บทเรียนและความหวังของมนุษยชาติใน เก็น เจ้าหนูสู้ชีวิต

ปรีดา อัครจันทโชติ

ครั้งหนึ่ง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “ผมไม่รู้ว่าอาวุธที่จะใช้ในสงครามโลกครั้งที่ ๓ คืออะไร แต่ที่แน่นอนก็คือในสงครามโลกครั้งที่ ๔ มนุษย์จะต่อสู้กันด้วยท่อนไม้และก้อนหิน”

คำพูดดังกล่าวมิใช่เพียงวาจาตีสำนวนหรือการใช้โวหารเกินจริง ผลจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้มนุษย์ตระหนักว่าเทคโนโลยีการเข่นฆ่ากันในหมู่มวลมนุษย์ได้ทวีความซับซ้อนและรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นน่าเชื่อได้ว่าสามารถทำให้อารยธรรมทั้งหลายของมนุษย์ต้องเสื่อมสูญไปพร้อมกับมหาสงครามครั้งหน้า

การยุติสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต้องแลกมาด้วยการสังเวยชีวิตของผู้คนในเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิกว่า ๓ แสนศพ รวมถึงผู้คนที่ตายทั้งเป็นอีกเกือบ ๔ แสนคน เหตุการณ์อันเป็นประวัติศาสตร์ นี้คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้คนต่างตระหนกสะเทือนใจ และเห็นพ้องกับคำพูดดังกล่าวของนักฟิสิกส์อัจฉริยะอย่างไอน์สไตน์

ภายหลังสงครามสิ้นสุด นานาประเทศได้ร่วมกันจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ เพื่อเป็นตัวต้านทานและกดดันมิให้ชาติใดชาติหนึ่งสามารถรุกรานประเทศอื่นได้ตามอำเภอใจ (แต่คำถามก็คือแนวคิดดังกล่าวได้ผลสำเร็จในโลกปัจจุบันจริงหรือ ?) ในขณะที่ศิลปินและนักเล่าเรื่องต่างก็สร้างสรรค์งานที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับมหันตภัยแห่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้

มนุษย์ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนรุ่นก่อน ใครที่ดูภาพยนตร์ Don’t Cry,Nanking ของอู๋จื่อหนิว แอนิเมชันเรื่อง Grave of the Fireflies ของ อิซาโอะ ทาคาฮาตะ แล้วไม่สะทกสะท้านก็ดูใจคอจะกระด้างเกินกว่าหิน

นอกจากภาพยนตร์และแอนิเมชันทั้งสองเรื่องนี้แล้ว การ์ตูนเรื่อง เก็น เจ้าหนูสู้ชีวิต (Hadashi no Gen) โดย เคอิจิ นาคาซาวา (Keiji Nakazawa, ๑๙๓๙-) นักเขียนชาวญี่ปุ่นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงมหันตภัยของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในมุมมองของผู้มีประสบการณ์ตรง

เนื้อเรื่องบอกเล่าเหตุการณ์ สภาพสังคมในญี่ปุ่นตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ทิ้งระเบิด โดยมีตัวละครเอกคือเด็กชายชื่อ เก็น นาคาโอขะ ในครอบครัวที่มีพ่อต่อต้านสงครามและลัทธิคลั่งชาติ จนเมื่อถึงวันที่ ๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ มฤตยูที่ชื่อ “ลิตเติลบอย” ก็ถูกปล่อยจากเครื่องบินทิ้งระเบิด อีโนลา เกย์ ยังผลให้พ่อ พี่สาว และน้องชายของเก็นเสียชีวิต ขณะที่ตัวเขากับแม่ที่อุ้มท้องรอดตายหวุดหวิด

แต่นี่เป็นเพียงบทเกริ่นนำของการ์ตูนชุดเรื่องนี้ เนื่องจากเนื้อหาเกือบทั้งหมดของเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์ ภัยพิบัติ ความรวดร้าวที่เหยื่อระเบิดปรมาณูได้รับภายหลังสงครามยุติ

