วันชัย ตัน
ภาพประกอบ : DINHIN

world2ข่าวดีสำหรับคนหูหนวกทั้งหลาย…อาณาจักรของท่านใกล้ถือกำเนิดแล้ว !

มาร์วิน มิลเลอร์ คนหูหนวกชาวอเมริกัน กำลังเนรมิตทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ขนาด ๑๒๘ เฮกตาร์ ในรัฐเซาท์ดาโคตา ให้เป็นเมืองสำหรับคนหูหนวกโดยเฉพาะ

“การสร้างเมืองใหม่นี้ขึ้นก็เพื่อให้เป็นบ้านสำหรับคนหูหนวกที่ต้องการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน พวกเขาจะได้ยกครอบครัวมาอยู่ที่นี่ ทุกคนในเมืองนี้ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ นักการเมือง ครู นักเรียน เจ้าของร้านค้า ฯลฯ จะใช้ภาษาเดียวกันในการสื่อสาร นั่นคือ ภาษามือ” มิลเลอร์กล่าว

“ที่ผ่านมาคนหูหนวกมักถูกโดดเดี่ยวจากสังคมจนหลายคนท้อแท้สิ้นหวัง แต่หากเรามีอาณาจักรของเราเอง เราจะได้อยู่ร่วมกันในที่ที่จะไม่มีใครมองเราเป็นตัวประหลาดอีกต่อไป”

มิลเลอร์ตั้งชื่อเมืองของเขาว่า “ลอเรนต์” เพื่อเป็นเกียรติแก่ ลอเรนต์ เคลิร์ก นักการศึกษาชาวฝรั่งเศส ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนคนหูหนวกแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา

ทุกวันนี้มีผู้คนจากนิวยอร์กถึงแคลิฟอร์เนีย รวมทั้งชาวต่างประเทศ สั่งจองบ้านในเมืองลอเรนต์นี้แล้ว ๑๒๕ หลัง ส่วนใหญ่เป็นคนหูหนวกหรือญาติพี่น้องของคนหูหนวก

แคโรลีน บริก คุณครูหูหนวกซึ่งเกษียณอายุแล้ว บอกว่า

“ทันทีที่ฉันได้ยินชื่อโครงการนี้ ฉันก็บอกกับสามีว่า เราต้องไปที่นั่น เราต้องให้การสนับสนุน เพราะที่ผ่านมา ไม่มีอะไรจะน่าอึดอัดใจไปกว่าการอยู่กับคนที่เรารู้จัก แต่ไม่สามารถสื่อสารกันได้ แต่ที่เมืองนี้ เราสามารถสื่อสารกับทุกๆ คนในเมืองได้”

สตีฟ พีเทอร์สัน ช่างไม้หูหนวกวัย ๔๐ ปีจากมิชิแกน ซึ่งสั่งจองบ้านไว้หลังหนึ่งเช่นกัน กล่าวว่า

“เมืองนี้ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์สำหรับผม แทบไม่น่าเชื่อว่าวันหนึ่งผมจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนปรกติ โดยไม่มีใครมาคอยมองด้วยสายตาแปลกๆ”

ขณะที่ แจน แมกควีน อายุ ๕๗ วางแผนจะย้ายจากแมริแลนด์พร้อมกับลูกชาย ๒ คนซึ่งหูหนวกทั้งคู่ มาอยู่ที่นี่ แมกควีนบอกว่าลูกชายวัย ๓๐ ปีอยากมาเปิดธุรกิจที่เมืองนี้ เพราะที่ผ่านมาพวกเขาไม่มีโอกาสเลย

เหมือนที่มิลเลอร์เคยกล่าวไว้–เมืองลอเรนต์จะมีสิ่งที่มากกว่าการที่คนหูหนวกจะได้ใช้ชีวิตร่วมกัน นั่นคือโอกาสทางอาชีพที่เพิ่มมากขึ้น

“ในที่ที่ผมเติบโตมา ผมไม่เคยเห็นนายกเทศมนตรีหูหนวก คนเก็บขยะหูหนวก หรือช่างตัดผมหูหนวกเลย ที่ผ่านมาหลายอาชีพปิดตายสำหรับคนหูหนวก แต่สำหรับที่นี่ คนหูหนวกมีโอกาสประกอบอาชีพเหล่านี้ได้” มิลเลอร์กล่าว

ตามโครงการ เมืองลอเรนต์จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการสื่อสารด้วยภาษามือ เนื่องจากคนหูหนวกจะสื่อสารกันได้ก็เมื่อมองเห็นภาษามือของอีกฝ่าย แต่ที่ผ่านมา สถานที่บางแห่งปิดทึบหรือไม่มีแสงสว่างเพียงพอ จึงเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารของคนหูหนวก ดังนั้นเมืองใหม่นี้จึงได้ออกแบบให้มีพื้นที่เปิดโล่ง มีไฟฉุกเฉินส่องสว่างบนถนน รวมทั้งภายในรถโดยสารเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีบริการแปลภาษามือผ่านทางจอมอนิเตอร์ สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการสื่อสารกับคนหูหนวกด้วย

ที่เมืองไทย แม้จะยังไม่มีนิคมสำหรับคนหูหนวก แต่เราก็มีนิคมสำหรับคนเฉพาะกลุ่มให้เห็นกันบ้างแล้ว นิคมที่ว่านี้ก็คือ นิคมของคนฟันเหล็ก

คนพันธุ์นี้มีคุณสมบัติพิเศษที่คนปรกติทั่วไปมิอาจเลียนแบบได้ คือนิยมกินเหล็ก กินหลังคา กินเครื่องซีทีเอกซ์ ฯลฯ ได้แนบเนียนยิ่ง

นิคมคนฟันเหล็กนี้อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นัก รู้จักกันดีในชื่อ หนองงูเห่า !