ภาพประกอบ : ถั่วน้อย

คุณที่รัก

เฮโลฯ ฉบับนี้ “หมูฯ” ขอเล่าข่าวถึงนิวยอร์กเกอร์สาวคนหนึ่ง ผู้ที่แม้ไม่ได้ติดโผผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลต่อโลก แต่กลับมีวีรกรรมโดนใจ “หมูฯ” จนต้องคว้าเรื่องของเธอมาเล่าให้คุณๆ ฟังระหว่างรอเลือกตั้งงวดหน้า

เธอผู้นี้มีนามว่าคุณจูดิท เลอไวน์ ประกอบอาชีพเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ แอ็กทิวิสต์ด้านเสรีภาพและสันติภาพ เป็นผู้ก่อตั้งสหภาพนักเขียนแห่งชาติและกลุ่มต่างๆ อีกหลายกลุ่ม เธอตัดผมสั้นเกรียน และมีชีวิตแสนเก๋แบบสาวนิวยอร์กผู้มีการงานดี มีความรู้ ชอบดูหนัง ชมงานศิลปะ และมีรสนิยมทางการทำและชิมอาหาร

10 1เรื่องของเธอคงไม่มีสิ่งใดให้ “หมูฯ” สนใจ ถ้าหากคุณจูดิทไม่ได้เขียนหนังสือชื่อ Not Buying It-My Year Without Shopping ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ๓ ปีก่อน

หนังสือที่แปลความได้ว่า “ไม่ซื้อมันหรอก-ปีงดชอปปิงของฉัน” เขียนขึ้นจากโครงการส่วนตัว หลังจากที่เธอและแฟนตัดสินใจหยุดชอปเป็นเวลา ๑ ปีเต็ม

ที่จริงการหยุดซื้อของสักปีหนึ่งอาจไม่ได้เป็นเรื่องสลักสำคัญอะไรนักหนา เพื่อน “หมูฯ” คนหนึ่งก็ประกาศว่า เธอจะงดซื้อเสื้อผ้าและรองเท้าตลอดปีนี้ ก่อนที่จะย้ายไปใช้ชีวิตสันโดษในต่างจังหวัด นั่นเข้าใจได้ไม่ยาก

แต่นี่คุณจูดิทมีนิวาสสถานอยู่ในนิวยอร์ก อภิมหานครแห่งความเก๋และศูนย์กลางการชอปปิงของโลก จึงไม่แปลกที่เธอจะเกิดมาเป็น “shopaholic” และยึดคติที่ว่า “You can never have too many bags or shoes, darling.”–ที่รัก เธอไม่มีทางมีกระเป๋าหรือรองเท้ามากเกินไปหรอก

จูดิทบอกว่าเมื่อคนอเมริกัน “มีความสุข เช่นเดียวกับเมื่อเศร้า หรือโกรธ หรือเบื่อ หรือสับสน หรือไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษเลย…พวกเราชอป”

เธอนึกย้อนให้เห็นว่า หลังเหตุการณ์ ๙-๑๑ เพียงวันเดียว อดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก รูดอล์ฟ จูเลียนี บอกกับนิวยอร์กเกอร์ที่ยังตกใจไม่หายให้ “แสดงความมั่นใจ แสดงว่าพวกคุณไม่กลัว ไปร้านอาหาร ไปชอปปิง” และสำหรับคนอื่นที่อยากช่วย-“มาที่นิวยอร์กแล้วชอปซะ”- ท่านนายกเทศมนตรีประกาศแบบอเมริกันแท้

การชอปกระหน่ำหลังเกิดวินาศกรรมครั้งใหญ่จึงกลายเป็นภารกิจแสดงความรักชาติของคนอเมริกัน และการ “อยู่ข้างนอกห้างร้าน” ก็ดูเหมือนเป็น “ความไม่รับผิดชอบ” ที่ผ่านมาคนอเมริกันถูกบอกให้เชื่อว่าตลาดหมายถึงเสรีภาพ และทางเลือกของผู้บริโภคหมายถึงประชาธิปไตยอยู่แล้ว

แต่หลังจากเกิดเหตุผู้หญิงคนหนึ่งถูกฝูงชนเหยียบเพราะยื้อแย่งกันซื้อเครื่องเล่นดีวีดีลดราคาเหลือเครื่องละ ๒๙ เหรียญ (๙๘๖ บาท) ในห้างวอลมาร์ต บวกกับความสมเพชตัวเองของคุณจูดิทเมื่อชอปของในเทศกาล (น่าจะคริสต์มาส) อย่างบ้าคลั่งจนทะลุวงเงิน ขณะหอบข้าวของพะรุงพะรังและพลั้งทำมันหล่นในแอ่งน้ำแข็ง เธอจึงถามตัวเองว่า นี่คือเสรีภาพละหรือ ? นี่เป็นประชาธิปไตยใช่ไหม ?