จากเนื้อเรื่อง ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นว่าสงครามมิเพียงทำให้ผู้คนล้มตายเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมาในระดับคุณภาพชีวิตนั้น เกิดโรคระบาดในวงกว้าง ภาวะข้าวยากหมากแพงอาหารที่ได้รับแบ่งปันไม่เพียงพอจนชาวบ้านต้องหาซื้อจากตลาดมืดและหนีการจับกุมของตำรวจ ขณะที่คนที่มีชีวิตรอดจำนวนมากอยู่ในภาวะ “ไม่ตายก็เหมือนกับตาย” เมื่อต้องเผชิญกับโรคจากกัมมันตภาพรังสี พิการ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ความฝันที่จะเป็นจิตรกรของคุณเซอิจิ และความใฝ่ฝันจะเป็นนักเบสบอลของไอฮาร่าต้องพังทลายลงทันทีหลังการระเบิดครั้งนั้น

ในระดับศีลธรรม ทุกคนต่างเอาตัวรอด ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องที่แทบไม่มีใครคำนึงถึง ผู้คนจำนวนมากย่ำยีผู้อื่นได้ราวกับเป็นสิทธิอันชอบธรรม

ในระดับความสัมพันธ์ของมนุษย์ ไม่ว่าจะภายในครอบครัว ชุมชน หรือสังคมก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือไม่มีใครไว้ใจใคร บ้างคิดว่าตนเองถูกคนอื่นโกง บ้างก็พยายามรักษาสิ่งที่โกงมาจากคนอื่นอย่างถึงที่สุด เพราะไม่รู้ว่าภัยพิบัตินี้จะยุติเมื่อใด แม้แต่อคิระพี่ชายของเก็นยังกล่าวหาว่า เหตุที่ครอบครัวส่งตนไปอยู่ต่างจังหวัดก็เพราะจะได้ลดจำนวนตัวแบ่งอาหารที่มี

หากสงครามมีแต่ผลร้าย แล้วเหตุใดเล่ามนุษย์ยังคงก่อสงครามไม่เลิก ?

สงครามโลกครั้งที่ ๒ มิใช่สงครามครั้งเดียวที่ถูกจารึกลงหน้าประวัติศาสตร์โลก อันที่จริงมนุษย์รู้จักสงครามมานับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะสงครามครูเสด สงครามโลกครั้งที่ ๑ สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม สงครามอิรัก-อิหร่าน สงครามอ่าวเปอร์เซีย ฯลฯ

จะว่าไปสงครามเป็นเพียงแค่บทสรุปของเรื่องราวเท่านั้น โศกนาฏกรรมนับครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติต่างล้วนมีที่มาจากความขัดแย้ง ความขัดแย้งที่ยึดเอาตนเองเป็นศูนย์กลางและปฏิเสธคุณค่าในตัวผู้อื่นที่ต่างไปจากตน ซึ่งโดยมากมักปรากฏในรูปความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม รวมถึงความเชื่อในศาสนาและลัทธิการเมืองที่ต่างกัน

ความขัดแย้งเหล่านี้ผลสุดท้ายก็มีแต่ผู้แพ้ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจึงไม่ใช่แค่หาทางป้องกันมิให้เกิดสงคราม แต่ต้องทำความเข้าใจและปรับมโนทัศน์ ในเรื่องศักดิ์ศรีของชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าชาติพันธุ์เหล่านั้นจะมีระดับเทคโนโลยี เศรษฐกิจ ที่แตกต่างกันเพียงไรก็ตาม

ที่ผ่านมามนุษย์แต่ละสังคมและประเทศชาติ ต่างสร้างวาทกรรมที่ “ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง” และผลักไสคนรอบตัวให้เป็น “คนอื่น” มานับไม่ถ้วน

ในเรื่อง เก็น เจ้าหนูสู้ชีวิต อเมริกา และอังกฤษถูกเรียกขานว่าเป็น “ผีร้าย” และ “ปีศาจ” ตลอดทั้งเรื่อง ขณะที่คนเกาหลีมีคุณค่าต่ำกว่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งคนญี่ปุ่นสามารถเอาหินเขวี้ยงใส่หรือด่าทอได้ตามอำเภอใจ

