน่ารู้ รู้สึกโลดแล่นไปกับเรื่อง เราก็จะสนุกกับมันได้ เรามีความสุขที่ได้รู้เรื่องราวมากมายไม่ซ้ำกันซักเดือน อย่างที่เรียกว่า “armchair adventure” คือได้ไปเที่ยวขณะที่นั่งอยู่บนโซฟา

“งานสารคดีต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องจุดประกายจินตนาการได้ สารคดีใน NG ทำให้คนอ่านมีจินตนาการ ออกไปค้นหาต่อได้ ฝรั่งจะมีวัฒนธรรมในการตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ บางทีตอนจบเรื่อง เขาไม่สรุป แต่ทิ้งคำถามให้ไปคิดต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยไม่คุ้นเคย คนไทยจะรู้สึกว่าเรื่องมันไม่จบ เราหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไป คนไทยจะเริ่มคุ้นเคยกับวิธีการแบบนี้ คือไม่จำเป็นต้องให้คำตอบเสมอไป ความรู้เราให้กันได้ไม่มีวันสิ้นสุด เราให้แรงบันดาลใจในการไปหาความรู้ดีกว่า แต่ถ้าคุณไม่รู้สึกว่าอยากจะรู้ มันจบตั้งแต่ตรงนั้น

“ที่ผ่านมา เรายังหาข้อสรุปที่น่าพอใจไม่ได้สักทีว่าคนอ่านชอบเรื่องแนวไหนมากกว่ากัน เพราะบางเรื่องที่รู้สึกว่าไกลตัว เช่น ดาราศาสตร์ อารยธรรมอียิปต์ พอทำออกไปแล้วผลตอบรับกลับดีมาก เรื่องนอกโลกอย่าง “ภารกิจพลิกฟ้า ตามหาโลกใบใหม่” จะว่าไกลก็ไกล จะว่าใกล้ก็ใกล้ มันยังมีอะไรเกี่ยวข้องกับเรา เพราะถ้าโลกไม่สามารถรองรับมนุษย์ได้แล้ว สุดท้ายเราจะไปไหนล่ะ

“อย่างเหตุการณ์สึนามิ เราไม่เคยเห็น ไม่เคยคิดว่ามันจะมาถึงเรา นี่เป็นโอกาสที่จะชี้ให้คนอ่านเห็นว่าเรื่องพวกนี้ไม่ได้ไกลตัว ไม่เห็นวันนี้ วันพรุ่งนี้อาจจะเห็น ถ้าเราอยู่อย่างเข้าใจโลก เราก็สามารถป้องกันตัวเองเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้

“ยืนยันว่าที่สุดแล้วไม่มีเรื่องไหนไกลตัว ทุกเรื่องมันโยงใยเกี่ยวพันกันหมด”