“มันต้องมีอะไรมากกว่านี้ให้ชีวิตสิ”

ถ้าอย่างนั้น…”I’m not buying it”

ชั้นไม่ซื้อมันแล้ว

ครั้นเมื่อเธอตัดสินใจ เธอก็ไม่ได้ทำมันอย่างเล่นๆ แค่อาทิตย์เดียว เดือนเดียว หรือแค่ ๓ เดือน แต่ยิงยาวไปเลยทั้งปี วันปีใหม่ปี ๒๐๐๔ จูดิทและแฟนตัดสินใจใช้ชีวิตตลอดปีนั้นด้วยการ “ไม่ชอปปิง”

 

จูดิทเคยคิดว่าตัวเองก็เป็นคนซื้อของธรรมดาๆ แต่การหยุดชอปทำให้ได้เข้าใจว่าการซื้อของมันสำคัญกับเธอไม่ใช่เล่น

 

>10 2 

เธอบอกว่า “ไม่ใช่ว่าไม่ซื้อของเลย” แต่เป็นการยอมใช้กระดาษชำระและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดยี่ห้อพื้นๆ กว่าเดิม ซื้ออาหารเฉพาะที่จำเป็น ยืมหนังสือจากห้องสมุดประชาชน (แต่ยังรับ The New York Times ไว้) ไม่ออกไปกินอาหารตามภัตตาคาร ไม่ดูหนัง ไม่ซื้อเสื้อใหม่ และตัดกาแฟสตาร์บัคส์ที่ดื่มตอนเช้า กับดอกไม้สดจากร้านหัวมุมออก

เธอกับแฟนตกลงกันว่า สบู่ ขนมปัง อาหารแมว “ซื้อได้” ส่วนไอศกรีม กระดาษเช็ดหน้า โซดา “งดซื้อ” กาแฟต้ม ตัดผมก็โอเค แต่ขนมปังโฟคักเซีย -ไม่

รายการของที่ “ซื้อได้” และ “งดซื้อ” เหล่านี้เปลี่ยนไปเรื่อย และเป็นเรื่องที่สองคนถกเถียงกันทั้งปี ซึ่งนับเป็นบทเรียนหนึ่งของโปรเจ็กต์นี้ จูดิทบอกว่า “เส้นแบ่งระหว่างความจำเป็นและความอยากก็ช่างลื่นไหล ช่างเป็นส่วนตัว และช่างเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมจริงๆ”

จูดิทยอมรับว่าสิ่งที่เธอคิดถึงที่สุดคือไอศกรีม เธอคิดถึงการออกนอกบ้านไปกินอาหารเย็นในคืนฤดูร้อน การยืนอยู่ข้างนอกที่เคาน์เตอร์ไอศกรีมและกินไอศกรีม เธอคิดถึงการซื้อดอกไม้ที่ร้านหัวมุม ซึ่งล้วนเป็นเรื่องเล็กน้อย

 

10 3 

เธอได้เข้าใจว่า ไม่ใช่เฉพาะ “สิ่งของ” ที่เธอเคยซื้อ แต่เป็น “ประสบการณ์” ด้วย เธอยกตัวอย่างการอ้อยอิ่งในคาเฟ่คนเดียวที่ทำให้เธอได้ครอบครอง “ความเป็นส่วนตัวในที่สาธารณะ” ได้นั่งดูคนผ่านไปมา ซึ่งเป็น “ความพึงใจแบบเมืองใหญ่แท้ๆ”