คำพูดของพ่อที่บอกว่า “รัฐบาลพยายามให้เราสนับสนุนสงครามโดยบอกว่าคนเกาหลีกับคนจีนน่ะโง่และอ่อนแอเจ้าอย่าไปเชื่อเรื่องโกหกนั่น…ต้องให้ความนับถือต่อทุกคนไม่ว่าเขาจะเป็นใครมาจากไหน” (เล่ม ๒ หน้า ๑๗๕) จึงเป็นบทสะท้อนของผู้เข้าใจว่า “ความยิ่งใหญ่เหนือชาติอื่น” นั้นเป็นเพียงวาท-กรรมที่รัฐสร้างขึ้น

น่าเสียดายว่าคนอย่างพ่อเก็นมีเพียงน้อยนิด มิเช่นนั้นญี่ปุ่นอาจไม่ต้องพบกับความสูญเสียดังที่เกิดขึ้น

ย้อนกลับมาดูรอบๆ ประเทศไทยปัจจุบัน เราเองก็ตกอยู่ในวังวนเดียวกับคนญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒

เมื่อเอ่ยถึงคนพม่า เรานึกถึงเขาอย่างไรนอกเหนือไปจาก “ศัตรูอันดับหนึ่งของไทย” มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ?

เมื่อเอ่ยถึงคนเขมร เรานึกถึงเขาอย่างไรนอกเหนือจากจอมไสยเวท และหัวขโมยเขาพระวิหาร ?

เมื่อเอ่ยถึงคนมาเลย์ (หรือแขก) เรานึกถึงเขาอย่างไรนอกเหนือจากพวกบ่อนทำลายความมั่นคงในภาคใต้ ?

เมื่อเอ่ยถึงคนลาว เรานึกถึงเขาอย่างไรนอกเหนือจากความซื่อจนเซ่อ โง่ และล้าหลัง ?

ผู้คนในดินแดนรอบข้างเราล้วนถูกผลักให้กลายเป็นศัตรูไปเสียสิ้น แม้แต่คนลาวซึ่ง (เราอาจคิดว่า) ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะมาเป็นศัตรูกับเราได้ มิหนำซ้ำเรราออกจะเอ็นดูคนลาวเสียด้วยซ้ำ อย่างน้อยก็พูด-ฟังภาษากันรู้เรื่อง แต่กระนั้นเราก็ไม่เคยใส่ใจว่าคนลาวต้องการให้เราปฏิบัติต่อเขาในฐานะ “เพื่อนบ้าน” ที่มีนัยแห่งความเท่าเทียมกัน มากกว่า “บ้านพี่เมืองน้อง” อย่างที่เราคิด

นี่ยังไม่นับรวมถึงทัศนะที่เรามีต่อชนหลากชาติพันธุ์ภายในประเทศอย่างชาวเขา ชาวเล ฯลฯ

ความขัดแย้งมิได้แสดงออกด้วยการทำสงครามเสมอไป แต่ความขัดแย้งซึ่งมีรากเหง้ามาจากการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางและปฏิเสธผู้อื่นนั้นแสดงออกได้หลายระดับความรุนแรง ดังที่ปรากฏในเส้นแห่งความขัดแย้ง

gen02

จะเห็นได้ว่าสภาพที่เกิดขึ้นกับคนญี่ปุ่นในเรื่อง เก็น เจ้าหนูสู้ชีวิต และที่เกิดขึ้นระหว่างคนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่างไทยพุทธกับไทยมุสลิมใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนเป็นความขัดแย้งที่มีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไปตามที่แสดงบนเส้นแห่งความขัดแย้งทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้สงครามหรือการทำลายล้างจึงเป็นผลพวงของความขัดแย้งที่สุกงอม การสร้างสันติภาพจึงมิใช่เพียงการยุติสงคราม แต่รวมถึงยุติความเกลียดชัง เหยียดหยาม ดูถูก ล้อเลียน รวมไปถึงสร้างความเอาใจใส่ต่อผู้อื่นในฐานะที่เท่าเทียมกัน

