คำข้าว
ภาพประกอบ : วายูร

alzheimerถ้าลองไล่นับดู อัลไซเมอร์อาจติดอันดับโรคไม่พึงปรารถนาเมื่อคนเราล่วงเข้าวัยชรามากที่สุดโรคหนึ่ง

แถมยังไม่อยากให้ญาติมิตรเป็นด้วย

อาการของโรคในช่วงแรกดูเหมือนภาวะความจำเสื่อมอย่างคนแก่ แต่จะมีลักษณะเด่นชัดที่แตกต่างจากการหลงลืมทั่วไป เช่น ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมา เป็นต้นว่าลืมว่ากินข้าวไปแล้ว หรือเปิดเตาแก๊สต้มน้ำทิ้งเอาไว้จนกาไหม้ คิดเลขง่ายๆ ไม่ถูก ตัดสินใจไม่สมเหตุสมผล เช่น ใส่เสื้อหนาวหน้าร้อน พฤติกรรมหรือบุคลิกภาพเปลี่ยนไป ซึมลง ก้าวร้าวขึ้น หงุดหงิดง่าย ฯลฯ บางคนเดินไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดหมายและจำทางกลับไม่ได้ ในระยะท้ายๆ ผู้ป่วยจะช่วยตัวเองไม่ได้ เริ่มมีโรคแทรกซ้อน และเสียชีวิตจากการติดเชื้อ

มีคนอุตส่าห์รวบรวมรายชื่อคนดังที่ป่วยเป็นโรคนี้เอาไว้ เช่น โจนาทาน สวิฟต์ เพอรี โคโม ชาร์ลส์ บรอนสัน นอร์แมน ร็อกเวลล์ ซอเมอร์เซต มอห์ม อีนิด ไบลตัน และ โรนัลด์ เรแกน

แต่ที่แน่ๆ อาโลอิส อัลไซเมอร์ (Alois Alzheimer) ไม่ได้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ แม้ชื่อของเขาจะกลายเป็นชื่อของโรคก็เถอะ

อัลไซเมอร์ (๑๔ กรกฎาคม ๑๘๖๔ – ๑๙ ธันวาคม ๑๙๑๕) เกิดที่เมืองเล็กๆ ชื่อ มาร์กไบรท์ ในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี เขาเรียนจบแพทย์ตอนอายุ ๒๓ (ข่าวบางกระแสลือว่าเขาจบปริญญาเอกในปีเดียวกัน) และเข้าทำงานในโรงพยาบาลสำหรับผู้วิกลจริตที่เมืองฟรังค์ฟวร์ทอัมมาน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคทางจิตเวชและได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลในที่สุด

อายุ ๓๘ เขาตอบตกลงร่วมงานกับ เอมิล แกรเปลิน (Emil Kraepelin) ผู้โด่งดังแห่งวงการ ที่คลินิกจิตเวชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในเมืองไฮเดลแบร์ก ก่อนจะติดตามแกรเปลินไปอยู่ที่มิวนิก ซึ่งเป็นช่วงที่เขาได้ศึกษาเรื่องความผิดปรกติของสมองได้มากเท่าที่เขาสนใจ และมีผลงานออกมามากมาย

สี่ปีต่อมา เขาเสนอรายงานการวิจัยเกี่ยวกับความผิดปรกติของผู้ป่วยหญิงวัย ๕๐ ต้นๆ ที่มีอาการสูญเสียความทรงจำ สับสน มีปัญหาด้านการอ่านและเขียน เกิดภาพหลอน และไม่สามารถดูแลตนเองได้ อัลไซเมอร์ได้สังเกตอาการของเธอตั้งแต่ต้นจนเสียชีวิต เขาผ่าสมองของเธอ และได้พบความผิดปรกติที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่อายุยังน้อย

แกรเปลินเรียกชื่อโรคที่อัลไซเมอร์รายงานไว้ในที่ประชุมนี้ว่า “โรคของอัลไซเมอร์”

อัลไซเมอร์ศึกษาวิจัยโรคทางสมองมาตลอดชีวิต พร้อมกับสอนนักศึกษาแพทย์อย่างเอาใจใส่ กระทั่งช่วงสุดท้ายของชีวิต เขาไม่เคยหยุดทำงานหนัก หลังจากล้มป่วยนาน ๓ ปี เขาก็เสียชีวิตด้วยโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ

แพทย์บางคนในรัสเซียและอเมริกาไม่ยอมรับว่าเขาเป็นผู้ “ค้นพบ” โรคใหม่ โดยแย้งว่ามีรายงานเรื่องอาการป่วยแบบที่อัลไซเมอร์พบมาก่อนหน้านั้นแล้ว และบอกว่าที่แกรเปลินรีบติดฉลากชื่ออัลไซเมอร์เอาไว้ เพราะคลินิกของเขาต้องการเงินสนับสนุน ซึ่งผู้ให้ทุนก็ดูจากผลงานของคลินิก โดยเฉพาะการค้นพบโรคใหม่ๆ นั่นเอง

อัลไซเมอร์เองดูเหมือนไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นเช่นนั้น แต่เขาก็เข้าใจเงื่อนไขพรรค์นี้ดี