ในบางคราเธอสารภาพว่า รู้สึกอ่อนไหวแบบเด็กๆ นั่งสงสารตัวเอง และรู้สึกเหมือนเป็นขอทาน “ฉันรู้สึกโง่ที่ไม่อาจไล่ตามหนังเรื่องล่าสุดได้ ค่าที่ตัวตนของฉันเป็นพวกที่ชอบรู้มากกว่าคนอื่น ฉันเปล่าเปลี่ยวและรู้สึกเบื่อ”

แต่ในที่สุด จูดิทก็ได้เรียนรู้ว่าการชอปปิง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ล้วนเป็นเรื่อง “ชายขอบ” ของชีวิต หนึ่งปีผ่านไป แม้จะไม่ได้มีเป้าหมายเรื่องการอดออม แต่เธอก็มีเงินจ่ายค่าหนี้บัตรเครดิตจำนวน ๘,๐๐๐ เหรียญ (๒๗๒,๐๐๐ บาท คิดที่เหรียญละ ๓๔ บาท) ซึ่งแม้จะไม่ได้มากมายอะไร แต่ต้องนับว่าเป็นความสำเร็จสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในเมืองละลายทรัพย์อย่างนิวยอร์ก

—————————————

focaccia ขนมปังอิตาเลียนชนิดหนึ่ง ราคาแพงกว่าขนมปังทั่วไป
นอกจากจะได้เลิกกลุ้มเรื่องเงินๆ ทองๆ แล้ว เธอบอกว่า “พื้นที่ทางอารมณ์” ของเธอว่างเหลือเฟือขึ้น เธอทำอาหารเอง ทำคุกกี้แจกตอนคริสต์มาส และพบว่าความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ และครอบครัวของเธอเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์ขึ้นกว่าเดิม เพราะ “มันเกี่ยวกับการให้ ‘ตัวเรา’ มากขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะซื้อของให้”

จูดิทบอกกับนักข่าว Newsweek ว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเธอคือการได้ “เปลี่ยนจากผู้บริโภคเป็นพลเมือง …ทันทีที่คุณทิ้งบทบาทผู้บริโภค คุณก็มีเวลามากขึ้น มีพลัง และมีเงินที่จะช่วยเหลือคนอื่นๆ ในฐานะที่เป็นพลเมือง”

ส่วนสิ่งที่เปลี่ยนไปตลอดกาลสำหรับจูดิทล่ะ…

“ทั้งฉันและแฟนเกือบหยุดการเป็นนักชอปเพราะแรงอยาก ฉันมีสติกับสิ่งที่ซื้อและรู้ว่าฉันมีชีวิต-ทั้งที่มีน้อยลงมาก-และยังมีความสุขด้วย”

ใครอยากรู้บ้างว่าจูดิท “ซื้อ” อะไรเป็นอย่างแรกหลังจากภารกิจสำเร็จลง

เธอออกไปเช่าหนังจากร้านมาดู ๖ เรื่อง ส่วนแฟนออกไปซื้อคอตตอนบัด ๑ กล่อง แฟ้มบุคคลเดือนตุลาคมของ “หมูฯ” จึงขอปรบมือให้…

 

คุณจูดิทเป็นแรงบันดาลใจให้ “หมูฯ” เริ่มคิดถึงการ “งดซื้อ” สัก ๑ ปีเสียแล้วซี

คุณที่รักล่ะ…

“หมูอมตะ”

10 4ปัญหาฉบับที่ ๒๗๒ ตุลาคม ๒๕๕๐ การบริโภคอย่างล้นเกินเป็นเหตุสำคัญให้โลกเราย่ำแย่อย่างทุกวันนี้ “หมูฯ” จึงขอชวนคุณที่รักเขียนเล่าประสบการณ์ ความสำเร็จ หรือกุศโลบาย “อดใจไม่ซื้อ” มาแบ่งปันกันทางไปรษณียบัตรหรืออีเมล immortalpig2002@yahoo.com ภายในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ อย่าลืมเขียนชื่อและที่อยู่ของคุณมาด้วยล่ะ ประสบการณ์และกุศโลบาย “อดใจไม่ซื้อ” ที่น่าสนใจ จะได้รับหนังสือสุดฮิปชื่อ โลกร้อน ทุกสิ่งที่เราทำ เปลี่ยนแปลงโลกเสมอ รางวัลมีเพียง ๑๐ เล่มเท่านั้นจ้า