แม้ในเรื่องจะมีตัวละครน่ารังเกียจที่ดีแต่เหยียดหยามผู้อื่นอยู่มากมาย แต่อย่างน้อยก็ยังมีตัวละครอย่างพ่อ ผู้เชื่อมั่นในความคิดต่อต้านสงครามแม้ว่าจะส่งผลร้ายต่อตนเองและครอบครัว แม่ ผู้อ่อนโยนแต่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยว คุณพัค ชาวเกาหลีผู้สอนให้รู้ว่ามนุษยธรรมเป็นสิ่งที่มิอาจถูกแบ่งแยกได้โดยเส้นแบ่งเขตแดนประเทศ และที่สำคัญคือ เก็น เด็กชายผู้มองโลกในแง่ดีและเปี่ยมความหวัง

อยู่เสมอ

นี่คือสิ่งที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้แตกต่างจากภาพยนตร์ Don’t Cry,Nanking และ Grave of the Fireflies รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่เล่าถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒

เก็นสามารถดำรงตนตามคำสอนของพ่อที่ว่าให้เป็นเหมือนข้าวสาลี สามารถลุกขึ้นได้แม้ถูกเหยียบย่ำ ด้วยเหตุนี้ในยามที่เก็นเผชิญปัญหาหนักหน่วง เขาก็พบทางออกและสามารถผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นไปได้ทุกครั้ง ทางออกของเก็นมิใช่เรื่องบังเอิญหรือโชคช่วย แต่เป็นเพราะเก็นอยู่ได้ด้วยความหวัง ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ต่างหาก

ตัวละครอย่างเก็นช่วยเติมพลังให้คนรอบข้าง เขาช่วยดึงเรียวตะออกจากวงจรแก๊งมาเฟีย ช่วยให้นัทสึเอะและคัทสึโกะเห็นว่าแผลเป็นบนใบหน้าของพวกเธอไม่ได้เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะปลิดชีวิตตนเอง นอกจากนี้ยังช่วยให้ศิลปินหมดไฟอย่างคุณเซอิจิและปู่ของทาโร่กลับมาวาดภาพอีกครั้ง

ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเด็กว่าเป็น “พลังทางสังคม” ผู้เขียนจึงสร้างเก็นให้เป็นสัญลักษณ์ของผู้จุดประกายความหวังให้แก่มนุษยชาติ เช่นเดียวกับที่สร้างความบริสุทธิ์สดใสของโทโมโกะ น้องสาวแบเบาะของเก็นให้เป็นสัญลักษณ์ของความหวังที่ทำให้มนุษย์อยากมีชีวิตต่อ

การ์ตูนเรื่องเก็นได้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ในการจุดคบไฟให้คนรุ่นหลังพ้นจากความมืดบอดของการยึดตนเป็นศูนย์กลาง แต่คำถามก็คือ ทั้งที่มนุษย์ได้รับบทเรียนมาหลายครั้งหลายคราว และมีผู้ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้นับไม่ถ้วน แต่เหตุใดสงครามและความเกลียดชังระหว่างกันจึงยังคงดำรงอยู่

ทั้งที่มนุษย์เหนือกว่าสัตว์โลกเผ่าพันธุ์อื่นตรงที่สามารถคิดเชื่อมโยงเหตุผลได้ แต่เหตุใดมนุษย์กลับไม่อาจคิดได้ว่าการกระทำของตนในวันนี้มีแต่จะเร่งจุดจบของโลกให้มาถึงเร็วยิ่งขึ้น

คำตอบของคำถามเหล่านี้ก็คือ ดูเหมือนมนุษย์จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ความจำสั้น บทเรียนเหล่านี้จึงไม่อาจสถิตอยู่ในใจมนุษย์ได้นาน

หลายครั้งที่มนุษย์เหมือนจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ แต่ “เวลา” ก็ดูจะเป็นเครื่องลบความทรงจำที่ส่งผลชะงัดนัก ดังเช่นที่เก็นกล่าวว่า “สงครามจบไปยังไม่ทันถึงห้าปี ก็ลืมความเจ็บปวดกันเสียสนิท …หาความร่ำรวย มีความสุขและยินดีกับมัน…” (เล่ม ๘ หน้า ๒๐๑)

พร้อมๆ กับที่ทำหน้าที่ลบความทรงจำ “เวลา” ก็สร้างวงจรอุบาทว์ขึ้นมาเป็นของสมนาคุณนับครั้งไม่ถ้วน…

หากสงครามที่ผ่านมาหลายครั้งไม่ทำให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงภัยของมัน หากความเดียดฉันท์ที่มีต่อเผ่าพันธุ์อื่นไม่ทำให้มนุษย์ได้รับบทเรียน ก็สมควรแล้วที่มนุษย์และโลกจะดับสูญไปพร้อมๆ กับอารยธรรมที่มนุษย์แสนจะภาคภูมิใจ

สำหรับผู้ปรารถนาสันติสุขและเคารพในวัฒนธรรมอื่นเฉกเช่นที่เคารพในวัฒนธรรมของตน หนทางที่จะรักษาโลกใบนี้ไว้ได้ก็คือแปรประสบการณ์ของคนรุ่นก่อนและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในดินแดนอื่นของโลกมาเป็นบทเรียน แล้วถ่ายทอดบทเรียนดังกล่าวแก่เด็กและเยาวชนของเรา ดังที่มหาตมะคานธี เคยกล่าวไว้ว่า “หากท่านต้องการสันติภาพอันถาวร ท่านต้องเริ่มที่เด็กๆ”

คำรับปากของเก็นที่มีต่อคุณพัคว่า “ผมโตเมื่อไหร่…สัญญาว่าจะไม่ทำกับคนเกาหลีอย่างนั้นฮะ”(เล่ม ๒ หน้า ๑๗๑) จึงเป็นเสมือนคำมั่นของเยาวชน ที่จะธำรงโลกอันปราศจากความชิงชังแบ่งแยกระหว่างเผ่าพันธุ์

เมื่อใดที่ปล่อยให้ความคิดยึดตนเองเป็นศูนย์กลางและชิงชังวัฒนธรรมผู้อื่นเข้าครอบงำ หรือแม้แต่นิ่งเฉยไม่ช่วยกันหาทางสร้างความเข้าใจและยอมรับความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ให้หมู่เยาวชนเชื่อมั่นใน “สังคมพหุวัฒนธรรม” สังคมโลกอันประกอบด้วยผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม เมื่อนั้นสงครามก็จะทำหน้าที่ของมันโดยอัตโนมัติอย่างขะมักเขม้น เด็กๆ จะกลายเป็นเบี้ยและเหยื่อในเกมคลั่งชาติของผู้ใหญ่

และเมื่อมันบรรลุเป้าหมาย ทั้ง “อารยธรรมอันสูงส่ง” และ “ศักดิ์ศรีของชาติ” ก็เป็นเพียงเรื่องไร้สาระ ในเมื่อไม่เหลือมนุษย์ใน “ชาติ” ใ้ห้สร้าง “อารยธรรม” อีกแล้ว

และเมื่อนั้นก็จะได้พิสูจน์ความจริงในคำกล่าวตอนต้นของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

เมื่อถึงเวลานั้นการร้องร่ำคร่ำครวญว่าตนเองมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความชั่วร้ายแต่ต้องพลอยมารับเคราะห์ที่ผู้อื่นสร้าง ก็เห็นจะไม่ใช่ข้ออ้างที่เข้าท่านัก

หมายเหตุ : เรื่อง เก็น เจ้าหนูสู้ชีวิต (Hadashi no Gen) เขียนโดย Keiji Nakazawa แปลโดย ฉัตรนคร องคสิงห์ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ มติชน